รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันมีวัตถุดิบนับพันชนิด สารเคมีนับหมื่นชนิด ได้มาจากแหล่งต่างๆ เมื่ออิสลามกำหนดให้อาหารบางอย่างหะรอมหรือไม่เป็นที่อนุมัติ ย่อมหมายความว่าอนุพันธ์หรือสิ่งอื่นที่ผลิตขึ้นจากสิ่งที่หะรอมย่อมไม่เป็นที่อนุมัติด้วยเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีการผลิตอาหารและการผลิตสารเคมีเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารพัฒนามากขึ้น สารที่ผลิตขึ้นใหม่มีลักษณะตลอดจนชื่อเรียกเปลี่ยนแปลงไปจนคนทั่วไปไม่สามารถบอกได้ว่าสารเหล่านั้นมีต้นตอมาจากวัตถุดิบใด ดังนั้นจึงมีอยู่บ่อยครั้งที่สิ่งหะรอมถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลด้วยความเข้าใจผิด
คณะทำงานเฉพาะกิจอาเซียนว่าด้วยการวางแนวทางอาหารฮาลาล หรือที่เรียกกันว่าคณะกรรมการมาตรฐานฮาลาลอาเซียนจึงได้กำหนดนโยบายที่จะรวบรวมรายชื่อสารเคมีเจือปนอาหารไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวกต่อคณะกรรมการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม งานดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ
เนื้อหาในส่วนนี้จะกล่าวถึงสารเคมีและวัตถุดิบชนิดต่างๆที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลควรรู้จักและระมัดระวัง โดยจัดเรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นมักมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษ ในเนื้อหานี้จะหลีกเลี่ยงการที่จะระบุว่าสิ่งนั้นๆหะรอม เนื่องจากงานการตีความดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของผู้รู้ทางศาสนา(ที่มีข้อมูลในการพิจารณาอย่างเพียง) ผู้เขียนไม่มีหน้าที่ในกิจการดังกล่าว นอกเสียจากว่าสิ่งนั้นๆหะรอมตามบทบัญญัติอย่างชัดเจน เช่น มีส่วนผสมของสุกรหรือเลือด
มีผลิตภัณฑ์มากมายที่มีองค์ประกอบที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นปัญหา อิสลามเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า มัซบูห์(Musbooh) หมายถึง สิ่งที่น่าเคลือบแคลง สิ่งที่น่าสงสัย(คำนาม) หรือเรียกว่า ซุบฮัต(Subahat) สิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัย(คำวิเศษณ์) ตามหลักการอิสลาม หากพบสิ่งใดน่าเคลือบแคลงหรือไม่มั่นใจ อิสลามให้หลีกเลี่ยงหรือทำการตรวจสอบจนกว่าจะแน่ใจได้ว่าสิ่งนั้นฮาลาลจึงจะให้ใช้ประโยชน์ได้ หากไม่สามารถตรวจสอบได้ให้ยกเลิกการใช้