การเชือดพลี(กุรบ่าน)และการกินเนื้อแกะป่า

:: [คำถาม] ::
อัสสะลามุอะลัยกุม การกินและทำกุรบ่านด้วยแกะป่าเป็นสิ่งที่ได้รับอนุมัตหรือไม่

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)เป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

เราไม่ทราบจริง ๆ ว่า “แกะป่า” ที่ท่านเอ่ยถึงคืออะไรกันแน่ หากหมายถึงมันดุร้าย ย่อมไม่สามารถนำมาเชือดเพื่อทำกุรบ่านได้ นี่เป็นจากความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่

อิมามอัสสะร็อคซี (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน)กล่าวว่า

วัวป่า (Wild cows) ลาป่า (wild donkeys) และแอนทิโลป (antelope-สัตว์คล้ายกวาง) ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นสัตว์เพื่อการเชือดพลี(กุรบ่าน)ไม่ว่าจะด้วยการเชือดที่สมัครใจหรือการเชือดที่เป็นข้อบังคับ เพราะการเชือดพลีนั้นถูกนิยามโดยชะรีอะฮฺในฐานะที่การงานที่ดีโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ชะรีอะฮ์ได้กำหนดว่าสัตว์พลีจะต้องมาจาก กลุ่มอันอาม ซึ่งได้แก่ อฐ (domesticated) camels) ปศุสัตว์ (วัว ควาย) แกะและแพะ ยิ่งไปกว่านั้นการเชือดสัตว์ป่าไม่นับว่าเป็นการเริ่มต้นของการแสวงหาการใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ… หากสัตว์ที่จะเชือดเกิดมาเป็นเพศผู้ที่ดุร้ายกับเพศเมียที่เชื่อง ยอมรับให้มาทำกุรบ่านได้ แต่หากเพศเมียดุร้าย ลูกของมันไม่อาจยอมรับว่าสามารถนำมาทำกุรบ่านที่ถูกต้องได้ เพราะลูกย่อมเป็นส่วนหนึ่งของแม่ (อัลมับสูฏ)

อย่างไรก็ตามเนื้อสัตว์ป่านั้น อนุญาต (หะลาล) ให้บริโภคได้ สารานุกรมนิติศาสตร์อิสลามของคูเวตกล่าวว่า “อนุญาตให้บริโภคเนื้อของสัตว์ป่าที่ไม่มีเขี้ยวเพื่อการล่าเหยื่อ และต้องไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของแมลง ตัวอยางเช่น แอนทิโลป วัวป่า ลาป่า และอูฐป่า เนื้อของสัตว์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่อนุมัต(หะลาล)สำหรับมนุษย์ที่จะบริโภคตามความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ของบรรดาปวงปราชญ์

อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

.………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamweb.net

ข้อบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งของที่ผลิตมาจากหนังสัตว์

บทบัญญัติอิสลามกล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับการใช้หนังสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งที่ได้จากสัตว์ที่เราสามารถทานเนื้อของมันและจากสัตว์ที่เราไม่สามารถทานเนื้อของมัน ทั้งที่ถูกฟอกและไม่ถูกฟอก

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

หนังสัตว์ที่ได้รับการเชือดด้วยวิธีหะลาลถือว่าเป็นสิ่งที่สะอาด(ฏอฮิรฺ) เพราะกระบวนการเชือดที่ถูกต้องได้ทำให้มันเป็นสิ่งที่ดี เช่น หนังอูฐ หนังวัว หนังแกะ ละมั่ง กระต่าย ฯลฯ ไม่ว่ามันจะถูกฟอกหรือไม่ถูกฟอกก็ตาม

สำหรับหนังสัตว์ที่เนื้อของมันไม่สามารถรับประทานได้เช่น สุนัข หมาป่า สิงห์โต ช้างและอื่นๆ ถือว่าเป็นนญิส (สิ่งสกปรกหรือไม่บริสุทธิ์ตามหลักศาสนา) ไม่ว่าจะโดนเชือด ตายเองหรือถูกฆ่าโดยวิธีใด ๆ เพราะแม้ว่าจะเชือดมัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะหะลาล มันยังเป็นสิ่งนญิสไม่ว่าจะฟอกหรือไม่ฟอกก็ตาม นี่เป็นความเห็นที่เป็นที่ยอมรับกันมาก ตามความเห็นนี้ถือว่าหนังสัตว์ที่นญิสไม่สามารถทำให้สะอาดได้ด้วยการฟอกหากว่าเป็นหนังที่ได้จากสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้เชือดเพื่อเป็นอาหาร

สำหรับหนังสัตว์ (หะลาล) ที่ตายก่อนที่จะถูกเชือดให้ถูกต้อง หากว่านำมาฟอกถือว่ามันสะอาดสามารถนำไปใช้ได้ แต่ก่อนที่จะนำไปฟอกถือว่ามันยังนญิสอยู่ ดังนั้นในกรณีของหนังสัตว์อาจเป็นสามประเภทได้แก่

ประเภทแรก หนังสัตว์ซึ่งถือว่าสะอาดไม่ว่ามันจะถูกฟอกหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นหนังสัตว์ที่สามารถรับประทานได้ โดยที่มันถูกเชือดตามหลักการ

ประเภทที่สอง หนังสือสัตว์ที่ถือว่าไม่สะอาดไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากฟอกก็ตาม เพราะถือว่ามันนญิส ซึ่งเป็นสัตว์ที่เราไม่สามารถรับประทานได้เช่นหมูเป็นต้น

ประเภทที่สาม หนังสัตว์ที่ถือว่าสะอาดเมื่อได้รับการฟอก แต่ไม่สะอาดก่อนที่จะถูกฟอก หนังสัตว์เหล่านี้ได้แก่หนังสัตว์ที่เนื้อของมันกินได้หากเชือดอย่างถูกต้องเพียงแต่มันตายโดยไม่ถูกเชือดอย่างถูกต้อง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา :Islamqa.Info

ฮาลาลนั้นชัดเจนและหะรอมก็ชัดเจน: หนทางสู่หัวใจที่บริสุทธิ์

จากอบู อับดุลลอฮฺ (อัน นุอฺมาน บิน บะชีร) กล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า

“แท้จริง สิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) นั้นชัดแจ้ง สิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ก็ชัดแจ้ง และในระหว่างทั้งสองสิ่งนั้น มีเรื่อง (หรือสิ่ง) ที่คลุมเครือ (ไม่ชัดแจ้ง) ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้”

“ดังนั้น ผู้ใดรักษาตัวเขาจากสิ่ง (หรือเรื่อง) ที่คลุมเครือนั้น เขาได้ชำระตัวเขาในการปกป้องศาสนาของเขาและเกียรติของเขา ส่วนผู้ใดที่ตกลงไปในการกระทำสิ่งที่คลุมเครือ เขาก็ได้ตกลงไปในเรื่องที่หะรอม (ต้องห้าม)”

“เช่นเดียวกับผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์รอบ ๆ ที่ดินที่ต้องห้าม (เช่น สวนของคนอื่น) ไม่ช้ามันก็จะเข้า (ไปกิน) ใน (สวน) นั้น จงจำไว้ว่า ผู้ปกครอง (กษัตริย์ ฯลฯ) ทุกคนมีขอบเขตที่ต้องห้าม จงจำไว้เถิดว่า ที่อัลลอฮฺทรงห้ามนั้น คือสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงอนุมัติ (หะรอม)”

“จงจำไว้ว่า ในร่างกายนั้นมีเนื้อก้อนหนึ่ง เมื่อมันดี ร่างกายนั้นก็ดีด้วย แต่เมื่อมันเสีย ร่างกายก็จะเสียไปด้วย จงจำไว้ว่า แท้จริงแล้ว ก้อนเนื้อก้อนนั้นมันคือ หัวใจ” (บันทึกโดย บุคอรีย์และมุสลิม)

หะดีษต้นนี้เน้นย้ำถึงสิ่งที่ได้รับอนุญาตและสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลามนั้นชัดแจ้ง ถือว่าเป็นแนวคิดที่สำคัญยิ่งและเป็นพื้นฐานในความเข้าใจศาสนา อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ได้ประทานอัลกุรอานมายังเราและระบุไว้อย่างชัดเจนในสิ่งที่เราได้รับอนุญาตและสิ่งที่ต้องห้าม การยึดมั่นในการกระทำที่พระองค์ทรงสั่งใช้และหลีกเลี่ยงสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้ามจะทำให้ท่านได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่มุสลิมทุกคนควรมุ่งมั่นและพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้รับมัน

หะดีษต้นนี้ยังชี้ให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่งของความเมตตาและความกรุณาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา แท้จริงด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินชีวิต ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติสุขและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) มาเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดให้กับเรา ตามภารกิจของท่านที่ได้รับการกล่าวไว้ในอัลกุรอานว่า:

“และเรามิได้ส่งเจ้า (มุฮัมมัด) มาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” (อัล อันบิยาอฺ 21:107)

ดังนั้น อัลลอฮฺได้ทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัดเป็น “ความเมตตา” ต่อ “มวลมนุษยชาติ” ไม่ใช่เฉพาะกับชาวเมืองมักกะห์ ไม่ใช่เฉพาะกับชาวคาบสมุทรอาหรับ และไม่ใช่เฉพาะกับชาวมุสลิมเท่านั้น แต่สำหรับทุกคนทุกยุคสมัย ความเมตตาคือการรู้ว่าจะใช้ชีวิตของเราอย่างไร การรู้ว่าสิ่งใดที่พระองค์ทรงพอพระทัยและสิ่งใดที่พระองค์ทรงไม่พอพระทัย เพื่อที่เราจะได้ห่างไกลจากสิ่งที่ต้องห้ามชัดแจ้ง และผลักดันตัวเราเองไปสู่สิ่งที่อยู่ในกรอบอนุมัติ

พิจารณาดูว่าแนวคิดนี้มีความสำคัญอย่างไร ให้ลองจินตนาการว่าคุณเป็นนักเรียน คุณกำลังเดินเข้าไปในห้องเรียน และคุณครูกำลังจ้องมองคุณอยู่ ขณะนั้นคุณก็เดินเข้าไปนั่งที่โต๊ะเรียนของคุณ แล้วคุณก็รอให้คุณครูเริ่มต้นกล่าวอะไรสักอย่างกับคุณ แต่คุณครูกลับไม่กล่าวอะไรนอกจากจ้องมองคุณเพียงเท่านั้น คุณก็ไม่รู้ว่าคุณต้องทำตัวอย่างไร จากนั้นคุณครูก็แสดงสีหน้าไม่พอใจและส่งสัญญาณให้คุณว่าคุณควรรู้ว่าเธอต้องการอะไร แต่คุณก็ไม่ทราบอยู่ดีว่าคุณต้องทำอะไร คุณควรเปิดหน้าที่ห้า หรือหน้าที่สิบ หรือควรเริ่มต้นเขียนอะไรสักอย่างลงสมุดบันทึกของคุณกันแน่?

ในทางตรงกันข้าม หากคุณครูเริ่มต้นชั้นเรียนของเธอด้วยการกล่าวว่า ‘เปิดหน้าห้าสิบสี่ แล้วเราจะเริ่มต้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์กัน’ จากนั้นคุณก็จะรู้ว่าคุณต้องทำอะไร และมันก็จะทำให้คุณมุ่งมั่นและเพ่งความสนใจในสิ่งนั้นเพื่อที่จะช่วยให้คุณบรรลุภารกิจที่คุณได้รับมอบหมาย

ดังนั้น อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ที่อัลลอฮฺทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัดมาเป็นครู มาเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดให้กับเรา ท่านนบีได้แสดงแบบอย่างของหลักคำสอนอิสลาม ดังที่ภรรยาของท่าน ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา) กล่าวว่า “ท่านนบีเป็นเสมือนอัลกุรอานที่เดินได้” ดังนั้นเราจึงสามารถเจริญรอยตามแนวทางของท่านนบีได้ในทุกมิติชีวิต เพื่อให้ชีวิตของเรานั้นได้รับทางนำ

ความเมตตาคือการที่เราไม่ต้องลำบากค้นหาว่าเราจะใช้ชีวิตของเราอย่างไร แต่จงพุ่งกำลังของเราสู่การมุ่งมั่นเอาชนะจุดอ่อนที่ไม่ดีของตัวเองเพื่อบรรลุวิถีชีวิตอันสูงส่งที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนโดยอัลลอฮ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา

อีกประเด็นหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากหะดีษต้นนี้ได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่คลุมเครือสงสัย:

“ดังนั้น ผู้ใดรักษาตัวเขาจากสิ่ง (หรือเรื่อง) ที่คลุมเครือนั้น เขาได้ชำระตัวเขาในการปกป้องศาสนาของเขาและเกียรติของเขา ส่วนผู้ใดที่ตกลงไปในการกระทำสิ่งที่คลุมเครือ เขาก็ได้ตกลงไปในเรื่องที่หะรอม (ต้องห้าม)”

การหลีกเลี่ยงเรื่องหรือสิ่งที่น่าสงสัยจะช่วยให้หัวใจของเราบริสุทธิ์ และนั่นจะนำเราไปสู่ส่วนถัดไปของหะดีษที่ว่า:

“จงจำไว้ว่า ในร่างกายนั้นมีเนื้อก้อนหนึ่ง เมื่อมันดี ร่างกายนั้นก็ดีด้วย”

คำถามคือ เราจะรักษาหัวใจของเราให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร?
ลองคิดถึงการเดินเข้าไปในบ้านที่มีสิ่งของหรือของใช้ต่าง ๆ ที่เสียหายจำต้องได้รับการซ่อมแซม คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรที่ต้องเอาไปซ่อม หากคุณไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างที่เสียหาย? ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งแรกที่ต้องทำและอัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด คือการพิจารณาหัวใจของคุณก่อน: อะไรคือปัญหาที่คุณต้องเผชิญในชีวิตของคุณเอง? คุณเป็นคนขี้อิจฉาหรือเปล่า? คุณมักพลาดการละหมาดหรือไม่? หรือคุณเป็นคนที่มีอารมณ์โมโหโทสะ?

เมื่อคุณลองพิจารณาตัวเองและมองลึกเข้าไปข้างในตัวเองด้วยความสัตย์จริงแล้ว คุณก็จะสามารถเริ่มรู้วิธีการแก้ไขปัญหาตัวเองและเข้าสู่กระบวนการ “ตัซกียะฮฺ” ซึ่งก็คือการขัดเกลาหรือการชำระล้างตัวเองให้บริสุทธิ์

วิธีง่าย ๆ ในการรักษาความบริสุทธิ์ของหัวใจเรานั้นคือให้เราคำนึงถึงสามสิ่ง ได้แก่ คน สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ เช่น คน ถ้าคุณสามารถพาตัวเองให้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนดี: คุณก็จะพบกับผู้คนที่จะกำชับให้คุณทำการละหมาด คุณก็จะพบกับคนที่จะพาคุณไปสู่สถานที่ที่ดี ไปฟังบรรยายธรรม ไปมัสยิด และสถานที่ที่คุณสามารถรำลึกถึงอัลลอฮฺได้เสมอ แล้วพวกเขาจะเป็นผู้สนับสนุนที่ดีที่สุดของคุณ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเป็นคนเดียวในกลุ่มที่ต้องลุกขึ้นมาละหมาด เป็นคนเดียวที่ไม่สบายใจกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนในกลุ่ม คุณก็จะต้องเผชิญกับการต่อสู้ยืนหยัดเพื่อความถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์ คุณต้องพาตัวเองไปสู่สิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกันกับสถานที่: จงไปยังสถานที่ที่บริสุทธิ์ ตัวอย่างเช่น นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่าการสูบบุหรี่ บารากู่ ฯลฯ อย่างมากที่สุดเท่าที่จะยอมรับได้คือมันเป็นสิ่งที่ไม่ส่งเสริมและน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ไปจนถึงทรรศนะที่ถือว่ามันเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ปัจจุบันนี้มีสถานที่มากมายที่ให้บริการและเอื้อต่อการกระทำหรือบริการสิ่งที่ไม่ดี และน่าเสียดายที่สถานที่ที่ไม่ดีเหล่านั้นกลายเป็นสถานที่นัดเที่ยวหรือนัดเจอกันของผู้คนยุคใหม่

สำหรับบางคนที่ไม่ต้องการสูบบุหรี่ แต่พวกเขาไปยังสถานที่เหล่านั้นเพียงเพื่อซื้อแซนวิช ก็จงอย่าไปซื้อแซนวิชจากสถานที่ที่ไม่ดีเหล่านั้น เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นสถานที่ที่ทำให้คุณสามารถหลงลืมอัลลอฮฺได้ (และอาจนำคุณไปสู่การกระทำที่ฝ่าฝืนพระองค์ภายหลัง)

หรือบางทีที่คุณอาจพลาดการละหมาดของคุณ หรือคุณเผลอเข้าไปในวงสนทนาที่มีหัวข้อสนทนาที่ไม่ดี จำไว้ว่า จงพาตัวเองไปยังสถานที่ที่บริสุทธิ์เสมอ

และสุดท้ายเพื่อให้หัวใจของเรานั้นสัมผัสกับสิ่งที่บริสุทธิ์ จงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราบริโภคด้วยสายตาของเรา ด้วยปากของเรา ด้วยหูของเรา เช่น การบริโภคสิ่งต่าง ๆ ในทีวีและภาพยนตร์ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ปัจจุบันมีสิ่งบันเทิงที่ฮาลาลมากมายที่เป็นทางเลือกให้เราและลูก ๆ ของเราสามารถบริโภคได้

โปรดจำไว้ว่าโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมนั้นมันไม่ดีต่อจิตวิญญาณของเราด้วยเช่นกัน เราจะค่อย ๆ ซึมซับและสร้างความคุ้นเคยของเราไปยังคำศัพท์ที่ไม่เหมาะสมและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม บ่อยครั้งที่เราคิดว่า: โอเค ฉันจะไม่ปล่อยให้ลูก ๆ ของฉันดูมัน แต่ฉันดูมันเองได้ ดังนั้นจึงควรจำไว้ว่า สิ่งที่ไม่ดีสำหรับเด็กก็ไม่ดีสำหรับผู้ใหญ่เฉกเช่นเดียวกัน

แน่นอนในบางกรณีมันก็มีขอบเขตที่พอยอมรับได้บ้าง แต่โดยรวมแล้วเราต้องการที่จะบริโภคสิ่งที่ดีที่สุดผ่านสายตาและผ่านใบหูของเรา

หวังว่าเมื่อเรายึดมั่นกับสิ่งเหล่านี้หรือเริ่มต้นด้วยกับสามสิ่งนี้ ได้แก่ คน สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ และรักษาความบริสุทธิ์ระหว่างการปฏิสัมพันธ์ของเรากับทั้งสามปัจจัยนี้ไว้ เราก็จะสามารถเริ่มชำระล้างหัวใจของเราได้จริง ๆ และสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อร่างกายของเราด้วยวิธีอันบริสุทธิ์ อินชาอัลลอฮฺ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

ซื้ออาหารที่ไม่ฮาลาลให้แมวเป็นที่อนุญาตหรือไม่ ?

:: [คำถาม] ::
การซื้อของเล่นให้แมวที่มีดวงตาติดอยู่ เช่น ตุ๊กตาหนูให้มันเล่นเป็นที่อนุญาตหรือไม่ เช่นเดียวกัน การซื้ออาหารที่ไม่ฮาลาล (แต่ไม่ใช่เนื้อหมู) เช่น ไก่ เนื้อวัว อาหารแบบเปียก อาหารนี้จะฮาลาลหรือไม่

:: [คำตอบ] ::
โดยทั่วไปแล้ว มันเป็นที่ต้องห้ามที่จะเก็บรูปภาพหรือรูปจำลองไว้ และเราถูกสอนให้ลบลักษณะหน้าตาของมัน ดังที่หะดีษของอบุล อัล อะสะดีย์ กล่าวว่า อะลี รดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวกับฉันว่า “ฉันจะไม่สั่งเสียท่านในภารกิจหนึ่งเฉกเช่นที่ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม สั่งเสียฉันกระนั้นหรือ” ท่านอย่าได้ทิ้งรูปจำลองใดก็ตามโดยที่ไม่ได้ลบลักษณะหน้าตามันทิ้งหรือจะต้องไม่ประดับประดาหลุมฝังศพ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ปฏิเสธที่จะเข้าบ้านของท่านหญิงอาอิชะฮฺเมื่อนางได้รับหมอนที่รูปภาพ และท่านนบีฉีกม่านที่มีรูปภาพและกล่าวว่ามะลาอิกะฮฺจะไม่เข้าบ้านที่มีหมาหรือรูปภาพ รูปจำลอง มีหะดีษจำนวนมากที่กล่าวถึงหัวข้อนี้ทั้งในเศาะฮี้ยฺทั้งสองและที่อื่น ๆ
ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ จากข้อห้ามการเก็บรักษาภาพ นอกจากสิ่งที่ปรากฎในรายงานที่กล่าวว่ามันอนุญาตในกรณีของเล่นสำหรับเด็กเล็ก

ดังนั้น หากคุณลบรูปโฉมจากของเล่นเหล่านี้ ฉะนั้นข้อห้ามจะได้รับการยกเว้นและอนุญาตให้เก็บมันไว้ได้

แต่ถ้าคุณไม่ลบรูปลักษณ์บนใบหน้าก็ไม่อนุญาตให้ซื้อหรือเก็บไว้ ไม่ว่าจะสำหรับแมว สำหรับการตกแต่งหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ยกเว้นสิ่งที่ได้รับอนุญาตในคำสอนของอิสลาม ได้แก่ของเล่นสำหรับเด็กเล็ก

อนุญาตที่ให้อาหารแมวด้วยเนื้อ (ที่ไม่ได้เชือดในวิธีการที่กำหนดไว้) เนื้อหมูและอื่น ๆ และไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขว่าเนื้อจะต้องถูกเชือดตามวิธีการที่อิสลามกำหนดเท่านั้น ดังนั้นถ้าท่านพบเนื้อเหล่านี้ถูกโยนทิ้งไปหรือให้ท่านฟรี ดังนั้นท่านอาจนำมันมาให้กับแมวได้ สำหรับการซื้อ ไม่เป็นที่อนุญาต เนื่องจากมีบันทึกที่ถูกรายงานโดย อิหม่าม บุคอรีย์ (2236) และอิหม่ามมุสลิม (1581) จากท่านญาบิร อิบนุ อับดุลลอฮฺ รดิยัลลอฮุ อันฮุ ได้ยินท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ทรงห้ามซื้อแอลกอฮอล์ สัตว์ที่ตายเอง เนื้อสุกรและรูปเจว็ด”

อิหม่าม อัน-นะวาวียฺ รหิมาฮุลลอฮฺกล่าวว่า “อนุญาตทีจะให้เนื้อสัตว์ที่ตายเองกับนกแต่ไม่อนุญาตให้ซื้อ”มัจญฺมูอฺ (9/285)

มีผู้ถาม ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน รหิมาฮุลลอฮฺ อาหารแมวกระป๋องที่บรรจุเนื้อสุกร อนุญาตให้ซื้อและให้แมวกินได้หรือไม่ ?

ชัยคฺ ตอบว่า ถ้าเป็นการซื้อ ฉะนั้นไม่เป็นที่อนุมัติเพราะไม่อนุญาตให้ซื้อและจ่ายค่าเนื้อสุกร

แต่ถ้าบางคนพบว่ามันถูกทิ้งแล้วนำไปเป็นอาหารแมว ดังนั้นไม่มีความผิดอันใดในเรื่องนี้และอัลลอฮฺรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

กฏเกณฑ์เกี่ยวกับกัญชา เห็ดขี้ควาย (psilocybin mushrooms) ยากล่อมประสาทเมสคาลีน (mescaline) และอื่นๆ

:: [คำถาม] ::
ยาที่ทำให้เกิดประสาทหลอนเช่น กัญชา เห็ดขี้ควาย (Psilocybin mushrooms) ยาแอลเอสดี (LSD) และยากล่อมประสาทเมสคาลีนเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่ในหลักการอิสลาม ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าหนึ่งในตัวยาเหล่านี้ทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เจ็บป่วย ตรงกันข้ามกลับมีผลสะท้อนในทางที่ดีสำหรับการใช้ยาเหล่านี้ เช่นเกิดความรู้แจ้งทางจิตวิญญาณ การเข้าใจชีวิตที่แตกต่างกันออกไป และบางกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาโดยหันเข้ารับอิสลาม

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

กัญชาถือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการมึนเมา ได้มาจากต้นกัญชา (Cannabis indica) ซึ่งเป็นพืชที่ก่อให้เกิดการมึนเมา ดังนั้นบทบัญญัติที่มีต่อมันคือหะรอม (ต้องห้าม) ตามที่เราได้เคยอธิบายรายละเอียดและแจกแจงหลักฐานมาแล้ว
สำหรับเมสคาลีน (mescaline) ที่เป็นแคบซูลนั้นเป็นสารที่ได้มาโดยการสกัดจากต้นกระบองเพชรชนิดหนึ่ง ทางตอนเหนือของแม็กซิโกจะรู้จักกันในชื่อพิโยตี้ (peyote) ถือว่าเป็นสารเสพติดมึนเมาทำให้เกิดภาพหลอนและมองเห็นภาพเป็นสีสันต่าง ๆ

ซิลโลไซบิน (Psilocybin) เป็นสารสกัดที่ได้มาจากเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดขี้ควายแม็กซิโก (the Mexican psilocybin mushroom) นับเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งซึ่งมีโทษต่อร่างกายที่รุนแรงยิ่งกว่าเมสคาลีน

ในส่วนของยา แอลเอสดี (LSD) ที่ท่านกล่าวถึงนั้นเป็นชื่อย่อของ lysergic acid diethylamide มีการสังเคราะห์ครั้งแรกในบริษัทยาของสวิสเซอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2481 โดยเภสัชกรที่ชือ อัลเบิร์ต ฮอฟมานน์ (Albert Hofmann) และนำมาแบ่งเป็นไมโครกรัมเนื่องจากมีความรุนแรงมากที่สุดในกลุ่มยาหลอนประสาท ต่อมายาชนิดนี้ถูกห้ามใช้ในปี พ.ศ. 2509 และถูกจัดเป็นยาเสพติดผิดกฏหมายอันเนื่องมาจากผลเสียที่รุนแรงเมื่อนำมาใช้ เช่นจิตตกถึงขั้นทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต

สิ่งที่กล่าวถึงในคำถามเกี่ยวกับยาเหล่านี้ว่าไม่เป็นอันตรายนั้น คำกล่าวนี้จำเป็นจะต้องปฏิเสธ เพราะในความเป็นจริงพวกมันสร้างความเสียหายทั้งต่อจิตใจและร่างกาย เพราะทั้งซิลโลไซบิน เมสคาลีน และแอลเอสดีล้วนเป็นสารเสพติดหลอนประสาทซึ่งส่งผลอย่างรุนแรงต่อระบบความคิด อารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ มันจะให้เกิดภาพหลอน สับสนทางความคิด ประสาทหลอนทางหูและการมองเห็น เกิดความเฉื่อยชาและโรคจิตเภท ความสามารถในการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่เสพสารเสพติดเหล่านี้บางครั้งก็หัวเราะออกมาโดยไม่มีเหตุผลใดๆ

อาการที่พบของผู้ที่เสพยาเหล่านี้อาจรวมไปถึงการสูญเสียความรู้สึกที่ถูกต้องต่อเวลาและสถานที่ และการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เขาอาจเข้าใจไปว่าเวลาหนึ่งนาทีนั้นยาวนานจนถึงนาทีสุดท้ายของชิวิต เขาอาจมองเห็นวัตถุที่ตั้งนิ่งราวกับว่ามันกำลังเคลื่อนเข้ามาหาเขาหรือเคลื่อนหนึห่างจากเขา

นอกจากนั้นแล้วยังเกิดอาการกับร่างกายเช่นอาการคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมากผิดปกติ หน้าซีด รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็วและอื่นๆ

จากที่กล่าวมา สารเสพติดทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากอันตรายของมันที่เกิดกับร่างกายของผู้เสพ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “จะต้องไม่ทำอันตรายตนเอง และจะต้องไม่ทำอันตรายระหว่างกัน” บันทึกโดยอิมามอะหมัด ในอัลมุสนัด (2865) อิบนุมาญะฮ์ (2341) และชัยค์อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีฮ์

ถ้าเราคิดว่าอันตรายของยาเหล่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด มันก็เพียงพอที่จะไม่อนุมัติให้มาเสพได้ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่ามันทำให้เกิดการมึนเมาและทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งเหตุผลนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ยาเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้าม ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมานั้นคือ ค็อมร์ และทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมานั้นหะรอม ใครก็ตามที่ดื่มเหล้าบนโลกนี้และเสียชิวิตในสภาพที่ติดเหล้าและไม่ได้เสียใจกลับเนื้อกลับตัว เขาจะไม่ได้ดื่มมันในวันโลกหน้า” รายงานโดยอัลบุคอรีย์ (5575) และมุสลิม (2003)

ในความเป็นจริงแม้เราจะคิดว่าผู้ที่เสพมันโดยไม่ถึงขั้นที่ทำให้มึนเมา แม้ว่าจะเสพจำนวนมากก็ตาม แต่อย่างน้อยมันทำให้ผู้เสพรู้สึกเซื่องซึมหรืออ่อนเปลี้ย และสิ่งใดก็ตามที่ส่งผลทำให้เกิดลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่สามารถที่จะอนุญาตให้บริโภคได้ เนื่องจากมีรายงานจากอุมมุสะลามะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาเธอ)กล่าวว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ได้ห้ามทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาหรือทำให้เกิดความเฉื่อยชา รายงานโดย อบูดาวุดในสุนันของท่าน (3686) อิมามอะหมัดในอัลมุสนัด (26634) อิมามบัยฮะกีย์ในสุนันอัลกุบรอ (17399) และอัลหาฟิซ อัลอิรอกิกล่าวว่าสายรายงานนั้นถูกต้อง อ้างจาก ฟัยฎ์ อัลเกาะดีรฺ (6/338)

อัลค็อฏเฏาะบีย์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนหนึ่งอ่อนเปลี้ยหรือเครื่องดื่มใด้ก็ตามที่ทำให้เกิดความอ่อนเปลี้ยและเฉื่อยชาของอวัยวะของร่างกาย ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสิ่งมึนเมา ย่อมถูกห้ามมิให้ดื่มด้วยเกรงว่ามันจะนำไปสู่การมึนเมา (มะอาลิม อัสสุนัน 4/267)

สำหรับหะดีษนี้ศึกษาคำอธิบายเพิ่มเติมได้ใน เอานุลมะบูด และฮาชิยาต อิบนุอัลก็อยยิม (10/91)

สำหรับมุมมองของผู้ตั้งคำถามที่เห็นว่ายาเหล่านี้ “มีผลดีอยู่บ้าง” นั้น ไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงกฎชะรีอะฮ์ได้แม้เพียงเล็กน้อย แม้เราจะยอมรับว่านี้เป็นความจริง เหล้าซึ่งเป็นแม่แห่งความชั่วร้ายทั้งหลายในนั้นก็มีประโยชน์อยู่บ้าง อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ตรัสไว้ในซูเราะห์อัลบะเกาะเราฮ์ อายะฮ์ที่ 219 ว่า

“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน”

ดังนั้นพระองค์ทรงยืนยันว่ามันมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ตามการห้ามมันเป็นสิ่งทีต้องเน้นย้ำอย่างหนักแน่น เพราะอันตรายและผลเสียของมันมีมากกว่าประโยชน์ของมันเสียอีก

อิบนุกะษีร์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่กล่าวว่า “จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์” สำหรับบาปของมันนั้นมีผลต่อการยึดมั่นในศาสนา ส่วนประโยชน์นั้นเป็นเพียงประโยชน์ทางโลก เพราะอาจมีประโยชน์กับร่างกายอยู่บ้างโดยช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับถ่ายของเสีย ช่วยให้ตื่นตัวและทำให้รื่นเริง ดังที่ฮัสซาน บินษาบิตกล่าวไว้ก่อนเข้ารับอิสลามว่า “เราดื่มมันและมันทำให้เรากลายเป็นกษัตริย์และสิงห์โตผู้ไม่กลัวการเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรู”

แต่ประโยชน์ของมันไม่อาจเทียบได้กับอันตรายและผลร้ายที่จะตามมา เพราะมันส่งผลทั้งต่อสติปัญญาและการยึดมั่นในศาสนา ดังนั้นอัลลอฮฺตรัสว่า “บาปของมันใหญ่กว่าประโยชน์ของมัน” อ้างจากอิบนุกาษีรฺ (1/579) และดู ตัฟสีรฺอัลกุรฏุบีย์ (3/57)

ผู้รู้จากคณะกรรมการถาวรเพื่อการวินิจฉัยปัญหากล่าวไว้เกี่ยวกับการห้าม “อัลกอต”ว่า แม้มันจะมีประโยชน์อยู่บ้างหากบริโภคมัน แต่เนื่องจากผลร้ายของมันมีมากกว่าประโยชน์ของมัน พวกเขากล่าวว่า แม้เราจะคิดว่า อัลกอต จะมีประโยชน์อยู่บ้างแต่ความเสียหายที่ได้รับกลับมีมากกว่าหลายเท่า

สรุป
สิ่งที่กล่าวไว้ในคำถามเกี่ยวกับสารเหล่านี้ว่าไม่เป็นอันตรายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วมันสารเป็นอันตราย ท่านสามารถหาคำตอบเกี่ยวกับโทษของมันได้ด้วยการปรึกษาผู้ที่เชี่ยวชาญหรือในเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

นอกจากนั้นแล้วสารเสพติดเหล่านี้ยังส่งผลที่เสียหาย ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการมึนเมาหรือและอ่อนเปลี้ย ซึ่งทำให้พวกมันกลายเป็นสิ่งต้องห้าม

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

สเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) : นิยามสเต็มเซลล์และกฏเกณฑ์ของการเก็บสเต็มเซลล์ในธนาคารเซลล์เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์

:: [คำถาม] ::
ข้าพเจ้าต้องการทราบทรรศนะของอิสลามที่มีต่อสเต็มเซลล์และธนาคารเซลล์ โดยธนาคารเซลล์คือสถานที่เก็บรักษาสเต็มเซลล์ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมแลกกับการเก็บรักษาตามระยะเวลา ซึ่งมักยาวนานเป็นปีๆ ทั้งนี้เป็นการเผื่อว่าอาจจะต้องนำไปใช้ในอนาคตข้างหน้า

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
1. สเต็มเชลล์ที่อ้างถึงในคำถามนั้น ได้มาจากรกและสายสะดือทารกหลังการคลอด เซลล์ที่นำมาจากสะดือทารกเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคเลือด (โรคที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดต่างๆ) เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคโลหิตจางนอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เพื่อรักษาโรคทางระบบประสาทเช่นความพิการทางสมอง โรคอัลไซเมอร์เป็นต้น เซลล์เหล่านี้จะไม่โดนโจมตีจากระบบภูมิคุ้มกันเพราะมันสามารถพัฒนาให้อยู่ในสภาพธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว สะดือจะมีลักษณะคล้ายกับเชือกซึ่งเชื่อมต่อทารกในมดลูกกับรก โดยมีหลอดเลือดแดงสองเส้นและหลอดเลือดดำหนึ่งเส้นหลอดเลือดแดงจะนำเลือดซึ่งมีของเสียจากทารกในครรภ์ไปยังรกและหลอดเลือดดำจะนำออกซิเจนและสารอาหารจากเลือดของมารดาไปยังทารกในครรภ์ (ที่มา อัลเมาสูอะฮ์ อัลอะเราะบิยฺยะฮ์ อัลอะลามิยฺยะฮ์)

2. แหล่งที่มาของสเต็มเซลล์สามแหล่ง
(ก) สเต็มเซลล์ที่นำมาจากตัวอ่อนของมนุษย์อายุ 5 วัน จนถึงสองสัปดาห์
(ข) สเต็มเซลล์ที่นำมาจากวัยผู้ใหญ่ ซึ่งดึงมาใช้สองรูปแบบ
(1) จากไขกระดูก นั่นคือจากกระดูกตนเองเช่นจากกระดูกเชิงกรานหรือหน้าอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับวิธีนี้ก็คือความเจ็บปวดและต้องใช้ยาสลบอีกทั้งยังใช้เวลาค่อนข้างนาน นอกจากนี้แล้วจำนวนสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากวิธีการนี้มีจำนวนค่อนข้างน้อย
(2) นำมาจากเลือด วิธีการนี้จำเป็นต้องใช้เลือดจำนวนมาก แล้วนำมากรองแต่ท้ายที่สุดแล้วจะได้สเต็มเซลล์ในจำนวนที่เล็กน้อยเท่านั้น
(ค) แหล่งสุดท้ายและเป็นแหล่งที่สำคัญมากคือการนำสเต็มเซลล์จากสายสะดือ ซึ่งมีสเต็มเซลล์อยู่เป็นจำนวนมากซึ่งอาจมีสเต็มเซลล์อยู่ถึง 200 ล้าน

3. ดังนั้น จึงมีการคิดค้นและการพัฒนาการเก็บรักษาเซลล์เหล่านี้โดยการเก็บไว้ใน “ธนาคาร” ในดูไบมีธนาคารสเต็มเซลล์ทั้งจากภาครัฐและเอกชนและในเจดดาห์มีบริษัทเอกชนที่จัดเก็บเซลล์ไว้สำหรับผู้ที่ต้องการ โดยมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ธนาคารเหล่านี้ได้วางมาตรการเพื่อรับประกันว่าเซลล์จะไม่ถูกดัดแปลง เจ้าของสามารถติดตามและตรวจสอบเซลล์เช่นเดียวกับที่เขาสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารของเขานายแพทย์บางท่านกล่าวว่าเซลล์เหล่านี้อาจเก็บไว้ได้นานถึง 25 ปี และแพทย์บางท่านกล่าวว่าเป็นไปได้ที่จะเก็บไว้ได้นานตลอดชีวิต

4. เซลล์เหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับเจ้าของเซลล์ที่ประสบกับโรคเท่านั้น แต่สามารถบริจาคให้กับผู้อื่นได้ด้วย สเต็มเซลล์ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการป่วยและเป็นทางเลือกที่ดีในการผ่าตัดไขสันหลังอักเสบจากมุมมองทางการแพทย์สเต็มเซลล์ถือเป็นทางเลือกในการบริจาคอวัยวะเนื่องจากสามารถสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ทดแทนเซลล์ที่เสียหายของคนไข้ได้

สำหรับเจ้าของสเต็มเซลล์นั้นย่อมเป็นคู่ที่สมบูรณ์แบบกับเซลล์ของเขาเพียงคนเดียว ส่วนสมาชิกในครอบครัวเดียวกันกับเขามีความเป็นไปได้ของการเข้ากันได้จะแตกต่างกันไประหว่าง 25% ถึง 40% ทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้ได้ตราบเท่าที่แม่ไม่มีโรคติดต่อเช่นโรคไวรัสตับอักเสบหรือโรคเอดส์ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องทำการทดสอบเลือดของมารดาก่อนที่จะเก็บสเต็มเซลล์

จากที่กล่าวมา หากแต่ละคนเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ จึงมีความเห็นตรงกันว่าอนุญาตให้ทำได้

5. จากประโยชน์ของสเต็มเซลล์ที่นำมาจากสายสะดือ จึงทำให้บางส่วนของผู้ที่ไม่เกรงกลัวอัลลอฮฺรีบเร่งที่จะได้รับสายสะดือด้วยการเจตนาทำให้เกิดการแท้ง เราเสียใจที่จะกล่าวว่าบางส่วนของพวกเขาเชื่อว่าชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับการทำเช่นนั้นดังนั้นสภานิติศาสตร์อิสลามกล่าวไว้ชัดเจนว่า เป็นสิ่งต้องห้ามในการเจตนาทำแท้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถใช้อวัยวะจากตัวอ่อนรวมทั้งสเต็มเซลล์ด้วยซึ่งมีใจความดังนี้

สภานิติศาสตร์อิสลามได้จัดการประชุมครั้งที่หก ที่กรุงเจ็ดดะฮ์ ประเทศสะอุดิอารเบียเมื่อวันที่ 14-20 เมษายน 2533 ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการศึกษาวิจัยและอภิปรายในประเด็นนี้ โดยมีหัวข้อว่า การใช้ทารกในครรภ์เป็นแหล่งที่มาของการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งยังเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุมของสภานิติศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่ประเทศคูเวตระหว่างวันที่ 23-26 ตุลาคม 2533 อันเป็นความร่วมมือระหว่างสภาแห่งนี้กับองค์กรวิทยาศาสตร์การแพทย์อิสลามซึ่งได้กำหนดแนวทางไว้ดังนี้ :

(ก) ไม่อนุญาตให้ใช้ตัวอ่อนในครรภ์เพื่อเป็นแหล่งที่มาของอวัยวะที่ใช้ในการปลูกถ่ายให้กับปัจเจกบุคคล ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็นและจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
(ข) ไม่อนุญาตให้มีการตั้งใจทำแท้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะนำตัวอ่อนในครรภ์มารดามาใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับปัจเจกบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นการทำแท้งควรจำกัดเฉพาะที่เป็นไปตามธรรมชาติ (เช่นการแท้งบุตร) ไม่ใช่ด้วยการตั้งใจทำแท้ง หรือการทำแท้งนั้นสอดคล้องกับเหตุผลอันสมควรตามหลักชะรีอะฮ์อิสลาม
(ค) หากตัวอ่อนหรือทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่ การบำบัดรักษาจะต้องเน้นไปที่การปกป้องชีวิต และจะต้องไม่นำไปใช้เพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ หากทารกนั้นเสียชีวิตแล้วจึงจะอนุญาตให้ใช้ได้โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่ (1) ของการประชุมสภาครั้งที่ 4 ซึ่งได้อภิปรายประโยชน์สำหรับมนุษย์จากอวัยวะของมนุษย์คนอื่น ขณะมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว
(2) ไม่อนุญาตให้ใช้กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อการค้าไม่ว่ากรณีใดๆ
(3) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมอบอำนาจในการดูแลการปลูกถ่ายอวัยวะไปยังคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและบุคคลที่น่าเชื่อถือ

6. ดูเหมือนว่า (อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง) สามารถใช้ประโยชน์จากเซลล์ที่พบในสายสะดือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสายสะดือถูกทิ้งแล้ว
สภานิติศาสตร์ขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในระหว่างการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่ (6 กุมภาพันธ์2531) ดังข้อความต่อไปนี้:

ประการแรก อนุญาตให้มีการปลูกถ่ายอวัยวะจากตำแหน่งในร่างกายของบุคคลหนึ่งไปยังส่วนอื่นๆในร่างกายของบุคคลเดียวกัน โดยจะต้องแน่ใจว่าการปลูกถ่ายนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะเกิดโทษและภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนอวัยวะที่สูญเสียไปหรือปรับรูปที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนการทำงานหรือแก้ไขข้อบกพร่องหรือลบความผิดปกติที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางจิตใจหรือทางร่างกาย

ชัยค์อิบรอฮีม อัลฟัยยูมีย์ เลขาธิการสภาวิจัยอิสลาม (The Islamic Research Council) ในอียิปต์กล่าวว่า สภาพบว่าการสร้างและการเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากมันในการบำบัดรักษาโรคของมนุษย์ซึ่งทำโดยการใช้สเต็มเซลล์ ซึ่งไม่มีความผิดแต่ประการใดที่จะทำเช่นนั้น การสรุปนี้อ้างจากคำกล่าวของศาสตราจารย์ดร.อิบรอฮีม บัดรานสมาชิกของสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ท่านได้กล่าวว่า สภาได้ให้ความสนใจต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆในสาขาวิทยาศาสตร์ที่สำคัญนี้และยอมรับว่าการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เป็นการเปิดประตูสำหรับการรักษารูปแบบใหม่ๆซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิตหรือผู้บริจาคเท่านั้นท่านกล่าวว่า อิสลามไม่ได้คัดค้านวิทยาศาสตร์ที่ประโยชน์แก่มนุษย์

และยังกล่าวต่อไปอีกว่า ไม่มีเหตุผลของทางชะรีอะฮ์ใดๆที่จะห้ามไม่ให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ตราบใดทีนำมาใช้เพื่อรักษามนุษย์

7. เราควรชี้ให้เห็นว่าไม่อนุญาตให้ใครก็ตามบริจาคสเปิร์ม (เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้) หรือไข่เพื่อผลิตไซโกต (zygotes-ไข่ที่ปฏิสนธิ) ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นทารกในครรภ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์ นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ใช้การโคลนนิ่ง (cloning) เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์จากทารกในครรภ์การอนุญาตจะจำกัดเฉพาะการได้รับสเต็มเซลล์จากสายสะดือเท่านั้น

แถลงการณ์โดยสภาอิสลามนิติบัญญัติอิสลาม หมายเลข54 (6/5) ว่าด้วยหัวข้อการปลูกถ่ายเซลล์สมองและเซลล์ประสาทมีข้อความดังต่อไปนี้

หัวข้อหนึ่งจากสภานิติบัญญัติอิสลามที่จัดขึ้นในระหว่างการประชุมครั้งที่หกที่กรุงเจดดาห์ประเทศสะอุดิอารเบีย 14-20 มีนาคมพ.ศ. 2533 หลังจากที่ได้มีการศึกษางานวิจัยและข้อเสนอแนะ หัวข้อนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุมนิติศาสตร์ทางการแพทย์ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศคูเวต 23-26 ต.ค. 2533ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภานี้กับองค์การวิทยาศาสตร์การแพทย์อิสลาม ซึ่งในที่ประชุมได้นำข้อสรุปมาอ้าง

และทราบดีว่ากรณีนี้ไม่ได้หมายถึงการการย้ายสมองของคนคนหนึ่งไปให้คนอื่น แต่เป้าหมายของการปลูกถ่ายนี้คือการรักษาเซลล์ในสมองที่เสียหายซึ่งไม่สามารถขับสารเคมีหรือฮอร์โมนได้อย่างเพียงพอดังนั้นพวกเขาจึงได้รับการเสริมด้วยเซลล์ที่คล้ายกันจากแหล่งอื่นหรือปลูกถ่ายเพื่อรักษาช่องว่างในระบบประสาทที่เกิดจากการบาดเจ็บ สภาได้กำหนดกำหนดต่อไปนี้แนวทางดังนี้

ประการแรก หากที่มาของเนื้อเยื่อคือต่อมหมวกไต (adrenal gland) จากผู้ป่วยเอง และทำให้เกิดผลในทางบวกนั่นคือไม่มีการปฏิเสธจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเนื่องเซลล์มาจากร่างเดียวกัน จึงถือว่าไม่เป็นความผิดแต่ประการใดจากมุมมองของชะรีอะฮ์

ประการทีสอง หากแหล่งที่มาคือลูกในครรภ์ของสัตว์(fetus) ถือว่าไม่เป็นความผิดบาปในการใช้วิธีนี้หากว่ามันประสบผลสำเร็จและไม่มีข้อจำกัดจากชะรีอะฮ์แพทย์กล่าวว่าวิธีการนี้ประสบความสำเร็จในสัตว์ชนิดต่างๆและหวังว่าจะประสบความสำเร็จแต่ต้องมีมาตรการป้องกันทางการแพทย์ที่จำเป็นทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกัน

ประการที่สาม หากแหล่งที่มาของเนื้อเยื่อเป็นเซลล์ที่มีชีวิตจากสมองของตัวอ่อนแรกเริ่มซึ่งมีอายุในช่วงสิบถึงสิบเอ็ดสัปดาห์ กฏเกณฑ์จะแตกต่างกันออกไปตามหัวข้อต่อไปนี้:

(ก) วิธีแรก นำเนื้อเยื่อจากทารกในครรภ์มารดาโดยตรงโดยการผ่าตัดเปิดมดลูกวิธีนี้ส่งผลให้ทารกในครรภ์มารดาเสียชีวิตทันทีที่นำเอาเซลล์สมองออกมา วิธีการนี้เป็นสิ่งที่หะรอม (ต้องห้าม) เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการแท้งบุตร หรือการทำแท้งที่ชะรอะฮ์อนุมัติเพื่อช่วยชีวิตมารดาและหลังจากที่ได้ตรวจสอบว่าทารกในครรภ์เสียชีวิต ในขณะเดียวกันจะต้องให้ความสำคัญกับเงื่อนไขที่จะนำมากล่าวถึงในหัวข้อของการใช้ตัวอ่อนในคำแถลงหมายเลข 59 (6/8) ของการประชุมรอบนี้

(ข) วิธีที่สอง เป็นวิธีการที่อาจจะนำมาใช้ในอนาคตเร็วๆนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปลูกเซลล์สมองในฟาร์ม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ วิธีการนี้ไม่มีความผิดใดๆจากมุมมองของชะรีอะฮ์ หากที่มาของเซลล์เป็นสิ่งได้รับการอนุมัติ และปฏิบัติในลักษณะที่สอดคล้องกับสิ่งที่อิสลามอนุญาต

8. ทุกประเทศจะต้องร่วมกันต่อต้านการทำแท้งทารกในครรภ์เพื่อให้ได้อวัยวะและเซลล์ของเหล่านี้ และไม่อนุญาตให้รับเอาผลประโยชน์จากสิ่งที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งธนาคารเซลล์องค์กรที่มีความน่าเชื่อถือควรเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้และควรเก็บรวบรวมเซลล์เหล่านี้ด้วยรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับของหลักการอิสลามเพื่อให้สามารถรักษาผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์

9. หลังจากเขียนข้อความข้างต้นแล้ว เราได้ตรวจสอบคำแถลงของสภานิติบัญญัติอิสลามซึ่งเชื่อมโยงกับสันนิบาติมุสลิมโลก (Muslim World League -MWL) ว่าด้วยสเต็มเซลล์ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราระบุไว้ข้างต้นเราจะบันทึกไว้ที่นี่เพื่อสรุปสิ่งที่ระบุไว้ข้างต้น และให้ความสำคัญก่อนคำแถลงอื่น ๆ เนื่องจากเป็นความเห็นของนักวิชาการที่มีคุณธรรมที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และชะรีอะฮ์

คำแถลงของสภานิติบัญญัติอิสลามมีดังนี้
สภานิติบัญญัติแห่งสันนิบาตมุสลิมโลก (Council of the Muslim World League) ในการประชุมครั้งที่ 7 ที่เมืองมักกะฮ์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้อภิปรายในหัวข้อการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ กล่าวถึงหัวข้อการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ว่าด้วยแหล่งที่มาพื้นฐานของเซลล์ สอดคล้อกับข้อเสนอแนขององค์กรในการประชุมครั้งที่หกในปี 2532 ตามที่ได้นำมาอ้างข้างต้น ในแถลงการณ์ที่สามของสภานิติบัญญัติอิสลาม ฉบับลงวันที่ 17/12/2546 กล่าวไว้ดังนี้

สเต็มเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์ทีมีต้นกำเนิดจากตัวอ่อนโดยถูกสร้างขึ้น สามารถที่จะ (ด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์) พัฒนาเป็นเซลล์ต่างๆในร่างกายของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเกี่ยวกับเซลล์เหล่านี้และแยกพวกมันออกและทำให้มันเติบโตขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ดังนั้นพวกเขาสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรค และพวกเขาคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตในการรักษาโรคต่างๆรวมทั้งความผิดปกติของร่างกาย ตลอดจนโรคมะเร็งบางชนิด โรคเบาหวาน โรคไตและตับวายเป็นต้น

สเต็มเซลล์เหล่านี้สามารถนำมาจากหลายๆแหล่ง รวมทั้งที่จะกล่าวต่อไปนี้ :
(1) ตัวอ่อนในระยะบลาสทูบา (blastula) ซึ่งเซลล์จะจัดเรียงตัวเป็นรูปทรงกลม เซลล์ต่างๆของร่างกายจะเติบโตตรงนี้ ไซโกต (ไข่ที่ปฏิสนธิ) ที่เกิดขึ้ด้วยการทำให้มีการปฏิสนธิในหลอดทดลองถือได้ว่าเป็นแหล่งสำคัญของสเต็มเซลล์ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิจากผู้บริจาคเพื่อให้ได้ไซโกตและสร้างการเจริญเติบโตจนกว่าเซลล์จะพัฒนามาถึงระยะบลาสทูลา แล้วแยกสเต็มเซลล์ออกมา
(2) ทารกที่เกิดจากการแท้ง
(3) รกหรือสะดือ (The placenta or umbilical cord)
(4) เด็กหรือผู้ใหญ่
(5) การโคลนนิ่งซึ่งทำได้ด้วยการนำเอาเซลล์มาจากผู้ใหญ่แล้วดึงนิวเคลียสของมันออกจากนั้นใส่เข้าไปในไข่ที่นิวเคลียสของมันถูกกำจัดออก โดยมีจุดมุ่งหมายให้เข้าถึงระยะบลาสทูลา (the blastula stage) จากนั้นจึงจะดึงสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนที่อยู่ในระยะนี้

หลังจากรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อนี้ตลอดจนความคิดเห็นของสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเซลล์ชนิดนี้และแหล่งที่มาของมันรวมถึงวิธีการใช้งานดังกล่าวสภาได้ลงความเห็นดังต่อไปนี้

ประการแรก: อนุญาตให้รับสเต็มเซลล์และปลูกถ่าย ตลอดจนใช้เพื่อรักษาทางการแพทย์หรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่หะลาลหากแหล่งที่มาของสเต็มเซลล์นั้นหะลาล ดังตัวอย่างต่อไปนี้
(ก) ผู้ใหญ่ หากได้รับอนุญาตและจะต้องไม่นำไปสู่อันตราย
(ข) เด็ก โดยผู้ปกครองของพวกเขาต้องให้การยินยอม ซึ่งทำไปโดยมีจุดประสงค์ที่หลักการอิสลามอนุญาต และจะต้องไม่เป็นอันตรายแก่พวกเขา
(ค) รกและสายสะดือ โดยได้รับการยินยอมจากพ่อแม่
(ง) ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (เช่นการแท้งบุตร) หรือทารกในครรภ์ที่เกิดจากการทำแท้งซึ่งดำเนินการโดยเหตุผลทางการแพทย์ที่ชะรีอะฮ์ให้การอนุญาต ตลอดจนการอนุญาตจากพ่อแม่
(จ) ไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิ (zygotes) จากความพยายามให้มีการปฏิสนธิในหลอดทดลองหากได้รับบริจาคจากพ่อแม่ และมีข้อสังเกตว่าไม่อนุญาตให้ใช้วิธีการนี้เพื่อการการตั้งครรภ์หากพ่อกับแม่ไม่ได้สมรสกัน

ประการที่สอง : ไม่อนุญาตให้นำสเต็มเซลล์มาใช้หากแหล่งที่มาของมันนั้นหะรอม ตัวอย่างเช่น:
(1) ทารกในครรภ์ที่มีการทำแท้งโดยเจตนาโดยที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ใด ๆ ที่จะทำให้ได้รับอนุญาตตามหลักการชะรีอะฮ์
(2) ไซโกต(Zygotes) ที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิจากผู้บริจาคซึ่งมิได้เป็นสามีภรรยากัน
(3) การโคลนนิ่ง (Cloning)

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

มาทำความเข้าใจวิทยปัญญาเบื้องหลังซะกาตฟิตเราะฮฺ

ซะกาตุลฟิฏรฺ บางครั้งเรียกว่า ศอดาเกาะตุลฟิฏรฺ ทั้งสองคำนี้หมายถึง “กุศลทานเพื่อการละศีลอด” เนื่องจากเป็นการจ่ายในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอนเมื่อฤดูกาลแห่งการถือศีลอดกำลังจะสิ้นสุดลง

ชื่อ “ซะกาตุลฟิฏรฺ” อาจหมายถึง ฟิฏเราะห์ หรือวิถีทางตามธรรมชาติ ดังที่กล่าวไว้ในโองการที่ว่า

“(โดยเป็น) ธรรมชาติของอัลลอฮฺซึ่งพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา” (30:30)

ซะกาตนี้ไม่ใช่การจ่ายภาษีตามความมั่งคั่งของบุคคล เป็นการจ่ายให้ในนามของแต่ละบุคคลคล้าย ๆ กับภาษีรายหัว แน่นอนว่าบางครั้งถูกเรียกว่า ซะกาตุลรอ (เช่น “ภาษีรายหัว”) หรือ ซะกาตุลบะดาน (“ภาษีรายตัว”)

|| วิทยปัญญาเบื้องหลังซะกาตุลฟิฏรฺ ||
ซะกาตนี้เป็นการชำระในส่วนที่ผู้ถือศีลอดบกพร่องในการถือศีลอดของเขาหรือเธอในเดือนรอมฎอน ไม่มีบุคคลใดสามารถถือศีลอดได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุก ๆ ด้าน เราทุกคนต่างพูดหรือทำในสิ่งที่เราไม่ควรทำ เราอาจพูดถึงคนอื่นในระหว่างเดือนนี้ หรือเราอาจมองดูบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ควรดู

ซะกาตนี้ช่วยให้คนยากจนได้ร่วมรื่นเริงในวันอีดพร้อมกับคนอื่น ๆ นี่คือเหตุผลที่ต้องจ่ายภายในเช้าของวันอีดหรือคืนก่อนหน้านั้น

อีดเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง เป็นวันสำหรับการดื่มกินและการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ เมื่อเราจ่ายซะกาตุลฟิฏรฺในช่วงเวลานี้จะทำให้คนยากจนรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาแห่งความสุขสันต์โดยรวมพวกเขาไว้ในจิตวิญญาณของเทศกาลในวันอีดนี้ วันนี้พวกเขาไม่ควรอดอยากหิวโหย พวกเขาไม่ควรรู้สึกว่าได้รับการละเลยกีดกันหรือถูกทอดทิ้ง

นี่คือเหตุผลที่นักวิชาการหลายท่านรวมถึง อิบนุ ตัยมียะฮ์ และ อิบนุ ก็อยยิม กล่าวว่าควรมอบซะกาตุลฟิฏรฺให้กับคนยากจนและผู้ยากไร้ขัดสนเท่านั้น ไม่ใช่ชนชั้นอื่น ๆ ที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาตนี้

ในท้ายที่สุดซะกาตุลฟิฏรฺจะช่วยบ่มเพาะนิสัยแห่งการให้ในหมู่สมาชิกของสังคม นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมภาระผูกพันในการจ่ายเงินเพื่อการสงเคราะห์เช่นนี้จึงเชื่อมโยงกับบุคคลที่มีความสามารถทุกคนโดยไม่คำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งร่ำรวยที่บุคคลนั้นมี

|| กฎเกณฑ์ของซะกาตุลฟิฏรฺ ||
ประเด็นของซากาตุลฟิฏรฺนี้เป็นฉันทามติที่เป็นเอกฉันท์ในหมู่นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ว่าการจ่ายเงินซะกาต ลฟิฏรฺเป็นภาระผูกพันทางศาสนา เรื่องนี้ถูกกล่าวโดย อิบนุ อัล-มุนซิรฺ อัล–บัยฮากี และท่านอื่น ๆ
.
ซึ่งมีหลักฐานดังนี้
1. อัลลอฮฺตรัสว่า
“แน่นอนผู้ที่ขัดเกลาตนเองย่อมบรรลุความสำเร็จ และเขารำลึกถึงพระนามแห่งผู้เป็เจ้าของเขาแล้วเขาทำละหมาด” (87: 14-15)

อิบนุ อุมัรฺ อธิบายโองการนี้ว่าเป็นการอ้างถึงซากาตุลฟิฏรฺ

2. อิบนุ อุมัรฺ รายงานว่า ท่านนบีสั่งใช้ให้จ่ายซะกาตุลฟิฏรฺ จำนวนหนึ่งศออ์ เป็นอินทผลัม หรือข้าวบาร์เลย์ในนามของชายหญิงมุสลิมทุกคน ทั้งที่เป็นอิสรชนหรือเป็นทาส พวกเขาจะต้องชำระก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาดอีด” (อัล บุคอรีย์ (1053) และมุสลิม (984))

ซะกาตุลฟิฏรฺเป็นข้อผูกมัดสำหรับผู้ที่สามารถจ่ายได้เท่านั้น ซึ่งถูกนิยามว่าคือผู้ที่มีอาหารเพียงพอที่จะรับประทานสำหรับหนึ่งวันและหนึ่งคืน

ซะกาตุลฟิฏรฺจ่ายเป็นปริมาณของอาหาร มีการใช้หน่วยวัดเป็น ศออ์ เป็นการวัดความจุ (ปริมาตร) ที่เท่ากับสี่หน่วยของสองกำมือสำหรับคนทั่วไป (ประมาณ 2.7 กิโลกรัม)

|| จ่ายอย่างไร ? ||
อบู สะอีด อัล คุดรีย์ รายงานว่า
“เราเคยจ่ายซะกาตุลฟิฏรฺ จำนวนหนึ่งศออ์ด้วยข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เลย์ หรืออินทผลัม หรือเนยแข็ง หรือลูกเกด” (อัล-บุคอรีย์ (1435))

นักวิชาการส่วนใหญ่ในยุคศอฮาบะฮฺและตาบีอีนยอมรับว่า เราไม่ได้จำกัดเฉพาะอาหารที่ระบุไว้ในหะดีษเท่านั้น เป็นที่อนุญาตให้จ่ายด้วยอาหารหลักของพื้นที่ ซึ่งอาจรวมถึงข้าวหรืออาหารหลักอื่น ๆ ที่แพร่หลายในท้องถิ่น

นักวิชาการมีความเห็นต่างในการจ่ายเงินแทนอาหารว่าได้หรือไม่ นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าซะกาตุลฟิฏรฺไม่สามารถจ่ายเป็นเงินสดได้ ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่ยอมรับของสำนักคิดทางนิติศาสตร์ของอิหม่ามมาลีกี อิหม่ามชาฟีอีย์ และอิหม่ามฮันบาลี

สำนักคิดทางนิติศาสตร์ของอิหม่ามฮานาฟีซึ่งตามทัศนะความเห็นของอบู ฮะนีฟะห์อนุญาตให้จ่ายซะกาตุลฟิฏรฺได้ด้วยเงินสด นี่คือทัศนะความเห็นของตาบีอีนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากรวมถึงคอลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อับดุลอะซีส

หะซัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า
“ไม่มีปัญหาอันใดที่จะจ่ายซะกาตุลฟิฏรฺด้วยเงิน” (มุศ็อนนัฟ อิบนุ อบี ชัยบะฮ (10368 และ 10370))

อบู อิสฮาก อัส-สิบาอีย์ กล่าวว่า “ฉันเห็นพวกเขาจ่ายซะกาตนี้เป็นเหรียญเงินตามมูลค่าของอาหาร” (มุศ็อนนัฟ อิบนุ อบี ชัยบะฮ (10371))

นี่คือทัศนะของอิหม่ามอัซ เซารีย์ และอิหม่ามอะเฏาะ แน่นอนว่าอิหม่ามอะเฏาะเป็นที่รู้จักกันดีในการจ่ายซะกาตุลฟิฏรฺของเขาด้วยเงิน คนเหล่านี้ทั้งหมดเป็นตาบิอีนที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากที่สุด

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการมุสตาฟา อัล ซัรฺกอ ได้ออกมาสนับสนุนอย่างหนักแน่นในทัศนะนี้ เขาปกป้องทัศนะความเห็นนี้ด้วยข้อโต้แย้งที่แข็งแรง ในบรรดาข้อโต้แย้งเหล่านั้นมีดังนี้
1. นักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีปัญหาในการจ่ายซะกาตุลฟิฏรฺด้วยอาหารที่ใช้ในท้องถิ่นถึงแม้ว่าอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการกล่าวถึงในหะดีษ นี่คือเหตุผลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นที่ได้รับอนุญาตให้จ่ายเป็นข้าว หรือข้าวโพด หรืออะไรก็ตามที่รับประทานในท้องถิ่นเป็นอาหารหลัก หากอาหารเหล่านี้ไม่ได้รับการกล่าวถึงในหะดีษนั้นได้รับอนุญาต ก็ควรจะอนุญาตให้จ่ายเป็นเงินสดได้เพราะมันจะมีประโยชน์มากกว่าสำหรับคนยากจนจำนวนมากในวันอีด

นี่ไม่แตกต่างจากสิ่งที่ผู้คนจ่ายด้วยอาหารท้องถิ่นของพวกเขา เรากำหนดมูลค่าเทียบเท่าของอาหารเหล่านั้นเป็นเงินสด พวกเขากำหนดอาหารที่เทียบเท่าอาหารหลักในท้องถิ่นของพวกเขา

2. การแจกจ่ายของอาหารเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องของความบริสุทธิ์ หรือการอิบาดะฮฺที่เป็นนามธรรมซึ่งไม่สามารถละทิ้งได้ แต่มีเจตจำนงที่เป็นประโยชน์ที่ชัดเจนจากการปฏิบัติเช่นนี้

|| วัตถุประสงค์หลัก ||
วัตถุประสงค์ของซะกาตุลฟิฏรฺ คือการช่วยเหลือมุสลิม ช่วยให้คนจนได้ร่วมสนุกสนานในวันอีด และมีส่วนร่วมในการฉลองความสำเร็จของการถือศีลอดในเดือนนี้กับร่วมมุสลิมคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังช่วยผู้ให้ได้ปฏิบัติการงานที่เอิ้อเฟิ้อเผื่อแผ่นี้อีกด้วย

การให้เงินเป็นที่รักที่ชอบมากกว่าทั้งสำหรับผู้ให้และผู้รับ และยังเป็นการตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของซะกาตุลฟิฏรฺ ที่ช่วยคนยากจนและชำระขัดเกลาผู้จ่ายให้บริสุทธิ์และไม่ขัดกับตัวบทที่ชัดเจน

ข้อสงสัยนี้เป็นรายละเอียดทางนิติศาสตร์อิสลามที่นักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบางท่านมีความเห็นแตกต่างกันตั้งแต่ในยุคแรกเริ่มของอิสลาม หนึ่งในนั้นคือคอลีฟะฮ์ อุมัรฺ อิบนุ อับดุลอะซิส ผู้สั่งให้คนของเขาจ่ายซะกาตุลฟิฏรฺเป็นเงินสด

วัตถุประสงค์ของเราในการกล่าวถึงความแตกต่างทางทัศนะความคิดเห็นในเรื่องนี้คือการแสดงให้เห็นว่ามีความยืดหยุ่น ไม่มีเหตุผลที่จะคับแคบและดื้อรั้น นักนิติศาสตร์อิสลามพยายามที่จะอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ และสร้างความสะดวกง่ายดายให้กับผู้คน

|| จะต้องจ่ายเมื่อใด ? ||
ถือเป็นภาระหน้าที่ในช่วงเวลาที่ผู้คนยุติการถือศีลอดในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน นี่คือเหตุผลที่มันถูกเรียกว่าการสงเคราะห์สำหรับการยุติการถือศีลอด ชื่อของมันจึงอ้างอิงไปยังเหตุผลของมัน

นักนิติศาสตร์บางท่านรวมถึงอิหม่ามชาฟีอีย์ อิหม่ามอะฮฺหมัด อิหม่ามอิสฮาก และอิหม่ามมาลิก ระบุช่วงเวลาของภาระผูกพันไว้ระหว่างช่วงที่ดวงตะวันตกดินในคืนก่อนวันอีดในขณะที่อิหม่ามอบู ฮะนีฟะฮฺ กล่าวว่ามันกลายเป็นภาระหน้าที่ในเช้าวันอีดก่อนละหมาดอีด

อิบนุ อุมัรฺ รายงานว่า “ต้องจ่ายก่อนที่ผู้คนจะออกไปละหมาดอีด” ((อัล บุคอรีย์ (1053) และมุสลิม (984))

เช่นเดียวกัน ท่านนบี กล่าวว่า
“บุคคลใดที่จ่ายซะกาตก่อนละหมาด (อีดิ้ลฟิฏร์) ถือว่าเป็นซะกาตที่ได้รับการตอบรับ และบุคคลใดที่จ่ายซะกาตหลังละหมาด (อีดิ้ลฟิฏร์) ถือว่าเป็นการทำศอดาเกาะฮ์อย่างหนึ่ง” (สุนัน อบู ดาวุด : 1371)

ดังนั้น ทุกคนจึงเห็นพ้องว่าเวลาหลังจากฟัจญรฺและก่อนการละหมาดอีดเป็นเวลาที่ถูกต้องในการชำระซะกาต

นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ชำระซะกาตุลฟิฏรฺหนึ่งหรือสองวันก่อนอีด เนื่องจากอิบนุ อุมัรฺ ได้รายงานว่า “บางครั้งพวกเขาเคยจ่ายซะกาตหนึ่งหรือสองวันก่อนสิ้นสุดการถือศีลอด”

|| ใครที่มีสิทธิได้รับ? ||
มีความเห็นสองทัศนะในเรื่องนี้
1. สามารถจ่ายให้กับคนทั้งแปดประเภทที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาต นี่คือทัศนะส่วนใหญ่ อันที่จริงแล้วอิหม่ามชาฟีอีย์วางกรอบไว้ไกลกว่านั้น และระบุว่าควรแบ่งและแจกจ่ายให้กับทั้งแปดประเภท
2. เฉพาะคนยากจนและคนขัดสนเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาตนี้ นี่เป็นหนึ่งในทัศนะความเห็นของสำนักทางนิติศาสตร์ของอิหม่ามฮันบาลี และเป็นความเห็นที่นำมาใช้โดยอิบนุ ตัยมียะห์ และอิบนุ ก็อยยิม

ทัศนะความเห็นที่สองดูเหมือนจะดีที่สุดเนื่องจากท่านนบีเคยอธิบายว่าเป็นซะกาตที่จ่าย “เพื่อให้อาหารสำหรับคนยากจน” (สุนันอบู ดาวุด (1609))

ยิ่งไปกว่านั้นซะกาตุลฟิฏรฺนั้นแตกต่างจากซะกาตทั่วไป เนื่องจากมันไม่ได้เรียกเก็บจากความมั่งคั่งของบุคคล แต่ได้รับมาจากมุสลิมทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าจะเหมาะสำหรับการจำกัดการให้เฉพาะคนยากจนและคนขัดสน

|| เป็นข้อบังคับสำหรับใครบ้าง? ||
เนื่องจากเป็นภาษีรายหัวและไม่ใช่ภาษีสำหรับความมั่งคั่ง บุคคลที่จ่ายซะกาตุลฟิฏรฺจึงต้องจ่ายสำหรับตนเองก่อนและสำหรับผู้ที่อยู่ในความอุปถัมป์ของเขาทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ผู้ชายจะต้องจ่ายแทนภรรยา และลูก ๆ ของเขา และเขาอาจจะต้องจ่ายให้ในนามของพ่อแม่ของเขาด้วย หากท่านทั้งสองต้องพึ่งพาเขาในการจัดการซะกาตนี้ให้แก่พวกท่าน

ซะกาตุลฟิฏรฺไม่จำเป็นต้องจ่ายแทนเด็กที่ยังไม่เกิด (อยู่ในครรภ์มารดา) อย่างไรก็ตามแนะนำให้จ่ายซะกาตโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตั้งครรภ์อยู่ในช่วงที่ตัวอ่อนได้พัฒนาการมาเป็นทารกซึ่งวิญญาณได้เข้าสู่ร่างกายของเด็กแล้ว

มีรายงานว่าท่านอุษมานได้จ่ายซะกาตุลฟิฏรฺให้กับทารกในครรภ์ของภรรยาท่าน ในขณะที่ศอฮาบะห์หลายท่านแจ้งว่าท่านอุษมานไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเช่นนั้น

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

อาหารประเภทใดที่นำมาจ่ายเป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺ ?

ซะกาต ฟิฏเราะฮฺจ่ายมาจากอาหารหลัก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวสาร ถั่วต่าง ๆ พาสต้า (ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง) เนื้อสัตว์ เป็นต้น ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กำหนด 1 ศออฺจากอาหาร (1 ศออฺ มีปริมาณเท่ากับ 2.76 กิโลกรัม) และบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านเคยให้ซะกาตฟิฏเราะฮฺจากอาหารหลักในท้องถิ่น …

อิหม่ามบุคอรียฺ (1510) และอิหม่ามมุสลิม (985) รายงานว่า อบู ซะอีด อัล-คุดรียฺ (รดิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า “เราเคยจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺในช่วงชีวิตของท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม)ในวันอีดิ้ลฟิตรียฺ 1 ศออฺจากอาหาร” อบู สะอีด อัล-คุดรียฺ กล่าวอีกว่า “และอาหาร (ท้องถิ่น) ของเราเป็น ข้าวบาเล่ย์ องุ่นแห้ง อิทผลัมและเนยแข็ง”

ตามรายงานอื่น ๆ เขากล่าวว่า เมื่อครั้งที่ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) อยู่ท่ามกลางพวกเรา เราเคยจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺในนามตัวแทนของทุก ๆ คน ทั้งคนหนุ่มและคนชรา อิสระชนและทาส 1 ศออฺจากอาหาร 1 ศออฺจากเนยแข็ง 1 ศออฺจากข้าวบาเล่ย์ 1 ศออฺจากอินทผลัม หรือ 1 ศออฺจากองุ่นแห้ง

อุลามาอฺจำนวนหนึ่งอธิบายคำว่า “อาหาร” ในหะดีษนี้หมายถึงข้าวสาลี อุลามาอฺท่านอื่น ๆ มีทรรศนะว่าสิ่งนี้หมายถึงอาหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด หรือสิ่งอื่น ๆ นี่คือทรรศนะที่ถูกต้อง เพราะว่าซะกาตคือวิธีการที่คนรวยช่วยเหลือคนจนและมุสลิมจำเป็นต้องช่วยเหลือด้วยอาหารหลักในประเทศของเขา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าข้าวคืออาหารหลักในดินแดนหะรอม (มักกะฮฺและมะดีนะฮฺ)และมันเป็นอาหารที่ดีและมีคุณค่า ส่วนข้าวบาร์เลย์นั้นย่อมดีกว่าเพราะเป็นสิ่งที่ตัวบทกล่าวถึง เพราะฉะนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีสิ่งใดผิดในการให้ข้าวเป็นซะกาตฟิฎเราะฮฺแต่อย่างใด อ้างจาก (มัจญฺมูอฺ ฟะตาวา ชัยคฺ บิน บาส 14/200)

ชัยคฺ อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (รฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวในมัจญฺมูอ ฟะตาวา (25/68) ว่า “ถ้าคนในพื้นที่รับประทานอาหารหนึ่งซึ่งเป็นอาหารหลัก มันย่อมเป็นที่อนุมัติที่จะจ่ายเป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺอย่างไม่ต้องสงสัย แต่คำถามคือว่าเขาสามารถให้อย่างอื่นแทนอาหารหลักได้หรือไม่? อย่างเช่นถ้าพวกเขารับประทานข้าวกับข้าวโพดเป็นหลัก พวกเขาสามารถให้ข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์ได้หรือไม่? หรือจ่ายได้เพียงแค่ข้าวและข้าวโพดเท่านั้น?

มีทรรศนะที่แตกต่างกันอย่างที่ทราบกันดีในเรื่องนี้ แต่ทรรศนะที่ถูกต้องมากที่สุดคือการให้ในสิ่งที่พวกเขารับประทานเป็นอาหารหลัก แม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ในประเภทต่าง ๆ ที่เอ่ยถึงก็ตาม นี่คือทรรศนะของอุลามาอฺส่วนใหญ่ อย่างเช่น อิหม่าม อัช-ชาฟิอียฺและคนอื่นๆ เนื่องจากหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการบริจาคนั้นถูกกำหนดเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวว่า “การให้อาหารแก่คนยากจนบนความพอดีกับสิ่งที่พวกเจ้าให้อาหารกับครอบครัวของพวกเจ้าเอง”

สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺ 89 ท่านนนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กำหนด ซะกาต ฟิฏเราะฮฺ 1 ศออฺ ของอินทผลัม หรือ 1 ศออฺ ของข้าวบาร์เล่ย์ เนื่องจากมันเป็นอาหารหลักของชาวเมืองมะดีนะฮฺ หากว่าดังกล่าวนี้ไม่ใช่อาหารของพวกเขาแต่เป็นสิ่งอื่น ดังนั้นเขาจะไม่ถูกบังคับให้จ่ายสิ่งอื่นที่ไม่ได้เป็นอาหารหลัก ดังที่อัลลอฮฺมิได้สั่งใช้ในเรื่องนี้เป็นการจ่ายค่าชดเชย(ที่อ้างในสูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 89)

อิบนุ ก็อยยิม กล่าวในหนังสือ “อิอฺลาม อัล-มุวักกิอีน” (3/12) ว่า “นั่นเป็นอาหารหลักที่รับประทานกันเป็นประจำในเมืองมะดีนะฮฺ แต่ถ้าอาหารหลักของคนในพื้นที่นั้นเป็นสิ่งอื่นนอกจากนั้น ดังนั้นพวกเขาจะต้องให้ 1 ศออฺจากอาหารหลัก เช่นอาหารหลักของพวกเขา คือข้าวโพด ข้าวหรือเมล็ดข้าวอื่นๆ ถ้าอาหารหลักของพวกเขาเป็นสิ่งอื่นนอกจากเมล็ดข้าว อย่างเช่น นมสด เนื้อหรือปลา พวกเขาจะต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺของพวกเขาด้วยอาหารหลักเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม นี่คือทรรศนะของผู้รู้ส่วนใหญ่และเป็นทรรศนะที่ถูกต้องเพราะเป้าหมายเของมันจะต้องจัดการความจำเป็นของคนยากจนในวันอีด และจะต้องช่วยเหลือพวกเขาโดยให้อาหารหลักของคนในพื้นที่นั้น ๆ ด้วยเหตุนี้เองเป็นที่ยอมรับที่จะให้แป้งทำอาหาร(ในพื้นที่ที่ใช้เป็นอาหารหลัก)แม้ว่าจะไม่มีหะดีษศอฮี้ยที่เอ่ยถึงก็ตาม”

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน (รฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวใน อัช-ชัรหฺ อัล-มุมติอฺ (6/183) ว่า ทรรศนะที่ถูกต้องคือสิ่งที่เป็นอาหารหลักไม่ว่าจะเป็นเมล็ดข้าว ผลไม้ เนื้อ และอื่น ๆ อันเป็นที่ยอมรับได้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

ซะกาต ฟิฏเราะฮฺ : อาหารสำหรับคนยากจน

:: คำถาม ::
ท่านจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นเงินหรือข้าว? และหากท่านไม่รู้ว่าจะให้กับใคร อนุญาตที่จะจ่ายให้กับมัสญิด คนที่ไม่ใช่มุสลิมไร้ที่พักอาศัย หรือคนที่ไม่ใช่มุสลิมโดยทั่วไปได้หรือไม่?

:: คำตอบ ::
อิบนุ อุมัร (รดิยัลลอฮุ อันฮุมา) กล่าวว่า “ศาสนฑูตของอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ได้จ่ายอินทผลัม 1 ศออฺ หรือข้าวบาร์เลย์ 1 ศออฺ เป็นซะกาตฟิฏเราะฮฺเพราะมันคือหน้าที่สำหรับมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทาสหรืออิสระชน ผู้ชายหรือผู้หญิง หนุ่มสาวหรือคนชรา ซึ่งถูกกำหนดให้จ่ายก่อนการละหมาดอีดิ้ลฟิฏรียฺ” (อัล-บุครอรียฺ 1503)

อบู สะอีด อัล-คุดรียฺ (รดิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า “เราเคยจ่ายซะกาต ฟิฏเราะฮฺ เป็นอาหาร 1 ศออฺ (เท่ากับ 2.7 กิโลกรัม) หรือ ข้าวบาร์เลย์ 1 ศออฺ (ซึ่งเป็นอาหารหลักของพวกเขา) หรืออินทผลัม 1 ศออฺ เนยแข็ง 1 ศออฺ หรือองุ่นแห้ง 1 ศออฺ”

จากดังกล่าวนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ซะกาตจะต้องเป็นอาหารไม่ใช่เงิน ซึ่งเราจะต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในซุนนะฮฺ ดังนั้นจงให้สิ่งใดก็ตาม 1 ศออฺ ที่เป็นอาหารหลักในประเทศของท่าน เช่น ข้าวหรือข้าวสาลี ในนามของตัวท่านเองและสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวของท่าน โดยจะต้องนำไปให้กับผู้ที่ขัดสนเท่านั้น ถ้าท่านไม่พบผู้ใดที่ขัดสนในประเทศของท่านเอง ท่านก็สามารถจ่าย (ซะกาตฟิฏเราะฮฺ) ไปให้กับตัวแทนที่จะนำไปจ่ายในนามของท่านในประเทศอื่น (ที่มีผู้ขัดสนอีกจำนวนมาก) ขออัลลอฮฺทรงช่วยเหลือเราและท่านที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่พระองค์ทรงรักด้วยเถิด

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่?

:: [คำถาม] ::
ฉันอาศัยอยู่ในประเทศอเมริกาและฉันต้องการรู้ว่าเราสามารถซื้ออาหารและร้านขายของชำที่ขายแอลกอฮอล์เช่นสถานีบริการน้ำมัน ซุปเปอร์มาเก็ตและแม้กระทั่งร้านอาหารได้หรือไม่?
ป.ล. ไม่มีร้านค้าหรือสถานีบริการน้ำมันสักแห่งที่ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉันลองหาแล้วและร้านค้าของมุสลิมไม่ได้ขายในสิ่งที่ฉันต้องการ ช่วยชี้แจงเรื่อนี้จากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺให้เราทราบด้วยเถิด …

:: [คำตอบ] ::
ประการแรก มุสลิมจะต้องหลีกห่างจากสถานที่ที่มีการฝ่าฝืนอัลลอฮฺให้มากที่สุด ซึ่งมันเป็นการดีกว่าสำหรับท่านในฐานะมุสลิมที่จะสนับสนุนร้านค้าของมุสลิมที่ไม่ขายสิ่งต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงห้ามและต้องแนะนำกับเจ้าข้องร้านให้จัดหาสิ่งที่ท่านต้องการเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อกับมุสลิมทุกคนรวมถึงตัวท่านเองและเจ้าของร้านด้วย

ประการที่สองสำหรับการซื้อในสิ่งที่ท่านมีความจำเป็นจากร้านที่กล่าวมาข้างต้น(ร้านที่ขายแอลกอฮอล์) ไม่มีความผิดอันใดในเรื่องนี้ อินชาอัลลอฮฺ โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถหาซื้อได้ในร้านค้าอื่น ๆ ที่ไม่ได้ขายของหะรอม(ต้องห้าม)
แต่ท่านจะต้องซึ้อจากร้านค้าแห่งนี้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และยิ่งท่านสามารถหลีกเหลี่ยงที่จะไม่เข้าร้านดังกล่าวนี้ได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า

ประการที่สาม เราต้องจดจำไว้ว่า คนที่ไม่ใช่มุสลิมที่มีจิตใจกว้างจะต้องไม่ขายแอลกอฮอลล์หรือแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ทางศาสนาของพวกเขาอย่างเปิดเผยหากว่าพวกเขาอยู่ในดินแดนของมุสลิมหรืออยู่ภายใต้การปกครองของอิสลาม …

แต่ถ้าพวกเขาอยู่ในประเทศของพวกเขาเองและไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอิสลาม ดังนั้นการปฏิบัติกับพวกเขาจะต้องเป็นไปตามความเชื่อและขนบธรรมเนียมของพวกเขาและพวกเขาเชื่อว่าแอลกอฮอลล์นั้นเป็นที่อนุญาตในแนวทางการดำเนินชีวิตของพวกเขา

อบู อุบัยดฺ รายงานว่า ท่าน อุมัร อิบนุ อัล-ค็อฎฎ็อบ รดิยัลลอฮุ อันฮา ได้ยินว่า ผู้ปกครองของเขาบางคนกำลังเก็บญิซยะฮฺ(ภาษีรัชชูปการ)เหล้าและหมู ดังนั้นพวกเขาจึงขายมันให้กับอะหฺลุซซิมมะฮฺ(ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีรัชชูปการ) อุมัร รดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า อย่างกระทำเช่นนั้น ปล่อยให้พวกเขาขายมัน แต่จงเก็บญิซยะฮฺจากเงินที่ขายมัน …

อบู อุบัยดฺ กล่าวว่า ท่านอุมัรหมายความว่ามุสลิมกำลังเอาเหล้าและหมูจากอะหฺลุซซิมมะฮฺแล้วมุสลิมเอามาจัดการขายมันเอง และนี่คือสิ่งที่ท่านอุมัรได้ห้าม แต่ท่านอนุญาตให้เก็บเป็นญิซยะฮฺจากเงินที่ขายมัน หากว่าพวกซิมมี่(ผู้ที่ต้องจ่ายภาษี)ทำการขายมันเพราะเหล้าและหมูนั้นทำให้พวกเขาอะหฺลุซซิมะฮฺมีรายได้และมีทรัพย์สิน แต่มุสลิมไม่สามารถมีรายได้จากการขายมันได้ อ้างมาจาก อะหฺกาม อะหฺลุซซิมมะฮฺ โดย อิบนุ ก็อยยิม (1/184)

………………………………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net