ฮาลาลในแดนมังกร โอกาสและความท้าทายของตลาดสินค้าฮาลาลในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเทศจีน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน มีชนชาติต่างๆอยู่รวมกัน 56 ชนชาติ โดยเป็นชาวฮั่น ร้อยละ 93.3 ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีพื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมีศาสนาอย่าง ลัทธิขงจื้อ เต๋า พุทธ อิสลาม และคริสต์ กระจายกันไป

#ศาสนาอิสลามและจำนวนประชากรมุสลิมในจีน

ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศจีนครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-960) ในบันทึกของราชสำนักถังได้ระบุว่า มีคณะทูตอิสลามจากอารเบียเข้ามาถวายบรรณาการยังราชวงศ์ถังครั้งแรกในปี ค.ศ.651 เป็นปีที่ 2 ของรัชสมัยจักรพรรดิหยุงเว่ย พวกเขาเดินทางมาถึงราชสำนักถังในสมัยของคอลีฟะฮฺอุสมาน ( ค.ศ.644-56) ตามความเชื่อของชาวจีนมุสลิมถือว่านั่นคือ ก้าวแรกของศาสนาอิสลามในประเทศจีน ผู้นำคณะทูตดังกล่าวคือ ซาอัด อิบน์ อาบี วักกอส ซึ่งเป็นศอฮาบะห์ (สหาย/ ผู้ติดตามท่านนบีมูฮัมมัด)

ปัจจุบัน จีนมีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 25 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1.76 ของประชากรจีน ส่วนใหญ่ชาวจีนมุสลิมอาศัยอยู่ในภาคกลางและตะวันตกของจีน อาทิ มณฑลกานซู มณฑลยูนนาน เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตฯ หนิงเซี่ยหุย (Chinese Muslims – Hui) และเขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ (Turkic Muslims – Uyghurs) นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนมุสลิมกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ อาทิ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้น โดยเมืองใหญ่เหล่านี้เป็นตลาดอาหารฮาลาล และเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองรอง อาทิ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน และนครซีอาน มณฑลส่านซี

#ฮาลาลและหน่วยงานรับรองฮาลาลในจีน

อาหารฮาลาลมีขายอย่างแพร่หลายในเกือบทุกเมือง เกือบทุกมณฑลของประเทศจีน โดยสามารถค้นหาร้านอาหาร และผลิตภัณฑ์ฮาลาล หากเป็นร้านอาหารโดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารที่ดำเนินการโดยมุสลิมจีน สิ่งที่ทำให้เรารู้ได้ว่าเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้นั้น จะมีสัญลักษณ์ฮาลาลหรือมุสลิมทานได้ ที่เขียนด้วยภาษาจีนคำว่า “ 清真” (Qīngzhèn) อ่านว่า คิงเซียง หรือบางร้านมีโลโก้ฮาลาลภาษาอาหรับและเขียนภาษาจีนกำกับ หรือบางร้านเขียนเป็นภาษาอาหรับด้วยคำว่า “طعام المسلمين” ที่หมายถึงอาหารมุสลิม

ตั้งแต่มีนโยบายความเป็นอัตลักษณ์ของจีน ภาษาอาหรับและโลโก้ฮาลาลเริ่มหายไปในบางร้านอาหารหรือบางผลิตภัณฑ์เหลือคงไว้เป็นภาษาจีน “清真” ที่แปะไว้หน้าร้านหรือติดไว้บางมุมบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า มุสลิมสามารถบริโภคอาหารนี้ได้ ตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ ซึ่งในประเทศจีนมีหน่วยงานรับรองฮาลาลหลายหน่วยงาน แต่ที่ได้รับการยอมรับและประกาศโดยหน่วยงานพัฒนาอิสลามแห่งชาติมาเลเซีย หรือ JAKIM ที่ทำหน้าที่รับรองฮาลาลในประเทศมาเลเซีย ได้จัดหน่วยงานรับรองฮาลาลต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2019 มีหน่วยงานรับรองฮาลาลจากประเทศจีน จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่

1. Shandong Halal Certification Service ( SHC )

2. China Islamic Association

3. ARA Halal Certification Services Centre Inc.

4. Linxia Halal Food Certification Centre

5. Shaanxi Shang Pin Yuan Halal Food & Restaurant Management Limited Company

ที่กระจายออกไปตามมลฑลต่างๆทั่วประเทศจีน

#อุตสาหกรรมฮาลาลในจีน

ในอดีตรัฐบาลจีน ตั้งเป้าให้ภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือเป็นจุดเชื่อมต่อกับโลกอิสลาม โดยประกาศนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อยกระดับและพัฒนามณฑลแถบตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ความเป็นสากล วางยุทธศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมจีนกับกลุ่มประเทศมุสลิมและให้เขตฯ หนิงเซี่ยหุยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลด้วยการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล

โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554 รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้ประกาศ “ระเบียบมาตรฐานอาหารฮาลาล” ซึ่งเป็นระเบียบมาตรฐานอาหารฮาลาลฉบับสมบูรณ์ฉบับแรก ปี 2557 คณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานและการรับรองแห่งชาติจีน ได้อนุมัติให้เขตฯ หนิงเซี่ยหุยก่อตั้ง “ศูนย์รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลและการค้าระหว่างประเทศ” และในปี 2559 รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยมีแผนที่จะก่อสร้าง “เมืองมุสลิมโลก” (World Muslim City) เพื่อเป็นฐานการเชื่อมจีนกับภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่ในปี 2560 จากปัญหาเขตปกครองซินเจียง กระแสอิสลามโมโฟเบีย และระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่มองเรื่องความเท่าเทียมกัน ทำให้รัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นที่เคยสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอย่างมากกลับเปลี่ยนไป ได้มีการยกเลิกการรับรองฮาลาลในบางพื้นที่ คงเหลือเพียงคณะกรรมการชาติพันธุ์เขตฯ หนิงเซี่ยหุยที่ยังทำหน้าที่รับรองสินค้าฮาลาลดังเช่นที่เป็นมาในอดีต

#โอกาสของสินค้าฮาลาลที่น่าสนใจเจาะตลาดตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ถึงแม้ว่าท่าทีการสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลของรัฐบาลจีนจะเปลี่ยนไป แต่โอกาสของสินค้าฮาลาลในพื้นที่แถบนี้ก็ยังคงอยู่ พื้นที่แถบตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีปริมาณมุสลิมอาศัยกันอยู่หนาแน่น และเป็นเส้นทางสายไหมในอดีต จากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ได้เสนอโอกาสของสินค้าที่น่าสนใจในภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือ ที่สามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคทั้งทั่วไปและฮาลาล ดังนี้

1. อาหารทะเล ผัก และผลไม้เมืองร้อน ในหลายพื้นที่อย่าง มณฑลส่านซี กานซู และเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เป็นพื้นที่ไม่ติดทะเล ผู้บริโภคชาวจีนในพื้นที่แถบนี้บริโภคสัตว์น้ำจืดจากแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง) เป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการทำตลาดผลไม้เมืองร้อน และอาหารทะเล โดยเฉพาะสินค้ากึ่งสำเร็จรูป/แช่แข็ง เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าที่ไม่สามารถหาได้ในท้องถิ่น

2. สินค้าสุขภาพ ความนิยมในการบริโภคสินค้าสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีนมีจำนวนไม่น้อยและมองว่าสินค้าที่มาจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการตลาดสินค้าออร์แกนิกส์ หรือสินค้าเพื่อสุขภาพ อาทิ กาแฟไขมันต่ำ น้ำมันมะพร้าวออร์แกนิกส์ เครื่องดื่มแปรรูปจากธัญพืช และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ภายนอก (สปาหน้า สปาตัว) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนสายสุขภาพได้ทั่วประเทศ

3. ธุรกิจบริการ จากข้อมูลของสถาบัน Cresent Rating ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ศึกษาและติดตามเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงฮาลาล (Halal Travel Trends) ทั่วโลกระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมกว่า 230 ล้านคนในปี พ.ศ. 2569 และคาดว่าปี พ.ศ. 2593 ประชากรมุสลิมจะมีประมาณร้อยละ 30 ของประชากรโลก โดยในส่วนของจีน ถึงแม้จะมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 25 ล้านคน แต่รัฐบาลจีนกลับไม่มีโครงการลงทุนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล และภาคเอกชนจีนเองก็ไม่กล้าลงทุนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิม เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่ารัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นไม่ให้การสนับสนุน ดังนั้น ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมุสลิมจึงเปิดกว้างอยู่

สุดท้ายนี้ ผู้ประกอบการฮาลาลของไทยที่ต้องการเข้าถึงตลาดจีนควรเน้นศึกษาความต้องการของตลาด นำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูง สร้างสรรค์ และแตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งทำความเข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี และรสนิยมของคนในพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สวยงาม มีภาษาไทยเป็นส่วนประกอบ มีภาษาจีนเป็นคำอธิบาย และมีช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น การวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เกต หรือการมีหน้าร้านในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ก็จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

……………………………………………..…….

เรียบเรียง
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
หน.ส่วนงานบริการหน่วยงานภายนอก สนง.ปัตตานี
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Islam_in_China

https://web.facebook.com/Prabsurapinad/photos/a.202089696656529/286928971505934/?type=3&theater
https://deepsouthwatch.org/th/node/11630