สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ตอนที่ 1

เราอยากทราบว่าอะไรบ้างที่ทำให้การถือศีลอด (ศิยาม) เป็นโมฆะ?

อัลลอฮฺทรงกำหนดการถือศีลอดบนวิทยปัญญาอันสูงสุด

พระองค์ทรงบัญชาให้ผู้ที่ถือศีลอดในรูปแบบที่มีความสมดุล ดังนั้นจะต้องไม่ทำให้ตัวของเขาเองเกิดอันตรายโดยการถือศีลอดหรือบริโภคสิ่งใดก็ตามที่ทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะ

บางสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้นเกี่ยวโยงกับสิ่งที่ออกมาจากร่างกาย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การอาเจียนโดยเจตนา การมีประจำเดือนและการกรอกเลือด สิ่งที่ออกมาจากร่างกายเหล่านี้จะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงกำหนดให้มันเป็นสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะที่จะไม่นำเอาความอ่อนเพลียในสิ่งที่ออกมาจากร่างกายมารวมกับความอ่อนเพลียที่เกิดจากการถือศีลอด อันจะก่อให้เกิดอันตรายจากการถือศีลอดหรือการถือศีลอดของเขาไม่มีความสมดุล
.
บางสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้นเกี่ยวโยงกับที่สิ่งที่เข้าไปในร่างกาย เช่น การกินหรือการดื่ม ถ้าผู้ที่ถือศีลอดกินหรือดื่ม เขาไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการถือศีลอดได้ (มัจญฺมูอฺ อัล-ฟะตาวา 25/248)

อัลลอฮฺได้รวมเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะในอายะฮฺที่พระองค์ตรัสว่า

“บัดนี้พวกเจ้าสมสู่กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ” สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 187

ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงสิ่งหลัก ๆ ที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ นั่นคือการกิน การดื่มและการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนสิ่งอื่น ๆ ที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้นถูกเอ่ยถึงโดยท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ในสุนนะฮฺ(วิถีแห่งการปฏิบัติ)ของท่าน

7 ประการดังต่อไปนี้ที่จะทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ
– การมีเพศสัมพันธ์
– การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
– การกินและการดื่ม
– สิ่งใดก็ตามที่อยู่ในหมวดเดียวกับการกินและการดื่ม
– การถ่ายเลือดด้วยการกรอกเลือด
– การอาเจียนโดยเจตนา
– การมีประจำเดือนหรือเลือดเสียหลังคลอดบุตร(นิฟาส)

ประการแรก คือการมีเพศสัมพันธ์
นี่คือการทำบาปที่ร้ายแรงและชั่วร้ายมากที่สุดที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ

ใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเดือนเราะมะฏอนโดยเจตนาด้วยความเต็มใจ เขาจะต้องกลับเนื้อกลับตัว ถือศีลอดต่อให้ครบ(นั่นคือ จะไม่กินหรือไม่ดื่มจนกว่าพระอาทิตย์ตกดิน) และถือศีลอดชดใช้ภายหลังพร้อมจ่ายค่าชดเชยจำนวนมาก ส่วนหลักฐานในเรื่องนี้ คือหะดีษที่ได้รับการรายงานจากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ (รดิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) และเขากล่าวว่า ฉันได้ก่อความวิบัติขึ้นแล้ว โอ้ ท่านศาสนฑูตของอัลลอฮฺ ท่านจึงถามว่า ความวิบัติอันใดเล่า? เขาตอบว่า “ฉันมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของฉัน (ช่วงเวลากลางวัน) ของเดือนเราะมะฎอน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ท่านสามารถปล่อยทาสได้หรือไม่” เขาตอบว่า “ไม่” ท่านนบีถามต่อว่า “ท่านสามารถถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันได้หรือไม่?” เขาตอบว่า “ไม่” ท่านนบีจึงถามอีกว่า “ท่านสามารถให้อาหารกับคนจน 60 คนได้หรือไม่?” เขาตอบว่า “ไม่” (รายงาน อิหม่าม บุคอรียฺ 1936 อิหม่าม มุสลิม 1111)

และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยกับสิ่งใดที่ทำให้เสียการถือศีลอดนอกจากการมีเพศสัมพันธ์

ประการที่สอง คือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
ดังกล่าวนี้หมายความว่าได้ก่อเกิดการหลั่งของน้ำอสุจิ (มะนียฺ) โดยการใช้มือ

หลักฐานที่ว่าการสำเร็จความใคร่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้น คือพระดำรัสของอัลลอฮฺในหะดีษกุดซีย์ที่พระองค์ทรงตรัสแก่ผู้ที่ถือศีลอดว่า “เขาจะละทิ้งอาหาร เครื่องดื่มและอารมณ์ปรารถนาเพื่อฉัน” (รายงานโดย อิหม่าม บุคอรียฺ 1894) การที่ทำให้น้ำอสุจิ (มะนียฺ) หลั่งออกมาจากอารมณ์ปรารถนานั้นคือสิ่งที่ผู้ที่ถือศีลอดต้องละทิ้ง

ใครก็ตามที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอน เขาจะต้องกลับเนื้อกลับตัวกลับไปหาอัลลอฮฺและถือศีลอดต่อในช่วงเวลาที่เหลือของวันนั้นและจะต้องชดใช้การถือศีลอดหลังจากนั้น

เมื่อเขาเริ่มทำการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง จากนั้นเขาระงับไม่ให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา เขาจะต้องกลับเนื้อกลับตัวไปหาอัลลอฮฺ แต่การถือศีลอดของเขายังคงใช้ได้และไม่ต้องชดใช้การถือศีลอดในวันอื่นเนื่องจากเขาไม่ได้ทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา ผู้ที่ถือศีลอดจะต้องห่างไกลจากทุกสิ่งที่คอยปลุกเร้าอารมณ์ปรารถนาและหลีกเลี่ยงความนึกคิดที่ไม่ดี

และสำหรับน้ำมะซียฺ (ที่หลั่งออกมาเมื่อมีความรู้สึกทางเพศ) นั้นในทัศนะที่ถูกต้องที่สุด คือมันไม่ได้ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะแต่อย่างใด

ประการที่สาม การกินหรือการดื่ม
มันหมายถึงอาหารหรือเครื่องดื่มที่เข้าไปถึงกระเพาะผ่านทางช่องปาก

ถ้ามีบางสิ่งเข้าไปสู่กระเพาะผ่านทางจมูก ดังกล่าวนี้ไม่ต่างอะไรจากการกินหรือดื่ม

ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “จงสูดดมน้ำเข้าไปในทางจมูก (เมื่อเอาน้ำละหมาด) เว้นแต่ท่านกำลังถือศีลอด” (รายงานอิหม่าม อัต-ติรมีซียฺ 788) ถ้าน้ำไม่เข้าไปถึงกระเพาะผ่านทางจมูกนั่นไม่ถือว่าทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ได้ห้ามผู้ถือศีลอดสูดน้ำเข้าไปในจมูก

ประการที่สี่ คือสิ่งใดก็ตามที่เป็นเรื่องเดียวกับการกินและการดื่ม
เรื่องนี้ครอบคลุมสองประเด็น
1.การถ่ายเปลี่ยนเลือดของผู้ถือศีลอด เช่น ถ้าเขาเสียเลือดมากและมีการให้เลือด เรื่องนี้ถือว่าทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะเนื่องจากการรับเลือดจัดอยู่ในรูปแบบเดียวกับการให้อาหารและเครื่องดื่ม
2. การรับสารบำรุงจากอาหารและเครื่องดื่มผ่านเข็มฉีดยา เพราะมันเป็นเหมือนกับอาหารและเครื่องดื่ม เชค อิบนุ อุษัยมีน (มะญาลิส ชะฮฺรฺ เราะมะฎอน หน้า 7)

สำหรับการฉีดยาที่ไม่สามารถทดแทนอาหารและเครื่องดื่มแต่มันเป็นยาที่ใช้สำหรับการรักษาทางการแพทย์ -เช่นเพนิซิลลินหรืออินซูลิน- ให้พลังงานแก่ร่างกายหรือเพื่อวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน เหล่านี้ไม่ถือว่ามีผลกระทบกับการถือศีลอดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ (ฉีดเข้าเส้นเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ) (ฟะตะวา มุฮัมมัด อิบนุ อิบรอฮีม 4/189) แต่เพื่อความปลอดภัยการฉีดยาดังกล่าวนี้อาจรับในช่วงเวลากลางคืนได้ …

และการล้างไตที่มีเลือดออกมาเพื่อทำการฟอกจากนั้นเอากลับไปใส่ในร่างกายอีกครั้งด้วยสารเคมีเพิ่มเติม เช่นน้ำตาลและเกลือ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะ (ฟะตะวา อัล-ลัจญนะฮฺ อัล-ดาอิมะฮฺ 10/9)

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A