อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Food)
การทำเกษตรอินทรีย์และผลผลิตที่ปลูกในท้องถิ่น แทนที่จะใช้สารกำจัดศัตรูพืชหรือปุ๋ยสังเคราะห์ เกษตรกรอินทรีย์ต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพในการทำเกษตรกรรมเพื่อลดที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูพืช เกษตรกรอินทรีย์ยังตั้งใจรักษาและเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ในการอภิปรายอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารเกษตรอินทรีย์ วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) ได้ยื่นคำค้านพร้อมอธิบายว่า อาหารเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีประโยชน์ทางโภชนาการมากไปกว่าอาหารปกติธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ลักษณะของการศึกษานี้ก่อให้เกิดคำถามมากมาย และลักษณะของสื่อที่รายงานประเด็นนี้กลับขาดความถูกต้อง
มาลองศึกษาร่วมกัน
จากการศึกษานี้ มีการอ้างว่าอาหารเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีประโยชน์ทางโภชนาการมากไปกว่าอาหารที่ไม่ได้เป็นเกษตรอินทรีย์ นักวิจัยได้ค้นหาเอกสารกว่า 50,000 ฉบับ และได้ค้นพบบทความทั้งหมดกว่า 162 เรื่องที่เกี่ยวข้อง (บทความที่เผยแพร่ในช่วงระยะเวลา 50 ปี ก่อนปีค.ศ. 2008)
นอกจากนี้ พบว่ามีเพียง 55 ฉบับเท่านั้นที่มีคุณภาพที่น่าพอใจและสามารถใช้เปรียบเทียบปริมาณสารอาหารของอาหารที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และอาหารที่ผลิตแบบปกติธรรมดาทั่วไป (London School of Hygiene and Tropical Medicine)
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ได้ตัดเอกสารและงานวิจัยจำนวนมากออก แม้องค์กรอื่น ๆ อาจมองว่าเอกสารเหล่านั้นถูกต้องใช้ได้ก็ตาม ยิ่งกว่านี้ การศึกนี้ยังตัดเอกสารงานวิจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณค่าสารอาหารของอาหารเกษตรอินทรีย์โดยตรงอีกด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในการคัดสรรเอกสารเพียง 55 ฉบับจากกว่า 50,000 ฉบับ เป็นที่ประจักษ์เมื่อพิจารณาว่านักวิจัยคนอื่น ๆ ได้ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการสนับสนุนข้ออ้างว่าอาหารเกษตรอินทรีย์นั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า
ในตอนท้ายรายงานฉบับนี้ระบุว่า “การศึกษาตรวจสอบของเราชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุนการคัดสรรอาหารที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์จะมีคุณค่าทางโภชนาการมากไปกว่าอาหารที่ผลิตแบบปกติทั่วไป” และ “แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคต่ออาหารเกษตรอินทรีย์จะมีเพิ่มขึ้น ถึงกระนั้น ข้อมูลจากการทบทวนคุณภาพทางโภชนาการอย่างเป็นระบบต่ออาหารเกษตรอินทรีย์ก็ยังมีไม่เพียงพอ” (American Journal of Clinical Nutrition)
อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวในหัวข้อนี้ได้แปลผลลัพธ์ทางโภชนาการไม่ถูกต้องด้วยการตั้งข้อสรุปเพียงว่า “อาหารเกษตรอินทรีย์ไม่มีประโยชน์ทางโภชนาการหรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากไปกว่าอาหารปกติธรรมดา” และ “ผลลัพธ์จากการศึกษาพบว่า ความแตกต่างทางด้านโภชนาการระหว่างอาหารที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และที่ผลิตแบบปกติทั่วไปมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งไม่มีหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพจากการรับประทานอาหารเกษตรอินทรีย์” (Reuters, The Daily Mail)
น่าเสียดายที่ผู้สื่อข่าวหลายท่านไม่ชำนาญในการรายงานข้อมูลเวชศาสตร์ทางการแพทย์หรือข้อมูลเชิงสุขภาพ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า “ปริมาณสารอาหารทางโภชนาการ” กับ “ประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ” แต่กลับแปลสรุปประหนึ่งว่าทั้งสองคำนี้นั้นมีความหมายเดียวกัน
ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการรายงานที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ถึงความแตกต่างในระดับพื้นฐานที่สุดและสามารถมองได้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากคุณออกกำลังกายเป็นประจำนั้น การออกกำลังกายจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพของคุณ ขณะเดียวกันการออกกำลังกายก็ไม่มีปริมาณสารอาหารทางโภชนาการใด ๆ เลย
อาหารเกษตรอินทรีย์มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าจริงหรือ?
แม้ว่าข้อเท็จจริงจากการรายงานข่าวนั้นอาจไม่ถูกต้องและแทบจะคลาดเคลื่อนอย่างมากหากมองไปยังผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา ในอุตสาหกรรมอาหารเกษตรอินทรีย์นั้นไม่เคยอ้างว่าผู้บริโภคควรซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ด้วยเหตุผลทางคุณค่าโภชนาการเพียงอย่างเดียว
ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ นอกเหนือจากรายการปริมาณสารอาหารที่กล่าวไว้ในการศึกษา การศึกษาเองก็ระบุชัดเจนว่า “การศึกษาวิเคราะห์นี้จำกัดเพียงกรอบการรายงานที่พบได้ทั่วไปที่สุดของปริมาณสารอาหาร” (American Journal of Clinical Nutrition)
ขณะที่สารพฤกษเคมี (Phytochemicals) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และส่วนผสมเหล่านี้นั้นกลับอยู่ในอาหารเกษตรอินทรีย์และไม่ได้อยู่ในรายการปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้แต่ละคนได้รับในแต่ละวัน (RDI) ซึ่งมันเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดประโยชน์ต่อสุขภาพที่มีของอาหาร
แม้ว่าสารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) จะไม่ได้อยู่ในรายการหลักของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้แต่ละคนได้รับในแต่ละวัน (RDI) แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสารอาหารเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญต่อร่างกายน้อยไปกว่าวิตามินซี วิตามินเอ หรือวิตามินอี สารพฤกษเคมีส่วนใหญ่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของระบบการป้องกันตัวเองของพืช นอกจากนี้ คุณสามารถพบสารเหล่านี้ในปริมาณที่สูงขึ้นในผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เพราะพืชจะพึ่งพาการป้องกันตัวเองมากกว่าในกรณีที่ไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นปกติ
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบระดับที่สูงขึ้นของไลโคปีน (lycopene) ในมะเขือเทศอินทรีย์ โพลีฟีนอล (polyphenols) ในมันฝรั่งอินทรีย์ ฟลาโวนอล (flavonols) ในแอปเปิ้ลอินทรีย์ และเรสเวอราทรอล (resveratrol) ในองุ่นอินทรีย์ การวิเคราะห์ทบทวนเรื่องนี้สามารถพิจารณาได้ว่าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีไฟโตนิวเทรียนท์ (phytonutrients) สูงกว่าพืชแบบปกติทั่วไปถึง 10 – 50% (Heaton)
นอกจากนี้ ผลไม้และผักที่ปลูกแบบอินทรีย์จะมีระดับสารต้านอนุมูลอิสระในการต่อสู้กับมะเร็งสูงกว่าอาหารที่ปลูกแบบปกติทั่วไป การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า สารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีกำจัดวัชพืชได้เข้าไปขัดขวางการผลิตสารฟีนอลิก (phenolics) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่ป้องกันตัวเองตามธรรมชาติของพืช และสารนี้ก็สามารถทำหน้าที่และมีบทบาทต่อมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน
ในทางกลับกัน ปุ๋ยไม่เพียงแต่ช่วยลดสารฟีนอลิกที่สามารถช่วยป้องกันตัวเองในพืชและในร่างกายเท่านั้น แต่มันยังเพิ่มระดับของสารก่อมะเร็งที่โจมตีร่างกายอีกด้วย
ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) เป็นสารประกอบฟีนอลิกในทางพฤกษศาสตร์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ สารฟลาโวนอยด์เหล่านี้รวมทั้งสารประกอบฟีนอลิกอื่น ๆ จะถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเครียดจากสิ่งแวดล้อม ความเครียดนี้อาจรวมถึงการโจมตีของแมลงหรือการโจมตีของพืชชนิดต่าง ๆ ยิ่งจากนี้ ฟลาโวนอยด์ยังช่วยปกป้องพืชจากรังสียูวี เชื้อรา และแบคทีเรียอีกด้วย
ดร. อลิสัน มิทเชล นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้อธิบายกระบวนการนี้ว่า “ขณะที่เพลี้ยอ่อนกำลังแทะใบ พืชจะผลิตสารฟีนอลิกเพื่อป้องกันตัวเอง สารฟีนอลิกนี้จะช่วยปกป้องพืชจากศัตรูพืชเหล่านี้” (Byrum)
พืชผักที่ถูกแมลงกัดแทะจะผลิตฟลาโวนอยด์ได้มากกว่าพืชผักที่ผ่านการฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะจากสภาพแวดล้อมที่ถูกกัดแทะของแมลง ตัวพืชจะถูกบังคับให้สร้างกลไก “การควบคุมสัตว์รบกวน” ภายใน แทนที่จะอาศัยความช่วยเหลือภายนอกอย่างการใช้สารเคมี (Denoon)
อาหารเกษตรอินทรีย์ไม่ได้เป็นเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารเพียงเท่านั้น
ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการทำเกษตรกรรมอินทรีย์สนับสนุนหลักการตามมาตรฐานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งมีกฎไว้ว่า:
– ห้ามใช้พันธุวิศวกรรม รังสีไอออไนซ์ และกากตะกอนน้ำทิ้ง
– สัตว์ที่เลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์จะต้องไม่ฉีดฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตหรือรับยาปฏิชีวนะ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม
– สัตว์ที่เลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ทุกตัวจะต้องออกไปบริเวณพื้นที่กลางแจ้งได้ รวมทั้งการเข้าถึงทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง สัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจถูกจำกัดพื้นที่ชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัย หรืออยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิตสัตว์ หรือเพื่อปกป้องคุณภาพดินหรือน้ำ
– ห้ามไม่ให้ผู้ผลิตระงับการรักษาสัตว์ที่ป่วยหรือสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม สัตว์ที่ได้รับยาต้องห้ามจะต้องไม่นำไปจำหน่าย (EPA)
*** อาหารเกษตรอินทรีย์เป็นอาหารที่ผลิตโดยวิธีการที่สอดคล้องกับมาตรฐานของการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตรฐานนั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ ถึงกระนั้น การทำเกษตรอินทรีย์ในลักษณะทั่วไปจะให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ส่งเสริมความสมดุลทางนิเวศวิทยา และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
มาตรฐานเหล่านี้มีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาหารของพวกเขาไม่มีสารเคมีตกค้างที่อาจนำไปสู่มะเร็ง หรือไม่มีฮอร์โมนตกค้างซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น การเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยอันควรของผู้บริโภค หรือยาปฏิชีวนะตกค้างที่อาจทำให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปในสัตว์ (National Cancer Institute, Sierra Club, Sellman)
มาตรฐานเหล่านี้ยังเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คุณสมบัติของการทำเกษตรอินทรีย์แทบจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณค่าทางโภชนาการ ในความเป็นจริง เกษตรกรอินทรีย์ไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูลด้านโภชนาการในผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เกษตรกรอินทรีย์เพียงแต่ต้องพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่มีสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายและมีกระบวนการเลี้ยงดูสัตว์ของตนอย่างดี นอกจากนี้ พวกเขายังต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่นำสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยมาจำหน่าย รวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
ชาวมุสลิมควรเข้าใจว่ามาตรฐานเหล่านี้ช่วยให้เรามั่นใจดังที่ท่านศาสนทูตของเรา (ขอความสันติจงประสบแด่ท่าน) มักพูดถึงการดูแลร่างกายตัวเอง การมีเมตตาต่อสัตว์ และอนุรักษ์โลกใบนี้ นอกจากนี้ ท่านนบียังให้คำแนะนำในเรื่องของชีวิตดังหะดีษที่กล่าวว่า “ไม่มีความเสียหายใด ๆ (คือไม่อนุญาตให้ก่อความเสียหายใด ๆ) แก่ผู้อื่น และจะไม่มีความเสียหายซึ่งกันและกัน” (Al-Hakim)
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
โดย ดร. คาริมา เบิร์นส์