ความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์และเนื้อสัตว์แปรรูปกับมะเร็งกระเพาะอาหาร

ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป และการมีน้ำหนักเกิน ต่างก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ตามรายงานทางวิทยาศาสตร์ฉบับใหม่ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งชาติอเมริกัน (American Institute for Cancer Research) และกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund)

รายงานจากโครงการอัปเดตปรับปรุงต่อเนื่อง (The Continuous Update Project) จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งชาติอเมริกัน (American Institute for Cancer Research) และกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund)

นักวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างเป็นระบบ หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติได้ประเมินผลอย่างเป็นอิสระ พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจำนวน 952,000 ราย ในปี 2012 หรือ 7% ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด

มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุอันดับที่สามของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง มีผลต่อผู้ชายเป็นสองเท่าเทียบกับผู้หญิง และเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในหมู่ผู้สูงอายุ ซึ่งอายุเฉลี่ยของการวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นโรคในสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ที่ 72 ปี 

ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาอัตราการมีชีวิตรอดจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอยู่ที่ 25 – 28% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 63% หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาการจะไม่ปรากฏให้เห็นในระยะเริ่มแรกจนกว่ารอยโรคจะมีการเจริญเติบโตมากขึ้น และ 70% ของผู้ป่วยทั่วโลกจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเมื่ออยู่ในระยะท้าย ๆ ซึ่งส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตลดลง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกและจีน

การจำแนกโรคมะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการเจริญเติบโตของเนื้องอก มะเร็งบริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหาร (cardia stomach cancer) เกิดขึ้นบริเวณด้านบนสุดของกระเพาะอาหารใกล้หลอดอาหาร ส่วนมะเร็งที่ไม่ได้อยู่บริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหาร (non-cardia cancer) นั้นเกิดขึ้นนอกเหนือจากบริเวณดังกล่าว

โรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่ไม่ได้อยู่บริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหาร (non-cardia cancer) จะพบมากกว่าในทวีปเอเชีย แต่อัตราการเกิดโรคนั้นลดลง อาจเป็นเพราะอัตราการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) นั้นลดลง และผู้คนก็เริ่มใช้เครื่องทำความเย็นมากกว่าการใช้เกลือในการถนอมและรักษาอาหาร

อย่างไรก็ตาม มะเร็งบริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหาร (cardia stomach cancer) เป็นโรคที่พบมากกว่าในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น

ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า 11% ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารทั่วโลกนั้นมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่

การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. pylori) เป็นที่ทราบกันว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่ไม่ได้อยู่บริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหาร (non-cardia cancer) และมีการศึกษาตรวจสอบที่อยู่ในระหว่างกระบวนการว่าสาเหตุของโรคอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสเอปสตีนบาร์ หรือย่อว่า อีบีวี (Epstein-Barr virus: EBV) 

การรับการสัมผัสของสารเคมีในอุตสาหกรรมและการสัมผัสกับฝุ่นและอุณหภูมิสูงในสถานที่ทำงานก็มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน ผู้ที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตอาหาร ผลิตยางพารา การแปรรูปไม้หรือโลหะ การผลิตโครเมียม และการทำเหมืองถ่านหินถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูง

การศึกษาในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของปัจจัยการดำเนินชีวิตบางอย่างที่มีต่อความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ข้อมูลนี้มีการสังเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์อภิมานข้อมูลกว่า 89 เรื่องจากผู้ใหญ่จำนวน 17.5 ล้านคน และผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารอีก 77,000 คน

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
โดย Yvette Brazier จาก MedicalNewsToday.com:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *