การเติบโตของเศรษฐกิจฮาลาลในยุคปัจจุบัน จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจโลกอิสลาม ปี 2023/24

จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจโลกอิสลาม ปี 2023 – 2024 (2023/24 The State of Global Islamic Economy Report) ของประเทศในกลุ่ม OIC โดยปีนี้เป็นฉบับที่ 10 จากความร่วมมือของ DinarStandard ร่วมกับ Salaam Gateway ในการจัดทำรายงานทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ OIC ทางด้านอาหาร การเงิน แฟชั่น ยา เครื่องสำอาง และอื่น ๆ และในฉบับนี้ยังรวมตลาด Halal Life Style ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์เมื่อปี 2012 คาดการณ์ว่า ตลาดการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 โดยได้แรงผลักดันจากประชากรโลกมุสลิมที่อายุน้อยและเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจฮาลาลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ เช่น Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีอาระเบีย และนโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และซาอุดีอาระเบียที่รวมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอิสลามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การลงทุนจาก VCs และ PE funds ยังคงสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการทางด้าน Fintech และแฟชั่นบนตลาดอีคอมเมิร์ซ

บริษัทข้ามชาติอย่าง BRF, Nestlé และ Nike ยังคงลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดมุสลิมที่มีขนาดใหญ่และกำลังเติบโต ในขณะที่ OIC และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น UNHCR และธนาคารโลก กำลังมองหาการเงินอิสลามเป็นแหล่งทุนสำคัญในการพัฒนา ถึงแม้จะมีความท้าทายจากวิกฤตการณ์รอบโลก เช่น ความขัดแย้งในยูเครน สถาณการณ์ในกาซ่า วิกฤตภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนจากการปฏิวัติทางดิจิทัล และเทคโนโลยี AI แต่การพัฒนาในหลายด้าน ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอิสลามทั่วโลก เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่ของกลุ่ม BRICS และวิสัยทัศน์ Vision 2030 ของประเทศซาอุดีอาระเบีย

รายงานในปี 2023 ระบุว่า ผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลกจำนวน 2 พันล้านคน ใช้จ่ายไปถึง 2.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ในภาคส่วนของอาหาร ยา เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว และสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.5% จากปี 2021 นอกจากนี้ สินทรัพย์ทางการเงินอิสลาม ยังมีมูลค่าถึง 3.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021/2022 และคาดว่าจะแตะที่ 5.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2025/2026 โดยประเทศมาเลเซียยังคงเป็นผู้นำในดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลก (GIEI) ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอินโดนีเซียขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 บาห์เรนตกลงมาอยู่ในอันดับ 5 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019/20 และแอฟริกาใต้ขึ้นมาเป็น 15 อันดับแรกได้เป็นครั้งแรก

การนำเข้าสินค้าฮาลาลของประเทศสมาชิก OIC ลดลงเล็กน้อยในปี 2022 แต่คาดว่า จะฟื้นตัวในปี 2027 โดยมีมูลค่าถึง 492 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 7.6% การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอิสลามเติบโตขึ้นถึง 128% ในปี 2022/23 โดยอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงเป็นผู้นำในด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอิสลาม

การเติบโตของภาคอาหารฮาลาลยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการลดมูลค่าการลงทุนลง แต่เทคโนโลยีทางด้านอาหารยังคงเป็นแนวหน้าในภาคการลงทุน โดยผู้บริโภคมุสลิมใช้จ่ายในอาหารเพิ่มขึ้น 9.6% ในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1.89 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027

ในขณะเดียวกัน ภาคการเงินอิสลามยังคงดึงดูดระดับการลงทุนที่สูงขึ้น โดยมูลค่ารวมของการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินอิสลาม เพิ่มขึ้นห้าเท่าในปี 2022/23 อุตสาหกรรมนี้กำลังพัฒนาไปสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน และการรวมกลุ่มทางการเงิน

การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ OIC ฟื้นตัวขึ้นหลังการระบาดโควิด มีการลงทุนทางด้านโครงการพัฒนาโรงแรมแห่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว การใช้จ่ายของผู้บริโภคมุสลิมในปี 2022 สูงถึง 133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2027 มูลค่าการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวจะสูงถึง 174 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แฟชั่นมุสลิมในแบบสุภาพ กับการตลาดแบบ Omnichannel และตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายในด้านแฟชั่นของผู้บริโภคมุสลิมการใช้จ่ายด้านแฟชั่นของชาวมุสลิมสูงถึง 318 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และเป็นที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 จะมีมูลค่าถึง 428 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมยาฮาลาล ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากเงินเฟ้อและการขัดข้องในห่วงโซ่อุปทาน แต่การใช้จ่ายในด้านยาของผู้บริโภคมุสลิมสูงถึง 108 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดการณ์ว่าในปี 2027 มูลค่าการใช้จ่ายจะสูงถึง142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ท้ายสุด ตลาดเครื่องสำอางและความบันเทิงก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของผู้บริโภคมุสลิมในการซื้อเครื่องสำอางสูงถึง 84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะสูงถึง 129 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027
ในขณะที่การใช้จ่ายในภาคสื่อและสันทนาการของชาวมุสลิมสูงถึง 247 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าในปี 2027 จะมีมูลค่าการใช้จ่ายจะสูงถึง 344 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยบทสรุปของรายงานฉบับนี้ ได้เสนอข้อแนะนำสำหรับรัฐบาล ธุรกิจ และนักลงทุน ในการเดินหน้าคว้าโอกาสของตลาดในกลุ่มนี้ และมองอนาคตของเศรษฐกิจฮาลาล เศรษฐกิจที่มีรากฐานจากคุณค่าของความเชื่อในศาสนาอิสลาม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสังคมโลกต่อไป [1]
………..
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
……….
Ref.

[1] Salaam gateway. 2024. The State of the Global Islamic Economy 2023/24 Report [Online]. [cited 2024 Jul 3. Available from: https://salaamgateway.com/…/state-of-the-global-islamic…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *