ส่วนนี้ของบทความจะแสดงให้เห็นว่าการรับประทานมังสวิรัติและจริยศาสตร์ในการรับประทานตามหลักศาสนาอิสลามนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างไร และพฤติกรรมการรับประทานแบบมังสวิรัติจะสามารถช่วยสัตว์ ช่วยโลก และช่วยสุขภาพของคุณอย่างไร
:: ส่วนประกอบจากสุกรอยู่ในผลิตภัณฑ์น้ำนมของคุณหรือไม่? ::
คุณรับประทานเนื้อ “ฮาลาล” หรือไม่ ? คุณรู้ไหมว่าแกะของคุณอาจกินไก่เป็นอาหาร ? หรือโคนมของคุณอาจมีกระดูกสุกรเป็นส่วนประกอบอยู่ในอาหารของมัน ? บทความนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหานี้ขยายไปไกลกว่าเนื้อสัตว์ในอเมริกามาก แม้แต่สัตว์ในโลกอิสลามก็อาจได้รับอาหารที่มีส่วนประกอบที่ไม่ฮาลาลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
:: เมตตาธรรมในอิสลาม ::
อัลกุรอานได้กล่าวชัดเจนถึงชีวิตที่พิเศษของสัตว์
“เจ้าไม่รู้หรือว่า แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงได้รับการสรรเสริญสดุดีจากผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และมวลสกุณาที่ร่อนอยู่กลางอากาศ ทุก ๆ สิ่งนั้นต่างก็รู้การนมัสการแด่พระองค์และกล่าวสรรเสริญสดุดีแด่พระองค์ของตนเอง และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเขากระทำ” (อัน นูร 24:41)
“และไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในแผ่นดิน และไม่ว่าจะเป็นนกที่บินได้ด้วยปีกทั้งสองข้างของมันก็ตาม นอกจากว่า (พวกมันเหล่านั้นก็) เป็นบรรดาประชาชาติที่เหมือนกับพวกเจ้าทั้งหลายนั่นเอง เรามิได้ให้บกพร่องแต่อย่างใดในคัมภีร์ หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกรวบรวมไปยังองค์อภิบาลของพวกเขา (เพื่อรอรับการพิพากษา)” (อัล อันอาม 6:38)
อัลกุรอานกล่าวว่าสัตว์เป็นดั่งเผ่าพันธุ์และประชาชาติในลักษณะของพวกเขาเอง และเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่าการนำมาใช้เป็นทรัพยากรสำหรับการบริโภคเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สัตว์เหล่านี้ปัจจุบันได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากเครื่องจักรที่ไม่มีชีวิต อย่าง “ฟาร์มสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอาหาร” (factory farming) ไม่ใช่แค่ฟาร์มโรงงานที่พบในตะวันตกเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นกระบวนการสำคัญในการผลิตเนื้อสัตว์ ไข่ และนมทั่วโลก ในแต่ละปีมีการฆ่าสัตว์เพื่อใช้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า 20 พันล้านตัวทั่วโลก สัตว์หลายพันล้านตัวถูกคุมขังในพื้นที่จำกัดขนาดเล็กเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถเลี้ยงสัตว์ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไข่ 90% ของสหรัฐอเมริกามาจากไก่ที่ถูกยัดในกรงที่ขนาดเท่าหน้าปกแผ่นเสียงด้วยกัน 5 ตัว และกระบวนการผลิตไข่แบบนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลก
ไก่จะถูกตัดจะงอยปากของมันด้วยเหล็กร้อน ปศุสัตว์ทั้งหลายจะถูกสูญเขา ถูกตอน และถูกประทับตราหรือเลขกำกับไว้ ส่วนหางของมันก็จะถูกตัดโดยปราศจากการใช้ยาชา โคนมจะถูกจำกัดอยู่ในคอกเล็ก ๆ และถูกกักไว้ตลอดด้วยการผสมเทียม สัตว์ทุกตัวที่อยู่ในฟาร์มสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารจะต้องประสบกับความทุกข์ทรมาน
ความแออัดยัดเยียดของฟาร์มสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารนี้เองทำให้สัตว์หลายชนิดเกิดภาวะจิตป่วยและก่อความเสียหายให้กับตัวเองเนื่องจากความเบื่อหน่ายหรือความเครียด เพื่อต่อสู้กับโรคภัยที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่แออัดเหล่านี้ เกษตรกรประจำโรงงานมักฉีดพ่นสัตว์ด้วยสารกำจัดศัตรูพืชและฉีดยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ปศุสัตว์ที่เลี้ยงนั้นอ้วนอย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ราคาไม่แพง สัตว์เหล่านั้นจะได้รับการฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโต ซึ่งฮอร์โมนและสารเคมีที่ตกค้างเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคที่รับประทานเนื้อของมัน
การปฏิบัติต่อสัตว์เยี่ยงนี้นั้นละเมิดคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งท่านได้สั่งห้ามมิให้สร้างความเจ็บปวดทรมานต่อสัตว์ก่อนที่จะถูกเชือด นอกจากนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังห้ามมิให้ตัดหางและตัดชิ้นส่วนอื่น ๆ ของสัตว์ให้พิกลพิการ รวมถึงการประทับตราสินค้าบนใบหน้า (ซึ่งยังคงปฏิบัติโดยเจ้าของฟาร์มหลายแห่ง)
ในระหว่างกระบวนการลำเลียงและขนส่งสัตว์ สัตว์ที่ถูกนำไปผลิตเป็นอาหารโดยทั่วไปมักไม่ได้รับอาหารและน้ำ สภาพแวดล้อมในระหว่างการลำเลียงก็จะแออัดยัดเยียด สัตว์ที่อยู่ในยานพาหนะจะไม่ได้รับการปกป้องจากองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อาจสร้างความอันตราย และสัตว์ที่อ่อนแรงก็จะถูกละเลยไม่ได้รับการดูแลรักษาเป็นเวลาหลายวันจนกระทั่งต้องรอจนถึงวันเชือด ไก่หลายตัวต้องปีกหักในระหว่างการขนส่ง สัตว์หลายตัวต้องขาดอากาศหายใจในพาหนะขนส่ง ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่าอย่าให้สัตว์ต้องรอการเชือด และท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เคยทำโทษชายที่ปฏิเสธที่จะให้น้ำแก่แกะก่อนที่มันจะถูกนำไปเชือด
บ่อยครั้งที่เกิดการทารุณกรรมที่โหดร้ายต่อสัตว์ในระหว่างการเชือด หนึ่งในเรื่องราวระหว่างตรวจสอบสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการเชือดแบบซะบีฮะฮฺ (ตามหลักการศาสนา) พบว่า บางแห่งก็มีวัวที่ถูกตัดชิ้นส่วนแขนขาออกขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้กระทั่งชาวมุสลิมที่พยายามหาเนื้อสัตว์ฮาลาลมาบริโภคก็อาจซื้อเนื้อฮาลาลที่เหมือนกับจะผ่านกรรมวิธีการเชือดตามหลักการศาสนา แต่ด้วยกระบวนการที่โหดร้ายไม่ถูกหลักจริยศาสตร์อิสลามเช่นนี้ อาจทำให้พวกเขาไม่ได้รับประทานเนื้อสัตว์ฮาลาลจริงที่ถูกต้องตามหลักการก็เป็นได้ จากการตรวจสอบเนื้อสัตว์ฮาลาลที่ส่งออกจากประเทศอินเดียพบว่า ในระหว่างกระบวนการนั้น สัตว์กลับถูกถลกหนังและถูกเชือดในขณะที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ในสภาพกระวนกระวายและพยายามหลบหนี หรือบางทีก็พบว่าสัตว์เหล่านั้นถูกเชือดในขณะที่ได้รับสัญญาณที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนถึงกระบวนการที่จะคร่าชีวิตของพวกเขา (เช่น การลับมีดให้เห็นต่อหน้าสัตว์ที่จะเชือด) แม้จะมีคำตัดสินทางศาสนาถึงกระบวนการเชือดว่า สัตว์จะต้องอยู่ในสภาพที่สิ้นชีวิตอย่างชัดเจนก่อนจะเริ่มทำการถลุงหนังหรือตัดชิ้นส่วนของสัตว์ และหลักการที่ว่าห้ามลับมีดให้เห็นต่อหน้าสัตว์ที่จะเชือด
เนื้อที่ได้จากฟาร์มสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้อาจไม่ฮาลาล (อนุญาต) เพราะปศุสัตว์ทั้งหลายที่เลี้ยงในฟาร์มสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้ เช่น วัว แกะ ไก่ และสัตว์อื่น ๆ อาจได้รับอาหารจากชิ้นส่วนหรือกระดูกบดจากสุกร ไก่ และวัว รวมทั้งมูลไก่ และของเสียอื่น ๆ ที่น่ารังเกียจมาใช้เป็นส่วนประกอบที่อยู่ในอาหารสัตว์ ซึ่งนักวิชาการมุสลิมบางท่านเชื่อว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเลี้ยงดูด้วยอาหารชนิดนี้นั้นหะรอม (ต้องห้าม) ด้วยเหตุผลสองประการ:
1. สัตว์เหล่านี้ได้บริโภคชิ้นส่วนจากสุกร
2. สัตว์เหล่านี้อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นสัตว์กินเนื้อ (และชิ้นส่วนจากสัตว์) ซึ่งสัตว์กินเนื้อโดยทั่วไปนั้นถือว่าต้องห้ามสำหรับการบริโภคในศาสนาอิสลาม
:: สิ่งแวดล้อม ::
ชาวมุสลิมนั้นได้รับคำสั่งให้รับผิดชอบและดูแลสิ่งแวดล้อม อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
“แท้จริงเราได้เสนอ[คุณลักษณะแห่ง]ความซื่อสัตย์ (อะมานะฮฺ) ให้แก่ฟากฟ้า แก่แผ่นดิน และแก่ภูเขา [ให้รับผิดชอบ] แต่พวกมันปฏิเสธที่จะรับผิดชอบสิ่งนั้น และพวกมันมีความหวาดกลัว[ภาระอันหนักอึ้ง]ต่อสิ่งนั้น แต่มนุษย์กลับรับมันไว้” (อัล อะหฺซาบ 33:72)
ซึ่งการบริโภคผลิตภัณฑ์จากฟาร์มสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารโดยตรงจะนำไปสู่การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ทำให้ดินเสื่อมโทรม การใช้ทรัพยากรน้ำปริมาณมหาศาล สร้างมลพิษทั้งในดินและในน้ำจากน้ำทิ้งที่เป็นสิ่งปฏิกูล ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการทำฟาร์มสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มเติมได้
:: สุขภาพ ::
ชาวมุสลิมนั้นได้รับการส่งเสริมให้รับประทานอาหารที่ดี บริสุทธิ์ และมีประโยชน์ แต่ตอนนี้เราทราบแล้วว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์นั้นสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจถึง 10 เท่า เสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน ไส้ติ่งอักเสบ โรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน และโรคอาหารเป็นพิษ นอกจากนี้ ในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์พบสารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีชนิดอื่น ๆ ที่ตกค้างมากถึง 14 เท่า หากเทียบกับที่พบในอาหารที่ได้จากพืช ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพิ่มเติมได้
:: อิสลามไม่ได้กำหนดการรับประทานเนื้อสัตว์เป็นข้อบังคับ ::
“จงกล่าวเถิด[มุฮัมมัด]ว่า ฉันไม่พบเลยในบทบัญญัติที่ฉันได้รับการดล[จากอัลลอฮฺ]ว่ามีสิ่งที่ถูกห้ามแก่ผู้ต้องการบริโภคจะพึงบริโภคสิ่งนั้น นอกจากที่ห้ามบริโภค” (อัล อันอาม 6:145)
อัลกุรอานกล่าวว่า เฉพาะเนื้อสัตว์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถบริโภคได้หากท่านประสงค์ที่จะบริโภคมัน ในคำสอนอิสลามไม่ได้กำหนดการรับประทานเนื้อสัตว์ว่าเป็นข้อบังคับสำหรับชาวมุสลิม ซึ่งการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทนี้นั้นไม่ได้รับการส่งเสริมหรือได้รับการแนะนำเป็นพิเศษ
ขณะที่การเลี้ยงสัตว์ตามระบบอุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ไม่สอดคล้องกับคำสอนในเรื่องเมตตาธรรมของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และไม่สอดคล้องกับสถานะของสัตว์ที่ได้รับการอธิบายไว้ในอัลกุรอาน การปรับใช้พฤติกรรมการบริโภคแบบมังสวิรัติ (อาหารปลอดจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่) บ้างตามโอกาสเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับชาวมุสลิมในการดำรงชีพตามหลักจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของศาสนาอิสลาม
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: animalsinislam.com