อาหารที่ได้รับการรับรองว่าสามารถรับประทานได้สำหรับชาวยิวนั้นเรียกว่า ‘โคเชอร์’ ซึ่งชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมจำนวนมากเข้าใจว่าฮาลาลนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับโคเชอร์ จึงจำเป็นที่เราจะต้องเน้นย้ำถึงลักษณะที่เหมือนและแตกต่างกันระหว่างโคเชอร์และฮาลาล คนจำนวนมากในอุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐอเมริกามีความคุ้นเคยกับคำศัพท์คำว่าโคเชอร์อยู่แล้ว อีกทั้งยังรู้ถึงปัจจัยสำคัญตามข้อกำหนดเพื่อนำไปใช้สำหรับผลิตภัณฑ์โคเชอร์ ดังนั้น การศึกษาข้อเปรียบเทียบระหว่างฮาลาลและโคเชอร์สามารถช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมอาหารเข้าใจแนวคิดของทั้งสอง และยังสามารถนำความเข้าใจตรงนี้ไปปรับใช้กับกระบวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐานฮาลาลด้วยเช่นกัน
ข้อกำหนดมาตรฐานอาหารโคเชอร์จะคอยเป็นเกณฑ์ตรวจสอบว่าอาหารแต่ละชนิดนั้นถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้บริโภคชาวยิวที่ยึดถือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือไม่ ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้มีแหล่งที่มาดั้งเดิมจากพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเก่า ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากเบญจบรรณหรือพระคัมภีร์เดิมห้าเล่มแรกของโมเสส (คัมภีร์โตราห์ หรือ เตารอต) ในขณะที่โมเสสได้รับพระบัญญัติ 10 ประการ ที่ภูเขาซีนาย ตามประเพณีของชาวยิวนั้นเชื่อว่าโมเสสยังคงได้รับพระวจนะบัญญัติ หลายปีต่อมาพระวจนะบัญญัติเหล่านี้ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เล่าสืบต่อกันมาจึงถูกนำมาบันทึกเรียกว่า ‘คัมภีร์ทัลมุด’ อย่างไรก็ตาม พระวจนะบัญญัติเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมบัญญัติไบเบิลเทียบเท่ากับตัวบทบัญญัติที่ได้รับการจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายของข้อกำหนดโคเชอร์ตามธรรมบัญญัติไบเบิลก็ถูกแร็บไบ (ธรรมาจารย์ผู้ทรงความรู้ในศาสนายูดาย) ตีความและขยายความออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวยิวละเมิดบทบัญญัติในส่วนที่เป็นรากฐาน อีกทั้งยังเพื่อตอบประเด็นปัญหาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตามบริบทของยุคสมัย หลักนิติธรรม หรือระบอบการดำเนินชีวิตของชาวยิวนั้นเรียกว่า ‘ฮาลอคา’ (Halacha)
ข้อกำหนดมาตรฐานอาหารโคเชอร์ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปยังสามประเด็นหลัก ซึ่งทั้งหมดล้วนข้องเกี่ยวกับอาณาจักรสัตว์ ดังนี้:
• ชนิดของสัตว์ที่อนุมัติ
• ข้อห้ามในเรื่องของเลือด
• ข้อห้ามในเรื่องของการผสมนมกับเนื้อสัตว์
นอกเหนือจากนี้ ในช่วงเทศกาลปัสกาของชาวยิว (Passover หรือที่เรียกกันว่าเทศกาลเปสสัค ช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือ เมษายน) ยังมีข้อห้ามมิให้บริโภค ‘คาเมตซ์’ (Chometz หรือ ขนมปังใส่เชื้อหรือส่าเหล้า) รวมถึงธัญพืชที่ขึ้นฟูก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามในช่วงเทศกาลเช่นเดียวกัน (เช่น ข้าวสาลี ข้าวไร ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และแป้งสเปลท์) ข้อห้ามเหล่านี้สำหรับชาวยิวที่มีการขยายเพิ่มเติมเข้ามาได้นำไปสู่กฎระเบียบใหม่ทั้งหมด ซึ่งมุ่งเน้นไปยังอาณาจักรพืชเป็นกรณีพิเศษ ยิ่งกว่านั้น ยังมีข้อบังคับที่แยกย่อยออกไปอีก เช่น ข้อบังคับในเรื่องของน้ำองุ่น ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์องุ่น เป็นต้น อีกทั้งยังมีข้อบังคับในเรื่องของมาตรการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์นมของชาวยิว ; กระบวนการปรุงอาหาร การผลิตชีส และการอบของชาวยิว ; เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตอาหารโคเชอร์ ; การจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือจากผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิว ; และข้อบังคับในการใช้แป้งเก่าและแป้งใหม่ เป็นต้น
……………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry