จะฮาลาล หรือเกษตรอินทรีย์ หรือมังสวิรัติดี?
หลายคนอาจต้องเผชิญคำถามว่า ”ฉันควรที่จะบริโภคเนื้อฮาลาล หรือเนื้อเกษตรอินทรีย์ หรือเป็นมังสวิรัติดี?” อาจง่ายกว่าหากคุณเป็นมังสวิรัติ หากเทียบกับการเผชิญกับประเด็นถกเถียงนี้ เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ซับซ้อน ซึ่งมันจะเกี่ยวพันกับความเข้าใจที่สำคัญในหลากหลายมุมมองและหลากหลายมิติ
หนึ่งในจุดยืนที่เคร่งครัดมากที่สุดสำหรับชาวมุสลิมก็คือ ชาวมุสลิมควรรับประทานเนื้อสัตว์ฮาลาลเท่านั้นและต้องเป็นเนื้อจากสัตว์ที่ถูกเชือดโดยชาวมุสลิมอย่างถูกต้องตามหลักการ (ซะบีฮะฮฺ)
ในทางกลับกัน จากความเข้าใจต่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ดังที่ได้รับการให้ความเห็นทางนิติศาสตร์ที่ระบุไว้ว่า ”อาหารของกลุ่มชนชาวคัมภีร์ (ชาวยิวและชาวคริสเตียน) จะต้องเป็นอาหารที่ ‘ฏ็อยยีบาต’ (อาหารที่ดีและมีประโยชน์) สำหรับมุสลิมเพื่อใช้บริโภค” (เมาดูดีย์) และ “หากไม่ได้ยินเสียงที่เอ่ยจากชาวคริสเตียนหรือชาวยิวที่เป็นนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ เช่น นามพระเยซูหรือนามนักบุญ ขณะที่อยู่ระหว่างกระบวนการเชือดนั้น เนื้อสัตว์เหล่านั้นถือว่าฮาลาล” (อัล เกาะเราะฎอวีย์)
อย่างไรก็ตาม คำตอบสำหรับคำถามนี้นั้นไม่ง่ายที่จะอธิบายให้เข้าใจชัดเจน แต่มีสามประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งแก่การนำไปพิจารณาได้แก่ การเลี้ยงดูสัตว์ กระบวนการเชือดสัตว์ และคุณลักษณะของบุคคลที่กระทำการเชือดสัตว์
หลายครั้งที่เนื้อสัตว์ที่มีตราหรือข้อความว่า “ฮาลาล (ซะบีฮะฮฺ)” ซึ่งมันอาจไม่ได้ฮาลาลจริง เนื่องจากลักษณะของสัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงดู ในฐานะที่ชาวมุสลิมเราได้รับการสอนให้ปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยเมตตาธรรม แต่เนื้อส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์นั้นมาจากฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารซึ่งพวกเขาจะเลี้ยงสัตว์ในสภาพที่ถูกจำกัดคับแคบและฉีดยาปฏิชีวนะและฮอร์โมน
ในศาสนาอิสลามเรายังถูกสอนอีกว่าไม่ให้รับประทานสัตว์ที่เป็นโรค เราเชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) และคนจำหน่ายเนื้อชาวมุสลิมได้ทำการตรวจสอบคุณภาพของเนื้อสัตว์ที่จัดจำหน่ายแก่เรา อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการผลิตขนาดใหญ่ เนื้อสัตว์ที่เป็นโรคมักเล็ดลอดผ่านเข้ามาในตลาดจนได้
หลักฐานนี้พบได้จากการเรียกเนื้อสัตว์คืนกลับโรงงานจำนวนมากที่เราได้ยินจากข่าว และจากการศึกษาวิจัยของกลุ่มสิทธิสัตว์ เช่น ในรายงานก่อนหน้านี้พบว่า 60% ของสัตว์ที่เลี้ยงในโรงงานทั้งหมดมีสุขภาพไม่ดี แม้ว่าจะได้รับยาปฏิชีวนะแล้วก็ตาม
:: เนื้อที่ปลอดภัยที่สุด ::
เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยที่สุดนั้นเราสามารถหาได้จากสัตว์ที่เลี้ยงและเชือดในฟาร์มขนาดเล็กหรือผ่านข้อกำหนดมาตรฐานการเลี้ยงดูแบบเกษตรอินทรีย์
หลังจากพิจารณาแล้วว่าสัตว์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไร เราก็ต้องพิจารณาต่อไปยังอาหารที่ใช้เลี้ยงดู ในศาสนาอิสลาม หากสัตว์บริโภคเลือดเป็นอาหารขณะที่มีชีวิตอยู่ สัตว์นั้นจะถือว่าหะรอมสำหรับมุสลิมแก่การใช้บริโภคเป็นอาหาร
เป็นมาตรฐานปฏิบัติของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วไปที่จัดการดูแลการเสริมอาหารของสัตว์ที่เลี้ยงดูด้วยอาหารที่มีส่วนประกอบของกระดูกและชิ้นส่วนของสัตว์ ขณะที่สัตว์ที่ฮาลาลแก่การบริโภคนั้นจะต้องได้รับเฉพาะพืชและธัญพืชเป็นอาหารเท่านั้น
ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาเนื้อที่ตอบสนองข้อกำหนดฮาลาลทั้งหมดข้างต้น อีกทั้งเป็นเรื่องยากที่จะหาเนื้อเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการ ในฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง หนึ่งในมาตรฐานการปฏิบัติทั่วไปคือการทำให้สัตว์นั้นเสียชีวิตด้วยการช็อตไฟฟ้า แล้วจากนั้นก็ค่อยระบายเลือดให้ไหลออกมา
วิธีการนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางของสัตว์และเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการไหลออกของเลือด ในคัมภีร์อัลกุรอานระบุไว้อย่างชัดเจนว่าชาวมุสลิมไม่อนุญาตให้บริโภคเลือด ดังนั้นเราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อสัตว์เกษตรอินทรีย์ที่เราซื้อนั้นมาจากฟาร์มขนาดกลางหรือขนาดเล็กและผ่านกรรมวิธีการเชือดด้วยมือ
เมื่อเราพิจารณาแล้วว่าใครที่เป็นคนลงมือทำการเชือดสัตว์ เราควรจำไว้ว่าฟาร์ม “ฮาลาล” บางแห่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการว่าจ้างคนที่มิใช่มุสลิมมาปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในตำแหน่งของผู้ลงมือกระทำการเชือดสัตว์ด้วย
เราอาจสงสัยว่า “เราต้องกังวลถึงเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคขนาดนี้เชียวหรือ?” มีการศึกษาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เนื้อสัตว์ที่เรารับประทานนั้นมีผลกระทบต่อร่างกายของเราอย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น เอสโตรเจน ฮอร์โมนเพศหญิงที่ได้รับการฉีดในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเร่งการเจริญเติบโตให้เร็วขึ้นและมีลักษณะที่อ้วนเนื้อมากขึ้นจะถูกส่งต่อมายังร่างกายของเราเมื่อเรารับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงดูแบบเกษตรอินทรีย์
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางกายภาพของผู้หญิงที่ต้องเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนวัยอันควร (จากปกติที่เข้าวัยเจริญพันธุ์ที่ช่วงอายุ 12 ปี จะถูกเลื่อนมาเร็วขึ้นในอายุ 7 ปี) อีกทั้งยังลดความเป็นชายในลักษณะของผู้บริโภคชายที่รับฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปในร่างกาย เรากังวลว่าลูกสาวของเราดูเหมือนจะโตเป็นสาวเร็วเกินไป และลูกชายของเราจะสนใจในวิถีชีวิตทางเลือกแบบที่คนหนุ่มวัยเจริญพันธุ์ต้องเผชิญกับการก้าวผ่านวัย
ทั้งหมดนี้นั้น หมายความว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์หรือนมที่ผ่านการฉีดฮอร์โมนอาจส่งผลให้เกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลในร่างกายมนุษย์
สรุปว่า เราจะสามารถมั่นใจจริง ๆ ได้ว่าเราจะได้รับเนื้อที่ฮาลาลจริง ๆ ก็ต่อเมื่อเราเองหรือคนรู้จักที่เชื่อถือได้เป็นผู้เลี้ยงดูและเชือดเนื้อสัตว์ด้วยตัวเอง ซึ่งก็คงมีส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถกระทำอย่างนี้ได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราพอจะสามารถทำได้คือการคัดเลือกข้อมูลที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราบริโภค
ลำดับถัดมา เราอาจจะคัดเลือกมากขึ้นถึงสถานที่ที่วางจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่เราจะบริโภค เราต้องการให้ครอบครัวของเราต้องบริโภคเนื้อสัตว์ที่เสียชีวิตด้วยการช็อตไฟฟ้าหรือ? บริโภคเนื้อสัตว์ที่เลือดไม่ไหลผ่านหรือ? บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีฮอร์โมนตกค้างหรือ? แม้ว่าบางทีเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมีข้อความว่า “ฮาลาล” หรือ “ซะบีฮะฮฺ” ติดอยู่ก็ตาม หรือเราต้องการให้ครอบครัวของเรารับประทานเนื้อสัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงดูและผ่านกรรมวิธีการเชือดในลักษณะที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้?
เราต้องมุ่งมั่นพยายามที่จะศึกษาแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่เราเลือกบริโภคให้มากที่สุด และก็เลือกเนื้อสัตว์ที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ที่ผ่านกรรมวิธีและข้อกำหนดตามแนวทางของอิสลาม
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
โดย ดร. คาริมา เบิร์นส์ ที่มา: AboutIslam.net
ฮาลาลและการรับรองฮาลาลกรณีจีเอ็มโอ
ดร.วินัย ดะห์ลัน
จีเอ็มโอฮาลาลไหม ถามกันมาอย่างนี้ซึ่งตอบไปแล้วว่าตามมาตรฐานฮาลาลประเทศไทย มาเลเซีย รวมไปถึงมาตรฐานของโอไอซีที่เรียกว่ามาตรฐานซีมิก (SMIIC) จีเอ็มโอถือว่าฮาลาล หากไม่มีการนำยีน (Gene) หรือส่วนของดีเอ็นเอ (DNA) จากสุกรหรือสัตว์ต้องห้ามมาใช้ อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการรับรองฮาลาลผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ คำถามคือหากมีการนำเอาผลิตภัณฑ์จีเอ็มโออย่างเช่น ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันฝรั่ง ที่มีการใช้ยีนแบคทีเรียมาขอการรับรองฮาลาล สมควรที่องค์กรศาสนาอิสลามจะให้การรับรองฮาลาลไหม คำถามนี้น่าคิด
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเรื่องดีเอ็นเอกับยีนเสียก่อน ดีเอ็นเอ คือ สารเคมีที่ประกอบไปด้วยเบส (Base) ที่จับกันเป็นคู่เรียกว่าคู่เบส (Base pair) เรียงต่อกันยาวเหยียด ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรหัสพันธุกรรมของชีวิต ในการทำงานแต่ละส่วนของดีเอ็นเอ จะถอดรหัสเพื่อนำไปสร้างโปรตีนหรือเอนไซม์ (Enzyme) จากนั้นจึงนำเอนไซม์ไปทำงาน ชีวิตเริ่มจากการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ นี่เอง ส่วนของดีเอ็นเอที่สามารถถอดรหัสสร้างเอนไซม์หรือโปรตีนขึ้นมาได้นี้เรียกว่า coding DNA ที่ใช้เรียกกันบ่อยกว่านั้นคือ “ยีน” (Gene) ยังมีดีเอ็นเออีกหลายส่วนที่ถอดรหัสสร้างโปรตีนไม่ได้เรียกว่า non-coding DNA
สายดีเอ็นเอของมนุษย์จับกันเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่าโครโมโซม มนุษย์มีโครโมโซม 23 คู่ สร้างขึ้นจากส่วนที่เป็นสายดีเอ็นเอนับเป็นคู่เบสรวมทั้งหมด 3 พันล้านคู่เบส นอกจากนี้ยังเป็นของโปรตีนห่อหุ้ม ปรากฏว่าส่วนที่เป็นคู่เบสนั้นมีเพียง 1.5% ที่เรียกว่า coding DNA มนุษย์จึงมียีนรวม 25,000 ยีน ส่วนที่เหลือ 98.5% ของคู่เบสเป็นส่วนที่เรียกว่า non-coding DNA
เมื่อเทียบกับหนู (Rat) พบว่า มนุษย์มีคู่เบสมากกว่าหนูอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่กลับมีจำนวนยีนเท่ากัน หรือมี coding DNA เท่ากัน เหตุที่มนุษย์กับหนูต่างกันมากเป็นเพราะมีส่วน non-coding DNA ต่างกันมาก ส่วน non-coding DNA นี่เองที่แม้จะไม่ได้เข้าไปทำงานอะไรแต่กลับสร้างอิทธิพลอย่างมาก มีผลต่อการทำงานของส่วนที่เป็น coding DNA สิ่งนี้จึงทำให้มนุษย์กับหนูต่างกัน
ความมหัศจรรย์พันลึกจึงอยู่ตรงส่วนที่เป็น non-coding DNA ที่ว่านี้ ซึ่งปรากฏว่าเป็นส่วนที่นักวิชาการแทบไม่มีความรู้เลย ดังนั้น การที่นักวิชาการที่เข้าใจว่าตนเองมีความรู้เรื่องการทำงานของยีนอย่างทะลุปรุโปร่ง นำยีนมาใช้ประโยชน์สารพัด พัฒนาสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นโดยการนำเอายีนซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานมาจับต่อกัน นำยีนใหม่มาสอดแทรกใส่ในดีเอ็นเอสายเก่าเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆที่เรียกว่า “GMO” แล้วนำไปใช้ประโยชน์ กระแสต่อต้านจีเอมโอที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความกังวลว่าส่วนที่นักวิชาการยังไม่รู้จักคือส่วน non-coding DNA นี่เองจะเป็นส่วนที่สร้างปัญหา
ฮาลาลในอิสลามนั้นชัดเจน ระบุไว้แล้วว่าอะไรฮาลาลอะไรไม่ฮาลาล แต่อิสลามไม่ได้เน้นเรื่องฮาลาลอย่างเดียว อัลกุรอ่านหรือคัมภีร์ในอิสลามกำหนดเรื่องราวของ “ตอยยิบ” ขึ้นมาด้วย คำว่าตอยยิบหมายถึงส่วนที่ดี มีประโยชน์ ให้สุขอนามัยที่ดี และการรับรองฮาลาลเน้นทั้งฮาลาลและตอยยิบเป็นสำคัญ ดังนั้นจีเอ็มโอที่มีวางจำหน่ายกันทั่วไป หากไม่มีการใช้ยีนจากสัตว์หะรอม คำถามคือแล้วมันตอยยิบหรือไม่ หากยังเป็นข้อสงสัยว่าไม่ตอยยิบ ควรรับรองฮาลาลหรือไม่ คำถามนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์มุสลิมกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมถึงผมยังไม่แนะนำให้มีการรับรองฮาลาลอาหารที่เป็นจีเอ็มโอ จนกว่าจะยืนยันได้ว่าจีเอ็มโอนั้นตอยยิบซึ่งจนถึงขณะนี้แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่สนับสนุนจีเอ็มโอยังไม่กล้ายืนยันว่าจีเอ็มโอ สร้างปัญหาต่อสุขภาพหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ดังนั้นเมื่อยืนยันไม่ได้จึงไม่ควรรับรองฮาลาล
สรุปว่า จีเอ็มโอนั้นหลายชนิดฮาลาลสามารถบริโภคได้ แต่ไม่เหมาะต่อการรับรอง อ่านแล้วอย่าเพิ่งงงก็แล้วกันครับ
……………………………………………..
ข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/drwinaidahlan/posts/1515638845410754
อินโดนีเซียเล็งเป้าเพิ่มการท่องเที่ยวฮาลาลเป็น 45%
Halal Biz News : กระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำการขับเคลื่อนสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งของอินโดนีเซียเพื่อหวังการติดอันดับท็อปของการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวฮาลาล
อารีฟ ยะฮยา (Arief Yahya) รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ณ กรุงจาการ์ตาที่ผ่านมา กล่าวว่า “เป้าหมายในปี 2019 คือการจัดอันดับประเทศอินโดนีเซียให้เป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมตามดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก (The Global Muslim Travel Index : GMTI)”
กำหนดการประชุมเชิงปฏิบัติโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจาก Crescentrating.comและ HalalTrip.com ในการเร่งรัดการพัฒนาการท่องเที่ยวฮาลาล โดยมี 10 สถานที่ที่ได้รับการแนะนำให้พัฒนาประกอบด้วย เมืองอาเจะห์ หมู่เกาะเรียว สุมาตราตะวันตก กรุงจาร์กาตา ชวาตะวันตก ยอกยาการ์ตา ชวาตะวันออก ลอมบอกและสุลาเวสีใต้
อารีฟ ยะฮยา ยังกล่าวอีกว่า การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 42 % จาก 3.5 ล้านคนเป็น 5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 25% ของเป้าหมายการท่องเที่ยว 20 ล้านคนในปีนี้
…………………………………………………
ที่มา : TEMPO.CO, Jakarta, HalalFocus.net
หลักเกณฑ์พื้นฐานของส่วนประกอบ GMO ในอาหารฮาลาล
โดยพื้นฐานแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ถือว่าฮาลาล ยกเว้นสิ่งที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องห้าม ประเด็นเรื่องการแก้ไขดัดแปลงพันธุวิศวกรรมอาหารและส่วนประกอบจึงไม่ได้รับการระบุไว้อย่างเจาะจงในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ (แบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด) เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกพัฒนาเมื่อไม่นานมานี้เอง ถึงกระนั้นการดัดแปลงพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ถูกห้ามจึงถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ตัวอย่างเช่น เนื้อสุกรถูกระบุไว้ว่าต้องห้าม ดังนั้นผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นผลจากการดัดแปลงพันธุกรรมที่มาจากสุกร ผลิตภัณฑ์นั้นจึงถือว่าต้องห้ามด้วยเช่นกัน
• พระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจกำหนดบัญญัตินิติธรรมแก่มวลมนุษย์
• นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายการค้นพบและพัฒนาการใหม่ ๆ ได้ โดยที่นักวิชาการศาสนาสามารถตีความการค้นพบและพัฒนาการใหม่ ๆ นั้นว่าละเมิดกับหลักคำสอนทางศาสนาหรือไม่ การอนุญาตในสิ่งที่หะรอมและการห้ามในสิ่งที่ฮะลาลนั้นเทียบเท่าชิรกฺ ซึ่งหมายถึงการตั้งภาคีต่อสิ่งอื่นเทียบเคียงกับพระเจ้า จึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงถ้าหาก GMOs นั้นเป็นสิ่งที่หะรอมชัดเจน แต่นักวิชาการมุสลิมกลับไปตีความว่ามันเป็นสิ่งฮาลาล แน่นอนว่าที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกรณีสมมุติเท่านั้น
• โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่หะรอมมักข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอันตรายและไม่ดีต่อสุขภาพ
• ถ้าหากว่าการดัดแปลงพันธุกรรมอาหารหรือส่วนประกอบใดที่ได้รับการชี้ชัดว่าเป็นอันตรายและไม่ดีต่อสุขภาพ การดัดแปลงพันธุกรรมอาหารและส่วนประกอบนั้นจะไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ ขณะเดียวกันนักวิชาการอิสลามจะประกาศสถานะของมันว่าหะรอมทันที
• ย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับการใช้สิ่งอื่นทดแทนสิ่งที่หะรอม สำหรับส่วนประกอบที่หะรอมนั้นเรามีการทดแทนที่เรียกว่าเทคโนโลยีชีวภาพ กระทั่งกลางปีทศวรรษที่ 1980 เอนไซม์เปปซินจากสุกร (Porcine pepsin) เริ่มถูกนำมาใช้ในการผลิตเนยแข็งบางชนิด แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาที่เอนไซม์ไคโมซิน (Chymosin) จากการดัดแปลงพันธุกรรมเริ่มเป็นที่รู้จัก การใช้เอนไซม์เปปซินจากสุกรแทนที่สารเรนเนต (Rennet) จากกระเพาะลูกวัวจึงเริ่มเลือนหายไป ซึ่งนี่เป็นแนวโน้มเชิงบวกสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
• การประโคมข่าวว่าสิ่งที่ฮาลาลนั้นไม่ฮาลาลถือว่าเป็นเรื่องที่หะรอมด้วยเช่นกัน อนึ่งถ้าหากการดัดแปลงพันธุกรรมอาหารเป็นสิ่งที่หะรอมชัดเจน ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการ สำหรับสิ่งใดที่ไม่ฮาลาลนั้นได้รับการกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งแล้วทั้งในอัลกุรอานและแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด
• เจตนาที่ดีไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งหะรอมให้กลายเป็นสิ่งฮาลาลได้ หลักการนี้ถูกนำไปใช้กับสุกรและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่ถูกระบุไว้ว่าหะรอม แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะพยายามทำเนื้อสุกรให้สะอาดปราศจากโรคภัยก็ตาม หรือพยายามเพาะเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของสุกรในห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปใช้บริโภคเป็นอาหารเป็นการเฉพาะ ถึงกระนั้นก็ยังคงถือว่าหะรอม
• สิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัยควรได้รับการหลีกเลี่ยง บางทีหลักการนี้อาจจะเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดสำหรับการบริโภค มุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ต้องสงสัย ซึ่งมีแบบฉบับชัดเจนจากท่านนบีมุฮัมมัด
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริโภคมุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภค หากมีความรู้สึกว่าอาหารที่ดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสงสัย ปัจจุบัน GMOs ที่อยู่ในหมวดต้องสงสัยเกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมที่มาจากสัตว์ต้องห้าม
…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry
แนวทางการออมเงินแบบท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.)
สูตรการออมของท่านนบี ซ.ล.
การออม/การประหยัด = การทำธุรกิจที่ดี +การใช้จ่ายอย่างพอเพียง
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า เงินที่ฮาลาลเท่านั้นที่จะสามารถออมให้อยู่ยงคงกระพัน
เราจึงควรเริ่มใส่ใจตั้งแต่แหล่งที่มาของรายได้ว่าจะต้องมาจากการทำธุรกิจที่บริสุทธิ์หรือการงานที่ถูกต้องตามหลักการ
เงินหะรอมถือเป็นเรื่องยากในการที่จะมาลงทุน บทเรียนก็มีให้เห็นจากสื่อต่างๆ เช่น เงินที่ทุจริตหรือเงินที่ไม่บริสุทธิ์ แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าเก็บเงินนั้นไว้กับตัวเอง ต้องคอบหลบๆ ซ่อนๆ ทั้งฝากญาติ ซุกเกาะ ฝังดิน เก็บใส่ถุง รอโจนมาเจอ โอ๊ย…แล้วจะมีเงินไปทำไม งง
สรุปเลยก็คือ ทรัพย์สินที่ฮาลาลเท่านั้นที่เราสามารถเก็บหรือสามารถนำมาลงทุน และการออมที่ดีคือการใช้จ่ายอย่างพอเพียง
“อัลลอฮฺจะประทานความเมตตาให้กับคนที่พยายามทำในสิ่งที่ดี ใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียง และสำรองส่วนที่เกินเพื่อสามารถนำมาใช้ในตอนที่ยากจนและใช้ในตอนที่จำเป็น”
ข้อมูลตัดแปลงจาก B.Muslim
สีทาร์ทราซีน (tartrazine) ในผลิตภัณฑ์อาหาร คืออะไร? ฮาลาลหรือไม่ ?
สีเหลืองหมายเลข 5 หรือ ทาร์ทราซีน (tartrazine) เป็นวัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มสารให้สีประเภทสีสังเคราะห์ ให้สีเหลืองมะนาว มีเลข E number คือ E102 (หรือ INS 102 ตามระบบการจําแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์……ผู้แปล)
สีเหลืองหมายเลข 5 และสีหมายเลขอื่น ๆ ทั้งหมดที่เป็นสีสังเคราะห์ที่ทำมาจากปิโตรเคมี ในสภาวะดั้งเดิมของสารเหล่านี้นั้นฮาลาล แต่อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารสารเหล่านี้อาจจะผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ ที่น่าสงสัยหรือ หะรอม เช่น เจลาติน (ที่หะรอม) บางครั้งอาจใช้ส่วนผสมที่ไม่ใช่สีสังเคราะห์ในการยับยั้งหรือย้อมสีเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในเครื่องดื่ม ลูกกวาด หรือผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้อาจะมีการเพิ่มส่วนผสมที่เป็นมาตรฐานเพื่อช่วยควบคุมความเข้มข้นของสี จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีสีย้อมเหล่านี้
เพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีสีสังเคราะห์นั้นฮาลาล คุณควรถามผู้ผลิตว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีส่วนประกอบอื่น ๆ ของสีสังเคราะห์ หรือ มีแหล่งที่มาจากไหน แน่นอนว่าหากผลิตภัณฑ์ที่มีสีสังเคราะห์ได้ผ่านการรับรองฮาลาลแล้ว ย่อมจะเป็นที่อนุมัติ
……………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
แหล่งที่มา http://www.ifanca.org/
สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน (Anticaking agent) คืออะไร ฮาลาลหรือไม่?
สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน เป็นกลุ่มของวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นผง เพื่อทำหน้าที่ดูดความชื้นป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของผลิตภัณฑ์ เช่นพริกไทยป่น นมผง น้ำผลไม้ผง เครื่องดื่มผง ผงฟู ผงปรุงรส เกลือบริโภค และอื่นๆ เพื่อให้ง่ายในการเคลื่อนตัวภายในขวดและป้องกันการจับตัวเป็นก้อน
หลักการทำงานของสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน โดยโมเลกุลของสารจะดูดน้ำ หรือจับกับน้ำได้มากถึง 2 เท่าของน้ำหนักตัว ช่วยดูดน้ำจากบรรยากาศที่ล้อมรอบอาหารภายในบรรจุภัณฑ์ และผิวของอาหาร ทำให้อาหารยังคงมีความชื้นต่ำ กระจายตัวได้โดยไม่เกาะรวมกันเป็นก้อน ตัวอย่างของสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนเช่น แคลเซียม อลูมิเนียม ซิลิเกต (calcium aluminum silicate) แคลเซียม ซิลิเกต (calcium silicate) แมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate) ซิลิคอนไดออกไซด์ (silicon dioxide) เป็นต้น
สถานะของสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนนั้น ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของสาร หากสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนสังเคราะห์ได้จากสารเคมีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายถือว่าอนุญาตให้สามารถนำมาใช้ได้ แคลเซียมที่เป็นองค์ประกอบที่อาจได้มาจากกระดูกหรือหินปูน ไขมันที่เป็นองค์ประกอบ (อย่างเช่น กรดสเตรียริก) และอนุพันธ์จากกรดสเตียริก อาจมีที่มาทั้งจากสัตว์และจากพืช สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนอาจได้มาจากเกลือสเตียริก และไตรแคลเซียมฟอสเฟต (tricalcium phosphate) ซึ่งถูกนำมาใช้ในน้ำตาลหรือนมผง
ด้วยเหตุนี้การนำสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนไปใช้ ควรพิจารณาแหล่งที่มาของวัตถุดิบว่าได้จากการสังเคราะห์จากสารเคมีหรือได้มาจากพืชและควรมีเครื่องหมายรับรองฮาลาลหากสารป้องกันการจัดตัวเป็นก้อนมีแหล่งที่มาจากสัตว์
……………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจาก :
www.foodnetworksolution.com
LPPOM MUI. Requirements of Halal Food Material (HAS 23201). Indonesia
สารเจือปนและส่วนประกอบในการผลิตอาหารฮาลาล (ตอนที่ 2)
ส่วนประกอบที่ต้องคำนึงสถานะฮาลาล
การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารได้กลายมาเป็นหนึ่งในสาขาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน บางบริษัทอาจมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสารเคมีอาหารและวัตถุเจือปนอาหารบริสุทธิ์ บริษัทอื่นอาจมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการผลิตส่วนประกอบอาหารที่มีแหล่งที่มาจากพืชและสัตว์ เช่นเดียวกันบริษัทอื่น ๆ อาจมีความสามารถในการคิดค้นส่วนผสมซับซ้อนที่ไม่เหมือนใคร หรือที่เรียกกันว่า ส่วนประกอบที่มีกรรมสิทธิ์เป็นของตัวเองหรือสูตรลับ ซึ่งพบได้ในสูตรการทำสารแต่งกลิ่น เป็นต้น ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่ผู้บริโภคซื้อมาอาจมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้ว ผู้ผลิตไม่ได้สั่งซื้อหรือใช้ส่วนประกอบที่มีแตกต่างนั้นแยกออกไป พวกเขาอาจซื้อส่วนผสมหลาย ๆ อย่างหรือบรรจุรวมหน่วยเพื่อทำผลิตภัณฑ์สุดท้าย ตัวอย่างเช่น ในการผลิตปลาทอด ผู้ผลิตจะต้องซื้อปลาจากผู้ขายรายหนึ่ง ซื้อน้ำมันจากผู้ขายอีกรายหนึ่ง ซื้อแป้งชุบทอดหรือเกล็ดขนมปังจากผู้ขายรายอื่น ๆ อีก ซึ่งแป้งชุบทอดและเกล็ดขนมปังมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันไปและใช้ในหน้าที่ที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตอาจมีการปรับปรุงพัฒนาสูตรพิเศษขึ้นอยู่กับแต่ละโรงงาน วันนี้เรามาดู ส่วนประกอบอาหารประเภทต่าง ๆ ว่ามีที่มาที่ไปเช่นใดบ้าง และได้ผ่านการรับรองฮาลาลหรือไม่กันครับ
• ส่วนผสมเครื่องเทศและเครื่องปรุงแต่ง (Spices and Seasoning Blends) อุตสาหกรรมอาหารได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่อาศัยความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งผู้ผลิตอาหารใช้ถุงรวมหน่วยในการบรรจุส่วนประกอบรองทั้งหมดเพื่อความสะดวก ประหยัด ให้คงรูปเป็นเนื้อเดียว และเพื่อควบคุมคุณภาพ เครื่องเทศและเครื่องปรุงแต่งเป็นส่วนประกอบเดี่ยวจากพืช หรือเกิดจากการผสมแห้งของส่วนผสมต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป การผลิตเครื่องปรุงแต่งอาจใช้ส่วนประกอบอาหารต่าง ๆ ตามความเหมาะสม โดยที่ส่วนผสมเหล่านี้อาจมีแหล่งที่ได้มาทั้งจากพืชหรือสัตว์
มี 2 ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาในการทำส่วนผสมเครื่องปรุงที่ฮาลาล ปัจจัยแรกคือ สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนผสม ซึ่งส่วนประกอบทั้งหมดจะต้องฮาลาล ส่วนประกอบที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์และไม่ได้รับการรับรองว่าฮาลาลไม่ควรนำมาใช้ผลิตส่วนผสมฮาลาล ปัจจัยที่สอง การพิจารณาการปนเปื้อนจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ ซึ่งส่วนผสมฮาลาลควรได้รับการผลิตจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สะอาด หรือเป็นเครื่องผสมเฉพาะแยกใช้พิเศษ ส่วนประกอบรอง เช่น สารห่อหุ้ม สารป้องกันการเกิดฝุ่น และสารที่ช่วยการไหลแบบอิสระ จะต้องเป็นสารที่ฮาลาลด้วยเช่นกัน
• เครื่องปรุงรส เครื่องชูรส และซอสปรุงรส (Condiments, Dressings, and Sauces) นี่คือผลิตภัณฑ์ของเหลวทั่วไปที่สามารถใช้เหยาะหรือตักได้ นอกจากเกลือแล้ว ประเภทของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจประกอบด้วยน้ำมัน เกลือ น้ำตาล และส่วนประกอบอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น เครืองเทศ สารแต่งกลิ่นสี สารทำให้เป็นกรด และสารกันเสีย โดยส่วนใหญ่แล้วซอส น้ำสลัด และเครื่องปรุงรส มักมีผักและนมเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์บางประเภทในหมวดหมู่นี้อาจมีส่วนผสมที่ประกอบไปด้วยเบคอนบิท เจลาติน ไวน์ หรือ สารแต่งกลิ่นรสซ้อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะต้องไม่มีส่วนประกอบเหล่านี้ที่ไม่ฮาลาลอยู่ในสูตร นอกเหนือจากนี้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรผลิตด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สะอาด เพื่อความสะดวกของบริษัท เป็นการดีกว่าหากโรงงานผู้ผลิตจะทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนในช่วงต้นสัปดาห์มากกว่าย้ายไปทำในช่วงสุดสัปดาห์
• แป้งทำขนมปัง ขนมปัง และเกล็ดขนมปัง (Batters, Breadings, and Breadcrumbs) การผลิตแป้งทำขนมปัง ขนมปัง และเกล็ดขนมปัง ได้พัฒนาไปจนถึงกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกนำเข้าไปในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามการใช้งานที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทอด ปิ้ง หรืออบ นอกจากแป้งสาลี และแป้งชนิดพิเศษแล้ว ในกระบวนการผลิตยังสามารถใช้ส่วนประกอบอื่น ๆ ตามเหตุผลการใช้งาน
แอล-ซิสเตอีน (L-cysteine) ใช้ปรับสภาพเนื้อสัมผัสของแป้งหรือเกล็ดขนมปัง โดยที่แอล-ซิสเตอีนอาจมาจากพืชที่ผ่านการสังเคราะห์ หรือได้จากขนเป็ดฮาลาลที่ผ่านการเชือดตามหลักศาสนบัญญัติ ขณะที่ส่วนผสมรองอื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิตแป้งทำขนมปัง ขนมปัง และเกล็ดขนมปัง จะต้องผ่านการรับรองฮาลาลด้วยเช่นกัน ส่วนการใช้กลิ่นสังเคราะห์ที่ไม่ได้ใช้แอลกอฮอล์เป็นสารสกัดนั้นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป แต่การใช้เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิตนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะไม่นับว่าฮาลาล ยิ่งกว่านี้ ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงสำหรับการผลิตอาหารฮาลาล ได้แก่ สารเคลือบ และสเปรย์ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ช่วยไม่ให้ผลิตภัณฑ์นั้นยึดเกาะกับภาชนะ สายพาน และอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะต้องมีแหล่งที่มาที่ฮาลาลเช่นกัน
• ส่วนประกอบจากนม (Dairy Ingredients) ส่วนประกอบ เช่น นมผงที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อน นับว่าเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมสำหรับการผลิตอาหารฮาลาล ส่วนประกอบ เช่น เวย์ แลคโทส เวย์โปรตีนสกัด และการผลิตเวย์เข้มข้นด้วยการใช้เอนไซม์จะตกอยู่ในสถานะต้องสงสัยหากเราไม่รู้แหล่งที่มาของเอนไซม์ที่ใช้ การผลิตส่วนประกอบที่ฮาลาล ผู้ผลิตจะต้องใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์หรือเอนไซม์จากสัตว์ที่ผ่านกระบวนการเชือดที่ฮาลาล ซึ่งหน่วยงานที่ให้การรับรองฮาลาลส่วนมากต้องการให้ส่วนประกอบจากนมที่ได้จากเอนไซม์ เป็นเอนไซม์ที่ผ่านการรับรองฮาลาลเท่านั้น
ส่วนประกอบอาหารข้างต้นที่เราได้นำเสนอคือส่วนประกอบหลักที่สำคัญในการผลิตอาหารที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับการรับรองฮาลาลต้องคำนึงถึงและทำความเข้าใจ ตอนหน้าเรามาพบกับสารปรุงแต่งกลิ่นและรส ที่ได้รับความนิยมในการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารกันครับ … อินชาอัลลอฮฺ
……………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry
สารเจือปนและส่วนประกอบในการผลิตอาหารฮาลาล (ตอนที่ 3)
สารแต่งกลิ่น สารยืดอายุการเก็บรักษาและสารเคลือบผิวที่ต้องคำนึงสถานะฮาลาล
สารแต่งกลิ่นรส เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบที่มีความซับซ้อนที่สุดในบรรดาอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้ข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกา (FDA, 2002) ที่ส่วนประกอบของสารแต่งกลิ่นรสนั้นไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบ ในอุตสาหกรรมสารแต่งกลิ่นรสถือว่าได้รับข้อยกเว้นพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล (ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ผลิต) ตราบใดที่ส่วนประกอบของสารแต่งกลิ่นรสนั้นมีรายนามอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration หรือ FDA) และมีอยู่ในสมาคมผู้ผลิตสารแต่งกลิ่นรส (Flavor and Extract Manufacturers Association หรือ FEMA) ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจึงควรที่จะรู้จักกับสารแต่งกลิ่นรสประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานให้ถูกต้องตามหลักการ
• สารแต่งกลิ่นรส (Flavorings) สารแต่งกลิ่นรสสามารถมีส่วนประกอบจำนวนเท่าใดก็ได้ ตั้งแต่ส่วนประกอบเดียว อย่างเช่น เกลือ ไปจนถึงส่วนประกอบที่ซับซ้อนอย่างสารสกัดและส่วนประกอบที่ได้จากการทำปฏิกิริยา ส่วนประกอบ 2 กลุ่ม ที่จำเป็นต้องนำส่วนผสมมาพิจารณาเป็นพิเศษในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ได้แก่ (1) สารแต่งกลิ่นรสที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น น้ำมันชะมด และ (2) ส่วนประกอบที่มีแหล่งที่มาจากแอลกอฮอล์ แนวทางการปฏิบัติโดยทั่วไปนั้นถือว่าควรหลีกเลี่ยงการพัฒนาสารแต่งกลิ่นรสที่ส่วนประกอบมีแหล่งที่มาจากสัตว์ เว้นแต่ว่า ส่วนประกอบทั้งหมดนั้นได้รับการรับรองฮาลาลอยู่ก่อนแล้ว
เป็นที่อนุญาตที่จะใช้แอลกอฮอล์ในการสกัดสารแต่งกลิ่นรสหรือใช้เป็นตัวทำละลาย ถึงกระนั้น ในผลิตภัณฑ์สุดท้ายของการสกัดสารแต่งกลิ่นรสจะต้องมีปริมาณของแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่า 0.5 % ในบางประเทศหรือผู้บริโภคบางราย ต้องการให้มีการอนุญาตการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้ามาในประเทศในปริมาณแอลกอฮอล์ที่น้อยกว่านี้หรือแทบไม่มีปริมาณของแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่เลย
ขณะที่บางประเทศนั้น ไม่อนุญาตให้นำเข้าอนุพันธ์จากน้ำมันฟูเซล (เป็นผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการกลั่นเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆที่มีจุดเดือดสูงกว่าเอทานอล) ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสูตรของส่วนผสมให้ประสานความเข้าใจกับบริษัทลูกค้าและหน่วยงานที่ให้การรับรองฮาลาล เพื่อพิจารณาข้อกำหนดที่แน่นอนของแต่ละประเทศหรือของแต่ละบริษัท
• กลิ่นชีส (Cheese Flavors) ส่วนประกอบจากนมควรจะมาจากกระบวนการที่ใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์ หรือเอนไซม์จากสัตว์ที่ผ่านการรับรองฮาลาล
• กลิ่นเนื้อ (Meat Flavors) ส่วนประกอบจากเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกควรมาจากสัตว์ที่ผ่านกระบวนการเชือดอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดด้านฮาลาล
• กลิ่นรมควันและกลิ่นย่าง (Smoke Flavors and Grill Flavors) ปัจจัยทางด้านฮาลาลต้องนำมาพิจารณา ได้แก่ การใช้ไขมันสัตว์เป็นฐานสำหรับผลิตกลิ่นรมควันและกลิ่นย่าง หรือการใช้อิมัลซิไฟเออร์ที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์
• สารแต่งสีอาหาร (Colorants) การใช้สีผสมในอาหารมีมาตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว จากประวัติศาสตร์สีผสมอาหารไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อดึงดูดอาหารให้ดูน่ารับประทานเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อปกปิดสิ่งเจือปนหรือข้อบกพร่องของอาหารอีกด้วย การใช้สีสามารถมาจากการสังเคราะห์ได้ด้วยเช่นกัน เช่น สีทีได้รับการรับรองด้วย FD&C (สีสังเคราะห์ที่รับรองให้ใช้ในอาหาร ยา และ เครื่องสำอาง) สีที่ละลายน้ำได้ เรียกว่า สารแต่งสีดายส์ (Dyes) และสีที่ละลายน้ำมันได้ เรียกว่า สารแต่งสีเล็คส์ (Lakes) สีผสมอาหารสามารถได้จากสีธรรมชาติหรือสีจากสารอินทรีย์ เช่น การสกัดจากผลไม้และจากพืช ไรโบฟลาวิน ข้าวโพด ข้าวโพดอ่อน เชลเล็ค หมึกจากปลาหมึก คลอโรฟีลล์ แคโรทีนอยด์ และคาราเมล สีจากสารอนินทรีย์ได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเช่นกัน อาทิ ไททาเนียมไดออกไซด์ คาร์บอนบลู ไอเอิร์นออกไซด์ และซิลิคอนไดออกไซด์ สีเหล่านี้บางครั้งก็ถูกนำมาใช้และจำหน่ายในรูปบริสุทธิ์ หรือสีบางตัวก็เกิดจากการผสมและปรับมาตรฐานของสารประกอบ ส่วนประกอบบางชนิดที่เชื่อว่าอาจนำมาใช้ในสารแต่งสีคือ เจลาติน อีมัลซิไฟเออร์ หรือสารป้องกันการเกิดฝุ่น ซึ่งผู้ผลิตสารแต่งสีควรใช้วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบฮาลาลผ่านการรับรองมาตรฐานอย่างเหมาะสม
• สารยืดอายุการเก็บรักษา (Curing Agents) เกิดจากการผสมพิเศษของเกลือไนไตรท์ และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น โซเดียมเอสคอร์เบต โซเดียมอิริเทอร์เบต กรดซิตริก และโพรพิลีนไกลคอล สารประกอบหรือสารยืดอายุการเก็บรักษามักถูกนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับว่าฮาลาล แต่อย่างไรก็ตาม ต้องทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สะอาด และส่วนประกอบที่มีข้อสงสัยนั้นไม่ได้ถูกใช้เป็นผสมร่วมลงไป
• สารเคลือบผิว (Coatings) การใช้สารเคลือบผิวจะต้องหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่มาจากสัตว์ ปัญหาที่สร้างความกังวลใจอย่างยิ่งต่อผู้บริโภคมุสลิม คือ ผักผลไม้ที่วางจำหน่ายตามโซนผักผลไม้สด ซึ่งเป็นผักผลไม้ที่เคลือบด้วยส่วนผสมที่หะรอม กฎหมายว่าด้วยฉลากโภชนาการและการศึกษาปี 1990 มีบทบัญญัติที่เจาะจงให้ผู้ทำการบรรจุภัณฑ์ระบุแหล่งที่มาของส่วนประกอบที่ใช้เคลือบผิว และจะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาติดบนฉลากข้างฝากล่อง นอกจากนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกทั่วไปต้องปฏิบัติตามข้อบังคับทางกฎหมายที่ต้องให้มีสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ง่ายชัดเจนที่ระบุว่า ผักและผลไม้ในร้านค้าของพวกเขาอาจมีการรักษาสภาพด้วยการเคลือบผิว โดยที่การเคลือบผิวบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจใช้ส่วนผสมที่มาจาก ขี้ผึ้ง ไขมันสัตว์ ขี้ผึ้งปิโตรเลียม เจลาติน น้ำตาล โปรตีนซีน (zein : เป็นโปรตีนที่ได้จากข้าวโพด…ผู้แปล) เป็นต้น ซึ่งการเคลือบผิวนั้นทำไว้เพื่อป้องกันหรือเสริมรูปลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร แม้ว่าผักและแร่ธาตุเป็นส่วนผสมที่ฮาลาลสำหรับการเคลือบผิว ผู้ผลิตสูตรผสมที่ใช้เคลือบผิวจะต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่อยู่ในข้อน่าสงสัย เช่น ไขมันสัตว์และเจลาติน เช่นเดียวกันผู้ผลิตจะต้องหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่หะรอม เช่น น้ำมันหมู ในทางกลับกันส่วนผสมที่มาจาก น้ำตาล ซีน แป้ง ขี้ผึ้ง กากปิโตรเลียม และน้ำมันพืช เป็นส่วนผสมที่ฮาลาลเหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเคลือบผิวอาหาร
………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry