โดยปกติคนจีนซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ทั่วไปที่เรียกว่า “E-Commerce” อยู่แล้ว โดยช่องทางปกตินี้จะมีกฎระเบียบและกติกาที่ชัดเจน มีแพลตฟอร์มหลักๆ ได้แก่ Tmall.com ของ Alibaba Taobao.com ของ Alibaba และ JD.Com ส่วนช่องทางซื้อขายสินค้าใหม่ของ “Cross Border E-Commerce” นั้น ได้แก่ Tmall Global ของ Alibaba Grope หรือ JD Worldwide ของ JD.com ไม่ว่าจะเป็นช่องทางปกติกับพิเศษนั้นยังคงเป็นการซื้อขายจากธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และจากธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) เหมือนเดิม แต่การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Cross Border E-Commerce นั้น มีขั้นตอนที่สะดวก รวดเร็วและการตรวจสอบไม่เข้มข้นเท่ากับการซื้อขาย e-Commerce แบบปกติ
::#CrossborderE-Commerceคืออะไร?::
Cross border E-Commerce หรือ การซื้อการขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เป็นการนำเข้าส่งออกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่มีการซื้อขายผ่านออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซซึ่งมีทั้งในรูปแบบของ B2B (จากผู้ประกอบการสู่ผู้ประกอบการ) และ B2C (จากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภค) กำลังกลายเป็นโอกาสใหม่ทางการค้าออนไลน์ในจีน ที่รัฐบาลจีนมีมาตรการสนับสนุนการค้าออนไลน์นี้ชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็มีโอกาสและไม่ควรพลาด
::#ขนาดของตลาด E-Commerce ในประเทศจีน::
ตลาด E-Commerce ของจีนนับเป็นที่น่าจับตามอง ปัจจุบันตลาด E-Commerce มีขนาดใหญ่ และยังสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลจีน ซึ่งจากข้อมูลรายงานสถิติการใช้อินเตอร์เนตของชาววจีนเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2018 พบว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เนตในจีนมีประมาณ 830 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด โดยเป็นผู้ใช้ผ่านมือถือจำนวน 817 ล้านคน เป็นผู้อาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 73 อาศัยอยู่นอกเมืองร้อยละ 28 ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเพศชายร้อยละ 53 และเพศหญิงร้อยละ 47 และยังพบว่า จำนวนนักช็อปออนไลน์มีจำนวน 610 ล้านคน เป็นผู่ช็อปผ่านมือถือจำนวน 592 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
::#ข้อดีของการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Cross border E-Commerce::
จีนได้ออกกฎระเบียบ Cross Border E-Commerce Import (CERI) ตั้งแต่ปี 2016เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์โดยมีการลดหย่อนภาษีเมื่อเทียบกับการนำเข้าปกติ หรือการนำเข้าที่ไม่ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ข้ามพรมแดน กล่าวคือ การนำเข้าแบบปกติจะต้องชำระภาษีนำเข้ากับภาษีการบริโภคตามประเภทสินค้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม 17% แต่สำหรับการนำเข้าผ่านช่องทาง E-commerce ข้ามพรมแดนจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีการบริโภคชำระเพียง 70% ของการนำเข้าปกติเท่านั้น โดยได้มีการกำหนดโควตาต่อคนไม่เกิน 5,000 หยวนต่อการซื้อหนึ่งครั้งและรวมทั้งหมดไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี หากซื้อสินค้ามูลค่าเกินกว่าโควตาจะต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากับอัตรานำเข้าที่เสียกรณีการนำเข้า
::#แพลตฟอร์มอีคอมเมริ์ซข้ามแดนที่ควรรู้จัก::
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับเจาะเข้าหากลุ่มนักช้อปข้ามพรมแดนในจีนมีอะไรบ้างที่เป็นที่นิยม
::TMall::
เป็นแพลตฟอร์มในกลุ่มอาลีบาบาที่ค่อนข้างแพง ถ้าคุณอยากจะขายของใน Tmall ต้องมีเงินทุนสูง มีอิมเมจแบรนด์ที่ชัดเจนและทำยอดขายได้ดี ค่อนข้างมีชื่อเสียง ถ้าเพิ่งเริ่มทำธุรกิจ แพลตฟอร์มนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับมือใหม่
::XiaoHongShu หรือ Little Red Book::
ค่อนข้างแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เล็กน้อยเพราะเป็นแอปโซเชียลมีเดีย ผสม แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เปิดตัวในปี 2014 แต่มีฐานผู้ใช้มากกว่า 25 ล้านคน สินค้าที่ได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มนี้คือ สินค้าความงามและเครื่องสำอางเพราะทาร์เก็ตคือ หญิงสาวอายุระหว่าง 18-30 ปี และเหมาะสำหรับแบรนด์ขนาดเล็กที่ต้องการทำธุรกิจที่จีน
::Yangmatou::
เปิดตัวในปี 2009 เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนรายแรกในประเทศจีน นำเสนอสินค้าค่อนข้างหลากหลาย แต่เน้นไปที่ผลิตภัณท์ยอดนิยมอย่างเช่นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม,ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสื้อผ้ารองเท้าและกระเป๋าถือ ทั้งมีคำอธิบายอย่างละเอียด มีความน่าเชื่อถือ รับประกันได้ว่าเป็นของแท้ มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน
::Wechat store::
อีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้ WeChat Stores เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้การชำระเงินยังทำได้สะดวกและรวดเร็ว เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ WeChat ที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าของ WeChat ได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 15% ในปี 2015 เป็น 31% ในปี 2016
::#การจัดการสินค้าและระยะเวลาการจัดส่งแพลตฟอร์ม Cross border E-Commerce::
การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Cross border E-Commerce โดยทั่วไปจะสต็อกสินค้าไว้ที่คลังสินค้าในจีน (Bonded Warehouse) เมื่อผู้บริโภคชาวจีนส่งคำสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์ม CBEC แล้ว สินค้าจะผ่านกระบวนการพิธีการศุลกากรและโลจิสติกส์อย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าภายใน 4-7 วัน ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์แบบปกติจะใช้เวลามากกว่า 15 วัน
::#โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการฮาลาลของไทย::
ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในสมรภูมิการค้า ในจีนเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย (รวมถึงเรื่องลิขสิทธิ์แบรนด์) การสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเหนือคู่แข่ง (เน้นคุณภาพ) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อผลลัพธ์ทางการตลาด รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการและแผนการตลาดเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การเปิดตลาด Cross border E-Commerce ของจีนเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลและสินค้าทั่วไปของไทยที่จะก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทาง e-Commerce ในตลาดที่มีศักยภาพบนแผ่นดินมังกร
……………………………………………..……..
ที่มา : https://www.thaibizchina.com/
……