มังสวิรัติ กับความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตอนที่ 2

มาตรฐานของอาหารสำหรับผู้รับประทานมังสวิรัตินั้น มีความแตกต่างกันตามแต่ละประเภทของมังสวิรัติ โดยเราสามารถดูได้จากหลักการของมังสวิรัติแต่ละประเภทที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์

มังสวิรัติแบบ Vegans หรือ มังสวิรัติแบบ Lacto-Ovo ทั้งสองประเภทนี้ต่างหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากเนื้อสัตว์ตั้งแต่เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และอาหารทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ สำหรับ Vegans นั้นพวกเขาจะหลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีชีวิต เช่น นม ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตจากแมลง เช่น น้ำผึ้ง นมผึ้ง เป็นต้น มังสวิรัติ Lacto-Ovo จะบริโภคไข่และผลิตภัณฑ์ประเภทนมได้ แต่พวกเขาจะหลีกเลี่ยงส่วนผสมใด ๆ ที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์รวมถึงเอนไซม์ต่าง ๆ เช่น เรนเนท (เอนไซม์ที่มีต้นกำเนิดมาจากกระเพาะส่วนที่ 4 ของลูกวัว) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เอนไซม์ส่วนใหญ่ที่ใช้สำหรับการผลิตชีสในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีแหล่งกำเนิดจากจุลินทรีย์หรือจากการดัดแปรพันธุกรรมซึ่งพบว่าเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ 

ส่วนผสมที่ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคมังสวิรัติ ได้แก่ วิตามินดีจากขนแกะ เจลาตินที่ใช้ในกระบวนการแปรรูปน้ำผลไม้ และปลากะตักในซอสวูสเตอร์

นอกจากในส่วนของตัวอาหารเองแล้ว ผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติยังต้องคำนึงถึงมาตรฐานห้องครัวและสุขอนามัยอีกด้วย ภาชนะ อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการเตรียมหรือบริการผลิตภัณฑ์ประเภทมังสวิรัติจะต้องแยกออกจากอาหารประเภทที่ไม่ใช่มังสวิรัติ หรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องล้างให้สะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนอาหารที่ไม่ใช่มังสวิรัติ

………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ไขมันสัตว์ในผลิตภัณฑ์อาหาร

กรณีของกลีเซอรีนและโมโนกลีเซอไรด์จากไขมัน

คุณทราบหรือไม่ว่า อาหารจำพวก ขนมปัง มักกะโรนี ไอศกรีม ขนมหวาน ทอฟฟี่และเนยถั่ว อาจมีส่วนประกอบที่ต้องสงสัยต่อผู้บริโภคมุสลิม สิ่งนี้คือ โมโนกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสารที่ได้มาจาก กลีเซอรีน?

กลีเซอรีน คืออะไร ?

กลีเซอรีนหรือกลีเซอรอล เป็นของเหลวหนืดใส ไม่มีสี มีรสหวาน โดยทั่วไปมักนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและยา

กลีเซอรีนดิบนั้น เตรียมได้จากการแยกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ระหว่างกระบวนการผลิตสบู่ นั่นคือ กรดไขมันหรือ แอลกอฮอล์ของไขมัน (Fatty alcohol) และยังสามารถผลิตได้จากเศษเหลือ (by product) จากปิโตรเลียม เช่น โพรปิลีน (propylene)

ถ้ากลีเซอรีนได้มาจากไขมันสัตว์ กลีเซอรีนที่ได้ก็จะกลายเป็นส่วนประกอบที่ต้องสงสัยสำหรับมุสลิม เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าไขมันสัตว์ที่มานั้นเป็นสัตว์ชนิดใด ดังนั้น กลีเซอรีนจึงเป็นส่วนประกอบที่ต้องสงสัย จนกว่าเราจะรู้แหล่งที่มาว่าได้มาอย่างไร

โมโนกลีเซอไรด์ คืออะไร? 

ขั้นตอนแรกของการนำกลีเซอรีนมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร นั่นคือ การเตรียม โมโน- และ ไดกลีเซอไรด์ก่อน ในขั้นตอนการผลิตโมโนและไดกลีเซอร์ไรด์นั้น กลีเซอรีนถูกให้ความร้อนร่วมกับไขมันและ โซเดียมไฮดรอกไซด์ปริมาณเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาทางเคมี เอสเทอร์ที่ได้ คือ อีมัลซิไฟเออร์พื้นฐานในอาหาร

เกือบ 90% ของ โมโนกลีเซอไรด์ ถูกนำมาใช้แปรรูปอาหารในทางอุตสาหกรรม เป็นสารที่ทำให้เกิดอีมัลซิไฟเออร์ เนื่องจากโมโนกลีเซอไรด์ ทำหน้าที่เพิ่มความนุ่มให้กับอาหาร นอกจากนี้แล้วโมโนกลีเซอไรด์ยังสามารถรักษาหรือเพิ่มปริมาณให้กับอาหาร

อาหารที่มีส่วนประกอบของโมโนกลีเซอไรด์ 
โมโนกลีเซอไรด์ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร ในจำพวกอาหารที่มีโมโนกลีเซอไรด์ มีดังนี้

ขนมปัง โมโนกลีเซอไรด์ ในอัตราส่วนที่มาก ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนมปังหรือในผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกับขนมปัง การมีโมโนกลีเซอไรด์จะช่วยคงสภาพความนุ่มของผลิตภัณฑ์เอาไว้หลังผ่านการอบหรือในระหว่างการเก็บรักษา ขนมปังที่ทำขึ้นโดยปราศจากการใช้โมโนกลีเซอไรด์ จะไม่คงสภาพความนุ่มของผลิตภัณฑ์เอาไว้หลังจากการอบ

มักกะโรนี มักกะโรนีที่ผสมกับโมโนกลีเซอไรด์จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ไม่เหนียวและสามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงในระหว่างการปรุง

เค้ก ในเค้กที่ไม่ใช้ยีสต์นั้น โมโนกลีเซอไรด์มีหน้าที่เป็นอีมัลซิไฟเออร์ในการรวมกันระหว่างไขมันและน้ำในระบบโปรตีน โมโนกลีเซอไรด์จะปรับปรุงโครงสร้างฟองอากาศและเพิ่มแรงยึดเกาะของชั้นโปรตีนในเค้กที่ผสม เพราะฉะนั้น เค้กที่ใช้โมโนกลีเซอไรด์ในการทำนั้นเนื้อจะแน่น นุ่มและอร่อย

ไอศกรีม โมโนกลีเซอไรด์เป็นอีกส่วนประกอบที่ได้รับความนิยมต่อการนำมาเป็นส่วนผสมในไอศกรีมสิ่งนี้จะช่วยให้อีมัลชันของไขมันมีความคงตัวในระหว่างการผสม ส่งผลให้ไอศกรีมมีรูปร่างลักษณะที่ดี

มาการีน ในมาการีน โมโนกลีเซอไรด์จะช่วยให้ความคงตัวของอิมัลชันในระหว่างการแปรรูปและระหว่างการเก็บรักษา

ครีมเทียม ครีมเทียมที่ได้ผสมด้วยกับโมโนกลีเซอไรด์ เป็นผลให้ได้หยดไขมันมีขนาดเล็กมาก และในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษารูปร่างเดิมเอาไว้ ดังนั้น ครีมเทียมจะยังคงมีสีขาวเมื่อผสมเข้ากับกาแฟ

เนยถั่ว ในเนยถั่ว โมโนกลีเซอไรด์ที่ผสมเข้าไปเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการกระจายตัวของไขมัน โมโนกลีเซอไรด์ยังช่วยในกระบวนการทำเนยถั่วให้ง่ายต่อการกระจายบนหน้าขนมปัง

ทอฟฟี่ โมโนกลีเซอไรด์เป็นตัวทำให้เกิดอีมัลซิไฟเออร์ ด้วยเหตุนี้ การเติมสารนี้ลงไปเพื่อให้เกิดความคงตัวในการผสมระหว่างไขมันและน้ำ การมีอยู่ของโมโนกลีเซอไรด์ยังช่วยป้องกันการเหนียวติดบนฟันของคาราเมลและทอฟฟี่เมื่อรับประทาน และยังช่วยป้องการติดแน่นต่อเครื่องจักรที่ใช้ห่อผลิตภัณฑ์ในระหว่างการแปรรูป

โมโนและได-กลีเซอร์ไรด์ ฮาลาลหรือไม่? 
สภาอาหารและโภชนาการอิสลามแห่งอเมริกา (Islamic Food and Nutrition Council of America (IFANCA )องค์กรชั้นนำที่ให้การรับรองฮาลาลในอเมริกเหนือ ได้ตอบคำถามที่มักจะถูกถามบ่อยบนเว็บไซต์ขององค์กร เกี่ยวกับโมโน-และไดกลีเซอไรด์ ความว่า

“โมโนและไดกลีเซอไรด์ เป็นส่วนประกอบของไขมันที่ถูกนำมาใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ ซึ่งอิมัลซิไฟเออร์ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดการรวมตัวกันระหว่างไขมันหรือน้ำมันกับน้ำให้กระจายรวมเป็นเนื้อเดียวกัน (ป้องกันการแยกชั้นของน้ำมันและน้ำ)

โมโนและไดกลีเซอไรด์ สามารถได้มาจากพืชหรือสัตว์ เมื่อมีแหล่งที่มาจากพืช โมโน-และไดกลีเซอไรด์เหล่านั้นก็จะฮาลาล แต่หากมีแหล่งที่มาจากสัตว์ โมโน-และไดกลีเซอไรด์เหล่านั้นตกในประเด็นต้องสงสัย ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการตัดสินว่าโมโน-และไดกลีเซอไรด์เหล่านี้ฮาลาล ผู้บริโภคสินค้าฮาลาลควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของโมโนและไดกลีเซอไรด์ จนกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะระบุบนฉลากว่าโมโนและกลีเซอไรด์ได้มาจากพืช 100 % โมโน-และไดกลีเซอไรด์นั้นถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์จำนวนมากประกอบด้วยขนมปัง เนยถั่ว มาการีน เนยขาว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ”

หน่วยงานบริการอิสลามแห่งอเมริกา (Islamic Services of America (I.S.A.) หน่วยงานให้บริการการรับรองและบริการตรวจประเมินฮาลาลแห่งสรัฐอเมริกาและอเมริกาเหนือ ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เนื่องจากบ่อยครั้งไม่มีตัวชี้เฉพาะเจาะจงเกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาเริ่มต้นของโมโนและได-กลีเซอไรด์ จึงต้องตั้งสมมุติฐานอย่างหนึ่งว่าแหล่งที่มาเริ่มต้นอาจมาจากสุกร เนื่องจากคุณสมบัติและต้นทุนที่ต่ำของสุกรทำให้อุตสาหกรรมนิยมนำวัตถุดิบจากสุกรเหล่านี้มาใช้ อาจจะกล่าวได้ว่า มันมีโอกาสอย่างมากต่อผลิตภัณฑ์ที่มีโมโนและได-กลีเซอไรด์ที่คุณพบเห็นในร้านค้าเป็นสินค้าหะรอม

ถ้าโมโนและได-กลีเซอไรด์เหล่านี้มาจากวัว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะได้รับการพิจารณาเป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาล หากสัตว์เหล่านั้นได้จากการเชือด กระบวนการแปรรูปจากหนัง กระดูก ที่สอดคล้องกับชารีอะฮฺ และมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ

ถ้าแหล่งที่มาเริ่มต้นของโมโนและไดกลีเซอไรด์ได้มาจากพืช เช่นถั่วเหลือง เมล็ดคาโนล่า (หรือจากปาล์ม) ก็จะถือว่าโมโนและได-กลีเซอไรด์ที่ได้นั้นฮาลาล

…………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือ HALAL HARAM . สมาคมผู้บริโภครัฐปีนัง มาเลเซีย 
http://www.ifanca.org/faq/ 
http://www.isaiowa.org/News/20110614/7/Are-Mono-Diglycerides-Halal.aspx

การรับประทานมังสวิรัติในมุมมองของอิสลาม

อัลลอฮฺทรงสร้างสัตว์บางชนิดเพื่อให้เราสามารถนำมาบริโภค ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในสูเราะฮฺ อัน-นะห์ลฺ

‘และปศุสัตว์ที่พระองค์ทรงสร้างนั้น ในตัวมันมีความอบอุ่นสำหรับพวกเจ้าและประโยชน์มากหลาย และในส่วนหนึ่งจากมันนั้นพวกเจ้าเอามาบริโภคได้’ (อัน-นะห์ลฺ 5)

มุสลิมตระหนักถึงสิทธิสัตว์ สิทธิสัตว์หมายความว่าเราไม่ควรละเมิดพวกมัน ทรมานพวกมัน และเมื่อเราต้องใช้เนื้อของพวกมันเป็นอาหารเราควรจะฆ่าพวกมันด้วยมีดที่คม เอ่ยนามของอัลลอฮฺในขณะที่เชือด

ท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “อัลลอฮฺได้กำหนดความดีในทุกสิ่ง เมื่อท่านเชือดสัตว์ จงเชือดอย่างดี ท่านจงลับมีดให้คมและทำให้สัตว์นั้นตายอย่างรวดเร็วและทรมานน้อยที่สุด”

ดังนั้น มุสลิมจึงไม่ใช่นักมังสวิรัติ แต่หากมีผู้ชื่นชอบรับประทานผัก เขาก็ได้รับอนุญาตให้รับประทานมันได้ อัลลอฮฺได้อนุมัติให้เราได้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกวิธี แต่พระองค์ไม่ได้กำหนดให้เป็นข้อบังคับสำหรับเรา

…………………………………………………….
โดย ดร. มุซซัมมิล ซิดดีกียฺ
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

การใช้กลิ่นวานิลลา (Vanilla) ในผลิตภัณฑ์ฮาลาล

วานิลลา (Vanilla) เป็นกลิ่นที่ได้จากฝักของกล้วยไม้สกุล Vanilla ต้นกำเนิดจากเม็กซิโก ชื่อวานิลลามาจากคำในภาษาสเปนว่า “ไบย์นียา” (vainilla) ซึ่งแปลว่า ฝักเล็ก ๆ วานิลลามักถูกนำมาใช้แต่งกลิ่นในการทำอาหารประเภทของหวานและไอศกรีม

มีการนำวานิลลา 5 ชนิดที่แตกต่างกันมาทำไอศกรีมและผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ได้แก่ กลิ่นวานิลลาธรรมชาติ วานิลลาสกัด กลิ่นวานิลลาเทียม วานิลลินและฝักวานิลลาแห้ง

1. กลิ่นวานิลลาธรรมชาติ (Natural Vanilla flavor) บ่อยครั้งใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายเนื่องจากกลิ่นวานิลลาธรรมชาติได้สกัดมาจากฝักวานิลลาที่แช่ลงในแอลกอฮอล์และน้ำ ฝักของวานิลลาที่เหลือหลังจากการสกัดด้วยแอลกอฮอล์สามารถนำมาใช้เป็นวานิลลาหรือ vanilla specks แต่นักวิชาการศาสนา (อูลามะอฺ) บางท่านคิดว่ามันไม่ฮาลาล เนื่องจากวานิลลาเหล่านี้ได้ผ่านการแช่ด้วยกับแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะไม่มีแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่ในฝักหลังการสกัดแล้วก็ตาม

2. วานิลลาสกัด (Vanilla Extract) ซึ่งตามมาตรฐานของ FDA กำหนดให้มีแอลกอฮอล์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 35 % วานิลลาสกัดนั้นถูกนำมาใช้ในไอศกรีม คุกกี้ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ วานิลลาสกัดไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนประกอบที่ฮาลาล

3. กลิ่นวานิลลาเทียม (Artificial Vanilla Flavor) จะทำโดยมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายก็ได้ ไอศครีมนมรสวนิลายี่ห้อวัลเล่ย์แปซิฟิกขายในปี 2007 ในงานประชุมวิชาการของ ISNA ที่ทำโดยใช้กลิ่นวนิลลาเทียมจากโพรพิลีน ไกลคอลเป็นเป็นตัวทำละลายแทนการใช้แอลกอฮอล์ โพรพิลีนไกลคอลเป็นตัวทำละลายที่ฮาลาล เช่นเดี่ยวกับไอศกรีมยี่ห้อ Baskins Robbins บางชนิดที่ทำโดยใช้กลิ่นสังเคราะห์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ตามที่บริษัทระบุ

4. วานิลลิน (Vanillin) เป็นส่วนประกอบที่ฮาลาล เนื่องจากไม่มีการนำแอลกอฮอล์มาใช้ในระหว่างการผลิต ซึ่งเป็นกลิ่นสังเคราะห์ที่ทำมาจากวัตถุดิบฮาลาล

5. ฝักวานิลลาแห้ง (Dried Vanilla Beans) แตกต่างจากฝักวานิลลาที่ผ่านการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ฝักวานิลลาแห้งเป็นฝักที่แห้งโดยธรรมชาติจากต้นวานิลลาและยังเป็นส่วนประกอบที่ฮาลาล 100% อีกด้วย เป็นไปได้ว่าอาจมีการนำวานิลลามาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งถ้าหากคุณสังเกตเห็นวานิลาหรือ vanilla specks เป็นส่วนประกอบในอาหารต่างๆ กรุณาสอบถามไปยังผู้ผลิตต่อวิธีการทำวานิลลาดังกล่าว

…………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. ปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา :
http://th.wikipedia.org/
http://www.muslimconsumergroup.com/

ภาพประกอบ 
http://www.alittlebitwonderful.com/ 
http://www.vanillareview.com/
https://offthelist.wordpress.com/
http://theheritagecook.com/

การกำหนดสถานะฮาลาลของอาหารแต่ละประเภท

มีการแบ่งอาหารออกเป็น 4 ประเภทกว้าง ๆ เพื่อสร้างความสะดวกในการรับรองสถานะฮาลาลของอาหารและเพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดแนวทางในอุตสาหกรรม ดังนี้

1. เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
4 ใน 5 กลุ่มของปัจจัยที่ควรระวังในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอยู่ในหมวดเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก (ซากสัตว์หรือสัตว์ที่ตายเอง, การเชือด, เนื้อสุกร และเลือดอยู่ในประเภทนี้ ยกเว้นแอลกอฮอล์และสิ่งมึนเมา) ดังนั้น ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่สูงขึ้นจึงควรได้รับการปฏิบัติไว้ ตั้งแต่ชนิดของสัตว์ที่ต้องฮาลาล ไม่มีใครที่เชือดสุกรด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามแล้วบอกว่ามันฮาลาลได้ ผู้ที่ทำการเชือดสัตว์จะต้องเป็นมุสลิมที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขณะเชือดจะต้องกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมเพื่อใช้ตัดเส้นเลือดใหญ่ หลอดลม และหลอดอาหาร เลือดที่ไหลจากการเชือดจะต้องไหลออกมาจนหมด อิสลามนั้นให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรมและความเมตตากรุณาในการเลี้ยงดูฟูมฟัก ดังนั้น การชำแหละชิ้นส่วนหรืออวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์จะต้องไม่เกิดขึ้นจนกว่าสัตว์นั้นจะสิ้นชีวิตอย่างสมบูรณ์

2. ปลาและอาหารทะเล 
เพื่อทำการตรวจสอบสภาพของปลาและอาหารทะเลให้เป็นที่ยอมรับได้ ผู้ผลิตจำเป็นต้องเข้าใจความหลากหลายของสำนักคิดทางนิติศาสตร์อิสลาม ไปจนถึงการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของมุสลิมที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว มุสลิมทั้งหมดยอมรับว่าปลาที่มีเกล็ดนั้นบริโภคได้ มีเพียงมุสลิมบางส่วนที่ไม่ยอมรับปลาที่ไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุก เป็นต้น ความต่างในหมู่มุสลิมเกี่ยวกับอาหารทะเลยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่น สัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก หรือ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเข้าใจความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มเป้าหมายเนื่องจากความแตกต่างทางภูมิภาค อาทิ การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นรสอาหารทะเล เป็นต้น

3. นมและไข่
หากมาจากสัตว์ที่ฮาลาลย่อมถือว่าฮาลาล แหล่งที่มาของนมที่ได้รับความนิยมในตะวันตกคือวัว ส่วนแหล่งที่มาหลักของไข่ก็คือไก่ วัตถุดิบอื่น ๆ ทั้งหมดจะต้องมีการติดฉลากเพื่อระบุแหล่งที่มา ปัจจุบันนี้ มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากมายที่ทำทั้งจากนมและไข่ เช่น นมถูกนำมาใช้สำหรับการผลิตชีส เนย และครีม โดยส่วนใหญ่แล้ว ชีสที่ทำมาจากจุลินทรีย์หรือสัตว์ที่เชือดด้วยกรรมวิธีที่ฮาลาลย่อมถือว่าฮาลาล ขณะที่เอนไซม์บางชนิดนั้นหะรอม หากสกัดจากแหล่งที่มาของสุกร หรือเอนไซม์บางชนิดก็อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย หากได้มาจากสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการเชือดที่ฮาลาล ในทำนองเดียวกัน สารอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifiers) สารยับยั้งเชื้อรา (mold inhibitors) และสารประกอบเชิงหน้าที่อื่นๆ (functional ingredients) หากไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน อาจทำให้สถานะของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนมและไข่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัยแก่การบริโภค

4. พืชและผัก
วัตถุดิบเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วถือว่าฮาลาล ยกเว้นเพื่อผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสิ่งมึนเมาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในโรงงานแปรรูปปัจจุบัน ผักและเนื้อสัตว์อาจมีกระบวนการแปรรูปในโรงงานเดียวกันและใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้กับการปนเปื้อนข้าม ส่วนสารประกอบเชิงหน้าที่อื่นๆ (functional ingredients) บางชนิดที่ได้จากสัตว์ อาจถูกนำมาใช้ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ตกอยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย ดังนั้นสารที่ช่วยในกระบวนการผลิตและกรรมวิธีการผลิตเหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสถานะของอาหารที่มีต้นกำเนิดเดิมจากพืช ซึ่งถือว่ามีสถานะฮาลาลในตัวมันเองอยู่แล้ว

จากการพิจารณาหลักการและข้อบังคับต่าง ๆ เป็นที่ชัดแจ้งว่า ปัจจัยหลายประการที่ใช้ในการกำหนดสถานะว่าฮาลาลหรือหะรอมนั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของชนิดอาหาร รูปแบบกระบวนการ และวิธีการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มาจากสุกรจะได้รับการพิจารณาว่าหะรอม เนื่องจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นหะรอมโดยตัวมันเอง ในทำนองเดียวกัน เนื้อวัวที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการเชือดตามหลักการอิสลามนั้นถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับ รวมไปจนถึงอาหารที่ถูกขโมยมา หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนอิสลามนั้นถือว่าหะรอมเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายหรือทำให้เกิดอาการมึนเมาถือว่าหะรอมอย่างมิต้องสงสัย แม้จะมีปริมาณที่เล็กน้อยก็ตาม เพราะสารเหล่านี้นับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

…………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

มังสวิรัติ กับความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตอนที่ 1

ผู้บริโภคฮาลาลหลายคนอาจคิดว่าผลิตภัณฑ์มังสวิรัตินั้นมีแหล่งที่มาจากพืช ดังนั้น ผลิตภัณฑ์มังสวิรัติเหล่านี้จึงได้รับการพิจารณาว่าฮาลาลไปในตัว ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงอาหารมังสวิรัติด้วยเช่นกันเพื่อสามารถที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างฮาลาลและมังสวิรัติได้

การรับประทานมังสวิรัตินั้นประกอบไปด้วยตัวเลือกและทางเลือกที่มากมายหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวิถี ปรัชญา และศาสนาของแต่ละคนที่ได้เลือกไว้ให้กับตนเองสำหรับการดำเนินชีวิต ความนิยมชมชอบและแนวทางในการคัดเลือกการรับประทานมังสวิรัติอาจแตกต่างกันไป ตั้งแต่ประเภทที่ไม่รับประทานอะไรเลยนอกจากพืชผักบางชนิดที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วว่าสิ่งที่รับประทานจะไม่มีผลกระทบต่อการทำลายพืช ไปจนถึงการรับประทานทุกอย่างยกเว้นเนื้อสัตว์ (เนื้อแดง) นี่คือตัวอย่างประเภทของมังสวิรัติที่แบ่งตามระดับจากผ่อนปรนมากที่สุดไปจนถึงเข้มงวดมากที่สุด 

– มังสวิรัติ Pesco: สามารถรับประทานปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์ประเภทนมได้ แต่หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกและเนื้อสัตว์

– มังสวิรัติ Lacto-Ovo: สามารถบริโภคผลิตภัณฑ์ประเภทผักได้ทุกประเภท รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์ประเภทนม แต่หลีกเลี่ยงการเชือดเนื้อสัตว์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และปลา สำหรับผู้ใดที่ไม่รับประทานไข่แต่รับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทนมได้จะเรียกว่า มังสวิรัติ Lacto ขณะที่มังสวิรัติ Ovo จะรับประทานไข่แต่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์ประเภทนม

– มังสวิรัติ Vegans: ไม่สามารถรับประทานสิ่งใดก็ตามที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ได้ วีแกนจะหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์และอนุพันธ์จากสัตว์อื่น ๆ ก็ไม่สามารถรับประทานได้ด้วยเช่นกัน อาทิ เจลาติน ไข่ นม ชีส โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์ประเภทนมอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนกุ้ง หอย ปลา และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเลอื่น ๆ ก็ไม่สามารถรับประทานได้ ยิ่งกว่านี้ วีแกนยังพยายามหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานน้ำผึ้ง นมผึ้ง และโคชินิล หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแมลงชนิดต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ ตามความสามารถการรับรู้ของวีแกน พวกเขาจะไม่เจตนารับประทานสิ่งใดก็ตามที่มีส่วนผสมของสัตว์ซ่อนอยู่หรือเป็นส่วนประกอบในอาหาร

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เรียกว่า Fruitarians และ Foodists ซึ่งจะปฏิบัติตามลักษณะการรับประทานที่คล้ายคลึงกับประเภทของ Vegans โดยที่พวกเขาจะรับประทานผัก ผลไม้ เมล็ดพืช ถั่ว ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปหรือปรุงด้วยความร้อนน้อยที่สุด Fruitarians เชื่อว่าอาหารจากพืชผลไม้เหล่านี้นั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งมีชีวิตเพื่อนำมันมารับประทาน

การรับประทานมังสวิรัตินั้น ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติกิจการทางความเชื่อหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งผู้ศรัทธาของศาสนาจำนวนมากตั้งแต่ศาสนาอิสลาม ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ คริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ ศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย (มอร์มอน) ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน อาจรับประทานมังสวิรัติภายใต้ขอบเขตใดขอบเขตหนึ่งโดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าพวกเขาปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิมังสวิรัติ

การรับประทานมังสวิรัติในกระแสหลักมักอยู่ในประเภท Lacto-Ovo อย่างไรก็ตาม มังสวิรัติแบบ Vegans เริ่มจะเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศตะวันตก การเปรียบเทียบส่วนใหญ่จึงถูกจำกัดอยู่ระหว่างมังสวิรัติแบบ Lacto-Ovo กับ Vegans มากกว่าประเภทอื่น ๆ ของการรับประทานมังสวิรัติ

……………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

หลักการพื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ได้รับอนุมัติ (ตอนที่ 2)

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม

อาหารถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิสัมพันธ์ในความหลากหลายระหว่างเชื้อชาติ สังคม และกลุ่มความเชื่อทางศาสนา มนุษย์ทุกคนต่างพิจารณาถึงอาหารที่พวกเขารับประทาน มุสลิมต้องการที่จะมั่นใจว่าอาหารที่พวกเขารับประทานนั้นฮาลาล ยิวเองก็เช่นกันอาหารของพวกเขาจะต้องโคเชอร์ รวมไปจนถึง ฮินดู พุทธ และกลุ่มความเชื่ออื่น ๆ ที่เลือกรับประทานอาหารที่เป็นมังสวิรัติ เช่นเดียวกัน มุสลิมเพียงปฏิบัติตามทางนำที่ชัดแจ้งในการเลือกสรรอาหารที่ถูกต้องตามหลักกการและมีประโยชน์ (ฮาลาลและฏ็อยยิบ)

ในบทความหลักการพื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ได้รับอนุมัติ ตอนที่ 1 นั้น เราได้นำเสนอถึงหลักการพื้นฐานอันสำคัญในประเด็นของฮาลาล (อนุมัติ) และหะรอม (ต้องห้าม) ในอิสลามที่แนะแนวทางแก่มุสลิมในการดำเนินวิถีปฏิบัติไปแล้วถึง 7 ข้อ
#https://www.facebook.com/HSC.CU.Pattani/photos/a.504582689579969.126212.317351581636415/1211501578888073/?type=3&theater 
บทความนี้เราจึงขอนำเสนอส่วนที่เหลืออีก 5 ข้อ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ครับ

8. เจตนาที่ดีมิสามารถเปลี่ยนสิ่งที่หะรอมอยู่แล้วมาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ศรัทธาได้ปฏิบัติในสิ่งที่ได้รับอนุมัติด้วยเจตนาที่ดี การปฏิบัติของเขาถือเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ (อิบา-ดะฮฺ) ในกรณีของหะรอม สิ่งนั้นยังคงหะรอมไม่ว่าจะมีเจตนาที่ดี หรือวัตถุประสงค์ที่มีเกียรติหรือเป้าหมายที่สูงส่งเพียงใดก็ตาม อิสลามไม่รองรับให้ใช้วิธีการที่หะรอมเพื่อบรรลุเป้าหมายอันน่าชมเชย แท้จริงแล้ว สิ่งนั้น ๆ ต้องไม่มีเพียงแค่เป้าหมายที่มีเกียรติเท่านั้น แต่ยังต้องมีการเลือกวิธีการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่เหมาะสมอีกด้วย ประโยคที่ว่า “เพื่อผลลัพธ์ คุณสามารถสร้างความชอบธรรมให้วิธีการ” (The end justifies the means) และ “เพื่อปกป้องสิทธิของคุณ แม้ว่าวิธีการที่ใช้จะผิดก็ตาม” (Secure your right even through wrongdoing) เป็นแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอิสลาม นิติศาสตร์อิสลามประสงค์ให้ความถูกต้องจะต้องได้มาด้วยวิธีการที่ชอบธรรมเท่านั้น

9. สิ่งใดที่อยู่ในข้อสงสัยควรได้รับการหลีกเลี่ยง ระหว่างสิ่งฮาลาลที่ชัดแจ้งกับสิ่งหะรอมที่ชัดแจ้งจะมีพื้นที่สีเทาอยู่ เรียกว่า “สิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย” อิสลามถือว่าเป็นความดีสำหรับมุสลิมในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ห่างจากสิ่งหะรอมอย่างแน่นอน นบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า “ฮาลาลและหะรอมนั้นเป็นที่ชัดแจ้ง แต่ระหว่างทั้งสองสิ่งนี้มีสิ่งที่น่าสงสัย ซึ่งคนส่วนมากไม่รู้ว่ามันฮาลาลหรือหะรอม ผู้ที่หลีกเลี่ยงมันเพื่อปกป้องศาสนาและเกียรติของเขาคือผู้ที่ปลอดภัย ในขณะที่ถ้าใครเข้าไปมีส่วนกับมันเขาผู้นั้นอาจจะทำสิ่งที่หะรอม เฉกเช่นคนที่ปล่อยสัตว์ของตนให้กินหญ้าอยู่ใกล้กับเขตหวงห้าม ซึ่งเขาอาจนำพวกมันหลงเข้าไปในนั้น แท้จริงสิ่งหวงห้ามของอัลลอฮฺนั้นคือสิ่งหะรอม”

10. สิ่งหะรอมถือว่าเป็นที่ต้องห้ามสำหรับทุกคนเทียบเท่ากันหมด นิติศาสตร์อิสลามนั้นเป็นสากลสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติพิเศษสำหรับชนชั้นอภิสิทธิ์ใด ๆ แท้จริงแล้วในอิสลามไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นอภิสิทธิ์ ดังนั้นประเด็นการเลือกปฏิบัติพิเศษจึงไม่มีในหลักการอิสลาม หลักการความเท่าเทียมและไม่มีการเลือกปฏิบัตินี้จะต้องนำไปใช้ไม่ใช่แค่เพียงในหมู่มุสลิมด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องนำไปใช้ระหว่างมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิมอีกด้วย

11. ข้อยกเว้นได้รับการอนุโลมในกรณีที่สภาวะความจำเป็นมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ขอบเขตของสิ่งต้องห้ามในอิสลามนั้นมีพื้นที่คับแคบมาก ถึงกระนั้นก็ถูกเน้นย้ำให้มุสลิมหลีกห่างจากสิ่งต้องห้ามอย่างแข็งขัน ขณะเดียวกัน อิสลามก็ไม่บังคับใช้ในสภาวะฉุกเฉินของชีวิต สภาวะที่ใหญ่เกินความสามารถหรือความอ่อนแอ และด้อยศักยภาพของมนุษย์ในการเผชิญกับสภาวะฉุกเฉินนั้น ๆ จึงเป็นที่อนุญาตให้มุสลิมภายใต้ความจำเป็นที่บีบบังคับในการรับประทานอาหารต้องห้ามในปริมาณที่เพียงพอตามความจำเป็นเพื่อประทังชีวิตและให้อยู่รอดได้

ชีวิตของมุสลิมจะวนเวียนอยู่กับแนวคิดฮาลาลและหะรอม หลักการฮาลาลและหะรอมเหล่านี้จึงมีความครอบคลุม เพราะมันไม่ใช่เป็นหลักการที่นำไปใช้ในการรับประทานและการดื่มเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพ การแต่งกาย และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อบรรลุซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีงามตามแบบฉบับอิสลาม

…………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลเรียบเรียงจากหนังสือ Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

หลักการพื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ได้รับอนุมัติ (ตอนที่ 1)

**ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม**

แหล่งที่มาของหลักปฏิบัติในเรื่องอาหารฮาลาลได้รับการเปิดเผยในอัลกุรอาน (คัมภีร์จากฟากฟ้า) จากผู้เป็นเจ้า (ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง) ให้แก่นบีมุฮัมมัด (ศาสนทูต) เพื่อมนุษย์ทั้งมวล หลักการในเรื่องอาหารได้รับการอธิบายและนำไปปฏิบัติผ่านความเข้าใจสุนนะฮฺ (วิถีชีวิต พฤติกรรม และคำสอนของนบีมุฮัมมัด) ดังที่ได้รับการบันทึกไว้ในหะดีษ (บันทึกที่รวบรวมแบบปฏิบัติของนบีมุฮัมมัด) ซึ่งโดยหลักการทั่วไปนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างถือว่าเป็นที่อนุมัติสำหรับมวลมนุษย์เพื่อการบริโภคและใช้ประโยชน์ไม่มีสิ่งใดที่ไม่ได้รับอนุมัติเว้นแต่สิ่งที่ได้รับการระบุไว้ว่าเป็นที่ต้องห้าม อาจจะระบุไว้ในโองการของอัลกุรอาน

วันนี้เรามาเรียนรู้ถึงส่วนแรกของหลักการพื้นฐานอันสำคัญ 11 ข้อ ในประเด็นของฮาลาล (อนุมัติ) และหะรอม (ต้องห้าม) ในอิสลามที่แนะแนวทางแก่มุสลิมในการดำเนินวิถีปฏิบัติ ซึ่งมีหลักการพื้นฐานดังนี้ครับ

1. หลักการพื้นฐานเบื้องต้นคือสรรพสิ่งทั้งหลายที่อัลลอฮฺสร้างขึ้นมาล้วนเป็นที่อนุมัติ ยกเว้นเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ระบุอย่างเจาะจงว่าเป็นที่ต้องห้าม

2. การกำหนดว่าสิ่งใดเป็นที่อนุมัติและสิ่งใดเป็นที่ต้องห้ามเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น มิใช่สิทธิของมนุษย์ไม่ว่าผู้นั้นจะมีศรัทธาหรืออำนาจสูงส่งเพียงใดก็ตาม ต้องนำสิทธินี้คืนให้แก่ผู้เป็นเจ้าของสิทธินั้น

3. การห้ามในสิ่งที่อนุมัติและการอนุมัติในสิ่งที่ต้องห้ามเทียบได้กับการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ (ชิรกฺ)

4. สาเหตุพื้นฐานในการห้ามต่าง ๆ นั้น เนื่องจากความไม่บริสุทธิ์และความเป็นอันตรายของสิ่งนั้น มุสลิมไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าทำไมสิ่งนั้น ๆ ถึงไม่บริสุทธิ์หรือเป็นอันตราย หรือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามนั้นไม่บริสุทธิ์หรือให้โทษได้อย่างไร ซึ่งบางสิ่งอาจจะมีเหตุผลที่ประจักษ์ชัดและบางสิ่งอาจจะดูเหมือนมีเหตุผลที่คลุมเครือ

5. สิ่งที่ได้รับอนุมัติเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับความจำเป็น และสิ่งต้องห้ามเป็นสิ่งที่เกินความต้องการ อัลลอฮฺทรงห้ามในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือเกินความต้องการเท่านั้น ขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้จัดสรรทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าไว้ให้แล้ว

6. สิ่งใดก็ตามที่นำไปสู่ “สิ่งต้องห้าม” สิ่งนั้นถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยตัวของมันเอง ถ้าหากสิ่งใดเป็นที่ต้องห้ามแล้ว อะไรก็ตามที่นำไปสู่สิ่งนั้นย่อมเป็นที่ต้องห้ามด้วยเช่นกัน

7. ไม่อนุญาตให้เอาสิ่งต้องห้ามมาเป็นของฮาลาล เป็นที่ต้องห้ามในการกำหนดสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามโดยการอ้างที่ขาดความน่าเชื่อถือ การเรียกสิ่งที่หะรอมว่าเป็นสิ่งฮาลาลนั้นจึงเป็นที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

นอกจากหลักการ 7 ข้อข้างต้นแล้ว ยังมีหลักการที่สำคัญอื่น ๆ อีก 5 ข้อ ซึ่งเราจะมาบอกล่าวกันใหม่ในตอนหน้าครับ … อินชาอัลลอฮฺ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

หลักการพื้นฐานของการพิจารณาเครื่องสำอางฮาลาล

ปัจจุบันสินค้าฮาลาลไม่ได้มีเพียงแค่อาหารเท่านั้น แต่ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมกันมากนั่นก็คือ เครื่องสำอางฮาลาล ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องแต่งหน้า ครีมทาผิว น้ำหอม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ธุรกิจเครื่องสำอางฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ามหาศาล กระแสความนิยมเครื่องสำอางฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เรามาเรียนรู้กันว่า หลักการพื้นฐานในการกำหนดเครื่องสำอางฮาลาลต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้

1. ฮาลาล
ฮาลาล คือหลักพื้นฐานสุดของการเป็นเครื่องสำอางฮาลาล ฮาลาลเป็นคำภาษาอาหรับที่หมายถึงอนุญาตหรืออนุมัติ สามารถตีความไปจนถึงการกระทำหรือสิ่งของที่อนุญาตโดยกฎหมายอิสลาม ซึ่งตรงข้ามกับคำว่าหะรอมที่หมายถึง ต้องห้าม เป็นตัวบ่งบอกการกระทำหรือสารหรือวัตถุดิบที่ไม่เป็นที่อนุมัติและไม่เป็นที่อนุญาตตามกฎหมายอิสลาม ฮาลาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่จะยอมรับสิ่งหนึ่งสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ฮาลาลได้นั้น จะต้องทำให้มั่นใจว่า การกระทำหรือสิ่งของที่นำมาใช้ในการผลิตต้องเป็นสิ่งที่ฮาลาลด้วยเช่นกัน

2. นญิสและมุตานญิส
นญิสเป็นสิ่งสำคัญรองลงมาของเครื่องสำอางฮาลาล นญิสเป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง สิ่งสกปรกในทางหลักการอิสลาม สารที่เป็นสิ่งสกปรกมุสลิมไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคหรือบริโภคได้ ซึ่งมีสารจำนวนมากที่เป็นนญิส แต่กระนั้นสารทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้มีระดับความสกปรกอยู่ในระดับเดียวกันและด้วยเหตุนี้ นญิสจึงแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ

• นญิสชนิดเบา ได้แก่ ปัสสาวะของเด็กผู้ชายซึ่ง อายุไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ได้กินหรือดื่ม สิ่งอื่นใดที่ทําให้อิ่ม นอกจากน้ำนม
• นญิสชนิดปานกลาง ได้แก่สิ่งที่ไม่อยู่ภายใต้นญิสชนิดเบา หรือนญิสชนิดหนักเช่น โลหิต น้ำหนอง น้ำเหลือง อาเจียน อุจจาระ ปัสสาวะ ซากสัตว์ที่ไม่ได้เชือด (ยกเว้นปลา และตั๊กแตน) แต่ต้องไม่ใช่ซากสัตว์ของนญิสชนิดหนัก และน้ำนมของสัตว์ที่ห้ามรับประทาน รวมถึงสิ่งที่ทําให้มึนเมาก็อยู่ในนญิสระดับปานกลางอีกด้วย
• นญิสชนิดหนัก ได้แก่สุกร สุนัข หรือสัตว์ที่เกิดมาด้วยการผสมพันธุ์กับสุนัขหรือสุกร และทุกสิ่งอัน เนื่องมาจากสัตว์ดังกล่าวนี้

มุตะนญิส คือ สิ่งที่ฮาลาลที่สัมผัสโดยตรงหรือปนเปื้อนกับสิ่งที่เป็นนญิส ด้วยเหตุนี้มุตะนญิส จึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับนญิส

ในการชำระล้างมุตานญิสสามารถชำระได้ในบางกรณีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกๆวิธีจะสามารถนำมาใช้ในการล้างนญิสทุกสิ่งที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางฮาลาลได้ วิธีล้างชำระล้างนญิสประกอบด้วย

• วิธีล้างนญิสชนิดเบา ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วใช้น้ําพรมบนรอยที่เปื้อนนญิสนั้นให้ทั่ว โดยไม่จําเป็นต้องให้น้ำไหลผ่านก็ใช้ได้
• วิธีล้างนญิสชนิดปานกลาง ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่านอย่าง น้อย 1 ครั้งเพื่อให้สีกลิ่น รส หมดไป และในทางที่ดีให้ล้างเพิ่มเป็น 3 ครั้ง
• วิธีล้างนญิสชนิดหนัก ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน 7 ครั้ง แต่ 1 ใน 7 ครั้งนั้น ต้องเป็นน ดินที่สะอาดตามศาสนบัญญัติอิสลามและมีสภาพขุนแขวนลอย หรือน้ำดินสอพอง และแนะนําให้ใช้น้ําดินล้างในครั้งแรก

3. ความปลอดภัย
ความปลอดภัยทางด้านสุขภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด ความปลอดภัยในที่นี้ไม่เพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์สุดท้ายเท่านั้นแต่ยังรวมถึงวัตถุดิบตั้งต้น ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ฉลาก วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเป็นต้น ลูกจ้างในการผลิตเครื่องสำอางฮาลาลจะต้องมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงของโรคและการติดเชื้อก่อโรคต่างๆ และสิ่งที่สำคัญสุดคือ การทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้รับการผลิตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต (GMP)

4. คุณภาพ
คุณภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เครื่องสำอางฮาลาลชิ้นหนึ่งจะสามารถพิจารณาว่าฮาลาล ก็ต่อเมื่อเครื่องสำอางดังกล่าวผลิตได้คุณภาพตรงตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดทางด้านคุณภาพของเครื่องสำอางประเภทนั้นๆ

……………………………………..…….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
…………………………….
ข้อมูลจาก
www.puntofocal.gob.ar
www.nationtv.tv
มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ : อาหารฮาลาล ( มกอช. 8400 – 2550)

การนำเส้นผมของมนุษย์มาเป็นส่วนประกอบในอาหาร

จะเป็นอย่างไรหากคุณเห็นเส้นผมในอาหารที่คุณรับประทาน ? คุณคงขยะแขยงและไม่ต้องการมัน แต่พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า เส้นผมมนุษย์นั้นได้เข้าสู่กระบวนการแปรสภาพให้เป็นส่วนประกอบจริงๆในอาหาร และสารในคำถามนี้คือ แอล-ซิสเทอีน (L-cysteine)

:: แอล-ซิสเทอีน คืออะไร? ::
แอล-ซิสเทอีน เป็นกรดอะมิโนที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ในการทำขนมปัง แอล-ซิสเทอีนถูกนำมาใช้ลดระยะเวลาการผสมเพื่อให้เกิดโด (dough) ของแป้ง (ก้อนแป้งที่มีลักษณะยืดหยุ่นได้ดี เหนียว นุ่ม ไม่ขาดง่าย….ผู้แปล ) ยับยั้งการหดตัวของหน้าพิซซ่าหลังจากกางให้เป็นแผ่นเรียบ และช่วยยับยั้งการหดตัวของโดเนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ หรือการหดตัวของโดเนื่องจากเครื่องปรับอากาศ ยิ่งไปกว่านั้นแอล-ซิสเทอีนยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อผลิตเป็นสารให้กลิ่นเนื้อ (meat flavour) ในผลิตภัณฑ์อย่างเช่น ซุปก้อน

ถึงแม้ว่า แอล-ซิสเทอีนอาจจะมีอยู่ในอาหารจำนวนหนึ่ง แต่สารเหล่านี้ไม่เคยได้รับการระบุว่าเป็นส่วนประกอบในอาหาร เนื่องจากสารชนิดนี้ไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) แต่เป็นตัวช่วยหนึ่งในกระบวนการผลิต (processing aid)

:: แหล่งที่มาของ L-cysteine ::
ในปัจจุบัน แอล-ซิสเทอีนมากกว่า 80% ที่นำมาใช้ทั่วโลกถูกผลิตขึ้นในประเทศจีนซึ่งได้สกัดได้จากเส้นผมของมนุษย์และขนไก่

เส้นผมของมนุษย์นั้นอุดมไปด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิดคือ แอล-ซิสเทอีนและแอล-ไทโรซีน (L-tyrosin) มีแอล-ซิสเทอีนประมาณ 14% ในเส้นผมของมนุษย์ ในระหว่างการสกัดแอล-ซิสเทอีนนั้น โปรตีนเคราติน (keratin) จากเส้นผมมนุษย์จะถูกย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกและน้ำ หลังจากผ่านหลายๆขั้นตอน โปรตีนเคราตินก็ได้เปลี่ยนเป็นแอล-ซิสเทอีน 

:: ศาสนาอิสลามมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับแอล-ซิสเทอีน ::
ตามกฎหมายชารีอะฮฺ สำหรับมุสลิมแล้วการบริโภคส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสิ่งหะรอม จากการสัมภาษณ์มุฟตีของรัฐเปรัก (Perak) Dato’ Seri Dr Harussani bin Zakeria ทำให้ทราบว่า ทุกๆส่วนของร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้และควรได้รับความเคารพ ดังนั้น อาหารที่มีแอล-ซิสเทอีน เป็นส่วนประกอบเป็นสิ่งที่น่าสงสัย เนื่องจาก แอล-ซิสเทอีน อาจจะได้มาจากเส้นผมของมนุษย์ก็เป็นได้

ในมุมมองเรื่องนี้ ผู้บริโภคมุสลิมควรระมัดระวังเมื่อเลือกซื้ออาหารในท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่อาจจะมีแอล-ซิสเทอีนเป็นส่วนประกอบ (เช่น ขนมปัง พิซซ่าและอาหารที่มีกลิ่นเนื้อ)

สิ่งที่ทุกคนควรทราบ นั่นคือ แอล-ซิสเทอีนที่นำมาใช้ในอาหารที่คุณซื้อ อาจจะมาจากเส้นผมของมนุษย์และอาจจะไม่ระบุไว้ในส่วนประกอบของอาหาร
……………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press