“สุขภาพธุรกิจ ตรวจกันสักนิด เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

BIHAPS WEEKLY ep. 12

“สุขภาพธุรกิจ ตรวจกันสักนิด เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

คนส่วนใหญ่ออกกำลังกายกันตอนไหน ?

คำถามชวนคิดที่ถูกถามขึ้นในบรรยากาศของการรอฟังผลการตรวจสุขภาพประจำปีจากโรงพยาบาลที่มาแจ้งผลการตรวจสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ผลตรวจที่รอคอยกันมาหลายสัปดาห์ทำให้การรอฟังผลเป็นไปกด้วยความตื่นเต้น การตรวจที่จะทำให้รู้ถึงสภาพของร่างกาย หลังจากที่ได้ใช้งานอย่างหนักหน่วงมาตลอดทั้งปี การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นเป็นการตรวจร่างกายของผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปรกติใดๆ เพื่อค้นหาความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ความเสี่ยงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการประเมินพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน มีพฤติกรรมเสี่ยงที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพของเราแล้วบ้าง เพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะสายเกินแก้ นอกจากร่างกายของเราแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ควรหมั่นตรวจสอบก็คือ ธุรกิจ/กิจการ ของเรา เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต วันนี้ทางทีมงานศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (BIHAPS) มีเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการประเมินธุรกิจที่เรียกว่า Balanced scorecard โดยจะประเมินธุรกิจของท่านผ่านมุมมอง 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) และมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจของท่านได้เลยครับ

เครื่องมือการประเมินประสิทธิภาพขององค์กร Balalced Scorecard พัฒนาโดย Professer Robert Kaplan และ Dr. David Norton จาก Harvard Business School ในปี คศ.1990 โดยเป็นการประเมินในทุกๆด้านขององค์กร จากเดิมที่ผู้บริหาร/เจ้าของกิจการ มักจะประเมินธุรกิจในมุมมองด้านการเงินเพียงอย่างเดียวซึ่งอาจทำให้การประเมินผลไม่สมบูรณ์ได้ โดยในการใช้ Balalced Scorecard เข้ามาประเมินนั้นจะประกอบด้วยมุมมองทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

  1. มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective)
    เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบการบริหารจัดการด้านการเงิน การจัดการด้านการเงินที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ ตัวอย่างการวัดผลด้านการเงิน 1. อัตราเติบโตของรายได้ วัดจากการเติบโตของยอดขาย 2. วัดประสิทธิภาพการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 3. ประสิทธิภาพการลงทุนการทำวิจัยและพัฒนา
  2. มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบกิจการของท่านว่าจะต้องเป็นอย่างไรในสายตาของลูกค้า เพราะลูกค้าคือตัวบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับธุรกิจ เพราะเป็นแหล่งที่มาของรายได้สำหรับกิจการนั้นๆ ตัวอย่างการวัดผลด้านลูกค้า 1. การวัดความพอใจของลูกค้าเพื่อทำให้เกิดการกลับมาใช้บริการใหม่ 2. การติดตามความต้องการของลูกค้าโดยดูจากพฤติกรรมการสั่งซื้อ 4. การวัดผลการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
  3. มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบว่ากิจการของท่านว่ามีระบบการทำงานภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน หากองค์กรพัฒนาและมีระบบบริหารการทำงานภายในที่ดี ย่อมส่งผลให้ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้องค์กรมีการเติบโตทางรายได้สูงขึ้น
  4. มุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบว่ากิจการของท่านต้องมีการบริหารจัดการการเรียนรู้และการพัฒนาของและบุคลากรในกิจการอย่างไร เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แก่พนักงาน หากพนักงานเกิดการเรียนรู้ มีการพัฒนาขีดความสามารถของการเรียนรู้ จะทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพ สินค้า และบริการ

การประเมินประสิทธิภาพขององค์กรโดยใช้ Balalced Scorecard นั้น เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ประเมินธุรกิจ ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการแได้ละผู้อ่านทุกท่านนำไปใช้เป็นรายการตรวจสอบอย่างง่าย (Checklist) ในการประเมินสุขภาพธุรกิจของท่าน และเมื่อทราบถึงปัญหาสุขภาพของธุรกิจแล้ว เราก็จะสามารถวางแผนรับมือ ก่อนที่มันจะแสดงออกมาเป็นอาการให้ท่านเจ็บตัว อย่าให้เหมือนกับตลกร้ายที่ชอบพูดกันว่า “คนส่วนใหญ่ที่กว่าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง หันมาควบคุมอาหาร ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ก็ตอนที่โรคร้ายได้แสดงอาการออกมา ซึ่งอาจสายไปแล้วสำหรับการแก้ไขให้กลับมาสุขภาพดีเหมือนเดิม”
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม สัปดาห์หน้าทางศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (BIHAPS) มีอะไรดีๆมานำเสนอสามารถติดตามได้ สำหรับสัปดาห์นี้ขอลาไปก่อนครับ

วัสสลาม

……………………………………………………………………
บทความโดย
อมีน มะหมัด
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#BIHAPSWEEKLY #BIHAPS #HSCPN