BIHAPS WEEKLY EP.17
ณ ปัจจุบันการค้าออนไลน์ไม่ใช่เพียงแค่การขายของเท่านั้น แต่เราสามารถที่จะสร้างสินค้าที่ขายออนไลน์ให้เป็นที่รู้จักและติดตากลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นได้ ด้วยการสร้าง Storytelling ควบคู่กับ Storydoing
Storytelling และ Storydoing เป็นแนวคิดที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้กันมากในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าการเล่าเรื่องเราจะเอาไปใช้เพื่อจุดประสงค์อะไร ไม่จำเป็นว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอยากให้ธุรกิจปัง ก็ใช้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไปเลย การเริ่มเล่าเรื่องให้น่าติดตาม เพื่อให้คนรู้จักธุรกิจคร่าวๆควบคู่การทำ Storydoing เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า จะสามารถเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้า และเอาเรื่องราวของธุรกิจเราไปเล่าต่อได้
จากที่ทีมงาน BIHAPS ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือกจากทางศูนย์ฯ มาเป็นแฟรนไชน์ฮาลาลชายแดนใต้ในเดือนที่ผ่านมา และนำเรื่องราวมาลงประชาสัมพันธ์กับทางเพจศูนย์ฯ หนึ่งในร้านของผู้ประกอบการ SMEs “ร้านมัตอัม-มัรฮาบัน مطعم مرحبا” จ.ปัตตานี
ร้านมัตอัม-มัรฮาบัน مطعم مرحبا ร้านอาหารที่เกิดจากแนวคิดเจ้าของร้านที่ทำงานประจำแต่อยากทำอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างสักชิ้น เช่นการเปิดร้านอาหาร โดยเฉพาะแนวอาหารอาหรับ เพราะเป็นแนวที่ตนและครอบครัวชอบ โดยสูตรอาหารเป็นสูตรที่ได้มาจากประเทศซาอุดิอาระเบียต้นตำหรับ ด้วยพ่อแม่แต่งงานกันและอยู่ที่ประเทศซาอุฯ รสชาติที่ร้านเลยได้รสชาติแบบดั้งเดิม เมนูแนะนำของร้านคือข้าวหมก ข้าวหมกมีทั้งแบบบีรยานีและบูคอรี เลือกได้ ไม่ว่าจะเป็น ปลา ไก่ เนื้อ แพะ ทานคู่กับอาจาดและน้ำจิ้ม ถาดขนาด 4-5 คนรับประทานและเมนูอื่นๆ เช่น เมนูกาบาบ ชาวัรมา ชุรบะห์ มันตู กิบดะห์ ฟูล แป้งชามี่ แป้งนาน ตะมียะห์ โรตีชามี และอีกหลากหลายเมนูให้เลือกทาน สำหรับใครที่กำลังคิดถึงอาหารอาหรับ ต้องแวะไปร้านนี้อาหารอาหรับสูตรดั้งเดิม รสชาติต้นตำหรับที่ปรับปรุงให้เข้ากับคนมลายูชายแดนใต้ เปิดเป็นร้านอาหารในปัตตานี โดยมีความสนใจที่จะขยายเป็นธุรกิจฮาลาลแฟรนไชส์ชายแดนใต้
ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็น Story คร่าวๆที่ทางทีมงานได้ทราบ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าหลังจากที่เราได้นำเรื่องราวเหล่านี้โพสลงทางเพจศูนย์ฯ เกิดการแชร์และคอมเม้นท์เกิดขึ้นเยอะมาก จนแอบตกใจว่าทำไมคนถึงกดแชร์เยอะ สิ่งที่อยากจะบอกกับทุกคนว่า หรือเพราะคนเราชอบการเล่าเรื่องราว (Story) เพราะการเล่าเรื่องราวนั้นจะเป็นเรื่องของอารมณ์ เกิดการจดจำ เกิดการมีส่วนร่วม และเกิดการบอกต่อได้ง่ายๆ
การที่ธุรกิจอะไรสักอย่างมีจุดเด่นจากเรื่องราว จะทำให้คนสนใจมากขึ้น เช่น เรื่องราวของร้านมัตอัม-มัรฮาบัน مطعم مرحبا ที่ได้ถูกพูดถึงและเกิดการคอมเม้นจากลูกค้าที่เคยไปทานอาหารที่ร้าน ต่างก็บอกเป็นสิ่งเดียวกันว่าร้านนี้อาหารอาหรับอร่อย โดยสูตรอาหารเป็นสูตรที่ได้มาจากประเทศซาอุดิอาระเบียต้นตำหรับ นี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่าการทำธุรกิจไม่ใช้แค่การเล่าเรื่องราวอย่างเดียวแต่ต้องทำควบคู่กับการทำไปด้วย “Storytelling & Storydoing”
สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ Storytelling ทำหน้าที่เหมือนการประชาสัมพันธ์ บอกเล่าว่าว่าธุรกิจจะทำอะไรบ้าง เช่น ร้านมัตอัม-มัรฮาบัน مطعم مرحبا ร้านอาหารสไตล์อาหรับมีแผนที่จะขยายเป็นธุรกิจ ฮาลาลแฟรนไชส์ชายแดนใต้
แต่ถ้าเป็น Storydoing ต้องเกิดจากการวางแผนกับคนภายใน เช่น การดำเนินกิจกรรมภายในร้าน หรือการออกสินค้าใหม่ ก็ต้องลงมือทำออกมา แล้วเอาสิ่งนั้นออกมาเล่าเป็นเรื่องราว ให้ผู้บริโภคได้เห็นสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างที่ออกมาแล้วจริงๆ หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ Storydoing ไม่ใช่เรื่องราวที่พูด แต่มันคือเรื่องราวที่ลงมือทำ เช่น การทำเมนูกาบาบ ชาวัรมา ชุรบะห์ มันตู กิบดะห์ ฟูล แป้งชามี่ แป้งนาน ตะมียะห์ โรตีชามี ซึ่งแต่ละเมนูมีที่มาที่ไป นำออกมาเล่าจากการที่ได้ลงมือทำ
แนวคิดนี้อาจจะยังใหม่สำหรับคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ถึงแม้จะมีคนทำแต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก หากวันนี้เราอยากลองปรับเปลี่ยนวิธีการขายออนไลน์แบบเดิมๆ ก็สามารถที่จะนำเรื่องราวของสินค้าในมือสักชิ้นมาเล่าเป็น Storytelling ควบคู่กับ Storydoing และรอดูผลลัพธ์ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง รับรองว่าสิ่งที่จะได้มาคือสินค้าเป็นที่รู้จักของลูกค้ามากขึ้นแน่นอน
…………………………………………………………….
บทความโดย
นูรุมา จูและ Marketing Specialist BIHAPS
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Business Incubator for Halal Products and Services: BIHAPS)