สัตว์เคี้ยวเอื้องที่แยกกีบ สัตว์ปีกในครัวเรือน และสัตว์น้ำหรือปลาที่มีครีบและเกล็ดซึ่งสามารถถอดออกได้ สัตว์เหล่านี้โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นที่อนุมัติให้รับประทานได้ ในทางกลับกัน สัตว์ประเภทสุกร นกป่า ปลาฉลาม ปลาฉลามหนู ปลาดุก ปลามังค์ฟิช และอื่น ๆ ที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงถือว่าเป็นที่ต้องห้าม นอกเหนือจากนี้ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง (เช่น กุ้ง) สัตว์จำพวกหอย และแมลงเกือบทุกชนิดนับว่าเป็นที่ต้องห้ามเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ตามทรรศนะส่วนใหญ่ของผู้ควบคุมดูแลและออกพระบัญญัติชาวยิวนั้นถือว่า สีคาร์มีน และสีโคชินีล (สารสีแดงธรรมชาติที่ได้จากแมลง) ไม่ควรนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์โคเชอร์
ขณะเดียวกัน นกหรือสัตว์ปีกในครัวเรือน เช่น ไก่ ไก่งวง ลูกนกพิราบ เป็ด ห่าน นั้นถือว่าโคเชอร์ ส่วนนกที่อยู่ในประเภทบินไม่ได้ (เช่น นกกระจอกเทศ นกอีมู นกเรีย) นั้นไม่ถือว่าโคเชอร์ โดยเฉพาะนกกระจอกเทศซึ่งได้รับการระบุห้ามไว้อย่างเจาะจงในคัมภีร์ไบเบิล ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า สัตว์ที่ได้รับการกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับสัตว์ที่เรารู้จักกันในวันนี้ว่านกกระจอกเทศหรือไม่ หลายครั้งในการกำหนดหลักการอาหารโคเชอร์ก็มีการกล่าวถึงความพยายามที่จะตรวจสอบว่านกนั้นมีสถานะโคเชอร์หรือไม่ นกที่โคเชอร์จะต้องมีกระเพาะอาหาร (กึ๋น) ที่สามารถขจัดออกจากส่วนที่เหลือของกระเพาะอาหารของนกได้ และนกนั้นจะต้องไม่เป็นนกล่าเหยื่อ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมักจะเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับขนบประเพณีดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ชนิดของนกที่เพิ่งถูกค้นพบหรือถูกพัฒนาสายพันธุ์อาจไม่ได้รับการยอมรับ เช่น แร็บไบบางท่านไม่ยอมรับไก่งวงป่า ขณะที่บางท่านอาจไม่ยอมรับไก่ที่ไม่มีขน
สัตว์ชนิดเดียวจากทะเลที่ได้รับอนุญาตคือสัตว์น้ำที่มีครีบและเกล็ด ปลาที่มีเกล็ดทุกชนิดจะมีครีบ ดังนั้นชนิดของปลาที่มีครีบจึงเป็นจุดที่ได้รับความสนใจมากกว่า ทั้งครีบและเกล็ดนั้นจะต้องสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและสามารถถอดออกมาจากหนังปลาได้โดยที่หนังปลาไม่ฉีกขาด ขณะที่ปลาบางชนิดเท่านั้นที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่าโคเชอร์หรือไม่ ซึ่งหนึ่งในชนิดของปลาที่ถูกนำมาถกเถียงกันมากที่สุดคือปลากระโทงดาบ
หนอนและแมลงส่วนใหญ่นั้นไม่โคเชอร์ มีเพียงแมลงบางชนิดเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น เช่น แมลงประเภทตั๊กแตน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นที่ยอมรับตามพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกที่ประเพณีการรับประทานตั๊กแตนยังคงอยู่ไม่สูญหายไป แมลงที่รับประทานได้ทั้งหมดนั้นอยู่ในตระกูลตั๊กแตนซึ่งในคัมภีร์โตราห์ระบุว่าตั๊กแตนเป็นที่อนุมัติเนื่องจากกลไกการเคลื่อนไหวที่พิเศษของมัน
อย่างไรก็ดี ผู้คนส่วนใหญ่มักกังวลเพียงแมลงที่มองเห็นได้เท่านั้นว่ามันจะโคเชอร์หรือไม่ ขณะที่ชนิดของแมลงที่วงจรชีวิตต้องคอยซุกซ่อนอาศัยอยู่ในอาหารนั้นผู้คนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ปัจจุบันได้มีการพัฒนากรรมวิธีการทำความสะอาดใหม่ที่มีความละเอียดถี่ถ้วนกว่าเดิมแก่ผลิตภัณฑ์ประเภทผักผลไม้ที่ได้รับการบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนแมลงที่มองเห็นได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปเหล่านี้ถูกมองว่ามีสถานะโคเชอร์
ดังนั้น สถานประกอบการด้านอาหารโคเชอร์และบ้านที่บริโภคอาหารโคเชอร์จึงนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจำหน่ายบริโภค แม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ผ่านระเบียบขั้นตอนการตรวจสอบพิเศษก็ตาม ขณะที่บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใช้ความพยายามอย่างสูงในการจัดการเพื่อจำหน่ายสินค้าปลอดหนอนและแมลง ถึงกระนั้นก็มีบางหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานอาหารโคเชอร์ที่ยังคงไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ พวกเขาจะรับรองเพียงผลิตภัณฑ์ (หรือเฉพาะบางส่วนของผลิตภัณฑ์) ที่ตอบรับเกณฑ์มาตรฐานโคเชอร์ตามระเบียบที่เคร่งครัดของพวกเขาเท่านั้น
สำหรับข้อห้ามการบริโภคแมลงจะครอบคลุมหมายถึงแมลงทั้งตัว ถ้าหากผู้ผลิตใดต้องการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่วนประกอบจำเป็นจะต้องถูกหั่นเป็นชิ้นส่วนระหว่างกระบวนการผลิต มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ผลิตอาจละเลยกรรมวิธีการตรวจสอบแมลงที่อาจหลงเหลืออยู่ในผักผลไม้ โดยที่พวกเขานึกว่าชิ้นส่วนของแมลงที่เจือปนในวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ทำให้สถานะของอาหารนั้นไม่โคเชอร์ ในบางประเทศจะมีคู่มือที่ช่วยอธิบายว่าผักและผลไม้ชนิดใดบ้างที่ควรได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ และในคู่มือก็จะแนะนำกรรมวิธีการทำความสะอาดที่เหมาะสมรวมอยู่ในกระบวนการตรวจสอบนี้ด้วยเช่นกัน
ผู้บริโภคโคเชอร์จะชมชอบการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นปลอดแมลง เช่นเดียวกันพวกเขาจะนิยมบริโภคผักบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผ่านกรรมวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องเหมาะสม นอกเหนือจากนี้ โปรแกรม IPM (Integrated Pest Management : การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน) สมัยใหม่ที่เพิ่มระดับการปนเปื้อนหรือการเข้าทำลายของแมลงในผักและผลไม้นั้นสามารถสร้างปัญหาแก่ผู้บริโภคโคเชอร์ได้เช่นกัน หนึ่งในตัวอย่างปัญหาการกำจัดศัตรูพืชของโปรแกรม IPM ที่ผู้ใช้อาจคาดไม่ถึงได้แก่ แมลงที่ซ่อนอยู่ในรอยแหว่งเป็นริ้วคล้ายรูปสามเหลี่ยมบนก้านของหน่อไม้ฝรั่ง แมลงที่ซ่อนอยู่ในสตรอเบอร์รี่สีเขียว และเพลี้ยไฟที่ซ่อนอยู่บนใบกะหล่ำปลี ด้วยความยากลำบากในการตรวจสอบที่รอบคอบเหมาะสมเช่นนี้เองทำให้ผู้บริโภคโคเชอร์จำนวนมากที่เคร่งครัดตามขนบประเพณีดั้งเดิมเลือกที่จะไม่บริโภคกะหล่ำดาว
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry