จุดยืนในอิสลามเรื่องโมโนและไดกลีเซอไรด์

:: คำถาม ::
ขอความศานติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน ในขณะที่โมโนและไดกลีเซอไรด์ส่วนใหญ่ (อิมัลซิไฟเออร์ที่อยู่ในพุดดิ้ง ไอศกรีม เนยถั่ว น้ำสลัด ขนมปังและอื่น ๆ) ที่พบในตลาดนั้นมีแหล่งที่มาจากพืช (น้ำมันข้าวโพด ถั่วลิสงและถั่วเหลือง) ขณะที่บางส่วนก็มีแหล่งที่มาจากสัตว์ (วัวและสุกร) การจะทราบว่าอาหารใดบ้างที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉลากอาหารจะบอกเพียงว่าอาหารชนิดนั้นมีโมโนและไดกลีเซอไรด์เป็นส่วนประกอบ ไม่ได้บอกแหล่งที่มา ดังนั้นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถือว่าฮาลาลหรือไม่ ?

:: คำตอบ ::
ขอความศานติและความจำเริญของอัลลอฮ์จงประสบแด่ท่าน ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาปราณีเสมอ การขอบคุณและการสรรเสริญทั้งหมดเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ ขอความศานติและความศิริมงคลจงประสบแด่ท่านศาสนทูตของพระองค์

เรียนผู้ที่ส่งคำถามมา เราขอขอบคุณความเชื่อมั่นที่ดีที่ท่านมีในตัวเราและเราขอวิงวอนให้อัลลอฮ์ทรงช่วยให้เรามีความสามารถในการรับใช้อิสลามและอุทิศงานนี้ในหนทางของพระองค์

ก่อนอื่นเราต้องขอเกริ่นก่อนว่าอัลลอฮ์ทรงประทานพรแก่บ่าวของพระองค์ด้วยการสร้างสรรค์และประทานปัจจัยยังชีพทุกชนิดบนโลกใบนี้แก่พวกเขา และพระองค์ก็อนุญาตให้พวกเขาบริโภคทุกอย่างที่ฮาลาล (อนุญาต) และมีประโยชน์

อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า “มนุษย์เอ๋ย! จงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดี ๆ จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า” (อัล บะเกาะเราะฮ์ 2: 168)

อย่างไรก็ตาม อัลลอฮ์ทรงห้ามอาหารบางชนิดที่ไม่ดีและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกคนที่จะแสวงหาสิ่งที่ฮาลาลและหลีกเลี่ยงสิ่งที่หะรอม (ต้องห้าม) ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของเราอีกด้วย

กลับมาที่คำถามของท่าน เราจะอ้างอิงฟัตวา (ข้อวินิจฉัยทางศาสนา) ดังต่อไปนี้ :

โมโนและไดกลีเซอไรด์เป็นอิมัลซิไฟเออร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อิมัลซิไฟเออร์เป็นสารที่มีสมบัติละลายได้ทั้งในน้ำและน้ำมัน ช่วยลดแรงตึงผิวระหว่างของเหลว 2 ชนิด ที่ไม่ผสมน้ำมันเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำ และไม่ผสมน้ำให้เป็นเนื้อเดียวกันกับไขมัน ซึ่งสารเหล่านี้จะฮาลาลหรือหะรอมก็ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของมัน อิมัลซิไฟเออร์มีทั้งแบบที่สกัดมาทั้งจากพืชและจากสัตว์

ตัวอย่างเช่น: หมากฝรั่งอารบิก ไข่แดง (เลซิทิน) โมโนและไดกลีเซอไรด์ เกลือน้ำดี ถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีแหล่งที่มาของอิมัลซิไฟเออร์ อิมัลซิไฟเออร์ที่ได้จากเลซิทินนั้นอนุญาตสำหรับชาวมุสลิมที่จะบริโภค ส่วนอิมัลซิไฟเออร์ที่ได้จากโมโนหรือไดกลีเซอไรด์ ท่านจำเป็นต้องค้นหาแหล่งที่มาของมันเสียก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ผลิตอาหารเริ่มติดฉลากที่แสดงแหล่งที่มาของโมโนและไดกลีเซอไรด์ แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ชิ้นใดที่ไม่ได้บอกแหล่งที่มา วิธีเดียวที่จะค้นหาคือการสอบถามทางร้านเบเกอรี่หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ที่ท่านต้องการบริโภค

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับส่วนผสมของอาหาร วัตถุเจือปนในอาหาร และวัตถุกันเสียในประเทศตะวันตก และสถานะของส่วนประกอบเหล่านี้ตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม คุณสามารถศึกษาเรื่องราวเหล่านี้จากหนังสือดังกล่าวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเด็นเหล่านี้

และแท้จริงอัลลอฮ์คือผู้ทรงรู้ดีที่สุด

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: aboutislam.net