รศ.ดร วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารประกอบการอบรม “โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล”
จริยธรรมอิสลามสอนให้ผู้ศรัทธามีความมัธยัธถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย ตลอดจนเดินสายกลางสำหรับการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมรวมถึงในเรื่องของการกินด้วย ตลอดชีวิตของท่านศาสดา ท่านได้วางรูปแบบจริยธรรมหลายหลาก รวมถึงจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการกินของท่านศาสดาได้รับการบันทึกไว้โดยสาวกหลายต่อหลายคน ผู้เขียนนำเอาแบบอย่างเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นถ้อยคำง่ายๆ ได้คำที่เหมาะสม คำหนึ่ง คือ “พอสมควร” อันเป็นคำที่อธิบายจริยธรรมการกินแบบอิสลามพอสมควรไม่สุดโด่งเกินไปเสมอ คำว่า “พอสมควร” จึงหมายถึงความไม่ฟุ่มเฟือย (ในภาษาอาหรับคือคำว่า “มะนิสตะเตาะห์ตุม”) ซึ่งเป็นหลักการสำหรับด้านจริยธรรมการกินการอยู่แบบอิสลาม คำว่า “พอสมควร” หรือ พ-อ-ส-ม-ค-ว-ร ของผู้เขียนสามารถถอดความได้ดังนี้
พ – หมายถึง “พรอันประเสริฐ” หรือการขอพร (ภาษาอาหรับใช้คำว่า “ดุอาห์” หรือ Du’a) อิสลามสอนให้ผู้ศรัทธาขอพรต่ออัลลอฮ์ (ซุบห์ฯ) ก่อนและหลังการกระทำกิจกรรมทุกกิจกรรม เป็นต้นว่าเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร มุสลิมจะกล่าวคำว่า “บิสมิลลาฮิลเราะห์ฮีม” อันมีความหมายว่าด้วยพระนามของอัลลอฮ์ (ซุบห์ฯ) ที่ทรงประทานอาหารมาให้ตลอดจน ทำให้ผู้ศรัทธาดำรงตนอยู่ในความเป็นมุสลิม
อ – หมายถึง “อนามัย” อันได้ความสะอาดและอนามัยในส่วนอื่นๆ จากข้อมูลด้านจริยวัตรของท่านศาสดาที่เกี่ยวข้องกับการ รับประทานอาหารท่านศาสดาล้างมือด้วยน้ำก่อนลงมือรับประทานอาหารเสมอ ท่านใช้มือขวาในการหยิบจับอาหาร และแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร อิสลามเน้นในเรื่องความสะอาดดังที่มีบทบัญญัติว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ (ซุบห์) ทรงโปรดผู้ที่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวและผู้ที่ทำตนให้สะอาด”
(อัลกุรอ่าน 2 : 222) ท่านศาสดามีวจนะไว้ว่า “ความสะอาดในระหว่างการรับประทานอาหาร การทำละหมาดและการทำกิจกรรมอื่น เหตุนี้เองที่ทำให้หลักเกณฑ์การเตรียมอาหารเพื่อมุสลิมเข้มงวดในเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ
ส – หมายถึง “สงเคราะห์” จริยธรรมอิสลามสอนให้มุสลิมสงเคราะห์แก่ผู้อื่น ในกรณีของอาหารมุสลิมจำเป็นต้องแบ่งปันหรือสงเคราะห์อาหารแก่ผู้อื่นที่ขาดแคลน ดังมีวจนะของท่านศาสดาว่า “อาหารสำหรับหนึ่งคนเพียงพอสำหรับสองคน อาหารสำหรับสองคนเพียงพอสำหรับสี่คน และอาหารสำหรับสี่คนเพียงพอสำหรับคนแปดคน” มีความหมายว่าให้แบ่งปันอาหารของตนเองแก่ผู้อื่น และอาหารที่แบ่งปันให้แก่ผู้อื่นนั้นจำเป็นต้องมีคุณภาพที่เท่าเทียมกับอาหารที่ตนเองรับประทาน ท่านศาสดามีจริยวัตรว่าเมื่อมีการทำบุญเลี้ยงอาหารแก่แขกท่านจะคำนึงถึงเพื่อนบ้านหิวโหย ในกรณีของการเป็นเจ้าของบ้านหรือเจ้าของงานท่านศาสดาสอนให้มุสลิมสงเคราะห์บริการอาหารแก่แขก เจ้าของบ้านเริ่มการรับประทานอาหารก่อนแขกและหยุดรับประทานอาหารภายหลังแขกเสมอ
ม – หมายถึง “เหมาะสม” หรือความพอเหมาะสม อิสลามสอนให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติตนอยู่ในทางสายกลาง ครั้งหนึ่งท่านศาสดาเคยขอร้องให้สาวก ซึ่งถือศีลอดอย่างยาวนานให้ละเว้นการถือศีลอด แต่ให้กลับไปดำรงตนเป็นพ่อบ้านซึ่งต้องดูแลครอบครัว อิสลามไม่ปรารถนาให้ผู้ศรัทธาดำรงตนอยู่ในหลักการใดหลักการหนึ่งในศาสนาจนเกินความพอดี จริยธรรมการกินของอิสลามจึงให้คำนึงถึงความพอเหมาะพอสมเป็นสำคัญไม่ดำรงตนไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป
ค – หมายถึงการ “ควบคุม” อิสลามแนะนำให้ควบคุมโดยรับประทานอาหารแต่น้อยไม่มากจนเกินไป ท่านศาสดาหยุดการรับประทานอาหารก่อนอิ่มเสมอ ท่านแนะนำให้รับประทานอาหารเพียงหนึ่งในสามของกระเพาะโดยแบ่งกระเพาะอาหารเป็นสามส่วน ให้รับประทานอาหารหนึ่งส่วน ดื่มน้ำหนึ่งส่วนและส่วนที่เหลือคิดปล่อยไว้เป็นช่องว่างเพื่อให้เป็นช่องสำหรับการหายใจ มีวจนะของท่านศาสดากล่าวว่า ปฏิเสธกินอาหารด้วยเจ็ดลำไส้ ขณะที่มุสลิมกินด้วยหนึ่งลำไส้ จริยธรรมการกินแบบอิสลามจึงเป็นการกินแต่น้อย ดูแลปริมาณอาหารมิให้รับประทานมากจนเกินไป ท่านศาสดากล่าวว่า “การกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น”
ว – หมายถึง “วิรัต” ซึ่งแปลได้ใจความว่าการงดเว้นทางด้านจริยธรรมการกิน อิสลามมีบัญญัติให้งดเว้นในสองส่วน ประการแรกคืองดเว้นการรับประทานอาหารหะรอมหรืออาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อนุมัติในอิสลาม ได้แก่ เนื้อสุกร เลือด สัตว์อนุมัติที่ไม่ผ่านการเชือดตามบัญญัติอิสลาม เหล้า ของมึนเมา ฯลฯ ประการที่สองคืองดเว้นการกิน การดื่ม และอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งปวงในช่วยการถือศีลอดอาหารหนึ่งเดือนในช่วงเดือนเราะมะดอน จึงเป็นหนึ่งในจริยธรรมการกินแบบอิสลามโดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อการมีสุขภาพที่ดี เป็นปรับระบบการย่อยอาหารซึ่งท่านศาสดาได้มีวจนะไว้ว่า “แท้จริง (ประโยชน์อย่างหนึ่ง) การถือศีลอดนั้นเพื่อการมีสุขภาพที่ดี” วิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันได้ยอมรับวิธีการรักษาสุขภาพด้วยการอดอาหารตามแบบอย่างอิสลาม
ร – หมายถึง “ร่วมกัน” จริยธรรมอิสลามสอนให้มุสลิมทำกิจกรรม ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารด้วย อิสลามแนะนำให้มุสลิมในครอบครัวเดียวกันรับประทานอาหารร่วมกัน ดังเช่น การรับประทานอาหารในช่วงเดือนถือศีลอด ท่านศาสดาเคยมีวจนะไว้ว่า “จงกินอาหารร่วมกันอย่าให้แยกจากกัน แท้จริงการขอพระนั้นมีผลมากขึ้นเมื่อมีผู้อื่นร่วมด้วยเสมอ” การร่วมกันนี้เป็นหนึ่งในสามประการที่ศาสตราจารย์ Alexander Leif แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยแล้วพบว่าเป็นเคล็ดลับหนึ่งในสามประการโดยร่วมกับ 1) การรับประทานอาหารน้อยและ 2) การใช้พลังงานสม่ำเสมอทำให้มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพเกินกว่าร้อยปี