“พวกเจ้าจงกินและจงดื่มจากปัจจัยยังชีพของอัลลอฮฺ และจงอย่าก่อกวนในผืนแผ่นดิน ในฐานะผู้บ่อนทำลาย” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2:60)
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มุสลิมในอเมริกาเหนือเปิดร้านอาหารที่ยึดตามหลักการอิสลามเพิ่มจำนวนสูงขึ้น หากขับไปตามถนนดันดัส (Dundas) ในมิสซิสซอกา (Mississauga) ประเทศแคนาดา หรือจะเดินเล่นที่เดียร์บอร์น (Dearborn) มิชิแกน (Michigan) คุณจะเห็นร้านอาหารและร้านขายเนื้อสัตว์ฮาลาลนับร้อยแห่งในพื้นที่เหล่านี้
ในทศวรรษที่ผ่านมา บางรัฐอย่าง นิวเจอร์ซี (new jersey) กลายเป็นรัฐแรกที่ผ่านกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาล กฏหมายได้บัญญัติเพื่อเป็นแนวทางแก่พ่อค้าหรือผู้จัดจำหน่ายที่จะต้องปฏิบัติตามเมื่อมีฉลากฮาลาลติดบนสินค้า
ในปี 2003 ทางหน่วยงานในแคนาดาได้ประกาศว่า วัวอายุ 8 ปี ในรัฐแอลเบอร์ตา Alberta ได้ล้มตายจากโรควัวบ้า(Bovine Spongiform Encephalopathy : BSE) ทางด้านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของแคนาดา นาย Lyle Vanclief ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ทันที เพื่อยืนยันว่า วัวในรัฐแอลเบอร์ตา(Alberta) นั้นจะไม่หลุดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารได้
วัวและปศุสัตว์นับพันในแคนาดาได้ถูกทำลายในเวลาต่อมา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐออเมริกาและประเทศอื่น ๆ ได้สั่งห้ามการนำเข้าเนื้อวัวจากแคนาดา
ขณะที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า วัวหนึ่งในล้านตัวอาจมีการเจริญเติบโตของโรควัวบ้าเมื่อโปรตีนในสมองของวัวเป็นพิษ การระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษในช่วงปลายปี 1980 เป็นผลมาจากการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง วัวและปศุสัตว์ถูกเลี้ยงโดยให้กินซากสัตว์จากฟาร์มอื่นเป็นอาหาร
เมื่อมนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโรควัวบ้าเข้าสู่ร่างกาย พวกเขาก็จะติดเชื้อ และจะเป็นโรคสมองเป็นเป็นรูพรุนหรือโรคสมองฝ่อ (Creutzfeldt-Jakob disease) จะกลายเป็นอัมพาตจนเสียชีวิตในที่สุด
ตั้งแต่ปี 1997 ประเทศแคนาดาได้สั่งห้ามการให้อาหารสัตว์ที่จำพวกโปรตีนที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้องด้วยกันเอง (เช่น วัว ควาย แกะ แพะ กระทิง หรือกวาง) แก่สัตว์ประเภทอื่น
อาหารที่ถูกห้ามแก่ปศุสัตว์หรือสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องนั้นจะมีคำเตือนเขียนไว้ว่า “ห้ามให้แก่วัว แกะ กวาง หรือสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่น ๆ กินเป็นอาหาร”
การคาดการณ์ที่จะเกิดโรควัวบ้าในปศุสัตว์ของแคนาดาและการกักบริเวณวัวนับพันตัว นับเป็นการเตือนให้เท่าทันภัยแก่ชุมชนมุสลิมทั้งแคนาดาเป็นอย่างดี
ในขณะที่มาตรฐานฮาลาลมีการตรวจสอบและวินิจฉัยการเชือดวัวตามบทบัญญัติอิสลามอย่างเคร่งครัด แต่กลับไม่มีกลไกเพื่อตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ในแต่ละวันอย่างเป็นทางการจนถึงทุกวันนี้
ความจริงแล้ว มุสลิมจำนวนมากไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวิธีการจำแนกอาหารฮาลาลมากนัก ตามกฏหมายชะรีอะฮฺนั้นยังมีเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องการตรวจสอบวิธีการเชือดสัตว์ที่ถูกต้องเสียอีก
ตามกฏชะรีอะฮฺ สัตว์ที่ถูกเชือดจะถือว่าฮาลาลก็ต่อเมื่ออาหารที่ถูกให้นั้นฮาลาล ดังนั้นการให้อาหารสัตว์จึงมีบทบาทสำคัญในการจำแนกอาหารฮาลาล
อาหารสัตว์จะต้องมาจากพืชผัก ไม่อนุญาติให้มีการให้อาหารจากเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยาโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะยาโกรทฮอร์โมนทำมาจากสุกร การทำให้สลบในสัตว์ที่ทำกันอย่างแพร่หลายนั้นควรหลีกเลี่ยง เลือดก็ต้องมีการไหลออกมาให้หมดจากตัวสัตว์ที่ถูกเชือด
เชค อะหมัด คุตตี้ ผู้รู้ชาวแคนาดากล่าวว่า ประเด็นปัญหาการให้อาหารของปศุสัตว์นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นกับตนเองหรือหน่วยงานมุสลิมก่อนหน้าจะมีการระบาดของโรควัวบ้า (BSE)
“ปัญหานี้มีความท้าทายต่อเราผู้ที่เป็นมุสลิมที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่ามาตรฐานฮาลาลของเรานั้นสามารถดำเนินการได้ไม่เฉพาะในเรื่องการเชือดสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญมากในเรื่องของการเลื้ยงดูและการขยายพันธุ์”
เชค อะหมัด คุตตี้ กล่าวว่า การให้อาหารสัตว์เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง และควรให้ความสำคัญเหนือกว่าเรื่องถกเถียงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การพิจารณาว่าฮาลาลหรือไม่
“การให้อาหารสัตว์มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่มุมทางกฏหมายชะรีอะฮฺ มากกว่าปัญหาที่มุสลิมได้ถกเถียงกันในเรื่องการเชือดด้วยเครื่องจักรดีกว่าการเชือดด้วยมือหรือไม่ ? การทำให้สัตว์สลบก่อนเชือดดีกว่าหรือไม่? มุสลิมสามารถบริโภคสัตว์จากการเชือดของชาวคริสเตียนหรือยิวได้หรือไม่?” เชค อะหมัด คุตตี้กล่าว
อะหมัด ศ็อกร์ จากแคลิฟอเนีย ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) และผู้ประพันธ์หนังสือ “Understanding Halal Food”และ “A Muslim Guide to Food Ingredients” ได้กล่าวในเว็บไซท์ soundvision.com ว่า มีเนื้อฮาลาลบางส่วนที่ไม่ฮาลาล โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่สัตว์ได้กินเข้าไป
“ศาสนาอิสลามได้บัญญัติว่า หากสัตว์ตัวหนึ่งได้รับเนื้อสดหรือเลือดเข้าไปขณะตัวของมันนั้นฮาลาล มันจะกลายเป็นสิ่งที่หะรอม และเพื่อให้มันฮาลาล ท่านจะต้องกักบริเวณสัตว์ตัวนั้นเป็นเวลา 40 วัน ก่อนที่จะนำมาเชือดเพื่อทำให้มันฮาลาล”
:: ชุมชนมุสลิมได้ดำเนินการใด ๆ บ้างหรือไม่ ในการตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ ? ::
ชุมชนมุสลิมในออนตาริโอได้รับการกำชับไม่ให้เกิดการไขว้เขวระหว่างปัญหาของโรควัวบ้ากับเรื่องของฮาลาล ซึ่งมีวัวเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้นที่ติดเชื้อจากโรควัวบ้าในพื้นที่แถบอเมริกาเหนือ (Alberra) จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ทั้งแคนาดาและอเมริกาได้อนุญาตอย่างลับ ๆ ให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารของสัตว์เป็นโดยในบางพื้นที่มีการเก็บค่าบริการ
ปี 2003 วอร์ชิงตันโพสท์รายงานว่า เกิดช่องโหว่ที่ปล่อยให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาบดเป็นผงและนำมาเป็นอาหารแก่ปศุสัตว์
การประกาศห้ามในปี 1997 ไม่ได้ช่วยป้องกันการนำโปรตีนจากสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารแก่สัตว์ปีกและสุกร
วันที่ 28 พฤษภาคม 2003 สำนักงานตรวจสอบอาหารแห่งแคนาดารายงานว่า “เนื้อและกระดูกของวัวที่อาจติดเชื้อที่ถูกผลิตเป็นอาหารสุนัขนั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์จากการสัมผัสสินค้า”
ฟาร์มกักกันในบริติชโคลัมเบีย 3 แห่ง ซึ่งอยู่ใน “ระหว่างการตรวจสอบอาหารสัตว์” มีสัตว์ (60 ตัว) ถูกกำจัดเนื่องจาก ไม่สามารถสรุปได้ว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องในสถานที่เหล่านี่สัมผัสกับอาหารของสัตว์ปีกหรือไม่”
“เราในฐานะมุสลิมได้รับอนุญาติเพียงแค่ให้อาหารวัวหรือสัตว์เลื้ยงที่เป็นไปตามธรรมชาติของสัตว์แต่ละประเภท ไม่สามารถนำเศษซากของสัตว์อื่นหรืออาหารที่ทำมาจากไขมันสัตว์นำมาเป็นอาหารของมันได้”
ปัญหาของโรควัวบ้าจะยังคงเปิดพื้นที่ในการถกเถียงกันในหมู่มุสลิมแคนาดา ตราบใดที่ยังให้ความสำคัญกับการกำหนดวิธีการเชือดมากกว่าการพิจารณาเนื้อที่ฮาลาล
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net