โดยพื้นฐานแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ถือว่าฮาลาล ยกเว้นสิ่งที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องห้าม ประเด็นเรื่องการแก้ไขดัดแปลงพันธุวิศวกรรมอาหารและส่วนประกอบจึงไม่ได้รับการระบุไว้อย่างเจาะจงในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ (แบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด) เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกพัฒนาเมื่อไม่นานมานี้เอง ถึงกระนั้นการดัดแปลงพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ถูกห้ามจึงถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ตัวอย่างเช่น เนื้อสุกรถูกระบุไว้ว่าต้องห้าม ดังนั้นผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นผลจากการดัดแปลงพันธุกรรมที่มาจากสุกร ผลิตภัณฑ์นั้นจึงถือว่าต้องห้ามด้วยเช่นกัน
• พระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจกำหนดบัญญัตินิติธรรมแก่มวลมนุษย์
• นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายการค้นพบและพัฒนาการใหม่ ๆ ได้ โดยที่นักวิชาการศาสนาสามารถตีความการค้นพบและพัฒนาการใหม่ ๆ นั้นว่าละเมิดกับหลักคำสอนทางศาสนาหรือไม่ การอนุญาตในสิ่งที่หะรอมและการห้ามในสิ่งที่ฮะลาลนั้นเทียบเท่าชิรกฺ ซึ่งหมายถึงการตั้งภาคีต่อสิ่งอื่นเทียบเคียงกับพระเจ้า จึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงถ้าหาก GMOs นั้นเป็นสิ่งที่หะรอมชัดเจน แต่นักวิชาการมุสลิมกลับไปตีความว่ามันเป็นสิ่งฮาลาล แน่นอนว่าที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกรณีสมมุติเท่านั้น
• โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่หะรอมมักข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอันตรายและไม่ดีต่อสุขภาพ
• ถ้าหากว่าการดัดแปลงพันธุกรรมอาหารหรือส่วนประกอบใดที่ได้รับการชี้ชัดว่าเป็นอันตรายและไม่ดีต่อสุขภาพ การดัดแปลงพันธุกรรมอาหารและส่วนประกอบนั้นจะไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ ขณะเดียวกันนักวิชาการอิสลามจะประกาศสถานะของมันว่าหะรอมทันที
• ย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับการใช้สิ่งอื่นทดแทนสิ่งที่หะรอม สำหรับส่วนประกอบที่หะรอมนั้นเรามีการทดแทนที่เรียกว่าเทคโนโลยีชีวภาพ กระทั่งกลางปีทศวรรษที่ 1980 เอนไซม์เปปซินจากสุกร (Porcine pepsin) เริ่มถูกนำมาใช้ในการผลิตเนยแข็งบางชนิด แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาที่เอนไซม์ไคโมซิน (Chymosin) จากการดัดแปลงพันธุกรรมเริ่มเป็นที่รู้จัก การใช้เอนไซม์เปปซินจากสุกรแทนที่สารเรนเนต (Rennet) จากกระเพาะลูกวัวจึงเริ่มเลือนหายไป ซึ่งนี่เป็นแนวโน้มเชิงบวกสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
• การประโคมข่าวว่าสิ่งที่ฮาลาลนั้นไม่ฮาลาลถือว่าเป็นเรื่องที่หะรอมด้วยเช่นกัน อนึ่งถ้าหากการดัดแปลงพันธุกรรมอาหารเป็นสิ่งที่หะรอมชัดเจน ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการ สำหรับสิ่งใดที่ไม่ฮาลาลนั้นได้รับการกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งแล้วทั้งในอัลกุรอานและแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด
• เจตนาที่ดีไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งหะรอมให้กลายเป็นสิ่งฮาลาลได้ หลักการนี้ถูกนำไปใช้กับสุกรและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่ถูกระบุไว้ว่าหะรอม แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะพยายามทำเนื้อสุกรให้สะอาดปราศจากโรคภัยก็ตาม หรือพยายามเพาะเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของสุกรในห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปใช้บริโภคเป็นอาหารเป็นการเฉพาะ ถึงกระนั้นก็ยังคงถือว่าหะรอม
• สิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัยควรได้รับการหลีกเลี่ยง บางทีหลักการนี้อาจจะเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดสำหรับการบริโภค มุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ต้องสงสัย ซึ่งมีแบบฉบับชัดเจนจากท่านนบีมุฮัมมัด
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริโภคมุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภค หากมีความรู้สึกว่าอาหารที่ดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสงสัย ปัจจุบัน GMOs ที่อยู่ในหมวดต้องสงสัยเกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมที่มาจากสัตว์ต้องห้าม
…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry