เราจะรับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีการทำให้สัตว์สลบหรือหมดสติก่อนการเชือดด้วยกระแสไฟฟ้าได้หรือไม่?

:: คำถาม ::
แด่นักวิชาการที่เคารพนับถือ ขอความศานติและความจำเริญของอัลลอฮ์จงประสบแด่ท่าน ข้าพเจ้ามีคำถามว่า หากกระแสไฟฟ้าถูกนำไปใช้กับสัตว์สักสองสามวินาทีเพื่อทำให้สัตว์นั้นสลบหรือหมดสติ จากนั้นค่อยนำสัตว์ไปเชือดตามหลักศาสนบัญญัติในอิสลาม ด้วยวิธีการนี้จะถือว่าเนื้อสัตว์ฮาลาลหรือไม่ ? จากกระบวนการนี้ การสังหารสัตว์จะต้องถูกทำให้แน่ใจตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าสัตว์นั้นยังคงหายใจและยังมีชีวิตอยู่ การทำให้สัตว์หมดสติด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าหรือช็อตด้วยกระแสไฟฟ้านั้นมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้สัตว์ไม่ต้องเคลื่อนไหวใด ๆ ซึ่งจะช่วยให้ง่ายทั้งต่อตัวสัตว์เองและต่อผู้ดำเนินการเชือด อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดหลักสองประการของการเชือดสัตว์ฮาลาลคือสัตว์จะต้องมีชีวิตอยู่ ณ ช่วงเวลาของการเชือด และเลือดทั้งหมดของสัตว์จะต้องถูกปล่อยให้ไหลออกมาจากร่างกาย หากเราปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งสองประการนี้ แม้ว่าจะใช้กรรมวิธีการทำให้สัตว์หมดสติด้วยการช็อกไฟฟ้า เนื้อสัตว์จะได้รับการพิจารณาว่าฮาลาลหรือไม่ ? ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีงามของท่าน.

ตอบคำถามโดยมุฟตี: ชัยค์ อะห์มัด คุตตี

ขอความศานติและความจำเริญของอัลลอฮ์จงประสบแด่ท่าน ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาปราณีเสมอ การขอบคุณและการสรรเสริญทั้งหมดเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ ขอความศานติและความศิริมงคลจงประสบแด่ท่านศาสนทูตของพระองค์

พี่น้องที่รักในอิสลาม ขอบคุณมากสำหรับคำถามของท่านซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของท่านที่มีต่อมุมมองอันชัดเจนของคำสอนในศาสนาอิสลาม อัลลอฮ์ทรงบัญญัติให้ชาวมุสลิมที่มีความรู้ต้องสร้างความคุ้นเคยกับคำสอนของศาสนาอิสลามในทุกมิติของชีวิต

อย่างไรก็ตาม การทำให้สัตว์หมดสติหรือการใช้ไฟฟ้ากับสัตว์ก่อนดำเนินการเชือดจะไม่ทำให้สัตว์นั้นมีสถานะหะรอม (ต้องห้าม) แก่การบริโภคสำหรับชาวมุสลิม หากสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่หลังจากถูกไฟฟ้าช็อก จากนั้นค่อยนำไปเชือดตามหลักการอิสลามให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่มีอะไรผิดปกติในการบริโภคมัน ถึงกระนั้น หากสัตว์นั้นตายด้วยกระบวนการช็อกด้วยไฟฟ้าก่อนที่จะถูกเชือดตามหลักการ เนื้อสัตว์นั้นจะถือว่าเป็นที่ต้องห้ามสำหรับชาวมุสลิมสำหรับการบริโภค

เนื่องจากคำถามของท่าน ชัยค์ อะห์มัด คุตตี นักวิชาการอิสลามอาวุโสประจำสถาบันอิสลามแห่งโตรอนโต ออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ได้กล่าวว่า:

สัตว์ที่ถูกเชือดด้วยกรรมวิธีนี้จะถือว่าฮาลาล ดังนั้น จึงเป็นที่อนุมัติสำหรับเราที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทนี้ ตราบเท่าที่สัตว์เหล่านั้นไม่ได้เสียชีวิตก่อนกระบวนการเชือด นี่เป็นคำวินิจฉัยของสภานิติศาสตร์อิสลามโลก (World Fiqh Council) หลังจากที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว สภาได้ข้อสรุปว่าการช็อตสัตว์ด้วยกระแสไฟฟ้าก่อนกระบวนการเชือดไม่ทำให้สัตว์เป็นที่ต้องห้ามสำหรับการบริโภคของชาวมุสลิมแต่อย่างใด แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่าสัตว์ที่เชือดนั้นต้องมีชีวิตอยู่ขณะกระบวนการเชือด แน่นอนว่าการเชือดนั้นจะต้องถูกต้องตามเงื่อนไขมาตรฐานฮาลาล เช่น เส้นเลือดใหญ่จะต้องถูกตัดด้วยมีดหรืออุปกรณ์ที่แหลมคม โดยที่เลือดในร่างกายทั้งหมดจะต้องถูกปล่อยให้ระบายออกมา และพระนามของอัลลอฮ์จะต้องได้รับการกล่าวในขณะที่เชือด

วัลลอฮุอะอฺลัม (แท้จริงแล้วอัลลอฮ์ทรงรู้ดีที่สุด)

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: aboutislam.net

ฉันสามารถกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการเชือดตามบมบัญญัติศาสนาอิสลามได้หรือไม่?

:: [คำถาม] ::
ฉันเป็นคนงานชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในนครบราซีเลีย ประเทศบราซิลเกือบสามเดือน ขณะที่ฉันทำงานที่นั่น ฉันไม่ได้ทานเนื้อสัตว์ใด ๆ เพราะเกรงว่ามันจะไม่ฮาลาลตามหลักการศาสนา ตอนนี้ฉันกินเพียงผัก ปลา และอาหารทะเลเท่านั้น บางครั้งฉันก็รู้สึกอยากกินเนื้อสัตว์บ้าง คำถามของฉันคือ ฉันสามารถกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับการเชือดด้วยนามของอัลลอฮฺได้หรือไม่ ? หรือฉันสามารถกินมันได้เพียงแค่กล่าวนามของอัลลอฮฺขณะรับประทาน ? เงื่อนไขนี้เพียงพอสำหรับฉันให้รับประทานมันได้หรือไม่ ?

:: [คำตอบ] ::
ขอความสันติ ความเมตตา และความจำเริญจากผู้เป็นเจ้าจงประสบแด่ท่าน ด้วยพระนามของผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงไพศาลในความเมตตา ผู้ทรงถ้วนทั่วในความกรุณา มวลการสรรเสริญทั้งหมดเป็นสิทธิแห่งผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุฮัมมัดของเรา รวมถึงวงศ์วานของท่านและเหล่าสาวกของท่านทั้งมวล

จากฟัตวาชิ้นนี้สรุปได้ว่า:
1 – ทรรศนะที่เป็นมติเอกฉันท์โดยบรรดาปวงปราชญ์และนักวิชาการต่างอนุญาตให้ทานเนื้อสัตว์ของกลุ่มชนชาวคัมภีร์ (อะฮฺลุล กิตาบ) ทั้งชาวยิวและชาวคริสเตียนได้ หากนามของอัลลอฮฺนั้นได้รับการกล่าวขณะเชือด

2 – หากว่าผู้เชือดได้กล่าวนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺขณะที่เชือด เช่น ชื่อพระเยซู นักวิชาการบางท่านก็ไม่ถือว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นที่อนุญาตสำหรับมุสลิมให้รับประทานได้

ดร. มุฮัมมัด เศาะลาห์ ศาสตราจารย์ประจำวิชาอูศุล อัล ฟิกฮฺ แห่งสถาบันการศึกษาชะรีอะฮฺ อะคาเดมี่ ซึ่งเป็นผู้ตอบคำถามนี้ ท่านได้ให้คำตอบว่า กฎเกณฑ์ทั่วไปคืออนุญาตให้ทานเนื้อสัตว์ที่เชือดโดยกลุ่มชนชาวคัมภีร์ได้ (อะฮฺลุล กิตาบ) ได้แก่ ชาวยิวและชาวคริสเตียน หากชื่อของอัลลอฮฺได้รับการกล่าวขณะที่ทำการเชือด

อัลลอฮฺตรัสว่า “ดังนั้นพวกเจ้าจงบริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮฺถูกกล่าวบนมันเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่อบรรดาโองการของพระองค์” (อัล อันอาม 6:118)

อัลลอฮฺตรัสว่า “และพวกเจ้าจงอย่าบริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮฺมิได้ถูกกล่าวบนมัน และแท้จริงมันเป็นการละเมิดแท้” (อัล อันอาม 6:121)

หากว่าผู้เชือดได้กล่าวนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺขณะที่เชือด เช่น ชื่อพระเยซู ถือว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับมุสลิมให้รับประทานได้

อัลลอฮฺตรัสว่า “ที่จริงที่พระองค์ทรงห้ามพวกเจ้านั้นเพียงแต่สัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งเสียงที่มันเพื่อสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2:173)

นอกจากนี้ หากทราบว่าเนื้อสัตว์ในประเทศที่ท่านอาศัยนั้นได้จากกรรมวิธีการฆ่าสัตว์ด้วยวิธีการใช้ปืนยิง การทำให้หมดลมหายใจ หรือการรัดคอ โดยที่ไม่ได้มาด้วยกรรมวิธีการเชือดที่ถูกต้อง เนื้อสัตว์เหล่านั้นถือว่าเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมมิให้รับประทาน

แต่ถ้าผู้เชือดเป็นหนึ่งในกลุ่มชนชาวคัมภีร์และพวกเขาก็เชือดสัตว์ของพวกเขาด้วยการกล่าวนามของผู้เป็นเจ้า ถือว่าเป็นที่อนุญาตสำหรับชาวมุสลิมที่จะรับประทานเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้ดีที่สุด

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

กฏเกณฑ์ว่าด้วยการรับประทานหอยทาก: การปรุงหอยทากสด ๆ เป็นที่อนุมัติหรือไม่

หลักการอิสลามกล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับการรับประทานหอยทาก เท่าที่ทราบมาการปรุงหอยทากนั้นจะปรุงกันสด ๆ โดยมิได้เชือด และในยุคของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีการนำเอาหอยทากมาเป็นอาหารหรือไม่

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

หอยทากมีสองชนิด หอยทากบกและหอยทากทะเล หอยทากบกถูกจัดอยู่ในกลุ่มของแมลงและสัตว์น่ารังเกียจ ซึ่งไม่มีเลือดไหลเวียน ส่วนหอยทากทะเลถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ที่มีเปลือกเช่นหอย กุ้ง ปูซึ่งเป็นสัตว์ทะเล

ใน เมาซูอะฮฺ อัลอะเราะบิยฺยะฮฺ อัลอะลามิยฺยะฮฺ กล่าวไว้ว่า
หอยทาก (snail) เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และจัดเป็นหอยชนิดหนึ่ง (shellfish) หอยทากส่วนใหญ่จะมีเปลือกข้างนอกลำตัว บางชนิดมีเปลือกขนาดเล็กอาจอยู่นอกหรืออาจอยู่ใต้ผิวหนัง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีเปลือกคลุมทั้งตัว

หอยทากน้ำจืดจะมีหนวดหนึ่งคู่ ซึ่งจะมีดวงตาอยู่ที่ปลายหนวดที่ยาวทั้งสอง หอยทากรูปกรวย (large sand snail) ถือว่าเป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่ง เนื่องจากมันชอบกัดกินพืช บางตัวอาจมีความยาวถึง 10 เซนติเมตร

เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การรับประทานหอยทาก
1. หอยทากน้ำจืดจะถูกจัดในกฏว่าด้วยการรับประทานแมลง นักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่ามันเป็นสัตว์ต้องห้ามที่จะรับประทาน (หะรอม) อิมานะวาวีย์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวไว้ในอัลมัจญมูอ์ (9/16) ว่า มุมมองของเราถือว่ามันต้องห้าม ส่วนทรรศนะของ อบูหะนีฟะฮฺ อิมามอะหมัด และอิมามดาวุด และอิมามมาลิกถือว่ามันหะลาล (อนุญาตให้รับประทาน)

อิบนุอัซม์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า ไม่อนุญาตให้รับประทานหอยทากน้ำจืดหรือสัตว์อื่นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ “แมลงหรือปรสิต” เช่น ตุ๊กแก, แมลงสาบ, มด, ผึ้ง, แมลงวัน, ตัวต่อ, หนอน, เหา, หมัด, ตัวเรือด, ไร, ยุง หรืออื่น ๆ ที่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกัน เนื่องอัลลอฮฺทรงกล่าวว่า “ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสัตว์ที่ตายเองและเลือดและเนื้อสุกรและสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ ขณะเชือดมัน และสัตว์ที่ถูกรัดคอตายและสัตว์ที่ถูกตีตายและสัตว์ที่ตกเหวตายและสัตว์ที่ถูกขวิดตายและสัตว์ที่สัตว์ร้ายกัดกิน นอกจากที่พวกเจ้าเชือดกัน” (อัลมาอิดะฮฺ 5:3) และมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าการเชือดต้องทำที่คอเหนือบริเวณเหนื่อหน้าอก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเชือดพวกมัน ดังนั้นการที่จะกินพวกมันได้ต้องรอให้พวกมันตายเสียก่อน ซึ่งถือว่าไม่มีการเชือดอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งต้องห้าม

ในอัลมุหัลลา (6/76, 77) มัซฮับมาลิกี มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเลือดไหลเวียนจะต้องถูกเชือดเสียก่อน แต่พวกเขาได้วางไว้ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกับตั๊กแตนและการวิธีการฆ่าพวกมันก็ด้วยการต้ม ย่าง หรือเจาะด้วยไม้ หรือเข็มจนกว่าจะตายพร้อมกับกล่าวบิสมิลลาฮฺ

ในอัลมุเดาวะนะฮฺ (1/542) กล่าวว่า อิมามมาลิกถูกถามปัญหาบางอย่างในดินแดนมัฆริบ (แอฟริกาเหนือ) จากสิ่งที่เรียกว่าหอยทาก ที่พบในทะเลทรายและตามต้นไม้ ว่าจะรับประทานได้หรือไม่ ท่านตอบว่า ฉันคิดว่ามันคล้ายกับกรณีตั๊กแตน ถ้าจับขณะมันมีชีวิตแล้วนำมาต้ม หรือย่าง ฉันคิดว่าไม่ผิดอะไรที่จะกิน แต่หากพบขณะที่มันตายแล้ว ไม่สมควรที่จะรับประทาน

อบุล วาลีด อัลบาญี (ขออัลลอฮฺโปรดเมตตาท่าน) กล่าวไว้ในอัลมุนตะกอ ชัรห์ อัลมุวัฏเฏาะอฺ (3/110) ว่า หากว่ามันได้รับการพิสูจน์ ดังนั้น กฎเกณฑ์ของหอยทากจึงเป็นเช่นเดียวกับตั๊กแตน อิมามมาลิกกล่าวว่า การฆ่ามันจะกระทำโดยการต้มเดือดหรือแทงด้วยไม้แหลมหรือเข็มจนกระทั่งมันตาย และควรเอ่ยนามของอัลลอฮฺขณะที่ทำการดังกล่าว เช่นเดียวกันกับการตัดหัวของตั๊กแตน

2. หอยทากทะเลนั้นหะลาลที่จะรับประทาน ซึ่งจัดอยู่ในกฏเกณฑ์เกี่ยวกับอาหารทะเลว่าโดยทั่วไปแล้วอนุญาตให้รับประทาน ดังดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวว่า
“ได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้า ซึ่งสัตว์ล่าในทะเลและอาหารจากทะเลทั้งนี้เพื่อเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์แก่พวกเจ้า และแก่บรรดาผู้เดินทาง” (อัลมาอะดะฮฺ 5:96)
อิมาม บุคอรีย์ บันทึกว่า ท่านอุมัรฺ อิบนุค็อฏฏอบ (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) กล่าวว่า
صَيْدُهُ : مَا اصْطِيدَ ، وَطَعَامُهُ : مَا رَمَى بِهِ

“การล่า (ในทะเล) หมายถึง สิ่งที่ถูกล่า และอาหารของมันคือสิ่งที่ทะเลคายออกมา (บนชายฝั่ง)”

อิมามบุคอรีย์ รายงานจากชุร็อยฮฺ ซึ่งเป็นเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีกล่าวว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า كُلُّ شَيءٍ فِي الْبَحْرِ مَذْبُوحٌ “ทุกอย่างในทะเลล้วนถูกเชือด (มัซบูฮ-นั่นคือนุมัติ)” อย่างไรก็ตามเราไม่พบหะดีษต้นใดที่รายงานว่าท่านนบีรับประทานหอยทาก

สรุป อนุญาต (หะลาล) ที่จะกินหอยทากทั้งสองชนิดทั้งบกและทะเล หากมีการปรุงสดถือว่าไม่ผิดแต่ประการใด เพราะมันไม่มีเลือดที่อาจทำให้อ้างได้ว่าจำเป็นต้องเชือดให้ถูกต้องและให้เลือดไหลออกเสียก่อน และหอยทากทะเลนั้นจัดอยู่ภายใต้กฎพื้นฐานที่กล่าวว่าสัตว์ทะเลโดยทั่วไปนั้นรับประทานได้

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islamqa

การให้อาหารไก่ด้วยเนื้อสุกรฮาลาลหรือหะรอม?

:: [คำถาม] ::
ฮาลาลหรือหะรอมที่จะรับประทานเนื้อไก่ที่ถูกเลี้ยงด้วยเนื้อสุกรและสัตว์ที่ตายแล้ว หากว่าหะรอม แล้วไข่ของมันจะรับประทานได้หรือไม่?

:: [คำตอบ] ::
ในการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ท่านได้อ้างถึง มีความขัดแย้งในบรรดานักวิชาการในการรับประทานเนื้อและไข่ของมัน

อิหม่ามและนักนิติศาสตร์อิสลามกลุ่มหนึ่งกล่าวว่ามันเป็นมุบาห์ (อนุญาต) ที่จะรับประทานเนื้อและไข่ของมัน เนื่องจากอาหารที่ไม่บริสุทธิ์จะมีความบริสุทธิ์เมื่อมันกลายเป็นเนื้อและไข่

นักนิติศาสตร์บางท่านซึ่งมีท่านสุฟยาน อัษ-เษารียฺ อิหม่าม อัช-ชะฟีอียฺและอิหม่ามอะหฺมัด ห้ามกินเนื้อและไข่หรือดื่มนมของมันยกเว้นมันจะถูกให้อาหารด้วยกับอาหารที่บริสุทธิ์อย่างน้อย 3 วัน

มีนักวิชาการบางส่วนกล่าวว่าหากอาหารที่มันรับประทานนั้นมีความสกปรก พวกมันจะถูกพิจารณาป็น “ญัลลาละฮฺ” (สัตว์ที่เลี้ยงด้วยสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์) ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทาน ในทางตรงกันข้าม หากอาหารของมันส่วนใหญ่มีความบริสุทธิ์ มันเป็นที่อนุญาตที่จะรับประทานเนื้อของมัน

นักนิติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งห้ามรับประทานเนื้อของมัน ซึ่งได้ใช้หลักฐานจากหะดีษที่รายงานโดย อิหม่าม อะหฺมัด อบู ดาวูด อัล นาซาอียฺและอัต-ติรมีซียฺ ในหะดีษ จากท่านอิบนุ อับบาส รดิยัลลอฮุ อันฮุ ที่รายงานว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ห้ามการดื่มนมจากสัตว์ญัลลาละฮฺ ซึ่งเป็นหะดีษศอฮี้ยฺ โดย อิหม่าม ติรมีซียฺ และอิบนุ ดะกีก อัล อิฎ รดิยัลลอฮุ อันฮุ มีรายงานจากท่านอิหม่าม อบู ดาวุด อัต-ติรมีซียฺ และ อิบนุ มาญะฮฺ จาก ท่านอิบนุ อุมัร รดิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ห้ามการรับประทาน “อัล-ญะลาละฮฺ” และดื่มนมของมัน

และความคิดเห็นที่สองย่อมเป็นความคิดเห็นที่ดีกว่า …

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

จะเป็นนะญิสหรือไม่ ? ถ้าอาหารที่รับประทานปนเปื้อนนะญิส (สิ่งสกปรก)

:: คำถาม ::
ถ้าให้แมวกินอาหารที่หะรอม (เช่น หมูหรือเนื้อหะรอมอื่น ๆ ) ตัวแมวเองจะ “นะญิส” (สิ่งสกปรกตามบัญญัติอิสลาม)หรือไม่? สิ่งใดก็ตามที่มันสัมผัสหรือเลียจะเป็นนาญิสด้วยหรือไม่? ถ้าคนต้องกินสิ่งที่หะรอมหรือสิ่งที่ไม่สะอาด เขาจะกลายเป็นคนที่ไม่บริสุทธิ์(นะญิส)ด้วยหรือไม่? ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่านด้วยครับ

:: คำตอบ ::
แมวจะไม่เป็นนะญิส (สิ่งสกปรกตามบัญญัติอิสลาม) อันเนื่องจากกินอาหารที่มีนะญิส ข้อชี้ขาดเดียวกันนี้จะใช้กับสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ สิ่งมีชีวิตใดก็ตามจะไม่เป็นนะญิสเพียงเพราะบริโภคสิ่งไม่อนุมัติหรือสิ่งที่เป็นนะญิส (ตามหลักการ) และสิ่งที่มันสัมผัสก็จะไม่เป็นนะญิสเช่นกัน …

แมวจะไม่เป็นนะญิส (สิ่งสกปรกตามบัญญัติอิสลาม) อันเนื่องจากกินอาหารที่มีนะญิส ข้อชี้ขาดเดียวกันนี้จะใช้กับสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ สิ่งมีชีวิตใดก็ตามจะไม่เป็นนะญิสเพียงเพราะบริโภคสิ่งไม่อนุมัติหรือสิ่งที่เป็นนะญิ ส(ตามหลักการ) และสิ่งที่มันสัมผัสก็จะไม่เป็นนะญิสเช่นกัน …

เชค คอลีล นักนิติศาสตร์จากสำนักคิด (มัซฮับ) มาลิกียฺได้รวบรวมสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นนะญิสที่กล่าวในหนังสือ “อัล-มุคตะศ็อร” “น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก และไข่ของมันไม่ใช่นะญิส แม้ว่ามันจะกินอาหารที่มีนะญิสก็ตาม”

อิหม่าม นะนาวีย์ กล่าวว่า “น้ำที่เหลือจากการดื่มของแมวในภาชนะนั้นไม่ใช่นะญิส แม้ว่าจะไม่ชอบใช้น้ำที่เหลือนี้ก็ตาม และข้อชี้ขาดเดียวกันนี้ใช้กับน้ำที่เหลือจากการดื่มของสัตว์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ข้อชี้ขาดนี้นำมาใช้กับสัตว์ที่เนื้อของมันจะเป็นที่อนุมัติหรือไม่อนุมัติในการรับประทาน เหงื่อและน้ำที่เหลือของสัตว์ทุกตัวนั้นบริสุทธิ์ แม้ว่าไม่ชอบที่จะนำมาใช้ก็ตาม ยกเว้น น้ำที่เหลือจากสุนัข หมู และลูกผสมที่เกิดจากพวกมันทั้งสอง” มัจญฺมูอฺ อัล-ฟะตาวา

ไม่ว่าแมวกินที่กินอาหารนะญิสจะเลียหรือคนที่บริโภคสิ่งต้องห้ามอะไรก็ตาม เช่น แอลกอฮอล์หรือการสัมผัสสุกรนั้นไม่ได้ทำให้เป็นนะญิสนอกจากจะปรากฎ “นะญิสที่ชัดเจน” เช่น ในปากของแมว มือของคน หรือมีความชัดเจนว่าปากหรือมือนั้นเปื้อนนะญิส หากเป็นเช่นนั้น อะไรก็ตามที่แมวเลียหรือคนสัมผัสด้วยมือจะเป็นนะญิสทันที (มินะห์ อัล-ญะลีล อะลา มุคตะศ็อร)

คอลีล อัล-มะลีกียฺ กล่าวว่า “หากมีการพิสูจน์ว่ามีนะญิสอยู่ในปากหรือมือของคนที่ดื่มสุราโดยใช้การสังเกตหรือรายงานที่เชื่อถือได้ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่ามือและปากนั้นมีนะญิส เช่นเดียวกับสัตว์ที่ไม่ได้หลีกเหลี่ยงจากสิ่งนะญิสต่าง ๆ อย่างเช่น แมวช่วงระหว่างที่กินน้ำ ถ้าแมวเลียน้ำ สี รสและกลิ่นของมันมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นมันจึงเป็นนะญิสอย่างชัดเจน แต่ถ้าน้ำไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่สามารถที่จะใช้น้ำนี้ได้หากน้ำมีปริมาณที่น้อย สำหรับอาหาร ถ้าแมวเลียอาหารไม่ว่าจะเป็นของแข็งหรือของเหลวมันจะเป็นนะญิสเช่นกัน”

อิบนุ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า “ถ้าแมวกินหนูหรือสิ่งที่เป็นนะญิส (สิ่งสกปรกตามบัญญัติอิสลาม) น้ำลายของมันจะบริสุทธิ์เมื่อช่วงเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้ว นี่คือทัศนะที่แข็งแรงที่สุดของบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามในประเด็นนี้ โดยที่สานุศิษย์กลุ่มหนึ่งของอิหม่ามอะหฺมัดและอิหม่าม อบู หะนีฟะฮฺยึดถือทัศนะนี้ ข้อชี้ขาดเดียวกันนี้นำมาใช้กับปากของเด็กและแมวด้วยเช่นกัน” (อัล-ฟะตาวา)

สรุป แมวและสัตว์อื่น ๆ จะไม่เป็นนะญิสโดยกินสิ่งต้องห้ามหรืออาหารที่มีนะญิสปนเปื้อนแต่เพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า บรรดาผู้รู้มีทัศนะที่แตกต่างกันไม่ว่าจะอนุญาตหรือไม่ชอบที่จะให้อาหารนะญิสกับสัตว์ก็ตาม ทัศนะที่แข็งแรงกว่านั้นอนุญาต ซึ่งได้รับการยึดถือโดยผู้ที่ดำเนินตามสำนักคิดทางนิติศาสตร์ของฮัมบาลียฺและบรรดาผู้ที่เห็นพ้องกับเรื่องนี้ ผู้รู้สำนักคิดฮัมบาลียฺท่านหนึ่ง อัล-บุฮูตียฺ กล่าวว่า “ถ้าสัตว์จะยังไม่ถูกเชือดหรือรีดนมอีกไม่นาน การให้อาหารที่มีนะญิสกับมันถือว่าเป็นที่อนุมัติ”

สำหรับสัตว์ที่จะถูกเชือดอีกไม่นาน ในสำนักคิดทางนิติศาสตร์ฮัมบาลียฺถือว่าเป็นที่ต้องห้ามที่จะให้อาหารนะญิสกับพวกมัน เพราะว่ามันจะกลายเป็น “ญัลลาละฮฺ” (สัตว์ที่กินสิ่งสกปรก) ซึ่งเนื้อของมันเป็นที่ต้องห้ามในการบริโภคตามความเห็นของสำนักคิดทางนิติศาสตร์ฮัมบาลียฺ ….

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

นำรกไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์

:: [คำถาม] ::
เร็ว ๆ นี้ดิฉันจะคลอดบุตร และหมอบอกดิฉันว่าเธอต้องการจะเก็บเลือดจากสะดือ เธอบอกว่ามันสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคหลายอย่าง นี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินเรื่องแบบนี้ และไม่รู้ว่าศาสนาอิสลามมีมุมมองเกียวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ดิฉันหวังว่าท่านจะสามารถให้คำแนะนำกับดิฉันได้ ดิฉันควรตอบตกลงหรือไม่? เธอบอกฉันว่ามันขึ้นอยู่กับดิฉัน

:: [คำตอบ] ::

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

ไม่มีความผิดแต่ประการใดในการที่จะนำสายสะดือหรือรกไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์
เราได้นำคำถามนี้ไปถาม ชัยค์มุฮัมมัด บินศอลิฮ์ อัลอุษัยมีน (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) ว่า
การเก็บรก (placenta) ไว้เพื่อนำไปใช้รักษาโรคมะเร็งและลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้ามีกฏเกณฑ์อย่างไร

ท่านตอบคำถามดังนี้ :
ดูเหมือนว่า ไม่เป็นความผิดแต่ประการใดในเรื่องนี้ตราบใดที่สามารถพิสูจน์ได้ (ว่ามันมีประสิทธิผล)

คำถาม:
หลักการที่กล่าวว่า “สิ่งใดก็ตามที่ตัดหรือเฉือนออกจากสิ่งมีชีวิตถือว่าเป็นซากสัตว์ (มัยตะฮ์)” นำมาใช้กับกรณีนี้หรือไม่

คำตอบ:
มัยตะฮ์ของมนุษย์เป็นสิ่งที่สะอาด(ฎอฮิเราะฮ์)

คำถาม:
เมื่อไม่ใช้ประโยชน์จากมัน จำเป็นจะต้องฝังหรือไม่หรือว่าสามารถโยนทิ้งที่ไหนก็ได้

คำตอบ:
เห็นได้ชัดว่ามันคล้ายกับเล็บและเส้นผม นั่นไม่ผิดแต่ประการใดที่จะโยนมันทิ้งหรือนำไปฝัง

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

ยาสมุนไพรต้มกับเหล้า

:: [คำถาม] ::
ยาสมุนไพรที่มาจากรากไม้แล้วนำไปต้มกับเหล้าสามารถนำมาทานได้หรือไม่

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

ไม่อนุญาตให้ผลิตยาด้วยวิธีนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้เหล้าหรือแอลกอฮอล์ และอัลลอฮฺทรงห้ามเรามิให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งมึนเมา ดังที่พระองค์ตรัสไว้มีความหมายว่า

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” [อัลมาอิดะฮ์ 5:90]

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ห้ามทำยาจากเหล้าและท่านกล่าวว่าเหล้านั้นคือโรคไม่ใช่ยาบำบัด

ในบันทึกของมุสลิม (1984) เล่าว่า ฏอริก อิบนุสุวัยด์ อัลญุอฺฟีย์ (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) ถามท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เกี่ยวกับเหล้า ท่านศาสนทูตได้ห้ามเขาหรือห้ามไม่ให้ผลิต เขากล่าวว่า “แต่ฉันผลิตมาเพื่อเป็นยารักษา” ท่านนบีตอบว่า “แท้จริง มันไม่ใช่ยา แต่มันคือโรค”

อิมามนะวะวีย์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า
นี่แสดงให้เห็นว่าห้ามไม่ให้เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเหล้าไว้แล้วรอเพื่อให้ได้น้ำส้มสายชูและยังเป็นคำพูดที่ชัดเจนว่าเหล้าไม่ใช่ยารักษาและห้ามไม่ให้นำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์

แต่หาก ยาที่ผลิตในรูปแบบที่ต้องห้ามนี้ อนุญาตให้ไช้ได้หากแอลกอฮอล์ได้ชึมสลายเข้าไปในตัวยาโดยไม่เหลือร่องรอยทิ้งไว้ไม่ว่าจะเป็นสี รสชาติและกลิ่น แต่หากยังมีร่องรอยตกค้างอยู่ ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ เพราะการใช้หรือดื่มกินก็เปรียบเสมือนการดื่มเหล้านั่นเอง

อัลบะฮูตี (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า หากเหล้าผสมกับน้ำและถูกดูดซึมเข้าไปในนั้นแล้วเขาก็ดื่มมัน จะไม่มีการลงโทษเขา เพราะเมื่อมันซึมสลายไปกับน้ำ มันไม่ทำให้ธรรมชาติหรือคุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนไป (กัชชาฟ อัลกินาอ์ 6/118)

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า
หากเหล้าหกหล่นในน้ำแล้วละลายไป ต่อมามีคนไปดื่มน้ำนั้น ดังนั้นไม่ถือว่าเขาดื่มเหล้าและจะไม่มีการลงโทษเขาด้วยเหตุผลของการดื่มเหล้า หากว่าน้ำยังคงมี รสชาติ สีและกลิ่นเหมือนเดิม หากนมของหญิงสาวคนหนึ่งไหลลงน้ำแล้วละลายไปจนไม่เหลือร่องรอยทิ่งไว้ แล้วเด็กนำไปดื่มน้ำนั้น ถือว่าเด็กทารกชายคนนั้นจะไม่กลายเป็นบุตรของนางผ่านการดื่มนม (มัจญมูอ์ อัลฟะตาวา 21/33)

คณะกรรมการถาวรเพื่อการวินิจฉัยปัญหากล่าวว่า
ไม่อนุญาตให้นำแอลกอฮอล์หรือเหล้าใส่ผสมกับยา แต่หากมีการผสมด้วยแอลกอฮอล์ถือว่าอนุญาตให้นำไปใช้ได้หากอัตราส่วนแอลกอฮอล์ต่ำและร่องรอยของมันในตัวยาได้สลายไปแล้วไม่ว่าจะเป็น สี รสชาติหรือกลิ่น มิเช่นนี้แล้วไม่อนุญาตหากนำไปใช้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตามหากมีการผสมกับแอลกอฮอล์ (ฟัตวา อัลลัจญนะฮ์ อัดดาอิมะฮ์ 25/39)

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า
แอลกอฮอล์ถือว่าเป็นน้ำเมาตามที่รู้กันดี ดังนั้นมันจึงเป้นเหล้า (อัลค็อมร์) เนื่องจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมานั้นหะรอม” ในบางรายงานกล่าวว่า “ทุก ๆ สิ่งที่ทำให้มึนนับเป็นเหล้า (ค็อมร์)”

จากที่กล่าวมา หากแอลกอฮอล์ไปผสมกับบางอย่างและไม่ได้ซึมสลายไปในนั้น ดังนั้นส่วนผสมดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากมันยังปรากฏร่องรอยของแอลกอฮอล์อยู่ แต่หากแอลกอฮอล์ได้ซึมสลายในส่วนผสมและไม่เหลือร่องรอยใดๆ ดั้งนั้นมันย่อมไม่หะรอม (ฟัตวา นูร อะลาอัดดัรบ์ 122/21)

ท่านยังกล่าวด้วยว่า
ในส่วนของการผสมกันระหว่างยากับแอลกอฮอล์จำนวนเล็กน้อย ไม่จำเป็นว่าจะต้องหะรอมเสมอไป หากแอลกอฮอล์ที่ผสมมีน้อยมากและไม่เหลือร่องรอยทิ้งไว้ในยาที่เกิดการผสม (มัจญมูอ์ ฟะตาวา วะเราะสาอิล อิบนุอุษัยมัน 11/193)

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

เหตุผลของการห้ามกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เชือดให้เลือดไหลออกจากร่างกาย

มีเหตุผลสำคัญอะไรหรือไม่ที่มีการห้ามรับประทานที่ไม่ได้เชือดตามหลักชะรีอะฮฺ เช่น การฆ่าโดยการช๊อตด้วยไฟฟ้าหรือยิงด้วยปืนเป็นต้นเป็นต้น

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

อัลลอฮฺตรัสไว้มีใจความว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า ฉันไม่พบว่าในสิ่งที่ถูกให้เป็นโองการแก่ฉันนั้น มีสิ่งต้องห้ามแก่ผู้บริโภคที่จะบริโภคมัน นอกจากสิ่งนั้นเป็นสัตว์ที่ตายเองหรือเลือดที่ไหลออกหรือเนื้อสุกร แท้จริงมันเป็นสิ่งโสมม หรือเป็นสิ่งละเมิด ซึ่งถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ที่มัน ถ้าผู้ใดได้รับความคับขัน โดยมิใช่เป็นผู้แสวงหาและมิใช่ผู้ละเมิดแล้วไซร้ แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้น เป็นผู้ทรงอภัยโทษ เป็นผู้ทรงเอ็นดูเมตตา”( อัลอันอาม 6:145)

เลือดเป็นสาเหตุของการห้ามกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเชือดตามหลักชะรีอะฮฺ ชะรีอะฮฺของเรามีเจตนาว่าสัตว์ที่ถูกเชือดจะทำให้เลือดไหลออกมาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เนื่องจากความเสียหายที่อาจเกิดจากการกินเลือดเข้าไป

มันคงดูไม่มีเหตุผลและไม่อาจยอมรับได้ ที่อิสลามได้กำหนดวิธีการเชือดตามที่กล่าวมา แล้วกลับอนุมัติให้บริโภคเลือดที่ไหลออกมาจากสัตว์ที่ถูกเชือด จากเหตุผลข้อนี้เองที่อิสลามได้กำหนดแน่ชัดมิให้บริโภคเลือดเพื่อเป็นโภชนาการของมนุษย์

“และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย(นั่นคือสิ่งดีๆทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของ การกระทำ ความเชื่อ บุคคลและอาหาร) และจะให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขา ซึ่งสิ่งที่เลวทั้งหลาย” (อัลอะอฺรอฟ 7:157)

อัฏเฏาะบารีกล่าวไว้ในหนังสืออธิบายกุรอาน(ตัฟซีร)ของท่านว่า “คำว่า เลือดที่ไหลออก หมายถึงเลือดที่ไหลรินออกมา” นี่คือวิธีที่อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงเลือดเมื่อพระองค์ทรงแจ้งแก่บ่าวของพระองค์ว่ามันหะรอม ท่านอิกริมะฮฺกล่าวว่า ถ้าไม่ใช่เพราะอายะฮฺนี้มุสลิมคงจะทำตามแนวทางที่พวกยิวได้ปฏิบัติไว้ในการหลีกเลี่ยงเลือดที่คงเหลืออยู่ในเส้นเลือด อิมามมะวัรดีย์กล่าวเกี่ยวกับเลือดที่ไม่ได้ไหลออกมา ซึ่งกลายเป็นเกล็ดแข็งในเส้นเลือด ในตับหรือม้าม เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “ได้ถูกกำหนดหะลาลแก่เราซึ่ง สองชนิดของสัตว์ที่ตายและสองชนิดของเลือด…”

เหตุผลที่ว่าทำไมเลือดซึ่ง “ไหลออก” จึงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับเรา เพราะข้อมูลซึ่งเป็นที่ทราบกันดีและเป็นที่ยอมรับกันในหมู่แพทย์และผู้ที่ทำการทดสอบทางการแพทย์และศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กผ่านกล้องจุลทรรศน์ถือว่าเป็นเลือดมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค ดังนั้นการทีคนหนึ่งดื่มเลือดจึงเสมือนกับการเขาดื่ม ฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ซึ่งเชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตและแพร่ขยายได้อย่างรวดเร็ว จนอาจสร้างพิษร้าย ซึ่งส่งผลให้เชื้อโรคแพร่เข้าไปในร่างกายมนุษย์และอาจกลายเป็นโรคระบาดและเป็นอันตรายร้ายแรง

อาจมีผู้กล่าวว่าการปรุงเลือดก่อนรับประทานจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์เหล่านี้จนหมดสิ้น โดยพวกเขาหวังประโยชน์ทางโภชนาการจากเลือด คำตอบของเรานั้นถือว่าบางส่วนของสารพิษเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการต้มหรือผ่านความร้อน หรือทำให้เปลี่ยนไปในวิธีที่คล้ายคลึงกันแล้วจะกลายเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีบางอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ มันยังคงเป็นพิษแม้ว่าจะผ่านการต้มหรือผ่านความร้อน ซ้ำร้ายยังอาจทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงขึ้น

สำหรับประโยชน์ที่ผู้ดื่มเลือดคิดว่าจะได้รับจากการดื่มเลือดเนื่องจากเห็นว่ามีสารอาหารที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงนั้น ประโยชน์นี้ไม่มีอยู่จริงหากเราพิจารณาองค์ประกอบของเลือด เลือดเป็นสิ่งย่อยยาก ถึงขนาดว่าหากมีการกรอกเลือดลงกระเพาะมนุษย์ เขาจะอาเจียนออกมาทันที หรืออาจจะออกมากับอุจจาระของเขาโดยที่ไม่ถูกย่อยปรากฏในรูปของสารสีดำ เหตุผลที่ย่อยยากและกลายเป็นอุจจาระสีดำเพราะมีสารสีแดง(ฮีโมโกบิน)ซึ่งจะมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญ จากการที่เลือดไหลผ่านทางเดินอาหาร เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งมันจะเริ่มสลายและทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีการกล่าวว่าการปรุงจะช่วยทำลายส่วนประกอบของเลือดทำให้ง่ายแก่การย่อยและได้ประโยชน์คุณค่าทางโภชนาการ เราขอตอบว่า การต้มทำให้โปรตีนในเลือดเกิดการแข็งตัวและทำให้ย่อยยากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นอันตรายมากขึ้นและประโยชน์ลดลง

ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนการทดลองและการทดสอบนับเป็นร้อยๆครั้งในประเด็นเกี่ยวกับเลือด ทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าการกินเลือด ปรุงเลือดหรือต้มแล้วนำมาบริโภคเป็นการย่อยสิ่งที่เป็นพิษ จากข้อมูลทางวิทยาศาตร์ต่อไปนี้จะทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

1 – เลือดมีองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญสองอย่าง ได้แก่น้ำซึ่งมีอยู่ถึงร้อยละ 90 จากของเหลวซึ่งเรียกว่าพลาสมา ส่วนที่เหลือเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงและองค์ประกอบอื่นๆ คนที่ต้องการดื่มเลือดหรือปรุงและกินมันเพราะเขาต้องการที่จะบริโภคสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาจะต้องดื่มเลือดเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากโปรตีนในเลือดและธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ควรจะเปิดโอกาสให้ตัวเองต้องเสี่ยงกับอันตรายและผลที่จะตามมา

เลือดเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่หลายคนเข้าใจ มันมีคุณค่าทางอาหารที่น้อย ดังนั้นการที่มุสลิมถูกห้ามจากการบริโภคเลือดจึงไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเสียโอกาสในการได้รับสารอาหารหลัก ๆ ที่เป็นประโยชน์
.
2 – อันตรายที่สำคัญอาจเป็นผลมาจากปริมาณโปรตีนในเลือดจำนวนเล็กน้อยผสมกับองค์ประกอบที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ ซึ่งหมายความว่าการกินเข้าไปนั้นอาจเสี่ยงอย่างมากและทำให้เป็นอันตรายได้ อันตรายที่สำคัญได้แก่การที่เลือดเต็มไปด้วยแก็สพิษ ซึ่งได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ที่ไหลเวียนตามเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย

เพราะคนที่ดื่มเลือดได้นำเลือดจากสัตว์ที่ขณะนั้นมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่มาก ซึ่งทำให้ร่างกายขาดอากาศหายใจ การที่ร่างกายขาดอากาศหายใจเนื่องจากการสะสมของแก็สในเลือด โดยอันตรายของมันคืออาจทำให้เสียชีวิตได้

ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการดื่มเลือดที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นประจำจะนำผลร้ายสู่ร่างกาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซนี้มีอยู่ในเลือดของสัตว์และความต้านทานของร่างกายของผู้ดื่มด้วย

ส่งที่กล่าวมาเป็นเพียงผลกระทบจากองค์ประกอบของเลือดที่คนได้ดื่มหรือรับประทานหลังจากปรุงแล้ว นอกจากนี้แล้วยังมีผลกระทบอื่น ๆ ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับหน้าที่ของเลือดในร่างกายของสัตว์ หน้าที่ของเลือดไม่สามารถทำงานได้ดีเว้นแต่เลือดจะอยู่ในสถานะของเหลวที่ไหลเวียนได้ หากเราเข้าใจกับผลเสียของการบริโภคเลือด นั่นน่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้ประเทศต่างๆสั่งห้ามการบริโภคเลือดแม้ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมก็ตาม

“พระองค์จะทรงประทานความรู้ให้แก่ผู้ที่พรองค์ทรงประสงค์และผู้ใดที่ได้รับความรู้ แน่นอนเขาก็ได้รับความความดีอันมากมายและไม่มีใครจะรำลึก นอกจากบรรดาผุ้ที่มีสติปัญญาเท่านั้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:269)

อัลลอฮฺทรงสอนท่านนบีมุฮัมมัดในสิ่งที่ท่านไม่รู้

“และอัลลอฮฺได้ทรงประทานคัมภีร์ลงมาแก่เจ้า และความเข้าใจในบทบัญญัติแห่งคัมภีร์นั้นด้วย และได้ทรงสอนเจ้าในสิ่งที่เจ้าไม่เคยรู้มาก่อน และความกรุณาของอัลลอฮฺที่มีแก่เจ้านั้นใหญ่หลวงนัก” (อัล-นิสาอ์ 4:113)

พระองค์ทรงให้เกียรติกับโลกใบนี้ด้วยการมอบศาสนาที่เที่ยงแท้นี้และทรงชี้ทางมนุษย์สู่เส้นทางอันเที่ยงตรงพระองค์ตรัสว่า

“บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ทั้งหลาย ! แท้จริงศาสนทูตของเราได้มายังพวกเจ้าแล้ว โดยที่เขาจะแจกแจงแก่พวกเจ้า ซึ่งมากมายจากสิ่งที่พวกเจ้าปกปิดไว้จากคัมภีร์และเขาจะระงับไว้มากมายแท้จริงแสงสว่างจากอัลลอฮ์ และคัมภีร์อันชัดแจ้งนั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว ด้วยคัมภีร์นั้นแหละ อัลลอฮ์จะทรงแนะนำผู้ที่ปฏิบัติตามความพึงพระทัยของพระองค์ซึ่งบรรดาทางแห่งความปลอดภัยและจะทรงให้พวกเขาออกจากความมืดไปสู่แสงสว่างด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และจะทรงแนะนำพวกเขาสู่ทางอันเที่ยงตรง” (อัลมาอิดะฮฺ: 15-16)

…………………………………………………………….…………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.info

การเชือดพลี(กุรบ่าน)และการกินเนื้อแกะป่า

:: [คำถาม] ::
อัสสะลามุอะลัยกุม การกินและทำกุรบ่านด้วยแกะป่าเป็นสิ่งที่ได้รับอนุมัตหรือไม่

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)เป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

เราไม่ทราบจริง ๆ ว่า “แกะป่า” ที่ท่านเอ่ยถึงคืออะไรกันแน่ หากหมายถึงมันดุร้าย ย่อมไม่สามารถนำมาเชือดเพื่อทำกุรบ่านได้ นี่เป็นจากความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่

อิมามอัสสะร็อคซี (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน)กล่าวว่า

วัวป่า (Wild cows) ลาป่า (wild donkeys) และแอนทิโลป (antelope-สัตว์คล้ายกวาง) ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นสัตว์เพื่อการเชือดพลี(กุรบ่าน)ไม่ว่าจะด้วยการเชือดที่สมัครใจหรือการเชือดที่เป็นข้อบังคับ เพราะการเชือดพลีนั้นถูกนิยามโดยชะรีอะฮฺในฐานะที่การงานที่ดีโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ชะรีอะฮ์ได้กำหนดว่าสัตว์พลีจะต้องมาจาก กลุ่มอันอาม ซึ่งได้แก่ อฐ (domesticated) camels) ปศุสัตว์ (วัว ควาย) แกะและแพะ ยิ่งไปกว่านั้นการเชือดสัตว์ป่าไม่นับว่าเป็นการเริ่มต้นของการแสวงหาการใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ… หากสัตว์ที่จะเชือดเกิดมาเป็นเพศผู้ที่ดุร้ายกับเพศเมียที่เชื่อง ยอมรับให้มาทำกุรบ่านได้ แต่หากเพศเมียดุร้าย ลูกของมันไม่อาจยอมรับว่าสามารถนำมาทำกุรบ่านที่ถูกต้องได้ เพราะลูกย่อมเป็นส่วนหนึ่งของแม่ (อัลมับสูฏ)

อย่างไรก็ตามเนื้อสัตว์ป่านั้น อนุญาต (หะลาล) ให้บริโภคได้ สารานุกรมนิติศาสตร์อิสลามของคูเวตกล่าวว่า “อนุญาตให้บริโภคเนื้อของสัตว์ป่าที่ไม่มีเขี้ยวเพื่อการล่าเหยื่อ และต้องไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของแมลง ตัวอยางเช่น แอนทิโลป วัวป่า ลาป่า และอูฐป่า เนื้อของสัตว์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่อนุมัต(หะลาล)สำหรับมนุษย์ที่จะบริโภคตามความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ของบรรดาปวงปราชญ์

อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

.………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamweb.net

ข้อบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งของที่ผลิตมาจากหนังสัตว์

บทบัญญัติอิสลามกล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับการใช้หนังสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งที่ได้จากสัตว์ที่เราสามารถทานเนื้อของมันและจากสัตว์ที่เราไม่สามารถทานเนื้อของมัน ทั้งที่ถูกฟอกและไม่ถูกฟอก

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

หนังสัตว์ที่ได้รับการเชือดด้วยวิธีหะลาลถือว่าเป็นสิ่งที่สะอาด(ฏอฮิรฺ) เพราะกระบวนการเชือดที่ถูกต้องได้ทำให้มันเป็นสิ่งที่ดี เช่น หนังอูฐ หนังวัว หนังแกะ ละมั่ง กระต่าย ฯลฯ ไม่ว่ามันจะถูกฟอกหรือไม่ถูกฟอกก็ตาม

สำหรับหนังสัตว์ที่เนื้อของมันไม่สามารถรับประทานได้เช่น สุนัข หมาป่า สิงห์โต ช้างและอื่นๆ ถือว่าเป็นนญิส (สิ่งสกปรกหรือไม่บริสุทธิ์ตามหลักศาสนา) ไม่ว่าจะโดนเชือด ตายเองหรือถูกฆ่าโดยวิธีใด ๆ เพราะแม้ว่าจะเชือดมัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะหะลาล มันยังเป็นสิ่งนญิสไม่ว่าจะฟอกหรือไม่ฟอกก็ตาม นี่เป็นความเห็นที่เป็นที่ยอมรับกันมาก ตามความเห็นนี้ถือว่าหนังสัตว์ที่นญิสไม่สามารถทำให้สะอาดได้ด้วยการฟอกหากว่าเป็นหนังที่ได้จากสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้เชือดเพื่อเป็นอาหาร

สำหรับหนังสัตว์ (หะลาล) ที่ตายก่อนที่จะถูกเชือดให้ถูกต้อง หากว่านำมาฟอกถือว่ามันสะอาดสามารถนำไปใช้ได้ แต่ก่อนที่จะนำไปฟอกถือว่ามันยังนญิสอยู่ ดังนั้นในกรณีของหนังสัตว์อาจเป็นสามประเภทได้แก่

ประเภทแรก หนังสัตว์ซึ่งถือว่าสะอาดไม่ว่ามันจะถูกฟอกหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นหนังสัตว์ที่สามารถรับประทานได้ โดยที่มันถูกเชือดตามหลักการ

ประเภทที่สอง หนังสือสัตว์ที่ถือว่าไม่สะอาดไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากฟอกก็ตาม เพราะถือว่ามันนญิส ซึ่งเป็นสัตว์ที่เราไม่สามารถรับประทานได้เช่นหมูเป็นต้น

ประเภทที่สาม หนังสัตว์ที่ถือว่าสะอาดเมื่อได้รับการฟอก แต่ไม่สะอาดก่อนที่จะถูกฟอก หนังสัตว์เหล่านี้ได้แก่หนังสัตว์ที่เนื้อของมันกินได้หากเชือดอย่างถูกต้องเพียงแต่มันตายโดยไม่ถูกเชือดอย่างถูกต้อง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา :Islamqa.Info