สารเจือปนและส่วนประกอบในการผลิตอาหารฮาลาล (ตอนที่ 1)

**สารเจือปนจากส่วนประกอบหะรอม**

ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในอาหารซึ่งบางท่านอาจจะรู้จักหรือไม่เป็นที่รู้จัก มีทั้งที่เป็นส่วนประกอบเดียวและส่วนประกอบที่ซับซ้อน ส่วนประกอบนับพันชนิดถูกนำมาใช้ในอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ มาตรการความปลอดภัยของสารที่เติมลงไปในอาหาร (Generally Recognized as Safe หรือ GRAS) หรือ วัตถุเจือปนในอาหาร (Food additives) ซึ่งมีเพียงบางส่วนที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย วันนี้เรามาเรียนรู้ สารเคมีประเภทต่าง ๆ การจัดหมวดหมู่ของสารเหล่านี้ ว่าอะไรบ้างที่ไม่ได้ผ่านการรับรองฮาลาล และมีสารตัวใดที่มาใช้ทดแทนได้บ้าง เรามาเรียนรู้กันเลยครับ

• เบคอนบิท (Bacon bits) เบคอนบิทธรรมชาตินั้น ผลิตมาจากเบคอนแท้ ๆ ที่ทำมาจากสุกร ส่วนเบคอนบิทเทียมนั้นทำมากจากโปรตีนพืช โดยเฉพาะโปรตีนจากถั่วเหลือง ซึ่งผ่านการเจือสี แต่งกลิ่นรสด้วยส่วนประกอบอื่น ๆ แม้ว่าเบคอนบิทจากธรรมชาติจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล แต่เบคอนบิทเทียมอาจถูกนำมาใช้ทดแทนได้ ตราบเท่าที่สี กลิ่น และส่วนประกอบอื่น ๆ ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตนั้นผ่านมาตรฐานฮาลาล

• กรดอะมิโน (Amino Acids) กรดอะมิโนจำนวนมากได้ถูกนำมาใช้เพื่อทำหน้าที่ที่หลากหลายในการผลิตอาหาร ที่ได้จากการสังเคราะห์ (ซึ่งวัตถุดิบเริ่มต้นมีแหล่งที่มาจากพืช) หรือสกัดจากโปรตีนธรรมชาติ กรดอะมิโนที่พบได้บ่อยและอยู่ในข้อสงสัยคือ แอล-ซิสเตอีน (L-cystein) ซึ่งถูกนำมาใช้ในแป้งพิซซ่า โดนัท และขนมปัง ซีสเตอีนธรรมชาตินั้นมีอนุพันธ์จากเส้นผมของมนุษย์ ขนสัตว์ ขนเป็ด และแหล่งอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ทุกวันนี้ แอล-ซิสเตอีน ยังสามารถผลิตได้จากน้ำตาล ส่วนแอล-ซิสเตอีนจากเส้นผมมนุษย์หรือจากขนสัตว์ไม่เป็นที่ยอมรับว่าฮาลาล ถึงกระนั้นแอล-ซิสเตอีนจากขนเป็ดอาจได้รับการยอมรับ หากเป็ดนั้นได้ผ่านกระบวนการเชือดที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม การสังเคราะห์ แอล- ซิสเตอีน ที่ได้จากพืชก็เป็นที่ยอมรับว่าฮาลาลเช่นกัน ตราบใดที่ข้อกำหนดในกระบวนการผลิตนั้นได้รับการดำเนินการอย่างเหมาะสม 

• น้ำมันชะมด (Civet Oil) เป็นน้ำมันที่สกัดจากต่อมของสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกับแมว ที่เรียกว่า ตัวชะมด น้ำมันชะมดนั้นไม่ถูกยอมรับว่าเป็นวัตถุดิบที่ฮาลาล

• สุรากลั่น (Liquor) สุรากลั่น คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นิยมใช้แต่งกลิ่นรสทั้งสำหรับให้รสชาติที่ดีหรือเพื่อสร้างสุนทรียให้กับคนที่สนุกกับการดื่มแอลกอฮอล์ประเภทนี้ การใช้สุรากลั่นหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ในการเตรียมสารแต่งกลิ่นรสหรือในขนมปังนั้นไม่ได้รับการยอมรับ ความเป็นไปได้เดียวที่จะนำมาใช้แต่งกลิ่นรสสำหรับผลิตภัณฑ์ทอดหรือผลิตภัณฑ์ชุบแป้งทอดคือ เบียร์แบตเตอร์ (beer batter) หรือชุบแป้งเบียร์ทอด ซึ่งเบียร์นั้นจะถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตชุบแป้งทอด หอมใหญ่ทอด หรืออาหารทอดประเภทอื่น ๆ ถึงแม้ว่าแอลกอฮอล์จะระเหยออกไปในระหว่างกระบวนการทอด ถึงกระนั้นการชุบแป้งเบียร์ทอดก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานฮาลาล 

• สารสกัดจากเหล้าและไวน์ (Liquor and Wine Extracts) อุตสาหกรรมการแต่งกลิ่นรสในขณะนี้ได้สารสกัดจากไวน์และเหล้ากลั่นที่ต่างชนิดกันเพื่อใช้เป็นสารแต่งกลิ่นรสที่สมบูรณ์ สารสกัดดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ตราบใดที่แอลกอฮอล์ที่คงเหลือในสารสกัดมีปริมาณที่ต่ำมาก โดยทั่วไปจะต้องต่ำกว่า 0.5 % ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษากับหน่วยงานรับรองฮาลาลและผู้ใช้ปลายทางว่าแหล่งที่มานั้นมีปัญหาหรือไม่  

• อนุพันธ์ของน้ำมันฟูเซล (Fusel Oil Derivative) ส่วนประกอบบางอย่าง เช่น เอมิลแอลกอฮอล์ (amyl alcohol) หรือ ไอโซเอมิลแอลกอฮอล์ (isoamyl alcohol) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ การนำส่วนประกอบเหล่านี้ไปใช้ยังอยู่ในข้อสงสัยเนื่องจากองค์กรด้านฮาลาลในบางประเทศไม่รับรองการใช้ส่วนประกอบดังกล่าวในอาหาร 

• วัตถุดิบที่ใช้ในการเอนแคปซูเลชั่น (Encapsulation Materials) ส่วนประกอบหลายชนิด อาทิ เจลาติน เซลลูโลส เชลแล็ก และเซอีน ( zein เป็นโปรตีนที่ได้จากข้าวโพด…ผู้แปล) ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในการเอนแคปซูเลชั่น (การหุ้มเปลือกหรือกั้นผนังล้อม) ส่วนประกอบอาหารตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเชลแล็ก เซลลูโลส และเซอีน นั้นถือว่าได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ส่วนเจลาตินจะเป็นที่ยอมรับหากได้จากสัตว์ที่ถูกเชือดตามหลักศาสนบัญญัติอิสลามหรือมีแหล่งที่มาจากปลาเท่านั้น 

• การผลิตน้ำส้มสายชูจากแอลกอฮอล์ (Production of Vinegar from Alcohol) ในน้ำส้มสายชูนั้นมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า 90 % แทนที่จะผลิตน้ำส้มสายชูเพื่อใช้ในโรงงานที่ผลิตน้ำสลัด บริษัทต่าง ๆ กลับมีแนวโน้มที่จะผลิตน้ำส้มสายชูจากแอลกอฮอล์มากกว่า ชนิดของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการผลิตน้ำส้มสายชูคือ แอลกอฮอล์จากเมล็ดธัญพืช (grain alcohol) หรือบางครั้งเป็น แอลกอฮอล์สังเคราะห์ (synthetic alcohol) ซึ่งกรรมวิธีเช่นนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่ควรได้รับการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าแอลกอฮอล์ที่หลงเหลืออยู่จะต้องอยู่ในระดับที่ไม่เกินกว่า 0.5 % 

• ส่วนประกอบรอง (Minor ingredients) สารเคมีอื่น ๆ ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาว่าสามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย(Generally Recognized as Safe หรือ GRAS) จำนวนมากสามารถนำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ตามที่อธิบายไว้แล้วข้างต้น สารเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นตัวกลางในการทำละลาย สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน สารป้องกันการเกิดฝุ่น หรือหน้าที่อื่น ๆ โดยทั่วไปแล้ว ส่วนประกอบเหล่านี้ไม่มีหน้าที่หลักในผลิตภัณฑ์สุดท้าย ส่วนประกอบรองเหล่านี้ทั้งหมดนั้นจะต้องมาจากแหล่งที่ฮาลาลเช่นกัน ซึ่งต้องผ่านการยอมรับจากหน่วยงานที่ให้การรับรองด้านฮาลาล  

นอกจากสารเจือปนเหล่านี้แล้วยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญซึ่งใช้ในขั้นตอนการผลิตอาหาร ซึ่งเราจะแนะนำให้รู้จักบรรดาเครื่องปรุงต่าง ๆ ในตอนหน้า … อินชาอัลลอฮฺ 

…………………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production 
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry
ภาพจาก 
http://dodeden.com/2013/wp-content/uploads/2014/12/Depositphotos_19385249_s.jpg 
https://www.bayouwitchincense.com/botanicals/714-civet-oil.html 
http://wowdonutt.com/images/detail-collagen10000/collagen-lcysteine.jpg 
http://www.elizacross.com/wp-content/uploads/2012/02/Bacon-Bits.jpg

ส่วนประกอบจากโรงฆ่าสัตว์ในผลิตภัณฑ์อาหารและยา

มุสลิมควรจะระมัดระวังเกี่ยวกับอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมากที่มีส่วนประกอบจากโรงฆ่าสัตว์ (การใช้ประโยชน์นี้รวมถึงอนุพันธ์ที่มาจากวัวอีกด้วย ถึงแม้ว่าวัวนั้นฮาลาลแต่หากสัตว์ดังกล่าว ไม่ได้รับการเชือดหรือฆ่าตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม อนุพันธ์ของมันก็ยังคงเป็นสิ่งที่หะรอมเช่นกัน) โดยทั่วไปแล้ว สารเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่ต้องทิ้งและมีโอกาสปนเปื้อนกับของเสียจากสัตว์อื่นๆได้อีกด้วย นี่คือตัวอย่าง ชนิดของส่วนประกอบเหล่านี้

• เลือดจากโรงฆ่าสัตว์ อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดเลือดเหล่านี้
แต่ความชาญฉลาดของอุตสาหกรรมอาหารในการนำเลือดมารีไซเคิล เลือดที่ได้จากโรงฆ่าสัตว์ไม่หลงเหลือจากการนำกลับมารีไซเคิลเป็นอาหาร ในกรณีนี้เลือดจะถูกนำไปปั่นเหวี่ยง (กล่าวคือ มีส่วนที่ถูกแยกออกจากกัน โดยการปั่นด้วยความเร็วสูง) เพื่อนำเกล็ดเลือดแยกออกมา สิ่งที่เหลือไว้นั้นคือพลาสมาจากเลือด ซึ่งเป็นของเหลวสีครีม จากนั้นนำไปผ่านเครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอย (Spray-dried) และนำมาใช้เป็นแหล่งของโปรตีน ส่วนประกอบอย่างเช่นผงพลาสมาจากเลือด (blood plasma powder) ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมาก เช่น กุ้งและก้ามปูเทียม ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง ลูกชิ้นปลาหมึก เบอร์เกอร์และไส้กรอก มุสลิมควรหลีกเลี่ยงจากการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ หากไม่มีข้อบ่งชี้บนฉลากที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีวัตถุเจือปนอาหารที่หะรอม เช่น โปรตีนพลาสมาจากเลือด (blood plasma protein) 

• โปรตีนจากคอลลาเจน (เจลาติน) มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งถูกนำมาใช้ในการเก็บรักษาน้ำและไขมันให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ได้รสชาติและความฉ่ำน้ำของเนื้อสัตว์ อาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อาจจะมีส่วนประกอบที่มาจากวัวหรือสัตว์ชนิดอื่น

**อาหาร**
• คอลลาเจน – ปลอกไส้กรอก (Sausage casing)
• เลือด – โปรตีนสกัด
• กรดไขมัน – เนยขาว (Shortening) หมากฝรั่ง
• เจลาติน – ไอศกรีม โยเกิร์ต ลูกอม มาร์ชเมลโลว์ มายองเนส
• โปรตีนพลาสมา – แป้งเค้กผสม พาสต้า ลูกชิ้นปลา ปลาแท่งและก้ามปูเทียม

**เภสัชภัณฑ์**
• ตับอ่อน – อินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน, pancreatin ตัวเสริมในการย่อยอาหาร
• Glucagon เพื่อรักษาการเกิดภาวะน้ำตาลในเส้นเลือดต่ำ ส่วน trypsin และ chemotrypsin ช่วยในการรักษาบาดแผลไฟลวก
• เลือด – พลาสมาจากเลือด Fraction I สำหรับ โรคฮีโมฟิเลีย (haemophilia), Fraction V เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส, อัลบูมิลในเลือดสำหรับ RH factor, thrombin ทำให้เลือดแข็งตัว, ธาตุเหล็กช่วยในการรักษาโรคโลหิตจาง
• กระดูก – ไขกระดูกช่วยในการรักษาโรคเลือด (blood diseases), กระดูกอ่อนสำหรับใช้ในการทำศัลยกรรมพลาสติก กระดูกที่ผ่านกระบวนการสกัดเพื่อเป็นแคลเซียมและฟอสฟอรัส
• ระบบประสาทส่วนกลาง – คอเลสเตอรอล สำหรับผลิตภัณฑ์ฮอร์โมน
• ลำไส้ – ศัลยกรรมต่อลำไส้
• ต่อมใต้สมอง – โปรแลกติน (prolactin) เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของเต้านม
• ฮอร์โมนที่กระตุ้นการควบคุมความดันเลือด, วาโซเพรสซิน (vasopressin)
• เพื่อควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับไตและลำไส้, อะดรีโนคอร์ติโคโทรปิกฮอร์โมนหรือ ACTH สำหรับโรคข้ออักเสบและอาการแพ้
• ตับ – เฮปาริน (Heparin) เพื่อควบคุมการแข็งตัวของเลือด, สารสกัดจากตับสำหรับการรักษาโรคโลหิตจาง, วิตามินบี 12 สำหรับการขาดวิตามินบี

…………………………………… 
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง 
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal Haram : an important book for muslim consumer 
โดย : Halal Consumers Association of Penang, Malaysia     

เจลาตินในการผลิตอาหารฮาลาล

ตอน : สถานะของเจลาตินในอิสลาม

เจลาติน (Gelatin) เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากสัตว์ จากการแปรรูปคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการสลายด้วยน้ำ (Hydrolyzed collagen) ที่มีอยู่ในส่วนต่างๆของสัตว์หลากหลายชนิด สถานะฮาลาลของเจลาตินจึงขึ้นอยู่กับธรรมชาติของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต โดยส่วนใหญ่เจลาตินจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1. เจลาตินชนิด A เป็นเจลาตินที่มาจากหนังสุกรโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) สำหรับมุสลิมที่จะนำเจลาตินชนิดนี้ไปใช้เป็นส่วนประกอบ

2. เจลาตินชนิด B เป็นเจลาตินที่มาจากหนังปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น หรือมาจากกระดูกสัตว์ที่ผ่านกระบวนการกำจัดแร่ธาตุออกแล้ว (Demineralized bones) 

โดยทั่วไปกระบวนการผลิตเจลาตินที่มาจากปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ มักผ่านโรงงานเชือดและชำแหละของคนที่ไม่ใช่มุสลิม ส่วนเจลาตินชนิดดังกล่าวจะเป็นที่อนุมัติหรือต้องห้ามสำหรับมุสลิมหรือไม่นั้น ยังเป็นทัศนะที่ขัดแย้งกันในหมู่นักวิชาการอิสลาม อย่างไรก็ตาม เจลาตินที่มาจากกระดูกปศุสัตว์ที่ผ่านกระบวนการเชือดที่ฮาลาลถูกต้องตามหลักการนั้นถือว่านำมาใช้ได้ ส่วนเจลาตินจากหนังปลาที่ปราศจากการปนเปื้อนจากแหล่งที่มาอื่นนั้นถือว่าฮาลาลเช่นเดียวกัน โดยชนิดของปลาที่นำมาผลิตนั้นจะต้องเป็นปลาที่ได้รับการยอมรับจากมุสลิมผู้บริโภคผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ด้วย ผู้ดำเนินการแปรรูปอาหารจึงควรได้รับความเข้าใจว่า เจลาตินที่ไม่ระบุประเภทหรือสถานะที่ชัดเจนจะสร้างความสับสนและข้อสงสัยมากมายถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนประกอบของเจลาตินที่มาจากสุกร ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางที่มีอิทธิพลอย่างมากสำหรับการเลือกบริโภคของมุสลิมที่มีต่อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลเรียบเรียงจากหนังสือ Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

วัตถุเจือปนอาหารและ E-Number ในผลิตภัณฑ์อาหาร

วัตถุเจือปนอาหาร ถูกเติมเข้าไปในอาหารเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย เก็บรักษาไว้ได้นาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และชะลอการเน่าเสียของอาหาร วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ยังถูกเติมเข้าไปเพื่อช่วยในกระบวนผลิต ทำหน้าที่เป็น อีมัลซิไฟเออร์ สารช่วยเพิ่มปริมาตรให้ผลิตภัณฑ์ เป็นสารกันบูด และปรับปรุงคุณภาพอาหารในแง่ของสี รสชาติ เนื้อสัมผัสและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร

E-number คือ รหัสของวัตถุเจือปนอาหารที่กำหนดโดย สหภาพยุโรป ให้สามารถใช้ได้ทั่วไปในกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ถ้าวัตถุเจือปนอาหารมี E-number ก็หมายความว่า วัตถุเจือปนอาหารเหล่านั้นได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองให้ใช้ได้ทุกแห่งของสหภาพยุโรป ปัจจุบัน E-number ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก การจำแนก E-number ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มไว้ ดังนี้

– E100-199 – สี
– E200-299 – วัตถุกันเสีย
– E300-399 – ออกซิแด้นท์, ฟอสฟาเทส, วัตถุกันหืน
– E400-499 -วัตถุทำให้ข้น,วัตถุช่วยคงความชุ่มชื้น, วัตถุกันการรวมตัวเป็นก้อน, สารที่ทำให้คงตัวและสารอีมัลซิไฟเออร์
– E500-599 -เกลือและส่วนผสมอื่นๆ
– E600-699 -สารปรุงแต่งรส
– E900-999 -สารเคลือบผิวอาหาร, วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล, ส่วนประกอบที่ใช้เพื่อปรับคุณภาพแป้ง
– E1000-1399 -สารเจือปนอาหารต่างๆ
– E1400-1499 -สารปรับคุณภาพแป้ง

E- Number ฮาลาลหรือไม่ ?

E-number เกือบทั้งหมดนั้นโดยพื้นฐานแล้วได้รับอนุญาตและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศมุสลิม อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าวัตถุเจือปนอาหารทั้งหมดนั้นจะฮาลาลเสมอไป สารเติมแต่งจำพวกกรดไขมันจำนวนมาก ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และมันเป็นเรื่องกังวลสำหรับมุสลิม ถึงแหล่งที่มาของสารเติมแต่งเหล่านั้น หากสารเติมแต่งได้มาจากพืช สารเหล่านี้ก็เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ถ้าหากได้มาจากสัตว์ สารเติมแต่งเหล่านั้นอาจจะฮาลาลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสัตว์ชนิดใด และดำเนินการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลามหรือไม่ (กรณีเป็นสัตว์บกที่อนุมัติ เช่น วัว แพะ แกะ ฯลฯ ยกเว้นปลา ตั๊กแตนและสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ ซึ่งไม่ต้องผ่านการเชือด)

ไม่เพียงแต่สารที่มาจากกรดไขมันเท่านั้น แต่ยังมีสารเติมแต่งที่ใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย และสารที่ผลิตมาจากแมลงอีกด้วย เนื่องด้วยสภาพของสารเคมีที่ปรากฏ ทำให้การมองด้วยตาเปล่าไม่สามารถเห็นร่องรอยของต้นกำเนิดของวัตถุดิบนั้นว่ามาจากอะไร ผลิตมาจากต้นกำเนิดที่ฮาลาลหรือไม่ มีเพียงผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เท่านั้นที่สามารถให้ข้อมูลได้

…………………………………………………………………….
เรียบเรียงจาก
http://www.eathalal.ca/2010/06/halal-and-haram-e-numbers.html 
http://www.thirdthai.ac.th/E-learning/kaaato/1/lesson07/content/02.htm
http://www.food-info.net/uk/qa/qa-fi47.htm
http://maansajjaja.blogspot.com/2007/03/blog-post_20.html

วัตถุเจือปนจากเลือดของวัวและสุกรได้รับอนุญาตใส่ในอาหาร

เลือด เป็นสิ่งต้องห้ามนำมาบริโภคในศาสนาอิสลาม อัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮูวตะอาลา) กล่าวไว้ในอัลกุรอาน บทอัลมาอีดะฮฺ โองการที่ 3 ความว่า “ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ ที่มัน (ขณะเชือด) …” จะเห็นได้ว่าเลือดเป็นสิ่งต้องห้ามเพื่อการบริโภคที่ได้ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานอย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบัน มีการนำเลือด ผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ในรูปของกาวเนื้อ (meat gule) หรือสารยับยั้งเอ็นไซม์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เรามาดูข้อมูลการนำเสนอในวารสารขององค์กรความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ถึงการอนุญาตนำเลือดมาใช้ประโยชน์ใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทาง CAP (สมาคมคุ้มครองผู้บริโภครัฐปีนัง) ได้นำเสนอผ่านหนังสือ Halal Haram : An Important Book for Muslim Consumers กันครับ

วัตถุเจือปนอาหารที่ได้จากเลือดของวัวและสุกร ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ กลายเป็นกรณีศึกษาในปี 2005 โดยองค์กรความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (European food safety agency ; EFSA)

นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิขององค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (EFSA) พบว่าเอ็นไซม์ที่เตรียมขึ้นจากทรอมบิน (Thrombin) และไฟบริโนเจน (fibrinogen) นั้นปลอดภัยและ “มีความเป็นไปได้น้อยมาก” ในการเพิ่มความเสี่ยงการตอบสนองต่ออาการแพ้และโรคภูมิแพ้

ความเห็นที่ออกตามมาโดยคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องให้เตรียมการสอบสวนในกรณีดังกล่าว 

การรวมกันของทรอมบินและไฟบริโนเจนที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อสร้างเนื้อสัตว์ขึ้นมาใหม่ให้ได้เนื้อที่มีขนาดและรูปร่างน่าพอใจ 
.
ทั้งทรอมบินและไฟบริโนเจนนั้นได้จากพลาสม่าจากเลือดของวัวและสุกร ทรอมบินและไฟบริโนเจนที่เตรียมไว้จะนำมาใช้กับเนื้อ โดยทรอมบินได้เปลี่ยนไฟบริโนเจนให้เป็นไฟบริน (fibrin) ที่ทำปฏิกิริยากับ คอลาเจนทำให้สามารถประสานชิ้นเนื้อให้เกิดการสร้างชิ้นเนื้อขึ้นใหม่ตามขนาดรูปร่างหรือกรอบที่ต้องการและยังสามารถใช้กับเนื้อสัตว์ปีก ปลาและอาหารทะเลได้อีกด้วย 

เนื้อที่สร้างขึ้นมาใหม่แสดงให้เห็นว่า มีการสูญเสียน้อยลงขณะผ่านการปรุงด้วยการทอดหรือย่าง โดยทั่วไปทรอมบินที่ใส่เข้าไปทำให้ระยะเวลาของการแปรรูปสั้นลงและความแข็งแรงในการเชื่อมประสานเพิ่มมากขึ้น 

ความคงตัวของทรอมบินค่อยข้างต่ำ เมื่อการเชื่อมประสานเสร็จสิ้นก็จะไม่มีกิจกรรมของทรอมบินตกค้างให้ตรวจพบ นอกจากนี้ทรอมบินที่หลงเหลือจะถูกยับยั้งในระหว่างการปรุงอาหาร (ความร้อนทำให้การคงตัวของทรอมบินค่อนข้างต่ำ) และถูกยับยั้งในกระเพาะอาหารหลังจากบริโภคเข้าไป (สภาพ pH ต่ำ)

เนื่องจากทรอมบินและไฟบริโนเจนได้มาจากส่วนที่กินได้ของสัตว์ จึงไม่จำเป็นต้องทดสอบทางพิษวิทยาตามที่ได้ร้องเรียน คณะกรรมการ EFSA กล่าว่า “การเตรียมทรอมบินและไฟบริโนเจนนั้นผลิตจากพลาสม่าที่ได้จากเลือดของวัวหรือสุกรซึ่งได้รวบรวมจากโรงฆ่าสัตว์ถูกสุขอนามัยภายใต้การตรวจสอบของสัตวแพทย์” 

หลายปีมานี้ ได้มีการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อที่มีการเติมเลือดหรือพลาสมาในหลายๆประเทศโดยไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ระดับความเข้มข้นของการเตรียมทรอมบินกับไฟบริโนเจนที่ถูกนำมาใช้นี้ อยู่ในช่วงระดับความเข้มข้นเดียวกันกับโปรตีนในผลิตภัณฑ์เนื้อ ด้วยการเติมเลือดหรือพลาสมาลงไป สืบเนื่องจากความเห็นของนักวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้ ตามที่นักวิจัยของ EFSA กล่าวว่า ทรอมบินบางส่วนที่ยังหลงเหลือจะที่ถูกยับยั้งโดย antithrombin III (มีอยู่ในขั้นตอนการเตรียมทรอมบินและไฟบริโนเจนอีกด้วย)

ผู้ทรงคุณวุฒิของ EFSA ได้สรุปออกมาว่า “การบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่มีการเตรียมจากเอนไซม์นี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการตอบสนองอาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ได้”
.
แม้จะมีการประกาศความปลอดภัยจากองค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (EFSA) แต่การเตรียมทรอมบินกับไฟบริโนเจน (และแน่นอนอาหารอื่นๆที่มีวัตถุเจือปนที่ได้จากเลือด) เป็นต้นเหตุของปัญหาสำหรับผู้บริโภคมุสลิม เนื่องจากทรอมบินถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการทำผลิตภัณฑ์อาหารที่คิดค้นขึ้น อาจจะอยู่ในผลิตภัณฑ์เช่น เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ลูกชิ้นปลา เต้าหู้ปลา ก้ามปูเทียม และกุ้งเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมุสลิมควรระมัดระวังเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว

………………………………………………………
ที่มา : วารสาร EFSA, เมษายน ปี 2005
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
จากหนังสือ Halal Haram : An Important book for Muslim Consumers โดย Consumers Association of Penang

เลซิทิน ฮาลาลหรือไม่?

เลซิทินเป็นอิมัลซิไฟเออร์ ที่พบได้ในพืชอย่างถั่วเหลือง ในไข่แดงและแหล่งที่มาจากสัตว์ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น อิมัลซิไฟเออร์คือองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ไขมันหรือน้ำมันและน้ำรวมเข้าด้วยกัน (เพื่อป้องกันการแยกชั้นของน้ำมันและน้ำ)

หากเลซิทินได้มาจากพืช ไข่แดง หรือจากสัตว์ฮาลาลที่ผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม จึงจะถือว่าเลซิทินดังกล่าวฮาลาล ปัจจุบันเลซิทินที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ผลิตมาจากถั่วเหลือง และยังเป็นไปได้ที่อาจจะมีเลซิทินที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์

เว้นเสียแต่ว่า เลซิทินได้ระบุบนฉลากส่วนประกอบว่าเป็นเลซิทินจากถั่วเหลืองหรือเลซิทินจากพืช ด้วยเหตุนี้คุณจำเป็นต้องตรวจเครื่องหมายรับรองฮาลาลหรือตรวจเช็คเลซิทินกับผู้ผลิตเพื่อพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเลซิทิน

……………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : http://www.ifanca.org/

ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นสิ่งสกปรก (นญิส) และห้ามนำมาใช้เสมอไป

คำว่า แอลกอฮอล์ในที่นี้หมายถึง เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ถูกกล่าวไว้ใน อัลกุรอาน ด้วยคำว่า คอมัร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และถูกนำมาใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ในสมัยโบราณมันถูกดื่มเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งทำมาจากการนำผลไม้ไปหมัก เช่น องุ่น และอินทผลัม ในปัจจุบันยังทำมาจากธัญพืช เช่น ข้าวไรท์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และข้าวโพด ส่วนมันฝรั่งและหางนมก็ยังนำมาใช้ในการทำแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย

ประเด็นหลักของการนำแอลกอฮอล์มาใช้ในปัจจุบันนั่นก็คือ เพื่อต้องการผลิตเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเป็นตัวทำละลายในอาหาร ในเครื่องสำอาง และในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ยา ตามกฎหมายแล้วเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถมีเอทิลแอลกอฮอล์ ได้ระหว่าง 0.5 ถึง 80 % โดยปริมาตร ในอุตสาหกรรมการทำแอลกอฮอล์ให้บริสุทธิ์ สามารถมีปริมาณแอลกอฮอล์ได้ถึง 95 %

จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เราทราบว่าเอทิลแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากสมบัติของมันทำให้เกิดการมึนเมา แต่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะมีคำว่าแอลกอฮอล์ที่ปรากฏบนชื่อของสารเหล่านั้นก็ตาม อย่างเช่น

1. น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohols) ไม่ได้มีส่วนประกอบของเอทิลแอลกอฮอล์ แต่สารเหล่านี้ถูกเรียกว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสูตรทางเคมีของสารนี้ น้ำตาลแอลกอฮอล์หรือโพลีออล(polyols) นั้นเป็นสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ซึ่งทั้งหมดนั้นฮาลาล ยกเว้น Erythritol (ที่ทำโดยผ่านกระบวนการหมักที่ก่อให้เกิดแอลกอฮอล์) และถ้า Lactittol นั้นทำจากหางนม (Whey) ที่ไม่ฮาลาล (ผลพลอยได้จากการทำชีทซึ่งอาจใช้เอนไซม์จากกระเพาะหมูในการตกตะกอน) ดังนั้นสารนี้ก็ไม่ฮาลาลเช่นเดียวกัน แต่ถ้า Lactitol ทำมาจากน้ำตาลซูโครส ดังนั้นสารนี้ก็จะฮาลาลด้วย

2. ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) ยังถูกใช้ในหลายกระบวนการเช่นเดียวกับในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้านและโลชั่นบำรุงผิว ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม”แอลกอฮอล์ขจัดคราบ” นี่คือแอลกอฮอล์ฮาลาล เนื่องจากสารนี้ไม่ก่อให้เกิดการมึนเมา

3. เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) หรือเมทานอลหรือแอลกอฮอล์ไม้ และยังเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาลอีกด้วย แต่เป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นพิษถูกนำมาใช้เพื่อแปลงสภาพเอทานอลหรือแอลกอฮอล์เพื่อให้เอทิลแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติ

4. เบนซิล แอลกอฮอล์ (benzyl alcohol) นั้นเป็นสารประกอบอินทรีย์และนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในหมึก สี สารเคลือบเรซิน ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาล

5. แอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติพิเศษ และแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติโดยสมบูรณ์ (Specially Denatured Alcohol and Completely Denatured alcohol) ซึ่งเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ที่ถูกทำให้สูญเสียสภาพธรรมชาติจากเดิมด้วยการเติมสารเคมีบางอย่างเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการใช้เพื่อการบริโภค สารเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งนักวิชาการด้านศาสนา (อูลามะฮฺ) หลายท่านอนุญาตให้นำมาใช้กับผิวหนัง

6. บิวทิลแอลกอฮอล์ (Butyl alcohol) ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ ถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในสี

7. ซีทิล แอลกอฮอล์ (Cetyl alcohol) ก็ไม่ใช่ เอทิลแอลกอฮอล์ เช่นกัน แต่เป็นแอลกอฮอล์ของกรดไขมัน หรือ wax ซีทิล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู ซึ่งถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ ซีทิล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

8. สเตียรอล แอลกอฮอล์ (Stearyl alcohol) ซึ่งผลิตได้จากไขมันของกรดสเตียริก ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ มันถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สเตียรอล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันของกรดสเตียริกที่ได้จากพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ สเตียรอล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

……………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.muslimconsumergroup.com/
Riaz, M. N., and Chaudry M.M. (2004). Halal Food Production. CRC Press

โมโนกลีเซอไรด์และไดกลีเซอไรด์ (E471) ฮาลาลหรือไม่?

โมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์เป็นสารที่แยกมาจากไขมัน หรือที่เรียกว่า กรดไขมัน มักถูกนำมาใช้เป็นอิมัลซิฟายเออร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่นำมาใช้ในการรวมกันของน้ำมันหรือไขมันและน้ำที่กระจายตัวรวมเป็นเนื้อเดียว (เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันและน้ำแยกจากกัน)

โมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์ สามารถผลิตได้จากพืชหรือสัตว์ หากได้มาจากพืช สารเหล่านั้นถือว่าฮาลาล หากได้มาจากสัตว์ สารเหล่านั้นถือว่าเป็นที่ต้องสงสัยจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในการตรวจสอบว่าสารเหล่านี้ฮาลาล

ผู้บริโภคอาหารฮาลาลควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีโมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์ จนกว่าสารเหล่านั้นจะได้รับการระบุว่าเป็นโมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์ที่มาจากพืช 100% (หรือมีหลักฐานยืนยันสถานะฮาลาลของผลิตภัณฑ์….ผู้แปล) สารตัวนี้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมาก อาทิเช่น ขนมอบ เนยถั่ว มาการีน เนยขาว และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
แหล่งที่มา http://www.ifanca.org/

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวิธีการจำแนกกลีเซอรีนจากสุกร ในเครื่องสำอางด้วยเทคนิค ATR- FTIR

งาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2016 เมื่อวันที่ 9-11 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงสินค้า นิทรรศการ งานสัมมนาวิชาการทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการนำเสนอโปสเตอร์งานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล 

ในการนำเสนอโปสเตอร์งานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้ทำการวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้ามา สนับสนุนกระบวนการการรับรองฮาลาลประเทศไทยและฮาลาลโลก ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นด้วยกัน งานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ “การจำแนกกลีเซอรีนจากสัตว์และจากพืชโดยเทคนิค ATR-FTIR เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเครื่องสำอางฮาลาลอย่างรวดเร็ว”
.
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับกลีเซอรีนกันก่อน กลีเซอรีนหรือกลีเซอรอล เป็นส่วนประกอบของไขมันซึ่งถูกแยกออกมาในปฏิกิริยาการผลิตสบู่ กรีเซอรีนมีลักษณะเป็นของเหลวหนืดใส ไม่มีสี มีรสหวาน กลีเซอรีนสามารถละลายได้ดีในแอลกอฮอล์และน้ำ แต่ไม่ละลายในไขมัน เนื่องจากกลีเซอรีนมีคุณสมบัติทางเคมีที่หลากหลายจึงสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ โดยทั่วไปมักจะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและยา 

กลีเซอรีนยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เพื่อนำมาใช้เป็นสารดูดซับความชื้นจากอากาศ ดังนั้นผลิตภัณฑ์จะยังคงมีความชื้นหากเปิดออกในบางครั้ง กลีเซอรีนยังช่วยให้เครื่องสำอางเกลี่ยได้ง่ายบนผิวหนัง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีกลีเซอรีนเป็นส่วนประกอบอย่าง ครีมทาหน้า โลชั่นยับยั้งการเกิดริ้วรอย โลชั่นทาผิว รองพื้น และผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เป็นต้น 

ส่วนกลุ่มเภสัชภัณฑ์ที่มีกลีเซอรีน ได้แก่ น้ำยาบ้วนปาก โลชั่นบำรุงผิวสำหรับผิวหยาบกร้าน ครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ยาสีฟัน ยาหยอดหู ยาหยอดตา เป็นต้น

เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคที่จะรับทราบข้อมูล หากกลีเซอรีนมีอยู่ในเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์เป็นกลีเซอรีนที่มาจากสัตว์หรือกลีเซอรีนจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสุกร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบกลีเซอรีนจึงได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อพิสูจน์แหล่งที่มาของกลีเซอรีนในอาหาร เครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านฮาลาลและการคุ้มครองผู้บริโภค

การจำแนกกลีเซอรีนด้วยเทคนิค ATR-FTIR (Attenuated Total Reflection Fourier Transform Infrared (ATR-FTIR) Spectroscopy) เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ พิสูจน์และศึกษาโมเลกุลของสาร ซึ่งอยู่ในสถานนะของแข็ง ของเหลวหรือก๊าซ ข้อมูลที่ได้จะเกิดจากการสั่น (Vibration) และการหมุน (Rotation) ของโมเลกุล โมเลกุลดูดกลืนแสงในช่วงของอินฟาเรด โมเลกุลจะถูกกระตุ้นเป็นโมเลกุลที่มีพลังงานสูงกว่าสภาวะพื้น ซึ่งเป็นพลังงานที่พอจะทำให้โมเลกุลเกิดการสั่นและการหมุนได้ ส่วนการวิเคราะห์แบบ ATR จะใช้อุปกรณ์เสริม (accessory) ต่อพ่วงเข้าไปกับเครื่อง FT-IR โดยในกรณีของ ATR เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับการศึกษาพื้นผิวของวัตถุ และวิธีนี้สามารถใช้ได้ดีกับตัวอย่างที่มีลักษณะทึบแสงหรือมีความหนามากเกินกว่าที่จะวิเคราะห์ด้วยวิธี Transmission ได้ โดยแสงอินฟาเรดจะตกกระทบสารตัวอย่างที่วางทาบอยู่บน window cell ซึ่งมุมแสงตกกระทบมีค่าน้อยกว่า 90 องศา แสงจะทะลุเข้าไปในผิวชิ้นงานได้เพียงไม่กี่ไมโครเมตรและแสงส่วนที่เหลือจากการดูดกลืนโดยพอลิเมอร์ที่ผิวสะท้อนออกมาเพื่อเข้าสู่ดีเทคเตอร์

จากการศึกษาการจำแนกความแตกต่างระหว่างกลีเซอรีนจากพืชและสัตว์ด้วยเทคนิค ATR-FTIR พบว่าในช่วงความยาวคลื่น 864-895 cm-1 และ 1,020 -1,099 cm-1 จาก spectrum เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการนำมาใช้จำแนกระหว่างกลีเซอรีนจากพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ในการตรวจสอบความเป็นฮาลาลของ กลีเซอรีนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมุสลิมในการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางฮาลาลทั้งในประเทศและทั่วโลก

……………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
……………………………………………………..
ข้อมูลจาก
Kunthira Salae, Sukrit Sirikwanpong, Sathaporn Ngamukote, Kasinee Katelakha, Vanida Nopponpunth& Winai Dahlan. (2016). Classification of plant-and Animal-based glycerin by using ATR-FTIR: A rapid screening tool applicable for halal cosmetics. Bankok: The Halal Science Center Chulalongkorn University 

พัชรา นวลเพชร. (2555). การตรวจวิเคราะห์ผมย้อมสีทางนิติวิทยาศาสตร์โดยเทคนิค UV-Visible Spectrophotometry และเทคนิค Attenuanted Total Refection Fourier Transform Infrared Spectroscopy (ATR-FTIR). ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, 

Siamchemi. (2016). กลีเซอรีนน/กลีเซอรอล. ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, จากhttp://www.siamchemi.com/กลีเซอรีน/ 

Consumer Association of Penang. (2010). Halal Haram: an important book for Muslim consumer. Malysia : Penang press.

เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ฮาลาลหรือไม่ แล้วมุสลิมดื่มได้หรือไม่ ?

กฎพื้นฐานของอาหารและเครื่องดื่ม คือ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ฮาลาล ยกเว้นสิ่งที่ ระบุในชารีอะอฺ ว่าเป็นสิ่งที่ หะรอม ยกตัวอย่างเช่น การดื่มเหล้า

จากฮาดิษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)” (รายงานโดย บุคอรีย์) 

เล่าจากอาอิซะห์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งทำให้มึนเมาเป็นของต้องห้าม และสิ่งที่ฟะร๊อกหนึ่ง [1] ทำให้มึนเมา ดังนั้น ปริมาณเพียงเต็มกอบมือหนึ่งก็ถือว่าต้องห้าม” (รายงานโดย ติรมีซีย์)

อันที่จริงหากเราได้ทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่เรียกว่า ‘การทำไวน์หรือเบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์’กระบวนการทำเบียร์และไวน์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือมีแอลกอฮอล์นั้นเหมือนกัน เพราะถึงแม้ว่าเบียร์หรือไวน์ที่ถูกผลิตขึ้นมาได้ระเหยเอาแอลกอฮอล์ออก แต่ไม่มีทางที่จะทำให้แอลกอฮอล์หมดไปร้อยเปอร์เซ็นต์ 

เราสามารถตรวจสอบกับโรงงานผลิตเบียร์และยืนยันถึงเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยที่สุดเท่าไหร่ (minimum amout of alcohol) เพราะระหว่างการผลิตของโรงงาน ยังมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่หลงเหลืออยู่โดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในเนื้อหาข้อกำหนดกฎหมายของอเมริกาและกฎหมายของยุโรปต่างก็อนุญาตให้โรงงานผลิตเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีปริมาณแอลกอฮอล์ได้น้อยสุดไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ 

ดังนั้น ทั้งไวน์และเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างว่าไม่มีแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มก็ตาม

ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรที่จะได้ทราบ หากพวกเขายังไม่ทราบ ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ผ่านช่องทางการศึกษาและช่องทางสื่อที่เหมาะสม

ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เช่นกัน ซึ่งทางคณะกรรมการได้ชี้แจงสาเหตุหลัก ๆ ในการวินิจฉัยว่า หะรอม ดังนี้
1. ถูกดื่มไปเพื่อการทดแทนบางสิ่งซึ่งเป็นที่ต้องห้ามนั่นคือเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์

2. วัฒนธรรมการดื่มไวน์และเบียร์ที่ดื่มสืบทอดกันมานั้นไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับอิสลามฉะนั้นจึงเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์จึงต้องการปิดประตูสู่การละเมิดทั้งในตัวบทและเจตนารมณ์ของหลักการอิสลาม ด้วยการฟัตวาให้เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)

………………………………………………………..
[1] ฟะร๊อกหนึ่ง เท่ากับสิบหกชั่ง
:: อ้างอิงจาก ::
– ฟัตวาของ IOL Shari`ah Researchers 
– ฟัตวาของ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศสิงคโปร์ 
…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง