BIHAPSWEEKLY EP. 19
การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 เป็นปรากฏการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ให้เรามีการตั้งตัว การดำเนินของโรคส่งผลร้ายต่อคนทั่วโลก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในทุกๆมิติ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ได้เข้าใจถึงเหตุการณ์และผลกระทบต่อธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าการระบาดในครั้งนี้มีการดำเนินการของโรคไปอีกระยะเวลาหนึ่ง(จนกว่าการผลิตวัคซีนจะสำเร็จ) และผลกระทบต่างๆก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และการแพร่ระบาดของไวรัส
สถาณการณ์การระบาดในขณะนี้ มีผลยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกแล้วกว่าสี่แสนราย และมากกว่าหนึ่งหมื่นแปดพันรายเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 หลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับปัญหาของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด
ในขณะที่บางประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้แล้ว จนทำให้อัตราการติดเชื้อใหม่ของคนในประเทศลดลง แต่ก็ยังพบการรายงานของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นในหลายๆภูมิภาค อาจเป็นเพราะการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคที่ไม่เหมาะสมหรือการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดที่ต่ำเกินไป ในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้มีการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ด้วยการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ในการกำหนดขอบเขตการเดินทางของประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ด้วยมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social distancing เพื่อชะลออัตราการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเองในตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง จากการยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเคยเป็นรายได้ทางหลักและทางเดียวของประเทศ หรือจากความตื่นตัวของผู้คนในประเทศที่ทำให้จับจ่ายใช้สอยในประเทศลดลงตามไปด้วย ในส่วนของภาคเอกชน ก็ได้เริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากผลกระทบของโรคระบาดไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนพนักงาน การยกเลิกการจ้างงาน รวมไปถึงการลดกำลังการผลิตหรือแม้กระทั่งการปิดกิจการลง
ผลกระทบจากโรคCOVID-19 ในครั้งนี้ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอย ที่เปลี่ยนเป็นการซื้อของจากออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงการสั่งอาหารจากหน่วยบริการส่งอาหาร (Food delivery) จากยอดการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังลามไปถึงการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของคนวัยทำงานด้วยการใช้การสื่อสารทางไกล (Work From Home) หรือการทำงานด้วยรีโมท (Remote Working) เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรับ-ส่งงาน สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ไม่ต้องมาเจอหน้ากันเหมือนการทำงานแบบเดิม และการเริ่มมีการใช้จ่ายผ่านแอพลิเคชั่นการเงินและธนาคารบนมือถือในการชำระสินค้าของผู้คนในท้องตลาด เพื่อเป็นการลดความเสียงจากการแพร่เชื้อผ่านธนบัตร เหรียญชนิดต่างๆ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นตัวเร่งที่ดี ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและกระโดด ท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง (Disruptions)
นับเป็นอีกหนึ่งโอกาส และความท้าทายของผู้ประกอบการ ที่สามารถค้นหากลยุทธิ์ ที่จะนำเข้ามาปรับใช้ เติมเต็มองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจในการต่อสู้กับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการปรับธุรกิจเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ สร้างการรับรู้ของสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น อีกทั้งการเตรียมความพร้อมบุคลากร(Mind set)และทีมงานในมีการเปิดรับกับการเรียนรู้วิธีการและเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ
ทางศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจและผลิตภัณฑ์ฮาลาล (BIHAPS) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่านผ่านช่วงแห่งการทดสอบนี้ไปได้ด้วยดี
ติดตามข้อมูลดีๆ ได้จากเพจศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
ขอบคุณครับ
…………………………………………………………………………
บทความโดย
Ameen Mhamad
Photo :www.twitterbrasil.org
Reference :
www.mckinsey.com
www.who.int
businesstoday.co/technology
#BIHAPSWEEKLYEP19
#BIHAPSSTORYEP
#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTANI
#HALALCHULA
https://web.facebook.com/HSC.CU.Pattani/