การใช้แอลกอฮอล์เพื่อป้องกัน COVID-19 นญิสหรือไม่?

ด้วยสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยใคร่ขอความร่วมมือพี่น้องมุสลิมทุกคนได้ยึดแนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยหนึ่งในข้อปฏิบัติคือการใช้แอลกอฮอล์และเจลแอลกอฮอล์ในการล้างมือก่อนเข้ามัสยิด จึงมีคำถามถึงประเด็นเรื่องการใช้แอลกอฮอล์เหล่านี้มากมายว่า จะเป็นสิ่งสกปรก (นญิส) และห้ามนำมาใช้หรือไม่? จึงขอนำเสนอประเภทต่างๆของแอลกอฮอล์ และไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นนญิสและห้ามนำมาใช้เสมอไป

ซึ่งคำว่า แอลกอฮอล์ในที่นี้หมายถึง เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ถูกกล่าวไว้ใน อัลกุรอาน ด้วยคำว่า คอมัร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และถูกนำมาใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ในสมัยโบราณมันถูกดื่มเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งทำมาจากการนำผลไม้ไปหมัก เช่น องุ่น และอินทผลัม ในปัจจุบันยังทำมาจากธัญพืช เช่น ข้าวไรท์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และข้าวโพด ส่วนมันฝรั่งและหางนมก็ยังนำมาใช้ในการทำแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย จึงทำให้เราทราบว่าเอทิลแอลกอฮอล์นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากคุณสมบัติของมันทำให้เกิดการมึนเมา และนักวิชาการอิสลามบางกลุ่มยังมีทัศนะว่าเอทิลแอลกอฮอล์เป็นนญิสหากสัมผัสหรือเปรอะเปื้อนบนเสื้อผ้า ต้องมีการซักล้าง ทำความสะอาดแอลกอฮอล์ให้ออกไปอีกด้วย แต่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะมีคำว่าแอลกอฮอล์ที่ปรากฏบนชื่อของสารเหล่านั้นก็ตาม อย่างเช่น

1. น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohols) ไม่ได้มีส่วนประกอบของเอทิลแอลกอฮอล์ แต่สารเหล่านี้ถูกเรียกว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสูตรทางเคมีของสารนี้ น้ำตาลแอลกอฮอล์หรือโพลีออล (polyols) นั้นเป็นสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ซึ่งทั้งหมดนั้นฮาลาล ยกเว้น Erythritol (ที่ทำโดยผ่านกระบวนการหมักที่ก่อให้เกิดแอลกอฮอล์) และถ้า Lactittol นั้นทำจากหางนม (Whey) ที่ไม่ฮาลาล(ผลพลอยได้จากการทำชีทซึ่งอาจใช้เอนไซม์จากกระเพาะหมูในการตกตะกอน) ดังนั้นสารนี้ก็ไม่ฮาลาลเช่นเดียวกัน แต่ถ้า Lactitol ทำมาจากน้ำตาลซูโครส ดังนั้นสารนี้ก็จะฮาลาลด้วย

2. ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) ยังถูกใช้ในหลายกระบวนการเช่นเดียวกับในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้านและโลชั่นบำรุงผิว ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม”แอลกอฮอล์ขจัดคราบ” นี่คือแอลกอฮอล์ฮาลาล เนื่องจากสารนี้ไม่ก่อให้เกิดการมึนเมา

3. เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) หรือเมทานอลหรือแอลกอฮอล์ไม้ และยังเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาลอีกด้วย แต่เป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นพิษถูกนำมาใช้เพื่อแปลงสภาพเอทานอลหรือแอลกอฮอล์เพื่อให้เอทิลแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติ

4. เบนซิล แอลกอฮอล์ (benzyl alcohol) นั้นเป็นสารประกอบอินทรีย์และนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในหมึก สี สารเคลือบเรซิน ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาล

5. แอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติพิเศษ และแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติโดยสมบูรณ์ (Specially Denatured Alcohol and Completely Denatured alcohol) ซึ่งเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ที่ถูกทำให้สูญเสียสภาพธรรมชาติจากเดิมด้วยการเติมสารเคมีบางอย่างเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการใช้เพื่อการบริโภค สารเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งนักวิชาการด้านศาสนา (อูลามะฮฺ) หลายท่านอนุญาตให้นำมาใช้กับผิวหนัง

6. บิวทิลแอลกอฮอล์ (Butyl alcohol) ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ ถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในสี

7. ซีทิล แอลกอฮอล์ (Cetyl alcohol) ก็ไม่ใช่ เอทิลแอลกอฮอล์ เช่นกัน แต่เป็นแอลกอฮอล์ของกรดไขมัน หรือ wax ซีทิล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู ซึ่งถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ ซีทิล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

8. สเตียรอล แอลกอฮอล์ (Stearyl alcohol) ซึ่งผลิตได้จากไขมันของกรดสเตียริก ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ มันถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สเตียรอล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันของกรดสเตียริกที่ได้จากพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ สเตียรอล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

…………………………………………………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจาก
https://www.skthai.org/th
http://www.muslimconsumergroup.com/
Riaz, M. N., and Chaudry M.M. (2004). Halal Food Production. CRC Press