อาหารที่ต้องห้ามจากตัวบทอัลกุรอาน

**ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม**

หลักคำสอนโดยทั่วไปจากอัลกุรอานนั้น กำหนดว่า โดยพื้นฐาน แล้วอาหารทั้งหมดถือว่า ฮาลาล ยกเว้น สิ่งที่ได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าหะรอม อาหารทั้งหมดจึงถูกทำให้ฮาลาลตามที่ตัวบทอัลกุรอานได้ระบุไว้

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงบริโภคสิ่งที่ดีและสะอาดที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด หากเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ” (สูเราะฮฺที่ 2 อายะฮฺที่ 172)

ส่วนอาหารที่ได้รับการระบุเจาะจงว่าเป็นที่ต้องห้ามในอัลกุรอาน มีตามโองการต่าง ๆ ดังนี้

“พระองค์ทรงห้ามพวกเจ้าเพียงแต่สัตว์ที่ตายเองและเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกกล่าวอุทิศในนามอื่นนอกเหนือจาก อัลลอฮฺ …” (สูเราะฮฺที่ 2 อายะฮฺที่ 173)

“ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกกล่าวอุทิศในนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ และสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และสัตว์ที่ถูกตีตาย และสัตว์ที่ตกจากที่สูงตาย และสัตว์ที่ถูกขวิดตาย และสัตว์ที่ถูกสัตว์ร้ายกัดกินเว้นแต่ที่พวกเจ้าเชือดทัน และสัตว์ที่ถูกเชือดพลีบนแท่นหินบูชา และการที่พวกเจ้าเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้ว เหล่านั้นล้วนเป็นการละเมิด … ” (สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 3)

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งมึนเมาอื่น ๆ เป็นสิ่งต้องห้ามตามโองการดังต่อไปนี้

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! แท้จริงค็อมรฺ (น้ำเมา) และการพนัน และการบูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว เป็นสิ่งโสมมจากการกระทำของชัยฏอน (มารร้าย) ดังนั้น พวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 90)

เนื้อสัตว์เป็นกลุ่มอาหารที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเลือด เนื้อสุกร เนื้อสัตว์ที่ตายเอง หรือเนื้อที่ผ่านการเชือดสังเวยเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากผู้เป็นเจ้า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นที่ต้องห้ามอย่างเคร่งครัดในหลักการอิสลาม นอกเหนือจากนี้ เนื้อสัตว์ที่ได้รับการพิจารณาว่าฮาลาลจะต้องเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวด้วยนามของ อัลลอฮฺในขณะที่กระทำการเชือดอีกด้วย

“ดังนั้นพวกเจ้าจงบริโภค [เนื้อของสัตว์] ที่พระนามของ อัลลอฮฺถูกกล่าวเหนือมันเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่อบรรดาอายาต (โองการ/สัญญาณ) ของพระองค์” (สูเราะฮฺที่ 6 อายะฮฺที่ 118)

“และพวกเจ้าจงอย่าบริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮฺมิได้ถูกกล่าวเหนือมัน และแท้จริงนั่นเป็นการฝ่าฝืน และแท้จริงบรรดาชัยฏอน (มารร้าย) จะกระซิบกระซาบเสี้ยมสอนพวกพ้องของมันเพื่อพวกเขาจะได้โต้เถียงกับพวกเจ้า และถ้าหากพวกเจ้าเชื่อฟังปฏิบัติตามพวกมันแล้ว แน่นอนพวกเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี” (สูเราะฮฺที่ 6 อายะฮฺที่ 121)

จากตัวบทอัลกุรอานที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า มุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคอาหารทุกชนิดที่สะอาดและบริสุทธิ์ ยกเว้นอาหาร ผลิตภัณฑ์ หรือ สิ่งใดที่ได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
1. ซากสัตว์ หรือ สัตว์ที่ตายเอง
2. เลือดที่ข้นแข็ง หรือ เลือดที่ไหลจากตัวสัตว์
3. สุกร รวมถึงผลพลอยได้จากสุกรทุกชนิด
4. สัตว์ที่ไม่ได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺขณะเชือด
5. สัตว์ที่ถูกฆ่าตายในลักษณะที่เลือดของมันถูกป้องกันไม่ให้ไหลออกจากร่างกายจนหมดสิ้น
6. สัตว์ที่ได้รับการกล่าวนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺขณะเชือด
7. สิ่งมึนเมาทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
8. สัตว์กินเนื้อที่มีเขี้ยวเล็บ*(1) เช่น สิงโต สุนัข หมาป่า หรือ เสือ
9. สัตว์ปีกที่มีกรงเล็บแหลมคม (ประเภทนกล่าเหยื่อ) เช่น เหยี่ยว นกอินทรี นกฮูก หรือ นกแร้ง
10. สัตว์บก เช่น กบ*(2) หรือ งู*(3)

……………………………………………….
*(1) “ท่านนบีได้ห้ามกินสัตว์ป่าใด ๆ ก็ตามที่มีเขี้ยว และนกที่มีกรงเล็บ” (รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม) – ผู้แปล
*(2) บางทรรศนะของนักวิชาการ เช่น ในมัซฮับมาลิกีย์ให้ความเห็นว่ากบไม่ได้มีตัวบทที่ชัดเจนว่าห้ามบริโภค – ผู้แปล
*(3) บางทรรศนะของนักวิชาการได้จัดประเภทงูให้อยู่ในหมวดสัตว์มีพิษและเป็นอันตราย – ผู้แปล

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *