รับประทานอาหารบางชนิดเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเป็น “อุตริกรรม” หรือไม่? หลักการอิสลามว่าอย่างไร?

ในช่วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ พวกเรามีอาหารบางชนิดไว้รับประทานในช่วงเดือนนี้เป็นการเฉพาะในประเทศอียิปต์ เช่น kunafah (ขนมเป็นเส้นๆเหมือนหมี่กรอบ) qatayef (แพนเค้กอาหรับ) qamar ad-deen (น้ำผลไม้จากผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีเหลืองส้มมีรสหวาน) yamish (ผลไม้และถั่วแห้งรวมผสมกับนม) เป็นต้น นักศึกษาคนหนึ่งในเขตพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่กล่าวว่า ไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารเหล่านี้ในเดือนแห่งการอิบาดะฮฺ(เคารพสักการะ)เป็นการเฉพาะเจาะจง เนื่องจากประเพณีบางอย่างที่กระทำเฉพาะเจาะจงในเดือนแห่งการอิบาดะฮฺถือว่าเป็นอุตริกรรมประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในการถือศีลอด ดังนั้นมันจึงไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมด้วยหลักการอันใดที่จะรับประทานเฉพาะเดือนนี้ เขากล่าวว่าการรับประทานอาหารเหล่านี้ถือว่า “หะรอม” ในเดือนรอมฎอน ยกเว้นเดือนอื่นๆ และเขาบอกว่าเขาได้อ่านฟัตวาจากผู้รู้ท่านหนึ่งในอียิปต์กล่าวอย่างนั้น ดังนั้นหลักการในเรื่องนี้คืออะไร?

ด้วยกับประเพณีที่มีบางคนรับประทานอาหารบางประเภทในช่วงเดือนนี้ถือว่าไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นของหวานหรือสิ่งอื่น ๆ ก็ตาม และมันไม่ได้จัดอยู่ในประเภทอุตริกรรมอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าพวกเขาไม่ได้แสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺด้วยอาหารเหล่านี้เป็นการเฉพาะในเดือนนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมและประเพณี

การอุตริกรรมจะต้องกระทำด้วยการเพิ่มสิ่งต่างๆเข้าไปในศาสนา เนื่องจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดประดิษฐ์ขึ้นในกิจการของเรา ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น มันจะถูกปฏิเสธ” [รายงานโดย อิหม่าม บุคอรียฺ (2697) และอิหม่าม มุสลิม (1718)]

และท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวว่า “ผู้ใดที่กระทำการงานหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นกิจการงานของเรา ดังนั้นมันจะถูกปฏิเสธ” [รายงานโดย อิหม่ามมุสลิม (1718)]

อุตริกรรมที่ต่อเติมขึ้นมาเป็นเสมือนดั่งที่อิหม่าม อัช-ชาฏีบียฺ กล่าวไว้ว่า “แนวทางอุตริกรรมที่เพิ่มเติมขึ้นมาในศาสนาจะเป็นเหมือนกับแนวทางที่ถูกกำหนดขึ้น (จากตัวบท) จุดมุ่งหมายในการประพฤติปฏิบัติในเรื่องบิดอะฮฺ (อุตริกรรม) ย่อมไม่แตกต่างกับจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติต่อสิ่งที่ถูกกำหนดไว้เช่นกัน”

ตัวอย่างประการหนึ่งคือ การกระทำอิบาดะฮฺที่เฉพาะในช่วงเวลาที่เฉพาะโดยไม่มีหลักฐานจากตัวบทของหลักการอิสลาม เช่น การถือศีลอดในวันที่ 15 เดือนชะอฺบานและการยืนละหมาดในค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนเดียวกัน [คัดมาจากอัล-อิอฺติศอม (51/1)]
.
สำหรับการยึดมั่นกับขนบธรรมเนียมและประเพณีบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งนั้นไม่ได้ถูกรวมอยู่ในนิยามของคำว่า “บิดอะฮฺ” (การอุตริกรรม) แต่อย่างใด
.
ในศอฮี้ยฺ อัล-บุคอรียฺ (5403) มีรางานงานว่า ซะฮฺลฺ บิน ซะอฺดฺ กล่าวว่า “เราต่างเฝ้ารอคอยวันศุกร์ เนื่องจากมีหญิงชราคนหนึ่งที่เรารู้จักคุ้นเคยดีได้เอารากของต้นผักกาด (อุศูล อัล ซิลกฺ) และใส่มันเขาไปในหมอหุงต้มของเธอที่มีข้าวบาร์เล่ย์ เมื่อเราละหมาดเสร็จเรียบร้อย เราได้ไปหาเธอและเธอได้นำอาหารนั้นมาให้เรารับประทาน เราต่างเฝ้ารอคอยวันศุกร์เนื่องจากสิ่งนี้ และเราจะไม่รับประทานอาหารเที่ยงหรืองีบหลับหลังจากละหมาดวันศุกร์ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺในอาหารนี้ไม่มีไขมัน”
.
ในหะดีษนี้ เราจะเห็นว่า ศอฮาบียะฮฺผู้หญิงคนนี้เคยทำอาหารประเภทหนึ่งเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น และบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ต่างเฝ้ารอวันศุกร์และรู้สึกมีความสุขเมื่อวันศุกร์มาถึงอันเนื่องจากอาหารชนิดนี้ พวกเขารับประทานในบ้านของนาง ดังนั้นจะกล่าวว่านี่เป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรม) ได้หรือไม่?

หรือ อะไรคือความแตกต่างระหว่างอาหารที่ถูกทำในเดือนเราะมะฎอนที่เป็นไปตามประเพณีกับสิ่งที่บรรดาเศาะฮาบะฮฺ (มิตรสหาย) ของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เคยรับประทาน (อาหารบางอย่างเฉพาะ) ในวันศุกร์?

เชค มุฮัมมัด บิน อิบรอฮีม (รฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า “หากเราให้ความสนใจกับสิ่งที่ถูกกล่าวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและประเพณีที่เป็นอุตริกรรมที่ถูกต่อเติมขึ้น ดังนั้นทุกสิ่งย่อมไม่ได้มีอยู่ในช่วงสมัยของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และช่วงสมัยของบรรดาเศาะฮาบะฮฺแต่เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และยานพาหนะและเครื่องมือต่างๆที่นำมาใช้ในชีวิตหลังจากนั้นต่อมา ซึ่งจะนับว่าเป็นอุตริกรรมที่น่าตำหนิด้วยกระนั้นหรือ!”

ความเชื่อเช่นนี้บกพร่องและคลาดเคลื่อนและสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รู้ในเรื่องรากฐานและเป้าหมายของอิสลามโดยสิ้นเชิง

วจนะของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ที่กล่าวถึงความหมายของอุตริกรรมนั้นชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง

เป็นที่ชัดเจนแล้วสำหรับคนที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าความหมายของคำว่าอุตริกรรมหรือกิจการที่เพิ่มเติมที่ถูกปฏิเสธนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา อันเป็นการเพิ่มเติมสิ่งต่าง ๆ เข้าไปในศาสนาหรือยึดมั่นกับแนวทางบางอย่างที่ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ไม่ได้ยึดมั่นไว้ [อ้างจาก ฟะตาวา เชค มุฮัมมัด บิน อิบรอฮีม (2/128)]

เชค มุฮัมมัด อุษัยมีน (รฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า “ความแตกต่างระหว่างประเพณีกับการอิบาดะฮฺ (การเคารพสักการะบูชา) การอิบาดะฮฺนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนฑูตของพระองค์ได้กำหนดไว้เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดและรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ สำหรับประเพณีนั้นมีสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนต่างกระทำตามธรรมเนียมปฏิบัติทั้งในเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม ที่พักอาศัย การสวมเสื้อผ้า ยานพาหนะตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นต้น”

ยังมีข้อแตกต่างอื่นๆที่เป็นการปฏิบัติอิบาดะฮฺในเรื่องพื้นฐานซึ่งไม่เป็นที่อนุญาตและเป็นที่ต้องห้าม

นอกจากจะมีหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นอิบาดะฮฺที่ถูกต้อง เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลากล่าวว่า “หรือว่าพวกเขามีภาคีต่าง ๆ ที่ได้กำหนดศาสนาแก่พวกเขา ซึ่งอัลลอฮฺมิได้ทรงอนุมัติ” [42:21].

สำหรับเรื่องขนบธรรมเนียมและประเพณีนั้นเป็นที่อนุญาตตามหลักการ นอกจากว่ามีหลักฐานพิสูจน์ว่ามันไม่เป็นที่อนุญาต

สำหรับเรื่องนี้ ถ้าผู้ที่มีขนบธรรมเนียมหรือประเพณีที่พวกเขาดำเนินตามและมีบางคนบอกกับพวกเขาว่ามันเป็นที่ต้องห้าม ดังนั้นเขาจะต้องหาหลักฐานมายืนยันจะมีคนถามเขาว่า “ไหนหลักฐานที่ว่ามันเป็นที่ต้องห้าม?”

สำหรับเรื่องการทำอิบาดะฮฺ ถ้ามีคนกล่าวว่าการทำอิบาดะฮฺดังกล่าวนี้เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และเขากล่าวยืนยันว่ามันไม่ใช่บิดอะฮฺ เราจะต้องถามเขาว่า “ไหนหลักฐานที่บอกว่าไม่ใช่บิดอะฮฺ” เนื่องจากตามหลักการแล้วการทำอิบาดะฮฺขึ้นมาลอย ๆ จะเป็นที่ต้องห้าม จนกว่าจะมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่ามันถูกต้องตามหลักการ” [จาก ลิกออฺ อัล-บาบ อัล-มัฟตูหฺ (2/72)]

เขากล่าวเช่นกันว่า “สำหรับเรื่องบิดอะฮฺตามหลักการแล้ว คือการทำอิบาดะฮฺในสิ่งที่อัลลอฮฺมิได้บัญญัติไว้”

ถ้าท่านต้องการที่จะกล่าวว่า การทำอิบดาะฮฺต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่ท่านท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) หรือบรรดาคอลิฟะฮฺผู้ทรงธรรมที่ได้รับการชี้นำไม่ได้ยึดถือปฏิบัติ ดังนั้นแต่คนที่ทำการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยประการหนึ่งที่อัลลอฮฺไม่ได้กำหนดหรือกระทำบางสิ่งบางท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) หรือบรรดาคอลิฟะฮฺผู้ทรงธรรมที่ได้รับการชี้นำที่สืบทอดจากท่านไม่ยึดถือปฏิบัติย่อมเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ)อย่างแน่นอน ไม่ว่าการทำอิบาดะฮฺนั้นจะเกี่ยวโยงกับพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺหรือเกี่ยวโยงกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์ก็ตาม …

แต่สำหรับกิจการงานโดยทั่ว ๆ ไปที่กระทำด้วยกับขนบธรรมเนียมและประเพณี เหล่านี้ไม่สามารถเรียกว่า “อุตริกรรม” ในศาสนาได้เป็นแน่ แม้ว่าในทางภาษามันจะถูกเรียกว่า “อุตริกรรมหรือนวัตกรรมใหม่” ก็ตาม แต่มันไม่ใช่ “อุตริกรรม” ในทางศาสนาแต่อย่างใด และมันไม่ใช่สิ่งที่ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) คอยตักเตือนเรา [อ้างจาก มัจญมูอฺ ฟะตาวา วะ เราะซาอิล อิบนุ อุษัยมีน (2/292)]

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A