“การสร้างภูมิคุ้มกันหรือฉีดวัคซีนในเด็ก “

:: [คำถาม] ::
หลักการอิสลามมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันหรือการให้วัคซีนแก่เด็ก มีหลักฐานบางอย่างบ่งบอกว่ามันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย แต่เป็นสิ่งต้องปฏิบัติในหลายประเทศ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
มีผู้ถามชัยค์ อับดุลอาซีซ บินบาซ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) ว่า กฏเกณฑ์กล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับการบำบัดรักษาก่อนที่โรคจะปรากฏ เช่น การฉีดวัคซีน

ท่านตอบว่า : ไม่ผิดแต่ประการใดในการบำบัดรักษาด้วยวิธีการนี้หากเกรงว่าอาจเกิดโรคขึ้นมาอันเนื่องมาจากมีโรคระบาดเกิดขึ้นหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรค ไม่มีความผิดแต่ประการใดในการใช้ยานี้เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดโรค เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวไว้ “ผู้ใดรับประทานอินทผลัมอัจวะฮฺ 7 เม็ดในยามเช้า พิษต่าง ๆ และไสยศาสตร์ไม่สามารถทำอันตรายแก่เขาได้ในวันนั้น” นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการป้องปัดภัยก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ดังนั้น หากเกรงกลัวจะเกิดโรคภัยและบุคคลนั้นได้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคร้ายที่เกิดในดินแดนที่เขาอาศัยอยู่หรือที่ไหนก็ตาม จะไม่เป็นความผิดบาปแต่อย่างใดจากการทำเช่นนี้ แต่ไม่อนุญาตให้แขวนหรือใช้เครื่องรางหรือของขลังเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ป้องกันญิน หรือสายตาที่อิจฉา เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ห้ามเรื่องนี้ไว้ และอธิบายว่านี่เป็นชีริกเล็ก (การตั้งภาคีย่อยๆ ) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องหลีกห่าง (ฟะตาว่า อัลชัยค์ อิบนุบาซ 6/21)

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดกับผู้ได้รับวัคซีน ไม่ว่าอาจเป็นไข้ระยะเวลาสั้นๆหรือผลข้างเคียงอื่นๆนั้น ข้อเสียนี้ควรมองข้ามไปเสียเมื่อเทียบกับอันตรายจากโรคซึ่งร้ายแรงกว่า ซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพหรือแม้แต่อาจทำให้ต้องเสียชีวิต 

กรณีนี้คล้ายคลึงกับการขลิบปลายอวัยเพศของเด็กชาย ซึ่งมีเทียบกับความเจ็บแล้วการทำเช่นนี้มีประโยชน์กว่าในแง่ศาสนาซึ่งถือว่าเป็นการทำให้สะอาดรวมถึงการได้รับประโยชน์ในทางโลกด้วย 

หลักการทั่วไปของชะรีอะฮ์อิสลามเกี่ยวกับสองสิ่งที่มีผลเสียนั้น ก็ให้เลือกทำสิ่งที่มีผลเสียน้อยกว่า กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (อัชบาฮ์ วะอัลนะซาอิรฺ โดย อัลสุบกี 1/45)

แต่หากมีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ยืนยันว่าวัคซีนบางชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอันตรายของมันมีมากกว่าประสิทธิผลในการป้องกันโรค ดังนั้นไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนดังกล่าวเพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวไว้ว่า “อย่าให้เป็นภัยแก่ตนเอง และอย่าให้เป็นภัยระหว่างกัน”

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

“การรับประทานอาหารที่ถูกปรุงอย่างไม่ถูกต้องหรืออาหารที่มีคราบเลือดติดอยู่”

:: คำถาม ::
บางครั้งอาหารที่ฉันรับประทานข้างนอกนั้นดูเหมือนว่ามันจะถูกปรุงอย่างไม่ถูกต้องและมีรอยคราบเลือดในเนื้อสัตว์ มันเคยเกิดขึ้นกับฉันซึ่งในครั้งนี้พบว่า มีเลือดที่ยังสด ๆ อาหารแบบนี้จะหะรอมหรือไม่แม้ว่าเนื้อไก่จะหะลาลก็ตาม ?

:: คำตอบ ::
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีสิ่งใดที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์

หากว่าสัตว์ที่ถูกเชือดตามหลักการอิสลาม ฉะนั้นเลือดที่ยังคงติดค้างอยู่ในเส้นเลือดดำ เนื้อ หรือในกระดูกนั้นถือว่าสะอาด อิบนุ ญะรีร เราะฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า ท่านหญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา กล่าวว่า 

“เราเคยทำอาหารในช่วงสมัยของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และฟองเลือดขึ้นมาบนหม้อ และเราก็รับประทานโดยที่ไม่มีการคัดค้านแต่อย่างใด” 
อิบนุ อบู ฮาติม เราะฮิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “เลือดที่ไหลออกมานั้นเป็นที่ต้องห้าม แต่ถ้าหากว่ามันติดอยู่กับเนื้อก็ไม่เป็นอันตรายใด ๆ”

อิหม่าม อัน นะวาวียฺ เราะฮิมาฮุลลอฮฺ กล่าวถึงเลือดที่ยังติดอยู่ในเนื้อและกระดูกว่า “แท้จริงอุลามาอฺจำนวนน้อยจากมัซฮับต่าง ๆ ของเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้” แต่อย่างไรก็ตามบรรดาอุลามาอฺในอดีตจำนวนมาก ขออัลลอฮฺทรงเมตตาให้กับพวกเขาด้วยเถิด รายงานว่า ไม่มีอันตรายใด ๆ อันเนื่องจากว่ามันมีความยุ่งยากที่จะเอาเลือดแยกออกจากเนื้อและกระดูก อันที่จริง อิหม่าม อะหฺมัด และนักปราชญ์ในมัซฮับ(สำนักคิด) ของเขา ขออัลลอฮฺทรงเมตตาให้กับพวกเขาด้วยเถิด อธิบายว่า เลือดที่ติดค้างอยู่กับเนื้อจะไม่เป็นอันตรายถึงแม้ว่ามันทั้งหมดจะถูกปกคลุมไปด้วยเลือดก็ตามเพราะมันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง ทรรศนะดังกล่าวนี้ถูกรายงานจากท่านหญิง อาอิชะฮฺ อิกริมะฮฺ อัษ-เษารียฺ อิบนุ ยุนัยนะฮฺ อบู ยูสุฟ อะหฺมัด อิสหากและคนอื่น ๆ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุม

สรุปว่า เลือดที่ยังคงติดค้างอยู่กับเนื้อหลังจากการเชือดสัตว์นั้นจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ ตามหลักการอิสลาม อัลลอฮฺเท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

……………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
อ้างอิงจาก Islamweb.net

“การรับประทานยาที่ไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้างจะทำได้หรือไม่”

:: [คำถาม] ::
ยาในอเมริกาบางตัวมี แมกนีเซียม สเตียเรต (magnesium stearate) ผสมอยู่ ซึ่งสารตัวนี้สามารถดึงมาจากสัตว์หรือพืชก็ได้ เว็ปไซต์ของมุสลิมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหะลาลและหะรอมกล่าวว่า มันเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) หากแหล่งที่มาของมันมาจากสัตว์ หากข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายไปสอบถามบริษัทผลิตยาเกี่ยวกับสถานะของมัน (ว่ามาจากสัตว์หรือพืช) พวกเขาไม่ค่อยจะยอมตอบสักเท่าไหร่
คำถามคือ เราสามารถใช้ยาที่มาจากอเมริกาหรือประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม โดยที่เราไม่รู้แหล่งที่มาของสัตว์ว่าเป็นสัตว์อะไรและเชือดถูกต้องหรือไม่ (เป็นเรื่องยากที่จะได้รับข้อเกี่ยวกับที่มาของส่วนผสมในยา)

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าของสรรพสิ่ง ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดคู่ควรแก่การเคารพภักดีเว้นแต่อัลลอฮฺ และมุฮัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

อนุญาตให้มุสลิมใช้ยาที่แพทย์ได้กำหนดให้เขาใช้ แม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง โดยพื้นฐานแล้วทุกสิ่งล้วนหะลาล และการสืบหาส่วนผสมของตัวยาอาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก อัลลอฮฺตรัสไว้มีความหมายว่า 

{และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา} (กุรอาน 22:78)

อย่างไรก็ตามหากมุสลิมทราบว่ายาเหล่านี้มีส่วนผสมที่ต้องห้าม เช่น สัตว์ตาย หมู หรือส่วนผสมที่ไม่บริสุทธิ์ (นาญิส) ดังนั้นไม่อนุญาตให้เขาใช้ตัวยานี้

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamweb.net

“การบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรและการฝังเข็ม”

รูปแบบการรักษาแบบตะวันออกโดยใช้สมุนไพรและการฝังเข็ม (ไทชิ) หะลาล หรือไม่

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ 
อนุญาตให้รักษาด้วยวิธีการนี้ได้ เนื่องจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “จงแสวงหาการบำบัดรักษาเถิด โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ แต่อย่าแสวงหาในสิ่งที่หะรอม เพราะอัลลอฮฺไม่วางการบำบัดประชาชาติของฉันในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม” การรักษาด้วยสมุนไพรจึงอยู่ภายใต้สิ่งที่ได้รับอนุมัติให้กระทำได้

กรณีนี้มิได้ขัดแย้งกับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ (ตะวักกุล) ในรายงานจากหะดีษหนึ่ง ชายคนหนึ่งได้ถามว่า “โอ้ศาสนฑูตขอของอัลลอฮฺ ท่านได้เห็นการรักษาที่ทำการรักษาหรือไม่ และท่านเห็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่เราได้ทำการปัดเป่าไหม (รุกยะฮ์) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต่อต้านกับลิขิตของอัลลอฮฺ หรือไม่” ท่านนบี ตอบว่า “ไม่หรอก มันเป็นส่วนหนึ่งจากลิขิตของพระองค์อัลลอฮฺ”

กล่าวคืออัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้คนหนึ่งป่วยแล้วพระองค์ทรงกำหนดว่าโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาและหากได้รับการรักษาด้วยยาหรือสมุนไพรก็อาจได้รับการรักษาให้หายโดยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่เราไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ รวมทั้งการใช้เข็มและสมุนไพร

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝังเข็มแบบจีน หากได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นประโยชน์ หรือประโยชน์ของมันมีมากกว่าโทษ ดังนั้นจึงไม่มีความผิดแต่ประการใดที่จะรักษาด้วยวิธีนี้ และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

“การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน : ความหมาย เป้าหมายและบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง”

โดย ดร.มุซัมมิล ศิดดีกียฺ ประธานสภาฟิกฮ (นิติศาสตร์อิสลาม) แห่งอเมริกาเหนือ
………………………………….
:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม ชัยค์ขอให้ท่านกรุณาอธิบายความหมาย เป้าหมาย กฎพื้นฐานเกี่ยวกับการถือศีลอด ญะซากุมุลลอฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน)

:: คำตอบ ::
วะอะลัยกุมสลามวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺ วะบะเราะกาตุฮฺ
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและทรงกรุณา มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบฮานะฮุวะตะอาลา) ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัดเป็น (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์

1. การถือศีลอดคืออะไร
อัลกุรอานเรียกการถือศีลอดว่า ศาวม์ คำว่าศาวม์ตามตัวอักษรหมายถึง การระงับ ในซูเราะหฺมัรยัม อัลลอฮฺทรงบอกเล่าเกี่ยวกับมัรยัมมารดาของนบีอีซา โดยนางกล่าวว่า “ฉะนั้น จงกิน จงดื่ม และจงทำจิตใจให้เบิกบานเถิด หากเธอเห็นมนุษย์คนใดก็จงกล่าวว่า ฉันได้บนการสงบนิ่งไว้ต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีฉันจะไม่พูดกับผู้ใดเลยวันนี้” (มัรยัม19:26) ความหมายคือ ฉันได้สาบานว่าจะงดเว้นจากการพูดคุยกับผู้คนในวันนี้ ในทางชะรีอะฮฺ คำว่าศาวม์ในทางชะรีอฮฺหมายถึงงดเว้นจากทุกสิ่งที่ถูกห้ามไว้ช่วงตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกโดยกระทำไปอย่างตั้งใจว่าจะถือศีลอด

2.เป้าหมายของการถือศีลอด
อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (ตักวา)” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:183) ตักวาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในแง่ของจิตวิญญาณและจริยธรรม ในคำศัพท์ของอัลกุรอาน ตักวาเป็นความรวมในด้านจิตวิญญาณและจริยศาสตร์ในอิสลาม เป็นคุณภาพที่อยู่ในชีวิตของผู้ศรัทธาที่คอยรักษาพวกเขาให้อยู่ในการตระหนักถึงการเฝ้ามองอยู่ของอัลลอฮฺตลอดเวลา

ตักวาเป็นคุณธรรม เป็นความดีและเป็นการตระหนักต่ออัลลอฮฺ ตักวาต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม การถือศีลอดสอนให้รู้จักความอดทน และด้วยความอดทนจะทำให้คนหนึ่งบรรลุถึงตำแหน่งสูงสุดของตักวา

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่าการถือศีลอดเป็นเสมือนโลห์ ซึ่งจะปกป้องคนหนึ่งจากการทำบาปและกิเลสตัณหา ตามความเห็นอิมาม อัลเฆาะซาลีย์ การถือศีลอดจะสร้างลักษณะของเศาะมาดียฺยะฮฺ (อิสระจากความต้องการ) ในตัวมนุษย์ อิมามอิบนุก็อยยิมเห็นว่าการถือศีลอดว่าเป็นวิธีการที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณมนุษย์จาก กิเลสตัณหา ซึ่งจะทำให้ความพอเพียงอยู่เหนือกิเลสตัณหา

อิมามชาห์วะลียุลลอฮฺ ดะฮฺลาวีมองว่าการถือศีลอดเป็นวิธีการที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับความน่ารังเกียจและเสริมสร้างธาตุแห่งมลาอิกะฮฺในความเป็นมนุษย์ เมาลานา เมาดูดีย์ เน้นย้ำว่าการถือศีลอดเต็มเดือนในทุกๆ ปีเป็นการฝึกฝนปัจเจกบุคคลและชุมชนมุสลิมในภาพรวมและครอบคลุม ในเรื่องของความยำเกรงและการระงับตัวเอง

3. การถือศีลอดเป็นหน้าที่ 
ในปีที่สองของการฮิจญเราะฮฺ มุสลิมได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในรอมฎอนของทุกปี อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัลบะเกาะเราะฮฺ183) อัลลอฮฺยังตรัสด้วยว่า
.
“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:185) 
.
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของการปฏิบัติในอิสลาม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า ท่านรอสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอิสลามวางอยู่บนรากฐานห้าประการ หนึ่ง การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ สองดำรงการละหมาด สามการจ่ายซะกาต สี่การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน ห้าการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ” (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

ประชาชาติอิสลามถือเป็นมติเอกฉันท์ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถ (มุกัลลัฟ)

4. บัญญัติต่างๆของการถือศีลอด
ก. ใครบ้างต้องถือศีลอด 
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งบรรลุศาสนภาวะและเป็นผู้ที่สติสมบูรณ์ ตลอดจนไม่ป่วนและมิได้อยู่ในระหว่างการเดินทาง 

ส่วนคนป่วยที่เป็นการป่วยเพียงชั่วคราวและคาดว่าจะหายเป็นปกติหลังจากนั้น จะอนุญาตสำหรับเขาหรือเธอไม่ต้องถือศีลอดในวันที่ป่วย แต่ทั้งเขาและเธอจะต้องถือศีลอดชดเชยหลังรอมฎอนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป สำหรับคนป่วยที่เรื้อรังและมีแนวโน้มว่าสุขภาพจะไม่ดีขึ้น อนุญาตให้พวกเขาไม่ต้องถือศีลอด แต่จะต้องจ่าย ฟิดยะฮฺ เป็นการทดแทน โดยจ่ายมื้ออาหารสำหรับหนึ่งวันแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป โดยเขาสามารถจ่ายเป็นเงินแทนมื้ออาหารแก่คนยากจนขัดสน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนและหลังคลอดไม่อนุญาตให้ถือศีลอดและจะต้องชดใช้หลังรอมฎอน หญิงมีครรภ์และแม่ที่ให้นมลูก ถ้าหากนางเห็นว่าเป็นเรื่องลำบาก พวกนางสามารถเลื่อนการศีลอดโดยไปชดเชยเมื่อสภาพร่างกายมีความพร้อม 

การเดินทางในทางชะรีอะฮฺนั้นคือทุกการเดินทางที่พาตัวเองออกห่างจากเมืองหรือที่พักอาศัย โดยมี่ระยะทางอย่างน้อยที่สุด 48 หรือ 80 กิโลกรัม เหมือนกับการเดินทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้ (ก็อศร์) การเดินทางต้องไปด้วยเหตุผลที่ดี และถือเป็นบาป หากจะเดินทางในรอมฎอน โดยมีเจตนาที่จะเลี่ยงการถือศีลอด มุสลิมควรจะเปลี่ยนแผนการในการเดินทางในช่วงรอมฎอนเพื่อจะได้ถือศีลอดในเดือนนี้ได้ ยกเว้นว่ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เมื่อกลับจากการเดินทาง เขาจะต้องรีบชดเท่าจำนวนวันที่ขาดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข. การถือศีลอดตามแบบอย่างท่านนบี
1) รับประทานอาหารสะฮูร (อาหารก่อนรุ่งอรุณ) เพราะเป็นซุนนะฮฺ (แบบอย่างของท่านนบี) และมีรางวัลและความประเสริฐมากมายในการับประทานอาหารสะฮูรซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เข้าเวลาละหมาดศุบฮ์
2) ละศีลอดทันทีเมื่อดวงอาทิตย์ตก ในทางชะรีอะฮฺให้ดูว่าขอบของดวงอาทิตย์หายไปจากเส้นขอบฟ้าและหายลับอย่างสมบูรณ์
3) ในช่วงระหว่างของการถือศีลอดจะต้องไม่พูดจาและกระทำสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ จะต้องไม่โต้เถียง ทะเลาะวิวาท พูดจาหยาบคาย หรือกระทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งต้องห้าม เขาจะต้องจัดระเบียบวินัยในเรื่องศีลธรรมจรรยา พร้อมทั้งการฝึกฝนทางร่างกาย เขาจะต้องไม่แสดงโอ้อวดในการถือศีลอด โดยคร่ำเคร่งกับมัน หรือแสดงปากที่แห้งอาการหิวโหย หรืออารมณ์ขุ่นมัว ผู้ที่ถือศีลอดมีความพึงพอใจด้วยจิตวิญญาณและกำลังใจที่ดี
4) ในระหว่างการถือศีลอดเขาควรจะบริจาคและทำความดีต่อคนอื่นๆให้มาก เพิ่มพูนอิบาดะฮฺและการอ่านอัลกุรอาน มุสลิมทุกคนควรพยายามที่จะอ่านอัลกุรอานอย่างน้อยจบหนึ่งครั้งในช่วงรอมฎอน

ค. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
ผู้ถือศีลอดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เสียศีลอด สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นจะต้องชดใช้สำหรับวันนั้นได้แก่
1) กิน ดื่มหรือสูบโดยตั้งใจ
2) ตั้งใจทำให้อาเจียน
3) การมีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตรแม้ว่าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกเพียงเล็กน้อยก็ตาม
4) การหลั่งอสุจิโดยเจตนา เช่น ด้วยการจูบหรือกอด เป็นต้น
5) กิน ดื่ม สูบหรือมีเพศสัมพันธ์หลังดวงอาทิตย์ขึ้นเนื่องจากเข้าใจผิดว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เช่นเดียวกับการกระทำสิ่งเหล่านี้ก่อนดวงอาทิตย์ตกโดยเข้าใจไปว่าดวงอาทิตย์ตกดินแล้ว

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงการถือศีลอดเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบาปใหญ่ ผู้ที่พลาดพลั้งกระทำไปจะต้องชดเชย (เกาะฎออ์) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ ชดเชยด้วยการถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน หลังรอมฎอน หรือเลี้ยงอาหารคนจน 60 คน สำหรับแต่ละวันที่พลาดพลั้งไป สำหรับอิมามอบูฮานีฟะฮฺเห็นว่าผู้ที่ตั้งใจกินหรือดื่มจะต้องชดเชย (เกาะฎออฺ) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺในลักษณะเดียวกัน

ง. สิ่งที่ไม่ทำให้เสียการถือศีลอด
ในระหว่างการถือศีลอดสิ่งต่อไปนี้อนุญาตให้ปฏิบัติได้
1) การอาบน้ำ หากเผลอกลืนน้ำโดยไม่ตั้งใจจะไม่ทำให้เสียศีลอด ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าการว่ายน้ำในช่วงถือศีลอดสามารถกระทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำ เพราะอาจจะทำให้น้ำเข้าทางปากหรือจมูกลงไปในกระเพาะได้
2) การใส่น้ำหอม การใส่คอนแทคเลนส์หรือยาหยอดตา
3) ฉีดยาหรือเจาะเลือด
4) ใช้มิสวาก (แท่งไม้สิวาก) หรือแปรงฟัน (แม้จะใช้ยาสีฟันด้วยก็ตาม) สูดน้ำเข้าจมูกแต่ไม่มากเกินไป (เพื่อหลีกเลี่ยงการกลือนน้ำ)
5) กิน ดื่มหรือสูบโดยมิได้ตั้งใจ เช่น ลืมว่ากำลังถือศีลอดอยู่ แต่จะต้องหยุดทันทีเมื่อนึกขึ้นมาได้แล้วถือศีลอดต่อไป
6) หากนอนในช่วงเวลากลางวันแล้วฝันเปียก สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เสียศีลอด เช่นเดียวกันกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ในเวลากลางคืนและไม่สามาถอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ก่อนรุ่งอรุณ เขาหรือเธอสามารถเริ่มถือศีลอดได้แล้วค่อยอาบน้ำยกหะดัษ ผู้หญิงที่ประจำเดือนหยุดในเวลากลางคืนอาจจะเริ่มถือศีลอดแม้ว่าเธอจะยังไม่ยกหะดัษใหญ่ (ฆุสล) กรณีนี้การอาบน้ำ (ฆุสล์) เป็นสิ่งจำเป็นแต่การถือศีลอดยังใช้ได้แม้จะยังไม่อาบน้ำในทันที
7) การจูบระหว่างสามีภรรยาเป็นที่อนุญาต แต่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ทำอะไรเลยเถิดไปกว่านี้ในระหว่างถือศีลอด

จ.สิ่งจำเป็นที่จะทำให้การถือศีลอดใช้ได้
องค์ประกอบพื้นฐานสองประการของการถือศีลอด
1) การตั้งเจตนา (นิยยะฮฺ) เขาจำเป็นจะต้องตั้งเจตนาเพื่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจในการถือศีลอดก่อนอรุณรุ่ง เจตนาไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูด แต่จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจทั้งในหัวใจและความคิด นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าการตั้งเจตนาสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวแต่ครอบคลุมทั้งเดือนโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมจะดีกว่าหากตั้งเจตนาทุกวันเพื่อให้ได้รับรางวัลอย่างเต็มที่
2) งดเว้นทุกสิ่งที่จะทำให้เสียศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ตก ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. Muzammil H. Siddiqi

#รอมฎอน#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“การดมอาหารและเครื่องดื่ม”

: : คำถาม : : 
เมื่อเรายังเด็ก พ่อแม่ได้ห้ามเราหากว่าจะลองดมอาหารหรือเครื่องดื่ม พวกเขาทั้งสองกล่าวว่าการดมอาหารนั้นเป็นที่ต้องห้าม เมื่อไม่นานมานี้ฉันได้ห้ามน้องชายไม่ให้ดมอาหาร เขากล่าวกับฉันว่า “ไม่เห็นมีฟัตวา (ข้อชี้ชาด) ห้ามในเรื่องนี้ หากว่ามีช่วยยกหลักฐานมาหน่อย” ท่านจะตอบเรื่องนี้ว่าอย่างไร ?

: : คำตอบ : : 
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ในอิสลาม มันเป็นที่ต้องห้ามที่จะหายใจลงไปในภาชนะและเป่าลงในในเครื่องดื่ม มีรายงานจาก อบู เกาะตาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ว่าท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ห้ามหายใจลงไปในภาชนะ

( نَهَى أَن يُتَنَفَّسَ فِي الإِنَاءِ)

รายงานโดยบุคอรียฺ (5630) และ มุสลิม (267)

นั่นหมายความว่ามันเป็นที่ต้องห้ามที่จะเป่าอะไรก็ตามลงไปในภาชนะของอาหารหรือเครื่องดื่ม อัช เชากานียฺ กล่าวไว้ใน นัยลฺ เอาฏ็อรรฺ (8/221) ว่า “ภาชนะนั้นรวมไปถึงภาชนะอาหารและเครื่องดื่ม” อัล หาฟิซ อิบนุ ฮาญัร (เราะฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวไว้ใน ฟัตหฺ อัล บารียฺ (10/92) “มีหะดีษจำนวนมากที่ห้ามการเป่าลงไปในภาชนะ และยังได้ห้ามไม่ให้หายใจลงในไปภาชนะ เพราะว่าอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอันเนื่องจากการหายใจ เพราะมีกลิ่นปาก กลิ่นอาหาร เป็นต้น หรือเพราะเขาไม่เคยใช้มิสวาก (ไม้ถูฟัน) หรือทำความสะอาดปากของเขาเป็นเวลานาน หรือเพราะการสูดหายใจจะทำให้เกิดไอน้ำที่มาจากท้อง ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามการเป่าลงไปในภาชนะอาหารนั้นย่อมจะเลวร้ายกว่าการหายใจ”

ชัยคฺ อุษัยมีน กล่าวใน ชัรหฺ ริยาฎุศ ศอลิฮีน (2/454) “วิทยปัญญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคือ การหายใจเข้าไปในภาชนะนั้นจะทำให้คนที่จะดื่มน้ำหลังจากเขานั้นเกิดความไม่พอใจ เป็นไปได้ที่โรคบางอย่างจากกระเพาะ ปอด หรือปากอาจจะมาจากการสูดลมหายใจที่ติดอยู่กับภาชนะ หรือเขาอาจสำลักหากว่าเขาหายใจเข้าไปในภาชนะ ด้วยเหตุนี้ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงห้ามการหายใจเข้าไปในภาชนะ ยิ่งไปกว่านั้นคน ๆ หนึ่งจะต้องหายใจสามครั้ง (ไม่ดื่มรวดเดียว) โดยการวางภาชนะออกห่างจากปากของเขาทุกครั้ง”

มีรายงานจาก อบู ซะอีด อัล คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่าท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ห้ามเป่าลงไปในเครื่องดื่ม

( نَهَى عَنِ النَّفخِ فِي الشَّرَابِ )

รายงานโดย อัต ติรมีซียฺ (1887) กล่าวว่า นี่เป็นหะดีษหะซันศอฮี้ยฺ โดยถูกจัดให้เป็นหะดีษศอฮี้ยฺ โดย อิบนุ ก็อยยิม ใน อิอฺลาม อัล มุวักกิอีน (4/317)

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน (เราะฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่าไว้ใน ชัรหฺ ริยาฎุศ ศอลิฮีน (2/457) “เพราะหากว่าบุคคลหนึ่งเป่า (เข้าไปในภาชนะ) สิ่งที่เป็นอันตรายบางอย่างอาจมากับอากาศที่ปล่อยออกมา เช่น โรค เป็นต้น” แต่อุลามาอฺบางท่านได้ยกเว้นในกรณีที่จำเป็น อย่างเช่น หากว่าน้ำมันร้อนและจะต้องดื่มมันอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้อุลามาอฺบางท่านอาจจะยินยอมให้ แต่ย่อมดีกว่าที่จะไม่เป่าลงไป แม้ว่ามันจะร้อนก็ตาม หากว่าร้อนและเขามีภาชนะอื่น เขาอาจจะเทน้ำไปมาระหว่างภาชนะจนกระทั่งมันเย็นลง
เมื่อเหตุผลสำหรับการห้ามในการเป่าหรือหายใจลงไปใจภาชนะเป็นที่เข้าใจแล้ว อุลามาอฺได้ทำการเปรียบเทียบกับทุกสิ่งที่อาจนำไปสู่การปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม อัช-เชากานียฺ กล่าวใน นัยลฺ เอาฏ็อรรฺ (8/221) “คน ๆ หนึ่งจะต้องไม่ให้หายใจลงไปในภาชนะ และเขาจะต้องไม่เรอเช่นเดียวกัน”

สำหรับกฎเกณฑ์ในเรื่องของการดมอาหารหรือเครื่องดื่ม หากว่าการดมอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นได้กระทำโดยการที่ลมหายใจจากจมูกเข้าไปในอาหาร ดังนั้นมันจึงไม่เป็นที่อนุญาตในกรณีนี้ แต่ถ้าหากว่าไม่มีการหายใจเข้าไปในภาชนะ เพียงแค่ต้องการอยากรู้ว่ากลิ่นอาหารเป็นเช่นไร เขาก็สามารถที่จะทำได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่ประการใด แต่เมื่อปากได้ถูกนำไปอยู่ใกล้อาหารหรือเครื่องดื่มมากเกินไป โดยที่จะมาพร้อมกับลมหายใจที่ออกมาจากจมูก กรณีนี้นักนิติศาสตร์บางส่วนเห็นว่ามันเป็นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่งที่จะดมอาหาร (มักรูฮฺ)

ในหนังสือ ร็อดดุล มุหฺตาร ซื่งเป็นหนังสือจากมัซฮับหะนาฟียฺ (6/340) กล่าวว่า “จะต้องไม่รับประทานอาหารขณะที่มันร้อน และจะต้องไม่ดม” ในหนังสือ มุฆนียฺ อัล มุหฺตาจญฺ (4/412) ซึ่งเป็นหนังสือจากมัซฮับชาฟีอียฺ กล่าวไว้ว่า “แต่หากใครต้องการจะดมไอน้ำที่มาจากอาหารด้วยระยะที่ห่างพอควร เพราะจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น เขาจะต้องแน่ใจว่าจะไม่มีลมหายใจเข้าออกของเขาไปถึงอาหารหรือเครื่องดื่ม ดังนั้นไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ในกรณีนี้ อินชาอัลลอฮฺ”

มุสลิมจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าอิสลามสอนมารยาททุกด้านในการดำเนินชีวิต แม้กระทั่งในเรื่องอาหารและเครื่องดื่มของเขา เขาจะต้องครุ่นคิดว่าหนังสือของนักนิติศาสตร์จำนวนมากของเรา (ขออัลลอฮฺทรงเมตตากับพวกเขาด้วยเถิด) เกี่ยวข้องกับเรื่องของมารยาทและความบริสุทธิ์สะอาด อัลฮัมดุลิลลาฮฺ

อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

……………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
อ้างอิงจาก Islamqa.com

“การใช้สารกระตุ้นหรือยาโด๊ปในการแข่งขันกีฬา”

:: [คำถาม] ::
การชื้อขายตลอดจนการใช้สารกระตุ้นหรือยาโด๊ป (performance-enhancing drugs)ในการแข่งขันกีฬานั้นหลักการอิสลามกล่าวไว้อย่างไร มีบางคนบอกกับข้าพเจ้าว่ามันไม่หะรอมเพราะมันไม่ใช่ยาเสพติดตามท้องถนน ตราบใดที่มันไม่เป็นอันตรายย่อมไม่มีความผิดใด ๆ ที่จะใช้มัน ในความเป็นจริงแพทย์ได้บอกกับข้าพเจ้าว่า ไม่ผิดอะไรที่จะใช้มัน เพราะมันไม่ได้ส่งผลร้ายต่อร่างกายแต่อย่างใด ตราบใดที่ใช้ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม อิสลามมีมุมมองเรื้องนี้อย่างไรบ้าง

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

ประการแรก: อันตรายของสารกระตุ้นที่ใช้ในการแข่งขันกีฬา สารกระตุ้นเป็นสิ่งต้องห้ามในโลกกีฬา ซึ่งครอบคลุมสารทุกชนิดที่ยกระดับสมรรถนะในการแข่งขันด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรมชาติและทำให้ชนะในการแข่งขันโดยขาดความยุติธรรม คำว่าสารกระตุ้นครอบคลุมทั้งยาที่ผลิตโดยบริษัทยา หรือสารจากธรรมชาติที่เพิ่มสมรรถนะของร่างกายอย่างผิดธรรมดา และยานี้มีผลข้างเคียงเช่นกับยาหลาย ๆ ชนิด

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้แบ่งสารต้องห้ามหรือยาโด๊ปที่ใช้ในการแข่งขันกีฬา ดังนี้
1. ยากระตุ้นประสาท Stimulants affecting the nervous system
2. ยากดประสาทDepressants affecting the nervous system
3. ฮอร์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานMetabolic hormones
4. ยาเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ vasoactive drugs 
5. ยาขับปัสสาวะ Diuretics
6. ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต Growth hormone 
7. คอร์ติโซน Cortisone

จากการวิจัยทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้ยาโด๊ป ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตเช่น อารมณ์แปรปรวน โรคซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าว ความเจ็บป่วยทางจิต วิกลจริตเป็นต้น อีกทั้งยังทำให้เจ็บป่วยทางร่างกายและโรคหัวใจ โรคไต มะเร็งต่อมลูกหมาก เพิ่มโอกาสการเป็นหมันและภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล

ความเสียหายที่ส่งผลกับร่างกายได้รับการยืนยันจากการวิจัยทางการแพทย์ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าการใช้ยาโด๊ปอาจทำให้เกิดอาการ ดังต่อไปนี้
1. การเสพติด (Addiction)
2. ภาวะซึมเศร้า (Depression)
3. โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
4. โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastritis leading to stomach ulcers)
5. การเจ็บป่วยทางจิต (Various mental illnesses)
6. นอนไม่หลับและอาการประสาทหลอน (Insomnia and hallucinations)
7. ท้องร่วงและคลื่นไส้ (Diarrhea and nausea)
8. โรคความผิดปกติในการทรงตัว (Balance disorders) 
9. โรคปอดและหัวใจ (Lung and heart disease)
10. เบื่ออาหาร (Loss of appetite)
11. กล้ามเนื้อลีบ (Muscular atrophy)
12. น้ำมูกน้ำตาไหล Increased production of tears and nasal mucus
13. ผิวหนังเป็นผื่น Skin rashes
14. อัตราการหายใจที่ลดลงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ Slowed breathing rate leading to death
15. โรคไต Kidney disease
16. มะเร็งต่อมลูกหมาก Tumors in the prostate
17. การมีลักษณะทางกายภาพของเพศชายในผู้หญิงมากขึ้น Development of male physical characteristics in females
18. การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ Impotence or sterility as a result of using testosterone (male hormone)

ประการที่สอง : กฎเกณฑ์การใช้สารกระตุ้นหรือยาโด๊ป การจะค้นหากฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก นั่นคือด้วยการสังเกตผลเสียที่มีต่อร่างกายของกีฬาเอง

จากรายชื่อโรคซึ่งเกิดจากการใช้สารกระตุ้นที่นำมากล่าวข้างต้น และจากสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวถึงเกี่ยวกับขอบเขตของอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเหล่านี้ทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้สารกระตุ้น อันเนื่องมาจากผลเสียของมันอาจนำไปสู่ความตาย อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอานมีใจความว่า

“และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ” [อันนิสาอฺ 4:29] 

“จงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศและจงทำดีเถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงชอบผู้กระทำดีทั้งหลาย” [อัลบะเกะเราะฮ์ 2:195]

อีกทั้งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “อย่าทำอันตรายตนเอง และอย่าทำอันตรายระหว่างกัน” รายงานโดย อิบนุมาญะฮ์

อิสลามห้ามไม่ให้มุสลิมทำสิ่งอันตรายจนทำให้ตนเองเสียชีวิตหรือฆ่าตัวตาย และยังห้ามทำอันตรายต่อตนเองไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม

คำตอบนี้นำมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทในหัวข้อ อันนะวาซิลฟิล อัชริบะฮ์ (ประเด็นว่าด้วยการดื่ม) หน้า 229-234 โดยชัยค์ เซน อัลอะบิดีน บุตรของอิบนุอัซวีน โดยมี ชัยค์สะอด์ อิบนุตุรกีย์ อัลกัษลานเป็นที่ปรึกษา

อัลลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การใช้ยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นที่อนุญาตหรือไม่ ?”

นักนิติศาสตร์บางท่านพิจารณาว่ายาไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นดังเช่นอาหาร พวกเขาอ้างหะดีษนี้เพื่อสนับสนุนทัศนะของพวกเขา ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “อัลลอฮฺมิทรงให้สิ่งอันเป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกท่านนำมาใช้เป็นยารักษาพวกท่าน”

ในขณะเดียวกัน นักนิติศาสตร์ท่านอื่น ๆ กลับยืนยันว่ายาเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นดังเช่นอาหาร ทั้งสองทัศนะต่างปกป้องและคุ้มครองชีวิตของมนุษย์ พวกเขากล่าวว่า ท่านรอซูลลุลลอฮฺ (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) เคยอนุญาตให้ทั้ง อับดุลเราะหฺมาน อิบนิเอาฟ และ อัซซุเบร อิบนุเอาวาม สวมใส่ผ้าไหมด้วยความจำเป็น แม้ว่าผู้ชายจะไม่ได้รับอนุญาตให้สวมมัน เพราะท่านทั้งสองต่างได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการคัน

ดูเหมือนว่าทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกลมกลืนกับเจตนารมณ์อิสลาม แต่กระนั้นก็ตาม มีเงื่อนไขบางประการที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อที่จะใช้ยาที่มีส่วนผสมหะรอม เงื่อนไขดังกล่าวอาจจะจำแนกได้ ดังนี้
1. ยาที่มีส่วนผสมที่หะรอม (แอลกอฮอล์ตามที่ระบุไว้ในคำถาม) จะต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของผู้ที่ใช้มัน
2. แพทย์มุสลิมที่มีความรู้และน่าเชื่อถือเป็นผู้แนะนำยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิดดังกล่าว
3. ผู้ป่วยไม่ได้รับอนุญาตให้เจาะจงใช้ยาชนิดนี้ในขณะที่มียาที่ได้รับอนุมัติตามหลักการชนิดอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้

…………………………………………………….
โดย ชัยคฺ ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การใช้ยาจากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์”

อิสลามกระตุ้นมุสลิมให้หาทางเยียวยารักษาโรคภัยไข้เจ็บของพวกเขา ตามที่หะดีษของท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “โอ้ บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านต้องมีการรักษาเยียวยา แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงนำโรคลงมา เว้นแต่พระองค์จะทรงให้มีวิธีการรักษามันมาด้วย” และในขณะเดียวกันมุสลิมยังถูกสั่งใช้ให้หาทางรักษาความเจ็บไข้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักการอีกด้วย

ในกรณีของการใช้ยานั้น การผลิตยาจากแหล่งที่มาที่มิใช่สัตว์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. ผลิตมาจากวัตถุดิบที่ได้รับการอนุมัติ ตัวยาก็จะเป็นที่อนุมัติ เช่น ผลิตจากสมุนไพรที่ฮาลาล 
2. ผลิตจากวัตถุดิบที่หะรอม (ต้องห้าม) หรือนะญิส (สิ่งสกปรก) ดังนั้นตัวยาจึงหะรอมตามมติของบรรดานักนิติศาสตร์อิสลาม เพราะท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “อัลลอฮฺมิทรงกำหนดให้การรักษาเยียวยาท่านมาจากสิ่งที่หะรอม(ต้องห้าม) สำหรับท่าน” (รายงานโดย อัลบุคอรีย์)

หากตัวยาทำมาจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ มันอาจจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึง จากสามกลุ่มนี้
1. หากมันมาจากสัตว์ที่เนื้อของมันสามารถรับประทานได้และได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้อง (ตามหลักการอิสลาม) เช่นนั้นแล้วตัวยานี้เป็นที่อนุมัติให้ใช้เป็นยารักษา
2. หากมันมาจากสัตว์ที่เนื้อของมันสามารถรับประทานได้แต่ไม่ได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้อง เช่นนั้นแล้ว ตัวยานี้จะไม่เป็นที่อนุมัติให้ใช้ในการรักษาเนื่องจากว่ามันหะรอม ตามหะดีษที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
3. หากมันมาจากสัตว์ที่เนื้อของมันไม่สามารถรับประทานได้ เช่นนั้นแล้ว ตัวยานี้จะไม่เป็นที่อนุมัติให้ใช้ในการรักษาเนื่องด้วยหตุผลเดียวกันกับที่ระบุไว้แล้วข้างต้น เช่น มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของสุกร

อิบนุ กุดามะฮฺ กล่าวว่า “ไม่เป็นที่อนุมัติในการรักษาเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสิ่งหะรอม หรือสิ่งอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบอันเป็นที่ต้องห้าม เช่น น้ำนมของลาตัวเมีย หรือเนื้อของสัตว์ที่ต้องห้าม เช่นเดียวกันกับการใช้ไวน์เป็นยารักษาโรค เพราะท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) เคยกล่าวเมื่อได้ถูกถามถึงไวน์อินทผลัมที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษา ว่า ‘มันไม่ใช้ยารักษา แต่มันคือโรค’ ”และในอีกรายงานหนึ่ง ท่าน (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “เป็นที่ต้องห้ามในการรักษาโรคด้วยสิ่งชั่วร้าย” อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงสร้างให้พวกท่านหายจากโรคด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามพวกท่าน” อิบนุ ฮิบบาน รายงานว่า ท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺมิทรงวางการรักษาแก่ประชาชาติของฉันในสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขา”

กฏเกณฑ์นี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในกรณีของการรับประทานซากสัตว์ด้วยความจำเป็นเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตในยามที่ไร้ซึ่งทางเลือกอื่น ๆ หรือกรณีที่ใกล้เคียงกันนี้ แต่ในกรณีของการเยียวยารักษาให้หายจากโรคเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้โอกาสและความเป็นไปได้ซึ่งมีตัวยาที่หลากหลายแก่ผู้ใช้ยาในการที่จะเลือกใช้มัน

…………………………………………………….
โดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การใช้ประโยชน์จากหอยทาก เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่มิใช่อาหาร มุมมองอิสลามมีความเห็นอย่างไร ?”

ในสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีหลายบริษัทใช้ประโยชน์จากหอยทาก อย่างเช่นเอามาทำเป็นตัวยาใช้ภายนอก

ซึ่งสังคมมุสลิมต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

อัลลอฮ์ตะอาลาได้ตรัสว่า
هُوَ الَّذِي خَلَقَ لَكُمْ مَا فِي الْأَرْضِ جَمِيعًا
พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้สำหรับพวกเจ้า (อัลบะกอเราะห์:29)

หะดีษท่านนบี (ซ.ล.) ที่ยืนยันความสะอาดที่มาจากของเหลวของสัตว์ป่า จากญาบิร บิน อับดิ้ลลาฮ์ “จากท่านนบี (ซล.) แท้จริงท่านได้ถูกถามว่า เราจะอาบน้ำละหมาดจากน้ำที่ถูกดื่มโดยลา? ท่านนบีตอบว่า ใช่ รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆด้วย” (รายงานโดย อัลบัยหะกีย์)

ความคิดเห็นของอุละมาอ์ส่วนใหญ่ระบูว่า สัตว์ทุกชนิดนั้นสะอาดยกเว้นสุนัขและสุกร อย่างเช่นความเห็นของอิหม่ามนะวะวี ในหนังสือ มัจมัวะอฺ เล่ม 1 หน้า 172 ว่า “ตามมัซฮับของเรานั้นสิ่งตกค้างจากแมวนั้นสะอาดและไม่มักโระห์ เช่นเดียวกันกับสิ่งตกค้างจากสัตว์ต่างๆ เช่น ม้า ลา สัตว์ป่า หนู งู ตุ๊กแก และสัตว์อะไรก็ตามทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้รับประทาน ดังนั้น น้ำลายและเหงื่อของสัตว์ทุกชนิดนั้นถูกพิจารณาว่า สะอาดและไม่มักโระห์ ยกเว้น สุนัขและสุกรและอะไรก็ตามที่มาจากสัตว์สองชนิดนี้เท่านั้น”

หนังสือ อัลฟิกฮ์ อัล อิสลามีย์ วะอะดิลละตุฮ์ (1/298) วะฮ์บะห์ อัซซุฮัยลีย์ ได้อธิบายว่า “ของเหลวที่มาจากสัตว์ที่สะอาดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อ น้ำลาย เสมหะ น้ำมูก และน้ำเมือก นั้นสะอาด นอกจากสิ่งที่ถูกขับถ่ายออกมาจากท้อง”

จาก อิบนุ กุดามะห์ ในหนังสือ อัลมุฆนี เล่ม1 หน้า82 ระบุว่า “แมวและสัตว์ต่างๆที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น หนู พังพอน และสัตว์ที่ใกล้เคียงนี้ ถูกพิจารณาว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน, น้ำลายของมันถือว่าสะอาด และอนุญาตให้ดื่มและใช้อาบน้ำละหมาดได้และไม่มักโระห์ นี่คือความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่, เหล่าซอฮาบะห์, ตาบิอีน จากมะดีนะห์, ชาม และ กุฟาอฺ ยกเว้น อะบี ฮะนีฟะห์, เขามีความเห็นว่ามักโระห์ในการใช้อาบน้ำละหมาดจากน้ำที่โดนแมวมาเลียดื่มกิน อย่างไรก็ตามถือว่าอนุญาต”

พวกเราตัดสินใจที่จะให้คำวินิจฉัยในเรื่อง การใช้หอยทากในจุดประสงค์อื่นนอกจากอาหาร ดังนี้:
1. หอยทากถือเป็นหนึ่งจากสัตว์ที่สะอาด
2. สถานะของหอยทากที่นำมาใช้ประโยช์อื่นๆนอกจากอาหาร อย่างเช่น ยา และเครื่องสำอางที่ใช้ภายนอก ถือว่าอนุญาต (มุบาฮ์) ตราบใดที่ยังมีประโยชน์และไม่เกิดอันตราย

……………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
………….
ที่มา: Majelis Ulama Indonesia