ปาฐกถาพิเศษโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
จบไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่กับการจัดงาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2018 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมและได้รับการตอบรับด้วยดีทั้งจากไทยและต่างประเทศ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆเยอะแยะมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การปาฐกถาพิเศษของ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ วิสัยทัศน์ใหม่ฮาลาลประเทศไทย ก้าวหน้าด้วยแบรนด์ฮาลาลเพชร” ซึ่งท่านได้เริ่มกล่าวถึงที่มาของงานทางด้านฮาลาลเริ่มต้นจากบทบัญญัติศาสนาที่มาจากอัลกุรอานซึ่งกล่าวถึงคำว่า حلال จำนวน 6 ครั้งในโองการต่างๆและก้าวมาสู่มาตรฐานฮาลาลในปัจจุบัน
.
ประเทศไทยเริ่มกระบวนการรับรองฮาลาล เมื่อปี พ.ศ. 2492 จากการรับรองกระบวนการเชือดสัตว์ ต่อมาปี พ.ศ. 2541 มีการประกาศใช้มาตรฐานฮาลาล มอก. 1701 –2541 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศของไทย ในกระบวนการรับรองฮาลาลประเทศไทย ประชากรมุสลิมทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรองฮาลาลที่มาจากโครงสร้างการคัดเลือก เริ่มตั้งแต่มุสลิมในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยคัดเลือกอิหม่ามประจำมัสยิด อิหม่ามคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการอิสลามประจำจังหวัดคัดเลือกกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและจุฬาราชมนตรีซึ่งทำหน้าที่ลงนามอนุมัติการรับรองฮาลาลเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะได้รับการรับรอง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดูแลงานทางด้านฮาลาล ที่ดำเนินงานภายใต้แนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ”
ในส่วนงานด้านวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในงานฮาลาลประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ฮาลาลไทย เนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการผลิตที่มีการเจือปนสิ่งต้องห้ามในผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ด้วยเหตุนี้การใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจพิสูจน์สภาพฮาลาลและงานการมาตรฐานฮาลาลอย่างระบบ HAL-Q ก่อนการขอการรับรองฮาลาล รวมทั้งงานวิจัยและพัฒนาสบู่ดินเพื่อชำระล้างนญิสหนักในอุตสาหกรรม จึงมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทย
ยุทธศาสตร์การนำฮาลาลประเทศไทยก้าวไกลสู่สากลนั้น ประเทศไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานฮาลาลมาโดยตลอด ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานทางด้านฮาลาลอย่างสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามมติคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยและได้ผลักดันสู่มาตรฐาน Thailand Diamond Halal
Thailand Diamond Halal หรือฮาลาลเพชร มีการเพิ่มมาตรฐานใหม่ๆรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจ เปลี่ยนวิสัยทัศน์ฮาลาลประเทศไทยใหม่ จากโลโก้ฮาลาล มาเป็นแบรนด์ฮาลาล จากสินค้าฮาลาลจำหน่ายตลาดมุสลิมมาสู่สินค้าฮาลาลเพื่อทุกคน (Halal for All) โดยนำแนวทางฮาลาลแม่นยำ (Precision Halalization) ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมศักยภาพฮาลาลของไทย อย่าง “ระบบ SPHERE” ซึ่งเป็นระบบศูนย์ข้อมูลการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ด้านฮาลาล ด้วยการนำระบบ Big DATA ที่เชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาลไว้ในทุกกระบวนการตั้งแต่การยื่นขอรับรองการผลิต การตรวจสอบ ไปจนถึงการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน การนำ App HALAL ROUTE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวฮาลาลของไทย และฐานข้อมูล H-Number ซึ่งหมายถึง Halal Number ที่เป็นฐานข้อมูลวัตถุเจือปนหรือสารเติมแต่งฮาลาลที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัมผัส สี กลิ่นรส การปรับปรุงคุณภาพและการเก็บรักษาเข้ามาทดแทนฐานข้อมูล E-Number ที่ใช้กันโดยทั่วไปในอุตสาหกรรมซึ่งมีทั้งที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล เพื่อเป็นการลดการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการในการยืนยันสภาพฮาลาลของวัตถุดิบ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและเพิ่มประสิทธิภาพการรับรองฮาลาลประเทศไทย เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของตลาดสินค้าฮาลาล ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลต่อไป
…………………………………………….
#THAILANDHALALASSEMBLY2018
#PrecisionHalalization