อาหารเสริมอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป

อัลลอฮฺ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ทรงตรัสในอัลกุรอานว่า “มนุษย์เอ๋ย! จงบริโภคสิ่งอนุมัติ (ฮาลาล) ที่ดี ๆ (ฏ็อยยิบ) จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของมารร้าย (ชัยฏอน) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2: 168)

ในฐานะชาวมุสลิมเราต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อให้ร่างกายของเราอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของเรา ชาวมุสลิมหลายคนจึงหยิบเอาอาหารเสริมมารับประทานด้วยความเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถช่วยรักษาสุขภาพของเราให้ดี แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานอ้างถึงว่าเป็น “สิ่งอนุมัติ (ฮาลาล) และดีมีประโยชน์ (ฏ็อยยิบ)” หรือไม่?

ในวงการวิชาการทางวิทยาศาสตร์ได้แบ่งประเภทของอาหารเสริมตามผลกระทบหรือปฏิกิริยาที่กระทำต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ฉันทามติทั่วไปคือเราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารเสริมเหล่านี้ และหากคุณต้องการบริโภคมัน คุณควรได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง

:: ระหว่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับยาเวชภัณฑ์ ::
คำจำกัดความของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจช่วยให้เข้าใจได้ว่าทำไมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึงเข้าไปอยู่ในวงถกเถียงตลอดสองสามทศวรรษที่ผ่านมา

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับการนิยามโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริโภคด้วยปากมีส่วนประกอบจากอาหารและมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการ” “ส่วนประกอบจากอาหาร” ดังกล่าวอาจรวมถึงวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพรหรือพฤกษศาสตร์ กรดอะมิโนและสารต่าง ๆ เช่น เอนไซม์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ แกลนดูล่าและเมตาโบไลท์” (Thurston)

อย่างไรก็ตาม นิยามของคำว่ายาและเวชภัณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็ไม่ได้มีความแตกต่างมากเท่าใดนัก FDA ให้ความหมายของคำว่ายาและเวชภัณฑ์ว่าเป็น “สิ่งที่ใช้สำหรับวินิจฉัย แก้ไข บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค”

ดังนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงอาจอยู่ในหมวดหมู่คำนิยามของยาและเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันความหมายของยาและเวชภัณฑ์ก็อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นอาหารเสริม เส้นแบ่งระหว่างคำศัพท์ทั้งสองมักจะไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ายาหลายตัวมานั้นมีแหล่งที่มาจากธรรมชาติ เช่นเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมากก็ถูกสกัดจากพืชในลักษณะที่แทบไม่แตกต่างจากยาทั่วไป นอกจากนี้ ทั้งสองอย่างอาจมีฤทธิ์ทางเภสัชศาสตร์ที่รุนแรง และอาจก่อให้เกิดปัญหาหากบริโภคอย่างไม่ถูกต้อง (Consumer Reports)

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีประโยชน์และปลอดภัยหรือไม่? หลายคนคิดเอาเองว่าเพราะสมุนไพรและวิตามินนั้นมีแหล่งที่มาจาก “ธรรมชาติ” ทุกอย่างจึงปลอดภัย อย่างไรก็ตามนี่เป็นข้อสันนิษฐานที่อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป

อาหารเสริมจำนวนมากสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้เมื่อบริโภคเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไป หรือบริโภคไม่ถูกเวลาไม่ถูกคน หรือรับประทานร่วมกับยาบางชนิด หรือรับประทานขณะตั้งครรภ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพบว่ามีส่วนประกอบตามชื่อที่ระบุหรือตั้งไว้เพียงเล็กน้อย แต่อาจมีสารเคมี สารกําจัดศัตรูพืช แบคทีเรีย โลหะหนัก หรือแม้แต่ยาทางเภสัชกรรมประกอบอยู่ด้วยในผลิตภัณฑ์ ในเดือนเมษายน ปี 2008 มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์วิตามินซีแบรนด์หนึ่งในประเทศแคนาดา เพราะพบว่ามีปริมาณวิตามินเอมากเกินไป (Consumer Reports, Cohen)

ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังหลายแห่งสามารถผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับการควบคุมจากหน่วยงานภายนอก ดังนั้นการอวดอ้างคุณสมบัติและความปลอดภัยทั้งหมดของผลิตภัณฑ์จึงเกิดขึ้นจากตัวผู้ผลิตภายในเท่านั้น ผู้ผลิตอาหารเสริมสามารถออกตัวผลิตภัณฑ์โดยไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบใด ๆ เพียงแค่ส่งสำเนาภาษาบนฉลากให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น (FDA)

:: มองให้ลึกกว่าแค่ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ::
มีความกังวลเพิ่มเติมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดนั้นอาจไม่ฮาลาล จากคำตอบที่ได้รับจากเว็บไซต์ทางการของผลิตภัณฑ์เซ็นทรัม วิตามินรวม กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นมีเจลาตินที่ได้จากสุกรเป็นส่วนประกอบ และแคปซูลวิตามินอีจำนวนมากก็มีแหล่งที่มาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญกว่าคุณภาพและความซื่อสัตย์ของผู้ผลิตคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีความจำเป็นต่อชีวิตจริงหรือไม่? สถาบัน Linus Pauling Institute ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยชั้นนำเกี่ยวกับการแพทย์แผนออร์โธโมเลคูลาร์ ตอบว่า “มีความจำเป็นจริง”

สถาบันใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อค้นคว้าวิจัยและติดตามการศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริม และเผยแพร่ความเข้าใจผ่านเว็บไซต์ และยังตีพิมพ์หนังสือวิชาการหลายเล่มที่แสดงผลของการศึกษาเหล่านี้ (Higdon)

อ้างอิงจากเว็บไซต์ของสถาบัน ขอบข่ายสำคัญของงานวิจัยนั้นจะครอบคลุมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติ มะเร็ง ภาวะชราภาพ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท” (Higdon)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแพทย์หลายคนยอมรับว่าโภชนาการที่เหมาะสมนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพที่ดี แต่ทุกคนก็ไม่เชื่อว่าการรับประทานอาหารเสริมนั้นต้องเป็นคำตอบเสมอไป

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเสริมวิตามินและแร่ธาตุในอาหาร เนื่องจากวิตามินรวมอาจไม่ได้มีสารอาหารที่มีสัดส่วนสมดุลตามความต้องการของแต่ละบุคคล มันอาจช่วยในการลดสารอาหารบางอย่างออกจากร่างกาย ร่างกายอาจไม่สามารถดูดซึมอาหารเสริมและยาเม็ดวิตามินได้ดีพอ เนื่องจากสารอาหารที่อยู่ในอาหารและในอาหารเสริมบางชนิดอาจเป็นพิษต่อร่างกายหากบริโภคในปริมาณมาก

ตัวอย่างเช่น การศึกษาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาพบว่า น้ำมันปลาซึ่งเป็นอาหารเสริมยอดนิยม นอกจากจะมีคุณสมบัติต้านการอักเสบแล้ว ยังมีคุณสมบัติยับยั้งการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสอีกด้วย

นอกจากนี้ อาหารเสริมที่บริโภคมากเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถของร่างกายในการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น การบริโภคสังกะสีที่มากเกินไปจะเป็นอุปสรรคต่อการดูดซึมของธาตุเหล็กและทองแดง (Landro)

ในปี 2008 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health: NIH) ระงับการศึกษาเกี่ยวกับวิตามินอีเนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานในกลุ่มศึกษา เพราะพวกเขาได้รับการบำบัดผ่านการบริโภควิตามินอีในปริมาณที่มาก ในเดือนเมษายน ปี 2009 ทีมวิจัยระดับนานาชาติสนับสนุนโดยองค์การอิสระระหว่างประเทศที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร Cochrane Collaborative พบว่าการบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ และวิตามินอีสัมพันธ์กับช่วงอายุขัยของชีวิตที่สั้นลง! (ScoutNews; Armijo-Prewitt)

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้คนไม่สามารถนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาแทนที่อาหารได้คือ ในอาหารนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันมากกว่า 20,000 ชนิด แต่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันค้นพบวิธีที่สามารถแยกแยะสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้เพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น (Hellerman)

นอกเหนือจากที่ไม่สามารถจำลองโภชนาการจากสารอาหารในอาหารได้สมบูรณ์แล้ว วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าองค์ประกอบใดของอาหารชนิดหนึ่งมีความสำคัญมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น วิทยาศาสตร์สามารถสกัดซัลโฟราเฟน (sulforaphane) ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบในบร็อกโคลีใส่ลงในยาเม็ด อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ไม่ได้มีคุณสมบัติเหมือนกับการนำบร็อคโคลีทั้งหมดใส่ลงไปในยาเม็ด

เอมี สจ๊วต (Amy Stewart) ผู้เขียนหนังสือ ‘The Earth Moved: On the Remarkable Achievements of Earthworms’ (โลกหมุนด้วยความสำเร็จอันน่าทึ่งของไส้เดือน) เธอได้กล่าวประโยคง่าย ๆ ชวนคิดไว้ว่า “เส้นใยและน้ำส้มที่บรรจุอยู่ในผลส้ม ประโยชน์ของน้ำมันที่อยู่ในวอลนัต สารอาหารรอง (ธาตุอาหารเสริม) ที่อยู่ในผักใบเขียวแน่นอนว่าไม่สามารถหาได้ในรูปของยาเม็ด” (Stewart)

ในขณะที่วิทยาศาสตร์ก้าวไปข้างหน้าเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสารอาหารเหล่านี้ที่บรรจุอยู่ในอาหาร ท้ายที่สุดแล้ว อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างอาหารเหล่านั้น เป็นผู้ทรงปรีชาญาณต่อความลับขององค์ประกอบในอาหารถึงประโยชน์และคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ อัลลอฮ์ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ทรงกล่าวว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า จากสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย (ฏ็อยยิบ) และจงขอบคุณอัลลอฮ์เถิด หากเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2: 172)

…………………………………………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
บทความนี้ถอดมาจากแฟ้มเอกสารของนิตยสาร Science
ที่มา: aboutislam.net โดย ดร.คาริมา เบิร์นส์