แนวทางทั่วไปสำหรับกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล

เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
เป็นที่ทราบกันดีว่าเนื้อสัตว์ที่ชาวมุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคต้องมีแหล่งที่มาจากสัตว์ที่ฮาลาลเท่านั้น และสัตว์ที่ฮาลาลก็ต้องผ่านกรรมวิธีการเชือดที่ถูกต้องตามหลักการ ซึ่งผู้ดำเนินการเชือดต้องเป็นชาวมุสลิมที่มีวัยวุฒิเหมาะสม ในขณะที่เชือดผู้เชือดจำเป็นต้องกล่าวนามของผู้เป็นเจ้า มีดที่ใช้จะต้องแหลมคมและตัดเข้าไป ณ บริเวณลำคอเพื่อให้เลือดไหลออกมาอย่างรวดเร็วและให้สัตว์ที่ถูกเชือดนั้นเสียชีวิตเร็วที่สุด ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลี้ยงดู ให้อาหาร ให้ที่พักพิง กระบวนการขนส่ง จนถึงการเชือด ทั้งหมดนี้จะต้องกระทำไปด้วยด้วยความเมตตาและมีมนุษยธรรมตามหลักจริยศาสตร์อิสลาม การกระทำใด ๆ ที่เป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์นั้นถือว่าต้องห้ามในอิสลาม 

ปลาและอาหารทะเล 
เพื่อความเข้าใจในการยอมรับข้อจำกัดการบริโภคปลาและอาหารทะเล สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือความหลากหลายของสำนักทางนิติศาสตร์อิสลามและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของชาวมุสลิมในแต่ล่ะท้องที่ ชาวมุสลิมทั่วไปยอมรับการบริโภคปลาที่มีเกล็ด ขณะที่มุสลิมบางกลุ่มไม่ยอมรับการบริโภคปลาที่ไม่มีเกล็ด นอกจากนี้ ความแตกต่างยิ่งเพิ่มมากขึ้นในอาหารทะเลจำพวกหอย หรือหมึก (Molluscs) และสัตว์ที่มีเปลือกหุ้มลำตัวเป็นปล้อง (Crustaceans) เช่น กุ้ง กั้ง ปู ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่ได้จำกัดใช้เฉพาะปลาและอาหารทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารแต่งกลิ่นรสและส่วนผสมที่ได้จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

นมและไข่
นมและไข่ที่ได้จากสัตว์ที่ฮาลาลย่อมมีสถานะฮาลาลด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วในประเทศตะวันตกนมจะมีแหล่งที่มาจากโคนม ส่วนไข่ก็จะมีแหล่งที่มาจากแม่ไก่ ขณะที่แหล่งที่มาอื่น ๆ จะต้องได้รับการระบุไว้บนฉลากให้ชัดเจน ผลิตภัณฑ์มากมายที่ทำมาจากนมและไข่ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม ได้แก่ ชีส เนย และครีม เป็นต้น ขณะที่ชนิดของเอนไซม์ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเอนไซม์หลายชนิดที่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตชีส อาจมีทั้งเอนไซม์ที่ฮาลาลและหะรอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเอนไซม์เหล่านั้น เอนไซม์ที่มาจากจุลินทรีย์และจากสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีการเชือดตามหลักการนั้นมีสถานะฮาลาล ถึงกระนั้น เอนไซม์ที่มีแหล่งที่มาจากสุกรนั้นถือว่าต้องห้าม ดังนั้น แหล่งที่มาของเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตชีสและผลิตภัณฑ์ประเภทนมต่าง ๆ จะมีสถานะฮาลาล หะรอม หรือต้องสงสัยนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของมัน นอกจากนี้ สารเติมแต่งอื่น ๆ เช่น อิมัลซิไฟเออร์ หรือ สารยับยั้ง เชื้อรา เป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในกระบวนการตรวจสอบในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ประเภทนมและไข่

พืชและวัตถุดิบจากพืช
อาหารที่มีแหล่งที่มาจากพืชถือว่ามีสถานะฮาลาล ยกเว้น ‘ค็อมรฺ’ (สิ่งที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา) ย่อมมีสถานะหะรอมตามหลักการอิสลาม ในปัจจุบัน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตคือการใช้โรงงาน เครื่องมือ และอุปกรณ์ร่วมกันระหว่างผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชและสัตว์ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนข้ามจึงมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในบางโรงงาน กระบวนการบรรจุกระป๋องของผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสุกร ถั่ว และข้าวโพดนั้นใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เราสามารถหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้ามเหล่านี้ได้จากการทำความสะอาดที่ถูกต้องเหมาะสม และแยกเครื่องมืออุปกรณ์ใช้ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาลและไม่ฮาลาลออกจากกัน นอกจากนี้ ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดหน้าที่ใดที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ เช่น สารลดฟอง จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงในกระบวนการแปรรูปผัก การจงใจใส่ส่วนผสมต้องห้ามลงในผลิตภัณฑ์ประเภทพืชและผักทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีสถานะหะรอม ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบและระมัดระวังในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตและแปรรูปเพื่อรักษาสถานะของฮาลาลไว้ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้

…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *