การพัฒนาผู้ประกอบการ Smart SMEs / Halal Startup E-Commerce

? โอกาสขยายตลาดมาถึงแล้ว!!
ขายสินค้าฮาลาลออนไลน์สะดวก ง่าย และมั่นใจ

✅ ถ้าคุณคือผู้ประกอบการที่กำลังมองหาช่องทางการขาย สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยส่งเสริมการเปิดตลาดฮาลาลสากล ผลักดันสินค้าไปสู่ตลาด e-Commerce ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้วยหลักสูตร : การพัฒนาผู้ประกอบการ Smart SMEs / Halal Startup E-Commerce

✅ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs OTOP วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการฮาลาลที่สนใจ เข้าร่วมโครงการฯ

? สิ่งที่จะได้รับจากโครงการฯ
1️⃣ ช่องทางการขายสู่ตลาด E-Commerce ในประเทศ
2️⃣ ช่องทางการขายสู่ตลาด E-Commerce ในต่างประเทศ
3️⃣ เครือข่ายผู้ประกอบการ E-Commerce ไทย
4️⃣ เรียนรู้เทคนิคการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
5️⃣ โอกาสในการร่วมจับคู่ธุรกิจสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ

✅ เปิดรับสมัครแล้ว #ฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 31 ตุลาคม 2563

✅ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
สมัครเพื่อเข้าร่วมโครงการ คลิก https://forms.gle/fKTp3FxHkDCvoWJV8
สอบถามข้อมูลได้ทาง Facebook Fanpage : https://www.facebook.com/HSC.CU.Pattani

หรือ โทรสอบถามได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทั้ง 3 สำนักงาน
สำนักงานกรุงเทพฯ 02-214-4401
สำนักงานเชียงใหม่ 053-280-815-6
สำนักงานปัตตานี 073-333-604

โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

DHE#DigitalHalalEconomyEcommerce

? การพัฒนาผู้ประกอบการ Smart SMEs / Halal Startup E-Commerce (เชิงลึก)✅ บ่มเพาะเชิงลึก 12 ชั่วโมง…

Posted by ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) on Monday, 14 September 2020

Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล ชานมไข่มุกริมทาง รสชาตจัดจ้านกลมกล่อม หอมชาปักษ์ใต้แท้ ราคาเบา

#BIHAPSTORY 12

ผมเชื่อว่าการเรียนเราจะได้ “ความรู้” และการทำกิจกรรมจะทำให้เราได้ “ประสบการณ์”

ผมชื่อ อบูบักร อาแวนิ ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาอิสลามศึกษา หลักสูตรนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี นอกจากนั้นผมยังทำกิจกรรมเป็นนายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น นายไฟรุส เจ๊ะมะเจ ในการเริ่มธุรกิจชานมไข่มุก

ทำไมต้องรอให้เรียนจบ แล้วค่อยสร้างตัว สร้างฐานะ ผมเชื่อว่าธุรกิจเริ่มได้ตั้งแต่รั้วมหาลัย

ปีที่ 3 ของการเรียนในรั้วมหาลัยผมเลือกที่จะทำธุรกิจไปพร้อมๆกับการเรียนก็เพราะ อยากสร้างอาชีพให้ตัวเองสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ สามารถหารายได้ได้ เผื่อสักวันนึงที่พ่อแม่เราจากไปก็สามารถเป็นเสาหลักให้แก่พี่ๆน้องๆในครอบครัวได้ และคิดว่านอกจากช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็อยากจะช่วยเหลือสังคม เพราะเป็นคนนึงที่คลุกคลีกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเลยเห็นปัญหาของการทำงานคือไม่มีงบสนับสนุนในการทำกิจกรรมของเยาวชน และการได้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนอื่นให้ลุกขึ้นสู้กับปัญหาในชีวิต และความใฝ่ฝันสูงสุดคืออยากจะเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ดั่งอับดุรเราะอฺมาน บิน เอาฟ์ (นักธุรกิจผู้ที่บริจาคมากกว่าครึ่งนึงของทรัพย์สินของเขา) เลยเลือกเริ่มตั้งแต่ยังเรียนอยู่เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ตัวเอง

เริ่มจากสิ่งที่ชอบ ลงมือทำในสิ่งที่ใช่ ชานมไข่มุกในครั้งเยาว์วัย

ผมเชื่อว่าเราทุกคนมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กในสายตาของผู้อื่นก็ตาม ในหลายๆความฝันผมก็มีความฝันหนึ่งนั้นก็คืออยากได้เปิดร้านชานมไข่มุก เนื่องในสมัยเด็กๆเป็นคนที่ชอบชานมไข่มุกมากๆ ทุกๆวัน ยอมที่จะเก็บเงินส่วนค่าขนม 5 บาท 10 บาท เพื่อรอคิวซื้อน้ำชาไข่มุก แต่คนเรามักมีความกลัวความกังวลไม่กล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองหวังไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้ติดตามเพจของพี่ชายคนหนึ่งกำลังเรียนอยู่เช่นกัน ซึ่งเขาเป็นเปิดธุรกิจชานมไข่มุกในมหาลัยที่มาเลเซีย และได้รับความนิยมอย่างมาก เขามักจะแบ่งปันไอเดียและแรงบันดาลในผ่านวีดีโอต่างๆของเพจเขา ซึ่งมีวีดีโอหนึ่งที่ผมประทับใจและทำให้ผมเริ่มที่จะทำธุรกิจนี้ขึ้นมาได้ นั้นก็คือบางส่วนของวีดีโอที่ว่า “ทำในสิ่งที่เรารัก เป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นอยากจะเห็น เพราะเรามีแค่ชีวิตเดียวเท่านั้น”

เชื่อในความดี เชื่อในอัลลอฮฺ ที่มาของ Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล

Bubble Street เป็นการรวมคำระหว่างคำว่า Bubble ที่หมายถึงฟอง เนื่องจากไข่มุก (boba) มีรูปร่างที่คล้ายๆกัน ส่วนคำว่า Street ที่หมายถึงถนน เหมือนกับอาหารขายริมทางที่เขาใช้คำว่า street food เราจึงเอามารวมกันไว้โดยให้ความหมายว่าชานมไข่มุกริมทาง ที่จะมอบความสะดวกสะบายในการจับจ่ายและรวดเร็วเหมาะสำหรับคนเดินทางที่ต้องการหยุดพัก นอกจากนี้เรายังต้องการยกระดับและพัฒนาอาหารประเภท Street Food ให้มีคุณภาพและยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศของ Street Food ที่เป็นเอกลักษณ์และอยู่ร่วมกับการใช้ชีวิตของคนไทยเสมอมา

ส่วนจุดดำๆ 6 จุดที่มีอยู่ในโลโก้นั้นก็คือ เสาหลักความเชื่อของมุสลิมที่ไม่ควรละทิ้งไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร เพราะการเชื่อในอัลลอฮฺ(พระเจ้า) บรรดามลาอีกะฮฺ(เทวทูต) บรรดารอซูล(ศาส ทูต) กีตาบต่างๆ(คัมภีร์จากฝากฟ้า) วันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก) กอฏอ กอดัร(กำหนดสภาวะต่างๆ) จะทำให้เราทำสิ่งที่ดีที่สุด สุจริตที่สุด และไม่ลืมเป้าหมายของการทำธุรกิจคือการได้ช่วยเหลือ และมอบโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยโอกาส ไม่ใช่การเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตนเองและลืมผู้อื่นไว้

Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล คัดตั้งแต่วัตถุดิบ จึงทำให้เราแตกต่าง และโดนใจลูกค้า

เราคัดเลือกและคัดสรรค์วัตถุดิบที่เป็นชาไทย และในเมนูอื่นๆที่ดึงความเป็นสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่นเมนูอัญชัน กระบวนการทำไข่มุกที่มีความนุ่มและหอมหวาน นอกจากเรื่องวัตถุดิบที่เลือกใช้สิ่งที่ฮาลาลแล้วก็คือการบริการที่เป็นกันเองกับลูกค้า จึงทำให้เป็นที่ตอบรับและนิยมในหมู่นักศึกษาและวัยรุ่น และการมอบกำไรบางส่วนกลับคืนสู่ลูกค้าเช่นการสนับสนุนการจัดโครงการหรือกิจกรรมต่างๆชองนักศึกษา

เริ่มที่รั้วมหาลัย แต่ฝันไกลไปทั่วประเทศด้วยระบบแฟรนไชส์

ร้าน Bubble Street จะตั้งอยู่ตรงข้ามประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฟาฏอนี ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และมีการออกบูธตามงานใหญ่ๆ เช่นงาน Halal Expo, world hapex, waqaf festival จะมีการขยายสาขาไปจังหวัดต่างๆ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ key success to the best halal franchise ได้มาอบรมในการจัดการทำเฟรนไชส์ที่มาตรฐานโดยวิทยากรจากสมาคมเฟรนไชส์และไลน์เซ็นต์ และถูกหลักฮาลาลโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในอนาคต Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล มีแผนที่นก็จะเป็นเป็นธุรกิจเฟรนไชส์ขายให้กับทางผู้ที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการขยายตลาดเฟรนไชส์ฮาลาลสู่ตลาดโลก

ติดตามได้ทางเพจ : Bubble Street ชานมไข่มุข
และ Instagram : bubblestreet2018

สุขจากการได้รับว่าสุขแล้ว แต่สุขจากการได้ให้นั้นสุขยิ่งกว่า

อยากให้เราทุกคนลงมือทำสิ่งที่เรารัก ก่อนที่จะสายเกินไป และเราจะไม่มานั่งเสียดายเมื่อวันหนึ่งที่เราแก่ตัวไป

ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนทำด้วยความรัก ผลที่ออกมาจะสวยงามและพอใจ แม้ว่ามันจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เราก็จะมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นสู้แลเดินหน้าต่อไปสู่ผู้ที่เป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นก่อนเสมอ นึกถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคม แน่นอนสักวันความสำเร็จจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพราะเราชื่อว่า การให้คือการได้รับ และแน่แล้วว่าการได้รับนั้นมีความสุข แต่การได้ให้นั้นสุขยิ่งกว่า

………………………………………………………………………………………………………………………
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
โทร 073-333-604 แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTANI
#HALALCHULA

Kami Cocoa & Milo Lava จากรสชาติความชื่นชอบในวัยเด็กสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้สู่ครอบครัว

#BIHAPSSTORYEP11

ความประทับใจในวัยเด็กหลายครั้งที่สามารถกลายมาเป็นอาชีพได้อย่างคาดไม่ถึง  แต่นอกเหนือไปจากความประทับใจนั้น ส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ความประทับใจสามารถต่อยอดออกมาสู่อาชีพจริงได้ สิ่งนั้นก็คือไอเดีย  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เฉกเช่นธุรกิจหนึ่งที่สานต่อความประทับใจในวัยเด็ก ผสมผสานไอเดียการต่อยอดจนกลายมาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เลี้ยงชีพได้จริง ๆ ธุรกิจนั้นจะเป็นอะไร เราจะมาดูไปพร้อม ๆ กันครับ

จากความชอบในเครื่องดื่มสุดโปรดสานต่อเป็นธุรกิจของครอบครัว

คุณอิบรอเฮ็ม อารง ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจ Kami Cocoa & Milo Lava จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจากความชื่นชอบรสชาติของเครื่องดื่ม “ไมโล” มาตั้งแต่เมื่อครั้งคุณอิบรอเฮ็มยังเด็ก โดยในตอนนั้นคุณอิบรอเฮ็มมักจะมีไอเดียในการดื่มเครื่องดื่มแสนอร่อยนี้ในหลากหลายรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นการดื่มในแบบปกติที่ชงกับน้ำร้อน ดื่มในรูปแบบสำเร็จรูปบรรจุกล่อง แม้กระทั้งนำผงไมโลมารับประทานเปล่า ๆ และเริ่มสนุกกับการดัดแปลงโดยนำเอาไมโลซองผงไปรีดด้วยเตารีด  แล้วนำไปแช่แข็งก่อนจะนำไปรับประทาน และเมื่อโตขึ้นก็นำผงไมโลมาทำการเคี่ยวจนเหนียวกลายเป็นซอสไมโล  ราดบนน้ำแข็งไส และหาเครื่องเคียงรสสัมผัสกรอบ ๆ มาโรยเป็นท็อปปิ้งอีกที โดยเมนูนี้เป็นเมนูขึ้นหิ้งที่ไม่ว่าใครก็ตามที่แวะเวียนไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนที่บ้าน ก็จะทำเมนูนี้นำมาเสิร์ฟรับแขกอยู่เสมอ จนผู้มาเยือนทุกคนเอ่ยปากชมถึงความอร่อย กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อทางครอบครัวได้ลองชักชวนให้นำเมนูประจำบ้านเมนูนี้มาทดลองทำเป็นธุรกิจดู  เนื่องจากที่ผ่านมาทางครอบครัวของคุณอิบรอเฮ็มมีธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด้านอาหารอยู่แล้ว และอยากลองหันมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารบ้างจึงเป็นที่มาของธุรกิจ Kami Cocoa & Milo Lava ในที่สุด  

ชื่อแบรนด์ภาษาถิ่นกับความหมายดี ๆที่สื่อถึงการเป็นเพื่อนพวกพ้อง

คำว่า Kami”  เป็นภาษามลายูอันเป็นภาษาหลักของสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแบรนด์นี้ โดยมีความหมายว่า “พวกเรา” หรือ “We” ในภาษาอังกฤษ โดยเป็นร้านที่เน้นการขายตามถนนคนเดินหรือ Walking Street และปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมอยู่ในจังหวัดนราธิวาส

จุดเด่นของแบรนด์คือรสชาติความอร่อยที่ทุกคนคุ้นเคย

จากจุดเริ่มต้นที่ชื่นชอบเครื่องดื่มสุดคลาสสิคนี้  จึงเลือกการทำไมโลลาวาออกมาขาย  โดยจุดเด่นของสินค้านี้คือ “ไมโลลาวา” ที่ผ่านการเคี่ยวจนเหนียว ราดลงบนน้ำแข็งบดแล้วตามด้วยการโรยท็อปปิ้งกว่า 20 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นโอริโอ โอโจ ช็อกชิพ คอนเฟล็ก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้เพลิดเพลินไปกับรสชาติที่คุ้นเคยที่ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ลิ้มรสความอร่อยของเครื่องดื่ม ไมโล มาแล้วทั้งสิ้น แต่ถูกนำเสนอใหม่ในรูปแบบที่ผสานไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะทำให้รสชาติที่คุ้นเคยถูกยกระดับความอร่อยไปอีกขั้นในราคาเพียง 25 บาททุกแก้ว และด้วยความคิดที่อยากกระจายความอร่อยออกไปโดยเริ่มขายตามตลาดนัด ถนนคนเดินและตามงานอีเว้นท์ จากการทดลองสูตรโกโก้ผสมรสชาติผลไม้ต่าง ๆจึงได้ออกมาเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติเข้มข้นและกลมกล่อมภายใต้แนวคิดว่า “ของดีไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป” โดยมีเมนูให้เลือกกว่า 10 เมนู   เพื่อตอบสนองคนรักเครื่องดื่มเสมือนเป็นคนในครอบครัวสมดั่งชื่อแบรนด์ KAMI

คุณค่าที่ส่งต่อคือรสชาติที่ไม่รู้ลืม

แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่นำมาดัดแปลงจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้วในท้องตลาด แต่กระนั้นด้วยไอเดียที่แปลกและแหวกแนวจึงทำให้เกิดเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติแปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อส่งต่อรสชาติสุดพิเศษให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบในเครื่องดื่มไมโลและอยากได้รับประสบการณ์ในการดื่มเครื่องดื่มแก้วโปรดนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึงผู้ที่อาจจะไม่ได้ชื่นชอบเครื่องดื่มไมโลมากนักแต่อยากจะลิ้มลองรสชาติใหม่ เพราะ Kami Cocoa & Milo Lava เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยนั่นเอง

แผนการในอนาคตคือการส่งต่อความอร่อยให้เป็นที่รู้จัก

          ในขณะนี้แบรนด์ Kami Cocoa & Milo Lava อาจจะยังเป็นที่รู้จักแต่เฉพาะในเขตจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น แต่จากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาของ คุณอิบรอเฮ็ม อารง ที่ต้องการผลักดันแบรนด์นี้ให้เป็นที่รู้จักในอนาคต ซึ่งก็น่าจะทำให้ทางแบรนด์ขยายตัวและเป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป

แรงบันดาลใจส่งต่อสู่ธุรกิจอื่น ๆ

การทำงานให้ประสบความสำเร็จมีปัจจัยสำคัญไม่กี่ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความตั้งใจและเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะทำงานนั้นออกมาให้ดี ภายใต้ความคิดที่จะส่งต่อสิ่งดี ๆให้แก่ผู้อื่น และที่สำคัญคือการหมั่นเรียนรู้ พัฒนาและทดลองสิ่งใหม่ ๆตลอดเวลา เพราะแม้ผลิตภัณฑ์เดิมจะเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในท้องตลาด แต่หากนำผลิตภัณฑ์ที่ว่านั้นมาเป็นไอเดียต่อยอดจนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สิ่งนี้แหละที่สามารถเพิ่มราคา เพิ่มมูลค่าจนกลายมาเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพราะความสำเร็จมักจะเคียงคู่มากับผู้ที่กล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ ๆอยู่เสมอ

ช่องทางการติดต่อ

         – ปัจจุบัน Kami cocoa & milo lava มีร้านสาขาแรกในอำเภอเมืองนราธิวาสบริเวณข้างโรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามมียะห์
– เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 093-732-6386
– Facebook: Kami cocoa & milo lava

Halal Biz News: มาเลเซียปรับวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่จากวิสัยทัศน์ 2020 สู่วิสัยทัศน์ 2030 โดยนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียวิจารณ์ว่าวิสัยทัศน์ 2020 มีแต่จะทำให้ประเทศเป็นหนี้มากขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจ้างแรงงานทักษะต่ำ นอกจากนี้ กิจการจำนวนมากยังตกอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติและความเจริญกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่

วิสัยทัศน์ 2020 ของมาเลเซีย คือ วิสัยทัศน์แห่งชาติที่ได้กำหนดอนาคตประเทศมาเลเซียไว้ว่า “มาเลเซียจะต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ.2563 (2020)” โดยมีเป้าหมาย ที่จะทำให้มาเลเซียเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 7 ต่อปีทุกปี และเศรษฐกิจจะเข้มแข็งขึ้นเป็น 8 เท่า แต่เนื่องจากวิสัยทัศน์ 2020 จะครบในอีก 1 ปีข้างหน้า รวมทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคมโลกและการเมืองของมาเลเซียเปลี่ยนไป จึงต้องมีวิสัยทัศน์ 2030 ใหม่ เกิดขึ้น

วิสัยทัศน์ 2030 นี้อยู่บนพื้นฐานของหลักการ “ความมั่งคั่งร่วมกัน (Shared Prosperity)” โดยมีเป้าหมายเศรษฐกิจ 3 ประการ
1. การลดความเหลื่อมล้ำของรายได้
2. การสร้างระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าบนพื้นฐานของความรู้และคุณค่า โดยประชาชนมาเลเซียในทุกระดับมีส่วนร่วม
3. การทำให้มาเลเซีย เป็นระบบเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย

เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ประชาชนมาเลเซีย ทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือชนชั้นใด และไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี ค.ศ. 2030 ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย ได้แก่

1. การปรับโครงสร้างของระบบนิเวศทางธุรกิจและอุตสาหกรรมให้รองรับอนาคตด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

2. การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจดิจิทัลและส่งเสริมอาชีพที่ใช้ทักษะสูง

3. การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงมาเลเซียจากประเทศผู้บริโภคไปเป็น ผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานสากล

4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการปรับปรุงตลาดแรงงานและอัตราค่าจ้าง

5. การช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยบนพื้นฐานของความต้องการ (need-based) และการพัฒนาศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเองให้หลุดพ้นจากความยากจน
6. การลดความแตกต่างของระดับการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างรัฐต่าง ๆ และระหว่างมาเลเซียตะวันออกกับมาเลเซียตะวันตก

7. การพัฒนาต้นทุนและกลไกทางสังคมให้สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างสังคมแห่งความรู้ประชาชนขยันและอดทน และมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน แนวทางเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวจะไม่วัดความสำเร็จจากการเติบโตของ GDP แต่จะวัดจากความยากจนที่ลดลง และการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนมาเลเซียทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

………………………………………………………………….
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง

ที่มา : https://globthailand.com/

“อัลเฆซีราส” ท่าเรือฮาลาลสเปนโอกาสของธุรกิจไทยสู่ตลาดสเปน ยุโรปใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง

Halal Biz News: สถานเอกราชทูต ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน รายงานว่า ท่าเรืออัลเฆซีราส ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและอันดับ 4 ของยุโรป ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาลจาก Halal Food & Quality ซึ่งเป็นสถาบันในเมืองคอร์โดบา ประเทศสปน เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีบริษัท TIBA ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์เป็นผู้ดูและ ยังมี Docks ผู้ให้บริการจุดตรวจชายแดนท่าเรืออัลเฆซีราส และบริษัท Gonza’lez Gaggero ผู้ให้บริการพิธีผ่านแดนก็ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาลเช่นกัน

ท่าเรืออัลเฆซีราส มีเส้นทางการขนส่ง 28 เส้นทาง เชื่อมท่าเรือ 198 แห่งใน 74 ประเทศทั่วโลก เป็นท่าเรือที่มีสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและอันดับ 4 ของยุโรปในปี 2561 มีปริมาณการขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 107 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.5 ล้านตันจากปี 2560 การเดินทางจากท่าเรือของไทยมายังท่าเรืออัลเฆซีราสใช้เวลา 21 วัน จึงเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลของไทย ที่จะพิจารณาท่าเรือแห่งนี้เพื่อขยายตลาดมายังสเปน ยุโรปใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง ถือได้ว่าท่าเรืออัลเฆซีราสจะเป็นประตูที่สำคัญให้แก่สินค้าจากประเทศไทย

…………………………………………………………………………..
ที่มา: http://www.thaibizmadrid.com/?page_id=1892
https://globthailand.com/spain_0030/?fbclid=IwAR0zyD8-sW0arbWONcnui-TmxUcGkT3emJ-J1p5VHgSwrI2VnHv_q7-cYf4
https://ec.europa.eu/transport/themes/infrastructure_en

“Ayam Boy” แฟรนไชส์ไก่ทอดฮาลาล อร่อยถูกหลักอาลาลตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และจำหน่าย

หากสิ่งที่คุณตั้งใจทำออกมาเกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณจะยังคงทำสิ่งนั้นอยู่ไหม ความอดทนและการยืนหยัดทำในสิ่งที่รักและสนใจจนสามารถประสบความสำเร็จได้ต้องนับว่าคน ๆนั้นมีหัวใจที่แกร่งและไม่ยอมแพ้อย่างมากเลยทีเดียว เช่นเดียวกับแฟรนไชส์ไก่ทอดฮาลาลแบรนด์ Ayam Boy ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ต้องบอกเลยว่าแทบรากเลือดเอาการ เหตุผลเดียวที่แบรนด์นี้สามารถยืนหยัดผ่านอุปสรรคมาได้คงต้องยกนิ้วให้กับความไม่ยอมแพ้ของเจ้าของแบรนด์นั่นเอง

จากความชอบในรสชาติไก่ทอดแบรนด์ดังสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจที่ไม่ว่าจะล้มเหลวเพียงใดก็ไม่ท้อ

“คุณซอลาฮุดดีน  ยีแสม” กรรมการผู้จัดการหจก.อะยัมบอย ฮาลาลฟู้ด  ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ไก่ทอดอะยัมบอยคือเจ้าของกิจการที่เราเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ โดยจุดเริ่มต้นมาจากที่คุณซอลาฮุดดีน เป็นนักศึกษาที่ประเทศมาเลเซียและชื่นชอบการทานไก่ทอดเคเอฟซีมาก ๆ เมื่อต้องย้ายกลับมาศึกษาต่อที่ประเทศไทยก็ยังคงชอบทานไก่ทอดอยู่เช่นเดิม ขณะนั้นไก่ทอดเคเอฟซีมาเปิดให้บริการในจังหวัดยะลาแล้ว แต่ด้วยความไม่มั่นใจในเรื่องของฮาลาล คุณซอลาฮุดดีนจึงลงมือศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตถึงวิธีการทำไก่ทอดแต่ผลที่ได้ออกมาไม่สำเร็จอย่างที่คิดไว้จึงตัดสินใจไปเรียนวิธีทอดไก่จากแม่ค้าตามตลาดนัดก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ด้วยความที่อยากทานไก่ทอดคุณซอลาฮุดดีนจึงหันกลับมาลองผิดลองถูกเอาเองที่บ้าน ผลคือหน้าตาออกมาคล้ายคลึงต้นฉบับจึงนำไปทดลองวางจำหน่ายที่หน้าร้านอาหารของคุณแม่ ผลที่ได้รับกลับไม่เป็นไปตามคาดเพราะไก่ทอดถูกวิจารณ์อย่างหนักทำให้คุณซอลาฮุดดีนต้องกลับไปปรับปรุงสูตรลองผิดลองถูกใหม่อีกครั้งจนกระทั่งได้สูตรที่ลงตัวและมีลูกค้าประจำเป็นจำนวนมาก

ต่อมีลูกค้าขอซื้อแฟรนไซส์ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจคำว่าแฟรนไซส์จึงยังไม่ขาย แต่พอมีคนมาถามมาก ๆจึงเริ่มศึกษาการเปิดแฟรนไชส์และได้ทดลองขายแฟรนไซส์ให้กับเจ้าแรก ปรากฏว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะความไม่มีระบบ และไม่มีความรู้จึงทำให้ขาดทุนและมีของเสียจำนวนมากรวมกับถูกเพื่อนทุจริตไปจนขาดทุนย่อยยับ แต่คุณซอลาฮุดดีนยังไม่ยอมแพ้โดยได้ขอยืมเงินจากคุณแม่เป็นทุนดำเนินธุรกิจใหม่อีกครั้ง จากบทเรียนความล้มเหลวในการทำธุรกิจที่ผ่านมาทำให้คุณซอลาฮุดดีนวางระบบการทำงานใหม่ให้เป็นระเบียบและรอบคอบมากขึ้นจนสามารถขายแฟรนไซส์ได้อีกครั้งจนประสบความสำเร็จในสาขาแรกอย่างงดงามกับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดกระทั่งธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี

ชื่อแบรนด์น่ารักแต่สะท้อนตัวตนและจิตวิญญาณของเจ้าของแบรนด์

         อะยัมบอย เป็นคำ 2 คำที่มารวมกันโดยคำว่า “อะยัม” มาจากภาษามาลายูแปลว่าไก่ ส่วน “บอย” มาจากภาษาอังกฤษ เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกันจึงหมายถึง “ไก่หนุ่ม”  แต่ในความหมายที่แท้จริงที่ต้องการสื่อคือ “การเป็นไก่ทอดของคนรุ่นใหม่ที่มีความคล่องแคล่วและทันสมัย”

จุดเด่นนอกจากรสชาติที่โดดเด่นคือความตั้งใจในทุกขั้นตอน

          นอกจากรสชาติที่ได้รับการยอมรับถึงความอร่อยจัดจ้านและมีเมนูให้เลือกหลากหลาย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่อะยัมบอยมีและเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แบรนด์สามารถครองใจลูกค้าได้ก็คือการเป็นแฟรนไซส์ฮาลาลทั้งระบบ ที่เริ่มต้นตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพที่มีการรับรองฮาลาล และพนักงานที่เป็นพี่น้องมุสลิมทั้งหมดทำให้มั่นใจได้ว่าไก่ทอดของอะยัมบอยเป็นเมนูไก่อทดฮาลาลแท้ ๆ รวมถึงการมีระบบจัดส่งที่วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และระบบบริหารจัดการร้านที่ดี ด้วยแนวคิดที่ทางร้านยึดถืออยู่เสมอคือ “การดูแลเอาใจใส่ทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้ไก่ทอดที่มีคุณภาพพร้อมเสิร์ฟถึงมือของลูกค้า”

ไก่ทอดรสชาติอร่อยเพื่อพี่น้องมุสลิมและผู้ที่สนใจ

         ไก่ทอดอะยัมบอยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกอาหารฮาลาลอันเป็นหัวใจหลักของพี่น้องมุสลิมในการเลือกอาหารรับประทาน อีกทั้งยังเป็นเมนูที่ทานง่าย ทานได้ทุกเพศทุกวัยและเหมาะกับการเป็นเมนูของครอบครัวในช่วงวันหยุดเพราะความเข้าใจถึงความต้องการของพี่น้องมุสลิมที่ต้องการอาหารที่ถูกต้องตามหลักของศาสนาเพื่อรับประทานนั่นเอง แม้ว่าไก่ทอดอะยัมบอยจะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับพี่น้องชาวมุสลิมมาก่อน แต่กระนั้นก็ยังเหมาะกับผู้ที่อยากลิ้มลองรสชาดไก่ทอดในแบบไทย ๆเช่นกันครับ

พร้อมเดินหน้านำพาไก่ทอดฮาลาลแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วทั้งประเทศ

         แม้ว่าปัจจุบันไก่ทอดอะยัมบอยจะมีอยู่มากถึง 24 สาขาก็ตามแต่ส่วนใหญ่ทำเลที่ตั้งก็มีอยู่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ทั้งสิ้น เป้าหมายที่ไก่อทดอะยัมบอยวางเอาไว้ก็คือการขยายแฟรนไชส์สาขาออกมาให้เป็นที่รู้จักในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

แรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงผู้ประกอบการ

ไม่มีใครไม่เคยล้มเหลวในการเริ่มต้นทำเรื่องต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการทำธุรกิจที่ไม่ว่าคุณจะวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพียงใด สุดท้ายก็มีโอกาสที่คุณจะพบเจออุปสรรคด้วยกันแทบทั้งสิ้น การสู้ไม่ถอยและพร้อมที่จะลุกทุกครั้งเมื่อล้มคือหัวใจหลักสำคัญของคนที่จะประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากนี้คือการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ตนเองขาดและพัฒนาตนเองให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ เมื่อนั้นความสำเร็จก็จะโบยบินมาสู่คนที่มีหัวใจของนักสู้อยู่เสมอ

ช่องทางติดต่อ

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อไปได้ที่ หจก.อะยัมบอย ฮาลาลฟู้ด Ayamboy Halal Food Part.Ltd
ที่อยู่ 1080/10 ซ. ศรีจารู ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา 95000
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 099-221-2000
– facebook fanpage: Ayamboy Halalfood
– e-mail: [email protected]
www.ayamboyhalalfood.com
– line@: ayamboyhalalfood

…………………………………………………………………………………………………….
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
โทร 073-333-604 แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)

ไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu “สร้างด้วยรัก ให้ด้วยใจ” จากรายได้เสริมครูอัตราจ้าง สู่ธุรกิจหลักส่งมอบโอกาสให้กับคน “สู้สู้” ชีวิต

#BIHAPSSTORYEP 2

หลาย ๆ ครั้งที่เรามักพบว่าการทำธุรกิจบางอย่างมักมีจุดเริ่มต้นสั้น ๆ เพียงแค่ความรู้สึกอยากช่วยเหลือแบ่งปันสิ่งดี ๆ ไปสู่บุคคลอื่น และมักจะเป็นเรื่องประหลาดมากที่ธุรกิจที่ดำเนินกิจการด้วยแนวคิดเช่นนี้ก็มักจะประสบความสำเร็จเป็นที่กล่าวถึงอยู่เสมอ ๆก็คงจะจริงสมกับคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งให้ก็ยิ่งรับ” เสียกระมังที่ทำให้ธุรกิจประเภทนี้ยิ่งเติบโตและแข็งแกร่งรวมถึงได้รับโอกาสดี ๆเข้ามาอยู่ตลอด ซึ่งก็รวมไปถึงธุรกิจที่เรากำลังจะพูดถึงในวันนี้ครับกับ “ไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu” ไก่ปิ้งที่มีแนวคิดเริ่มต้นจากการแบ่งปันนั่นเอง

แค่อยากจะช่วยเหลือนักเรียนอันเป็นที่รักก็กลายมาเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ไม่เล็กอย่างที่คิด

“คุณยาวารียะห์ แวหะยี” หรือคุณยาวา คือเจ้าของธุรกิจที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ครับ โดยปัจจุบันนอกจากคุณยาวาจะเป็นเจ้าของกิจการไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu คุณยาวาก็ยังเป็นคุณครูอัตราจ้างประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี

         จุดเริ่มต้นที่คุณยาวาอยากจะเริ่มทำธุรกิจ เกิดจากนิสัยโดยส่วนตัวเป็นคนชอบทำในสิ่งใหม่ ๆ คุณยาวาจึงชอบลองทำในสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และเมื่อเข้ามาเป็นครูคุณยาวาพบว่าที่โรงเรียนที่สอน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ทางบ้านไม่ค่อยมีฐานะ บางครอบครัวพ่อแม่หย่าร้างหรือเสียชีวิตทำให้เด็กหลาย ๆคนต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง และคุณยาวาเองก็มักจะคอยให้คำปรึกษาแก่เด็ก ๆ ที่เข้ามาปรึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องส่วนตัว นั่นเองทำให้คุณยาวาพบว่าเด็ก ๆ หลายคนต้องทำงานไปด้วยเพื่อส่งตัวเองเรียนหนังสือ ในขณะที่เด็กอีกหลาย ๆ คนต้องทิ้งโอกาสที่จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยแม้ว่าจะมีผลการเรียนที่ดีก็ตาม ซึ่งคุณยาวาเองก็ไม่รู้จะหาวิธีใดที่จะมาช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านี้นอกจากให้คำแนะนำและให้กำลังใจกลับไปเท่านั้น ด้วยความรู้สึกสงสารนักเรียน อยากช่วยเหลือให้พวกเขามีรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัวและเลี้ยงดูตัวเอง คุณยาวาจึงนำธุรกิจไก่ปิ้งนมสดมาแนะนำนักเรียนที่สนใจจะสร้างเป็นอาชีพเสริมเพื่อให้สามารถช่วยเหลือครอบครัวของตัวเองได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ในขณะที่การลงทุนก็ไม่สูงมากจนเกินไปนักเด็กนักเรียนสามารถนำไปขายต่อเพื่อสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี  

         ไก่ปิ้งนมสดที่คุณยาวาขายนั้นได้สูตรมาจากพี่สาว โดยให้พี่สาวเป็นคนหมักและเตรียมไก่ส่วนคุณยาวาจะเป็นคนขายในช่วงเช้าก่อนไปสอนหนังสือ ซึ่งแม้ว่าคุณยาวาจะมีเวลาขายเพียงแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง ในเวลา 06.00 น. – 07.30 น. โดยเลือกหน้าบ้านเป็นทำเลขายเพราะเป็นเส้นทางที่คนสัญจรในตอนเช้า ซึ่งแม้จะเป็นเพียงร้านเล็ก ๆ แต่กลับได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างมาก มีทั้งลูกค้าที่ซื้อไปทานเองหรือนำไปขายต่อเป็นอาชีพเสริมจนกระทั่งคุณยาวาได้ทดลองโพสต์ขายก็มีคนสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเช่นกัน คุณยาวาจึงมองว่าไก่ปิ้งนมสดน่าจะเป็นทางออกที่ดีให้กับคนที่อยากจะนำไปขายเป็นงานเสริมหรืองานหลักเพราะความที่เป็นอาหารที่ขายง่าย ทานง่าย สามารถรับประทานแทนอาหารจานหลักได้ โดยสามารถขายได้ทุกช่วงเวลาและสามารถขายคู่กับอาหารอื่นได้  โดยมีต้นทุนเพียงแค่หลักร้อยเท่านั้นก็สามารถทำให้ผู้ที่สนใจมีอาชีพเสริมได้สบาย ๆ ปัจจุบันก็มีเด็กนักเรียนมาสั่งซื้อไปขายตอนเย็นหลังเลิกเรียนเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เด็กนักเรียนเหล่านี้สมอย่างที่คุณยาวาตั้งใจ

ที่มาของแบรนด์สะท้อนตัวตนอย่างตรงไปตรงมา

ไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu มาจากคำ 2 คำที่มาผสมกันคือคำว่า Ayam ที่แปลว่าไก่ และคำว่า Susu ซึ่งมีความหมายว่านมอันเป็นวัตถุดิบหลักทั้ง 2 ของธุรกิจนี้นั่นเอง เหตุที่ตั้งชื่อนี้ก็เพราะว่าคำทั้ง 2 เป็นภาษามลายูปัตตานีเป็นการสะท้อนตัวตนว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจของคนไทยมุสลิมเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดยตรงนั่นเอง

จุดเด่นที่น่าสนใจของธุรกิจในเรื่องรสชาติคือจุดขายที่ใคร ๆก็ไม่อาจมองข้าม

ไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu มีความน่าสนใจนอกเหนือไปจากการเลือกวัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรว่าเป็นไก่ที่สะอาดและผ่านการรับรองความเป็นฮาลาลแล้วก็อยู่ที่ส่วนประกอบของเครื่องหมักไม่ว่าจะเป็นนมที่จะทำให้ไก่มีเนื้อหนุ่มและยังได้รับความหอมและมีคุณประโยชน์ของสมุนไพรที่นำมาใช้ ผสานกับวิธีการปิ้งไก่ที่แตกต่างไปจากการปิ้งโดยทั่ว ๆไปจึงได้ไก่ปิ้งนมสดที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีกลิ่นหอมชวนให้รับประทาน และได้รสสัมผัสที่ถูกปากและถูกใจแก่ผู้ที่ซื้อหาไปลิ้มลองความอร่อยครับ 

อีกหนึ่งจุดเด่นของธุรกิจไก่ปิ้งนมสดคือเป็นธุรกิจที่ลงทุนน้อยแต่สร้างกำไรอย่างงาม ผู้ที่สนใจสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นสร้างอาชีพเสริมหรือจะทำเป็นอาชีพหลักก็ได้เช่นกัน

ไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu ด้วยคุณภาพที่คุ้มค่าและรสชาติที่ถูกปากจึงเป็นอาหารที่เหมาะกับทุก ๆ คน

เพราะกรรมวิธีการผลิตที่คุณยาวาใส่ใจในทุก ๆ ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกหาวัตถุดิบ กระบวนการหมัก กระบวนการปิ้งที่เป็นสูตรเฉพาะและมีความเป็นฮาลาลตามมาตรฐาน ไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu จึงเหมาะที่จะเป็นอาหารสำหรับทุก ๆคนครับ ไม่ว่าจะเป็นอาหารจานหลักในทุกมื้อหรือจะเป็นอาหารเคียงเสริมในเมนูอื่น ๆ ก็ล้วนเสริมรสชาติความอร่อยให้แก่คุณได้ทั้งสิ้น และไม่เฉพาะแต่พี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบอาหารที่ทำมาจากไก่ซึ่งผลิตมาจากขั้นตอนที่จะทำให้คุณมั่นใจในความสะอาด ความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย 100 %

ส่งต่อเป็นความหวังดีที่อยากให้ผู้อื่นมีรายได้เสริม

สำหรับคุณยาวา เป้าหมายที่วางไว้ของไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu คืออยากให้ไก่ปิ้งนมสดเติบโตไปได้ไกลและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะนั่นอาจเป็นทางออกที่ดีให้กับผู้ที่อยากจะสร้างธุรกิจเล็ก ๆ ของตนเองโดยไม่ต้องมาลองผิดลองถูกตั้งแต่ขั้นตอนแรก หรือต้องลงทุนมากมายเพื่อจะทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมา เพราะไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu เป็นธุรกิจที่ลงทุนน้อยแต่ได้กำไรดีนั่นเอง

ส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่เจ้าของธุรกิจอื่น ๆ

ธุรกิจที่เริ่มต้นจากจิตใจที่มุ่งมั่นและศรัทธาและดำเนินธุรกิจด้วยความบริสุทธิ์ใจจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมา จงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองกระทำ และทำธุรกิจบนพื้นฐานของความถูกต้องแล้วสิ่งที่ทำจะประสบความสำเร็จอย่างที่มุ่งหวัง 

ช่องทางติดต่อ

ไก่ปิ้งนมสด Ayam Susu มีสำนักงานประจำอยู่ที่ 30/4 ม.9ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี Facebook: ไก่ปิ้งนมสดอร่อยเริ่ด
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 093-6467793 ,092-9459481

……………………………………………………………………………………………………
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
โทร 073-333-604 แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTANI
#HALALCHULA

ร้านดีอาลีมาร์เก็ต : ร้านค้าสินค้าท้องถิ่นเพื่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

#BIHAPSSTORYEP 3

ธุรกิจที่มุ่งหวังความสำเร็จมักจะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ  การเป็นธุรกิจที่มีแนวคิดของการ “ทำเพื่อคนอื่น” ยิ่งธุรกิจใดที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนได้มาก หรือช่วยแก้ปัญหาให้กับคนหมู่มาก ธุรกิจนั้นก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ แม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก แต่กลับมีแนวคิดของการแบ่งปันและความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นโดยเฉพาะคนในท้องถิ่น แม้ความสำเร็จอาจจะยังไม่ได้สร้างมูลค่ามากมายให้หลายคนต้องกล่าวขาน แต่ธุรกิจนี้กับเติบโตและก้าวเดินได้อย่างมั่นคง

จากพนักงานประจำสู่เจ้าของธุรกิจผลิตปลาส้มจนนำไปสู่การเปิดหน้าร้านสินค้าท้องถิ่น “ดีอาลีมาร์เก็ต”

คุณมาเรียม ดายี คือเจ้าของธรกิจที่เราได้เกริ่นนำไว้ในตอนแรก ปัจจุบันคุณมาเรียมเป็นเจ้าของกิจการและผู้ผลิตอาหารแปรรูปปลาส้ม และร้านค้าดีอาลีมาร์เก็ตโดยก่อนที่คุณมาเรียมจะมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง  คุณมาเรียมเองก็เป็นพนักงานประจำหรือเรียกง่าย ๆ ว่ามนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง แต่ด้วยพื้นฐานนิสัยตั้งแต่เด็ก ๆ ที่มักจะมองหาโอกาสให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาในการทำธุรกิจ กระทั่งคุณมาเรียมเริ่มมองหาโอกาสให้กับตัวเองอย่างจริงจังในตอนที่คุณมาเรียมยังคงเป็นพนักงานกินเงินเดือนอยู่นั่นเอง
หลังจากมองหาโอกาสให้ตัวเองอยู่ระยะหนึ่ง คุณมาเรียมเริ่มมองหาจากสิ่งต่างๆที่อยู่ใกล้ๆตัว เริ่มมองถึงสิ่งที่ชุมชนของตนมี นั่นก็คือ “ปลาส้ม” อันเป็นจุดแข็งที่ชุมชนของคุณมาเรียม จากนั้นคุณมาเรียมจึงเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าและเห็นไอเดียที่สามารถต่อยอด และเพิ่มมูลค่าของปลาส้มนี้ได้จึงได้ผลิตปลาส้มเป็นแบรนด์ของตัวเอง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก
เมื่อมีผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างที่ต้องการแล้วคุณมาเรียมจึงมองหาช่องทางการขายและท้ายที่สุดจึงพัฒนากลายมาเป็นการเปิดเป็นหน้าร้านของตนเองเพื่อสะดวกต่อการจำหน่ายและขนส่ง จึงกลายมาเป็นร้านของฝากที่มีชื่อว่า “ดีอาลีมาร์เก็ต” ที่รวบรวมสินค้าในท้องถิ่นมาจำหน่าย

ชื่อแบรนด์มีที่มานอกจากความหมายดี ๆตามชื่อยังมีที่มาจากสายใยของ “ครอบครัว”

ชื่อร้าน ดีอาลีมาร์เก็ต เกิดจากการนำชื่อนามสกุลของครอบครัวมาตั้งโดยมีคำที่เพิ่มเข้ามาคือคำว่า “ดี” ที่มีความหมายได้ 2 แบบ ความหมายแรกคือ โชคดีหรือเรื่องดี ๆ และความหมายที่ 2 ตามภาษามลายูมีความหมายว่า “ที่นี้” เมื่อรวมความหมายทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงมีความหมายได้ว่า “ที่นี่ดีอาลี ร้านค้าต้องการส่งต่อสิ่งดี ๆให้กับผู้อื่นต่อไป” นี่ก็คือความหมายดี ๆที่ซ่อนอยู่ในชื่อของร้าน

ดีอาลีมาร์เก็ต ร้านค้าดี เพื่อพี่น้องในชุมชนอยู่ดี มีรายได้

ความตั้งใจที่แท้จริงของการเปิดร้าน ดีอาลีมาร์เก็ต ไม่ได้มีเพียงแค่การนำสินค้าจากชุมชนมาขายเพื่อแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความตั้งใจที่แท้จริงของคุณมาเรียมก็คือความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีรายได้  เพราะคุณมาเรียมเองก็เป็นเจ้าของกิจการเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย สินค้าจึงมีความเข้าใจถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการด้วยกันต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตแล้วไม่รู้จะนำไปวางขายที่ไหน จะสร้างคอนเทนต์อย่างไรให้ดึงดูดความสนใจของลูกค้า รวมถึงผลิตแล้วแต่ไม่รู้ว่ากลุ่มลูกค้าที่แท้จริงคือใคร คุณมาเรียมจึงนำปัญหาเหล่านี้ที่ผู้ประกอบการในชุมชนต้องประสบมาช่วยกันสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและชุมชน

สินค้าชุมชนดีแล้ว ช่องทางการจัดจำหน่ายต้องดีด้วย

สิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของร้านดีอาลีมาร์เก็ตคือ “คุณภาพของสินค้าที่วางจำหน่ายในร้าน”  โดยทางร้านจะทำการคัดเลือกสินค้าทุกชิ้นก่อนวางจำหน่ายเสมอ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้าที่อยู่ในร้านเป็นของที่ดีและมีคุณภาพจริง ๆ เมื่อลูกค้าได้รับสินค้าไปแล้วต้องไม่รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเงินที่ต้องจ่ายไปและต้องไม่รู้สึกผิดหวังกับตัวของสินค้า เพราะสิ่งที่ดีอาลีมาร์เก็ตใส่ใจไม่ได้อยู่แค่การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและชุมชนเท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในร้านด้วยเช่นกัน

สินค้าบอกเล่าความเป็นมา ชุมชนเล่าภูมิปัญา ที่มีคุณค่าควรสืบสานและบอกต่อ

ทุก ๆชุมชนย่อมมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบของสินค้าพื้นเมืองของคนในชุมชน ดังนั้น สินค้าภายในร้านดีอาลีมาร์เก็ตทุกชิ้นจึงเป็นสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมกันมานาน จึงเหมาะอย่างมากที่จะเป็นของฝากแทนใจหรือของใช้ของที่ระลึกแก่คนที่สนใจวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านและรวมไปถึงคนทั่ว ๆไปที่อยากจะหาซื้อของดีมีคุณภาพในราคาที่ไม่แพงเพื่อไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

ดีอาลีมาร์เก็ต ร้านค้าที่เกิดจากใจกับเป้าหมายที่ต้องการให้คนภายนอกได้รู้จักกับสินค้าประจำท้องถิ่น

         แม้ว่าการเปิดร้านดีอาลีมาร์เก็ตจะเกิดขึ้นเพราะอย่างช่วยเหลือผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในท้องถิ่นอีกทั้งยังต้องการสร้างมูลค่าให้แก่ทั้งชุมชนและสินค้าต่าง ๆ แต่เป้าหมายต่อไปที่คุณมาเรียมวางเอาไว้ คือการทำให้สินค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนแพร่หลายออกไปเป็นที่รู้จักแก่สังคมภายนอกให้มากขึ้น นี่คือเป้าหมายต่อไปที่คุณมาเรียมต้องการจะทำนั่นเอง

ดีอาลีมาร์เก็ตกับแรงบันดาลใจที่อยากส่งต่อไปถึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

“Never give up on something you really want. However impossible thing my seem, There’s always a way” {จงอย่ายอมแพ้ที่จะทำตามความฝัน แม้ว่ามันดูยากเกินจะเป็นความจริงได้แต่ทุกอย่างมีหนทาง และความเป็นไปได้ด้วยกันทั้งนั้น} นี่ก็คือคำคมดี ๆ ที่คุณมาเรียมยึดถือและต้องการส่งต่อไปถึงเจ้าของกิจการทุกท่าน

ช่องทางติดต่อ

– Facebook ดีอาลีมาร์เก็ต
– Instagram ดีอาลีมาร์เก็ต
– Line @deealee073
– Lazada deealee Market

…………………………………………………………………………………………………………….
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
โทร 073-333-604 แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTANI
#HALALCHULA

“ตำนานกล้วยทอดมายอ” ธุรกิจสานฝันที่สร้างโอกาสสู่ความสำเร็จ

#BIHAPSSTORYEP 4

โอกาสไม่ใช่สิ่งที่จะแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนทุกคนได้บ่อย ๆ หลายครั้งที่โอกาสได้แวะเวียนมาถึงตัวแล้วแต่คนผู้นั้นกลับไม่สามารถจะคว้าเอาโอกาสทองนั้นไว้ได้และปล่อยให้สิ่งนั้นหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย และโอกาสนั้นเมื่อหลุดลอยไปแล้วก้ไม่รู้ว่าอีกนานเพียงใดจึงจะย้อนกลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจหนึ่งที่เรากำลังจะพูดถึงกัน นั่นก็เพราะการรู้จักคว้าโอกาสไม่ให้มันหลุดลอยและต่อยอดพัฒนาสิ่งนั้นจนสามารถสร้างความสำเร็จขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ ธุรกิจที่กล่าวถึงนั้นก็คือ “ตำนานกล้วยทอดมายอ”

โอกาสที่คว้าไว้คือที่มาของการสร้างฝันจากการทำธุรกิจ

“คุณวันรุสลัน มะรอเด็ง” ได้เล่าถึงความเป็นมาในการขายกล้วยทอดโดยเริ่มต้นจากการที่คุณวันรุสลันได้ไปทำงานเป็นพ่อครัวที่ร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียอยู่นานหลายปี จึงทำให้มีโอกาสได้เห็นคนมาเลเซียทำกล้วยทอดขาย ซึ่งรสชาติของกล้วยทอดนั้นมีความอร่อยและน่าสนใจ คุณวันรุสลันจึงมีความคิดที่จะกลับมาทำกล้วยทอดขายที่บ้านในอนาคต จนกระทั่งเมื่อคุณวันรุสลันมีความคิดที่จะกลับมาลงหลักปักฐานที่ประเทศไทยตามเดิม  คุณวันรุสลันจำได้ว่าครอบครัวของตนมีสูตรต้นตำรับการทำกล้วยทอดที่สืบทอดกันมาหลายรุ่นจึงได้ลองนำสิ่งที่เป็นต้นตำรับของครอบครัวมาปรับปรุงสูตรใหม่โดยลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 5 เดือน จนในที่สุดได้กลายมาเป็นสูตรเฉพาะของร้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

คุณวันรุสลันยังเล่าต่อไปอีกว่า “กล้วยทอดที่คุณวันรุสลันทำออกมานั้นสามารถสร้างฝันของเขาให้เป็นจริงได้” เพราะดั้งเดิมครอบครัวของคุณวันรุสลันมีฐานะที่ค่อนข้างลำบากทำให้มีความรู้เพียงแค่พอจะอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่เมื่อคุณวันรุสลันค้นพบโอกาสในการทำกล้วยทอดออกมาวางขาย คุณวันรุสลันจึงไม่รีรอที่จะลงมือทำโดยพัฒนาสูตรของครอบครัวจนได้ออกมาเป็นกล้วยทอดสูตรที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ ขณะเดียวกันแม้สินค้าของคุณวันรุสลันจะเริ่มติดตลาดและได้รับความนิยมมากขึ้น คุณวันรุสลันก็ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาและปรับปรุงสินค้าของตนเองในทุก ๆด้านไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ, คุณค่า, รสชาด, ความสะอาดและถูกหลักอนามัย อีกทั้งแนวคิดของคุณวันรุสลันที่มองว่าลูกค้าทุกท่านเสมือนธนาคารหรือสถาบันการเงินของนักธุรกิจทุก ๆคนที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้

ที่สุดของความภาคภูมิใจ กล้วยทอดมายอ เป็นเครื่องว่างเพื่อถวายแด่ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

แรกเริ่มเดิมที “ตำนานกล้วยทอดมายอ” ไม่ใช่ชื่อแบรนด์ของคุณวันรุสลันมาแต่แรก แต่หากใช้ชื่อว่า “กล้วยทอดมายอ” เพราะความที่ร้านตั้งอยู่ที่อำเภอมายอ แต่หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ Key Success To The Best Halal Franchise กับทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยในช่วงที่ทางโครงการได้จัดทำคีออส (Kiosk) รถเข็นให้กับผู้ประกอบการ และเมื่อคุณวันรุสลินได้อบรมในหัวข้อ “Content Marketing & Storytelling” จึงมีความคิดที่จะรีแบรนดิ้งโดยการตั้งชื่อแบรนด์ใหม่กลายมาเป็น “ตำนานกล้วยทอดมายอ” แทน โดยชื่อแบรนด์นี้มีที่มาจากเมื่อปีพ.ศ. 2561 ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับร้านกล้วยทอดของคุณวันรุสลันเมื่อทางร้านได้รับเกียรติให้จัดทำกล้วยทอดเป็นเครื่องว่างเพื่อถวายแด่ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยได้รับการติดต่อมาจากเจ้าของโรงแรม  CS ปัตตานีที่เคยทานกล้วยทอดของที่ร้านมาก่อนผ่านทางเพื่อนที่เป็นตำรวจที่อยู่ที่อำเภอมายอโดยติดต่อเพื่อที่จะให้มาทอดกล้วยทอดถวายพระองค์ท่านตามวันและเวลาที่พระองค์เสด็จมาประทับที่โรงแรม เหตุการณ์ในวันนั้นยังความปลาบปลื้มให้แก่คุณวันรุสลันเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การรีแบรนดิ้งมาใช้ชื่อ “ตำนานกล้วยทอดมายอ” ในที่สุด

จุดเด่นอยู่ที่รสชาติความอร่อยจากการใส่ใจในคุณภาพของสินค้า

จุดเด่นที่ทำให้ “ตำนานกล้วยทอดมายอ” ได้รับความนิยมก็คือความอร่อยที่ลูกค้าบอกต่อ ๆกันแบบปากต่อปาก จนทำให้ลูกค้าหรือผู้ที่สัญจรผ่านไปผ่านมาแวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะขาประจำที่เคยทานที่ต้องแวะมาอุดหนุนทุกครั้งหากต้องผ่านเส้นทางที่ตั้งร้าน นอกจากนี้ตำนานกล้วยทอดมายอยังมีสินค้าอื่น ๆไม่ว่าจะเป็น มันทอด ตาแปทอด และจำปาดะทอด (เป็นสินค้าตามฤดูกาล) ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อหา แต่ทีเด็ดของร้านนี้คือเมนูกล้วยทอดที่ใช้กล้วยหินและกล้วยนันยางที่ผ่านการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพนำไปชุบแป้งที่เป็นสูตรเด็ดของทางร้านแล้วนำไปทอดจนได้กล้วยทอดที่มีรสชาดอร่อยถูกปากลูกค้าในที่สุดโดยเฉพาะกล้วยหิน เพราะเนื้อที่หวานแบบพอดี จึงให้รสชาดที่อร่อยและมีความพิเศษมากกว่ากล้วยชนิดอื่น ๆ 

ตำนานกล้วยทอดมายอคือกล้วยทอดที่เหมาะสำหรับทุก ๆคน

กล้วยทอดคือของว่างที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายพื้นที่ ตำนานกล้วยทอดมายอก็เช่นกันที่ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากคนในพื้นที่เท่านั้น แต่หากยังได้รับความนิยมไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย แม้ว่าตำนานกล้วยทอดมายอจะมีกรรมวิธีการผลิตที่ยึดหลักของฮาลาลแต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะสำหรับพี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้น เพราะด้วยคุณภาพการผลิตที่คุณวันรุสลันใส่ใจตั้งแต่กระบวนการเลือกวัตถุดิบหลัก ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย และถูกหลักอนามัยผสานเข้ากับสูตรลับการทำแป้งที่อร่อยเด็ดจนต้องบอกต่อ ตำนานกล้วยทอดมายอจึงเหมาะจะเป็นอาหารว่างจานเด็ดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานกล้วยทอดครับ

ต่อยอดขยายโอกาสคือก้าวย่างต่อไปของตำนานกล้วยทอดมายอ

คุณวันรุสลันตั้งใจที่จะขยายแบรนด์ตำนานกล้วยทอดมายอออกไปให้เป็นที่รู้จักผ่านการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยมีความคิดที่จะทำให้แฟรนไชส์กล้วยทอดมายอเป็นแบรนด์ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ผู้สนใจร่วมลงทุนตามสโลแกน “กล้วยทอดที่สร้างฝันให้เป็นจริง” พร้อมเสิร์ฟถึงมือคุณแล้ว

ส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ๆ

โอกาสไม่ได้มีเข้ามาบ่อย ๆ คุณต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองเพื่อที่จะรอรับโอกาสที่จะแวะเวียนเข้ามาหาคุณให้พร้อม และเมื่อโอกาสเหล่านั้นมาถึงก็จงคว้ามันเอาไว้ให้มั่น ทำโฑอกาสให้เป็นจริงและพัฒนาโอกาสจนนำไปสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต เพราะคุณวันรุสลันเองก็อยากให้ทุกคนประสบความสำเร็จเหมือนที่ตนเองประสบความสำเร็จไปด้วยกันและอยากให้ผู้ที่สนใจมาร่วมสร้างแฟรนไชส์ไปด้วยกัน

ช่องทางติดต่อ

ร้านกล้วยทอดมายอตั้งอยู่ฝั่งขวามือติดกับอำเภอมายอ
Facebook: วันรุสลัน มะรอเด็ง
คุณวันรุสลัน มะรอเด็ง: เจ้าของธุรกิจเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 089-298-9883

……………………………………………………………………………………………………..
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
โทร 073-333-604 แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTAN
I#HALALCHULA

มัตอัม-มัรฮาบัน : จากประสบการณ์กว่า 30 ปีในต่างแดนจนกลายมาเป็นร้านอาหารอาหรับแห่งแรกในเมืองปัตตานี

#BIHAPSSTORYEP 5

อาหารอาหรับรสชาติดั้งเดิมเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารที่หาทานได้ยากมากในเมืองไทย เนื่องด้วย ไม่มีใครรู้จักเคล็ดลับกรรมวิธีการปรุงรสชาติตามต้นตำรับ รวมถึงไม่มีใครเคยรู้จักรสชาติที่แท้จริงของอาหารตำรับนี้มาก่อน การจะหาร้านใดที่ทำได้ใกล้เคียงกับต้นตำรับนั้นบอกได้เลยว่า “เป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว”
แต่กระนั้น ณ จังหวัดปัตตานีกลับมีร้านอาหารอาหรับที่บอกว่าตนเองคือร้านอาหารอาหรับสูตรดั้งเดิมร้านแรกในประเทศไทยเปิดดำเนินการขึ้น และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วหลังการเปิดเพียงไม่กี่ปี ร้านนี้มีชื่อว่า “มัตอัม-มัรฮาบัน”

สูตรเด็ดของทางร้านคือประสบการณ์จากต่างแดนกว่า 30 ปี

คุณมูนา กะลูแป CEO ของร้านมัตอัม-มัรฮาบันได้เล่าเรื่องราวต้นกำเนิดของร้านเอาไว้ว่า มัตอัม-มัรฮาบัน เป็นร้านอาหารอาหรับร้านแรกในเมืองปัตตานี ซึ่งคุณมูนาได้สืบทอดรสชาติอาหารมาจากคุณแม่ โดยก่อนหน้านี้ครอบครัวอาศัยอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยทำอาชีพรับเหมาทำอาหารของคณะที่มาจากมาเลเซียและชาวไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ และไปทำอุมเราะห์ขณะเดียวกันก็มีโอกาสไปทานข้าวมันอาหรับ หรือที่เรียกว่าข้าวบีรยานี ร้านดังใกล้ ๆ กับมัสยิดมาดีนะห์อยู่บ่อยครั้ง คุณแม่จึงลองกลับมาทำเองโดยเรียนรู้ปรับปรุงรสชาติจนได้รสชาติที่เหมือนกับต้นฉบับซึ่งได้รับการการันตีจากเพื่อนฝูงรวมถึงชาวอาหรับเองในความอร่อยของข้าวบีรยานี แต่ด้วยเหตุความจำเป็นบางอย่างครอบครัวต้องย้ายกลับมาเมืองไทย และประกอบอาชีพส่วนตัว ส่วนตัวคุณมูนาเองก็เป็นครูอยู่โรงเรียนเอกชนแห่งในจังหวัดปัตตานี
คุณมูนาทำงานอยู่ที่โรงเรียนเอกชน 1 ปีรู้สึกว่างานที่ทำไม่ค่อยอิสระประกอบกับเริ่มมีความคิดว่าอยากเปิดร้านอาหารอาหรับ และจากที่ผ่านมาที่เคยทานข้าวมันอาหรับในประเทศไทยยังไม่เคยเจอรสชาติที่ถูกใจเหมือนกับตอนที่อยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย คุณมูนาจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่และลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านอาหารเต็มตัวเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ในเมืองปัตตานีโดยใช้ชื่อว่า “มัตอัม-มัรฮาบัน”

ชื่อร้านกับความหมายดี ๆที่ดูอบอุ่นและเป็นกันเอง

คำว่ามัตอัม-มัรฮาบัน  เป็นภาษาอาหรับสองคำมารวมกันโดยคำว่า “มัตอัม” หมายถึงร้านอาหาร (Restaurant) และคำว่า “มัรฮาบัน” หมายถึง ยินดีต้อนรับ (Welcome) ซึ่งเมื่อรวมคำทั้งสองเข้าด้วยกันแล้วจึงหมายถึง “ร้านอาหารที่พร้อมต้อนรับทุกท่านที่มาเยือน”

ตำนานความอร่อย รสชาติจากประสบการณ์ยาวนานร่วม 30 ปี

จุดเด่นของอาหารในร้าน มัตอัม-มัรฮาบัน คงหนีไม่พ้นในเรื่องรสชาติที่มีความเป็นอาหารอาหรับแท้ ๆจากประสบการณ์ในการคลุกคลีในต่างแดนกว่า 30 ปีที่คุ้นเคยกับรสชาติของอาหารอาหรับแท้ ๆและความเชี่ยวชาญในการปรุงรสเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารอาหรับสูตรดั้งเดิมเหมือนกับเดินทางไปทานเองถึงดินแดนต้นตำรับ
นอกเหนือจากรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทางร้านยังใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนสำคัญในการคัดเลือกวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นข้าวที่นำมาทำเป็นข้าวบีรยานี รวมไปถึงกรรมวิธีในการประกอบอาหารและการปรุงที่ใช้วิธีการของทางต้นตำรับทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้รสชาติดั้งเดิมให้มากที่สุด ด้วยความใส่ใจในทุกจานที่ทำและความสดใหม่ที่ทำกันวันต่อวันซึ่งการันตีได้จากลูกค้าที่มาทานซ้ำเป็นประจำ
เมนูขึ้นชื่อของทางร้านคือ ข้าวมันอาหรับหรือข้าวบีรยานีแม้ไม่ใช่เมนูอาหารใหม่ในพื้นที่แต่หลังจากที่มัตอัม-มัรฮาบัน ได้นำเมนูข้าวบีรยานีมาเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน จึงทำให้เมนูนี้เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่ถึงปี มีผู้คนจำนวนมากมาสัมผัสรสชาติอาหารอาหรับสูตรต้นตำรับนี่คือสิ่งที่แสดงถึงความนิยมในรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของทางร้านได้เป็นอย่างดี

อาหารตำรับอาหรับของร้านมัตอัม-มัรฮาบันกับคุณค่าที่ทุกคนต้องลอง

อาหารอาหรับสูตรดั้งเดิมของทางร้านไม่ได้จำกัดเฉพาะลูกค้าในพื้นที่หรือกลุ่มลูกค้าที่เป็นพี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับผู้ที่นิยมชมชอบในรสชาติอาหารต้นตำรับในสไตล์อาหรับแท้ ๆ หรือผู้ที่อยากเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางด้านอาหาร หากคุณอยากรู้จักรสชาติดั้งเดิมแท้ ๆ อาหารอาหรับของร้าน ร้านมัตอัม-มัรฮาบัน คือคำตอบที่คุณต้องไปลองลิ้มชิมรสด้วยตนเอง นอกจากนี้ด้วยความใส่ใจในขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐานฮาลาล คุณจึงมั่นใจได้ว่า อาหารของทางร้านจะถูกต้องตามหลักเกณฑ์และปลอดจากสารปนเปื้อนที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ

เรียนรู้จากความผิดพลาด ศึกษาหาความรู้เพื่อต่อยอดความสำเร็จทางธุรกิจ

แม้ร้านมัตอัม-มัรฮาบันจะประสบความสำเร็จในตัวจังหวัดปัตตานี แต่เมื่อเปิดสาขาที่สองที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จากความไม่พร้อมในการบริหารร้านและขาดองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการบริหารสาขา จึงทำให้สาขาที่ 2 ต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับสมัครผู้ประกอบการเพื่ออบรมคอร์สแฟรนไชส์ฮาลาลคุณมูนาจึงสมัครเข้าร่วมโครงการและมีแพลนที่จะขยายสาขาในรูปแบบของเฟรนไชส์ร้านอาหารอาหรับกระจายไปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศในปลายปีนี้

แรงบันดาลใจส่งต่อถึงผู้ประกอบการ

แม้ว่าธุรกิจจะเคยประสบความสำเร็จมาก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะการันตีความสำเร็จต่อไปได้ในอนาคต แม้ว่าจะโบยบินสูงเพียงใดก็มีวันที่จะปีกหักและร่วงถลาลงสู่ดินได้เช่นกัน การทำธุรกิจจึงสำคัญที่คุณต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวและหาความรู้มาพัฒนาต่อยอดตนเองแล้วลุกขึ้นมาใหม่ให้ได้ นั่นแหละคือหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ

ช่องทางติดต่อ

สำหรับใครที่สนใจจะลิ้มลองความกลมกล่อมนี้ มัตอัม-มัรฮาบัน ตั้งอยู่ 181/4 ต.จะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี ไม่ไกลจากมัสยิดกลางปัตตานี ร้านเปิดให้บริการทุกวันเวลาตั้งแต่เวลา  11.00 น. -20.30 น.ยกเว้นวันอังคาร

   นอกจากนี้ทางร้านยังมีบริการจัดอาหารกล่อง เบรกอาหารว่าง รับจัดบุฟเฟต์ จัดงานเลี้ยงนอกสถานที่ งานอากีเกาะฮ์ หรืองานเทศกาลต่างๆ
สามารถโทรสอบถามได้ที่ 0936692932 / 0833989433
FB page:https://www.fb.com/MarhabanPatani/
Web: http://marhabanrestaurant.blogspot.com
Line@: Marhabanrestaurant

……………………………………………………………………………………………………………..
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
โทร 073-333-604 แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTANI
#HALALCHULA