ผู้คนจำนวนมากมีอุปนิสัยที่ไม่ดีในการรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคที่แตกต่างกัน เช่น ท้องผูก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอื่น ๆ อีกมากมาย นี่เป็นเพราะพวกเขาละเลยคำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และมารยาทที่ควรยึดมั่นในการรับประทานอาหารอิฟฏอรฺในช่วงเวลาละศีลอด คำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่มีผลดีต่อสุขภาพ คำแนะนำเหล่านั้นยังรวมถึงวิธีการเพื่อป้องกันการสร้างภาระหรือความเมื่อยล้าที่มีต่อร่างกาย ตลอดจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย วิธีการเหล่านี้จึงช่วยให้เราได้รับประโยชน์มหาศาลของการถือศีลอด
เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์จากระบบสุขภาพที่ดีนี้ เราต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบางประการซึ่งเกี่ยวกับนิสัยการกินของเราในช่วงที่อดอาหาร โดยมีคำแนะนำบางส่วนดังต่อไปนี้
รีบเร่งที่จะละศีลอดทันทีเมื่อได้เวลา: สะหฺล์ อิบนุ สะอฺด์ รอฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า ร่อซู้ลของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
“ผู้คนทั้งหลายจะยังคงอยู่ในความดี ตราบใดที่พวกเขารีบละศีลอดทันที (ที่ถึงเวลา)” [อัล-บุคอรีย์และมุสลิม]
“อยู่ในความดี” ที่นี่หมายถึงความเป็นอยู่ทั้งในด้านศาสนาและโลกนี้ การรีบละศีลอดทันทีไม่ได้หมายความว่าละเลิกที่จะอดอาหารก่อนเวลาที่กำหนด ความหมายคือทำการละศีลอดโดยไม่ล่าช้าในทันทีหลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน การเร่งรีบเพื่อละศีลอดมีประโยชน์และส่งผลต่อผู้ที่ถือศีลอดที่ทำการอดอาหารเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 10-14 ชั่วโมง ในช่วงเวลาศีลอดผู้ถือศีลอดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาของเหลวและพลังงานที่เขาสูญเสียไปในระหว่างวัน ผู้ที่ล่าช้าในการละศีลอดมักจะได้รับความทุกข์ทรมานจากการลดระดับของน้ำตาลในเลือดซึ่งส่งผลให้เกิดความอ่อนแอโดยรวม
ละศีลอดด้วยอินทผลัม: ผู้ถือถือศีลอดได้รับคำแนะนำจากรอซู่ล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้เริ่มละศีลอดโดยรับประทานอินทผลัมที่สุกหรือแห้ง ประโยชน์จากการทำเช่นนี้คือเป็นการชดเชยน้ำตาลในร่างกายที่เขาใช้ไประหว่างวันในขณะที่อดอาหาร หากเขาไม่สามารถหาอินทผลัมได้ สิ่งที่ดีที่สุดถัดมาคือน้ำสะอาด และอาจดื่มนมหรือน้ำซุปอุ่น ๆ ผู้ถือศีลอดควรหยุดพักสั้น ๆ (โดยการละหมาดมัฆริบ) เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมตัวสำหรับขั้นตอนต่อไปในการรับประทานอาหารหลัก
การรับประทานอาหารหลักหลังจากการละหมาดมัฆริบ: เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีและระบบอาหารที่สมดุล อาหารหลักต้องประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐาน ได้แก่ โปรตีน แป้ง น้ำตาล ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ไม่มีข้อจำกัดในอาหารประเภทใดนอกจากผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคบางชนิดซึ่งจำเป็นต่อเขาในการรับอาหารพิเศษ เราอยากจะให้มุ่งเน้นความสำคัญกับสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้:
• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มากเกินควร
• ลดการบริโภคไขมันโดยรวม โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และของหวาน
• ไม่รับประทานผักดอง เครื่องเทศ และพริกไทยในปริมาณมาก
• รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ
• ไม่ดื่มกาแฟ หรือชามากเกินไปเพราะจะเป็นภาระต่อกระเพาะอาหาร
• หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของวัตถุกันเสีย
วิธีการหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก : เป็นที่รู้กันดีว่าท้องที่ว่างหลังจากอดอาหารเป็นเวลานานจะไม่รับอาหารจำนวนมากพร้อมกันทีเดียว มันสามารถทำได้ในระยะหนึงเท่านั้น การรับประทานอาหารปริมาณมากในครั้งเดียวจึงจะทำให้เกิดอาการปวดท้องและลำไส้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยในรูปแบบของเกิดก๊าซในกระเพาะอาหารและท้องผูก เช่นเดียวกับอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกขี้เกียจและเมื่อยล้า ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้ผู้ที่ละศีลอดปฏิบัติตามสองขั้นตอนนี้:
• ขั้นแรก : รับประทานอินทผลัมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำและเตรียมกระเพาะอาหารสำหรับอาหารจานหลัก
• ขั้นที่สอง : การรับประทานอาหารหลักหลังจากที่ได้ละหมาด
คำเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี : ผู้คนใช้พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีในเวลาที่พวกเขาละศีลอดในเดือนรอมฎอน และเราจะยกมาบางส่วนของพฤติกรรมเหล่านั้น ดังต่อไปนี้ :
• นอนหลับหลังจากรับประทานมื้ออิฟฏอรฺ
• สูบบุหรี่ : ผู้คนจำนวนมากรีบที่จะจุดและเริ่มสูบบุหรี่เร็ว ๆ ในทันทีที่ดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นความคิดที่ (ผิด ๆ) ว่าสิ่งนี้เติมเต็มความกระหายของเขาได้ พวกเขาหลงลืมว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ท้องว่าง ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่เลวร้ายต่อความอยากอาหารของผู้อดอาหาร ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ไม่ดีอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย
• ดื่มชา หรือกาแฟ และน้ำหวานอื่น ๆ ในปริมาณมาก เครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลเสียต่อกระเพาะอาหาร
สุดท้ายนี้ ผู้ถือศีลอดต้องระลึกถึงคำแนะนำของร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสมอ อัล-มิกดาด บิน มะอฺดีย์ กะริบ รอฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า
“ฉันได้ยินร่อซู้ลของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า ไม่มีภาชนะใดที่มนุษย์จะเติมเต็มสิ่งไม่ดีลงไปได้มากไปกว่าท้องของเขา เป็นการเพียงพอแล้วที่เขาจะบริโภคอาหารแต่น้อยให้พอพยุงร่างกายได้ แต่หากว่าจำเป็นต้องบริโภคมากกว่านั้น ก็ให้แบ่งหนึ่งส่วนสามสำหรับอาหาร หนึ่งส่วนสามสำหรับเครื่องดื่ม และอีกหนึ่งส่วนสามสำหรับลมหายใจ” [อัต-ติรมีซีย์]
การรายงานนี้ทำให้เราไม่สามารถรับประทานอาหารที่มากเกินควรได้ เนื่องจากเป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านและส่งผลเสียต่อสุขภาพ
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net