อะไรคือหลักเกณฑ์และความสำคัญของการเชือดพลี(อุฎฮียะฮฺ)

:: คำถาม ::

ช่วงเวลาใดเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการเชือดพลี? เราะจะต้องแบ่งให้แต่ละคนในครอบครัวของเราทำการเชือดพลีทุกคนหรือเพียงแค่คนเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับทั้งครอบครัว การเชือดพลีดีกว่าหรือไม่หรือเราสามารถที่จะให้เงินเป็นการบริจาคแทน? 

อ่านเพิ่มเติม “อะไรคือหลักเกณฑ์และความสำคัญของการเชือดพลี(อุฎฮียะฮฺ)”

อุฎฮียะฮฺหรือการบริจาคกับมุสลิมที่ประสบภัยพิบัติ?

:: [คำถาม] ::

อัสลามุอะลัยกุม ย่อมจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะมอบเนื้อกุรบ่านหรือบริจาคเงินให้กับพื้นที่ที่เกิดในภัยพิบัติในดินแดนของมุสลิม? .

อ่านเพิ่มเติม “อุฎฮียะฮฺหรือการบริจาคกับมุสลิมที่ประสบภัยพิบัติ?”

เนื้อสัตว์ที่ได้รับการเชือดโดยอะฮฺลุล กิตาบ (ชาวคัมภีร์)

มีการพูดคุยกันมากมายในหมู่ผู้บริโภคมุสลิมไปจนถึงนักวิชาการอิสลามในประเด็นว่าด้วยข้ออนุมัติสำหรับการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการเชือดโดยอะฮฺลุล กิตาบ (ชาวคัมภีร์) ซึ่งหมายถึงชาวยิวและชาวคริสต์ โดยทั่วไปแล้วเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเชือดโดยชาวยิวหรือชาวคริสต์เหล่านี้จะเรียกว่า เนื้อสัตว์ที่ผ่านการเชือดโดยอะฮฺลุล กิตาบ อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์ประเภทนี้กลับไม่ได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการเชือดตามหลักบทบัญญัติอิสลามที่กำหนดว่าเนื้อสัตว์ที่ฮาลาลจะต้องได้รับการกล่าววิงวอนหรือกล่าวนามของผู้เป็นเจ้าในระหว่างการเชือด

อ่านเพิ่มเติม “เนื้อสัตว์ที่ได้รับการเชือดโดยอะฮฺลุล กิตาบ (ชาวคัมภีร์)”

พัฒนาชุดเมนูอาหารหมุนเวียนต้นแบบด้านโภชนการฮาลาลสำหรับโรงเรียน | Cycle of the Halal Menu |

อาหารเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน การที่เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนมากที่สุดรองจากที่บ้านนั้น อาหารในโรงเรียนจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กและการเจริญเติบโต อาหารกลางวันเป็นมื้อที่สำคัญสำหรับเด็กในวัยเรียน เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต มีการเรียนรู้ ทำกิจกรรมต่าง ๆ จึงควรได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ สุขภาพที่ดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อรับประทานอาหารให้ถูกต้องและครบถ้วนทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย [1]

จากผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าตกใจในอีกหลายด้านที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้นับเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทุพโภชนาการมากที่สุดในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ผลสำรวจพบว่า ประมาณร้อยละ 23 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กำลังเผชิญกับภาวะเตี้ยแคระแกร็น (มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 13 เกือบสองเท่า [2] ส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กในวัยนี้มีโภชนาการที่ดีอย่างเหมาะสมและประกอบด้วยบริบทในพื้นทีเป็นเด็กมุสลิมจำเป็นต้องบริโภคอาหารที่เป็น ฮาลาลจึงได้ด้วยการจัดอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานฮาลาลโภชนาการ

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกลุ่มงานโภชนศาสตร์ โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จึงเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียนโดยพัฒนาชุดเมนูอาหารต้นแบบด้านโภชนการฮาลาลสำหรับโรงเรียน (Cycle of the Halal Menu) จำนวน 20 ชุด จากนั้นได้คำนวณเพื่อหาปริมาณพลังงานและสารอาหารที่จะได้รับโดยใช้โปรแกรม INMUCAL-Nutrients ให้ได้ตามหลักโภชนาการโดยจัดทำออกมาในรูปแบบของ E-book และวีดีโอวิธีการประกอบอาหารเพื่อนำผลที่ได้จากการพัฒนามาปรับใช้ในการปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียนให้มีคุณภาพตามหลักมตารฐานฮาลาลและโภชนาการ

Food is the cornerstone to good health, especially for children and youth. Since, after home, children and youth spend most of their time in school, school food is thus important to children’s development and growth. Lunch is an important meal for school-age children. The kids of school-age are growing, learning, and doing various activities. They should get enough energy and nutrients. Good health can be achieved when eating food correctly and completely, both in terms of quality and quantity that is appropriate to the needs of the body. [1]

The survey results also indicate alarming trends in several important areas. For example, children in the southern border region are among the most malnourished in the country. This may have a negative impact on children’s learning and development in the long run. The survey found that approximately 23 percent of children under 5 years of age in Pattani, Yala, and Narathiwat are suffering from stunting (height below the average for their age), which is almost twice as high as the national average of 13 percent. [2] One of the things that helps promote children at this age to have good, appropriate nutrition, with the fact that children in this area are Muslims who consume Halal food, is to provide quality food that meets Halal nutritional standards.

The Halal Science Center, Chulalongkorn University, collaborating with the Nutrition Group, Cho Airong Hospital, Narathiwat Province, see the importance of school lunch and thus develop a set of 20 prototype Halal menus for schools (Cycle of the Halal Menu). Then, the amount of energy and nutrients intake from each menu will be calculated using INMUCAL-Nutrients program. Information about this is presented in the form of an E-book and cooking videos. The development result will be used to prepare school lunches that are good quality according to Halal and nutritional standards.

เขียนและเรียบเรียงโดย ฟัครูดดิน ตาเปาะโต๊ะ
Written and Compiled by Fakrutdin Tapohtoh
คอลัมน์ HALAL PAKTAI จากวารสารฮาลาลอินไซต์ ฉบับที่ 76
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://www.halalinsight.org/?r3d=halal-insight-issue-76
#HALALSCIENCE#HALALINSIGHT#CHULALONGKORN_UNIVERSITY

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในอุตสาหกรรมฮาลาล

อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดโลกคาดว่าจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 [1] ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และเอเชียใต้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 [2]

อุตสาหกรรม 4.0 คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และโดดเด่นด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติขั้นสูงเพื่อสร้างโรงงานผลิตที่ชาญฉลาดและเชื่อมต่อกัน การบูรณาการนี้ช่วยให้สามารถสื่อสารแบบเรียลไทม์ การตรวจสอบระยะไกล และการรวบรวมข้อมูล ทำให้ผู้ผลิตได้รับความก้าวหน้าในด้านคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความคล่องตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยการปฏิวัติครั้งนี้โดดเด่นด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และหุ่นยนต์เข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม 4.0 สร้าง “โรงงานอัจฉริยะ” ที่เป็นอัตโนมัติขั้นสูง ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานอย่างสมบูรณ์ การปฏิวัติครั้งนี้ได้เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานด้านการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก [3]

#การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม4.0ในอุตสาหกรรมฮาลาล

1. การใช้งาน Internet of Things (IoT) เป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ช่วยให้สามารถติดตามและควบคุมกระบวนการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ในอุตสาหกรรมฮาลาล IoT สามารถช่วยติดตามตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์จนถึงการผลิตและจัดส่ง ช่วยให้ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

2. การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) AI สามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ความต้องการของตลาดเพื่อปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยในการทำนายแนวโน้มตลาดและการจัดการสต็อกสินค้า

3. การใช้งาน Big Data และ Data Analytics การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจแนวโน้มตลาด พฤติกรรมการบริโภค และการตอบสนองต่อแคมเปญต่างๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ช่วยให้สามารถทำการตลาดและกำหนดกลยุทธ์ที่ตรงจุดมากขึ้น

4. การใช้งานเทคโนโลยี Blockchain โดยเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมาใช้ในการรับรองความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มาและการจัดการผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่งเสริมความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

5. การปรับปรุงความปลอดภัยและการตรวจสอบคุณภาพ นอกจากอุตสาหกรรม 4.0 ในภาคฮาลาลไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลก โดยเทคโนโลยีอย่าง AI และ IoT ไม่เพียงแต่เพิ่มความสามารถในการตรวจสอบกระบวนการผลิตในแบบเรียลไทม์เท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำระบบการตรวจจับและการเฝ้าระวังที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI มาใช้ ผู้ผลิตสามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติและป้องกันการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทันที การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยให้แน่ใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นผ่านกระบวนการที่เข้มงวดและเป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล

6. การเพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความโปร่งใสในอุตสาหกรรมฮาลาล ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain กับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแต่ละขั้นตอนของการผลิต สามารถถูกบันทึกและตรวจสอบย้อนกลับได้โดยสาธารณะ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มาและกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่พวกเขาบริโภคได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเพิ่มความไว้วางใจและความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคฮาลาลอีกด้วย

7. การเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานอัตโนมัติ โดยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าโดยอัตโนมัติได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการลดต้นทุนและเวลาในการผลิต และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตและความแม่นยำในการผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพสูงด้วย การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับงานที่ซ้ำซากจำเจในโรงงานช่วยให้สามารถจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ไปทำงานที่ต้องการทักษะและการตัดสินใจที่สูงกว่า [4-8]

การบูรณาการของเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในอุตสาหกรรมฮาลาล สร้างโอกาสในการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด ไม่เพียงแต่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดฮาลาลที่กำลังเติบโตเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือในระดับโลกอีกด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยให้อุตสาหกรรมฮาลาลไม่เพียงแต่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล แต่ยังสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย คุณภาพสูง และผลิตอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
…………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ

Ref.
[1] ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเชียงใหม่, “อุตสาหกรรมฮาลาลโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรพลาด”. [online]. Available: https://www.facebook.com/photo/?fbid=408018651559106&set=a.232939859066987. [Accessed: 17-April-2024]
[2] รัฐบาลไทย, “รองรัดเกล้าฯ เผย ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ร่างแผนปฏิบัติการฯ 5 ปี และตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาล”. [online]. Available: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/79504. [Accessed: 17-April-2024]
[3] Smart Factory, “How Industry 4.0 is Revolutionizing Manufacturing Operations?”. [online]. Available: https://www.smartfactorymom.com/…/how-industry-4-0-is…/. [Accessed: 17-April-2024]
[4] Zaidi, Mohamad Faizal Ahmad. “Propositions on the relationships between technology complexity, industry 4.0, and halal sustainability.” Journal of Engineering and Science Research 4.1 (2020): 52-58.
[5] Kurniawati, Dwi Agustina, et al. “Toward halal supply chain 4.0: MILP model for halal food distribution.” Procedia Computer Science 232 (2024): 1446-1458.
[6] bin Illyas Tan, Mohd Iskandar. “Halal Industry and the Fourth Industrial Revolution (4IR).” Technologies and Trends in the Halal Industry. Routledge 23-38.
[7] Nurshafaaida, Mohamad Rani, et al. “Industrial Revolution 4.0 Halal Supply Chain Management: A Theoretical Framework.” International Journal of Arts Humanities and Social Sciences Studies 5 (2020): 31-36.
[8] Ahyani, Hisam, et al. “THE POTENTIAL OF HALAL FOOD ON THE ECONOMY OF THE COMMUNITY IN THE ERA OF INDUSTRIAL REVOLUTION 4.0.”

ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของการประเมินดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลกปี 2024

รายงานจากเดือนพฤษภาคมปี 2024 ที่ผ่านมา ทางมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง ได้จัดทำรายงานดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก ปี 2024 หรือ The Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index 2024 : GMTI) ซึ่งเป็นการจัดอับดับการท่องเที่ยวฮาลาลหรือจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิมจาก 145 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการจัดอันดับดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลก พร้อมทั้งให้ข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับตลาดการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญของการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม แนวโน้ม โอกาสและประเด็นสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงศึกษาประชากรศาสตร์และผลกระทบทางเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวมุสลิม

จากจำนวนประชากรมุสลิมโลกปัจจุบันปี 2024 มีจำนวน 2.12 พันล้านคน และคาดว่าในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.47 พันล้านคนในปี 2024 [1] ประเทศไทยมีจำนวนประชากรมุสลิมประมาณ 3.64 ล้านคน [2] มีมัสยิดประมาณ 4,059 แห่ง [3] ซึ่งร้อยละ 85 อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ แต่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลกอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือกลุ่ม OIC รองจากประเทศสิงค์โปร์ สหราชอาณาจักร ไต้หวันและฮ่องกง และอยู่ในอันดับที่ 32 ของการจัดอันดับทั้งหมด จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับจำนวน 145 ประเทศ

กรอบการประเมินดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกได้ใช้ ACES 3.0 Framework ซึ่งเปิดใช้ครั้งแรกในปี 2017 ครอบคลุมการประเมินการเดินทางที่เป็นมิตรของชาวมุสลิม ACES ที่ย่อมาจาก A: Access การเข้าถึงหรือการเดินทางเข้าประเทศ C : Communications การสื่อสาร หรือการเข้าถึงกลุ่มตลาดและการสื่อสารไปยังตลาดกลุ่มเป้าหมาย E : Environment สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว และ S : Service บริการ หรือการให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางชาวมุสลิม จากจำนวนคะแนนการประเมินทั้งหมด 100 คะแนน แบ่งประเด็นการประเมินที่ประกอบด้วย

1. การบริการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก (service) ร้อยละ 40 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริการด้านฮาลาล ประกอบด้วย การบริการสถานที่ละหมาด (10%) อาหารฮาลาล (10%) สนามบินที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม (10%) โรงแรมหรือที่พักที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม (5%) และ มรดกทางวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่สะดวกในการเดินทาง (5%)

2. สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทาง (Environment) ร้อยละ 30 ประกอบด้วย ความปลอดภัยโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยว (10%) ข้อจำกัดหลักศรัทธา (5%) เช่น ข้อจำกัดการแต่งกายของนักท่องเที่ยวหญิงมุสลิมที่จะส่งผลต่อการประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5%) การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก (5%) และจำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมในจุดหมายปลายทาง (5%)

3. การเข้าถึงและการสื่อสาร (C: Communications) ร้อยละ 15 ประกอบด้วย การตลาดปลายทาง (5%) ในส่งเสริม บริการและอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม ความสามารถในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว (5%) และการตระหนักรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อความชอบและความต้องการของนักท่องเที่ยว (5%)

4. ความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ (Access) ร้อยละ15 ประกอบด้วย ข้อกำหนดด้านวีซ่าของนักท่องเที่ยว (5%) การเชื่อมต่อและความถี่ของเที่ยวบิน (5%) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง (5%) ที่อำนวยความสะดวก การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวของจุดหมายปลายทาง [1]

จึงถือได้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศไทยที่ต้องการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ควรจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม เช่น ร้านอาหารฮาลาล สถานที่ละหมาด และอื่นๆ ในเมืองหลักของการท่องเที่ยว ผู้ให้บริการควรมีความรู้พื้นฐานและความเข้าใจในข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวมุสลิมในเบื้องต้น นอกจากนี้ การสื่อสาร การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การทำการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวโดยตรงไปยังเป้าหมายและสร้างการรับรู้ว่าประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม การเพิ่มสถานที่ละหมาดและการบริการอาหารฮาลาลในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของไทย รวมทั้งการสื่อสารที่เจาะไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ หรือภาษามาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

ท้ายสุดนี้ เครื่องหมายฮาลาลของสถานที่ท่องเที่ยวที่บริการอาหารฮาลาล ถือเป็นมาตรฐานสากลและเป็นหัวใจสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อีกด้วย
……………………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
………………..
Ref.
[1] The Mastercard-Crescent Rating. 2024. Global Muslim Travel Index 2024 [Online]. [cited 2024 Jul 5]. Available from: https://www.crescentrating.com/…/global-muslim-travel…
[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2561). จำนวนศาสนิกชนจำแนกตามศาสนา พ.ศ. 2551 2554 2557 และ 2561. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567 จาก http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/04.aspx
[3] สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย. (2567). สถิติจำนวนมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567 จาก https://www.facebook.com/profile/100066664478238/search/?q=%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%94%202566

อีด อัฎฮา คืออะไร ?

เมื่อสิ้นสุดจากเทศกาลฮัจญ์ (การเดินทางไปแสวงบุญประจำปี ณ นครมักกะฮฺ) ชาวมุสลิมทั่วโลกจะร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลวันหยุด อีด อัฎฮา (เทศกาลแห่งการรำลึกถึงการเสียสละ) เทศกาลรื่นเริงประจำปีของชาวมุสลิมนี้จะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุล ฮิจญะฮฺ (ชื่อเดือนที่ 12 ตามปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม) ซึ่งในปีนี้จะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน

:: อีด อัฎฮา เป็นเทศกาลที่รำลึกถึงอะไร ? ::

ในระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ มุสลิมจะต้องรำลึกถึงบททดสอบและชัยชนะของท่านนบีอิบรอฮีม

ในอัลกุรอานได้อธิบายคุณลักษณะของนบีอิบรอฮีมดังนี้

“แท้จริง อิบรอฮีมนั้นเป็นแบบอย่างอันดีเลิศ เป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้เที่ยงธรรม และเขามิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี เป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อความโปรดปรานของพระองค์ พระองค์ทรงเลือกเขา และทรงชี้แนะทางแก่เขาสู่ทางที่เที่ยงตรง” (สูเราะฮฺ อัน นะหลฺ 16:120 – 121)

หนึ่งในบททดสอบครั้งสำคัญของท่านนบีอิบรอฮีมคือการที่ท่านได้รับคำบัญชาจากอัลลอฮฺให้เชือดพลีลูกชายของท่าน (นบีอิสมาอีล) เป็นการถวายให้แก่พระองค์ เมื่อได้ยินคำสั่งเช่นนี้ท่านนบีอิบรอฮีมก็น้อมรับที่จะยอมทำตามคำบัญชาของพระองค์ แต่เมื่อท่านนบีอิบรอฮีมแสดงท่าทีถึงความพร้อมในการเผชิญกับบททดสอบแห่งการเสียสละครั้งนี้ อัลลอฮฺก็ได้ทรงประทานสัญญานแห่งการเปิดเผยแก่ท่านนบีอิบรอฮีมก่อนว่า แท้จริง “การเสียสละ” ของเขาครั้งนี้ได้ประสบผลสำเร็จแล้ว ซึ่งท่านนบีอิบรอฮีมได้แสดงให้เห็นว่าความรักของท่านที่มีต่อผู้เป็นเจ้านั้นอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้ว่าท่านจะต้องสละชีวิตของท่านเองหรือคนรักของท่าน ท่านก็พร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อแสดงถึงการยอมจำนนโดยสิ้นเชิงต่อพระผู้เป็นเจ้า

:: ทำไมชาวมุสลิมต้องเชือดสัตว์พลีในวันนี้ ? ::

ในช่วงเทศกาลอีด อัฎฮา ชาวมุสลิมจะทำการรำลึกถึงบททดสอบของท่านนบีอิบรอฮีมด้วยการกุรบาน หมายถึงการเชือดอูฐ วัว (ควาย) แพะ หรือ แกะในวันอีด อัฎฮา และวันตัชรีก (หลังวันอีด อัฎฮา 3 วัน) เพื่อให้ตนนั้นได้ใกล้ชิดต่อผู้เป็นเจ้า

การทำ ‘กุรบาน’ ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่คนไม่ใช่มุสลิมมีความเข้าใจผิดต่อศาสนกิจครั้งนี้อยู่เสมอ

อัลลอฮฺได้ทรงประทานอำนาจและเกียรติแก่มนุษย์เหนือสัตว์ ซึ่งพระองค์ได้อนุญาตให้เราบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อประทังชีวิตได้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่าสัตว์ที่เรานำไปใช้บริโภคนั้นจะต้องผ่านการกล่าวนามของผู้เป็นเจ้าขณะเชือด โดยพื้นฐานแล้ว ชาวมุสลิมเชือดสัตว์ในลักษณะเดียวกันนี้ตลอดทั้งปี ด้วยการเอ่ยนามของผู้เป็นเจ้า (บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร) ขณะทำการเชือด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่คอยย้ำเตือนและให้เรารำลึกถึงความหมายและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต

เนื้อที่ได้จากกุรบานในวันอีด อัฎฮา ส่วนใหญ่จะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับผู้อื่น โดยเนื้อที่ได้จะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนเท่ากัน ส่วนหนึ่งจะแบ่งบริโภคภายในครอบครัวและเครือญาติใกล้ชิด ส่วนที่สองจะแบ่งให้กับเพื่อนฝูงมิตรสหาย ส่วนสุดท้ายจะนำไปแจกจ่ายให้กับคนยากจน การกระทำเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งความเต็มใจที่จะมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่กัน ตามคำบัญชาของผู้เป็นเจ้า อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความเต็มใจที่แสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากปัจจัยที่เรามีเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมิตรภาพและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มันเป็นการตระหนักสำนึกถึงความโปรดปรานที่เราได้รับจากผู้เป็นเจ้า และเราควรเปิดใจและแบ่งปันความโปรดปรานที่เราได้รับให้กับคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเข้าใจว่า ‘การเสียสละ’ ที่ปฏิบัติกันในหมู่ชาวมุสลิมจากการเชือดพลีนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการชดใช้บาปหรือใช้เลือดเพื่อชำระตัวเองจากบาป ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดที่คนรุ่นก่อนเคยประสบ ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า

“เนื้อของมันและเลือดของมันหาได้บรรลุสู่อัลลอฮฺไม่ แต่ที่จะบรรลุถึงพระองค์ก็เพียงความยำเกรงที่มีมาจากพวกเจ้าเท่านั้น เช่นนั้น เราได้อำนวยประโยชน์ของมันแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้สดุดีในความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ เนื่องเพราะพระองค์ได้ทรงชี้นำพวกเจ้า และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่มวลผู้กระทำความดีเถิด” (สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ 22:37)

ความหมายที่อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติเหล่านี้นั้นอยู่ที่ทัศนคติ ซึ่งก็คือความประสงค์อย่างเต็มหัวใจของเราที่จะเสียสละและอุทิศชีวิตเพื่อยืนหยัดอยู่บนเส้นทางอันเที่ยงตรง เราทุกคนต่างก็ต้องเสียสละกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นความสนุกหรือความสำคัญสำหรับเรา มุสลิมที่แท้จริงซึ่งเป็นผู้ยอมจำนน ยอมตน และยอมตามอย่างสิ้นเชิงต่อผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ที่เต็มใจน้อมรับที่จะปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์โดยบริบูรณ์ ด้วยหัวใจอันมั่นคง ศรัทธาอันบริสุทธิ์ และการเชื่อฟังด้วยความเต็มใจนั่นเองที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จากเรา

:: นอกจากนี้แล้ว ชาวมุสลิมมีการปฏิบัติอะไรอื่นในเทศกาลนี้อีกบ้าง ? ::

ในเช้าวันแรกของวันอีด อัฎฮา ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเข้าร่วมพิธีละหมาดตอนเช้า ณ บริเวณลานกว้างหรือตามมัสยิดท้องถิ่นของตน หลังจากประกอบพิธีละหมาดเสร็จสิ้นแล้ว ชาวมุสลิมก็จะเดินทางเยี่ยมเยียนครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงเพื่อทำการแลกเปลี่ยนคำอวยพรและของขวัญ บ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวจะกลับไปยังหมู่บ้านและจัดเตรียมการเชือดกุรบาน ซึ่งเนื้อสัตว์ที่ได้จากกุรบานจะถูกแจกจ่ายไปยังผู้คนในช่วงเทศกาลหรือไม่นานหลังจากนั้น

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี

#อีดอัฎฮา#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

อะไรคือเงื่อนไขของเนื้อกุรบาน (อุฎฮิยะฮฺ) ในหลักการอิสลาม?

:: คำถาม ::

อัสลามุอะลัยกุม ท่านพอจะมีฟัตวา (ข้อชี้ขาดปัญหาศาสนา) ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวคิดและเงื่อนไขของการเชือดสัตว์พลีหรือไม่?

:: คำตอบ ::

วะอะลัยกุมมุสสะลาม

เราขอขอบคุณอย่างยิ่งและมีความซาบซึ้งเป็นอย่างมากสำหรับความไว้วางใจที่ท่านได้มอบให้กับเรา เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้เราบรรลุถึงความคาดหวังเหล่านี้และทำให้เราสามารถปฏิบัติภารกิจของเราที่มีต่อประชาชาติอิสลาม

สำหรับคำถามของท่านเกี่ยวกับการเชือดพลีในอิสลาม (หรือที่เรียกในภาษาอาหรับว่า อุฎฮิยะฮฺ) เราขอย้ำว่า อุฎฮิยะฮฺเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอย่างหนึ่งในอิสลาม ในการที่เราจะได้รำลึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอัลลอฮฺ ความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อเราและการภักดีของท่านนบีอิบรอฮีม ผู้ซึ่งเป็นบิดาของเราและในการทำอุฎฮิยะฮฺนี้ มีความความดีและความจำเริญอันมากมาย ดังนั้นมุสลิมจะต้องเอาใจใส่ต่อความสำคัญอันยิ่งใหญ่นี้ ต่อไปนี้จะขอสรุปให้เห็นถึงพิธีกรรมที่สำคัญนี้

อุฎฮิยะฮฺเป็นการพาดพิงไปยังสัตว์ (อูฐ วัว ควาย หรือแกะ) ในการเชือดพลี นี่เป็นการทำการอิบาดะฮฺอุทิศเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเท่านั้น อุฎฮิยะฮฺเกิดขึ้นในประเทศที่ผู้คนทำการเชือดสัตว์พลีอาศัยอยู่ ในช่วงเวลาหลังจากละหมาดอีดในวันนะหฺรฺหรือวันอีด อัฎฮา จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของตัชรีก (วันที่ 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ) ด้วยเจตนาของการเชือดสัตว์พลี ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า “ดังนั้นเจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” สูเราะฮฺ อัล เกาษัร อายะฮฺที่ 2

พระองค์ทรงตรัสด้วยว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น” สูเราะฮฺ อัล อันอาม อายะฮฺ 162

“และสำหรับทุ ๆ ประชาชาติเราได้กำหนดสถานที่ทำพิธีกรรม เพื่อพวกเขาจักได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา คือสัตว์สี่เท้า (เช่น อูฐ วัว แพะ แกะ) ฉะนั้นพระเจ้าของพวกเจ้าคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้นสำหรับพระองค์เท่านั้น พวกเจ้าจงนอบน้อมและจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผุ้จงรักภักดีนอบน้อมถ่อมตนเถิด” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 34

อุฎฮิยะฮฺ เป็นซุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ(ที่เน้นหนัก) ตามทรรศนะของผู้รู้ส่วนใหญ่ ผู้รู้บางคนกล่าวว่ามันเป็นวาญิบ (บังคับ) เสียด้วยซ้ำ เรื่องนี้จะอภิปรายในรายละเอียดดังต่อไปนี้

หลักการพื้นฐานนั้นจะต้องกระทำตามเวลาที่กำหนดจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในนามของตนเองและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวของเขา และเขาอาจรวมรางวัลการตอบแทนแก่ใครก็ได้ตามที่ปรารถนาทั้งยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว

:: เงื่อนไขของอุฎฮิยะฮฺ ::

1. สัตว์จะต้องมีอายุตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งแกะจะต้องมีอายุ 6 เดือน แพะต้องมีอายุ 1 ปี วัวต้องมีอายุ 2 ปี และอูฐต้องมีอายุ 5 ปี

2. สัตว์ต้องสมบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่องเนื่องจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “4 ประการที่ไม่สามารถทำการเชือดสัตว์พลี สัตว์มีตาเดียวที่มีรอยตำหนิอย่างชัดเจน สัตว์ป่วยที่มีอาการป่วยอย่างชัดเจน สัตว์พิการที่มีความพิการอย่างชัดเจนและสัตว์ที่ผอมแห้งมีแต่กระดูก (ศอฮี้ยฺ อัล ญามิอฺ หมายเลข 886)

ส่วนการมีข้อตำหนิเพียงเล็กน้อยนั้นไม่ทำให้สัตว์ขาดคุณสมบัติ แต่มันเป็นมักรูฮฺ (เป็นที่น่ารังเกียจ) ที่จะทำการเชือดพลีสัตว์ เช่น สัตว์ที่เขาหรือหูนั้นหายไป หรือสัตว์ที่มีรอยถลอกที่หูของมัน อุฎฮิยะฮฺนั้นคือการกระทำของการอิบาดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺ คือความดีงามที่จะทรงตอบแต่สิ่งที่ดีเท่านั้น ใครก็ตามที่ให้เกียรติกับศาสนาของอัลลอฮฺ ดังนั้นจะต้องกระทำสิ่งดังกล่าวนี้ด้วยหัวใจที่มีศรัทธาแรงกล้า

3. ห้ามขาย หากว่าสัตว์ตัวหนึ่งถูกเลือกมาเพื่อทำการเชือดพลี ดังนั้นมันจึงไม่อนุมัติให้ขายมันหรือแจกจ่ายมันไปในทางอื่นๆ นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ดีกว่า หากว่าสัตว์นั้นคลอดลูกออกมา ลูกของมันควรจะถูกเชือดพลีไปพร้อมกับมันด้วย นอกจากนี้ยังอนุญาตที่จะขี่มันหากว่ามีความจำเป็น
หลักฐานสำหรับเรื่องนี้มีรายงานจากอิหม่าม บุคอรียฺและมุสลิมจากอบู ฮุรอยเราะฮฺ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เห็นชายคนหนึ่งกำลังขี่อูฐและบอกกับเขาว่า “จงขี่มัน” ท่านกล่าวว่า “มันเป็นสัตว์เพื่อการเชือดพลี” ท่านกล่าวเป็นครั้งที่สองและสามอีกว่า “จงขี่มัน”

4. จะต้องเชือดสัตว์พลีในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งเกิดเริ่มต้นหลังจากการละหมาดและการคุฏบะฮฺของวันอีด ไม่ใช่เริ่มเมื่อตอนละหมาดและคุฏบะฮฺกำลังเริ่มขึ้น จนกระทั่งถึงตะวันตกดินของวันตัชรีกสุดท้าย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ทำการเชือดสัตว์พลีก่อนละหมาด เขาจะต้องทำการเชือดสัตว์พลีอีกครั้ง (เพราะการเชือดสัตว์พลีก่อนละหมาดไม่นับว่าเป็นกุรบ่าน)” (บุคอรีย์และมุสลิม)

ท่าน อาลี บิน อบี ฏอลิบ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “วันแห่งนะหฺรฺหรือการเชือดสัตว์พลีนั้นเป็นวันอัฎฮาและสามวันหลังจากนั้น” นี่คือทรรศนะของหะซัน อัล บัศรียฺ อะฏออฺ บิน อบู เราะบาหฺ อัล เอาซาอียฺ อัช ชะฟาอียฺ และอิบนุ อัล มุนซิร รอหิมาฮุมุลลอฮฺ

:: จะต้องทำอะไรบ้างกับการเชือดสัตว์พลี ? ::

1.มันเป็นมุสตะฮับหรือส่งเสริมให้กระทำสำหรับคนที่ทำการเชือดสัตว์พลีที่จะไม่รับประทานสิ่งใดในวันนั้นก่อนที่เขาจะรับประทานมันหากว่าเป็นไปได้ เนื่องจากหะดีษของท่านนบี กล่าวว่า “แต่ละคนจะต้องรับประทานจากการเชือดพลีของเขา” (ศอฮี้ยฺ อัล ญามิอฺ 5349) การรับประทานสิ่งนี้จะต้องหลังจากละหมาดและคุฏบะฮฺอีดแล้ว นี่คือความเห็นของบรรดาผู้รู้ รวมไปถึง ท่านอลี บิน อบี ฏอลิบ อิบนุ อับบาส อิหม่าม มาลิก อิหม่าม อัช-ชะฟีอียฺและคนอื่น ๆ หลักฐานสำหรับเรื่องนี้คือหะดีษของบุรอยเฎาะฮฺ รดิยัลลอฮุ อันฮุ “ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม จะไม่ออกไปในวันอีดฟิตรีจนกว่าท่านจะรับประทาน และท่านจะไม่กินในวันอีดอัฎฮาจนกว่าท่านจะทำการเชือดสัตว์พลี” (อัล บานียฺ กล่าวว่า สายรางานของมันนั้นศอฮี้ยฺ อัล มิชกาต 1/452)

2. จะเป็นการดีกว่าการที่บุคคลหนึ่งทำการเชือดสัตว์พลีด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากว่าเขาไม่เชือด สมควรอย่างยิ่งที่เขาจะต้องปรากกฏตัวขณะที่มีการเชือด

3. ส่งเสริมที่จะให้แบ่งเนื้อออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกสำหรับการบริโภคเอง ส่วนที่สองสำหรับการแจกจ่ายเป็นของขวัญ และอีกส่วนเป็นการแจกจ่ายในการบริจาค นี่คือทรรศนะของอิบนุ มัสอูดและอิบนุ อุมัร รอดิยัลลอฮุ อันฮุมา บรรดาผู้รู้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามันไม่เป็นที่อนุญาตที่จะขายเนื้อ ไขมันหรือหนังของมัน

ในหะดีษ ศอฮี้ยฺ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ขายหนังของเนื้อสัตว์เชือดพลี นั้นจะไม่นับว่าเป็นการเชือดพลีสำหรับเขา” ศอฮี้ยฺ อัล ญามิอฺ 6118

จะต้องไม่มอบส่วนใดเป็นค่าตอบแทนแก่คนเชือดหรือชำแหละเนื้อ เนื่องจาก ท่านอบี บิน อบี ฏอลิบ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม สั่งให้ฉันเอาใจใส่กับการเชือดสัตว์พลีและแจกจ่ายเนื้อและหนังของมันในการบริจาค และจะต้องไม่ให้ (เนื้อกุรบ่าน) ส่วนใดก็ตามกับคนฆ่าหรือและชำแหละเนื้อเป็นค่าตอบแทน” ท่านกล่าวว่า “แต่เราจะให้อย่างอื่นจากสิ่งที่เรามี” (บันทึกโดย บุคอรียฺและมุสลิม)

แต่มีบางส่วนกล่าวว่าอนุญาตที่จะมอบเนื้อ (กุรบาน) บางส่วนให้กับคนฆ่าและชำแหละเป็นของขวัญ และเป็นที่อนุญาตที่แจกจ่ายบางส่วนให้กับคนที่ไม่ใช่มุสลิม หากว่าเขาเป็นคนจน เป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อที่จะให้เปิดหัวใจของเขามาสู่อิสลาม

อัลลอฮฺเท่านั้นผู้ทรงรู้ดียิ่ง
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก www.witness-pioneer.net
#อีดอัฎฮา#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

เราจะแบ่งเนื้อกุรบ่านอย่างไร ? ตอบโดย Mufti Sheikh Muhammad Saleh Al-Munajjid

:: คำถาม ::

ชัยคฺครับ เราจะแบ่งเนื้อกุรบ่านกันอย่างไรครับ ?

:: คำตอบ ::
.
มุสลิมจะทำการเชือดพลีในช่วงอีดอัฎฮาซึ่งเป็นการดำเนินตามแบบอย่างของท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลามผู้ซึ่งจะทำการเชือดลูกชายของท่านเองนั่นคือ นบีอิสมาอีล อะลัยฮิสลาม เพื่อเป็นการเชื่อฟังในคำบัญชาจากผู้เป็นเจ้า เมื่อท่านนบี อิสมาอีลถูกทดแทนด้วยการนำแกะหนึ่งตัวมาให้กับท่านนบีอิบรอฮีมโดยมะลาอิกะฮฺ ญิบรีล มะลาอิกะฮฺได้นำคำบัญชาจากอัลลอฮฺมาให้กับท่านนบีอิบรอฮีมโดยการเชือดแกะหนึ่งตัวเป็นการทดแทน

ซึ่งคำถามนี้จะตอบโดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด นักบรรยายและนักเขียนที่มีชื่อเสียงจากประเทศซาอุดิอารเบีย

คำสั่งในการที่จะมอบกรุบ่าน (การเชือดพลี) เป็นการบริจาคนั้นมีรายงานอยู่ในหะดีษเป็นจำนวนมากและอนุญาตที่จะรับประทานบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน

อิหม่ามบุคอรียฺและอิหม่ามมุสลิม รายงานว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รดิยัลลอฮุ อันฮา กล่าวว่า “ในสมัยท่านนบี (ยังมีชีวิต)ได้มีอาหรับทะลทรายที่ยากจนค่อย ๆ เดินมุ่งไปยังที่เชือดกุรบานในช่วงอีดอัฎฮา ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “จงเก็บเนื้อเป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นส่วนที่เหลือจงแจกจ่ายเพื่อเป็นเศาะดาเกาะฮฺ” เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้กล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูล มีคนจำนวนมากได้ทำถุงน้ำใส่น้ำและชำแหละเอาไขมันของมันออกไป ท่านนบีจึงถามว่า “ทำไมกัน” พวกเขากล่าวว่า “ท่านห้ามกินเนื้อสัตว์กุรบานเกินสามวัน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ที่ฉันห้ามพวกท่านเพราะอาหรับทะเลทรายจำเป็นต้องได้รับบริโภคมัน แต่ตอนนี้พวกท่านจงกิน จงเก็บไว้และจงแจกจ่าย (บริจาค)”

อิหม่าม นะวาวียฺให้ข้อคิดในถ้อยคำที่ว่า “ก่อนหน้านี้ที่ฉันห้ามพวกท่าน” … “แต่ตอนนี้พวกท่านจงกิน จงเก็บไว้และจงแจกจ่าย (บริจาค) ” ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การห้ามเก็บเนื้อกุรบ่านเกินสามวันจะไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป ซึ่งรวมไปถึงคำสั่งให้กินและให้แจกจ่าย(บริจาค)

ส่วนเรื่องของสัดส่วนในการแบ่งอาหารเพื่อการบริจาคนั้น หากว่ามันเป็นการเชือดพลีโดยสมัครใจ ดังนั้นการแจกจ่ายเนื้อบางส่วนในการบริจาคนั้นเป็นความจำเป็น ตามทรรศนะที่มัซฮับชาฟีอียฺเห็นว่าถูกต้อง มันเป็นการดียิ่งกว่า(มุสตะฮับ)ในการแจกจ่ายเนื้อส่วนใหญ่ในการบริจาค นักวิชาการมัซฮับชาฟีอียฺกล่าวว่า อย่างน้อยต้องแบ่งหนึ่งในสามส่วนเพื่อรับประทาน หนึ่งในสามเพื่อมอบให้เป็นของขวัญ (ฮะดียะฮฺ) และอีกส่วนเป็นการบริจาคทาน มีทรรศนะอื่น ๆ ที่ให้แบ่งครึ่งหนึ่งไว้รับประทาน อีกครึ่งหนึ่งไว้บริจาคทาน ทรรศนะที่แตกต่างจากนี้คือ การจ่ายเงินย่อมดีกว่า สำหรับสิ่งที่จำเป็นในการปฏิบัติ คือการที่คนหนึ่งอาจจะจ่ายเงินในการบริจาคซึ่งนับว่าเป็นการบริจาค แต่ยังคงมีทรรศนะอื่น ๆ ที่ไม่ได้จ่ายเงินในการบริจาคอีกเช่นกัน (ทรรศนะที่แตกต่างเหล่านี้เป็นเรื่องของจำนวนหรือสัดส่วนที่ที่ดีที่สุดที่จะแจกจ่าย สำหรับการเติมเต็มส่วนที่ต้องแจกจ่าย คนหนึ่งอาจบริจาคจำนวนเท่าใดก็ได้โดยถือว่าเป็นการบริจาค แต่ก็มีบางทรรศนะที่กล่าวว่าไม่ต้องแจกจ่ายแต่อย่างใด)
สำหรับการรับประทานเนื้อของมัน เป็นเพียงแค่มุสตะฮับ (ระดับของการส่งเสริมให้กระทำ) เท่านั้น ไม่ใช่วาญิบ (จำเป็น) ผู้รู้ส่วนมากจะตีความคำสั่งในการรับประทานมันนั้นตามอัล กุรอานที่กล่าวว่า

يَشْهَدُوا مَنَافِعَ لَهُمْ وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّـهِ فِي أَيَّامٍ مَّعْلُومَاتٍ عَلَىٰ مَا رَزَقَهُم مِّن بَهِيمَةِ الْأَنْعَامِ ۖ فَكُلُوا مِنْهَا وَأَطْعِمُوا الْبَائِسَ الْفَقِيرَ ﴿٢٨﴾

“เพื่อพวกเขาจะได้มาร่วมเป็นพยานในผลประโยชน์ของพวกเขา และกล่าวพระนามอัลลอฮฺในวันที่รู้กันอยู่แล้ว คือวันเชือด ตามที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาจากสัตว์สี่เท้า ดังนั้นพวกเจ้าจงกินเนื้อมัน และจงให้อาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 28

อิหม่าม มาลิก กล่าวว่า “ไม่มีการกำหนดสัดส่วนเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใดในส่วนที่จะรับประทาน แจกจ่ายในการบริจาค หรือให้อาหารแก่คนยากจนหรือคนมั่งมี โดยที่คนหนึ่งจะให้เนื้อที่ยังไม่ปรุงหรือปรุงเสร็จแล้วก็ได้”

ผู้รู้มัซฮับชะฟีอียฺกล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่สมควรให้กระทำ (มุสตะฮับ) ในการแจกจ่ายให้มากที่สุดในการบริจาคและกล่าวอีกว่าอาจรับประทานเองอย่างน้อยต้องหนึ่งในสาม หนึ่งในสามแจกจ่ายในการบริจาค และอีกหนึ่งในสามเพื่อเป็นของขวัญ (ฮาดียะฮฺ) พวกเขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่อนุมัติที่จะเก็บไว้รับประทานครึ่งหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าที่จะแจกจ่ายมันออกไปเพื่อการบริจาค

อิหม่าม อะหฺมัด กล่าวว่า “เราได้รับสายรายงานของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (รดิยัลลอฮุ อันฮุ) ว่าเขาจะต้องเก็บไว้รับประทานหนึ่งในสามส่วน ให้เป็นอาหารหนึ่งในสามส่วนกับใครก็ตามที่เขาต้องการ และแจกจ่ายอีกหนึ่งในสามเพื่อการบริจาค” นี่คือทรรศนะของอิบนุ มัสอูดและอิบนุ อุมัร เช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏทรรศนะที่แตกต่างกันในหมู่บรรดาเศาะฮาบะฮฺในประเด็นนี้

ส่วนเหตุผลที่มีทรรศนะแตกต่างกันว่าจะแจกจ่ายเท่าไหร่นั้นเนื่องจากมีรายงานที่แตกต่างกัน บางรายงานมิได้กล่าวถึงจำนวนเงินเจาะจงลงไป เช่น การรายงานของ บุรอยเฎาะฮฺ (รฎิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ฉันเคยห้ามพวกท่านรับประทานเนื้อกุรบ่านเกินสามวัน จากนั้นจะต้องแจกจ่ายมันให้กับคนยากจน แต่ตอนนี้ท่านจงกินดั่งที่ท่านต้องการ จงให้อาหารแก่ผู้อื่นและจงกักเก็บไว้บางส่วน” (อัต ติรมีซียฺ) บรรดาผู้รู้จากบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และคนอื่น ๆ ก็ดำเนินตามมาตรฐานนี้

อัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ทรงรู้ดียิ่ง

.………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก www.islamqa.info by Mufti Sheikh Muhammad Saleh Al-Munajjid

#อีดอัฎฮา#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

การท่องเที่ยวสตรีมุสลิมกำลังมาแรง! สำรวจโอกาสและแนวโน้มใหม่ในการท่องเที่ยวที่เอื้อต่อสตรีมุสลิม

การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิม ยังคงเป็นเทรนด์ และกระแสหลักที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิมเหล่านี้ แนวโน้มการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มีการศึกษาที่ดี มีรายได้ให้จับจ่าย และมักจะแต่งงานช้า ทำให้กลุ่มนี้มีเวลาในการออกเดินทางผจญภัยที่น่าสนุกสนานทั่วโลก [1] ปัจจุบันปี 2014 มีจำนวนประชากรมุสลิม 2.12 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.47 พันล้านคนในปี 2034 โดยจำนวน 49.2% ของจำนวนประชากรมุสลิมเป็นสตรี และจำนวนสตรีมุสลิมจำนวน 436 ล้านคนมีอายุระหว่าง 21 – 50 ปีที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนการท่องเที่ยว [2]
.
ในการจัดทำรายงานดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลก ปี 2024 ซึ่งเป็นการจัดอับดับการท่องเที่ยวฮาลาล หรือจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิมจาก 145 ประเทศทั่วโลก (GMTI 2024) ยังคงเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับจุดหมายปลายทางของสตรีมุสลิม ซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นและมีศักยภาพทางการตลาดของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การเดินทางแบบครอบครัวและคู่รัก ซึ่งข้อมูลในการวางแผนและการตัดสินใจของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มท่องเที่ยวอื่น ๆ รวมทั้งแนวโน้มของการเดินทางคนเดียวและการเดินทางแบบกลุ่มของสตรีมุสลิมที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อข้อจำกัดด้านการเดินทางผ่อนคลายลง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็เริ่มเดินทางเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับการเดินทางของกลุ่มนี้คือ การเดินทางของจุดหมายปลายทางที่เคารพหลักปฏิบัติทางวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนาในวงกว้างมากขึ้น และสนับสนุนความปลอดภัยของนักเดินทางสตรีอย่างจริงจัง
.
เกณฑ์สำคัญในการประเมินจุดหมายปลายทางของดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลก (GMTI 2024) ได้ประเมินจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับสตรีมุสลิมโดยใช้ชุดเกณฑ์ประเมินที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวสตรี ซึ่งรวมอยู่ในมิติสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการท่องเที่ยว โดยเกณฑ์เหล่านี้มุ่งเน้นไปที่

1. ข้อจำกัดด้านศรัทธาและความเชื่อ : การประเมินว่าจุดหมายปลายทางรองรับการปฏิบัติทางศาสนาและการแต่งกายของสตรีมุสลิม โดยไม่กำหนดข้อจำกัดอย่างไร

2. ความปลอดภัย : ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจุดหมายปลายทางนั้นปลอดภัยสำหรับนักเดินทางสตรี โดยจัดการกับข้อกังวลตั้งแต่ ความปลอดภัยบนท้องถนนไปจนถึงภัยการคุกคามต่างๆแกนักท่องเทียว

3. ความยั่งยืน : ผสมผสานแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิม เช่น ทางเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น

4. การเดินทางที่เข้าถึงได้ : ตัวชี้วัดการเดินทางที่สามารถเข้าถึงได้ ยังรวมอยู่ในการคำนวณจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับสตรีมุสลิมอีกด้วย
.
จากการจัดอันดับดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลก ปี 2024 โดยประเทศสิงค์โปยังคงเป็นเป็นประเทศอันดับ 1 ของประเทศนอกกลุ่ม OIC ในมิติสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจุดหมายปลายทางเหล่านี้มีความปลอดภัย ความยั่งยืนในระดับสูง และไม่มีข้อจำกัดด้านความเชื่อที่ทำให้เกิดความครอบคลุม รองลงมาเป็น ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศไทย มิติด้านด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยว ประกอบด้วย ข้อจำกัดด้านศรัทธาและความเชื่อ ได้คะแนน 100 คะแนน ความปลอดภัยทั่วไป ได้คะแนน 82 คะแนน ความยั่งยืน ได้คะแนน 48 คะแนน และการเดินทางเข้าถึงง่ายได้คะแนน 19 คะแนน ตามลำดับ [2]
.
ดังนั้น ด้วยตระหนักถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิมและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นในภาคส่วนการเดินทาง ทำให้ GMTI ในปีนี้ จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญและการสร้างสภาพแวดล้อมการเดินทางที่ตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิมโดยเฉพาะ
………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
……..
Ref.
[1] ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี). จับตาเทรนด์การท่องเที่ยวฮาลาลยอดนิยมในปี 2019. เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2567 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=2388425871195632&set=a.504582689579969
[2] The Mastercard-Crescent Rating. 2024. Global Muslim Travel Index 2024 . เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2567 จาก https://www.crescentrating.com/…/global-muslim-travel

การเติบโตของเศรษฐกิจฮาลาลในยุคปัจจุบัน จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจโลกอิสลาม ปี 2023/24

จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจโลกอิสลาม ปี 2023 – 2024 (2023/24 The State of Global Islamic Economy Report) ของประเทศในกลุ่ม OIC โดยปีนี้เป็นฉบับที่ 10 จากความร่วมมือของ DinarStandard ร่วมกับ Salaam Gateway ในการจัดทำรายงานทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ OIC ทางด้านอาหาร การเงิน แฟชั่น ยา เครื่องสำอาง และอื่น ๆ และในฉบับนี้ยังรวมตลาด Halal Life Style ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์เมื่อปี 2012 คาดการณ์ว่า ตลาดการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 โดยได้แรงผลักดันจากประชากรโลกมุสลิมที่อายุน้อยและเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจฮาลาลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ เช่น Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีอาระเบีย และนโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และซาอุดีอาระเบียที่รวมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอิสลามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การลงทุนจาก VCs และ PE funds ยังคงสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการทางด้าน Fintech และแฟชั่นบนตลาดอีคอมเมิร์ซ

บริษัทข้ามชาติอย่าง BRF, Nestlé และ Nike ยังคงลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดมุสลิมที่มีขนาดใหญ่และกำลังเติบโต ในขณะที่ OIC และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น UNHCR และธนาคารโลก กำลังมองหาการเงินอิสลามเป็นแหล่งทุนสำคัญในการพัฒนา ถึงแม้จะมีความท้าทายจากวิกฤตการณ์รอบโลก เช่น ความขัดแย้งในยูเครน สถาณการณ์ในกาซ่า วิกฤตภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนจากการปฏิวัติทางดิจิทัล และเทคโนโลยี AI แต่การพัฒนาในหลายด้าน ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอิสลามทั่วโลก เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่ของกลุ่ม BRICS และวิสัยทัศน์ Vision 2030 ของประเทศซาอุดีอาระเบีย

รายงานในปี 2023 ระบุว่า ผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลกจำนวน 2 พันล้านคน ใช้จ่ายไปถึง 2.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ในภาคส่วนของอาหาร ยา เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว และสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.5% จากปี 2021 นอกจากนี้ สินทรัพย์ทางการเงินอิสลาม ยังมีมูลค่าถึง 3.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021/2022 และคาดว่าจะแตะที่ 5.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2025/2026 โดยประเทศมาเลเซียยังคงเป็นผู้นำในดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลก (GIEI) ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอินโดนีเซียขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 บาห์เรนตกลงมาอยู่ในอันดับ 5 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019/20 และแอฟริกาใต้ขึ้นมาเป็น 15 อันดับแรกได้เป็นครั้งแรก

การนำเข้าสินค้าฮาลาลของประเทศสมาชิก OIC ลดลงเล็กน้อยในปี 2022 แต่คาดว่า จะฟื้นตัวในปี 2027 โดยมีมูลค่าถึง 492 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 7.6% การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอิสลามเติบโตขึ้นถึง 128% ในปี 2022/23 โดยอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงเป็นผู้นำในด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอิสลาม

การเติบโตของภาคอาหารฮาลาลยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการลดมูลค่าการลงทุนลง แต่เทคโนโลยีทางด้านอาหารยังคงเป็นแนวหน้าในภาคการลงทุน โดยผู้บริโภคมุสลิมใช้จ่ายในอาหารเพิ่มขึ้น 9.6% ในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1.89 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027

ในขณะเดียวกัน ภาคการเงินอิสลามยังคงดึงดูดระดับการลงทุนที่สูงขึ้น โดยมูลค่ารวมของการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินอิสลาม เพิ่มขึ้นห้าเท่าในปี 2022/23 อุตสาหกรรมนี้กำลังพัฒนาไปสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน และการรวมกลุ่มทางการเงิน

การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ OIC ฟื้นตัวขึ้นหลังการระบาดโควิด มีการลงทุนทางด้านโครงการพัฒนาโรงแรมแห่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว การใช้จ่ายของผู้บริโภคมุสลิมในปี 2022 สูงถึง 133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2027 มูลค่าการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวจะสูงถึง 174 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แฟชั่นมุสลิมในแบบสุภาพ กับการตลาดแบบ Omnichannel และตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายในด้านแฟชั่นของผู้บริโภคมุสลิมการใช้จ่ายด้านแฟชั่นของชาวมุสลิมสูงถึง 318 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และเป็นที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 จะมีมูลค่าถึง 428 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมยาฮาลาล ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากเงินเฟ้อและการขัดข้องในห่วงโซ่อุปทาน แต่การใช้จ่ายในด้านยาของผู้บริโภคมุสลิมสูงถึง 108 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดการณ์ว่าในปี 2027 มูลค่าการใช้จ่ายจะสูงถึง142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ท้ายสุด ตลาดเครื่องสำอางและความบันเทิงก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของผู้บริโภคมุสลิมในการซื้อเครื่องสำอางสูงถึง 84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะสูงถึง 129 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027
ในขณะที่การใช้จ่ายในภาคสื่อและสันทนาการของชาวมุสลิมสูงถึง 247 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าในปี 2027 จะมีมูลค่าการใช้จ่ายจะสูงถึง 344 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยบทสรุปของรายงานฉบับนี้ ได้เสนอข้อแนะนำสำหรับรัฐบาล ธุรกิจ และนักลงทุน ในการเดินหน้าคว้าโอกาสของตลาดในกลุ่มนี้ และมองอนาคตของเศรษฐกิจฮาลาล เศรษฐกิจที่มีรากฐานจากคุณค่าของความเชื่อในศาสนาอิสลาม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสังคมโลกต่อไป [1]
………..
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
……….
Ref.

[1] Salaam gateway. 2024. The State of the Global Islamic Economy 2023/24 Report [Online]. [cited 2024 Jul 3. Available from: https://salaamgateway.com/…/state-of-the-global-islamic…

เหตุใดประเทศไทยถึงพร้อมที่จะกลายเป็นมหาอำนาจด้านอาหารฮาลาล

ประเทศไทยเป็นกำลังหลักสำคัญของตลาดอาหารฮาลาลทั่วโลก เนื่องจากการเข้ามามีส่วนแบ่งในภาคส่วนอาหารฮาลาลที่กำลังเติมโตอย่างรวดเร็ว ด้วยกับจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลกว่า 160,000 รายการ จึงทำให้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลระดับภูมิภาคในอีกสี่ปีข้างหน้า โดยใช้ประโยชน์จากประชากรมุสลิมในประเทศ ความใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังเร่งการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“ภายใต้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียนภายในปี 2028” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับ Salaam Gateway

เมื่อต้นปี 2567 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่ม GDP ของประเทศได้ถึง 1.2% ภายในปี 2028 และสร้างงานประมาณ 100,000 ตำแหน่งต่อปี ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีประชากรมุสลิมเพียง 5.8% แต่รัฐบาลได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายภาคส่วนอาหารฮาลาลอย่างจริงจัง โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมาย การเข้าร่วมงานนิทรรศการ Gulfood ในดูไบ และการเตรียมจัดงาน Thaifex 2024 ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย รวมทั้งยังได้จัดการเจรจาการค้าและการจับคู่ธุรกิจเพื่อส่งเสริมการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

การเติบโตของอาหารฮาลาลในประเทศไทยเป็นผลมาจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผ่านการเกษตร การผลิต และการบริการ ขณะที่รัฐมีบทบาทในการสนับสนุนงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล รวมถึงการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานฮาลาลที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จึงทำให้การส่งออกอาหารฮาลาลของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2023 มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ถึง 6.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.3% จากปีก่อนหน้า สินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง และไก่สดและแช่แข็ง

ประเทศไทยยังมุ่งหวังที่จะกระจายตลาดการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมแต่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมาก เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับในระดับสากล ในฐานะสมาชิกของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาแห่งประเทศอิสลาม (SMIIC) ในปี 2560 ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมประเทศแรกที่ได้รับการรับรองนี้ นอกจากนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ยังได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของซาอุดีอาระเบีย (SFDA) และศูนย์รับรองระหว่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Emirates International Accreditation Centre) ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังทั้งสองประเทศนี้ได้ ซึ่งเป็นประตูสู่ตลาดในประเทศตะวันออกกลาง

ในขณะที่งานทางด้านวิจัยและพัฒนาของไทย ก็มีความโดดเด่น เช่นงานของ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น ระบบการจัดการคุณภาพ HAL-Q และฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาล (H number) เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และการประมวลผลแบบคลาวด์ เข้ามาใช้ในการพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กำลังวางแผนที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจฮาลาลให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเดินหน้ากลยุทธ์และแผนปฏิบัติการต่างๆ เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่การเป็นผู้นำในตลาดฮาลาลโลกในอนาคตอันใกล้นี้
………………………..
บทความโดย Heba Hashem จากแพลตฟอร์มข่าวและข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจฮาลาล SALAAM GATEWAY
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ เรียบเรียง
………….
Ref :
Heba Hashem, 2024. Why Thailand is poised to become a halal food powerhouse. Available: https://salaamgateway.com/…/why-thailand-is-poised-to…. August 16, 2024

คุณสมบัติสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดิอาระเบียถือเป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ รวมถึงประเทศไทยซึ่งสัมพันธภาพของทั้งสองชาติได้ถูกยกระดับไปสู่ความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ปัจจัยดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย และจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเข้าไทยได้กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการกลุ่ม SME และนักลงทุนอาจใช้โอกาสนี้ในการเจาะตลาดและขยายธุรกิจสู่ตลาดซาอุฯ มากยิ่งขึ้น โดยคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ประกอบการจากประเทศไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียได้นั้น ผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับเกณฑ์ข้อกำหนดและมาตรฐานทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยคุณสมบัติหลักๆ ของผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย มีดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวควรมีการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล
เนื่องจากประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การผลิตอาหารที่ส่งออกไปยังประเทศนี้ต้องมีใบรับรอง “ฮาลาล” จากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งในประเทศไทย คือ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญที่ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ด้านอาหารเหล่านั้น ผลิตถูกต้องสอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามหรือที่เรียกว่า “อาหารฮาลาล”

2. การรับรองจากหน่วยงานด้านอาหารและยาจากซาอุดีอาระเบีย (SFDA)
SFDA ย่อมาจาก Saudi Food and Drug Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและควบคุมด้านอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยทำหน้าที่หลักๆ คือ

• การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร: SFDA ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าและจำหน่ายในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการให้การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล

• ควบคุมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์: หน่วยงานนี้รับผิดชอบในการควบคุมการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายยา รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเหล่านี้มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับการใช้งาน

• พัฒนามาตรฐานความปลอดภัย: SFDA ทำหน้าที่กำหนดและปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้ทันสมัยและสอดคล้องกับแนวทางสากล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

• ให้ข้อมูลและคำแนะนำ: SFDA ให้ข้อมูลและคำแนะนำด้านสุขภาพ ความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารที่ส่งออกมายังประเทศซาอุดีอาระเบีย จะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจาก SFDA เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าอาหารที่ส่งออกมีคุณภาพและความปลอดภัยตามที่กำหนด รวมถึงผ่านการตรวจสอบด้านสุขภาพและความปลอดภัย

3. สถานประกอบการผลิตสินค้าได้อย่างมีมาตรฐาน
โรงงานหรือผู้ผลิตต้องมีมาตรฐานการผลิตที่สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบของประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมถึงได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น การมีระบบ GMP (Good Manufacturing Practices) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต และระบบ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) หรือ ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม การมีระบบเหล่านี้เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศซาอุดีอาระเบีย

4. ความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์
ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น การจัดส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือหรือทางอากาศ รวมถึงการเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า การส่งออก และการผ่านพิธีการศุลกากร เนื่องจากระยะทางที่ไกลและความต้องการในการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะอาหารที่ต้องรักษาความสดและคงคุณภาพไว้จนถึงมือผู้บริโภค ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เช่น การขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ช่วยให้สินค้ามีคุณภาพดีแม้ในเส้นทางระยะไกล นอกจากนี้ การจัดการเอกสารและการผ่านพิธีการศุลกากรในซาอุดีอาระเบียมีความเข้มงวด ผู้ส่งออกต้องเตรียมเอกสารครบถ้วนและถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ที่ดีจะช่วยให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งและทำให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างซาอุดีอาระเบีย การขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและคงคุณภาพจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เปรียบทางธุรกิจ

5. การจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออก
ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยและผ่านกระบวนการจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้สามารถส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นทางการ โดยการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังซาอุดีอาระเบียต้องมีการเตรียมเอกสารและปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

• จดทะเบียนนิติบุคคล: ผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

• ใบอนุญาตประกอบธุรกิจส่งออก: ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร หรือหน่วยงานด้านการค้าระหว่างประเทศ

• เอกสารรับรองมาตรฐานสินค้า: เช่น ใบรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) สำหรับสินค้าอาหาร และการรับรองมาตรฐานสินค้าอื่น ๆ จากหน่วยงานในไทยที่ได้รับการยอมรับ

• การลงทะเบียนกับหน่วยงานในซาอุดีอาระเบีย: ผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนกับ SFDA (Saudi Food and Drug Authority) และ SASO (Saudi Standards, Metrology and Quality Organization) เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าตรงตามมาตรฐานการนำเข้า

• จัดเตรียมเอกสารประกอบการส่งออก: รวมถึงใบกำกับสินค้า ใบขนส่ง และใบรับรองต่าง ๆ เช่น ใบรับรองคุณภาพสินค้า (Certificate of Quality) และใบรับรองการตรวจสอบสินค้า (Certificate of Inspection)

6. ความสามารถในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมาย
ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ SASO หรือ Saudi Standards, Metrology and Quality Organization ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัย และข้อกำหนดในการบรรจุภัณฑ์และฉลากผลิตภัณฑ์ หรือเทียบเคียงเป็นเหมือน มอก.ในประเทศไทย โดย SASO (Saudi Standards, Metrology and Quality Organization) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการในซาอุดีอาระเบีย ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการการรับรองผลิตภัณฑ์ การควบคุมการนำเข้าและการส่งออก การตรวจสอบและทดสอบสินค้าต่างๆ และการส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานในการตระหนักรู้และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและสาธารณชนเข้าใจถึงความสำคัญของมาตรฐานและคุณภาพในผลิตภัณฑ์และบริการ

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดซาอุดีอาระเบียและสามารถแข่งขันในตลาดอาหารที่มีความต้องการสูงได้
……………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ เรียบเรียง
…………..
แหล่งข้อมูล
1. https://www.thebetter.co.th/news/business/4552
2.https://www4.fisheries.go.th/…/20230314090138_new.pdf
3. https://www.v-servelogistics.com/…/2011/05/middle_east.pdf
4. https://certify.dld.go.th/…/201…/855-2018-08-28-03-48-10
5. https://www.dhl.com/…/ship-from-thailand-to-middle-east
6. https://onestopservice.ditp.go.th/file/DB023_HS04051000.pdf
7. https://image.mfa.go.th/…/business-20191012-194916…
8. https://www.sfda.gov.sa/en
9. https://www.saso.gov.sa/en