ได้ชื่อว่าอาหารขยะ แต่เราก็ยังกินมันอีกหรือ?

การบริโภคโซเดียมที่มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง (ระดับความดันของเลือดที่สูงขึ้น) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ

กำไรของห่วงโซ่อาหารฟาสต์ฟู้ด (อาหารจานด่วน) ในอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ได้ทำเงินหลายพันล้านดอลลาร์ทุก ๆ ปี พร้อม ๆ กับผู้บริโภคที่หิวโหยทั่วโลกยังคงต่อแถวซื้อแฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า เฟรนช์ฟรายและโซดา ประชาชนที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบในศตวรรษที่ 21 ได้ใช้เงินมากขึ้นพร้อม ๆ กับเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการกินอาหารขยะ

อาหารขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยไขมันและเกลือ ฟาสต์ฟู้ดไม่มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าส่วนประกอบดังกล่าว ชาวอเมริกันรับประทานมันเพื่อความเพลิดเพลินในรสชาติที่เอร็ดอร่อย ซึ่งประหยัดทั้งเวลาและแรงงานในการปรุงอาหารของพวกเขา ผู้ที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเพียงเพื่อเลียนแบบพฤติกรรมของชาวอเมริกัน เพราะมันดูเท่ห์และมีความทันสมัย คนทั้งสองกลุ่มนี้กำลังทำอันตรายต่อสุขภาพตนเองอย่างร้ายแรง

:: ฟาสต์ฟู้ด = อาหารแปรรูป ::

โดยทั่วไปแล้วฟาสต์ฟู้ดนั้นเป็นอาหารแปรรูป แล้วอาหารแปรรูปคืออะไร ? อาหารแปรรูปคืออาหารที่ได้รับการดัดแปลงจากกรรมวิธีทางธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจำนวนมากที่มีการเติมสารปรุงแต่งอาหารทั้งที่มาจากกระบวนการทางธรรมชาติและทางเคมี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายไม่หลงเหลือสารอาหารตามธรรมชาติ เช่น วิตามิน แร่ธาตุและเอนไซม์ต่าง ๆ

นอกเหนือจากทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยแล้ว สารปรุงแต่งยังช่วยรักษาอายุของผลิตภัณฑ์ให้มีระยะเวลายาวนานขึ้น ซึ่งหมายความว่าอาหารแปรรูปมักได้รับการกักตุนไว้เป็นเวลานานก่อนที่จะนำไปซื้อขายและรับประทาน! สารปรุงแต่งอาหารจากธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดคือ เกลือ น้ำตาลและน้ำส้มสายชู ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมาจากธรรมชาติ แต่การบริโภคในจำนวนที่มากเกินไปนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง

ลักษณะของอาหารขยะจะมีปริมาณของเกลือสูง (โซเดียมคลอไรด์) โซเดียมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระบวนการเผาผลาญต่าง ๆ ในร่างกาย อย่างไรก็ตาม การบริโภคด้วยจำนวนที่มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจ

นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับวัตถุเจือปนอาหารที่สกัดจากธรรมชาติ นับประสาอะไรกับวัตถุเจือปนที่ได้รับการสังเคราะห์ขึ้นมา? การปรากฏตัวของอาหารแปรรูปในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่เทียบได้กับการระเบิดครั้งใหญ่ในกระบวนการเจือปนทางเคมีของอาหารที่มีสารเติมแต่ง

จากผลงานหนังสือติดอันดับขายดีที่ชื่อว่า ‘ฟาสต์ฟู้ด เนชั่น’ (‘Fast Food Nation’ หรือชื่อฉบับแปลภาษาไทยว่า ‘มหาอำนาจฟาสต์ฟู้ด’) เขียนโดย เอริค สลอซเซอร์ (Eric Schlosser) เขาได้เปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าสนใจแก่สาธารณะชนชาวอเมริกันถึงสิ่งที่พวกเขาบริโภค เอริคได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานของเขาในโรงงานที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ว่าเขาได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วรสชาติของแมคโดนัลด์นั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างไร

กรรมวิธีการแปรรูปอาหารในปัจจุบันจะรวบรวมชิ้นส่วนอันมากมายของสัตว์หลากหลายชนิดไว้ในเบอร์เกอร์ชิ้นเดียว เบอร์เกอร์เนื้อวัวจะต้องถูกนำไปทอดในน้ำมันที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส และกรรมวิธีนี้ก็เป็นกรรมวิธีที่นิยมในการผลิตอาหารฟาสต์ฟู้ดเกือบทุกประเภท ดังนั้นอาหารเหล่านี้จึงถูกเปลี่ยนคุณสมบัติให้ผิดไปจากลักษณะทางธรรมชาติดั้งเดิมและเป็นไปได้ว่ามันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่กล่าวถึงเฟรนช์ฟรายของแมคโดนัลด์ที่เผยให้เห็นกระบวนการแปรรูปและปัจจัยที่ทำให้รสชาติแตกต่าง เป็นเวลาหลายทศวรรษที่แมคโดนัลด์ปรุงเฟรนช์ฟรายด้วยส่วนผสมของน้ำมันฝ้าย 7% และไขมันวัวอีก 93% ซึ่งส่วนผสมดังกล่าวทำให้รสชาติเฟรนช์ฟรายของแมคโดนัลด์มีเอกลักษณ์ และยังทำให้เฟรนช์ฟรายมีไขมันอิ่มตัวต่อออนซ์มากกว่าแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ ในปี 1990 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปริมาณคอเลสเตอรอลในมันฝรั่งทอด แมคโดนัลด์จึงยอมเปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืชบริสุทธิ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ท้าทายบริษัทว่าจะมีกรรมวิธีการทอดอย่างไรให้ได้รสชาติของเฟรนช์ฟรายที่เหมือนเนื้อวัวละเอียดโดยไม่ต้องใช้ไขมันวัว การเข้าไปศึกษาดูส่วนผสมในเฟรนช์ฟรายของแมคโดนัลด์จะช่วยแสดงให้เราเห็นว่าปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างไร เมื่อมองไปยังท้ายรายการของส่วนผสมเราจะเห็นวลีที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่ก็ดูลึกลับแบบแปลก ๆ ว่า “วัตถุปรุงแต่งกลิ่นรสเลียนแบบธรรมชาติ” ส่วนผสมข้อนี้เองที่ช่วยอธิบายว่าทำไมเฟรนช์ฟรายของแมคโดนัลด์จึงมีรสชาติที่เอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ

วัตถุเจือปนอาหารได้เข้ามาแทรกแซงในทุกอณูของสิ่งที่เราดื่มและรับประทาน นับแค่ความอันตรายที่เกิดจากส่วนประกอบทางเคมีในน้ำอัดลมที่ใช้สารเติมแต่งของเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกนั้นก็ไม่ค่อยจะปลอดภัยแล้ว น้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีการเติมโบรมีน (Brominated Vegetable Oil : BVO) ถูกนำไปใช้ในการขจัดกลิ่นรสของน้ำมันที่อยู่ในน้ำอัดลม อีกทั้งยังทำให้น้ำอัดลมมีลักษณะเป็นฟองดังที่เรารู้จักกันดีในเครื่องดื่มเหล่านี้

สารตกค้างขนาดเล็กของ BVO จะติดตามไขมันในร่างกาย และยังไม่มีข้อพิสูจน์ใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่า BVO นั้นมีความปลอดภัย สารโบรมีนซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของ BVO นั้นมีคุณสมบัติเป็นพิษ เพียงสองถึงสี่ออนซ์ของตัวทำละลาย BVO จำนวน 2% ก็มีปริมาณเพียงพอแล้วที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กที่บริโภค

ข้อเท็จจริงน่าขันอีกอย่างที่เกี่ยวกับน้ำอัดลมคือ ไดเอทโค้กและไดเอทเป๊ปซี่ถือเป็นทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการไดเอท ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักว่าแทนที่จะเป็นน้ำตาลที่ใช้เป็นสารให้ความหวาน แต่พวกเขากลับใช้สารให้ความหวานเทียมอย่างเอซีซัลเฟมเค (acesulfame K) ซึ่งมีส่วนให้เกิดภาวะซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ โรคทางระบบประสาทและอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ มากมาย แพทย์ยังเตือนว่าเอซีซัลเฟมเค (acesulfame K) นั้นอาจเป็นสารก่อมะเร็ง

เราเห็นแล้วว่ารสชาติของอาหารฟาสต์ฟู้ดอเมริกันสำหรับไดเอทที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวข้องกับการใช้สารสังเคราะห์ทางเคมี สารแต่งกลิ่นรสเทียมและสารปรุงแต่งที่ถูกเติมเข้าไปในอาหารผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย

:: ไขมันและน้ำตาล: เมื่อโรคอ้วนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ::

กล่าวง่าย ๆ คืออาหารฟาสต์ฟู้ดนั้นมีไขมันและน้ำตาลสูง มีความหมายว่าอาหารฟาสต์ฟู้ดนั้นมีแคลอรีสูงและให้คุณค่าทางโภชนาการต่ำ นอกจากนี้ อาหารฟาสต์ฟู้ดยังมีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอาหารเนื่องจากราคาถูกและสามารถทนต่อการปรุงอาหารในอุณหภูมิที่สูงได้ มีข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไขมันอิ่มตัวนั้นมีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและสามารถทำให้เกิดโรคหัวใจได้

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพควรมีปริมาณแคลอรี่น้อยกว่า 30% จากไขมัน หรือมีไขมัน 9 กรัมและ 270 แคลอรี่ แฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ได้ทะลุเพดาน 30% นี้ไปแล้ว แฮมเบอร์เกอร์ของเบอร์เกอร์คิงมีไขมัน 15 กรัมและ 320 แคลอรี่ หรือมีปริมาณแคลอรี่ 42% จากไขมัน ส่วนแฮมเบอร์เกอร์ของร้านอาหารชื่อดังเจ้าอื่น ๆ นั้นมีปริมาณแคลอรี่และเปอร์เซนต์ของไขมันมากกว่าสองเจ้าที่กล่าวมาเสียอีก

ดังนั้น แฮมเบอร์เกอร์จึงให้ปริมาณแคลอรี่มากกว่าที่ร่างกายเราต้องการและปริมาณแคลอรี่ส่วนใหญ่นั้นก็มาจากไขมัน

เมื่อพูดถึงน้ำตาล ก็เพียงพอที่จะกล่าวได้ว่ากระป๋องน้ำอัดลมทั่วไปนั้นมีปริมาณน้ำตาลถึง 10 ช้อนชา

อาหารฟาสต์ฟู้ดจึงให้ปริมาณแคลอรี่มากกว่าที่ระบบของเราสามารถย่อยได้ และแคลอรี่ส่วนเกินเหล่านี้ก็จะถูกเก็บไว้ในร่างกายของเราในรูปแบบของไขมัน การจัดเก็บไขมันส่วนเกินในร่างกายจะนำไปสู่โรคอ้วน ซึ่งโรคอ้วนไม่เพียงแต่ป้องกันไม่ให้เรามีหุ่นที่ดีสมส่วนเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดโรคและความผิดปกติหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ต้องใช้อินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ

ยิ่งไปกว่านั้น โรคอ้วนยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไส้ตรงและทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูกและปากมดลูก

หากอาหารฟาสต์ฟู้ดและน้ำอัดลมเป็นสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตฉบับอเมริกันแล้ว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมคนอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งถึงมีน้ำหนักมากเกินไป แท้จริงแล้วจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกทั่วไปได้บ่งชี้ว่าอาหารฟาสต์ฟู้ดนั้นเป็นสาเหตุหลักของโรคอ้วน

การบริโภคอาหารขยะไม่เพียงแต่หมายถึงปัญหาการรับประทานวัตถุเจือปนที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีที่ถูกเติมเข้ามาในอาหารระหว่างกระบวนการแปรรูป หรือไม่เพียงแต่หมายถึงปัญหาไขมันส่วนเกินและความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคอ้วนเท่านั้น ปัญหาของอาหารฟาสต์ฟู้ดนั้นไกลกว่านั้นและมีความหลากหลายมากกว่านั้นมาก

“ไม่มีสองประเทศใดที่ทั้งสองต่างก็มีแมคโดนัลด์แล้วทั้งสองต่างก็เคยทำสงครามต่อกัน” โธมัส ฟรายด์แมน (Thomas Friedman) นักทฤษฎีโลกาภิวัตน์ที่มีชื่อเสียงและคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร Foreign Affairs กล่าว

แม้ทฤษฎี McPeace (สันติภาพจากแมคโดนัลด์) ของฟรายด์แมนดูเหมือนจะป้องกันสงครามได้ แต่แมคโดนัลด์จะสามารถป้องกันโรคภัยที่เกิดจากอาหารขยะตามเมนูที่พวกเขาเสิร์ฟ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งได้หรือไม่?

………………………………………………………………………………………
อ้างอิง:
• com, “Obsessed by Fast Food: Will Fast Food Be The Death Of Us?”
• Better Health Channel.
• Kate, Siber, “Expansion of the Fast Food Industry,” commonsense, commonsense.com
• Hansler, Kathryn, “Think Fast: Surviving the Fast Food Jungle,”San Bernardino County.
infoplease.com
• “Processed Food and Junk Food.”
• Schlosser, Eric, “Why McDonald’s Fries Taste So Good,” The Atlantic Monthly, July 1, 2001.
• Friedman, Thomas, “Turning swords into beef-burgers.” The Guardian, December 19, 1996.

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลและเรียบเรียงบทความนี้ถอดมาจากแฟ้มเก็บเอกสารของนิตยสาร Science
ที่มา: aboutislam.net โดย ซาร่า คุรชิด