ฮาลาลนั้นชัดเจนและหะรอมก็ชัดเจน: หนทางสู่หัวใจที่บริสุทธิ์

จากอบู อับดุลลอฮฺ (อัน นุอฺมาน บิน บะชีร) กล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า

“แท้จริง สิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) นั้นชัดแจ้ง สิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ก็ชัดแจ้ง และในระหว่างทั้งสองสิ่งนั้น มีเรื่อง (หรือสิ่ง) ที่คลุมเครือ (ไม่ชัดแจ้ง) ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้”

“ดังนั้น ผู้ใดรักษาตัวเขาจากสิ่ง (หรือเรื่อง) ที่คลุมเครือนั้น เขาได้ชำระตัวเขาในการปกป้องศาสนาของเขาและเกียรติของเขา ส่วนผู้ใดที่ตกลงไปในการกระทำสิ่งที่คลุมเครือ เขาก็ได้ตกลงไปในเรื่องที่หะรอม (ต้องห้าม)”

“เช่นเดียวกับผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์รอบ ๆ ที่ดินที่ต้องห้าม (เช่น สวนของคนอื่น) ไม่ช้ามันก็จะเข้า (ไปกิน) ใน (สวน) นั้น จงจำไว้ว่า ผู้ปกครอง (กษัตริย์ ฯลฯ) ทุกคนมีขอบเขตที่ต้องห้าม จงจำไว้เถิดว่า ที่อัลลอฮฺทรงห้ามนั้น คือสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงอนุมัติ (หะรอม)”

“จงจำไว้ว่า ในร่างกายนั้นมีเนื้อก้อนหนึ่ง เมื่อมันดี ร่างกายนั้นก็ดีด้วย แต่เมื่อมันเสีย ร่างกายก็จะเสียไปด้วย จงจำไว้ว่า แท้จริงแล้ว ก้อนเนื้อก้อนนั้นมันคือ หัวใจ” (บันทึกโดย บุคอรีย์และมุสลิม)

หะดีษต้นนี้เน้นย้ำถึงสิ่งที่ได้รับอนุญาตและสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลามนั้นชัดแจ้ง ถือว่าเป็นแนวคิดที่สำคัญยิ่งและเป็นพื้นฐานในความเข้าใจศาสนา อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ได้ประทานอัลกุรอานมายังเราและระบุไว้อย่างชัดเจนในสิ่งที่เราได้รับอนุญาตและสิ่งที่ต้องห้าม การยึดมั่นในการกระทำที่พระองค์ทรงสั่งใช้และหลีกเลี่ยงสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้ามจะทำให้ท่านได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่มุสลิมทุกคนควรมุ่งมั่นและพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้รับมัน

หะดีษต้นนี้ยังชี้ให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่งของความเมตตาและความกรุณาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา แท้จริงด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินชีวิต ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติสุขและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) มาเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดให้กับเรา ตามภารกิจของท่านที่ได้รับการกล่าวไว้ในอัลกุรอานว่า:

“และเรามิได้ส่งเจ้า (มุฮัมมัด) มาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” (อัล อันบิยาอฺ 21:107)

ดังนั้น อัลลอฮฺได้ทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัดเป็น “ความเมตตา” ต่อ “มวลมนุษยชาติ” ไม่ใช่เฉพาะกับชาวเมืองมักกะห์ ไม่ใช่เฉพาะกับชาวคาบสมุทรอาหรับ และไม่ใช่เฉพาะกับชาวมุสลิมเท่านั้น แต่สำหรับทุกคนทุกยุคสมัย ความเมตตาคือการรู้ว่าจะใช้ชีวิตของเราอย่างไร การรู้ว่าสิ่งใดที่พระองค์ทรงพอพระทัยและสิ่งใดที่พระองค์ทรงไม่พอพระทัย เพื่อที่เราจะได้ห่างไกลจากสิ่งที่ต้องห้ามชัดแจ้ง และผลักดันตัวเราเองไปสู่สิ่งที่อยู่ในกรอบอนุมัติ

พิจารณาดูว่าแนวคิดนี้มีความสำคัญอย่างไร ให้ลองจินตนาการว่าคุณเป็นนักเรียน คุณกำลังเดินเข้าไปในห้องเรียน และคุณครูกำลังจ้องมองคุณอยู่ ขณะนั้นคุณก็เดินเข้าไปนั่งที่โต๊ะเรียนของคุณ แล้วคุณก็รอให้คุณครูเริ่มต้นกล่าวอะไรสักอย่างกับคุณ แต่คุณครูกลับไม่กล่าวอะไรนอกจากจ้องมองคุณเพียงเท่านั้น คุณก็ไม่รู้ว่าคุณต้องทำตัวอย่างไร จากนั้นคุณครูก็แสดงสีหน้าไม่พอใจและส่งสัญญาณให้คุณว่าคุณควรรู้ว่าเธอต้องการอะไร แต่คุณก็ไม่ทราบอยู่ดีว่าคุณต้องทำอะไร คุณควรเปิดหน้าที่ห้า หรือหน้าที่สิบ หรือควรเริ่มต้นเขียนอะไรสักอย่างลงสมุดบันทึกของคุณกันแน่?

ในทางตรงกันข้าม หากคุณครูเริ่มต้นชั้นเรียนของเธอด้วยการกล่าวว่า ‘เปิดหน้าห้าสิบสี่ แล้วเราจะเริ่มต้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์กัน’ จากนั้นคุณก็จะรู้ว่าคุณต้องทำอะไร และมันก็จะทำให้คุณมุ่งมั่นและเพ่งความสนใจในสิ่งนั้นเพื่อที่จะช่วยให้คุณบรรลุภารกิจที่คุณได้รับมอบหมาย

ดังนั้น อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ที่อัลลอฮฺทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัดมาเป็นครู มาเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดให้กับเรา ท่านนบีได้แสดงแบบอย่างของหลักคำสอนอิสลาม ดังที่ภรรยาของท่าน ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา) กล่าวว่า “ท่านนบีเป็นเสมือนอัลกุรอานที่เดินได้” ดังนั้นเราจึงสามารถเจริญรอยตามแนวทางของท่านนบีได้ในทุกมิติชีวิต เพื่อให้ชีวิตของเรานั้นได้รับทางนำ

ความเมตตาคือการที่เราไม่ต้องลำบากค้นหาว่าเราจะใช้ชีวิตของเราอย่างไร แต่จงพุ่งกำลังของเราสู่การมุ่งมั่นเอาชนะจุดอ่อนที่ไม่ดีของตัวเองเพื่อบรรลุวิถีชีวิตอันสูงส่งที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนโดยอัลลอฮ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา

อีกประเด็นหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากหะดีษต้นนี้ได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่คลุมเครือสงสัย:

“ดังนั้น ผู้ใดรักษาตัวเขาจากสิ่ง (หรือเรื่อง) ที่คลุมเครือนั้น เขาได้ชำระตัวเขาในการปกป้องศาสนาของเขาและเกียรติของเขา ส่วนผู้ใดที่ตกลงไปในการกระทำสิ่งที่คลุมเครือ เขาก็ได้ตกลงไปในเรื่องที่หะรอม (ต้องห้าม)”

การหลีกเลี่ยงเรื่องหรือสิ่งที่น่าสงสัยจะช่วยให้หัวใจของเราบริสุทธิ์ และนั่นจะนำเราไปสู่ส่วนถัดไปของหะดีษที่ว่า:

“จงจำไว้ว่า ในร่างกายนั้นมีเนื้อก้อนหนึ่ง เมื่อมันดี ร่างกายนั้นก็ดีด้วย”

คำถามคือ เราจะรักษาหัวใจของเราให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร?
ลองคิดถึงการเดินเข้าไปในบ้านที่มีสิ่งของหรือของใช้ต่าง ๆ ที่เสียหายจำต้องได้รับการซ่อมแซม คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรที่ต้องเอาไปซ่อม หากคุณไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างที่เสียหาย? ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งแรกที่ต้องทำและอัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด คือการพิจารณาหัวใจของคุณก่อน: อะไรคือปัญหาที่คุณต้องเผชิญในชีวิตของคุณเอง? คุณเป็นคนขี้อิจฉาหรือเปล่า? คุณมักพลาดการละหมาดหรือไม่? หรือคุณเป็นคนที่มีอารมณ์โมโหโทสะ?

เมื่อคุณลองพิจารณาตัวเองและมองลึกเข้าไปข้างในตัวเองด้วยความสัตย์จริงแล้ว คุณก็จะสามารถเริ่มรู้วิธีการแก้ไขปัญหาตัวเองและเข้าสู่กระบวนการ “ตัซกียะฮฺ” ซึ่งก็คือการขัดเกลาหรือการชำระล้างตัวเองให้บริสุทธิ์

วิธีง่าย ๆ ในการรักษาความบริสุทธิ์ของหัวใจเรานั้นคือให้เราคำนึงถึงสามสิ่ง ได้แก่ คน สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ เช่น คน ถ้าคุณสามารถพาตัวเองให้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนดี: คุณก็จะพบกับผู้คนที่จะกำชับให้คุณทำการละหมาด คุณก็จะพบกับคนที่จะพาคุณไปสู่สถานที่ที่ดี ไปฟังบรรยายธรรม ไปมัสยิด และสถานที่ที่คุณสามารถรำลึกถึงอัลลอฮฺได้เสมอ แล้วพวกเขาจะเป็นผู้สนับสนุนที่ดีที่สุดของคุณ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเป็นคนเดียวในกลุ่มที่ต้องลุกขึ้นมาละหมาด เป็นคนเดียวที่ไม่สบายใจกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนในกลุ่ม คุณก็จะต้องเผชิญกับการต่อสู้ยืนหยัดเพื่อความถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์ คุณต้องพาตัวเองไปสู่สิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกันกับสถานที่: จงไปยังสถานที่ที่บริสุทธิ์ ตัวอย่างเช่น นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่าการสูบบุหรี่ บารากู่ ฯลฯ อย่างมากที่สุดเท่าที่จะยอมรับได้คือมันเป็นสิ่งที่ไม่ส่งเสริมและน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ไปจนถึงทรรศนะที่ถือว่ามันเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ปัจจุบันนี้มีสถานที่มากมายที่ให้บริการและเอื้อต่อการกระทำหรือบริการสิ่งที่ไม่ดี และน่าเสียดายที่สถานที่ที่ไม่ดีเหล่านั้นกลายเป็นสถานที่นัดเที่ยวหรือนัดเจอกันของผู้คนยุคใหม่

สำหรับบางคนที่ไม่ต้องการสูบบุหรี่ แต่พวกเขาไปยังสถานที่เหล่านั้นเพียงเพื่อซื้อแซนวิช ก็จงอย่าไปซื้อแซนวิชจากสถานที่ที่ไม่ดีเหล่านั้น เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นสถานที่ที่ทำให้คุณสามารถหลงลืมอัลลอฮฺได้ (และอาจนำคุณไปสู่การกระทำที่ฝ่าฝืนพระองค์ภายหลัง)

หรือบางทีที่คุณอาจพลาดการละหมาดของคุณ หรือคุณเผลอเข้าไปในวงสนทนาที่มีหัวข้อสนทนาที่ไม่ดี จำไว้ว่า จงพาตัวเองไปยังสถานที่ที่บริสุทธิ์เสมอ

และสุดท้ายเพื่อให้หัวใจของเรานั้นสัมผัสกับสิ่งที่บริสุทธิ์ จงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราบริโภคด้วยสายตาของเรา ด้วยปากของเรา ด้วยหูของเรา เช่น การบริโภคสิ่งต่าง ๆ ในทีวีและภาพยนตร์ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ปัจจุบันมีสิ่งบันเทิงที่ฮาลาลมากมายที่เป็นทางเลือกให้เราและลูก ๆ ของเราสามารถบริโภคได้

โปรดจำไว้ว่าโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมนั้นมันไม่ดีต่อจิตวิญญาณของเราด้วยเช่นกัน เราจะค่อย ๆ ซึมซับและสร้างความคุ้นเคยของเราไปยังคำศัพท์ที่ไม่เหมาะสมและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม บ่อยครั้งที่เราคิดว่า: โอเค ฉันจะไม่ปล่อยให้ลูก ๆ ของฉันดูมัน แต่ฉันดูมันเองได้ ดังนั้นจึงควรจำไว้ว่า สิ่งที่ไม่ดีสำหรับเด็กก็ไม่ดีสำหรับผู้ใหญ่เฉกเช่นเดียวกัน

แน่นอนในบางกรณีมันก็มีขอบเขตที่พอยอมรับได้บ้าง แต่โดยรวมแล้วเราต้องการที่จะบริโภคสิ่งที่ดีที่สุดผ่านสายตาและผ่านใบหูของเรา

หวังว่าเมื่อเรายึดมั่นกับสิ่งเหล่านี้หรือเริ่มต้นด้วยกับสามสิ่งนี้ ได้แก่ คน สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ และรักษาความบริสุทธิ์ระหว่างการปฏิสัมพันธ์ของเรากับทั้งสามปัจจัยนี้ไว้ เราก็จะสามารถเริ่มชำระล้างหัวใจของเราได้จริง ๆ และสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อร่างกายของเราด้วยวิธีอันบริสุทธิ์ อินชาอัลลอฮฺ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net