แนวทางการเลือกวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล

1. แนวทางการเลือกวัตถุดิบจากพืช
พืชทุกชนิดจัดเป็นวัตถุดิบที่เป็นอาหารฮาลาลที่ไม่มีกระบวนการกำกับทางศาสนบัญญัติมากมายเหมือนสัตว์ ยกเว้นพืชต่อไปนี้
ก. พืชที่เป็นอันตราย เช่น พืชที่มีพิษมีภัยต่อร่างกาย
ข. พืชที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก (นะญิส)
ค. พืชที่เป็นสารเสพติด

การห้ามบริโภคอันเนื่องมาจากอันตราย และสิ่งสกปรก (นะญิส) ที่ปนเปื้อนอยู่ในตัวของมัน ซึ่งถ้าหากสามารถชำระล้างหรือดึงสารพิษและสิ่งเสพติดออกจากมัน ก็จะทำให้พืชทั้งสามชนิดนี้เป็นที่ฮาลาลได้ ซึ่งผู้ผลิตวัตถุดิบสามารถนำพืชสดๆมาปรุงเป็นอาหารฮาลาล หรือแปรรูปเป็นสินค้าป้อนเข้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล แต่ที่ต้องคำนึงนั่นคือ ต้องไม่ปนเปื้อนหรือปะปนกับสิ่งที่ต้องห้ามจะเป็นสิ่งสกปรก หรือการเตรียมการที่ต้องห้าม เช่น แช่กับสุรา หรือแปรรูปเป็นสิ่งที่มึนเมา เช่น การนำองุ่น อินทผลัม ข้าวบาร์เลย์ ไปหมักจนกลายเป็นสุรา หรือสกัดเป็นสารแอลกอฮอล์ และการสกัดสารจากพืชบางชนิดจนเป็นสารเสพติด เช่น เฮโรอีน มอร์ฟีน หรืออื่นๆ เป็นต้น
2. แนวทางการเลือกวัตถุดิบจากสัตว์

สัตว์บกและสัตว์ปีกทุกชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้บริโภคได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการเชือดก่อนจะนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้ ส่วนสัตว์บกหรือสัตว์ปีกที่ตายเอง เช่น เป็นโรคตาย ถูกรถชนตาย ถูกตีตาย ตกเขาตาย ฯลฯ รวมถึงเชือดโดยนามอื่นที่มิใช่ด้วยพระนามของอัลลอฮฺถือเป็นซากสัตว์ ซึ่งอิสลามถือว่าหะรอมนำมาบริโภคไม่ได้
หลักเกณฑ์ในการเชือดสัตว์ตามหลักการอิสลาม ประกอบด้วย
1.สัตว์ที่นำมาเชือด
ก. เป็นสัตว์ที่ศาสนาอนุมัติให้บริโภคได้เมื่อผ่านกระบวนการเชือด
ข. ไม่มีการทรมานหรือทารุณสัตว์ก่อนทำการเชือด
ค. สัตว์จะต้องตายเนื่องจากการเชือดก่อนนำไปดำเนินการอย่างอื่น
2. ผู้เชือด
ก. ต้องเป็นมุสลิม หรือชาวคัมภีร์ที่เชือดสัตว์ตามวิธีการอิสลาม
ข. บรรลุนิติภาวะ มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์
ค. ไม่เป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ
3. วิธีเชือด
ก. ให้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺเมื่อเริ่มเชือด (บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร)
ข. ควรผินหน้าไปทางกิบลัต
ค. ควรเชือดโดยต่อเนื่องในคราวเดียวกัน และไม่ควรยกมีดขึ้นขณะทำการเชือด
ง. เชือดให้หลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดสองเส้นข้างลำคอขาดจากกัน
4. อุปกรณ์การเชือด เป็นของมีคมที่คมกริบ
ส่วนปลา ตั๊กแตนและเนื้อสัตว์ทะเล เป็นสัตว์ที่ถูกยกเว้นไม่ต้องผ่านกระบวนการเชือดเหมือนกับสัตว์บก และสัตว์ทะเลที่ตายแล้วก็ยังสามารถนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้ แต่การเตรียมวัตถุดิบที่มาจากสัตว์ทะเลก็ควรปฏิบัติเพื่อชำระล้างจากนะญิส และทำให้เนื้อสัตว์ทะเลสะอาดถูกต้องตามหลักการอิสลาม
3. แนวทางการเลือกวัตถุดิบแปรรูป
ให้ดำเนินการดังนี้

1. ตรวจสอบเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่ออกโดยองค์กรด้านศาสนาที่ถูกยอมรับบนฉลากบรรจุภัณฑ์อาหาร
2. พิจารณาส่วนประกอบบนฉลากอย่างละเอียด จำแนกสถานะ ฮาลาล/หะรอม/มัชบุฮ ของแต่ละส่วนประกอบ ดังนี้
- ถ้าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดฮาลาล ดังนั้นวัตถุดิบเหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เพื่อผลิตเป็นอาหารฮาลาล
- ถ้ามีส่วนประกอบหนึ่งเป็นส่วนประกอบที่หะรอม ดังนั้นวัตถุดิบต้องไม่นำมาใช้เพื่อผลิตเป็นอาหารฮาลาล
- ถ้าส่วนประกอบตกภายใต้สถานะมัชบุฮฺ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงจากวัตถุดิบเหล่านี้เนื่องจากส่วนประกอบอาจมาจากแหล่งที่หะรอม