ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม
อาหารถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิสัมพันธ์ในความหลากหลายระหว่างเชื้อชาติ สังคม และกลุ่มความเชื่อทางศาสนา มนุษย์ทุกคนต่างพิจารณาถึงอาหารที่พวกเขารับประทาน มุสลิมต้องการที่จะมั่นใจว่าอาหารที่พวกเขารับประทานนั้นฮาลาล ยิวเองก็เช่นกันอาหารของพวกเขาจะต้องโคเชอร์ รวมไปจนถึง ฮินดู พุทธ และกลุ่มความเชื่ออื่น ๆ ที่เลือกรับประทานอาหารที่เป็นมังสวิรัติ เช่นเดียวกัน มุสลิมเพียงปฏิบัติตามทางนำที่ชัดแจ้งในการเลือกสรรอาหารที่ถูกต้องตามหลักกการและมีประโยชน์ (ฮาลาลและฏ็อยยิบ)
ในบทความหลักการพื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ได้รับอนุมัติ ตอนที่ 1 นั้น เราได้นำเสนอถึงหลักการพื้นฐานอันสำคัญในประเด็นของฮาลาล (อนุมัติ) และหะรอม (ต้องห้าม) ในอิสลามที่แนะแนวทางแก่มุสลิมในการดำเนินวิถีปฏิบัติไปแล้วถึง 7 ข้อ
#https://www.facebook.com/HSC.CU.Pattani/photos/a.504582689579969.126212.317351581636415/1211501578888073/?type=3&theater
บทความนี้เราจึงขอนำเสนอส่วนที่เหลืออีก 5 ข้อ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ครับ
8. เจตนาที่ดีมิสามารถเปลี่ยนสิ่งที่หะรอมอยู่แล้วมาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ศรัทธาได้ปฏิบัติในสิ่งที่ได้รับอนุมัติด้วยเจตนาที่ดี การปฏิบัติของเขาถือเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ (อิบา-ดะฮฺ) ในกรณีของหะรอม สิ่งนั้นยังคงหะรอมไม่ว่าจะมีเจตนาที่ดี หรือวัตถุประสงค์ที่มีเกียรติหรือเป้าหมายที่สูงส่งเพียงใดก็ตาม อิสลามไม่รองรับให้ใช้วิธีการที่หะรอมเพื่อบรรลุเป้าหมายอันน่าชมเชย แท้จริงแล้ว สิ่งนั้น ๆ ต้องไม่มีเพียงแค่เป้าหมายที่มีเกียรติเท่านั้น แต่ยังต้องมีการเลือกวิธีการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่เหมาะสมอีกด้วย ประโยคที่ว่า “เพื่อผลลัพธ์ คุณสามารถสร้างความชอบธรรมให้วิธีการ” (The end justifies the means) และ “เพื่อปกป้องสิทธิของคุณ แม้ว่าวิธีการที่ใช้จะผิดก็ตาม” (Secure your right even through wrongdoing) เป็นแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอิสลาม นิติศาสตร์อิสลามประสงค์ให้ความถูกต้องจะต้องได้มาด้วยวิธีการที่ชอบธรรมเท่านั้น
9. สิ่งใดที่อยู่ในข้อสงสัยควรได้รับการหลีกเลี่ยง ระหว่างสิ่งฮาลาลที่ชัดแจ้งกับสิ่งหะรอมที่ชัดแจ้งจะมีพื้นที่สีเทาอยู่ เรียกว่า “สิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย” อิสลามถือว่าเป็นความดีสำหรับมุสลิมในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ห่างจากสิ่งหะรอมอย่างแน่นอน นบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า “ฮาลาลและหะรอมนั้นเป็นที่ชัดแจ้ง แต่ระหว่างทั้งสองสิ่งนี้มีสิ่งที่น่าสงสัย ซึ่งคนส่วนมากไม่รู้ว่ามันฮาลาลหรือหะรอม ผู้ที่หลีกเลี่ยงมันเพื่อปกป้องศาสนาและเกียรติของเขาคือผู้ที่ปลอดภัย ในขณะที่ถ้าใครเข้าไปมีส่วนกับมันเขาผู้นั้นอาจจะทำสิ่งที่หะรอม เฉกเช่นคนที่ปล่อยสัตว์ของตนให้กินหญ้าอยู่ใกล้กับเขตหวงห้าม ซึ่งเขาอาจนำพวกมันหลงเข้าไปในนั้น แท้จริงสิ่งหวงห้ามของอัลลอฮฺนั้นคือสิ่งหะรอม”
10. สิ่งหะรอมถือว่าเป็นที่ต้องห้ามสำหรับทุกคนเทียบเท่ากันหมด นิติศาสตร์อิสลามนั้นเป็นสากลสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติพิเศษสำหรับชนชั้นอภิสิทธิ์ใด ๆ แท้จริงแล้วในอิสลามไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นอภิสิทธิ์ ดังนั้นประเด็นการเลือกปฏิบัติพิเศษจึงไม่มีในหลักการอิสลาม หลักการความเท่าเทียมและไม่มีการเลือกปฏิบัตินี้จะต้องนำไปใช้ไม่ใช่แค่เพียงในหมู่มุสลิมด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องนำไปใช้ระหว่างมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิมอีกด้วย
11. ข้อยกเว้นได้รับการอนุโลมในกรณีที่สภาวะความจำเป็นมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ขอบเขตของสิ่งต้องห้ามในอิสลามนั้นมีพื้นที่คับแคบมาก ถึงกระนั้นก็ถูกเน้นย้ำให้มุสลิมหลีกห่างจากสิ่งต้องห้ามอย่างแข็งขัน ขณะเดียวกัน อิสลามก็ไม่บังคับใช้ในสภาวะฉุกเฉินของชีวิต สภาวะที่ใหญ่เกินความสามารถหรือความอ่อนแอ และด้อยศักยภาพของมนุษย์ในการเผชิญกับสภาวะฉุกเฉินนั้น ๆ จึงเป็นที่อนุญาตให้มุสลิมภายใต้ความจำเป็นที่บีบบังคับในการรับประทานอาหารต้องห้ามในปริมาณที่เพียงพอตามความจำเป็นเพื่อประทังชีวิตและให้อยู่รอดได้
ชีวิตของมุสลิมจะวนเวียนอยู่กับแนวคิดฮาลาลและหะรอม หลักการฮาลาลและหะรอมเหล่านี้จึงมีความครอบคลุม เพราะมันไม่ใช่เป็นหลักการที่นำไปใช้ในการรับประทานและการดื่มเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพ การแต่งกาย และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อบรรลุซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีงามตามแบบฉบับอิสลาม
…………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลเรียบเรียงจากหนังสือ Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry