เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเรา เมื่อถือศีลอดในเดือนรอมฎอน !!

BIHAPS WEEKLY EP.14

อยู่ในช่วงของกลางเดือนรอมฏอนแล้วสำหรับพี่น้องมุสลิม​ ช่วงนี้เรามักจะเห็นคนรอบตัวๆเราทั้งญาติสนิท คนใกล้ชิด เพื่อร่วมงานหรือแม้กระทั้งเพื่อนๆใน FACEBOOK บ่นกันเรื่องน้ำหนักลงบ้างน้ำหนักขึ้นบ้าง ถามว่าการถือศีลอดส่งผลเสียต่อสุขภาพเราไหม? บอกเลยว่าไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด การถือศีลอดอย่างถูกวิธี จะทำให้เราลดน้ำหนักได้ แต่กลับกันหลายคนอ้วนขึ้น เพราะกินเยอะเกินไปในช่วงละศีลอดตอนกลางคืน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่เราถือศีลอดนี้ เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง?

– 2-3 วันแรก คือ ช่วงที่ยากลำบากที่สุด เพราะเป็นช่วงเริ่มแรกที่เราเริ่มถือศีลอด การอดอาหาร 8 ชั่วโมงหลังที่เรากินอาหารมื้อสุดท้ายคือซาโฮร์นั้น ลำไส้เราจะทำหน้าที่ในการดูดสารอาหารต่างๆ ร่างกายจะเปลี่ยนกลูโคสมาให้พลัง และเมื่อกลูโคสหมด ไขมันก็จะกลายเป็นแหล่งพลังงานสำหรับร่างกายแทน

– วันที่ 3-7ระวังเรื่องการขาดน้ำ เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ 2 ร่างกายของเราเริ่มชินกับการอดอาหาร ไขมันจะถูกนำมาแปลงเป็นน้ำตาลในเลือด การที่เราไม่ได้รับของเหลวเข้าสู่ร่างกายในช่วงถือศีลอด​ก็ต้องชดเชยในช่วงหลังจากเลิกถือศีลอดในแต่ละวัน ไม่เช่นนั้น

ก็อาจทำให้เกิดอาการขาดน้ำได้ อาหารที่เรารับประทานก็ควรจะมี ‘อาหารที่ให้พลังงาน’ ในระดับที่เหมาะสม อย่างเช่น คาร์โบไฮเดรต และไขมันบางอย่าง

– วันที่ 8-15 เริ่มชิน ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่ 3 นี้ เราจะเห็นถึงพัฒนาการทางอารมณ์ ในช่วงที่ร่างกายปรับตัวกับการอดอาหารได้อย่างสมบูรณ์แล้ว โดยดร. ราซีน มาห์รูฟ ที่ปรึกษาในหน่วยผู้ป่วยหนักและยาชา ที่โรงพยาบาลแอดเดินบรูกส์ ในเมืองเคมบริดจ์ กล่าวว่า มีข้อดีหลายอย่างจากการ อดอาหารเช่นกัน “ในชีวิตประจำวัน เรามักกินมากเกินไป และอาจส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเท่าที่ควร เช่น การซ่อมแซมตัวเอง” “การปรับสภาพของร่างกายจะเกิดขึ้นในช่วงถือศีลอด ทำให้ร่ายกายได้หันไปทำหน้าที่อื่น ๆ” ดังนั้น การถือศีลอดอาจจะเป็นผลดีต่อร่ายกาย ด้วยการทำให้เกิดการซ่อมแซม และยังช่วยป้องกันและต้านทานการติดเชื้อด้วย

– วันที่ 16-30 ถอนพิษ สำหรับช่วงนี้ร่างกายของเราจะปรับตัวเข้ากับกระบวนการอดอาหารได้สมบูรณ์แบบแล้ว ลำไส้ใหญ่, ตับ, ไต และผิวหนัง จะเข้าสู่ช่วงของการถอนพิษ การทำงานของอวัยวะต่างๆ น่าจะกลับไปสู่ระดับเต็มศักยภาพอีกครั้ง ความจำและสมาธิอาจจะดีขึ้น มีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้น

………………………………………………………………
บทความ​ นูรุมา จูและ
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Business Incubator for Halal Products and Services: BIHAPS)

ที่มา…..อาห์เมน คาวาจา บีบีซี เวิลด์เซอร์วิส

กินอย่างพอดี ลดอาหารเหลือทิ้ง

BIHAPS WEEKLY EP.13

เดือนรอมฎอนสำหรับชาวมุสลิมทั่วโลกถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญ พระคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาแก่ศาสนิกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนให้เหมาะสมดีงามสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อันจะนำมาซึ่งความสุขและสันติทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เดือนรอมฎอน เดือนอันแสนประเสริฐที่มุสลิมต่างรอคอย
เดือนที่มีข้อบังคับให้ชาวมุสลิมต้องถือศีลอด ตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณจนกว่าตะวันลับขอบฟ้า การถือศีลอดที่ไม่ใช่แค่งดดื่มน้ำและรับประทานอาหารเท่านั้น แต่ยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆอีกมากมาย เช่น การบริจาคทาน การทำจิตใจให้สงบ การงดอบายมุข และการลดละกระทำสิ่งที่ไม่ดีต่อผู้อื่นทั้งกายวาจาใจ

ในแง่มุมเศรษฐกิจ ช่วงเทศกาลรอมฎอน นับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูช่วงนึงในรอบปี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องชาวมุสลิมอาศัยมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทั้งอาหาร และเสื้อผ้า ทำให้เกิดกระแสเงินสะพัดในท้องถิ่น มีตลาดในช่วงรอมฎอนผุดขึ้นตามชุมชนต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ๆที่มักนิยมซื้ออาหารสำเร็จรูปมากกว่าซื้อวัตถุดิบนำมาปรุงอาหารเอง

มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของชาวมุสลิมในเดือนรอมฎอน โดยสถาบันวิจัย Solid Waste Management Corporation (SWCorp) จากประเทศมาเลเซีย รายงานว่าในเดือนรอมฎอน ผู้บริโภคมักซื้ออาหารเกินกว่าจำนวนที่รับประทานปกติในแต่ละวัน ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างเช่น การงดรับประทานอาหารในช่วงกลางวัน ความหิวกระหายที่อาจส่งผลให้เกิดการซื้ออาหารที่เกินความจำเป็น แต่ละร้านจำหน่ายเมนูอาหารที่ชวนลิ้มลอง และมากมายให้เลือกสรร ผลจากการวิจัยพบว่ามีการทิ้งอาหารมากถึง 17,800 ตัน/วัน ซึ่งอาหารส่วนมากอยู่ในสภาพที่ยังรับประทานได้

ในอัล-กุรอ่านได้กล่าวว่า
إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُوا إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ ۖ وَكَانَ الشَّيْطَانُ لِرَبِّهِ كَفُورًا

“แท้จริง บรรดาผู้สรุ่ยสุร่าย(สิ้นเปลือง)นั้น เป็นพวกพ้องของเหล่าชัยตอน และชัยตอนนั้นเนรคุณต่อพระเจ้าของมัน” ( อัลอิสรออ์ : 27 )

รอมฎอนปีนี้นอกเหนือจากการถือศีลอด และการปฏิบัติศาสนกิจด้วยเจตนาที่ตั้งมั่นแล้วนั้น การบริโภคเกินความจำเป็นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้พี่น้องชาวมุสลิมร่วมกันตระหนักและให้ความสำคัญ จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องชาวมุสลิม และผู้อ่านทุกคนร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการบริโภคในปริมาณพอดี นอกจากไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐนี้ด้วย

…………………………………………………………………..
บทความโดย
ซารีฟ เลาะหามะ
Business Incubator for Halal Products and Services
BIHAPS

3 เคล็ดลับ อุดรอยรั่ว อัพกำไรให้ธุรกิจ SME

BIHAPS WEEKLY EP.12

รู้หรือไม่? ทุกธุรกิจมีช่องว่างให้เงินรั่วไหลได้เสมอ แต่จะอุดรอยรั่ว เพื่อพลิกโฉมธุรกิจให้ทำกำไรได้อย่างไร

เรามี 3 เคล็ดลับเด็ดมาแนะนำ

1.บันทึกข้อมูลเป็นระบบ จบทุกปัญหา
ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ SME ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น ไม่บันทึกข้อมูลการสั่งซื้อวัตถุดิบ วัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ เมื่อใกล้หมดจึงค่อยสั่งซื้อใหม่ ไม่บันทึกข้อมูลการจำหน่ายสินค้า แต่ใช้การเช็คยอดขายเมื่อสิ้นวัน เป็นต้น โดยสาเหตุที่ไม่บันทึกข้อมูล เพราะส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เสียเวลา แต่จริงๆ แล้วการไม่บันทึกข้อมูลนี้ คือหายนะของ SME ก็ว่าได้ เพราะนี่คือตัวการสำคัญที่ทำให้เงินรั่วไหล กำไรร่วง!

ปัญหาที่อาจตามมาเมื่อ SME ไม่บันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น

•ไม่รู้ว่ารายจ่ายส่วนใดมากเกินจำเป็น สมควรต้องปรับลด

•ไม่รู้ว่ารายรับมาจากช่องทางไหน สินค้าใดทำกำไรได้มาก สินค้าใดกำไรน้อย

•ไม่รู้ว่าต้องสั่งซื้อวัตถุดิบ วัสดุหรืออุปกรณ์สำหรับผลิตสินค้าหรือบริการเท่าไร เพราะไม่ทราบจำนวนที่เหลือแน่ชัด จนต้องเสียเวลาคอยนับจำนวนก่อนสั่งซื้อ

•หากเกิดการทุจริต เช่น สินค้าหาย เงินไม่ครบ ก็ตรวจสอบไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ ยืนยัน

•วางแผนการเติบโตได้ยาก ทั้งการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การเติบโตด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นต้น เพราะขาดข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน ว่าธุรกิจสามารถทำกำไรจากช่องทางไหนได้บ้าง

แต่หาก SME มีการบันทึกข้อมูลที่เป็นระบบ สารพัดปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด จะจบลงทันที เพราะเราจะมีข้อมูลที่ชัดเจน แม่นยำ สามารถตรวจสอบการทำงานได้ในทุกๆ ขั้นตอน ยิ่งเราบันทึกข้อมูลละเอียดและแม่นยำมากแค่ไหน ก็ยิ่งอุดรอยรั่วได้มากเท่านั้น

2.ใช้เทคโนโลยี ประหยัดทั้งเวลาและกำลังคน
เมื่อรู้ว่าการบันทึกข้อมูลคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แต่ SME หลายรายอาจกังวลว่า การบันทึกข้อมูลโดยละเอียดจะเสียเวลา เสียกำลังคน แถมยังไม่รู้ว่าข้อมูลที่บันทึกนั้นจะแม่นยำมากน้อยแค่ไหน ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ด้วย “เทคโนโลยี”

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปหรือแอปพลิเคชั่น โดยสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้ SME ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น

•ระบบจัดการบัญชี ช่วยให้เรื่องตัวเลขที่น่าปวดหัว กลายเป็นเรื่องง่ายเป็นต้น

•ระบบจัดการสินค้า ให้บริการเก็บสินค้า แพ็คสินค้า และส่งสินค้าแทนร้านของคุณเป็นต้น

•ระบบการทำการตลาดออนไลน์ ผู้ให้บริการด้านการตลาดออนไลน์ ทั้งการสร้างเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น การทำโฆษณาบนสื่อออนไลน์ รวมทั้งคอร์สอบรมเรื่องการตลาดออนไลน์แบบเจาะลึก

เทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นอีกตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของ SME ราบรื่นขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

3.ระบบการเงินและบัญชีเรื่องสำคัญห้ามมองข้าม
SME หลายรายมักละเลยเรื่องระบบการเงินและบัญชี โดยปล่อยให้ฝ่ายบัญชีเป็นคนจัดการ ส่วนตัวเองดูแค่ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายตอนสิ้นเดือน ซึ่งการทำเช่นนี้ถือว่าเสี่ยงมาก เพราะตัวเลขเหล่านี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของคุณเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะถ้าคุณไม่มีความรู้ด้านการทำบัญชีเลย แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าการบันทึกรายรับ รายจ่าย คำนวณต้นทุนและผลกำไรนั้นถูกต้องหากฝ่ายบัญชีตกแต่งตัวเลขสักเล็กน้อย จากกำไรก็อาจกลายเป็นขาดทุนได้

อีกปัญหาสำคัญ (ที่ SME อาจไม่ทราบว่าคือปัญหา) คือ ไม่แยก “กระเป๋าเงินธุรกิจ” กับ “กระเป๋าเงินส่วนตัว” อยากหยิบใช้เท่าไรก็ได้ เพราะถือว่านี่คือน้ำพักน้ำแรงของเรา แต่จริงๆ แล้ว วิธีนี้จะทำให้คุณไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจเป็นเท่าไร (เพราะการหยิบเงินไปใช้ซื้อของส่วนตัว ก็ถือเป็นต้นทุนที่ธุรกิจต้องแบกรับ) มีกำไรเท่าไร คุ้มค่าเหนื่อยไหม ทางที่ดี SME ต้องตั้งเงินเดือนให้ตัวเองเป็นอัตราที่แน่นอน แล้วนำกำไรที่เหลือ ไปใช้ในการหมุนเวียนธุรกิจต่อไปจะทำให้การบริหารจัดการเงินง่ายกว่า และไม่เกิดปัญหาเงินรั่วไหลด้วย

……………………………………………….
บทความโดย อัสลินดา ระเด่นอาหมัด
ที่มา : https://scbsme.scb.co.th

“สุขภาพธุรกิจ ตรวจกันสักนิด เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

BIHAPS WEEKLY ep. 12

“สุขภาพธุรกิจ ตรวจกันสักนิด เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

คนส่วนใหญ่ออกกำลังกายกันตอนไหน ?

คำถามชวนคิดที่ถูกถามขึ้นในบรรยากาศของการรอฟังผลการตรวจสุขภาพประจำปีจากโรงพยาบาลที่มาแจ้งผลการตรวจสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ผลตรวจที่รอคอยกันมาหลายสัปดาห์ทำให้การรอฟังผลเป็นไปกด้วยความตื่นเต้น การตรวจที่จะทำให้รู้ถึงสภาพของร่างกาย หลังจากที่ได้ใช้งานอย่างหนักหน่วงมาตลอดทั้งปี การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นเป็นการตรวจร่างกายของผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปรกติใดๆ เพื่อค้นหาความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ความเสี่ยงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการประเมินพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน มีพฤติกรรมเสี่ยงที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพของเราแล้วบ้าง เพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะสายเกินแก้ นอกจากร่างกายของเราแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ควรหมั่นตรวจสอบก็คือ ธุรกิจ/กิจการ ของเรา เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต วันนี้ทางทีมงานศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (BIHAPS) มีเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการประเมินธุรกิจที่เรียกว่า Balanced scorecard โดยจะประเมินธุรกิจของท่านผ่านมุมมอง 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) และมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจของท่านได้เลยครับ

เครื่องมือการประเมินประสิทธิภาพขององค์กร Balalced Scorecard พัฒนาโดย Professer Robert Kaplan และ Dr. David Norton จาก Harvard Business School ในปี คศ.1990 โดยเป็นการประเมินในทุกๆด้านขององค์กร จากเดิมที่ผู้บริหาร/เจ้าของกิจการ มักจะประเมินธุรกิจในมุมมองด้านการเงินเพียงอย่างเดียวซึ่งอาจทำให้การประเมินผลไม่สมบูรณ์ได้ โดยในการใช้ Balalced Scorecard เข้ามาประเมินนั้นจะประกอบด้วยมุมมองทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

  1. มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective)
    เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบการบริหารจัดการด้านการเงิน การจัดการด้านการเงินที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ ตัวอย่างการวัดผลด้านการเงิน 1. อัตราเติบโตของรายได้ วัดจากการเติบโตของยอดขาย 2. วัดประสิทธิภาพการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 3. ประสิทธิภาพการลงทุนการทำวิจัยและพัฒนา
  2. มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบกิจการของท่านว่าจะต้องเป็นอย่างไรในสายตาของลูกค้า เพราะลูกค้าคือตัวบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับธุรกิจ เพราะเป็นแหล่งที่มาของรายได้สำหรับกิจการนั้นๆ ตัวอย่างการวัดผลด้านลูกค้า 1. การวัดความพอใจของลูกค้าเพื่อทำให้เกิดการกลับมาใช้บริการใหม่ 2. การติดตามความต้องการของลูกค้าโดยดูจากพฤติกรรมการสั่งซื้อ 4. การวัดผลการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
  3. มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบว่ากิจการของท่านว่ามีระบบการทำงานภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน หากองค์กรพัฒนาและมีระบบบริหารการทำงานภายในที่ดี ย่อมส่งผลให้ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้องค์กรมีการเติบโตทางรายได้สูงขึ้น
  4. มุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) เป็นมุมมองที่จะตรวจสอบว่ากิจการของท่านต้องมีการบริหารจัดการการเรียนรู้และการพัฒนาของและบุคลากรในกิจการอย่างไร เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แก่พนักงาน หากพนักงานเกิดการเรียนรู้ มีการพัฒนาขีดความสามารถของการเรียนรู้ จะทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพ สินค้า และบริการ

การประเมินประสิทธิภาพขององค์กรโดยใช้ Balalced Scorecard นั้น เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ประเมินธุรกิจ ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการแได้ละผู้อ่านทุกท่านนำไปใช้เป็นรายการตรวจสอบอย่างง่าย (Checklist) ในการประเมินสุขภาพธุรกิจของท่าน และเมื่อทราบถึงปัญหาสุขภาพของธุรกิจแล้ว เราก็จะสามารถวางแผนรับมือ ก่อนที่มันจะแสดงออกมาเป็นอาการให้ท่านเจ็บตัว อย่าให้เหมือนกับตลกร้ายที่ชอบพูดกันว่า “คนส่วนใหญ่ที่กว่าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง หันมาควบคุมอาหาร ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ก็ตอนที่โรคร้ายได้แสดงอาการออกมา ซึ่งอาจสายไปแล้วสำหรับการแก้ไขให้กลับมาสุขภาพดีเหมือนเดิม”
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม สัปดาห์หน้าทางศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (BIHAPS) มีอะไรดีๆมานำเสนอสามารถติดตามได้ สำหรับสัปดาห์นี้ขอลาไปก่อนครับ

วัสสลาม

……………………………………………………………………
บทความโดย
อมีน มะหมัด
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#BIHAPSWEEKLY #BIHAPS #HSCPN

30 กลุ่มโพสต์ขายของออนไลน์ให้ปัง ไม่เสียค่าโฆษณา

BIHAPS WEEKLY EP.22

ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองมากๆ ในช่วงนี้สำหรับพ่อค้าแม่ค้า เมื่อลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เหตุผลเพราะการช้อปปิ้งออนไลน์มีความสะดวกสบาย มีของให้เลือกหลากหลาย ซื้อของเวลาไหนก็ได้ เปรียบเทียบราคาได้สะดวก ตรวจสอบสินค้าได้ด้วยรีวิว และอีกหลากหลายเหตุผลที่น่าสนใจ

ยิ่งสถานการณ์ในช่วง Covid-19 แบบนี้แล้ว แน่นอนว่าหลายๆคนเองก็หันมาเอาดีในด้านการขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น ขาดรายได้จากงานประจำ รวมถึงคนที่มีหน้าร้านขายของเองก็ตาม ก็ยังคงต้องปิดตัวลงเพราะพิษเศรษฐกิจจา​กเหตุการณ์​การ​ระบาดของ Covid-19 ทำให้ได้รับผลกระทบไปตามกันๆ พ่อค้าแม่ค้าเลยต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขายของจากหน้าร้าน มาขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งการขายของออนไลน์สามารถขายได้บนเว็บขายของออนไลน์
ซื้อง่าย ขายคล่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Shopee,Lazada, Facebook Marketplace, Kaidee, Sales Matchup,ต่างๆ

แต่ยังมีการขายของออนไลน์แบบง่ายๆ ผ่านช่องทางกลุ่มขายของออนไลน์ ที่ถือเป็นที่นิยมมากๆในช่วงนี้ เป็นกลุ่มที่ทุกคนสามารถเข้ามาโพสซื้อโพสขายได้แบบไม่จำกัด วันนี้แอดมินในฐานะแม่ค้าออนไลน์เองจะมารวบรวมกลุ่มขายของออนไลน์ ขายดีขายคล่อง ที่มียอดผู้ติดตามหลัก 10,000 ขึ้นไป ให้กับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ ได้กดเข้าไปร่วมกลุ่ม เพิ่มช่องทางการขายของออนไลน์และเจาะกลุ่มผู้ซื้อในวงที่กว้างขึ้นได้

แต่บอกเลยว่ากลุ่มไหนที่มีสมาชิกในกลุ่มมาก กลุ่มนั้นอาจจะจะมีค่าสมัครเพิ่ม เป็นค่าสมัครแบบรายเดือน รายปี หรือแบบตลอดชีพ

โดยกลุ่มที่ต้องเสียค่าสมัครนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีคนติดตามในกลุ่มหลักแสนขึ้นไป มีการซื้อขายเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า โดยผู้ดูแลกลุ่มจะมีรหัสให้กับพ่อค้าแม่ค้าเมื่อมีการสมัครครั้งแรก โดยแอดมินจะคอยติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกที่อยู่ภายในกลุ่ม

ถือเป็นกลุ่มขายของออนไลน์ที่ถึงแม้จะมีค่าสมัคร แต่ก็อยากจะแนะนำให้สมัครเพิ่ม​ โดยข้อดีของกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายแบบนี้สามารถที่จะเข้าไปขายในกลุ่มเครือขายร่วมได้อีกหลายกลุ่ม

ดังนั้น การขายของออนไลน์ผ่านกลุ่มต่างๆแบบนี้ เป็นที่นิยมมากในช่วงนี้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ด้วยความที่โพสขายได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญคือไม่เสียเงินค่าลงโฆษณา Facebook แบบแพงๆอีกด้วย มาดูกันว่ามีกลุ่มไหนกันบ้างที่เราสามารถเข้ากลุ่มไปขายของ เพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจของเราได้แบบฟรีๆและมีค่าสมัครกันบ้าง (สำหรับใครที่มีกลุ่มขายของที่นอกเหนือจากที่แอดมินรวบรวมไว้นี้ สามารถแชร์กลุ่มกันได้นะคะ)

1. กลุ่มตลาดนัดออนไลน์ ซื้อง่ายขายคล่อง https://www.facebook.com/groups/1918597495056197/

2. ตลาดนัด 4.0 https://www.facebook.com/groups/itshopping/

3. ตลาดนัดเพื่อคุณ – Market For You https://www.facebook.com/groups/Beautifulhomephotos/

4. มุสลิมพลาซ่า – Muslim Plaza (https://www.facebook.com/groups/Muslim2handmarket/

5. muslim market 24 hours https://www.facebook.com/groups/1464507960472423/

6. Muslim shopping 24 hours https://www.facebook.com/groups/771785802943747/

7. มุสลิมพลาซ่า – Muslim Plaza Online https://www.facebook.com/groups/593264387757375/

8. มุสลิมพลาซ่า ตลาดสินค้าฮาลาลออลไลน์ https://www.facebook.com/groups/414090772107808/

9. มุสลิมตลาดออลไลน์ https://www.facebook.com/groups/1461080130880277/

10. Muslim Plaza+Online https://www.facebook.com/groups/1097514550258716/

11. มุสลิมออลไลน์ ตลาดสรรพสินค้าและสินค้าฮาลาล https://www.facebook.com/groups/138018163207298/

12. Muslim Shop Online https://www.facebook.com/groups/702716749864313/

13. ตลาดนัดออนไลน์ซื้อขายสินค้าทุกชนิด https://www.facebook.com/groups/1389226677785659/about/

14. ตลาดซื้อ-ขาย @ยะลา https://www.facebook.com/groups/market.yala/

15. ตลาดซื้อขายทุกอย่างในยะลา https://www.facebook.com/groups/1166939636698211/

16. กลุ่มตลาดนัดออนไลน์ https://www.facebook.com/groups/Grouponlinemarketing/about/

17. Muslim Online#3[100/ปี] https://www.facebook.com/groups/869340123161543/

18. กลุ่มซื้อ-ขายของออนไลน์ทุกชนิด https://www.facebook.com/groups/760795160672430/about/

19. ชวนชิมของอร่อยเมืองยะลา https://www.facebook.com/groups/770664113072417/

20. ปัตตานีเดลิเวอรี่…หิวเมื่อไหร่ก็ทักมา https://www.facebook.com/groups/916907191818094/

21. ตลาดมุสลิม (โพสขาย 24ชม.) https://www.facebook.com/groups/1059309384167866/

22. ตลาดซื้อ-ขายสินค้า https://www.facebook.com/groups/1662256877432815/

23. ตลาดสินค้ามุสลิมครบวงจร https://www.facebook.com/groups/835376126526896/

24. ตลาดมุสลิมภาคใต้ https://www.facebook.com/groups/1515697262080098/

25. ตลาดซื้อ-ขายของ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา https://www.facebook.com/groups/819590021461684/

26. NAPAYA | ตลาดชุมชนออนไลน์ https://www.facebook.com/groups/napayagroup/

27. กลุ่มขายของออนไลน์ ทั่วประเทศฟรี https://www.facebook.com/groups/324508398184678/

28. ตลาดออนไลน์ ขายทุกอย่าง ที่ขายได้ https://www.facebook.com/groups/onlinemarketing2018/

29. กลุ่มซื้อขายสินค้าออนไลน์ราคาถูก https://www.facebook.com/groups/1509765412401753/

30. กลุ่มขายของออนไลน์ทุกชนิด https://www.facebook.com/groups/155442305313859/

……………………………………………………………
เขียนโดยนางสาวนูรุมา จูและ
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจฮาลาลฯ (BIHAPS) ศูนย์วิทยาศาสตร์
ฮาลาล จุฬาฯ สนง.ปัตตานี
#BIHAPSWEEKLY
#HALALSCIENCEPATTANI
#HSC
#HALALSCIENCECHULA
#SMEs

ท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า “ความปลอดภัยของคนผู้หนึ่งในช่วงฟิตนะห์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโรคระบาด) คือการที่เขากักตัวอยู่ในบ้าน”

-เศาะฮีห์ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีร หมายเลข 3649-

จำเป็นที่จะต้องอยู่บ้านให้มากเท่าที่จะทำได้และอย่าได้ออกไปปะปนกับผู้คนนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงและปกป้องตัวเองจากการรับเชื้อโรคที่กำลังระบาดอย่างไวรัสโคโรนา โควิด-19 ที่อาจจะมีอยู่ตามตัวของคนแม้จะไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศทั่วไป รวมถึงโรคติดต่ออื่น ๆ

………………………………………………………..
cr. คู่มือเผิชญโรคระบาด
คำแนะนำเนื่องในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดย รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา

รู้ไว้ใช่ว่า!!สีสันทางการตลาดกับช่วงฤดูร้อน

BIHAPS WEEKLY EP.10

ฤดูร้อนแบบนี้หลายคนๆ มักจะหงุดหงิดกับสภาพอากาศจนไม่อยากจะทำอะไร แต่เชื่อไหมว่าอากาศแบบนี้แหละ จะสร้างกำไรและโอกาสให้กับธุรกิจได้ไม่น้อยเลยที่เดียว วันนี้ทีมงาน BIHAPS ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสีสันทางการตลาดในช่วงฤดูร้อนมาฝากคุณผู้อ่านกันค่ะ เมื่อพูดถึงหน้าร้อนสินค้าอะไรบ้างที่ขายดีในช่วงนี้!!! สิ่งที่หลายคนตอบ คือ พัดลม แอร์ สระว่ายน้ำ ผลไม้ น้ำปั่น ไอศกรีม เป็นต้น วันนี้เลยมีเรื่องราวดีๆมาบอกกับรู้ไว้ใช่ว่าสีสันทางการตลาดกับช่วงฤดูร้อนมีอะไรบ้าง!! มาฝากกันค่ะ

พูดถึงเรื่องของสินค้าขายดี!! สำหรับฤดูหน้าร้อนแบบนี้ พูดได้เลยว่าสินค้าไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่กลุ่มลูกค้านี้แหละสำคัญมาก หน้าร้อนแบบนี้ เราคงจะนึกถึงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีแต่ความสนุกสนาน เป็นช่วงจะสร้างโอกาสในการที่กวาดรายได้ในช่วงนี้เป็นกอบเป็นกำกันเลยที่เดียว แล้วกลุ่มไหนบ้างที่จะเข้ามาในช่วงเทศการแบบนี้ คนจีน คนมาเลเซีย หรือคนยุโรปที่จะเข้ามาในช่วงนี้ ซึ่งคนจีนบุกไทยแน่ๆในช่วงสงกรานต์แบบนี้ แล้วเราจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรดีกับกลุ่มที่จะเข้ามากลุ่มนี้ สินค้าที่จะขายพร้อมหรือยัง นี้คือคำถาม เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว

คนจีน เป็นคนที่ชอบกินผลไม้มากๆ ผลไม้เสียบไม้แช่อิ่ม แช่เย็น ไอติมทุเรียนต่างๆ เราควรที่จะเตรียมสินค้าให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะลูกค้าทั้งคนจีน และชาวต่างชาติมาแน่ๆ ดังนั้นสำหรับช่วงฤดูร้อนที่ยอดขาย มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นนั้น เราควรที่จะติดป้ายและทำอะไรให้ค่อนข้างชัดเจน เพราะมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าคนจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยนั้นร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ใช้เงินกับเรื่องของตัวเอง (ส่วนตัว) อีกประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์สำหรับของฝาก และอีกเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับซื้อของไปขายต่อ เรามักจะเห็นว่ายี่ห้อของเครื่องสําอางค์ต่างๆ หรือขนมขบเคี้ยวต่างๆ เวลาที่วางขาย จะขายเป็นแพ็คใหญ่ๆ แต่ราคาถูกลง และมีโบว์ชัวร์สอดไว้ให้ด้วย การทำตลาดแบบนี้เป็นการจับพฤติกรรมของลูกค้าบางกลุ่มที่จะซื้อไปขายต่อได้ เพราะฉะนั้นวิธีคิดมันจะชัดขึ้นเวลาที่เรามองลูกค้า และจับลูกค้ากลุ่มนี้ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร คำแนะนำในช่วงฤดูร้อนนี้คืออย่าคิดประเด็นว่าจะเอาสินค้าอะไรมาขายอย่างเดียว ให้เริ่มคิดก่อนว่าจะเอากลุ่มลูกค้าไหนกันแน่ การที่ได้กลุ่มลูกค้ามาชัด เราจะรู้เลยว่าแพลตฟอร์มไหนที่เราควรไปเล่น สินค้าไหนบ้างที่จะนำมาขายก็จะตามมาเอง

นอกจากจีนแล้ว มาเลเซียก็น่าสนใจ ตัวเลขมาเลเซียในการมาเที่ยวในไทยก็เยอะมาก มาเลเซียจริงๆ พอเข้ามาในเมืองไทยเราต้องเตรียมการในเรื่องของอาหาร เพราะว่าอาหารฮาลาลจะสำคัญมากสำหรับคนมาเลเซีย การที่ทำอาหารที่มีฮาลาลไปด้วย จะทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นและสร้างยอดขายได้มากขึ้นเช่นกัน

ธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว บริการอย่างไรให้ลูกค้ากลับมา!!!!! ถ้ามองในมุมองของภาคธุรกิจที่คนไทยถนัดมาก คือธุรกิจการโรงแรม และการท่องเที่ยว เราจะมีการสร้างประสบการเชิงบวกให้กับลูกค้าในช่วงหน้าร้อนนี้ได้อย่างไร ซึ่งมีหลากหลายมาก อันดับแรกของการทำธุรกิจโรงแรมคือเราอย่าไปคิดเฉพาะวันที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างเดียว แต่ให้คิดก่อนที่จะมาใช้บริการ ระหว่างมาใช้บริการ และหลังการมาใช้บริการด้วยว่าเราจะทำอย่างไรกับลูกค้ากลุ่มนี้ดี พูดถึงหน้าร้อนบางคนก็จะคิดว่าอย่าลืมน้ำเย็นๆ ไว้ต้อนรับแขกที่พึงมาถึงโรงแรมเปิดแอร์เย็น ๆ ทิ้งไว้สักประมาณ 20-30 นาที่ก่อนที่แขกจะเข้าที่พัก การให้บริการแบบนี้คือดีแล้ว เพราะจุดพวกนี้เป็นจุดสำคัญที่จะสร้างความแตกต่างได้ แต่ก่อนมาใช้บริการเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าประทับใจได้บ้าง เช่นการติดต่อให้บริการล่วงหน้าผ่านเครื่องมือออนไลน์ มีบริการรถรับแขกที่สนามบินและบริการน้ำดื่มระหว่างทางมาถึงโรงแรม หรือหลังกลับไปแล้วอาจจะมีการเก็บรูปภาพสวยๆ ส่งรูปกลับไปให้ลูกค้าทางอีเมล์ก็ได้ เป็นการสร้างแฟนคลับได้ในระดับหนึ่ง โดยที่ลูกค้าอาจจะกลับมาใช้บริการซ้ำได้ในอนาคต แต่ในระยะยาวจะเป็นการสร้างแฟนคลับ เขาจะมีการบอกต่อกับคนอื่นๆได้อีก การทำแบบนี้ต้นทุนศูนย์บาท เสียแค่เวลา เพราะสมัยนี้การส่งอีเมล์ หรือส่งข้อความทางแพลตฟอร์มไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรสักบาท ซึ่งในระยายาวการทำแบบนี้ถือว่าคุ้ม

หน้าร้อนต้องใช้สีโทนร้อนเท่านั้นหรือ!! เรื่องสีกับหน้าร้อน เราต้องระวังเรื่องสีหรือไม่ ตอบเลยว่า ที่จริงไม่ต้องระวังอะไรมาก การศึกษาเรื่องสีกับทางการตลาดนั้น ถูกศึกษาค่อนข้างมาก แต่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับอากาศเท่าไร เช่นสีแดง สีแดงทำให้ทุกอย่างดูเร็วขึ้น สีโทนร้อนไม่ใช่ว่าช่วงหน้าร้อนต้องปล่อยสีโทนร้อนออกมา เช่น เหลือง แดง ส้ม วนๆ อยู่อย่างนี้ เพราะสิ่งที่ตามมาคือบางคนอาจจะเดินเข้ามาในร้านแล้วก็เดินออกไปเร็ว ที่จริงมันไม่เกี่ยวกับอากาศ มันเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่มาเจอสี คือสีโทนร้อนทำให้คนมีพฤติกรรมเร็วมาดูสินค้ายังไม่ได้ทักไม่ได้อะไรเลยก็รีบออกไปแล้ว คล้ายๆกับร้านอาหารที่เป็นฟาสต์ฟู้ด เพราะจะเห็นว่าแต่ละยี่ห้อแบรนด์ดังจะใช้สีแดงหมดเลย เช่น แมคโดนัลด์, KFC เชสเตอร์กริลล์, พิซซ่าฮัท โทนสีนี้จะทำให้พฤติกรรมของคนซื้อเร็วขึ้น เพราะการที่ร้านเขาจะได้กำไรมากขึ้น คือการที่มีคนเข้า-ออกเยอะๆ เขาจึงเรียกกันว่า ฟาสต์ฟู้ด เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกันว่าต้องใช้สีแดงในช่วงซัมเมอร์ แต่ให้ระวังเรื่องของพฤติกรรมของคนมากกว่า

Sales Promotion การส่งเสริมการขาย!!!! ตัวนี้จะเข้ามาเล่นอย่างไรในช่วงหน้าร้อนนี้ บอกได้เลยว่าพฤติกรรมในช่วงอากาศที่ร้อน จะเป็นพฤติกรรมที่เร็วขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่กลับกันอากาศเย็นจะทำให้พฤติกรรมของเราเหนื่อยๆ สบายๆ ซึ่งอากาศส่งผลต่อพฤติกรรม ฉะนั้นอากาศร้อนจะทำให้คนมีพฤติกรรมที่เร็วขึ้น ชอบอะไรสั้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกิจกรรมทางการตลาดอะไรก็ตามที่เป็นกิจกรรมในระยะสั้น ควรเอามาใช้ในช่วงน่าร้อน กิจกรรมอะไรที่เป็นในระยะยาว ก็อาจจะไม่ต้องใช้เยอะอะไรในช่วงนี้ จะใช้ก็ได้เพราะไม่ค่อยมีผลเท่าไร ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับอากาศ อย่างเช่น ชาไข่มุก ชอบทำโปรโมชั่นที่เน้นยาวๆ คือเก็บสะสม 10 – 20 แก้ว แล้วจะได้อีกแก้วฟรี แต่อะไรสั้นๆ เช่น โป๊ะแตกแจกทอง จับฉลากปัปได้ปุป หรือตอกไข่ออกมาได้รับไปเลย ถ้ากิจกรรมแบบนี้ จะเข้ากับบรรยากาศในช่วงนี้ โดยเราก็จะเห็นว่า Sales Promotion ที่หลากหลายในช่วงหน้าร้อน เน้นโปรโมชั่นที่สั้น ตัดสินใจได้เลยถือว่าเหมาะกับโอกาสในช่วงหน้าร้อนนี้ได้ ถ้าทำได้เราก็จะสนุกกับมันมาก

เป็นไงบ้างค่ะกับสีสันทางการตลาดที่ได้มาบอกต่อในวันนี้หวังว่าทุกท่านจะได้นำเอากลยุทธ์เหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของแต่ละคนได้นะคะ รอบหน้าพบกับบทความเกี่ยวกับเรื่องอะไรต่อนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะคะ

…………………………………………………………………………..
บทความ
โดยนูรุมา จูและ Marketing Specialist BIHAPS
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Business Incubator for Halal Products and Services: BIHAPS)

ที่มา…..อ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ภาควิชาการตลาด Chulalongkorn Business School

Disruption : วิกฤตการณ์ล้มยักษ์

BIHAPS WEEKLY EP.9

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในแวดวงธุรกิจ และเทคโนโลยีคงคุ้นเคยกับคำว่า Disruption เป็นอย่างดี อาจจะเคยผ่านหูผ่านตาจากการสัมมนา บทสนทนาในระหว่างการเจรจาธุรกิจ หรือ บทความวิเคราะห์ธุรกิจในหนังสือพิมพ์ต่างๆ

อันที่จริงแล้ว Disruption ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงธุรกิจ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่มนุษย์มีอารยธรรม แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวบ่อยขึ้น และผู้คนตระหนักมากขึ้น อาจเพราะเรากำลังอยู่ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเข้ามามีบทบาทของดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมิเดีย นำไปสู่สภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วฉับพลัน

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คงเป็นกรณีของบริษัท Eastman Kodak ผู้ผลิตฟิล์ม “Kodak” ที่เราต่างคุ้นเคยกันดี การเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีใหม่อย่าง “กล้องดิจิทัล” และ โทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูปคมชัด ซึ่งอำนวยความสะดวกและสามารถประมวลผลได้ทันตา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทผู้ผลิตฟิล์มอย่าง Eastman Kodak จนต้องลดบทบาทตัวเองและปิดโรงงานไปหลายแห่งในปี 2012 ปัจจุบันบริษัทถูกคุ้มครองจากการถูกฟ้องล้มละลาย และถูกบีบให้ออกจากธุรกิจเดิมที่ทำมาอย่างยาวนานจนต้องขายสิทธิบัตรหลายตัวในมือทิ้ง ก่อนที่ถูกควบรวมเป็นบริษัทขนาดย่อมในปี 2013 จากบริษัทที่ครั้งนึงเคยเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการและทรงอิทธิพลที่สุดรายหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเกี่ยวกับภาพถ่ายและฟิล์มถึง 90% มีพนักงานรวม 140,000 คน มาวันนี้กลับมีมูลค่าในตลาดไม่ถึง 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ

เห็นได้ชัดเลยว่า ทุกก้าวของการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมอย่าง SMEs ที่ส่วนใหญ่ยังขาดการเชื่อมโยงไปสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยงบประมาณหรือต้นทุนที่ยังเป็นข้อจำกัด รูปแบบการบริหารธุรกิจแบบมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ความพึงพอใจในตลาดที่มีอยู่ และกระบวนการผลิตที่ยังคงยึดมั่นมาแต่ดั้งเดิม กลับกลายเป็นกรอบที่ทำให้ธุรกิจ SMEs ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในโลกยุคที่ Disruption เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเอาตัวรอดท่ามกลางฝูงปลาขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับธุรกิจขนาดย่อมอย่าง SMEs เป็นอย่างมาก เดิมทีธุรกิจ SMEs ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมในรูปแบบหนึ่ง การต่อยอดภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามามีส่วนร่วมถือเป็นสิ่งที่ธุรกิจ SMEs ควรให้ความสำคัญ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การไม่นิ่งเฉยกับกระแสของ Disruption จะเป็นโอกาสให้ธุรกิจ SMEs เข้มแข็งและอยู่รอดในกระแสของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

……………………………………………………………………..
บทความโดย
ซารีฟ เลาะหามะ
Creative and Project Planning
Business Incubator for Halal Products and Services

Source: Harvard Business School, Passiongen,
The Standard, Disruptordaily

ธุรกิจสีเขียว Green Business

BIHAPS WEEKLY EP. 8

อัสลามูอาลัยกุมฯ สวัสดีค่ะ BIHAPS WEEKLY

ขอทักทายผู้อ่านทุกท่าน และขอต้อนรับเข้าสู่เดือนเมษายนหน้าร้อนที่สดใส ถึงอากาศจะร้อน ก็อย่าให้ใจเราร้อนตามสภาพอากาศนะคะ พูดถึงหน้าร้อนแล้ว ผู้อ่านทราบมั้ยค่ะว่าตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกร้อน ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนน้ำแข็งอย่างขั้วโลกเหนือ

ภาวะโลกร้อนกำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศ ความจริงที่เราเห็นได้ก็คือ ธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย น้ำแข็งขั้วโลกสลาย ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ที่อุ่นขึ้น ปะการังที่กำลังตาย ระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ระบบนิเวศที่กำลังเปลี่ยนแปลง และคลื่นความร้อนที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้

ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่กำลังเป็นประจักษ์พยานของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ตั้งแต่ชนเผ่าอินูอิท (หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ เอสกิโม พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมืองในเอเชียที่อพยพข้ามสะพานแผ่นดินในยุคแข็งเมื่อ 13,000 ปีก่อน) ในทวีปอาร์กติกทางตอนเหนือสุด จนถึงชาวเกาะใกล้เส้นศูนย์สูตรผู้คนกำลังดิ้นรนเพราะผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เรากำลังประสบกับภาวะโลกร้อนที่อันตรายแล้ว และเราต้องลงมือกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนอันเป็นหายนะ ในขณะที่ยังไม่ทราบถึงผลกระทบทั้งหมดในระดับภูมิภาค ผลกระทบต่อไปนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหากเรายังปล่อยให้สภาพในปัจจุบันดำเนินต่อไป

หากท่านผู้อ่านเป็นผู้ประกอบการ มีกิจการ หรือเป็นผู้บริโภค ธุรกิจสีเขียว (Green Business) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะจะมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน ประเทศชาติ และโลกใบนี้ ดีอย่างไรนั้น ลองอ่านบทความต่อไปนี้กันเลย

ธุรกิจสีเขียว (Green Business) หมายถึงการใช้การบริหารทุกทรัพยากรให้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า เคียงคู่ไปกับการพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจด้วย มีภาพพจน์เป็นมิตรที่ดีต่อสังคม ชุมชน ที่ควรได้รับการจัดการที่ดีขึ้นควบคู่กันไป การดำเนินธุรกิจของบริษัทหรือองค์กรไม่ควรที่จะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบใดๆ ต่อสภาพแวดล้อมของชุมชน หรือท้องถิ่นก็ตาม Green Business ให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจ 3 ด้านที่สำคัญ คือ

People คือ ผลลัพธ์ที่จะเกิดต่อมนุษย์โลกที่เกี่ยวข้อง

Planet คือ ผลกระทบที่จะต้องเกิดต่อสิ่งแวดล้อม สภาวะทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงต่อธรรมชาติของโลกใบนี้นั่นเอง

Profit คือ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจที่ปรารถนาให้ประสบความสำเร็จ

ในปัจจุบันนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้ถูกทำลายลงไปมากมายมหาศาล มลถาวะทางอากาศของโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือ การกระทำของมนุษย์ที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุด เริ่มมาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมร่วมกว่า 50 – 60 ปีที่ผ่านมา การจัดกิจกรรมดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมทำให้ความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ อุณหภูมิร้อนที่สุดเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส และในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลจากความร้อนนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนบนโลกใบนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มตื่นตัวและรับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพร้อมเพรียงกันให้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อจะมีมาตรการทั่วทั้งโลกว่าควรมีมาตรฐานการจัดการอย่างไรให้เหมาะสม

ในทางเศรษฐกิจมีส่วนได้รับผลกระทบกับการแปลงภูมิอากาศนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรมีการจัดการที่มีมาตรฐาน การดำเนินการของภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้กลายเป็น ธุรกิจสีเขียว (Green Business) ให้ได้โดยมีการวางกลยุทธ์และทิศทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีแนวทางหลักอยู่ 3 ประการ ที่ภาคธุรกิจไม่ว่าบริษัท หรือ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ควรคำนึงถึงและยึดเป็นหลักการในการดำเนินธุรกิจของตนเอง

1. การลดการใช้อย่างสิ้นเปลืองลง หรือ การใช้ให้น้อยลง (Reduce) คือการลดการใช้ทรัพยากรต่างๆภายในองค์กร โดยการใช้ทรัพยากรต่างๆภายในองค์กร โดยการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่า และใช้อย่างคุ้มค่ากับราคาให้มากที่สุดก่อน เช่น ใช้มู่ลี่กันสาดป้องกันแสงแดดส่องกระทบตัวอาคาร และบุฉนวนกันความร้อนตามหลังคา เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักจนเกินไป

2. การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการนำกลับไปใช้งานด้านอื่นที่ผ่านกระบวนการจัดการใหม่ก่อนนำไปใช้งาน (Recycle) มีความสำคัญที่ผู้บริโภคควรส่งเสริมธุรกิจประเภทนี้ และแนวโน้มในการส่งเสริมเป็นไปได้สูงมากเพราะผู้คนเริ่มตระหนักถึงแล้วว่าทรัพยากรสำคัญหลายอย่างถูกทำลายและต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ และฟื้นฟูที่เสียไป ตัวอย่างของธุรกิจประเภทนี้ เช่น การทำรายการส่งเสริมการขาย (Promotion) ของห้างสรรพสินค้า สนับสนุนให้ใช้ถุงผ้า หรือถุงพลาสติกเดิมมาใช้ใส่สินค้า โดยการเพิ่มส่วนลด แลก แจก แถมให้กับลูกค้า

3. การทำให้ทรัพยากรมีใช้อย่างเพียงพอด้วยการฟื้นฟู หรือการหาทางเลือกใหม่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ มีผลกระทบให้น้อยที่สุดลงกว่าเดิมที่เคยเป็นมา ตัวอย่างเช่น โครงการฟื้นฟูและปรับปรุงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีการนำมาใช้งาน ที่เห็นได้ชัดมากคือ กลุ่มธุรกิจการทำกระดาษ คือ เมื่อตัดต้นไม้แล้วก็จะมีการปลูกทดแทนโดยการปลูกคืนนั้นควรเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นกว่าที่เสียไป

การพัฒนาเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) หรือเป็นธุรกิจเชิงอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ทรัพยากร เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วนำมาผสมผสานอย่างรังสรรค์กับการอนุรักษ์ด้วยแนวทางที่มีอยู่แล้วเข้ากับแนวทางของกลุ่มองค์กรธุรกิจนั้นๆเอง ให้เกิดเป็นทิศทางเฉพาะของธุรกิจหนึ่งๆ โดยปกติการทำธุรกิจสีเขียว (Green Business) ได้สร้างผลประโยชน์โดยตรงแก่ธุรกิจอยู่แล้วในการลดต้นทุนการผลิต ผลิตภัณฑ์ และบริการ และเมื่อธุรกิจใดที่สร้างแบรนด์ธุรกิจสีเขียวขึ้นมาแล้วนั้นมีการประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปเพื่อให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมผลักดันอันจะทำให้เป็นที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต สิ่งที่ตัวองค์กรจะได้รับกลับมานั้นคือ การยอมรับและการส่งเสริมจากสังคม

วิธีการทั้งหมดจะไม่ได้ผลเลย ถ้าขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี เมื่อคุณลองปรับเปลี่ยนตามวิธีการข้างต้นแล้ว ก็อย่าลืมนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้ลูกค้าฟัง ให้เขารู้ว่าคุณรักษ์โลกอย่างไรบ้าง และเป็นมิตรกับชุมชนอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจ และปรับภาพลักษณ์ให้ธุรกิจของคุณกลายเป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ซึ่งการสร้างการรับรู้มีตั้งแต่การเล่าเรื่อง หรือไม่ก็เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางชุมชนให้คนพื้นที่เป็นคนช่วยเล่า ช่วยบอกในสิ่งที่เขามีส่วนร่วม เท่านี้ธุรกิจของคุณก็กลายเป็นธุรกิจสีเขียวได้ง่าย ๆ แล้ว

…………………………………………………………………
บทความโดย อัสลินดา ระเด่นอาหมัด
BIHAPS หรือ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (Business Incubator of Halal Products and Services)
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( สำนักงานปัตตานี )
อ้างอิง https://th.wikipedia.org
http://www.greenpeace.org

http://www.komkid.com
http://thaifranchisedownload.com

3 เทรนด์แฟรนไชส์น่าลงทุน 2019

BIHAPS WEEKLY ep. 7

อัสสลามุอาลัยกุม ขอความสันติจงมีแด่ผู้อ่านทุกท่าน พบกันอีกครั้งกับบทความจากศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (BIHAPS) ใน BIHAPS WEEKLY สัปดาห์นี้เราพบกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 แล้วสามารถย้อนกลับไปอ่านบทความดีๆกันได้ครับ

ในบรรยากาศการเมืองอันร้อนแรง ช่วยนี้หลายท่านคงกำลังรอคอยฟังผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งแน่นอนการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ หากเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมานั้นจะสังกัดพรรคการเมืองใดก็ตามย่อมทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้กล้าลงทุนอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศอย่างมหาศาล ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาคครัวเรือนรวมไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับในภาคครัวเรือนที่เตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคต วันนี้เรามีช่องทางลัดในการเริ่มต้นกิจการได้รวดเร็ว นั่นก็คือ “แฟรนไชส์” การนำแฟรนไชส์ที่ดีมาใช้ในการเริ่มต้นการลงมือทำธุรกิจ นอกจากจะเป็นการลดระยะเวลาในการเตรียมการแล้ว ยังลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวได้อีกด้วย

“แฟรนไชส์” เป็นรูปแบบการดำเนินการธุรกิจที่เพิ่มโอกาสในประสบความสำเร็จ ให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากเเฟรนไชส์เองนั้น ได้ถูกทดสอบมาระยะหนึ่งจากเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) อีกทั้งผลจากการสร้างแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับในตลาดแล้ว คำถามต่อไปคือธุรกิจเฟรนไชส์ประเภทไหนที่กำลังเป็นความต้องการของตลาด วันนี้เราขอนำเสนอแฟรนไชส์น่าลงทุนและมีโอกาสเติบโตในอนาคต ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคม และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 3 ประเภทดังนี้

1. แฟรนไชส์ตอบสนองสังคมผู้สูงอายุ
– ประเทศไทยอยู่ในช่วงสังคมผู้สูงอายุ
– กลุ่มคนสูงอายุจำนวนมากมีรายได้จากบำเหน็จบำนาญ
– กลุ่มคนสูงอายุมีเงินสะสมหรือเงินจากลูกหลานเพื่อใช้สอย
– พฤติกรรมความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่มีความเฉพาะ

ตัวอย่างธุรกิจ : ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ บริการด้านการขนส่งและการเดินทางบริการทัวร์ผู้สูงอายุ บริการดูแลสัตว์ ธุรกิจซักอบรีด แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจต้องอำนวยความสะดวกโดยการให้บริการถึงสถานที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ

2. แฟรนไชส์ตอบสนองคนรุ่นใหม่
– คนรุ่นใหม่ Gen Y และ Gen Z เฉพาะช่วงอายุ 18-38 ปี รวมกันประมาณ 21.0 ล้านคน มีจำนวนและกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
– พฤติกรรมเร่งรีบ มีการใช้เทคโนโลยีสินค้าและบริการ รวมถึงการใช้เวลากับกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากงานที่ทำเช่น กีฬา การท่องเที่ยว และกลุ่มนี้มีความต้องการเรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อเพิ่มเติมศักยภาพการทำงาน

เฟรนไชส์ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ : เฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและบำรุงรักษารถ ซักอบรีด ส่งอาหารหรือสินค้า เดลิเวอรี่ แฟรนไชส์ด้านการพัฒนาทักษะอาทิ ภาษา ศิลปะ กีฬา หรือเทคโนโลยี

3. แฟรนไชส์ที่อิงตามกระแส E-commerce
– ยุกต์การค้าออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น มูลค่าการตลาด E-commerce จะอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาทเติบโตร้อยละ 20.3 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
– ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องมึเพิ่มขึ้น

ธุรกิจโลจิสติกส์ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน : ไปรษณีย์ รับและบรรจุ ขนส่งพัสดุ ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ E-commerce SMEs คนกลางจัดการสินค้า เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีต้นทุนไม่สูงมาก

สุดท้ายนี้แนวทางที่ได้รวบรวมมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการวางแผนเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งการตัดสินใจเลือกทำธุรกิจนั้นจะต้องมีข้อมูลในหลายๆมิติ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ โลกแห่งการแข่งขันทางด้านเป็นเศรษฐกิจ ที่ใครเริ่มต้นก่อนก็มีสิทธิ์ที่จะครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากกว่า เมื่อเราตัดสินใจเลือกเเล้วก็ต้องให้โอกาสและเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเลือกไว้ และให้เวลาเป็นตัวตัดสิน ในระหว่างนั้นก็ต้องหมั่นประเมินผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ธุรกิจที่เหมาะสมกับบริบทของเรา

ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม สัปดาห์หน้าทางศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (BIHAPS) มีอะไรดีๆมานำเสนอสามารถติดตามได้ สัปดาห์นี้ขอลาไปก่อนครับ

วัสสลาม

……………………………………………………………………….
บทความโดย
อมีน มะหมัด
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สำนักงานปัตตานี)
#BIHAPSWEEKLY #BIHAPS #HSCPN

Ref : K SME Analysis แฟรนไชส์ยังโตโอกาสทองนักลงทุน, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : (ธนาคารกสิกรไทย, 2561)