Halal Tech News : คอลัมน์ HALAL LANNA ในวารสาร Halal Insight ฉบับที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลที่ใช้ชื่อว่า H number Application เพื่อค้นหาข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในการลดค่าใช้จ่ายการตรวจสอบสถานะฮาลาลของวัตถุเจือปนอาหารบางประเภทในกระบวนการตรวจรับรองฮาลาล
ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลนอกจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรับรองแล้ว การเตรียมการก่อนการรับรองฮาลาลก็มีค่าใช้จ่ายในการยืนยันสถานะฮาลาลของแหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนอาหารบางประเภทอีกด้วย ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารโดยส่วนใหญ่ผลิตจากธรรมชาติ จากแร่ธาตุและจากการสังเคราะห์ ขณะเดียวกันก็มีหลายบริษัทที่มีการตรวจสอบและรับรองสถานะฮาลาลทั้งจากในและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้วิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลขึ้นโดยใช้ชื่อว่า H-Number ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ที่จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและจะสร้างประโยชน์ในการค้นหาวัตถุเจือปนอาหารของผู้บริโภคโดยทั่วไปอีกด้วย
::วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) คืออะไร?::
วัตถุเจือปนอาหาร หมายถึง วัตถุที่ตามปกติไม่ได้ใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร แต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อประโยชน์ทางเทคโนโลยีการผลิต การแต่งสี การปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร การบรรจุการเก็บรักษา หรือการขนส่งซึ่งมีผลต่อคุณภาพหรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร รวมถึงวัตถุที่ไม่ได้เจือปนในอาหารแต่มีภาชนะบรรจุไว้เฉพาะใส่ร่วมกับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นด้วย โดยกำหนดเป็นรหัสของวัตถุเจือปนอาหารอย่าง E-Number หรือ INS โดยจำแนกเป็นกลุ่มต่างๆเช่น E/INS 100-199 เป็นกลุ่มรหัสของสีผสมอาหาร, E/INS 200-299 กลุ่มรหัสของวัตถุกันเสีย, E/INS 300-399 กลุ่มรหัสของสารต้านออกซิเดชันและสารควบคุมกรด, E/INS 400-499 กลุ่มรหัสของสารเพิ่มความหนืด สารเพิ่มความคงตัวและอิมัลซิไฟเออร์, E/INS 500 – 599 กลุ่มรหัสของสารควบคุมกรดและสารเพิ่มความคงตัว, E/INS 600 – 699 กลุ่มรหัสของสารเพิ่มกลิ่นและรสชาติ, E/INS 700-799 กลุ่มรหัสของสารฆ่าเชื้อ เป็นต้น
::E- Number/INS ฮาลาลหรือไม่?::
E-number/INS เกือบทั้งหมดนั้นโดยพื้นฐานแล้วได้รับอนุญาตและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศมุสลิม อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าวัตถุเจือปนอาหารทั้งหมดนั้นจะฮาลาลเสมอไป สารเติมแต่งจำพวกกรดไขมันจำนวนมาก ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และเป็นเรื่องกังวลสำหรับผู้บริโภคมุสลิม ถึงแหล่งที่มาของสารเติมแต่งเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนาฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลขึ้น
::จาก E-Number สู่ H-Number::
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน และทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมหรือที่เรียกว่า H-Number ขึ้น โดยเริ่มทำการศึกษาจากฐานข้อมูล E-Number ในแต่ละกลุ่ม เริ่มต้นตั้งแต่การค้นคว้าเอกสาร ตำราต่างๆไปจนถึงการสัมภาษณ์ การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยแบ่งหมวดหมู่ของวัตถุเจือปนอาหารออกเป็น 3 หมวดหมู่ ดังต่อไปนี้
1. Halal Ingredients by Fatwa คือวัตถุดิบที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี หรือสกัดได้จากพืช ที่อนุญาตให้ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลได้และมีการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีอีกด้วย
2. Halal Ingredients by Certification การผลิตวัตถุดิบกลุ่มนี้อาจมีขั้นตอนที่อาจเกิดการปนเปื้อนได้ ดังนั้นจะต้องมีการรับรองจากองค์กรศาสนา การรับรองวัตถุดิบกลุ่มนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่าบริษัทใดหรือยี่ห้อใดบ้างที่ได้รับการรับรองฮาลาล ซึ่งในแอปพลิเคชันนี้ ได้รวบรวมข้อมูลการผลิต บริษัทที่ผลิต รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมในการติดต่อเพื่อนำมาใช้เพื่อการผลิตอาหารฮาลาล
3. Mashbooh Ingredients กลุ่มที่สถานะยังคลุมเครือ สงสัย เนื่องจากวัตถุดิบกลุ่มนี้อาจได้มาจากกระบวนการผลิตที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนด้วยสิ่งต้องห้ามหรือไม่มีการรับรองฮาลาลจากองค์กรศาสนา จึงไม่แนะนำให้ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล
::การพัฒนาแอปพลิเคชัน H-Number::
แอปพลิเคชัน H-Numbers ได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นเว็บแอปพลิชันและโมบายแอปพลิเคชัน H Number โดยทีมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สำนักงานเชียงใหม่ ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอาหารฮาลาลในยุคดิจิตอล เพื่อเป็นระบบตรวจสอบข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารจาก E-Number สู่ฐานข้อมูล H-Number ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาล โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบข้อมูลสถานะและการรับรองของวัตถุเจือปนอาหารนั้นๆ และรายชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้จัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับวัตถุเจือปนอาหาร โดยผู้ประกอบการผลิตอาหารฮาลาลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขอรับรองหรือตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลในการยืนยันสถานะฮาลาลของวัตถุเจือปนอาหารบางรายการ โดยท่านสามารถค้นหาผ่านทางเว็บแอปพลิเคชัน http://h4e.halalthai.com/ หรือผ่านทางโมบายแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “H numbers Application” ได้
…………………………………………….
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี
ที่มา…
http://food.fda.moph.go.th/data/news/2556/560902/Update%20Food%20Additives.pdf
http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1683/e-number
http://www.halalscience.org/library_online/home/read_online/41
http://maansajjaja.blogspot.com/