“ท่องเที่ยวฮาลาล” หรือการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม ถือเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ ข้อมูลจาก “Global Muslim Travel Index 2019” (GMTI) ของ Mastercard-Crescent Rating ระบุว่า ปี 2020 จะเป็นเทรนด์แห่งการท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งมีมูลค่าการท่องเที่ยวกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 ที่จะมีนักท่องเที่ยวพุ่งแตะระดับ 230 ล้านคน โดยมีนักท่องเที่ยวมุสลิมจากประเทศ “ซาอุดิอาระเบีย” เติบโตมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ
ในขณะที่ “สตรีมุสลิม” จะเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยประเมินว่าในปี 2020 ผู้หญิงจะออกเดินทางท่องโลกมากที่สุด ทั้งเที่ยวแบบครอบครัว เที่ยวกับเพื่อนผู้หญิงด้วยกันหรือการท่องเที่ยวแบบคนเดียว ซึ่งนักท่องเที่ยวประมาณ 2 ใน 3 เป็นนักท่องเที่ยวมุสลิมอายุประมาณ 40 ปีหรือน้อยกว่า และมากกว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงการแนะนำจากแพลตฟอร์มบุ๊กกิ้งออนไลน์ ในการหาข้อมูลที่พัก การเดินทาง และร้านอาหารต่าง ๆ ที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม
ในปี 2018 ที่ผ่านมา ผู้หญิงชาวมุสลิมกว่า 63 ล้านคนท่องเที่ยวใน 130 ประเทศทั่วโลก กว่า 28% ของการเดินทางเป็นแบบตัวคนเดียวและกลุ่มเพื่อน ใช้จ่ายไปมากกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นแตะ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
รายงานฉบับนี้ยังได้รายงานข้อมูลการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวมุสลิมกว่า 1,000 คนจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย สหราชอาณาจักร โอมาน และซาอุดีอาระเบีย พบว่า นักท่องเที่ยวเหล่านี้วางแผนเดินทางเฉลี่ย 2-3 ครั้ง/ปี ซึ่งร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อพักผ่อน ร้อยละ 21 เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ และร้อยละ 11 เพื่อธุรกิจ โดยการเดินทางของผู้หญิงมุสลิมร้อยละ 94 ให้ความสำคัญกับร้านอาหารฮาลาล ร้อยละ 86 คำนึงถึงห้องละหมาดที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิง และ ร้อยละ79 คำนึงถึงร้านสปาและสถานเสริมความงามต่าง ๆ ที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิง
ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศนอกกลุ่ม OIC ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ ตามด้วยสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และไต้หวัน ตามลำดับ โดยสิงคโปร์ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการและธุรกิจที่รองรับข้อปฏิบัติตามหลักศาสนา เช่น กำหนดให้มีฟู้ดเซ็นเตอร์ต่าง ๆ เช่น ในท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี ที่มีโซนอาหารฮาลาล ในขณะที่ญี่ปุ่น กระทรวงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้แตะ 1.4 ล้านคนในปี 2020 ซึ่งเป็นปีแห่งการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีแอปพลิเคชันแนะนำ “ร้านอาหารฮาลาลที่ดีที่สุด” ในแต่ละย่านท่องเที่ยวด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม
ขณะที่ประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ ได้จัดงาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2019 ที่จัดโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์นิทรรศการและแสดงสินค้าไบเทคบางนา กรุงเทพมหานครฯ ภายในงานมีกิจกรรมมากมายทางด้านฮาลาล หนึ่งในกิจกรรมได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ร่างมาตรฐานการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ OIC โดยมีหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมมากมาย เพื่อให้มาตรฐานฉบับดังกล่าว เป็นแนวทางสำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวฮาลาลหรือการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิมของไทย กอรปกับในปัจจุบัน เรามีแอปพลิเคชันอย่าง “ Halal route” แอปนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวฮาลาล ร้านอาหารฮาลาลและมัสยิดสำหรับปฏิบัติศาสกิจแก่นักท่องเที่ยวทั้งจากไทยและต่างประเทศ รวมทั้งแอปท่องเที่ยวฮาลาลจากหน่วยงานอื่นๆทั้งจากภาครัฐและเอกชนรองรับนักท่องเที่ยวอีกมากมาย เพื่อรับมือกับการท่องเที่ยวฮาลาลหรือการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิมของประเทศไทยในปี 2020
……………………………………………..
ที่มา :
[1]ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, “เทรนด์ฮาลาลแทรเวล อภิมหากำลังซื้อมุสลิม” https://www.prachachat.net/world-news/news-398959
[2]Global Muslim Travel Index 2019 by Mastercards https://www.crescentrating.com/halal-muslim-travel-market-r…
#ท่องเที่ยวฮาลาล #ฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว #ท่องเที่ยวฮาลาล2020 #ตลาดท่องเที่ยวฮาลาลปี2020 #การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิม