สุขภาพที่ดีและระบบอาหารที่สมดุล

ผู้คนจำนวนมากมีอุปนิสัยที่ไม่ดีในการรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคที่แตกต่างกัน เช่น ท้องผูก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอื่น ๆ อีกมากมาย นี่เป็นเพราะพวกเขาละเลยคำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และมารยาทที่ควรยึดมั่นในการรับประทานอาหารอิฟฏอรฺในช่วงเวลาละศีลอด คำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่มีผลดีต่อสุขภาพ คำแนะนำเหล่านั้นยังรวมถึงวิธีการเพื่อป้องกันการสร้างภาระหรือความเมื่อยล้าที่มีต่อร่างกาย ตลอดจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย วิธีการเหล่านี้จึงช่วยให้เราได้รับประโยชน์มหาศาลของการถือศีลอด

เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์จากระบบสุขภาพที่ดีนี้ เราต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบางประการซึ่งเกี่ยวกับนิสัยการกินของเราในช่วงที่อดอาหาร โดยมีคำแนะนำบางส่วนดังต่อไปนี้

รีบเร่งที่จะละศีลอดทันทีเมื่อได้เวลา: สะหฺล์ อิบนุ สะอฺด์ รอฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า ร่อซู้ลของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า 
“ผู้คนทั้งหลายจะยังคงอยู่ในความดี ตราบใดที่พวกเขารีบละศีลอดทันที (ที่ถึงเวลา)” [อัล-บุคอรีย์และมุสลิม]
“อยู่ในความดี” ที่นี่หมายถึงความเป็นอยู่ทั้งในด้านศาสนาและโลกนี้ การรีบละศีลอดทันทีไม่ได้หมายความว่าละเลิกที่จะอดอาหารก่อนเวลาที่กำหนด ความหมายคือทำการละศีลอดโดยไม่ล่าช้าในทันทีหลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน การเร่งรีบเพื่อละศีลอดมีประโยชน์และส่งผลต่อผู้ที่ถือศีลอดที่ทำการอดอาหารเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 10-14 ชั่วโมง ในช่วงเวลาศีลอดผู้ถือศีลอดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาของเหลวและพลังงานที่เขาสูญเสียไปในระหว่างวัน ผู้ที่ล่าช้าในการละศีลอดมักจะได้รับความทุกข์ทรมานจากการลดระดับของน้ำตาลในเลือดซึ่งส่งผลให้เกิดความอ่อนแอโดยรวม

ละศีลอดด้วยอินทผลัม: ผู้ถือถือศีลอดได้รับคำแนะนำจากรอซู่ล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้เริ่มละศีลอดโดยรับประทานอินทผลัมที่สุกหรือแห้ง ประโยชน์จากการทำเช่นนี้คือเป็นการชดเชยน้ำตาลในร่างกายที่เขาใช้ไประหว่างวันในขณะที่อดอาหาร หากเขาไม่สามารถหาอินทผลัมได้ สิ่งที่ดีที่สุดถัดมาคือน้ำสะอาด และอาจดื่มนมหรือน้ำซุปอุ่น ๆ ผู้ถือศีลอดควรหยุดพักสั้น ๆ (โดยการละหมาดมัฆริบ) เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมตัวสำหรับขั้นตอนต่อไปในการรับประทานอาหารหลัก

การรับประทานอาหารหลักหลังจากการละหมาดมัฆริบ: เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีและระบบอาหารที่สมดุล อาหารหลักต้องประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐาน ได้แก่ โปรตีน แป้ง น้ำตาล ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ไม่มีข้อจำกัดในอาหารประเภทใดนอกจากผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคบางชนิดซึ่งจำเป็นต่อเขาในการรับอาหารพิเศษ เราอยากจะให้มุ่งเน้นความสำคัญกับสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้:

• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มากเกินควร
• ลดการบริโภคไขมันโดยรวม โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และของหวาน
• ไม่รับประทานผักดอง เครื่องเทศ และพริกไทยในปริมาณมาก
• รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ
• ไม่ดื่มกาแฟ หรือชามากเกินไปเพราะจะเป็นภาระต่อกระเพาะอาหาร
• หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของวัตถุกันเสีย

วิธีการหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก : เป็นที่รู้กันดีว่าท้องที่ว่างหลังจากอดอาหารเป็นเวลานานจะไม่รับอาหารจำนวนมากพร้อมกันทีเดียว มันสามารถทำได้ในระยะหนึงเท่านั้น การรับประทานอาหารปริมาณมากในครั้งเดียวจึงจะทำให้เกิดอาการปวดท้องและลำไส้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยในรูปแบบของเกิดก๊าซในกระเพาะอาหารและท้องผูก เช่นเดียวกับอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกขี้เกียจและเมื่อยล้า ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้ผู้ที่ละศีลอดปฏิบัติตามสองขั้นตอนนี้:

• ขั้นแรก : รับประทานอินทผลัมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำและเตรียมกระเพาะอาหารสำหรับอาหารจานหลัก
• ขั้นที่สอง : การรับประทานอาหารหลักหลังจากที่ได้ละหมาด

คำเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี : ผู้คนใช้พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีในเวลาที่พวกเขาละศีลอดในเดือนรอมฎอน และเราจะยกมาบางส่วนของพฤติกรรมเหล่านั้น ดังต่อไปนี้ :

• นอนหลับหลังจากรับประทานมื้ออิฟฏอรฺ
• สูบบุหรี่ : ผู้คนจำนวนมากรีบที่จะจุดและเริ่มสูบบุหรี่เร็ว ๆ ในทันทีที่ดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นความคิดที่ (ผิด ๆ) ว่าสิ่งนี้เติมเต็มความกระหายของเขาได้ พวกเขาหลงลืมว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ท้องว่าง ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่เลวร้ายต่อความอยากอาหารของผู้อดอาหาร ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ไม่ดีอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย
• ดื่มชา หรือกาแฟ และน้ำหวานอื่น ๆ ในปริมาณมาก เครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลเสียต่อกระเพาะอาหาร

สุดท้ายนี้ ผู้ถือศีลอดต้องระลึกถึงคำแนะนำของร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสมอ อัล-มิกดาด บิน มะอฺดีย์ กะริบ รอฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า 
“ฉันได้ยินร่อซู้ลของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า ไม่มีภาชนะใดที่มนุษย์จะเติมเต็มสิ่งไม่ดีลงไปได้มากไปกว่าท้องของเขา เป็นการเพียงพอแล้วที่เขาจะบริโภคอาหารแต่น้อยให้พอพยุงร่างกายได้ แต่หากว่าจำเป็นต้องบริโภคมากกว่านั้น ก็ให้แบ่งหนึ่งส่วนสามสำหรับอาหาร หนึ่งส่วนสามสำหรับเครื่องดื่ม และอีกหนึ่งส่วนสามสำหรับลมหายใจ” [อัต-ติรมีซีย์] 
การรายงานนี้ทำให้เราไม่สามารถรับประทานอาหารที่มากเกินควรได้ เนื่องจากเป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในกระบวนการเชือดสัตว์ฮาลาล

• ไม่ควรขว้างปาหรือเหวี่ยงสัตว์ลงบนพื้นอย่างแรง อีกทั้งยังห้ามลับมีดต่อหน้าสัตว์ที่จะทำการเชือด มีรายงานเมื่อครั้งหนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ผ่านไปเห็นชายผู้หนึ่งที่กำลังจะเชือดแพะของเขา โดยที่เขาได้เหวี่ยงแพะของตนเองลงบนพื้น และใช้เท้ากดศีรษะของมันและจากนั้นก็ลับมีดที่จะเชือดไปด้วย ท่านนบีจึงกล่าวว่า “แพะตัวนี้ไม่ได้สิ้นใจตายไปก่อนที่จะถูกเชือดหรอกหรือ? ท่านประสงค์ที่จะฆ่ามันถึงสองครั้งเชียวหรือ? ท่านอย่าได้เชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์อื่น และท่านอย่าได้ลับมีดของท่านต่อหน้าสัตว์ที่จะเชือด” 

• ไม่ควรใช้มีดระหว่างการเชือดกรีดลงไปถึงไขสันหลังหรือตัดส่วนหัวจนขาดจากกันโดยสิ้นเชิงในระหว่างการเชือด ซึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทุบหรือตีบริเวณส่วนหลังของลำคอสัตว์ให้เสียชีวิตภายในครั้งเดียว หรือที่เรียกกันว่า ‘Jhatka’ (เป็นกระบวนเชือดสัตว์โดยใช้ดาบฟันเข้าไปที่ลำคอจากด้านหลังของสัตว์) ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นที่รังเกียจสำหรับชาวมุสลิมอย่างยิ่ง

• ไม่ควรหักคอ ถลกหนัง หรือชำแหละชิ้นส่วนของสัตว์ก่อนที่สัตว์นั้นจะตายสนิท ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า “ท่านอย่าได้รีบเร่งที่จะจัดการกับวิญญาณ (ของสัตว์) ก่อนที่สัตว์เหล่านั้นจะอยู่ในสภาพสิ้นชีวิต” บางครั้งในธุรกิจการค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน โรงเชือดสัตว์บางแห่งก็รีบชำแหละชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ขณะที่สัตว์ยังมีชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือว่าผิดหลักการ ‘ซะบีหะฮฺ’ 

• ไม่ควรใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ชำรุดเสียหายในกระบวนการเชือด ‘ซะบีหะฮฺ’ ท่านนบีมุฮัมมัดได้กำชับไว้ว่า มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมและต้องถูกเก็บซ่อนไว้จากสัตว์ที่จะเชือด 

• ไม่ควรเชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์ตัวอื่นหรือตัวที่จะถูกเชือดถัดไป วิธีการเช่นนี้ถือว่าผิดหลักมนุษยธรรมในขั้นตอนและกระบวนการเชือดสัตว์ที่ถูกต้อง

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาและวิธีการที่ถูกต้องในกรรมวิธีการเชือดสัตว์ ‘ซะบีหะฮฺ’ ที่ต้องดำเนินไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตั้งแต่การกล่าวนามผู้เป็นเจ้าก่อนเชือด เพื่อเน้นย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและความจริงที่ว่าทุกชีวิตนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ การกล่าว ‘ตัสมียะฮฺ’ ยังช่วยกระตุ้นความรู้สึกอ่อนโยนและเมตตาธรรมเพื่อป้องกันมิให้ผู้เชือดกระทำการสิ่งใดที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าสัตว์ที่กำลังถูกเชือดในนามของพระเจ้านั้นมีเป้าหมายเพียงเพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวถือว่าต้องห้ามในอิสลาม

…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ส่วนประกอบที่ถูกซ่อนไว้กับประโยชน์ของเครื่องหมายรับรองฮาลาล

ฉลากสินค้านั้น สร้างมาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ด้วยเหตุนี้ รายละเอียดข้อมูลในฉลากควรมีความสมบูรณ์ และมีความหมายที่ชัดเจน

ฉลากนอกจากการออกแบบเพื่อให้ดึงดูดใจผู้บริโภคแล้ว ยังมีฉลากโภชนาการและส่วนประกอบที่สำคัญของสินค้าอีกด้วย ตรงบริเวณส่วนประกอบโดยส่วนใหญ่ไม่ระบุแหล่งที่มาของส่วนประกอบและมีส่วนประกอบบางประเภทถูกซ่อนไว้ ไม่ระบุไว้บนฉลาก อย่างเช่น สารที่ช่วยในกระบวนการผลิต (processing aids) สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน (anticaking agents) สารที่ใช้เป็นตัวพา (carriers) และส่วนประกอบเสริมอื่นๆ (incidental ingredients) ที่มาจากหลากหลายแหล่ง 

ส่วนประกอบที่ซ่อนไว้จึงถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้บริโภคมุสลิม ยกตัวอย่าง ในฉลากไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของสเตียเรท อาทิ เมกนิเซียมสเตียเรท (magnesium stearates) หรือแคลเซียมสเตียเรท (calcium stearates) ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตลูกกวาดและหมากฝรั่ง ผู้ผลิตบางรายในยุโรปก็ใช้ไขมันพืชหรือไขมันสัตว์มากถึง 5 % ในกระบวนการผลิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังระบุในฉลากว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นเป็นช็อกโกแลตบริสุทธิ์ แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุรายการส่วนผสมทั้งที่เป็นส่วนสำคัญและส่วนไม่สำคัญทุกอย่างลงไปบนฉลาก ดังนั้นการรับรองมาตรฐานฮาลาลในผลิตภัณฑ์ รวมถึงเครื่องหมายฮาลาล และตราฮาลาลที่เหมาะสม สามารถช่วยไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภคได้

เครื่องหมายฮาลาลที่อยู่บนผลิตภัณฑ์อาหารจะช่วยให้ผู้บริโภคมุสลิมไม่จำเป็นต้องคอยท่องรายการ E-number (รายการวัตถุเจือปนอาหารที่ได้รับอนุญาตใส่เข้าไปในอาหาร) ที่น่าสงสัยของผลิตภัณฑ์ในยุโรป หรือไม่ต้องคอยท่องรายการส่วนผสมทางเคมีทุกครั้งเวลาออกไปจับจ่ายซื้อของในท้องตลาด เพราะเครื่องหมายฮาลาลจากหน่วยงานที่ได้รับความน่าเชื่อถือไม่เพียงแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ฮาลาลแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลิตภัณฑ์ผ่านการตรวจสอบ อนุมัติและรับรองจากสถาบันที่รับผิดชอบอีกด้วย

…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

วิสัยทัศน์ใหม่ฮาลาลประเทศไทย ก้าวหน้าด้วยแบรนด์ฮาลาลเพชร

ปาฐกถาพิเศษโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

จบไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่กับการจัดงาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2018 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมและได้รับการตอบรับด้วยดีทั้งจากไทยและต่างประเทศ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆเยอะแยะมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การปาฐกถาพิเศษของ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ วิสัยทัศน์ใหม่ฮาลาลประเทศไทย ก้าวหน้าด้วยแบรนด์ฮาลาลเพชร” ซึ่งท่านได้เริ่มกล่าวถึงที่มาของงานทางด้านฮาลาลเริ่มต้นจากบทบัญญัติศาสนาที่มาจากอัลกุรอานซึ่งกล่าวถึงคำว่า حلال จำนวน 6 ครั้งในโองการต่างๆและก้าวมาสู่มาตรฐานฮาลาลในปัจจุบัน 
.
ประเทศไทยเริ่มกระบวนการรับรองฮาลาล เมื่อปี พ.ศ. 2492 จากการรับรองกระบวนการเชือดสัตว์ ต่อมาปี พ.ศ. 2541 มีการประกาศใช้มาตรฐานฮาลาล มอก. 1701 –2541 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศของไทย ในกระบวนการรับรองฮาลาลประเทศไทย ประชากรมุสลิมทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรองฮาลาลที่มาจากโครงสร้างการคัดเลือก เริ่มตั้งแต่มุสลิมในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยคัดเลือกอิหม่ามประจำมัสยิด อิหม่ามคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการอิสลามประจำจังหวัดคัดเลือกกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและจุฬาราชมนตรีซึ่งทำหน้าที่ลงนามอนุมัติการรับรองฮาลาลเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะได้รับการรับรอง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดูแลงานทางด้านฮาลาล ที่ดำเนินงานภายใต้แนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” 

ในส่วนงานด้านวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในงานฮาลาลประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ฮาลาลไทย เนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการผลิตที่มีการเจือปนสิ่งต้องห้ามในผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ด้วยเหตุนี้การใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจพิสูจน์สภาพฮาลาลและงานการมาตรฐานฮาลาลอย่างระบบ HAL-Q ก่อนการขอการรับรองฮาลาล รวมทั้งงานวิจัยและพัฒนาสบู่ดินเพื่อชำระล้างนญิสหนักในอุตสาหกรรม จึงมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทย

ยุทธศาสตร์การนำฮาลาลประเทศไทยก้าวไกลสู่สากลนั้น ประเทศไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานฮาลาลมาโดยตลอด ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานทางด้านฮาลาลอย่างสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามมติคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยและได้ผลักดันสู่มาตรฐาน Thailand Diamond Halal

Thailand Diamond Halal หรือฮาลาลเพชร มีการเพิ่มมาตรฐานใหม่ๆรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจ เปลี่ยนวิสัยทัศน์ฮาลาลประเทศไทยใหม่ จากโลโก้ฮาลาล มาเป็นแบรนด์ฮาลาล จากสินค้าฮาลาลจำหน่ายตลาดมุสลิมมาสู่สินค้าฮาลาลเพื่อทุกคน (Halal for All) โดยนำแนวทางฮาลาลแม่นยำ (Precision Halalization) ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมศักยภาพฮาลาลของไทย อย่าง “ระบบ SPHERE” ซึ่งเป็นระบบศูนย์ข้อมูลการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ด้านฮาลาล ด้วยการนำระบบ Big DATA ที่เชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาลไว้ในทุกกระบวนการตั้งแต่การยื่นขอรับรองการผลิต การตรวจสอบ ไปจนถึงการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน การนำ App HALAL ROUTE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวฮาลาลของไทย และฐานข้อมูล H-Number ซึ่งหมายถึง Halal Number ที่เป็นฐานข้อมูลวัตถุเจือปนหรือสารเติมแต่งฮาลาลที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัมผัส สี กลิ่นรส การปรับปรุงคุณภาพและการเก็บรักษาเข้ามาทดแทนฐานข้อมูล E-Number ที่ใช้กันโดยทั่วไปในอุตสาหกรรมซึ่งมีทั้งที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล เพื่อเป็นการลดการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการในการยืนยันสภาพฮาลาลของวัตถุดิบ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและเพิ่มประสิทธิภาพการรับรองฮาลาลประเทศไทย เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของตลาดสินค้าฮาลาล ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลต่อไป

…………………………………………….
#THAILANDHALALASSEMBLY2018
#PrecisionHalalization


ฟิกฮ์ อิสติฮาละฮ์ การบูรณาการวิทยาศาสตร์กับหลักนิติศาสตร์อิสลาม

แนวคิดอิสติฮาละฮ์นั้นเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปใช้ร่วมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาทางออกและกำหนดท่าทีในเรื่องฮาลาลและหะรอมของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสังคมในปัจจุบัน

ทางทีมฝ่ายบริการวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานีได้จัดทำ e-book เล่มเล็กเกี่ยวกับความเข้าใจในประเด็นอิสติฮาละฮ์กับการบูรณาการทางด้านวิทยาศาสตร์และหลักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาของ Mohammad Aizat Jamaludin จากสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ฮาลาล มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย และ Mohd Anuar Ramli จากแผนกฟิกฮ์และอุศูล คณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา 

โดยเนื้อหาใน e-book เล่มเล็กชิ้นนี้ เป็นการวิเคราะห์โดยใช้หลักนิติศาสตร์อิสลามกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาการอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภทกับการนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยในการอธิบายความรู้ และสร้างความเข้าใจในประเด็นใหม่ๆของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่เชื่อมโยงกับหลักนิติศาสตร์อิสลาม e-book เล่มเล็กชิ้นนี้ จะโฟกัสในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอลกอฮอล์และเจลาตินในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดอิสตะฮาละฮ์กับวิทยาศาสตร์

ทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า e-book เล่มเล็กเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับท่านและสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป อินชาอัลลอฮ

…………………………………………………………………
Link e-book 
https://drive.google.com/open…

ปรัชญาเรื่องอาหารในอิสลาม

อาหารเป็นมากกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต อาหารถือว่าเป็นแหล่งที่มาขั้นปฐมภูมิในการเติมเต็มสารัตถะทางจิตวิญญาณของเราและการทำงานจากภายในที่จำเป็นต้องมีสำหรับทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง เพื่อการตระหนักรู้และชีวิตที่สมดุล แท้จริงการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เน้นย้ำในอัล-กุรอานและอัส-สุนนะฮฺต่อบทบาทของอาหารในความสัมพันธ์ของมนุษย์กับผู้เป็นเจ้าของเขา ตลอดจนในวิธีการที่มนุษย์จะจัดการกับเรื่องนี้ ตั้งแต่การจัดหาไปจนถึงการบริโภค และขอบเขตของผลกระทบที่มีต่อชีวิตที่จะยกระดับจิตสำนึกและเติมเต็มความรู้สึกด้วยความเกรงกลัวต่อผู้เป็นเจ้า ท่านลองอ่านจากสูเราะฮฺ อัร-เราะอฺดฺ ที่ว่า 

“และพระองค์คือผู้ทรงแผ่แผ่นดิน และในนั้นทรงทำให้มันมีภูเขามั่นคง และลำน้ำมากหลาย และจากพืชผลทุกชนิดทรงให้มีจำนวนคู่ ทรงให้กลางคืนครอบคลุมกลางวัน แท้จริงในการนั้นแน่นอนย่อมเป็นสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ใคร่ครวญ,และในแผ่นดินมีเขตแดนติดต่อใกล้เคียงกัน และมีสวนพฤกษา เช่น ต้นองุ่น และต้นที่มีเมล็ด และต้นอินทผลัมที่มาจากรากเดียวกัน และมิใช่รากเดียวกัน ได้รับแหล่งน้ำเดียวกัน และเราได้ให้บางชนิดดีเด่นกว่าอีกบางชนิดในรสชาติ แท้จริงในการนั้น แน่นอนเป็นสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ใช้ปัญญา” [13:3-4]

อาหารในอายะฮฺนี้ เช่นเดียวกับอายะฮฺอื่น ๆ ถูกเชื่อมโยงกับห่วงโซ่แห่งการสร้าง เพราะมันมิได้สิ้นสุดเพียงแค่นี้ ยิ่งไปกว่านั้นอัล-กุรอานได้บอกเราว่าการทดสอบครั้งแรกที่มนุษย์ต้องเผชิญ – ขณะที่อยู่ในสวนสวรรค์ – นั้นเกี่ยวข้องกับต้นไม้ต้นหนึ่ง อันเป็นแหล่งที่มาของอาหาร ดั่งเช่นชาวอิสราเอลต้องตกอยู่ในความทุกข์ยากเนื่องจากพวกเขาไม่ชอบที่จะรับประทานอาหารที่พระองค์ทรงมอบให้กับพวกเขา ซึ่งกำหนดช่วงเวลาหนึ่งและยืนกรานขอให้นบีมูซาขอต่ออัลลอฮฺเพื่อให้เพิ่มความหลากหลาย เหมือนที่สานุศิษย์ของนบีอีซาได้รับอาหารจากสวรรค์ แต่เนื่องด้วยพวกเขาไม่ได้เอาใจใส่ต่อคำแนะนำของท่านนบีอีซาที่จะแสวงหาความมีศรัทธาอันแรงกล้าผ่านการกระทำมิใช่ความมหัศจรรย์ … พวกเขาได้รับการบอกกล่าวว่ าพวกเขาจะถูกตัดสินอย่างแน่นอนในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ หากว่าพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความอกตัญญูต่ออัลลอฮฺ และเมื่อมันถึงช่วงเวลาสุดท้ายและสาส์นสุดท้ายของผู้เป็นเจ้าได้ประทานลงมา อัล-กุรอานและอัส-สุนนะฮฺเสนอสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการให้เหตุผลสำหรับการกำหนดเรื่องอาหารและการกินในฐานะว่าเป็นส่วนที่สำคัญของศาสนาและชีวิต หลักฐานสำหรับเรื่องนี้ในตัวบทที่ถูกประทานลงมาในอิสลามนั้นมีมากมาย มีตัวอย่างมากกว่า 100 อายะฮฺและหะดีษได้ให้คำตักเตือนที่เชื่อมโยงโดยตรงกับอาหารและการกิน รวมไปถึงหะดีษศอเฮี้ยะฮฺที่เตือนถึงการบริโภคอาหารหะรอม (สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ได้รับด้วยทางที่ผิดหลักนิติธรรม มีความอยุติธรรมตลอดจนช่องทางที่ได้รับผลประโยชน์) ที่จะทำให้การอิบาดะฮฺของคน ๆ หนึ่งนั้นไร้ผล

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงมีการเชื่อมโยงกันนี้ระหว่างอาหารที่ไม่ดีกับสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียในความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺ ตะอาลา? เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อ กระบวนการผลิต ตลอดจนการบริโภค คำสอนต่าง ๆ ของอิสลามเป็นเหมือนคำพยากรณ์ เหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์สามารถที่จะแทรกแซงสภาพแวดล้อมและปรับเปลี่ยนแหล่งอาหารได้มากขึ้นโดยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะรวมไปถึงการเปลี่ยนธรรมชาติไปในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตด้วยกลไกลทางพันธุกรรม นับตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาบวกกับการดำเนินการทางธุรกิจที่แข่งขันกันมากขึ้นบริษัทขนาดใหญ่และข้ามชาติต่างแสวงหาผลกำไรเป็นเป้าหมายหลักของพวกเขา ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเวลานี้ที่จะบรรลุถึงสิ่งที่เรากำลังประสบกับอันตรายในปัจจุบันจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งในสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของเรา ความขาดแคลนในเรื่องอาหารที่เพิ่มขึ้นรอบโลกและการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นของความทุกข์ยากที่ไม่รู้ถึงการเยียวยาความเจ็บป่วยนี้มาก่อน

นี่ไม่ใช่สาส์นแห่งความวิบัติ แต่มันเป็นเรื่องที่มีความหวังและเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าเราทุกคนสามารถกระทำบางสิ่งที่จะปรับปรุงให้สถานการณ์ของโลกดีขึ้นและเป็นแรงบันดาลให้กับคนอื่นเสียมากกว่า สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเริ่มนั่นคือจะต้องรับประทานอาหารในวิถีที่ฮาลาล เรื่องนี้อาจจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่มันเป็น แต่ถ้าเรานึกถึงสิ่งที่มันห้ามมิให้มีการละเมิด การทำร้ายและการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ใช่แต่เพียงมนุษย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงสัตว์ตลอดจนสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน เราจะต้องเข้าใจว่าทำไม นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนการเรียกร้องของผู้รู้จำนวนมากและองค์กรหลายแห่งในเรื่องการรับประทานออร์แกนิค (สารอินทรีย์) และการบริโภคอย่างชาญฉลาด

แต่ประการสำคัญที่สุดต้องรู้ว่ามันทั้งหมดเริ่มต้นด้วยกับการสนับสนุนทัศนคติและการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องเกี่ยวกับการกินและอาหาร มันเป็นการขาดการอบรมศีลธรรมในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ในหลายวัฒนธรรมไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งได้นำอาหารกลับไปสู่สัญลักษณ์แห่งความละโมบและความตาย เราจะต้องทำงานร่วมกันที่จะทำให้อาหารนั้นกลับมาเป็นสัญลักษณ์และคำเปรียบเปรยแห่งความเอื้อเฟื้อ ความรัก ความทุ่มเท และความเห็นแก่ผู้อื่นอีกครั้ง เราทุกคนทำได้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

แนวทางปฏิบัติสำหรับการเชือดสัตว์ฮาลาล (ซะบีหะฮฺ) ในทางอุตสาหกรรม

ภายใต้บทบัญญัติและนิติศาสตร์อิสลามจะมีแนวทางปฏิบัติสำหรับการเชือดสัตว์ฮาลาล (ซะบีหะฮฺ) ทั้งที่เป็นข้อกำหนดพื้นฐานซึ่งเป็นข้อบังคับ และข้อกำหนดเพิ่มเติมที่ไม่ได้บังคับแต่อยู่ในสถานะที่ได้รับการส่งเสริมให้ปฏิบัติ 

::ข้อกำหนดพื้นฐาน::
• ปศุสัตว์และสัตว์ปีกจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ฮาลาลและมีชีวิตอยู่จนถึงกระบวนการเชือด
• การเชือดจะต้องกระทำโดยชาวมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติปัญญาครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนี้ผู้เชือดจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมวิธีการเชือดตามชนิดและขนาดของสัตว์ที่จะเชือด
• ขณะเชือดจะต้องกล่าวนามของผู้เป็นเจ้า (บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร) โดยผู้ดำเนินการเชือดเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา
• การเชือดสัตว์จะต้องเริ่มที่ส่วนหน้าของลำคอด้วยการตัดผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดดำใหญ่ หลอดลม และหลอดอาหาร แต่จะต้องไม่ตัดถึงเส้นประสาทไขสันหลังที่อยู่หลังกล้ามเนื้อลำคอ
• มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมและสามารถใช้ตัดได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้สัตว์รู้สึกทรมานจากการเชือด
• เลือดจะต้องไหลออกมาอย่างสมบูรณ์และสัตว์จะต้องเสียชีวิตเนื่องจากการเสียเลือด ไม่ใช่เสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่น เช่น พิษบาดแผล ความเจ็บปวด หรืออุบัติเหตุ

::ข้อกำหนดเพิ่มเติม::
• ปศุสัตว์หรือสัตว์ปีกที่นำมาเชือดควรมีสุขภาพที่ดีปราศจากโรคและการติดเชื้อ
• ก่อนกระบวนการเชือด ปศุสัตว์หรือสัตว์ปีกควรได้รับน้ำดื่มและการปฏิบัติด้วยความเมตาตามหลักมนุษยธรรม เพื่อให้สัตว์ที่เชือดได้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ไม่เครียด หรือไม่มีอาการตื่นเต้น
• ผู้เชือดควรหันหน้าไปทางนครมักกะฮฺ (กิบละฮฺ) ขณะทำการเชือด
• สามารถใช้วิธีที่ลดความอ่อนไหวของสัตว์ (Desensitize) หรือใช้วิธีควบคุมการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่จะเชือดด้วยการจับมัดตามความเหมาะสม เพื่อควบคุมสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะทำการเชือด ‘ซะบีหะฮฺ’ หากสัตว์เกิดเสียชีวิตเนื่องจากการทำดีเซ็นซีไทส์ ชิ้นส่วนของสัตว์นั้นจะถือว่าต้องห้าม (หะรอม) แก่การบริโภคโดยชาวมุสลิม
• ไม่ควรตัดหรือชำแหละชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งก่อนเชือดและหลังเชือดจนกว่าสัตว์จะอยู่ในสภาพที่สิ้นชีวิตอย่างสมบูรณ์

::สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ::
• ไม่ควรปล่อยให้สัตว์หิวโดยไม่ให้อาหารและน้ำแก่สัตว์
• ไม่ควรลับมีดขณะจับสัตว์มารอเชือด
• ไม่ควรลับมีดและสร้างความหวาดกลัวต่อหน้าสัตว์ที่กำลังจะถูกเชือด
• ไม่ควรเชือดจนทำให้ศีรษะของสัตว์ตัดขาดจากกัน หรือเชือดลึกไปจนถึงกระดูกลำคอของสัตว์
• ไม่ควรหักคอของสัตว์ขณะที่เลือดกำลังไหลอยู่
• ไม่ควรถลกหนังขณะที่สัตว์ยังมีชีวิตอยู่
• ไม่ควรใช้มีดที่ไม่คมหรือใช้มีดที่ไม่เหมาะสมกับขนาดของสัตว์ในการเชือดซะบีหะฮฺ

…………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ฉลากและบรรจุภัณฑ์กับข้อควรระวังในการผลิตอาหารฮาลาล

ในกระบวนการผลิตอาหารที่มีหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์อาหารในรูปแบบที่แตกต่างกัน แม้จะดูเหมือนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลโดยตรง แต่ประเด็นที่เป็นปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ก็มีส่วนสำคัญและส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้บริโภคมุสลิมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุอาหารบางชนิดสร้างความคลางแคลงใจถึงสถานะของฮาลาล หลายกรณีที่สเตียเรทที่มีแหล่งที่มาทั้งจากสัตว์หรือจากพืช อาจถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตถุงพลาสติกและภาชนะ ขี้ผึ้งและสารเคลือบอื่นที่นำมาประยุกต์ในการผลิตพลาสติก กระดาษ ไปจนถึง ถ้วยหรือจานโฟม อาจใช้ไขมันสัตว์ที่อยู่ในระยะการอบอ่อนโดยใช้ความร้อนสูง ซึ่งความร้อนดังกล่าวสูงมากพอที่จะขจัดร่องรอยมิให้ทราบว่า ในขั้นตอนก่อนหน้ามีการใช้วัตถุดิบที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์มาก่อน ส่วนกระป๋องและถังโลหะก็อาจมีโอกาสได้รับการปนเปื้อนจากไขมันสัตว์เช่นกัน

นอกจากนี้ การขึ้นรูป การม้วน และการตัดแผ่นเหล็กในกระบวนการผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องใช้น้ำมันในขั้นตอนการผลิต ซึ่งน้ำมันที่ใช้อาจเป็นน้ำมันที่ได้จากสัตว์ บ่อยครั้งที่ภาชนะอย่างถังเหล็กจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งถังเหล็กเหล่านั้นอาจเคยบรรจุอาหารที่มีเนื้อสุกรหรือไขมันจากสุกรเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้ว่าถังเหล็กจะผ่านการทำความสะอาดอย่างเคร่งครัดจนเราคิดว่าสะอาดแล้วก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อนต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาล

ฉลากและการพิมพ์บนอาหารก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องคำนึง ไม่ว่าจะเป็นฉลากแบบกระดาษหรือแบบพลาสติก กาวทั่วไปหรือกาวร้อนที่นำไปใช้ติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ การพิมพ์ฉลากบนผลิตภัณฑ์โดยตรงด้วยสารหรือน้ำหมึกที่สามารถรับประทานได้ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับกระบวนการพิมพ์ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย หากแต่วัตถุดิบที่ใช้พิมพ์เหล่านี้อาจมีส่วนประกอบที่ไม่ได้รับการอนุมัติตามมาตรฐานอาหารฮาลาล ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ผู้ผลิตเหล่านี้ทำการละเมิดข้อกำหนดของมาตรฐานฮาลาลหรือไม่ หากกระบวนการพิมพ์มีการไหลซึมเข้าไปในอาหาร แม้จะมีปริมาณที่เล็กน้อยก็ตาม? เป็นไปได้ว่าหน่วยงานที่รับรองฮาลาลบางหน่วยงานในหลายประเทศอาจพิจารณาว่า การรั่วซึมเหล่านี้สามารถทำให้สถานะฮาลาลของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นโมฆะได้ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานรับรองฮาลาลหลาย ๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะในประเทศนำเข้าจะให้ความสำคัญและให้ความใส่ใจในเรื่องของการปนเปื้อนข้ามในระหว่างกระบวนการบรรจุหีบห่อด้วยเช่นเดียวกัน

………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีฮาลาลของประเทศไทย

งานวิทยาศาสตร์ฮาลาล เริ่มต้นจากปัญหาข่าวลือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ทาด้วยน้ำมันหมู นี่คือจุดเริ่มต้นของการค้นหาความจริงโดยใช้กระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์และความรู้หลักศาสนบัญญัติอิสลามมาพัฒนาเป็นวิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งปัจจุบันมีงานต่างๆที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนามาอย่างมากมาย ต่อยอดจากงานเดิมที่ยกระดับขึ้น 
.
เมื่อเข้าสู่ยุค 4.0 มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากมายที่พร้อมจะต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีฮาลาล พัฒนาและยกระดับสินค้าฮาลาลจากประเทศไทย ส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารฮาลาลนั่นคือการขับเคลื่อนโลจิสติกส์ทางด้านข้อมูลที่ชื่อว่า HABIDAH ที่พัฒนาโดยทีมงานจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเชียงใหม่

HABIDAH ย่อมาจากคำว่า Halal Big Data House เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้รองรับและวิเคราะห์ข้อมูลด้านฮาลาลทั้งระบบ ซึ่งแต่เดิมยังเป็นข้อมูลที่กระจัดกระจายไปตามองค์กรต่างๆ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในทางตรงข้ามหากระบบมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งในส่วนของภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรศาสนา สถานประกอบการและผู้บริโภค จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางด้านสารสนเทศขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง และช่วยยกระดับมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดย HABIDAH เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่สมบูรณ์แบบและสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมและทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เรียกว่า ระบบ SPHERE หรือ System Protocol for Halal Electronic Resource Exchanges โดยระบบจะทำการรวบรวมและแลกเปลี่ยนในรูปแบบการให้และรับข้อมูลในเวลาเดียวกันเพื่อสามารถนำไปประมวลผลและทำงานให้ทันสมัยตลอดเวลา

หากจะเปรียบเทียบแล้ว ข้อมูลต่างๆที่มีในอุตสาหกรรมนั้น เปรียมเสมือนปุ๋ย น้ำและแร่ธาตุต่างๆ ที่ถูกดูดซึมโดยต้นไม้เล็กๆต้นหนึ่งซึ่งก็คือระบบ SPHERE และเมื่อต้นไม้ได้เจริญเติบโตจนสมบูรณ์และสามารถผลิดอกที่หว่านดำ จนสามารถนำไปรับประทานได้ จนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่เรียกว่า HABIDAH (Halal Big Data House) นั่นเอง

…………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
Ref : www.halalthai.comhttps://www.youtube.com/watch?v=adj_Ehk2Fd0

ฮาลาลมีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมุสลิมเป็นจำนวนมาก และจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตกียวในปี 2020 สำนักข่าวจาร์กาต้ารายงานว่า ความนิยมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในหมู่นักท่องเที่ยวมุสลิม ในปี 2017 มีจำนวน 700,000 คน ซึ่งร้อยละ 27 มาจากอินโดนีเซีย ตามดัชนีอันดับนักท่องเที่ยวมุสลิม MasterCard-Crescent (JMTI) คาดการว่า จะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นล้านคนในปี 2018 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเป็น 40 ล้านคนภายในปี 2020 จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ด้วยจำนวนประชากรมุสลิมคิดเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรโลกจึงเหมาะสมที่จะดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ฮาลาล มีเดีย เจแปน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททางด้านสื่อ ที่ให้ข้อมูลที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม เช่น สถานที่ละหมาด อาหารฮาลาล ผลิตภัณฑ์และอื่นๆ เพื่อให้ญี่ปุ่นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมุสลิม อากิฮิโระ ชูโกะ (Akihiro Shugo) ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า ‘เราสนับสนุนให้บริษัท และรัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาลและต้อนรับนักท่องเที่ยวมุสลิมให้เข้ามาในประเทศมากยิ่งขึ้น เรารับผิดชอบในการให้คำแนะนำร้านอาหารและร้านค้าเกี่ยวกับวิธีเข้าถึงลูกค้าที่เป็นมุสลิม’

ฮาลาล มีเดีย เจแปน เริ่มต้นในปี 2014 เนื่องจากความต้องการข้อมูลด้านภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆจากญี่ปุ่น แม้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ‘นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เพิ่มขึ้น 4-5 เปอเซนต์แล้วผู้ที่เข้ามาทำงาน ทำธุรกิจและศึกษาต่อจากประเทศมุสลิมก็เพิ่มขึ้นในประเทศนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นความต้องการข้อมูลประเภทนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้’ อากิฮิโระ กล่าวเสริม

ทุกวันนี้ ฮาลาล มีเดีย เจแปน เป็นผู้สนับสนุนหลักให้เกิดร้านอาหารที่เป็นมิตรกับมุสลิมให้มีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นในประเทศ ‘เรายังเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องให้กับลูกค้ามุสลิม ดังนั้นการรับผิดชอบของเราจึงค่อนข้างมาก’ การเห็นนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่นนั้นจะต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นญี่ปุ่นทำมันได้อย่างไร อากิฮิโระ อธิบายว่า

**การฝึกปฏิบัติรองรับฮาลาล**
ก่อนอื่นอากิฮิโระอธิบายว่าต้องจัดทำที่พักที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซีย องค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น (JNTO) รายงานว่านักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 32.1% ในปี 2016 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมประมาณ 209 ล้านคนจากประชากรมุสลิมทั้งหมด 1.8 พันล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 24 % ของประชากรโลกทั้งหมด 

“ในปี 2016 มีนักท่องเที่ยวมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 60 % เดินทางไปยังญี่ปุ่น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวมาจากอินโดนีเซีย 27 %” (Jakatar Post)

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมานี้เนื่องมาจากประเทศอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกมีประมาณ 209 ล้านคนจากประชากรมุสลิมทั่วโลก 1.8 พันล้านคน หรือประมาณ 24% ของประชากรโลกทั้งหมด

คาดการณ์ว่าประชากรมุสลิมจะเติบโตเร็วกว่าประชากรอื่นในโลก ดังนั้นการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาล สะท้อนให้เห็นมูลค่าของผลิตภัณฑ์ฮาลาลในปี 2016 มีประมาณ 45.3 พันล้านเหรียญสหรัฐและคาดว่าจะเติบโตประมาณ 29% ในปี 2020

ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมเพิ่มขึ้นทั่วโลก ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับมุสลิมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากสถิติของ Statista สถิติการวิจัยด้านการตลาดและธุรกิจอัจฉริยะ รายงานว่า อาหารฮาลาลมีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 และคาดว่าจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023

**มุมมองฮาลาลของชาวญี่ปุ่น** 
“คนญี่ปุ่นมองว่าฮาลาลเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น” อากิฮิโระกล่าวว่า ‘พวกเขายังคิดว่าอาหารฮาลาลรสชาติไม่ดีเท่ากับอาหารที่ไม่ฮาลาล แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนไปเนื่องจากมีความเข้าใจเรื่องฮาลาลเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน’ โดยทั่วไปอาหารในญี่ปุ่นนั้นไม่ฮาลาล ‘ยกตัวอย่างเครื่องปรุงรสเช่น มิรินจากไวน์ข้าว ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่เป็นกุญแจสำคัญของซอสเทอริยากิ มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังเพิ่มแอลกอฮอล์ในมิโซะหรือซอสถั่วเหลืองเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา นี่คือจุดที่ มีเดีย ฮาลาล เจแปน เข้ามา อากิฮิโระอธิบายว่า “ เราแนะนำส่วนประกอบฮาลาลในญี่ปุ่นเช่น เครื่องปรุงที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือทำผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่นำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และบอกพวกเขาถึงวิธีรับส่วนประกอบเหล่านี้ในราคาที่ถูกกว่า ‘โดยทั่วไปอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาลจะมีราคาสูงกว่า เนื่องจากความพร้อมที่มีอย่างจำกัดในญี่ปุ่น’

**การตั้งกฎระเบียบ**
เจแปนไทมส์รายงานว่า ในปัจจุบันยังไม่มีกฎข้อบังคับในการออกใบรับรองฮาลาลสำหรับผลิตภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในญี่ปุ่น มาตรฐานฮาลาลในการออกใบรับรองแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับองค์กรที่ออกใบรับรอง อากิฮิโระยืนยันว่า ‘ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและออกใบรับรองฮาลาลในภาคสาธารณะของญี่ปุ่น หน่วยรับรองฮาลาลนั้นยังเป็นหน่วยงานเอกชนและด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงสามารถออกใบรับรองในญี่ปุ่นได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุถึงจำนวนผลิตภัณฑ์ หรือบริษัทที่ได้รับการรับรองฮาลาลในญี่ปุ่น ปัจจุบันการเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับมุสลิม จึงได้พัฒนาเว็บไซต์และเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ halalgourmet.jp ช่วยให้ผู้เยี่ยมชมหรือลูกค้าสามารถเลือกตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาได้” เขากล่าวและรู้สึกว่ามาตรฐานฮาลาลระดับชาติที่เป็นหนึ่งเดียวสามารถทำได้ในญี่ปุ่นหากภาครัฐประกาศกฎระเบียบอย่างเป็นทางการ

ความจำเป็นในการออกใบรับรองฮาลาลหรืออย่างน้อยที่สุด กฎระเบียบด้านฮาลาลไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์สำหรับมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้อีกด้วย อากิฮิโระยอมรับว่าไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการของจำนวนชาวมุสลิมในปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น “เป็นเพราะเราไม่ได้ระบุการนับถือศาสนาในบัตรประจำตัวประชาชนของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงไม่มีใครบันทึกจำนวนประชากรมุสลิมที่แน่นอนในญี่ปุ่นได้ แต่ประมาณการอยู่ระหว่าง 100,000 ถึง 200,000 คนและรวมถึงมุสลิมญี่ปุ่น 10,000 ถึง 20,000 คน

อากิฮิโระกล่าวว่า สถิติเชิงบวกของนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการปรับปรุงและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในญี่ปุ่น ความพยายามของญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมุสลิมเป็นอย่างมาก เรารับรู้สิ่งนี้ได้จากการจัดอันดับให้เป็นประเทศอับดับสี่ของโลกสำหรับประเทศที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม การจัดอันดับไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม ใครจะไปรู้ว่าประเทศญี่ปุ่น อาจนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการรับรองฮาลาลให้เป็นมาตรฐานสำหรับส่วนที่เหลือของโลก ‘เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้’ อากิฮิโระกล่าวสรุปด้วยรอยยิ้มเล็กๆที่รับรู้ได้

……………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
โดย Su Aziz In Focus, digital magazine
ที่มา : https://infocus.wief.org