ความคลุมเครือระหว่างสิ่งที่ฮาลาลและหะรอม

ในหะดีษของอบู อับดุลลอฮฺ อัล-นุอฺมาน อิบนุ บาชีร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุมา กล่าวว่า จากอบูอับดุลลอฮฺ (อัน-นุอฺมาน บิน บะชีร) กล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงสิ่งที่อนุมัติ (หะลาล) นั้นชัดเจนและสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ก็ชัดเจนเช่นกัน และในระหว่างทั้งสองนั้นคือสิ่งที่คลุมเครือ ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ระแวดระวังและปกป้องตัวเขาจากสิ่งที่คลุมเครือ แท้จริงเขาได้ให้ศาสนาและเกียรติของเขาบริสุทธิ์ และใครก็ตามที่ตกอยู่ในสิ่งที่คลุมเครือ ก็เสมือนกับว่าเขาได้ตกอยู่ในสิ่งที่ต้องห้าม เปรียบดังเช่นผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์อยู่รอบ ๆ บริเวณเขตหวงห้าม ซึ่งมันเกือบจะเล็ดลอดเข้าไปกินในเขตหวงห้ามอยู่แล้ว พึงทราบเถิดว่าทุก ๆ กษัตริย์ย่อมมีเขตหวงห้าม และพึงทราบเถิดว่า แท้จริงเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺคือบรรดาสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย พึงทราบเถิดว่า ในร่างกายมนุษย์นั้น มีก้อนเนื้อชิ้นหนึ่ง เมื่อมันดี ร่างกายทั้งหมดก็จะดีตามไปด้วย และถ้าหากว่ามันเสีย ร่างการทั้งหมดก็จะเสียตามไปด้วย พึงทราบเถิดว่า มันคือ หัวใจ” (รายงานโดยอิหม่ามบุคอรียฺและมุสลิม)

:: คำศัพท์ ::
คำว่า ฮาลาล ได้เข้าไปอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษแล้ว ซึ่งในทางภาษาคำนี้หมายถึง อนุมัติ หรือ อนุญาต ส่วนคำศัพท์ทางเทคนิคจะหมายถึงชื่อที่กำหนดหมวดทางกฎหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตในอิสลาม ฮาลาลคือสิ่งที่ได้รับการอนุมัติด้วยอัล-กุรอานหรือสุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม

1.ฮาลาล
ตามข้อกำหนดของอิสลาม หลักการพื้นฐานแรกที่อิสลามได้วางไว้คือการถือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงสร้างและประโยชน์ต่างๆที่ได้รับจากมันนั้นล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญกับมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นที่อนุมัติ ไม่มีสิ่งใดเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) นอกจากว่าตัวบทที่มีความถูกต้องและชัดเจนกล่าวว่ามันเป็นที่ต้องห้าม (นั่นหมายถึง อายะฮฺอัล-กุรอานที่รัดกุมชัดเจนกับหะดีษที่ศอเฮี้ยะฮฺ) 

ดังกล่าวนี้นำเราไปสู่ความเข้าใจที่ว่าขอบเขตของสิ่งหะรอม (สิ่งที่ต้องห้าม) นั้นเล็กน้อยมากในขณะที่ขอบเขตของสิ่งที่ฮาลาล (สิ่งที่อนุมัติ) นั้นกว้างขวางมาก

หะรอม ในทางภาษานั้น หมายถึง สิ่งต้องห้ามหรือผิดกฎหมาย ในศัพท์ทางเทคนิคหมายถึงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้อย่างชัดเจน ซึ่งปรากฎในอัล-กุรอานหรือในวจนะของท่านนบี มุฮัมมัด สำหรับคนที่ยุ่งอยู่กับมันนั้นมีแนวโน้มว่าจะประสบกับความเสียหาย

2.หะรอม
อันที่จริงแล้ว ตัวบทที่ชัดเจนและถูกต้อง (ทั้งในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ) ในประเด็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในหลักนิติธรรมของอิสลามนั้นมีระดับที่แตกต่างกันกันในเรื่องหะรอม (สิ่งต้องห้าม) มีทั้งเรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก และเรื่องที่น่ารังเกียจ

อย่างไรก็ตาม ความชอบธรรมในการกำหนดฮาลาลและหะรอมนั้นเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียว

3. ฮิมัน
ตามพจนานุกรมของอิสลามแล้ว “ฮิมัน” ในทางภาษาหมายถึง “ปกป้อง ห้าม” การที่ผู้ปกครองประเทศได้สงวนที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อให้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ส่วนตัว เจ้าชายทุกคนล้วนมี “ฮิมัน” ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามแก่ประชาชน และ “ฮิมัน” ถูกห้ามโดยเจ้าชายแก่คนทั่วไป กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นบริเวณสงวนไว้สำหรับสัตว์เลี้ยงของกษัตริย์อันเป็นที่ต้องห้ามสำหรับสัตว์อื่น ๆ ดังนั้นหากว่าสัตว์อื่น ๆ ละเมิดขอบเขตต้องห้ามของสัตว์โดยเข้าไปกินหญ้าผู้เป็นเจ้าของสัตว์นั้นย่อมจะถูกลงโทษ

นี่คือการเปรียบเทียบที่สวยงามที่แสดงให้เราเห็นว่าผู้ที่ฝ่าฝืนข้อต้องห้ามของอัลลอฮฺนั้นจะได้รับการลงโทษ

หะดีษเน้นย้ำจิตสำนึกของผู้ศรัทธา ซึ่งจะคอยตรวจสอบผู้ที่มีหน้าที่ดูแลที่จะต้องรับผิดชอบการงานและมองดูว่าได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องเหมาะสม พูดง่าย ๆ คือ มันเป็นเกณฑ์ที่จะแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นของมุสลิมในเรื่องฮาลาล ด้วยการหลีกห่างเรื่องหะรอม ตลอดจนการออกห่างจากการกระทำที่มีความคลุมเคลือ

:: ทางนำและศีลธรรม ::
หะดีษนี้กระตุ้นให้มุสลิมหลีกเลี่ยงการกระทำที่คลุมเครือ อันเนื่องจากว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะล่อลวงให้พวกเขากล้าที่จะกระทำสิ่งที่ต้องห้ามก็เป็นได้

หะดีษที่สำคัญนี้นำเราไปสู่การอ้างถึงหลักการเกี่ยวกับพฤติกรรมของมุสลิมและคอยมาควบคุมทั้งในแง่ปัจเจกบุคคลและในสังคม ส่วนหนึ่งได้แก่

1. ฮาลาลนั้นชัดเจนในอิสลาม เช่น สิ่งที่มีประโยชน์ทั้งหมดครอบคลุมถึงอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องประดับประดาที่ดี การแต่งงาน เป็นต้น เนื่องจากว่าหลักการพื้นฐานพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นที่อนุญาตตราบใดที่ไม่มีตัวบท (อัล-กุรอานและสุนนะฮฺ) ห้ามอย่างชัดเจน

2. หะรอมนั้นชัดเจนและมีข้อจำกัด เช่น เนื้อสัตว์ที่ตายเอง เลือด เนื้อสุกร สิ่งมึนเมา การฆ่าคนบริสุทธิ์ การให้การเป็นพยานเท็จ การขโมย ความอกตัญญู การติดสินบน การผิดประเวณี การล่วงประเวณี ดอกเบี้ย คำสบถ การดูถูก การคดโกง การอิจฉาริษยา การเกลียดชัง การโกหกและอื่น ๆ ที่คนดีต้องละเว้น

3. อะไรก็ตามที่นำไปสู่หะรอมนั่นคือสิ่งที่หะรอมในตัวมันเอง

4. เจตนาที่ดีจะไม่อาจทำสิ่งหะรอมเป็นสิ่งฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับได้

5. หะรอมเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับทุกคนเหมือน ๆ กัน

6. สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นข้อห้ามนั้นอันเนื่องจากความไม่บริสุทธิ์และเป็นโทษ

7. ความจำเป็นทำให้เกิดข้อยกเว้น

อย่างไรก็ตามหะดีษนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีพื้นที่สีเทาระหว่างฮาลาลที่ชัดเจนและหะรอมชัดเจน นี่คือพื้นที่ของสิ่งที่คลุมเครือ (ชุบฮาต) บางคนอาจไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าเรื่องใดที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาต ความสับสนเช่นนี้ อาจเกิดจากหลักฐานที่คลุมเครือหรือเนื่องจากความคลุมเครือในเรื่องการประยุกต์ใช้ตัวบทกับสถานการณ์หรือประเด็นเฉพาะที่เป็นปัญหา

สำหรับเรื่องนี้ อิสลามถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่มุสลิมจะหลีกเลี่ยงการกระทำที่มันคลุมเครือเพื่อที่จะมีจุดยืนที่ชัดเจนจากสิ่งที่หะรอม ดังกล่าวนี้คล้ายกับสิ่งที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการปิดกั้นลู่ทางซึ่งนำไปสู่สิ่งที่เป็นหะรอม (ต้องห้าม)

อีกประการหนึ่ง อนุมัติสำหรับมุสลิมคนหนึ่งที่จะจัดการกับทรัพย์สินจำนวนมากที่ฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานจากอาหารของเขา จนกว่ามุสลิมจะตระหนักถึงสิ่งที่หะรอม ดังที่เราถูกเรียกร้องให้หลีกห่างจากการกินสิ่งที่หะรอมเพราะจะทำให้หัวใจดำมืดและทำให้การงานนั้นเสียหาย .

หะดีษนี้กล่าวว่า การทำสิ่งที่ฮาลาล การออกห่างจากสิ่งที่หะรอม และการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่คลุมเครือนั้นจะแสดงให้เห็นถึงหัวใจที่แข็งแกร่งหนักแน่น ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการควบคุมของคนหนึ่งและเป็นแหล่งที่มาแห่งความดีงามและความชั่วร้าย

ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “คนที่ให้เพื่ออัลลอฮฺ ห้ามเพื่ออัลลอฮฺ รักเพื่ออัลลอฮฺ เกลียดเพื่ออัลลอฮฺ เขาได้บรรลุถึงศรัทธาที่สมบูรณ์แล้ว”

สุดท้าย หากว่าเรานำความโน้มเอียงและกิจกรรมต่าง ๆ ของเราไปสู่ความดีงามเพื่ออัลลอฮฺ ความศรัทธาของเราจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นทั้งภายในและภายนอก

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *