“ทำไมมุสลิมจึงมีความยินดีกับการเชือดสัตว์?”

:: [คำถาม] ::
ทำไมมุสลิมจึงยินดีในขณะที่เชือดสัตว์และหลั่งเลือดของมันออกมาในช่วงการประกอบพิธีฮัจญ์ของพวกเขา เนื้อและเลือดของมันนั้นจะทำให้อัลลอฮฺพึงพอพระทัยกระนั้นหรือ และท่านนบีคนใดเป็นผู้ที่ถวายพลีตัวของเขาเองให้กับอัลลอฮฺ ได้โปรดอย่ามองว่าคำถามของฉันเป็นการโจมตีท่าน เพราะฉันต้องการเพียงทำความเข้าใจเท่านั้น

:: [คำตอบ] ::
ขอบคุณสำหรับคำถามของคุณ มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ฉันขออธิบายให้เข้าใจว่าการเชือดสัตว์พลีเป็นการทำให้การประกอบพิธีฮัจญ์นั้นมีความสมบูรณ์ ถือว่าเป็นเพียงการเฉลิมฉลองที่ได้อุทิศตนเองได้อย่างครอบถ้วนสมบูรณ์ในการประกอบพิธีฮัจญ์ รวมไปถึงการให้อาหารแก่คนยากจนเพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงความปลื้มปิติที่เกิดขึ้นทั่วทั่งโลกเนื่องในเทศกาลวันอีด (วันหยุด)

มิใช่มีแต่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ แต่มุสลิมทุกคนในทุกมุมโลกได้ปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน

:: วัตถุประสงค์ของพิธีกรรม ::
คำถามในเรื่องการเชือดสัตว์พลีและอะไรคือสัญลักษณ์ที่แท้จริงของเรื่องนี้นั้นคือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังคำตอบของฉันที่จะตอบให้กับคุณ ในการเชือดสัตว์พลีนั้น สังคมมุสลิมจะเก็บรวบรวมการบริจาคที่ครบกำหนดเวลาให้กับพี่น้องของเราและเติมเต็มหน้าที่รับผิดชอบที่มีต่อสังคม

การบริจาคนั้นจะถูกจ่ายในรูปแบบของความรัก ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และความห่วงใยใส่ใจคนขัดสน และยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น

ในช่วงวันอีด สมาชิกในสังคมมุสลิมควรจะได้รับกุศลทานหรือซะกาตที่เก็บรวบรวมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เป็นช่วงเวลาที่อัลลอฮฺทรงมอบให้อย่างมิอาจนับคำนวณได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาผู้ที่มีความห่วงใยในความขาดแคลนของพี่น้องมุสลิมของพวกเขา

ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเชือดหรือบริจาค สมควรที่พวกเขาจะได้รับการแจกจ่ายจากพี่น้องผู้อุปถัมภ์

คนรวยและคนจนล้วนมีความสุขกับการกำหนดจากอัลลอฮฺในรูปแบบต่าง ๆ อันมากมาย ดังนั้น วันอีดจึงควรเป็นวันแห่งการเก็บเกี่ยวความดีงาม

:: พระเจ้ามิได้กระหายเลือด – ไม่ใช่เนื้อหรือเลือดที่จะทำให้อัลลอฮฺทรงพอพระทัย ::

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว การเชือดพลีนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงการขอบคุณอัลลอฮฺตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เมื่อท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม ได้รับการบัญชาว่าให้เชือดพลีลูกชายของท่าน

มันป็นคำบัญชาจากผู้เป็นเจ้า ทั้งพ่อและลูกชายนั้นพร้อมที่จะเชื่อฟังอย่างไม่สงสัยใด ๆ อย่างไรก็ตามชีวิตของท่านนบีอิสมาอีลได้รับการช่วยเหลือและไถ่ตัวด้วยแกะเพศผู้

เรื่องราวของการเสียสละนั้นถูกบันทึกไว้ในอัล-กุรอานว่า

“ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? “ เขากล่าวว่า “โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน, ครั้นเมื่อทั้งสอง (พ่อและลูก) ได้ยอมมอบตน (แด่อัลลอฮฺ) อิบรอฮีมได้ให้อีสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น, และเราได้เรียกเขาว่า “โอ้ อิบรอฮีม” เอ๋ย! , แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามฝันแล้ว” แท้จริง เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย, แท้จริง นั่นคือ การทดสอบที่ชัดแจ้งแน่นอน, และเราได้ให้ค่าไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง” [สูเราะฮฺ อัศ-ศอฟฟาต อายะฮฺที่ 102-107]

ดังนั้น การอุทิศเชือดพลีกลายเป็นการเฉลิมฉลองประจำปีเพื่อทีจะรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวและเป็นการขอบคุณอัลลอฮฺสำหรับการช่วยเหลือของพระองค์ ในเรื่องนี้เป็นการยอมรับอย่างชัดเจนและไม่คลุมเครือของการเชื่อมโยงระหว่างอิสลามกับบิดาของบรรดานบี นั่นคืออิบรอฮีม

:: อิสหากหรืออิสมาอีล ? ::

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการเชือดพลีลูกชายของนบีอิบรฮีมมีสองรายงาน บางรายงานกล่าวว่าเป็นนบีอิสหาก บางรายงานกล่าวว่าเป็นนบีอิสมาอีล

มุสลิมเชื่อว่าเป็นอิสมาอีลไม่ใช่อิสหากที่เสียสละตนเพื่อตอบรับต่อคำบัญชาของอัลลอฮฺ โดยมีผู้พิสูจน์ไม่น้อยกว่า 20 ข้อทีให้การสนับสนุนความเชื่อนี้

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการดูแคลนบทบาททางประวัติศาสตร์ของบนีอิสรออีล (ลูกหลานชาวยิว) นอกจากนั้น ยังไม่ได้หมายความว่าเป็นการลดคุณค่าแสงสว่างและวิทยปัญหาที่ถูกส่งมายังพวกเขาโดยท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลาม ดังที่อัล-กุรอานได้ชี้ให้เห็นในอายะฮฺต่าง ๆ มากมาย

ดังนั้น แนวคิดในเรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอย่างทิ่คิด ในความเป็นจริงมันมีเหตุผลและสอดคล้องกับหลักคุณธรรมอิสลามที่เรียกร้องความเป็นเอกภาพของสังคมและการแพร่สันติภาพและความสุขให้กับมวลมนุษย์

:: สองมาตรฐาน ::
เมื่อฉันอ่านคำถามของคุณ ฉันรู้สึกพิศวง ว่าทำไมไม่มีใครกล่าวบ้างว่าการเชือดไก่งวงในวันขอบคุณพระเจ้านั้นเป็นการสังหารหมู่ไก่งวง?

มนุษย์ทุกคนทั่วโลกรับประทานบางสิ่งบางอย่างในงานฉลองของพวกเขา เนื้อเป็นรายการอาหารที่ถูกบรรจุในเมนูอยู่เสมอ หากชนชาติหนึ่งรับประทานเนื้อในงานฉลองของพวกเขา ฉันเชื่อว่าท่านคงไม่มีปัญหาใด ๆ กับพวกเขาอย่างแน่นอน

อีกทั้ง ท่านจะพบว่าอัล-กุรอานกล่าวอย่างชัดเจนแล้วว่าอัลลอฮฺทรงกำหนดการเชือดพลีในช่วงเทศกาลของการประกอบพิธีฮัจญฺทำไม?

“และอูฐที่อ้วนพีเราได้กำหนดมันให้มีขึ้นสำหรับพวกเจ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาเครื่องหมายของอัลลอฮ์ เพราะในตัวมันมีของดีสำหรับพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ (เมื่อเวลาเชือด) ขณะที่มันยืน ฉะนั้นเมื่อมันล้มลงนอนตะแคงแล้ว พวกท่านก็จงบริโภคมัน และจงแจกจ่ายเป็นอาหารแก่คนที่ไม่เอ่ยขอ และคนที่เอ่ยขอ เช่นนั้นแหละเราได้ทำให้มันยอมจำนนแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้ขอบคุณอัลลอฮ์ เนื้อของมันและเลือดของมันจะไม่ถึงอัลลอฮ์แต่อย่างใด แต่การยำเกรงของพวกเจ้าจะถึงพระองค์ เช่นนั้นแหละเราได้ทำให้มันยอมจำนนต่อพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้แซ่ซร้องอัลลอฮ์อย่างเกรียงไกรต่อการที่พระองค์ทรงชี้แนะแก่พวกเจ้า และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ทำความดีเถิด” [สูเราะฮฺ อัล-ฮัจญฺอายะฮฺที่ 36-37]

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

“ทำกุรบ่านเพื่อการโอ้อวด”

:: [คำถาม] ::
เรารู้ว่ามันหะรอมที่จะกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดเพื่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ ในช่วงวันอีดมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ทำกรุบ่านเพื่อโอ้อวดและไม่ได้ทำเพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเพียงเท่านั้น ดังนั้นการกินเนื้อของมันฮาลาลหรือไม่?

:: [คำตอบ] ::
การสรรเสริญทั้งหมดเป็นของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีใครคู่ควรแก่การเคารพสักการะบูชานอกจากอัลลอฮฺมุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนฑูตของอัลลอฮฺ

ประการแรก เราขอให้ท่านสนใจข้อเท็จจริงที่ว่าไม่อนุญาตที่จะตำหนิมุสลิมคนหนึ่งว่าเป็นคนโอ้อวดโดยไม่มีหลักฐาน ตามหลักการแล้วเราจะต้องคิดดีกับพี่น้องมุสลิมจนกว่าสิ่งกล่าวหานั้นจะได้รับการพิสูจน์
สำหรับการกินเนื้อกุรบ่าน (สัตว์ที่เชือดพลี) โดยสันนิษฐานว่าเป็นจริงตามที่ท่านอ้าง (คือทำกุรบ่านเพื่อโอ้อวด) ดังนั้น ไม่มีอันตรายใด ๆ ที่จะกินเนื้อหากว่ามันถูกเชือดตามหลักการของศาสนา

มีเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการเชือดตามหลักการของศาสนาที่อุลามาอฺได้แจกแจงไว้

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน รอหิมาฮุลลอฮฺ ถูกถามในฟัตวา นูรุล อะลา อัด-ดัรบฺ ว่า “อะไรคือเงื่อนไขของการเชือดตามหลักการอิสลาม”

ท่านตอบว่า เงื่อนไขของการเชือดตามหลักการอิสลามมีดังต่อไปนี้
เงื่อนไขแรก คนที่ทำการเชือดจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น เขาจะต้องเป็นมุสลิมหรือเป็นคนจากชาวคัมภีร์ (อะหฺลุล กิตาบ) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงกล่าวว่า “วันนี้สิ่งดี ๆ ทั้งหลายได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้น เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของพวกเจ้าก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา …” สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 5 อิบนุ อับบาส รดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “นั่นคือ อาหารของพวกเขาอ้างถึงสัตว์ที่ถูกเชือดด้วยพวกเขา”

เงื่อนไขที่สอง เลือดจะต้องไหลออกมาจากสัตว์ที่ถูกเชือดโดยการตัดหลอดเลือดดำสองเส้นอยู่ที่ลำคอ

เงื่อนไขที่สาม เขาจะต้องกล่าว บิสมิลลาฮฺ (ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ) เมื่อทำการเชือดสัตว์ ดังที่ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “หากว่าเลือดถูกหลั่งออกมาและนามของอัลลอฮฺถูกเอ่ย ดังนั้นจงกิน (จากมัน) เถิด”

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

“ช่วงเวลาของการเชือดกุรบาน”

:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม เรียนท่านนักวิชาการ เวลาใดเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการเชือดสัตว์พลีเพื่อทำกุรบาน

:: คำตอบ ::
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาผู้ทรงกรุณา 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมูฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

ถึงพี่น้องในอิสลาม ขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับคำถามซึ่งแสดงให้ถึงความปราถนาอย่างสูงของท่านในการยัดมั่นกับกฎเกณฑ์และคำสอนของอิสลาม ขออัลลอฮฺโปรดประทานแสงสว่างแก่หัวใจของพวกเราด้วยแสงแห่งอิสลามด้วยเถิด

หลังจากได้อ่านคำถามของท่าน เราขอนำคำพูดของสัยยิด ซาบิกอุลามาอ์ที่ชื่อเสียงซึ่งกล่าวไว้ในตำราของท่าน ฟิกฮ์ ซุนนะฮฺ ที่เป็นที่รู้จักกันดี

มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างผู้รู้เกี่ยวกับเวลาที่ของการเชือด ตามทรรศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ถือว่าควรเชือดในวันนะฮัร (วันอีดอัฎฮา) 10 ซุลฮิจญะฮฺ หรือหลังวันตัชรีกนั่นคือวันที่ 11,12 และ 13 ซุลฮิจญะฮฺ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าว่า “ทุกวันตัชรีกคือการเชือด” (อิมามอะหมัด)

หากคนหนึ่งพลาดไปในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น สัตว์อาจถูกเชือดในเวลาต่อมาเพื่อเป็นการชด

อิมามมาลิกและอิมามอะหมัดถือว่า ไม่ว่าการเชือดนั้นจะเป็นวาญิบหรือสุนัต มันจะต้องกระทำในช่วงเวลาที่มีการกำหนดเฉพาะ มัซฮับฮานาฟีย์มีความเห็นเช่นเดียวกันเกี่ยวกับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ซึ่งทำฮัจญ์ตะมัตตุอ์และฮัจญ์กิรอน ผู้ที่ทำฮัจญ์จะต้องเชือดสัตว์ในช่วงเวลาที่กำหนดของวันตัชรีก

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Sheikh Sayyed Sabiq
#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน : ความหมาย เป้าหมายและบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง”

โดย ดร.มุซัมมิล ศิดดีกียฺ ประธานสภาฟิกฮ (นิติศาสตร์อิสลาม) แห่งอเมริกาเหนือ

:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม ชัยค์ขอให้ท่านกรุณาอธิบายความหมาย เป้าหมาย กฎพื้นฐานเกี่ยวกับการถือศีลอด ญะซากุมุลลอฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน)

:: คำตอบ ::
วะอะลัยกุมสลามวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺ วะบะเราะกาตุฮฺ
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและทรงกรุณา มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบฮานะฮุวะตะอาลา) ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัดเป็น (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์

1. การถือศีลอดคืออะไร
อัลกุรอานเรียกการถือศีลอดว่า ศาวม์ คำว่าศาวม์ตามตัวอักษรหมายถึง การระงับ ในซูเราะหฺมัรยัม อัลลอฮฺทรงบอกเล่าเกี่ยวกับมัรยัมมารดาของนบีอีซา โดยนางกล่าวว่า “ฉะนั้น จงกิน จงดื่ม และจงทำจิตใจให้เบิกบานเถิด หากเธอเห็นมนุษย์คนใดก็จงกล่าวว่า ฉันได้บนการสงบนิ่งไว้ต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีฉันจะไม่พูดกับผู้ใดเลยวันนี้” (มัรยัม19:26) ความหมายคือ ฉันได้สาบานว่าจะงดเว้นจากการพูดคุยกับผู้คนในวันนี้ ในทางชะรีอะฮฺ คำว่าศาวม์ในทางชะรีอฮฺหมายถึงงดเว้นจากทุกสิ่งที่ถูกห้ามไว้ช่วงตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกโดยกระทำไปอย่างตั้งใจว่าจะถือศีลอด

2. เป้าหมายของการถือศีลอด
อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (ตักวา)” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:183) ตักวาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในแง่ของจิตวิญญาณและจริยธรรมในคำศัพท์ของอัลกุรอาน ตักวาเป็นความรวมในด้านจิตวิญญาณและจริยศาสตร์ในอิสลาม เป็นคุณภาพที่อยู่ในชีวิตของผู้ศรัทธาที่คอยรักษาพวกเขาให้อยู่ในการตระหนักถึงการเฝ้ามองอยู่ของอัลลอฮฺตลอดเวลา

ตักวาเป็นคุณธรรม เป็นความดีและเป็นการตระหนักต่ออัลลอฮฺ ตักวาต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม การถือศีลอดสอนให้รู้จักความอดทน และด้วยความอดทนจะทำให้คนหนึ่งบรรลุถึงตำแหน่งสูงสุดของตักวา

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่าการถือศีลอดเป็นเสมือนโลห์ ซึ่งจะปกป้องคนหนึ่งจากการทำบาปและกิเลสตัณหา ตามความเห็นอิมาม อัลเฆาะซาลีย์ การถือศีลอดจะสร้างลักษณะของเศาะมาดียฺยะฮฺ (อิสระจากความต้องการ) ในตัวมนุษย์ อิมามอิบนุก็อยยิมเห็นว่าการถือศีลอดว่าเป็นวิธีการที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณมนุษย์จาก กิเลสตัณหา ซึ่งจะทำให้ความพอเพียงอยู่เหนือกิเลสตัณหา

อิมามชาห์วะลียุลลอฮฺ ดะฮฺลาวีมองว่าการถือศีลอดเป็นวิธีการที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับความน่ารังเกียจและเสริมสร้างธาตุแห่งมลาอิกะฮฺในความเป็นมนุษย์ เมาลานา เมาดูดีย์ เน้นย้ำว่าการถือศีลอดเต็มเดือนในทุกๆ ปีเป็นการฝึกฝนปัจเจกบุคคลและชุมชนมุสลิมในภาพรวมและครอบคลุม ในเรื่องของความยำเกรงและการระงับตัวเอง

3. การถือศีลอดเป็นหน้าที่
ในปีที่สองของการฮิจญเราะฮฺ มุสลิมได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในรอมฎอนของทุกปี อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัลบะเกาะเราะฮฺ183) อัลลอฮฺยังตรัสด้วยว่า

“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:185)

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของการปฏิบัติในอิสลาม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า ท่านรอสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอิสลามวางอยู่บนรากฐานห้าประการ หนึ่ง การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ สองดำรงการละหมาด สามการจ่ายซะกาต สี่การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน ห้าการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ” (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

ประชาชาติอิสลามถือเป็นมติเอกฉันท์ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถ (มุกัลลัฟ)

4. บัญญัติต่างๆของการถือศีลอด
ก. ใครบ้างต้องถือศีลอด
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งบรรลุศาสนภาวะและเป็นผู้ที่สติสมบูรณ์ ตลอดจนไม่ป่วนและมิได้อยู่ในระหว่างการเดินทาง

ส่วนคนป่วยที่เป็นการป่วยเพียงชั่วคราวและคาดว่าจะหายเป็นปกติหลังจากนั้น จะอนุญาตสำหรับเขาหรือเธอไม่ต้องถือศีลอดในวันที่ป่วย แต่ทั้งเขาและเธอจะต้องถือศีลอดชดเชยหลังรอมฎอนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป สำหรับคนป่วยที่เรื้อรังและมีแนวโน้มว่าสุขภาพจะไม่ดีขึ้น อนุญาตให้พวกเขาไม่ต้องถือศีลอด แต่จะต้องจ่าย ฟิดยะฮฺ เป็นการทดแทน โดยจ่ายมื้ออาหารสำหรับหนึ่งวันแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป โดยเขาสามารถจ่ายเป็นเงินแทนมื้ออาหารแก่คนยากจนขัดสน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนและหลังคลอดไม่อนุญาตให้ถือศีลอดและจะต้องชดใช้หลังรอมฎอน หญิงมีครรภ์และแม่ที่ให้นมลูก ถ้าหากนางเห็นว่าเป็นเรื่องลำบาก พวกนางสามารถเลื่อนการศีลอดโดยไปชดเชยเมื่อสภาพร่างกายมีความพร้อม

การเดินทางในทางชะรีอะฮฺนั้นคือทุกการเดินทางที่พาตัวเองออกห่างจากเมืองหรือที่พักอาศัย โดยมี่ระยะทางอย่างน้อยที่สุด 48 หรือ 80 กิโลกรัม เหมือนกับการเดินทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้ (ก็อศร์) การเดินทางต้องไปด้วยเหตุผลที่ดี และถือเป็นบาปหากจะเดินทางในรอมฎอนโดยมีเจตนาที่จะเลี่ยงการถือศีลอด มุสลิมควรจะเปลี่ยนแผนการในการเดินทางในช่วงรอมฎอนเพื่อจะได้ถือศีลอดในเดือนนี้ได้ยกเว้นว่ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เมื่อกลับจากการเดินทางเขาจะต้องรีบชดเท่าจำนวนวันที่ขาดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข. การถือศีลอดตามแบบอย่างท่านนบี
1) รับประทานอาหารสะฮูร (อาหารก่อนรุ่งอรุณ) เพราะเป็นซุนนะฮฺ (แบบอย่างของท่านนบี) และมีรางวัลและความประเสริฐมากมายในการับประทานอาหารสะฮูร ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เข้าเวลาละหมาดศุบฮ์
2) ละศีลอดทันทีเมื่อดวงอาทิตย์ตก ในทางชะรีอะฮฺให้ดูว่าขอบของดวงอาทิตย์หายไปจากเส้นขอบฟ้าและหายลับอย่างสมบูรณ์
3) ในช่วงระหว่างของการถือศีลอดจะต้องไม่พูดจาและกระทำสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ จะต้องไม่โต้เถียง ทะเลาะวิวาท พูดจาหยาบคาย หรือกระทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งต้องห้าม เขาจะต้องจัดระเบียบวินัยในเรื่องศีลธรรมจรรยา พร้อมทั้งการฝึกฝนทางร่างกาย เขาจะต้องไม่แสดงโอ้อวดในการถือศีลอดโดยคร่ำเคร่งกับมัน หรือแสดงปากที่แห้งอาการหิวโหย หรืออารมณ์ขุ่นมัว ผู้ที่ถือศีลอดมีความพึงพอใจด้วยจิตวิญญาณและกำลังใจที่ดี
4) ในระหว่างการถือศีลอดเขาควรจะบริจาคและทำความดีต่อคนอื่นๆให้มาก เพิ่มพูนอิบาดะฮฺและการอ่านอัลกุรอาน มุสลิมทุกคนควรพยายามที่จะอ่านอัลกุรอานอย่างน้อยจบหนึ่งครั้งในช่วงรอมฎอน

ค. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
ผู้ถือศีลอดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เสียศีลอด สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นจะต้องชดใช้สำหรับวันนั้น ได้แก่
1) กิน ดื่มหรือสูบโดยตั้งใจ
2) ตั้งใจทำให้อาเจียน
3) การมีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตรแม้ว่าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกเพียงเล็กน้อยก็ตาม
4) การหลั่งอสุจิโดยเจตนาเช่น ด้วยการจูบหรือกอดเป็นตน
5) กิน ดื่ม สูบหรือมีเพศสัมพันธ์หลังดวงอาทิตย์ขึ้นเนื่องจากเข้าใจผิดว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เช่นเดียวกับการกระทำสิ่งเหล่านี้ ก่อนดวงอาทิตย์ตกโดยเข้าใจไปว่าดวงอาทิตย์ตกดินแล้ว

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงการถือศีลอดเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบาปใหญ่ ผู้ที่พลาดพลั้งกระทำไปจะต้องชดเชย (เกาะฎออ์) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ ชดเชยด้วยการถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน หลังรอมฎอน หรือเลี้ยงอาหารคนจน 60 คน สำหรับแต่ละวันที่พลาดพลั้งไป สำหรับอิมามอบูฮานีฟะฮฺเห็นว่า ผู้ที่ตั้งใจกินหรือดื่มจะต้องชดเชย (เกาะฎออฺ) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺในลักษณะเดียวกัน

ง. สิ่งที่ไม่ทำให้เสียการถือศีลอด
ในระหว่างการถือศีลอดสิ่งต่อไปนี้อนุญาตให้ปฏิบัติได้
1) การอาบน้ำ หากเผลอกลืนน้ำโดยไม่ตั้งใจจะไม่ทำให้เสียศีลอด ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าการว่ายน้ำในช่วงถือศีลอดสามารถกระทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำเพราะอาจจะทำให้น้ำเข้าทางปากหรือจมูกลงไปในกระเพาะได้
2) การใส่น้ำหอม การใส่คอนแทคเลนส์หรือยาหยอดตา
3) ฉีดยาหรือเจาะเลือด
4) ใช้มิสวาก (แท่งไม้สิวาก) หรือแปรงฟัน (แม้จะใช้ยาสีฟันด้วยก็ตาม) สูดน้ำเข้าจมูกแต่ไม่มากเกินไป (เพื่อหลีกเลี่ยงการกลือนน้ำ)
5) กิน ดื่มหรือสูบโดยมิได้ตั้งใจ เช่น ลืมว่ากำลังถือศีลอดอยู่ แต่จะต้องหยุดทันทีเมื่อนึกขึ้นมาได้แล้วถือศีลอดต่อไป
6) หากนอนในช่วงเวลากลางวันแล้วฝันเปียก สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เสียศีลอด เช่นเดียวกัน กรณีที่มีเพศสัมพันธ์ในเวลากลางคืนและไม่สามาถอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ก่อนรุ่งอรุณ เขาหรือเธอสามารถเริ่มถือศีลอดได้แล้วค่อยอาบน้ำยกหะดิษ ผู้หญิงที่ประจำเดือนหยุดในเวลากลางคืนอาจจะเริ่มถือศีลอดแม้ว่าเธอจะยังไม่ยกหะดิษใหญ่ (ฆุสล) กรณีนี้การอาบน้ำ (ฆุสล์) เป็นสิ่งจำเป็นแต่การถือศีลอดยังใช้ได้แม้จะยังไม่อาบน้ำในทันที
7) การจูบระหว่างสามีภรรยาเป็นที่อนุญาต แต่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ทำอะไรเลยเถิดไปกว่านี้ในระหว่างถือศีลอด

จ) สิ่งจำเป็นที่จะทำให้การถือศีลอดใช้ได้
องค์ประกอบพื้นฐานสองประการของการถือศีลอด
1) การตั้งเจตนา (นิยยะฮฺ) เขาจำเป็นจะต้องตั้งเจตนาเพื่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจในการถือศีลอดก่อนอรุณรุ่ง เจตนาไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูด แต่จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจทั้งในหัวใจและความคิด นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าการตั้งเจตนาสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวแต่ครอบคลุมทั้งเดือนโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมจะดีกว่าหากตั้งเจตนาทุกวันเพื่อให้ได้รับรางวัลอย่างเต็มที่
2) งดเว้นทุกสิ่งที่จะทำให้เสียศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ตก ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. Muzammil H. Siddiqi
#รอมฎอน#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“กินจนอิ่มท้องบาปหรือไม่?”

:: [คำถาม] ::

ฉันรับประทานยาเพื่อรักษากระดูกตามอาการที่ฉันเป็น ฉันไม่แน่ใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่มากเกินไปในมุมมองอิสลาม ฉันได้รับการแนะนำให้รับประทานสิ่งต่าง ๆ เช่น การรับประทานขนมปังปิ้งเล็กน้อยในตอนเช้า อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว ฉันเลิกรับประทานอาหารที่มากเกินพอดี ฉันอยากทราบว่า ถ้าฉันรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นที่อนุมัติในอิสลามหรือไม่? เราควรรับประทานและนอนน้อยลง อย่างไรก็ตามบางครั้งฉันนอนเยอะหรือบางครั้งนอนน้อย ซึ่งมันเชื่อมโยงกับพฤติกรรมหรือปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่น ความเศร้าโศก สำหรับอาหารบางครั้งฉันรับประทานเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นอันตรายกับจิตวิญญาณและความศรัทธาของฉันหรือไม่? ฉันรู้สึกผิดตลอดเมื่อรับประทานอาหารจำนวนมาก ๆ แต่ถ้ามันช่วยให้ร่างกายของฉันมีสุขภาพดีเหมือนกับออกกำลังกาย มันจะเป็นที่อนุมัติหรือไม่ในอิสลาม?

ฉันรู้สึกวิตกกังวลที่มันก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กับหัวใจและจิตวิญญาณของฉัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความศรัทธาของฉัน ดั่งที่ฉันมีความกังวลใจกับมันในบางครั้ง ปีที่แล้ว ฉันใช้ความพยายามขณะที่ฉันถือศีลอดพร้อมกับการทำงานและเดินทางด้วย ฉันรู้สึกไม่ไหวและรู้สึกป่วยไข้บ่อยมาก ฉันไม่ได้รับประทานอาหารสะฮูรในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและได้รับผลบางอย่างจากญาติพี่น้องของฉัน การไม่รับประทานอาหารสะฮูรหมายความว่าฉันไม่ได้รับประทานอาหารและไม่ได้รับประทานยาสำหรับกระดูกของฉัน ฉันมีความกังวลเกี่ยวกับการถือศีลอดนับแต่นั้นมาเนื่องจากว่าฉันตั้งตาคอยมันมากและฉันไม่ทำงานในขณะนั้น ฉันไม่ต้องการสูญเสียการถือศีลอดและฉันไม่มั่นใจว่าฉันจะได้รับการยกเว้นจากการถือศีลอดอย่างในกรณีนี้ ฉันขอคำแนะนำจากท่านด้วย

:: [คำตอบ] ::

ไม่มีสิ่งใดเป็นเรื่องผิดสำหรับท่านที่จะรับประทานตามที่ท่านต้องการ และท่านไม่มีความผิดที่จะรับประทานในสิ่งที่ท่านพึงพอใจ ท่านไม่มีความผิดหากว่าท่านรับประทานจนกระทั่งอิ่มเต็มที่ สิ่งที่เป็นที่ต้องห้ามคือสิ่งที่คนหนึ่งรับประทานเกินความต้องการของเขา ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับเขาได้

ท่าน อิยาฎ กล่าวว่า “พวกเขากินจนอิ่มท้อง” เป็นหลักฐานสำหรับการอนุญาตให้รับประทานจนอิ่มเต็มที่ มีรายงานจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และบรรดาบรรพชนยุคแรกว่าไม่ชอบให้กินจนอิ่มท้อง ซึ่งจะปฏิบัติเช่นนี้ทุกครั้ง เพราะดังกล่าวนี้จะทำให้หัวใจนั้นแข็งกระด้าง ทำให้คนหนึ่งลืมคนจนและความทุกข์ยากของพวกเขาและสิ่งต่าง ๆ ที่เขาต้องรับผิดชอบ เป็นที่อนุมัติให้คนหนึ่งรับประทานจนอิ่มท้องตราบใดที่เขาไม่เกินเลยขอบเขต ไม่ขัดขวางเขาจากการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่พึงมี ไม่ทำให้หายใจไม่สะดวกและทำให้เกิดอาหารไม่ย่อย อะไรก็ตามที่ทำให้เกินเลยขอบเขตในเรื่องนี้ถือว่าไม่เป็นที่อนุมัติโดยเด็ดขาด ท่าน นบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “เวลากินท่านจะแบ่งกระเพาะอาหารเป็น 3 ส่วน คือ อาหารหนึ่งส่วน น้ำหนึ่งส่วน อากาศอีกหนึ่งส่วน”

จากข้างต้น มันเป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีสิ่งใดผิดสำหรับท่านที่จะรับประทานให้อิ่มท้อง และท่านสามารถรับประทานในสิ่งที่ท่านต้องการได้ ยิ่งไปกว่านั้น ท่านจะต้องไม่งดเว้นในสิ่งทีท่านจำเป็นที่จะรับประทาน ดังนั้นถ้าท่านต้องการจะรับประทานอะไรก็ตามเพื่อจะทำให้เป็นอิบาดะฮฺหนึ่งหรือรับประทานอาหารเพื่อที่จะทำให้ท่านมีความแข็งแรงในการทำอิบาดะฮฺ หรือท่านจำเป็นที่จะรับประทานเพื่อเป็นยารักษาโรค เป็นต้น ฉะนั้น การละทิ้งในสิ่งที่ท่านจำเป็นต้องรับประทานนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ

ส่วนเรื่องของการไม่ได้รับประทานอาหารมื้อสะฮูร ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ตรงข้ามกับสุนนะฮฺอย่างแน่นอน ดังที่ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้สั่งใช้ให้เรารับประทานอาหารมื้อสะฮูรตามที่ถูกบัญญัติไว้สำหรับประชาชาติของท่าน ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม อธิบายแล้วว่า มีความบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ) ในมื้ออาหารนี้และเป็นข้อแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของเรากับการถือศีลอดของชาวคัมภีร์ เพราะฉะนั้น เราะจะต้องไม่ละทิ้งมื้อสะฮูรและแสวงหาความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺในการถือศีลอดและอัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือท่านอย่างแน่นอน

ถ้าท่านมีเหตุผลที่จะไม่ถือศีลอด เช่น ป่วยหรืออะไรทำนองนี้ ดังนั้นไม่มีโทษกับท่านแต่อย่างใดที่จะไม่ถือศีลอดและค่อยชดเชยการถือศีลอดในวันอื่นทดแทน

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

“การอนุญาตในสิ่งที่ต้องห้ามเมื่อมีความจำเป็น”

:: [คำถาม] ::
ฉันรู้ว่าสิ่งต่างๆที่หะรอมนั้นบางกรณีกลายเป็นสิ่งฮาลาลหากมีความจำเป็น มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้กฎเกณฑ์นี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง?

:: [คำตอบ] ::
โดยหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมอิสลาม นักนิติศาสรต์อิสลามมีความเห็นตรงกันว่ากรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดจะทำให้สิ่งต้องห้ามกลายเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาต

มีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนหลักการนี้ ทั้งในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ (วิถีปฏิบัติของท่านนบี) เช่น อายะฮฺที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ ที่มัน (ขณะเชือด) และสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และสัตว์ที่ถูกตีตาย และสัตว์ที่ตกเหวตาย และสัตว์ที่ถูกขวิดตาย และสัตว์ที่สัตว์ร้ายกัดกิน นอกจากที่พวกเจ้าเชือดกัน และสัตว์ที่ถูกเชือดบนแท่นหินบูชา และการที่พวกเจ้าเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้ว เหล่านั้นเป็นการละเมิด วันนี้ บรรดาผู้ปฏิเสธการศรัทธา หมดหวังในศาสนาของพวกเจ้าแล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว ผู้ใดได้รับความคับขันในความหิวโหย โดยมิใช่เป็นผู้จงใจกระทำบาปแล้วไซร้ แน่นอนอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเมตตาเสมอ” สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 3

และอีกอายะฮฺที่พระองค์ทรงตรัสว่า 

“และมีอะไรเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ? ที่พวกเข้าไม่บริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮ์ถูกกล่าวบนมัน ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจกแจงแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสิ่ง ที่พระองค์ได้ทรงห้ามแก่พวกเจ้า นอกจากสิ่งที่พวกเจ้าได้รับความคับขันให้ต้องการ มันเท่านั้น” สูเราะฮฺ อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 119

ตัวอย่างของหลักการนี้มีดังต่อไปนี้
1. การกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วสำหรับคนที่ไม่สามารถพบหาสิ่งใดได้แล้ว และกลัวว่าเขาจะตายจากความหิวโหย
2. กล่าวคำพูดที่ทำให้ตกอยู่ในสภาพ “กุฟรฺ” เมื่อต้องอยู่ภายใต้การทรมาณและการบีบบังคับ 
3. การป้องกันจากผู้รุกรานแม้ว่าจะทำไปสู่การสังหารเขาก็ตาม

ความจำเป็นหมายถึงกรณีที่คนหนึ่งจะได้รับอันตรายถ้าเขาไม่เลือกทำสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ซึ่งเป็นอันตรายที่จะมีผลกระทบกับสารัตถะสำคัญ 5 ประการต่อไปนี้ ศาสนา ชีวิต เกียรติ สติปัญญาและทรัพย์สิน

สำหรับเงื่อนไขที่จะทำให้สิ่งหะรอมจะกลายเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตในกรณีที่มีความจำเป็นนั้น ชัยคฺ มุฮัมมั ศอลิหฺ อิบนุ อุษัยมีน รหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวถึงเงื่อนไขสองประการสำหรับกรณีนี้และเชคอธิบายอย่างละเอียดพร้อมทั้งตัวอย่างด้วย เช่นเดียวกับที่เราจะยกข้อคัดค้านของพวกเขาและข้อหักล้างของเรา ฉะนั้นเราจะวางขอบเขตด้วยการอ้างอิงคำพูดของเชค ขออัลลอฮฺทรงเมตตาแก่ท่านด้วยเถิด

หลักการนี้คือหลักการที่เป็นรากฐานทางนิติศาสตร์อิสลามอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงหลักนิติธรรมของอิสลาม ทุกสิ่งที่ถูกห้ามจะได้รับอนุมัติในกรณีที่มีความจำเป็น

ดังนั้น สิ่งที่ถูกห้ามจะกลายเป็นสิ่งที่อนุมัติในกรณีที่มีความจำเป็นแต่มีเงื่อนไขสองประการ ดังนี้

เงื่อนไขประการแรก เราจำต้องถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ต้องห้ามนี้เป็นการเฉพาะ นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถหาอะไรที่จะตอบสนองความจำเป็นนั้นได้นอกจากสิ่งที่ต้องห้าม แต่หากว่าเราสามารถหาบางสิ่งทดแทนได้ ดังนั้นมันจึงไม่เป็นที่อนุญาตโดยเด็ดขาด แม้ว่ามันจะสามารถตอบสนองความจำเป็นของเราได้ก็ตาม

เงื่อนไขประการที่สอง ความจำเป็นนี้ (เฎาะรูเราะฮฺ) จะต้องได้รับการตอบสนองจากสิ่งที่หะรอมดังกล่าวเท่านั้น ถ้ามันมิได้อยู่ในกรณีของความจำเป็น มันจะยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม ถ้าเราไม่แน่ใจว่ามันมีความจำเป็นหรือไม่ ฉะนั้นมันจะยังเป็นสิ่งต้องห้ามอยู่ดี นั่นเป็นเพราะการทำสิ่งที่หะรอมคือความผิดอย่างแน่นอนและการตอบสนองความจำเป็นในสิ่งที่มีความเคลือบแคลงสงสัย ดังนั้นเราจะต้องไม่ทำการฝ่าฝืน ด้วยการทำในสิ่งที่ต้องห้ามอย่างชัดเจนสำหรับบางสิ่งที่มีความเคลือบแคลงสงสัย
.
ดังนั้นกฎเกณฑ์มีความแตกต่างกันเกี่ยวกับคนที่หิวโหยที่ไม่สามารถพบเจอสิ่งใดอีกแล้วนอกจากสัตว์ที่ตาย ในกรณีนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า “จงกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วเถิด” ถ้าเขากล่าวว่านี่คือการทำในสิ่งที่หะรอม เรากล่าวว่า มันกลายเป็นที่อนุมัติเนื่องจากความจำเป็น เพราะท่านไม่มีอะไรกินนอกเหนือจากสิ่งนี้และเนื่องจากท่านมีความจำเป็นที่จะรับประทานมัน

มีคนกล่าวกับชายคนหนึ่งว่า หากท่านดื่มแอลกฮอล์ท่านจะหายป่วย ในกรณีนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า มันไม่เป็นที่อนุญาตให้ท่านดื่มแอลกอฮอล์แม้ว่าจะมีคนบอกท่านว่ามันจะช่วยรักษาความป่วยไข้ของท่าน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ประการแรก เนื่องจากว่าไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะหายด้วยแอลกอฮอล์ เขาอาจดื่มมันแต่มันก็ไม่ได้ทำให้หายจากการป่วยไข้ เราเห็นคนที่ป่วยจำนวนมากใช้ยาดี ๆ โดยที่พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากยานั้นแต่อย่างใด

ประโยชน์ประการที่สอง คนที่ป่วยไข้อาจฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยโดยที่ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ ด้วยการไว้วางใจในอัลลอฮฺและการขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺผ่านการดุอาอ์ (วิงวอน) ต่อพระองค์เป็นต้น นี่คือมุมมองของเหตุผล

จากมุมมองของหลักฐาน มีรายงานในหะดีษจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “อัลลอฮฺไม่ทรงให้การรักษาแก่พวกท่านในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามแก่พวกท่าน” เหตุผลเบื้องหลังหะดีษนี้มีความชัดเจน เนื่องจากอัลลอฮ์ทรงห้ามมันอันเนื่องจากมันเป็นอันตรายกับเรา ดังนั้นสิ่งต้องห้ามจะสามารถรักษาและเยียวยาได้อย่างไร?

ดังนั้น มันเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ที่จะใช้สิ่งหะรอมในการรักษา ดังที่นักวิชาการได้กล่าวไว้ และมันไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่คือกรณีที่มีความจำเป็นตามที่มีบางคนคิด

ถ้าบางคนกล่าวว่ามีคนกำลังสำลักและไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากไวน์แก้วหนึ่ง ดังนั้น อนุญาตให้เขาดื่มไวน์แก้วนี้เพื่อที่ทำให้การอาการสำลักของเขาหยุดได้หรือไม่?

คำตอบคือ ใช่ เนื่องจากเงื่อนไขสองประการนั้นตอบสนองในกรณีนี้ เขาจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้และเรามั่นใจว่าความจำเป็นจะตอบสนองมัน ดังนั้น เรากล่าวว่า จงดื่มไวน์เถิด แต่เมื่ออาการสำลักหยุด เขาจะต้องหยุดดื่มทันที

ถ้าบางคนกล่าวว่ามีคนหนึ่งพบเจอเนื้อที่ถูกเชือดในวิธีการที่ฮาลาลและพบเจอเนื้อที่มาจากสัตว์ที่ตายตามธรรมชาติ เขาสามารถทานเนื้อสัตว์ที่ตายเองเนื่องจากเขาถูกบังคับให้กระทำโดยความจำเป็นได้หรือไม่?

คำตอบคือว่าเขาไม่สามารถกระทำได้ เนื่องความจำเป็นได้รับการตอบสนองจากสิ่งฮาลาล ดังนั้น มันไม่เป็นที่อนุญาตเนื่องจากเงื่อนไขประการแรกนั่นไม่ถูกตอบสนองบนความจำเป็น

ถ้ามีคนกล่าวว่า ฉันกระหายน้ำและฉันไม่มีอะไรเลยนอกจากไวน์หนึ่งแก้ว ฉันสามารถดื่มมันได้หรือไม่?

คำตอบชัดเจนว่าไม่อย่างแน่นอน ดังที่ผู้รู้กล่าวว่า เพราะกรณีนี้ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้น มันจะยิ่งทำให้เขามีความกระหายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่มีประโยชน์ในการฝ่าฝืนและกระทำสิ่งที่หะรอม เนื่องจากความจำเป็นหรือความหิวไม่ได้ถูกจำกัดออกไป และไม่ได้ตอบสนองในเงื่อนไขประการที่สอง

ถ้ามีคนกล่าวว่า ถ้าคนป่วยไม่มีทางเลือกนอกจากจะดื่มเลือดเพื่อการรักษาเยียวยา มันอนุญาตให้เขากระทำเช่นนั้นหรือไม่? คำตอบคือไม่อนุญาตให้เขากระทำเช่นนั้นเนื่องจากไม่ได้ตอบสนองในเงื่อนไขประการที่สอง

…………………………………………………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
จากหนังสือ ชัรหฺ มันซูมะฮฺ อุศูล อัล-ฟิกฮฺ วะ เกาะวาอิดิฮี หน้า 59-61

“การใช้เครื่องสำอางทีได้จากผักและผลไม้ “

:: [คำถาม] ::
ดิฉันอยากจะทราบกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการนำผลไม้ ข้าวโอ๊ต แป้ง เมล็ดพืช ผัก เครื่องเทศอาหารและสมุนไพรมาใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผม (Beauty & Treatment product)ว่าหะลาลหรือไม่ และท่านพอจะแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าที่หะลาลและหะรอมที่จะนำมาใช้บำรุงรักษาผิวและเส้นผมได้หรือไม่ ขอบคุณคะ

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

ประการแรก ไม่เป็นความผิดแต่ประการใดในการนำอาหารเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากเพื่อกินเพื่อดื่ม เช่นการนำไปใช้เพือดูแลรักษาร่างกาย เพราะโดยหลักการพื้นฐานแล้วอนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆได้เว้นแต่จะมีหลักฐานว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่อัลลอฮตรัสไว้มีความหมายว่า

“พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้สำหรับพวกเจ้า” (อัลบะเกาะเราะฮ์ 2:29)

ประการที่สอง ถ้าอาหารเหล่านี้ผ่านกระบวนการบางอย่างเพื่อให้กลายเป็นสารอื่นเช่นที่ปรากฏในเครื่องสำอาง จึงไม่มีความผิดอะไรในการใช้และไม่ถือว่าเป็นการนำอาหารไปบริโภค เพราะสารตัวใหม่นี้จะไม่เรียกว่าเป็นอาหารอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่นักนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่า “อิสติหาละฮ์ (การเปลี่ยนสภาพ)” พวกเขายังกล่าวด้วยว่าสารที่สกัดจากสิ่งที่ไม่สะอาดและสิ่งอื่นๆนั้นสามารถนำมาใช้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าไม่หลงเหลือร่องรอยเดิมไม่ว่าจะเป็น รสชาต สีหรือกลิ่น

ชัยค์ดร. วะฮ์บะฮ์ อัซซุฮัยลี (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องท่าน) กล่าวว่า สบู่ที่ผลิตมาจากไขมันหมู (rendered fat of pigs) หรือสัตว์อื่นที่ไม่ได้เชือดอย่างถูกต้อง (ตามหลักการอิสลาม) จะกลายเป็นสิ่งหะลาลหากมันผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพ (อัลอิสติหาละฮ์) และอนุญาตให้นำไปใช้ได้ และไม่อนุญาตให้ใช้โลชั่น ครีมหรือเครื่องสำอางอื่นๆที่มีไขมันหมู จนกว่าไขมันนั้นจะเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมของมันอย่างสมบูรณ์ (อิสติหาละฮ์) หากไม่แล้วถือว่ามันยังเป็นนาญิส (สิ่งสกปรก) (อัลฟิกฮ์ อัลอิสลามีย์ วะอะดิลละตุฮู 7/211)

มีผู้ถามชัยค์บินบาซ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) ว่า การใช้เฮนนาผสมกับไข่แดงเพื่อไปใช้ปรับสภาพผม (คอนดิชั่นเนอร์) เป็นสิ่งที่อนุมัติหรือไม่

ท่านตอบว่า “ไม่มีความผิดแต่อย่างใดในเรื่องนี้หากมันเป็นประโยชน์ ไม่เป็นความผิดที่จะใช้เฮนนาผสมกับไข่แดงสารหะลาลอื่น ๆ หากว่ามันดีต่อสุขภาพเส้นผมเช่นช่วยให้มันแข็งแรง นุ่มและเพื่อประโยชน์อื่นๆ หรือช่วยรักษาเส้นไม่ให้ร่วงหล่นได้ง่ายเป็นต้น” (ฟะตาวา นูร อะลา อัลดัรบ์ www.binbaz.org.sa/mat/18554)

ยังมีผู้ถามท่านด้วยว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการใช้ไข่ น้ำมันมะกอกและน้ำผึ้งพอกเส้นผม แล้วค่อยล้างออกเมื่ออาบน้ำเพื่อให้เส้นผมแข็งแรง ท่านมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการอาบน้ำละหมาดที่เส้นผมอยู่ในสภาพดังกล่าว

ท่านตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจะไม่ทำเช่นนั้นหากว่ามันมีประโยชน์บางประการ ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดที่จะผสมไข่ นม น้ำผึ้งและอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กันเพื่อพอกผม และก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียใดๆเมื่อมีการล้างออกในห้องอาบน้ำ เพราะมันมีประโยชน์ในการทำเช่นนั้น แต่หากล้างในที่สะอาดกว่าย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า (อินชาอัลลอฮฺ) แต่เท่าที่เราสามารถจะบอกได้หากล้างออกในห้องอาบน้ำ มันก็ไม่ได้เป็นอันตรายใดๆเพราะมันไม่นับว่าเป็นอาหาร และมันไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกแล้ว” (ฟะตาวา นูร อะลา อัลดัรบ์ www.binbaz.org.sa/mat/18601)

มีผู้ถามชัยค์อิบนุอุษัยมีน (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน) ว่า ผู้หญิงบางคนได้นำอาหารบางอย่างเช่นไข่ โยเกิร์ตและน้ำผึ้งมาพอกหน้าและเส้นผม ในฐานะที่เป็นเครื่องสำอางหรือเพื่อบำรุงรักษาใบหน้าและเส้นผม กฏเกณฑ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ท่านตอบว่า กรณีนี้ไม่มีความผิดใด ๆ เพราะอัลลอฮฺทรงกล่าวไว้มีใจความว่า
“พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้สำหรับพวกเจ้า” (อัลบะเกาะเราะฮ์ 2:29)

ตราบใดที่มันยังไม่นำไปสู่การไม่ให้เกียรติต่อการสร้างของอัลลอฮฺ (อาหาร) หากไม่แล้วย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม (ทีมา ลิกออ์ อัลบาบ อัลมัฟตูฮ์ หมายเลข 191)

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : Islamqa.Info

“การให้อาหารสัตว์เลี้ยงด้วยเนื้อที่หะรอมเป็นที่อนุญาตหรือไม่ ?”

เป็นที่อนุญาตที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านด้วยเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้อง พวกมันยังอาจจะได้รับอาหารที่ถือว่าไม่บริสุทธิ์ในหลักการอิสลาม โดยที่อาหารนั้นต้องไม่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงดังกล่าว

ในหนังสือ บะดาอิอ์ อัศเศาะนาอิอ์ ได้ระบุว่า “อิหม่ามอบู ฮะนีฟะฮฺ ถือความเห็นว่ามันเป็นที่อนุญาตที่จะเลี้ยงสุนัข ด้วยขนมปังที่ทำจากแป้งที่ผสมกับน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ นี่เป็นเพราะสิ่งใดก็ตามที่แปรสภาพเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์นั่นไม่ชอบด้วยหลักการที่จะบริโภคสำหรับมนุษย์ แต่มันอาจจะยังคงนำไปใช้ประโยชน์ได้”

นี่คือความเห็นที่เกิดขึ้นโดยบรรดานักวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เรื่องนี้ได้มีการรายงานโดย อิบนุ อุมัรฺ “ในขณะที่ท่านได้เดินทางกับท่านนบี (ขอความสันติภาพและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) ผู้คนได้หยุดพักในดินแดนของชาวษะมูดในอดีต (อัล-หิจร์ อยู่ระหว่างปาเลสไตน์ กับ ซาอุดิ อารเบียทางทิศตะวันตก หรือในอาณาเขตประเทศจอร์แดนปัจจุบัน) พวกเขาเอาน้ำออกจากบ่อและทำขนมปังกับน้ำนี้ แต่ท่านท่านนบี (ขอความสันติภาพและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) สั่งให้พวกเขาเทน้ำทิ้งและให้ขนมปังเป็นอาหารแก่อูฐของพวกเขา” (อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

นักวิชาการได้กล่าวถึงการรายงานดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานว่าได้รับอนุญาตที่จะให้อาหารให้แก่สัตว์ได้ดื่มกินในสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตตามหลักการอิสลามสำหรับการบริโภคของมนุษย์

…………………………………………………….
โดย ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอซิม
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การให้อาหารแก่สัตว์ : ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม”

โดย ดร.มุฮัมมัด มุนีร เชาดรี, ดร.ชัยค์ญะอฟัร เอ็มอัลกุเดอรี, ดร.อะหมัด ฮุซเซน ศ็อกร์ 
………………………………………………………..

มีความสับสนและคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ เราลองมาพิจารณาในบางประเด็นและชี้แจงคำถามบางส่วน 

มีฟาร์มจำนวนมากที่มีการเติมอาหารเสริมโปรตีน (protein supplement) ในอาหารสัตว์ การปฏิบัติเหล่านั้นมิได้จำกัดเพียงแค่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงแบบเปิด แต่ยังรวมไปถึงฟาร์มที่เลี้ยงแบบปิด อาหารเสริมโปรตีนอาจใช้โดยเจ้าของฟาร์มที่อ้างว่าเลี้ยงโดยการปล่อยสัตว์ปีกและปศุสัตว์ให้อาหารอย่างอิสระ หรือการเลี้ยงนอกกรงนั่นเอง โปรตีนเสริมเหล่านี้ผลิตมาจากเศษเนื้อที่เหลือจากโรงฆ่าสัตว์และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆรวมอยู่ด้วย นักวิชาการและผู้บริโภคส่วนมากรู้สึกว่าการให้อาหารด้วยเศษเนื้อดังกล่าวแก่สัตว์ที่ฮาลาลไม่น่าจะเป็นที่อนุญาต บางส่วนเห็นว่าเทียบเท่ากับอัลญะลาละฮฺ (ซากสัตว์)

อัลญะลาละฮฺได้รับการนิยามว่าหมายถึงสัตว์ที่มักจะกินของเสียเป็นหลัก ซึ่งไม่มีความเห็นแตกต่างในความหมายของคำนี้ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ห้ามรับประทานเนื้อและนมของสัตว์ญะลาละฮฺ ท่านยังห้ามแม้แต่การขี่มัน นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นแตกต่างกันต่อน้ำหนักของการห้าม ทรรศนะของอิมามชาฟิอีย์ถือว่าห้ามโดยเด็ดขาดที่จะรับประทานเนื้อของสัตว์ชนิดนี้ อย่างไรก็ตามทรรศนะของอิมามอบู หะนีฟะฮฺ, อิมามมาลิกและอิมามอะหมัด อิบนุฮันบัลถือว่าการห้ามนี้มิได้ถึงขั้นเด็ดขาดโดยถือเป็นมักรูฮฺ (ไม่ควรรับประทานแต่ไม่ถึงขั้นต้องห้าม)

สำหรับผู้ที่ถือว่าอาหารเสริมโปรตีนเหล่านี้เป็นญะลาละฮ์เชื่อว่าสัตว์ใดก็ตามที่กินอาหารเสริมนี้ถือว่าสัตว์ตัวนั้นเป็นญะลาละฮฺ เนื่องจากอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ในตะวันตกมักจะมีสารกสัดจากสัตว์ พวกเขาสรุปว่ามุสลิมไม่สามารถบริโภคเนื้อที่มาจากอเมริกาเหนือ 

ในความเป็นจริงสัตว์จำพวกญะลาละฮฺเป็นสัตว์ที่มักจะอยู่ใกล้ ๆ กับกองขยะหรือบ่อน้ำทิ้ง อาหารส่วนใหญ่ของพวกมันคือ “ญุลละฮ์” หมายถึงอุจจาระ ของเสียต่าง ๆ ตลอดจนซากสัตว์ตายหรืออื่นๆที่คล้ายกัน พวกสัตว์เหล่านี้มักจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เนื้อและนมตลอดจนกลิ่นประจำตัวที่แรง อย่างไรก็ตามหากสัตว์ญะลาละฮ์ได้รับการกักและให้อาหารที่สะอาด, เป็นอาหารทั่วไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นเนื้อของมันสามารถนำมารับประทานได้ ช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 วันจนไปถึง 40 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์ตัวนั้น 

สิ่งที่ควรทราบคือสัตว์ทุกชนิดจะกินสิ่งสกปรกหรือชองเสียบางอย่าง แม้ว่ามันจะกินหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าหรือทุ่งเลี้ยงสัตว์เป็นหลักก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองนักนิติศาสตร์จึงได้เน้นว่า ญะลาละฮฺเป็นสัตว์ที่กินของเสียเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหากพวกมันกินอาหารเหล่านั้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวหรือกินเพียงเล็กน้อย เนื้อของมันจะไม่ถือว่าหะรอม จากหลักการนี้จะเห็นว่าการสรุปว่าเนื้อทั้งหมดที่มาจากอเมริกาเหนือเป็นญะลาละฮฺนั้นเป็นการสรุปที่เลยขอบเขตมากไป เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วอาหารของพวกมันเป็นธัญพืช หญ้าแห้งหรือเมล็ดพืชต่างๆ 

เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดเปอร์เซ็นต์วัตถุดิบผลพลอยได้ (by-products) จากสัตว์ที่จะใช้ในอาหารสัตว์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่นชนิดของสัตว์ที่จะให้อาหาร จุดประสงค์ของการให้อาหาร ราคาของวัตถุดิบผลพลอยได้ คุณภาพของโปรตีนและลักษณะการเลี้ยงว่าเลี้ยงในคอกหรือที่ขุนอาหารสัตว์หรือไม่ นอกจากนั้นแล้วประเทศกำลังพัฒนาจะใช้ผลพลอยได้จากสัตว์น้อยมากในการให้อาหารและประเทศยุโรปบางประเทศได้ห้ามนำเข้าด้วยเหตุผลว่ามีการกระทำทารุณต่อสัตว์ เพื่อป้องกันการเกิดและระบาดของโรควัวบ้าในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามใช้โปรตีนส่วนใหญ่ที่มาจากสัตว์ในการให้อาหารแก่สัตว์เคี้ยวเอื้อง แต่อย่างไรก็ตามกฏหมายนี้มิได้นำไปใช้กับสัตว์ปีก 

เมื่อวัตถุดิบผลพลอยได้จากสัตว์ถูกนำไปใช้ มันจะผ่านกระบวนการจัดเตรียมที่ใช้เวลานาน ซึ่งรวมไปถึงการการให้ความร้อนภายใต้แรงดันสูง การบดและการสกัด สัตว์ที่เป็นอาหารมนุษย์นี้จะไม่กินสัตว์ด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาอาจให้อาหารที่เป็นชิ้นเนื้อดิบๆจากวัตถุดิบผลพลอยได้แล้วผ่านการแปรรูปเป็นอาหารเสริมแล้วนำไปเติมในอาหารสัตว์ในปริมาณที่มากนัก

โดยสรุป การใช้วัตถุดิบผลพลอยได้เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์มิได้ทำให้อาหารนั้นเป็น “ญุลละฮ์” ดังนั้นสัตว์ที่กินอาหารเหล่านี้ไม่ควรถูกมองว่าเป็น ญะลาละฮฺ ขณะที่มีความแตกต่างทางความเห็นว่าสัตว์ญะลาละฮ์หะรอมหรือไม่ ผู้บริโภคจำนวนมากไม่นิยมรับประทานสัตว์ที่อาหารของมันเป็นวัตถุดิบผลพลอยได้จากสัตว์ (เศษซาก) แม้แต่หน่วยงานด้านเกษตรกรรมของรัฐบาลบางหน่วยงานรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจเจอโรคเนื่องจากวัตถุดิบที่เติมในอาหารสัตว์ดังกล่าว จนทำให้นักวิชาการมุสลิมต้องออกมาฟัตวาในเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องยากในการที่จะรับรองเนื้อและสัตว์ปีกดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริโภคจำนวนมากจึงหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ออแกร์นิกเช่นเนื้อหรือสัตว์ปีกออแกร์นิก นี่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตราบใดที่กระบวนการจัดการมีความสอดคล้องกับแนวทางทีอิสลามได้กำหนดไว้ เมื่อผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารออแกร์นิกมากขึ้น กฏของอุปสงค์อุปทานจะเปลี่ยนทิศทางของตลาดจากเดิม สิ่งที่เราหวังไว้อย่างสูงคือการเปิดเผยกระบวนการในการผลิตอาหารเพื่อที่ผู้บริโภคแต่ละคนจะสามารถตัดสินใจเลือกผ่านข้อมูลไม่ว่าจะยอมรับหรือปฎิเสธอาหารประเภทนี้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา www.eat-halal.com

“การให้เนื้อกุรบานและอะกีเกาะฮ์แก่คนที่ไม่ใช่มุสลิม”

:: คำถาม ::
เหตุใดเนื้อกุรบานหรือเนื้อที่ทำอะกีเกาะฮ์ จึงไม่สามารถให้กับคนที่ไม่ใช่มุสลิมได้

:: คำตอบ ::
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

นักนิติศาสตร์อิสลาม (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาพวกเขา) มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการบริจาคเนื้อที่เชือดกุรบานให้คนที่ไม่ใช่มุสลิม บางส่วนถือว่าอนุญาตและเป็นทรรศนะที่เว็ปไซต์ Islamweb ยอมรับและเราถือว่าเป็นความเห็นที่มีน้ำหนักมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำนักนิติศาสตร์ชาฟิอีย์ได้ห้ามไว้ โดยเหตุผลของการห้ามบริจาคเนื้อกุรบานให้แก่คนที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น เนื่องจากมองว่าการปฏิบัติเช่นนี้ (บริจาคเนื้อที่ทำกุรบาน) เป็นสิ่งวาญิบ และการบริจาคที่เป็นวาญิบจะต้องไม่มอบให้แก่คนที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งเป็นการเทียบเคียงกับซะกาต

และมีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาพวกเขา) มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ (มักรูฮฺ) ในการบริจาคเนื้อกุรบานแก่คนที่ไม่ใช่มุสลิม

กฎเกณฑ์ของเนื้ออะกีเกาะฮฺเป็นเช่นเดียวกับกฎเกณฑ์ของการการทำกุรบาน ตามที่นักวิชาการอิสลามได้กล่าวไว้

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

#อีดอัฎฮา#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี