“การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน : ความหมาย เป้าหมายและบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง”

โดย ดร.มุซัมมิล ศิดดีกียฺ ประธานสภาฟิกฮ (นิติศาสตร์อิสลาม) แห่งอเมริกาเหนือ
………………………………….
:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม ชัยค์ขอให้ท่านกรุณาอธิบายความหมาย เป้าหมาย กฎพื้นฐานเกี่ยวกับการถือศีลอด ญะซากุมุลลอฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน)

:: คำตอบ ::
วะอะลัยกุมสลามวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺ วะบะเราะกาตุฮฺ
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและทรงกรุณา มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบฮานะฮุวะตะอาลา) ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัดเป็น (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์

1. การถือศีลอดคืออะไร
อัลกุรอานเรียกการถือศีลอดว่า ศาวม์ คำว่าศาวม์ตามตัวอักษรหมายถึง การระงับ ในซูเราะหฺมัรยัม อัลลอฮฺทรงบอกเล่าเกี่ยวกับมัรยัมมารดาของนบีอีซา โดยนางกล่าวว่า “ฉะนั้น จงกิน จงดื่ม และจงทำจิตใจให้เบิกบานเถิด หากเธอเห็นมนุษย์คนใดก็จงกล่าวว่า ฉันได้บนการสงบนิ่งไว้ต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีฉันจะไม่พูดกับผู้ใดเลยวันนี้” (มัรยัม19:26) ความหมายคือ ฉันได้สาบานว่าจะงดเว้นจากการพูดคุยกับผู้คนในวันนี้ ในทางชะรีอะฮฺ คำว่าศาวม์ในทางชะรีอฮฺหมายถึงงดเว้นจากทุกสิ่งที่ถูกห้ามไว้ช่วงตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกโดยกระทำไปอย่างตั้งใจว่าจะถือศีลอด

2.เป้าหมายของการถือศีลอด
อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (ตักวา)” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:183) ตักวาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในแง่ของจิตวิญญาณและจริยธรรม ในคำศัพท์ของอัลกุรอาน ตักวาเป็นความรวมในด้านจิตวิญญาณและจริยศาสตร์ในอิสลาม เป็นคุณภาพที่อยู่ในชีวิตของผู้ศรัทธาที่คอยรักษาพวกเขาให้อยู่ในการตระหนักถึงการเฝ้ามองอยู่ของอัลลอฮฺตลอดเวลา

ตักวาเป็นคุณธรรม เป็นความดีและเป็นการตระหนักต่ออัลลอฮฺ ตักวาต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม การถือศีลอดสอนให้รู้จักความอดทน และด้วยความอดทนจะทำให้คนหนึ่งบรรลุถึงตำแหน่งสูงสุดของตักวา

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่าการถือศีลอดเป็นเสมือนโลห์ ซึ่งจะปกป้องคนหนึ่งจากการทำบาปและกิเลสตัณหา ตามความเห็นอิมาม อัลเฆาะซาลีย์ การถือศีลอดจะสร้างลักษณะของเศาะมาดียฺยะฮฺ (อิสระจากความต้องการ) ในตัวมนุษย์ อิมามอิบนุก็อยยิมเห็นว่าการถือศีลอดว่าเป็นวิธีการที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณมนุษย์จาก กิเลสตัณหา ซึ่งจะทำให้ความพอเพียงอยู่เหนือกิเลสตัณหา

อิมามชาห์วะลียุลลอฮฺ ดะฮฺลาวีมองว่าการถือศีลอดเป็นวิธีการที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับความน่ารังเกียจและเสริมสร้างธาตุแห่งมลาอิกะฮฺในความเป็นมนุษย์ เมาลานา เมาดูดีย์ เน้นย้ำว่าการถือศีลอดเต็มเดือนในทุกๆ ปีเป็นการฝึกฝนปัจเจกบุคคลและชุมชนมุสลิมในภาพรวมและครอบคลุม ในเรื่องของความยำเกรงและการระงับตัวเอง

3. การถือศีลอดเป็นหน้าที่ 
ในปีที่สองของการฮิจญเราะฮฺ มุสลิมได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในรอมฎอนของทุกปี อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัลบะเกาะเราะฮฺ183) อัลลอฮฺยังตรัสด้วยว่า
.
“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:185) 
.
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของการปฏิบัติในอิสลาม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า ท่านรอสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอิสลามวางอยู่บนรากฐานห้าประการ หนึ่ง การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ สองดำรงการละหมาด สามการจ่ายซะกาต สี่การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน ห้าการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ” (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

ประชาชาติอิสลามถือเป็นมติเอกฉันท์ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถ (มุกัลลัฟ)

4. บัญญัติต่างๆของการถือศีลอด
ก. ใครบ้างต้องถือศีลอด 
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งบรรลุศาสนภาวะและเป็นผู้ที่สติสมบูรณ์ ตลอดจนไม่ป่วนและมิได้อยู่ในระหว่างการเดินทาง 

ส่วนคนป่วยที่เป็นการป่วยเพียงชั่วคราวและคาดว่าจะหายเป็นปกติหลังจากนั้น จะอนุญาตสำหรับเขาหรือเธอไม่ต้องถือศีลอดในวันที่ป่วย แต่ทั้งเขาและเธอจะต้องถือศีลอดชดเชยหลังรอมฎอนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป สำหรับคนป่วยที่เรื้อรังและมีแนวโน้มว่าสุขภาพจะไม่ดีขึ้น อนุญาตให้พวกเขาไม่ต้องถือศีลอด แต่จะต้องจ่าย ฟิดยะฮฺ เป็นการทดแทน โดยจ่ายมื้ออาหารสำหรับหนึ่งวันแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป โดยเขาสามารถจ่ายเป็นเงินแทนมื้ออาหารแก่คนยากจนขัดสน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนและหลังคลอดไม่อนุญาตให้ถือศีลอดและจะต้องชดใช้หลังรอมฎอน หญิงมีครรภ์และแม่ที่ให้นมลูก ถ้าหากนางเห็นว่าเป็นเรื่องลำบาก พวกนางสามารถเลื่อนการศีลอดโดยไปชดเชยเมื่อสภาพร่างกายมีความพร้อม 

การเดินทางในทางชะรีอะฮฺนั้นคือทุกการเดินทางที่พาตัวเองออกห่างจากเมืองหรือที่พักอาศัย โดยมี่ระยะทางอย่างน้อยที่สุด 48 หรือ 80 กิโลกรัม เหมือนกับการเดินทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้ (ก็อศร์) การเดินทางต้องไปด้วยเหตุผลที่ดี และถือเป็นบาป หากจะเดินทางในรอมฎอน โดยมีเจตนาที่จะเลี่ยงการถือศีลอด มุสลิมควรจะเปลี่ยนแผนการในการเดินทางในช่วงรอมฎอนเพื่อจะได้ถือศีลอดในเดือนนี้ได้ ยกเว้นว่ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เมื่อกลับจากการเดินทาง เขาจะต้องรีบชดเท่าจำนวนวันที่ขาดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข. การถือศีลอดตามแบบอย่างท่านนบี
1) รับประทานอาหารสะฮูร (อาหารก่อนรุ่งอรุณ) เพราะเป็นซุนนะฮฺ (แบบอย่างของท่านนบี) และมีรางวัลและความประเสริฐมากมายในการับประทานอาหารสะฮูรซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เข้าเวลาละหมาดศุบฮ์
2) ละศีลอดทันทีเมื่อดวงอาทิตย์ตก ในทางชะรีอะฮฺให้ดูว่าขอบของดวงอาทิตย์หายไปจากเส้นขอบฟ้าและหายลับอย่างสมบูรณ์
3) ในช่วงระหว่างของการถือศีลอดจะต้องไม่พูดจาและกระทำสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ จะต้องไม่โต้เถียง ทะเลาะวิวาท พูดจาหยาบคาย หรือกระทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งต้องห้าม เขาจะต้องจัดระเบียบวินัยในเรื่องศีลธรรมจรรยา พร้อมทั้งการฝึกฝนทางร่างกาย เขาจะต้องไม่แสดงโอ้อวดในการถือศีลอด โดยคร่ำเคร่งกับมัน หรือแสดงปากที่แห้งอาการหิวโหย หรืออารมณ์ขุ่นมัว ผู้ที่ถือศีลอดมีความพึงพอใจด้วยจิตวิญญาณและกำลังใจที่ดี
4) ในระหว่างการถือศีลอดเขาควรจะบริจาคและทำความดีต่อคนอื่นๆให้มาก เพิ่มพูนอิบาดะฮฺและการอ่านอัลกุรอาน มุสลิมทุกคนควรพยายามที่จะอ่านอัลกุรอานอย่างน้อยจบหนึ่งครั้งในช่วงรอมฎอน

ค. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
ผู้ถือศีลอดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เสียศีลอด สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นจะต้องชดใช้สำหรับวันนั้นได้แก่
1) กิน ดื่มหรือสูบโดยตั้งใจ
2) ตั้งใจทำให้อาเจียน
3) การมีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตรแม้ว่าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกเพียงเล็กน้อยก็ตาม
4) การหลั่งอสุจิโดยเจตนา เช่น ด้วยการจูบหรือกอด เป็นต้น
5) กิน ดื่ม สูบหรือมีเพศสัมพันธ์หลังดวงอาทิตย์ขึ้นเนื่องจากเข้าใจผิดว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เช่นเดียวกับการกระทำสิ่งเหล่านี้ก่อนดวงอาทิตย์ตกโดยเข้าใจไปว่าดวงอาทิตย์ตกดินแล้ว

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงการถือศีลอดเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบาปใหญ่ ผู้ที่พลาดพลั้งกระทำไปจะต้องชดเชย (เกาะฎออ์) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ ชดเชยด้วยการถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน หลังรอมฎอน หรือเลี้ยงอาหารคนจน 60 คน สำหรับแต่ละวันที่พลาดพลั้งไป สำหรับอิมามอบูฮานีฟะฮฺเห็นว่าผู้ที่ตั้งใจกินหรือดื่มจะต้องชดเชย (เกาะฎออฺ) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺในลักษณะเดียวกัน

ง. สิ่งที่ไม่ทำให้เสียการถือศีลอด
ในระหว่างการถือศีลอดสิ่งต่อไปนี้อนุญาตให้ปฏิบัติได้
1) การอาบน้ำ หากเผลอกลืนน้ำโดยไม่ตั้งใจจะไม่ทำให้เสียศีลอด ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าการว่ายน้ำในช่วงถือศีลอดสามารถกระทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำ เพราะอาจจะทำให้น้ำเข้าทางปากหรือจมูกลงไปในกระเพาะได้
2) การใส่น้ำหอม การใส่คอนแทคเลนส์หรือยาหยอดตา
3) ฉีดยาหรือเจาะเลือด
4) ใช้มิสวาก (แท่งไม้สิวาก) หรือแปรงฟัน (แม้จะใช้ยาสีฟันด้วยก็ตาม) สูดน้ำเข้าจมูกแต่ไม่มากเกินไป (เพื่อหลีกเลี่ยงการกลือนน้ำ)
5) กิน ดื่มหรือสูบโดยมิได้ตั้งใจ เช่น ลืมว่ากำลังถือศีลอดอยู่ แต่จะต้องหยุดทันทีเมื่อนึกขึ้นมาได้แล้วถือศีลอดต่อไป
6) หากนอนในช่วงเวลากลางวันแล้วฝันเปียก สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เสียศีลอด เช่นเดียวกันกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ในเวลากลางคืนและไม่สามาถอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ก่อนรุ่งอรุณ เขาหรือเธอสามารถเริ่มถือศีลอดได้แล้วค่อยอาบน้ำยกหะดัษ ผู้หญิงที่ประจำเดือนหยุดในเวลากลางคืนอาจจะเริ่มถือศีลอดแม้ว่าเธอจะยังไม่ยกหะดัษใหญ่ (ฆุสล) กรณีนี้การอาบน้ำ (ฆุสล์) เป็นสิ่งจำเป็นแต่การถือศีลอดยังใช้ได้แม้จะยังไม่อาบน้ำในทันที
7) การจูบระหว่างสามีภรรยาเป็นที่อนุญาต แต่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ทำอะไรเลยเถิดไปกว่านี้ในระหว่างถือศีลอด

จ.สิ่งจำเป็นที่จะทำให้การถือศีลอดใช้ได้
องค์ประกอบพื้นฐานสองประการของการถือศีลอด
1) การตั้งเจตนา (นิยยะฮฺ) เขาจำเป็นจะต้องตั้งเจตนาเพื่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจในการถือศีลอดก่อนอรุณรุ่ง เจตนาไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูด แต่จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจทั้งในหัวใจและความคิด นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าการตั้งเจตนาสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวแต่ครอบคลุมทั้งเดือนโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมจะดีกว่าหากตั้งเจตนาทุกวันเพื่อให้ได้รับรางวัลอย่างเต็มที่
2) งดเว้นทุกสิ่งที่จะทำให้เสียศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ตก ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. Muzammil H. Siddiqi

#รอมฎอน#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *