อาหารที่ต้องห้ามจากตัวบทอัลกุรอาน

**ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม**

หลักคำสอนโดยทั่วไปจากอัลกุรอานนั้น กำหนดว่า โดยพื้นฐาน แล้วอาหารทั้งหมดถือว่า ฮาลาล ยกเว้น สิ่งที่ได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าหะรอม อาหารทั้งหมดจึงถูกทำให้ฮาลาลตามที่ตัวบทอัลกุรอานได้ระบุไว้

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงบริโภคสิ่งที่ดีและสะอาดที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด หากเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ” (สูเราะฮฺที่ 2 อายะฮฺที่ 172)

ส่วนอาหารที่ได้รับการระบุเจาะจงว่าเป็นที่ต้องห้ามในอัลกุรอาน มีตามโองการต่าง ๆ ดังนี้

“พระองค์ทรงห้ามพวกเจ้าเพียงแต่สัตว์ที่ตายเองและเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกกล่าวอุทิศในนามอื่นนอกเหนือจาก อัลลอฮฺ …” (สูเราะฮฺที่ 2 อายะฮฺที่ 173)

“ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกกล่าวอุทิศในนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ และสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และสัตว์ที่ถูกตีตาย และสัตว์ที่ตกจากที่สูงตาย และสัตว์ที่ถูกขวิดตาย และสัตว์ที่ถูกสัตว์ร้ายกัดกินเว้นแต่ที่พวกเจ้าเชือดทัน และสัตว์ที่ถูกเชือดพลีบนแท่นหินบูชา และการที่พวกเจ้าเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้ว เหล่านั้นล้วนเป็นการละเมิด … ” (สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 3)

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งมึนเมาอื่น ๆ เป็นสิ่งต้องห้ามตามโองการดังต่อไปนี้

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! แท้จริงค็อมรฺ (น้ำเมา) และการพนัน และการบูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว เป็นสิ่งโสมมจากการกระทำของชัยฏอน (มารร้าย) ดังนั้น พวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 90)

เนื้อสัตว์เป็นกลุ่มอาหารที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเลือด เนื้อสุกร เนื้อสัตว์ที่ตายเอง หรือเนื้อที่ผ่านการเชือดสังเวยเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากผู้เป็นเจ้า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นที่ต้องห้ามอย่างเคร่งครัดในหลักการอิสลาม นอกเหนือจากนี้ เนื้อสัตว์ที่ได้รับการพิจารณาว่าฮาลาลจะต้องเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวด้วยนามของ อัลลอฮฺในขณะที่กระทำการเชือดอีกด้วย

“ดังนั้นพวกเจ้าจงบริโภค [เนื้อของสัตว์] ที่พระนามของ อัลลอฮฺถูกกล่าวเหนือมันเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่อบรรดาอายาต (โองการ/สัญญาณ) ของพระองค์” (สูเราะฮฺที่ 6 อายะฮฺที่ 118)

“และพวกเจ้าจงอย่าบริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮฺมิได้ถูกกล่าวเหนือมัน และแท้จริงนั่นเป็นการฝ่าฝืน และแท้จริงบรรดาชัยฏอน (มารร้าย) จะกระซิบกระซาบเสี้ยมสอนพวกพ้องของมันเพื่อพวกเขาจะได้โต้เถียงกับพวกเจ้า และถ้าหากพวกเจ้าเชื่อฟังปฏิบัติตามพวกมันแล้ว แน่นอนพวกเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี” (สูเราะฮฺที่ 6 อายะฮฺที่ 121)

จากตัวบทอัลกุรอานที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า มุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคอาหารทุกชนิดที่สะอาดและบริสุทธิ์ ยกเว้นอาหาร ผลิตภัณฑ์ หรือ สิ่งใดที่ได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
1. ซากสัตว์ หรือ สัตว์ที่ตายเอง
2. เลือดที่ข้นแข็ง หรือ เลือดที่ไหลจากตัวสัตว์
3. สุกร รวมถึงผลพลอยได้จากสุกรทุกชนิด
4. สัตว์ที่ไม่ได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺขณะเชือด
5. สัตว์ที่ถูกฆ่าตายในลักษณะที่เลือดของมันถูกป้องกันไม่ให้ไหลออกจากร่างกายจนหมดสิ้น
6. สัตว์ที่ได้รับการกล่าวนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺขณะเชือด
7. สิ่งมึนเมาทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
8. สัตว์กินเนื้อที่มีเขี้ยวเล็บ*(1) เช่น สิงโต สุนัข หมาป่า หรือ เสือ
9. สัตว์ปีกที่มีกรงเล็บแหลมคม (ประเภทนกล่าเหยื่อ) เช่น เหยี่ยว นกอินทรี นกฮูก หรือ นกแร้ง
10. สัตว์บก เช่น กบ*(2) หรือ งู*(3)

……………………………………………….
*(1) “ท่านนบีได้ห้ามกินสัตว์ป่าใด ๆ ก็ตามที่มีเขี้ยว และนกที่มีกรงเล็บ” (รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม) – ผู้แปล
*(2) บางทรรศนะของนักวิชาการ เช่น ในมัซฮับมาลิกีย์ให้ความเห็นว่ากบไม่ได้มีตัวบทที่ชัดเจนว่าห้ามบริโภค – ผู้แปล
*(3) บางทรรศนะของนักวิชาการได้จัดประเภทงูให้อยู่ในหมวดสัตว์มีพิษและเป็นอันตราย – ผู้แปล

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

หะล้าลยิวกับหะล้าลมุสลิม

คัชรูต (ในภาษาฮิบรู) เป็นระบบของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องอาหารของชาวยิว

โคเชอร์ (kosher, หรือในภาษาฮิบรูเรียกว่า “คะชูร”) หมายถึง “เหมาะสม หรือดีสำหรับใช้” ตามกฎหมายของยิว — ความหมายคล้ายๆ หะล้าล ของเรา

ตัวอย่างของอาหารโคเชอร์ ได้แก่ : เนื้อส่วนหน้า *ของวัวที่เชือดตามวิธีทางศาสนา, ผลไม้ ผัก, ปลาทุกชนิดที่มีครีบ*, เหล้าองุ่นทุกชนิด*, ชีสทุกอย่าง*, เจลาติน*

เทรอิฟ (ในภาษายิดดิช) หรือ เทรฟาห์ (ในภาษาฮิบรู) ซึ่งหมายความว่า “ไม่เหมาะสมสำหรับใช้” หรือ “สิ่งต้องห้าม”

ตัวอย่างของอาหารเทรฟาห์ ได้แก่ เลือด, เนื้อหมู, กระต่าย*, สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก*, นกป่าอย่างเช่นไก่ป่า*, เป็ดป่า* และนกล่าเหยื่อ — อาหารตรงที่มีเครื่องหมาย * นั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง “โคเชอร์” กับ “หะล้าล” เช่นเดียวกับ “เทรฟาห์” กับ “หะรอม”

ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่าง “โคเชอร์” กับ “หะลาล” มีดังนี้

อิสลามห้ามสิ่งมึนเมาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเหล้า เหล้าองุ่นและยาเสพติด ส่วนคัชรูตถือว่าเหล้าองุ่นทุกอย่างเป็น “โคเชอร์” ดังนั้น รายการอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และมีเครื่องหมาย “โคเชอร์” ติดอยู่จึง “ไม่หะลาล”

เจลาตินถูกถือว่าเป็น “โคเชอร์” โดยไม่คำนึงถึงว่าทำมาจากอะไร ถ้าทำมาจากหมู มุสลิมก็ถือว่าเป็นที่ “หะรอม” (ต้องห้าม) ดังนั้น อาหารที่มีส่วนผสมของเจลาตินที่ทำมาจากหมู เช่น ขนมหวานบางอย่าง โยเกิร์ตบางชนิดที่ติดตรา “โคเชอร์” จึงไม่เป็นที่อนุมัติให้กินตามหลักการอิสลาม

ชาวยิวมิได้กล่าวพระนามของพระเจ้าในการเชือดสัตว์ เพราะชาวยิวรู้สึกการกล่าวนามพระเจ้าเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ แต่ในทางตรงข้าม มุสลิมจะกล่าวพระนามของอัลลอฮในการเชือดสัตว์ทุกครั้ง

รู้จักข้อใช้ข้อห้ามในเรื่องอาหารของยิวแล้วก็ต้องกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” ในความเมตตาของอัลลอฮฺที่ไม่ได้สร้างข้อกำหนดที่ยุ่งยากวุ่นวายขนาดนั้นให้กับมุสลิม แต่มุสลิมเราต่างหากที่ทำให้เรื่องของ หะล้าล-หะรอม กลายเป็นเรื่องยุ่งๆ อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

……………………………………………………………..
คัดลอกและแก้ไขบางส่วนจาก ความแตกต่างระหว่าง “โคเชอร์” กับ “หะลาล”, โดย M.M. Hussaini อ.บรรจง บินกาซัน แปล

ที่มา:http://maansajjaja.blogspot.com/2007/07/blog-post.html

หลักการให้อาหารแก่สัตว์ในอิสลาม

“พวกเจ้าจงกินและจงดื่มจากปัจจัยยังชีพของอัลลอฮฺ และจงอย่าก่อกวนในผืนแผ่นดิน ในฐานะผู้บ่อนทำลาย” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2:60)

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มุสลิมในอเมริกาเหนือเปิดร้านอาหารที่ยึดตามหลักการอิสลามเพิ่มจำนวนสูงขึ้น หากขับไปตามถนนดันดัส (Dundas) ในมิสซิสซอกา (Mississauga) ประเทศแคนาดา หรือจะเดินเล่นที่เดียร์บอร์น (Dearborn) มิชิแกน (Michigan) คุณจะเห็นร้านอาหารและร้านขายเนื้อสัตว์ฮาลาลนับร้อยแห่งในพื้นที่เหล่านี้

ในทศวรรษที่ผ่านมา บางรัฐอย่าง นิวเจอร์ซี (new jersey) กลายเป็นรัฐแรกที่ผ่านกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาล กฏหมายได้บัญญัติเพื่อเป็นแนวทางแก่พ่อค้าหรือผู้จัดจำหน่ายที่จะต้องปฏิบัติตามเมื่อมีฉลากฮาลาลติดบนสินค้า

ในปี 2003 ทางหน่วยงานในแคนาดาได้ประกาศว่า วัวอายุ 8 ปี ในรัฐแอลเบอร์ตา Alberta ได้ล้มตายจากโรควัวบ้า (Bovine Spongiform Encephalopathy : BSE) ทางด้านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของแคนาดา นาย Lyle Vanclief ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ทันที เพื่อยืนยันว่า วัวในรัฐแอลเบอร์ตา (Alberta) นั้นจะไม่หลุดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารได้

วัวและปศุสัตว์นับพันในแคนาดาได้ถูกทำลายในเวลาต่อมา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐออเมริกาและประเทศอื่น ๆ ได้สั่งห้ามการนำเข้าเนื้อวัวจากแคนาดา

ขณะที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า วัวหนึ่งในล้านตัวอาจมีการเจริญเติบโตของโรควัวบ้าเมื่อโปรตีนในสมองของวัวเป็นพิษ การระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษในช่วงปลายปี 1980 เป็นผลมาจากการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง วัวและปศุสัตว์ถูกเลี้ยงโดยให้กินซากสัตว์จากฟาร์มอื่นเป็นอาหาร

เมื่อมนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโรควัวบ้าเข้าสู่ร่างกาย พวกเขาก็จะติดเชื้อ และจะเป็นโรคสมองเป็นรูพรุนหรือโรคสมองฝ่อ (Creutzfeldt-Jakob disease) จะกลายเป็นอัมพาตจนเสียชีวิตในที่สุด

ตั้งแต่ปี 1997 ประเทศแคนาดาได้สั่งห้ามการให้อาหารสัตว์ที่จำพวกโปรตีนที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้องด้วยกันเอง (เช่น วัว ควาย แกะ แพะ กระทิง หรือกวาง) แก่สัตว์ประเภทอื่น

อาหารที่ถูกห้ามแก่ปศุสัตว์หรือสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องนั้นจะมีคำเตือนเขียนไว้ว่า “ห้ามให้แก่วัว แกะ กวาง หรือสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่น ๆ กินเป็นอาหาร”

การคาดการณ์ที่จะเกิดโรควัวบ้าในปศุสัตว์ของแคนาดาและการกักบริเวณวัวนับพันตัว นับเป็นการเตือนให้เท่าทันภัยแก่ชุมชนมุสลิมทั้งแคนาดาเป็นอย่างดี

ในขณะที่มาตรฐานฮาลาลมีการตรวจสอบและวินิจฉัยการเชือดวัวตามบทบัญญัติอิสลามอย่างเคร่งครัด แต่กลับไม่มีกลไกเพื่อตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ในแต่ละวันอย่างเป็นทางการจนถึงทุกวันนี้ 

ความจริงแล้ว มุสลิมจำนวนมากไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวิธีการจำแนกอาหารฮาลาลมากนัก ตามกฏหมายชะรีอะฮฺนั้นยังมีเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องการตรวจสอบวิธีการเชือดสัตว์ที่ถูกต้องเสียอีก

ตามกฏชะรีอะฮฺ สัตว์ที่ถูกเชือดจะถือว่าฮาลาลก็ต่อเมื่ออาหารที่ถูกให้นั้นฮาลาล ดังนั้นการให้อาหารสัตว์จึงมีบทบาทสำคัญในการจำแนกอาหารฮาลาล

อาหารสัตว์จะต้องมาจากพืชผัก ไม่อนุญาตให้มีการให้อาหารจากเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยาโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะยาโกรทฮอร์โมนทำมาจากสุกร การทำให้สลบในสัตว์ที่ทำกันอย่างแพร่หลายนั้นควรหลีกเลี่ยง เลือดก็ต้องมีการไหลออกมาให้หมดจากตัวสัตว์ที่ถูกเชือด

เชค อะหมัด คุตตี้ ผู้รู้ชาวแคนาดากล่าวว่า ประเด็นปัญหาการให้อาหารของปศุสัตว์นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นกับตนเองหรือหน่วยงานมุสลิมก่อนหน้าจะมีการระบาดของโรควัวบ้า (BSE)

“ปัญหานี้มีความท้าทายต่อเราผู้ที่เป็นมุสลิมที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่ามาตรฐานฮาลาลของเรานั้นสามารถดำเนินการได้ไม่เฉพาะในเรื่องการเชือดสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญมากในเรื่องของการเลื้ยงดูและการขยายพันธุ์”

เชค อะหมัด คุตตี้ กล่าวว่า การให้อาหารสัตว์เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง และควรให้ความสำคัญเหนือกว่าเรื่องถกเถียงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การพิจารณาว่าฮาลาลหรือไม่

“การให้อาหารสัตว์มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่มุมทางกฏหมายชะรีอะฮฺ มากกว่าปัญหาที่มุสลิมได้ถกเถียงกันในเรื่องการเชือดด้วยเครื่องจักรดีกว่าการเชือดด้วยมือหรือไม่ ? การทำให้สัตว์สลบก่อนเชือดดีกว่าหรือไม่? มุสลิมสามารถบริโภคสัตว์จากการเชือดของชาวคริสเตียนหรือยิวได้หรือไม่?” เชค อะหมัด คุตตี้กล่าว

อะหมัด ศ็อกร์ จากแคลิฟอเนีย ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) และผู้ประพันธ์หนังสือ “Understanding Halal Food”และ “A Muslim Guide to Food Ingredients” ได้กล่าวในเว็บไซท์ soundvision.com ว่า มีเนื้อฮาลาลบางส่วนที่ไม่ฮาลาล โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่สัตว์ได้กินเข้าไป

“ศาสนาอิสลามได้บัญญัติว่า หากสัตว์ตัวหนึ่งได้รับเนื้อสดหรือเลือดเข้าไปขณะตัวของมันนั้นฮาลาล มันจะกลายเป็นสิ่งที่หะรอม และเพื่อให้มันฮาลาล ท่านจะต้องกักบริเวณสัตว์ตัวนั้นเป็นเวลา 40 วัน ก่อนที่จะนำมาเชือดเพื่อทำให้มันฮาลาล”

:: ชุมชนมุสลิมได้ดำเนินการใด ๆ บ้างหรือไม่ ในการตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ ? ::
ชุมชนมุสลิมในออนตาริโอได้รับการกำชับไม่ให้เกิดการไขว้เขวระหว่างปัญหาของโรควัวบ้ากับเรื่องของฮาลาล ซึ่งมีวัวเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้นที่ติดเชื้อจากโรควัวบ้าในพื้นที่แถบอเมริกาเหนือ (Alberra) จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งแคนาดาและอเมริกาได้อนุญาตอย่างลับ ๆ ให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารของสัตว์เป็นโดยในบางพื้นที่มีการเก็บค่าบริการ 

ปี 2003 วอร์ชิงตันโพสท์รายงานว่า เกิดช่องโหว่ที่ปล่อยให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาบดเป็นผงและนำมาเป็นอาหารแก่ปศุสัตว์

การประกาศห้ามในปี 1997 ไม่ได้ช่วยป้องกันการนำโปรตีนจากสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารแก่สัตว์ปีกและสุกร

วันที่ 28 พฤษภาคม 2003 สำนักงานตรวจสอบอาหารแห่งแคนาดารายงานว่า “เนื้อและกระดูกของวัวที่อาจติดเชื้อที่ถูกผลิตเป็นอาหารสุนัขนั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์จากการสัมผัสสินค้า”

ฟาร์มกักกันในบริติชโคลัมเบีย 3 แห่ง ซึ่งอยู่ใน “ระหว่างการตรวจสอบอาหารสัตว์” มีสัตว์ (60 ตัว) ถูกกำจัดเนื่องจาก ไม่สามารถสรุปได้ว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องในสถานที่เหล่านี่สัมผัสกับอาหารของสัตว์ปีกหรือไม่”

“เราในฐานะมุสลิมได้รับอนุญาติเพียงแค่ให้อาหารวัวหรือสัตว์เลื้ยงที่เป็นไปตามธรรมชาติของสัตว์แต่ละประเภท ไม่สามารถนำเศษซากของสัตว์อื่นหรืออาหารที่ทำมาจากไขมันสัตว์นำมาเป็นอาหารของมันได้” 

ปัญหาของโรควัวบ้าจะยังคงเปิดพื้นที่ในการถกเถียงกันในหมู่มุสลิมแคนาดา ตราบใดที่ยังให้ความสำคัญกับการกำหนดวิธีการเชือดมากกว่าการพิจารณาเนื้อที่ฮาลาล

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในกระบวนการเชือดสัตว์ฮาลาล

• ไม่ควรขว้างปาหรือเหวี่ยงสัตว์ลงบนพื้นอย่างแรง อีกทั้งยังห้ามลับมีดต่อหน้าสัตว์ที่จะทำการเชือด มีรายงานเมื่อครั้งหนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ผ่านไปเห็นชายผู้หนึ่งที่กำลังจะเชือดแพะของเขา โดยที่เขาได้เหวี่ยงแพะของตนเองลงบนพื้น และใช้เท้ากดศีรษะของมันและจากนั้นก็ลับมีดที่จะเชือดไปด้วย ท่านนบีจึงกล่าวว่า “แพะตัวนี้ไม่ได้สิ้นใจตายไปก่อนที่จะถูกเชือดหรอกหรือ? ท่านประสงค์ที่จะฆ่ามันถึงสองครั้งเชียวหรือ? ท่านอย่าได้เชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์อื่น และท่านอย่าได้ลับมีดของท่านต่อหน้าสัตว์ที่จะเชือด” 

• ไม่ควรใช้มีดระหว่างการเชือดกรีดลงไปถึงไขสันหลังหรือตัดส่วนหัวจนขาดจากกันโดยสิ้นเชิงในระหว่างการเชือด ซึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทุบหรือตีบริเวณส่วนหลังของลำคอสัตว์ให้เสียชีวิตภายในครั้งเดียว หรือที่เรียกกันว่า ‘Jhatka’ (เป็นกระบวนเชือดสัตว์โดยใช้ดาบฟันเข้าไปที่ลำคอจากด้านหลังของสัตว์) ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นที่รังเกียจสำหรับชาวมุสลิมอย่างยิ่ง

• ไม่ควรหักคอ ถลกหนัง หรือชำแหละชิ้นส่วนของสัตว์ก่อนที่สัตว์นั้นจะตายสนิท ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า “ท่านอย่าได้รีบเร่งที่จะจัดการกับวิญญาณ (ของสัตว์) ก่อนที่สัตว์เหล่านั้นจะอยู่ในสภาพสิ้นชีวิต” บางครั้งในธุรกิจการค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน โรงเชือดสัตว์บางแห่งก็รีบชำแหละชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ขณะที่สัตว์ยังมีชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือว่าผิดหลักการ ‘ซะบีหะฮฺ’ 

• ไม่ควรใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ชำรุดเสียหายในกระบวนการเชือด ‘ซะบีหะฮฺ’ ท่านนบีมุฮัมมัดได้กำชับไว้ว่า มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมและต้องถูกเก็บซ่อนไว้จากสัตว์ที่จะเชือด 

• ไม่ควรเชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์ตัวอื่นหรือตัวที่จะถูกเชือดถัดไป วิธีการเช่นนี้ถือว่าผิดหลักมนุษยธรรมในขั้นตอนและกระบวนการเชือดสัตว์ที่ถูกต้อง

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาและวิธีการที่ถูกต้องในกรรมวิธีการเชือดสัตว์ ‘ซะบีหะฮฺ’ ที่ต้องดำเนินไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตั้งแต่การกล่าวนามผู้เป็นเจ้าก่อนเชือด เพื่อเน้นย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและความจริงที่ว่าทุกชีวิตนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ การกล่าว ‘ตัสมียะฮฺ’ ยังช่วยกระตุ้นความรู้สึกอ่อนโยนและเมตตาธรรมเพื่อป้องกันมิให้ผู้เชือดกระทำการสิ่งใดที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าสัตว์ที่กำลังถูกเชือดในนามของพระเจ้านั้นมีเป้าหมายเพียงเพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวถือว่าต้องห้ามในอิสลาม 

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

วิธีการแบบ Go Zero Waste (ลดอาหารเหลือทิ้งให้เป็นศูนย์) ในช่วงเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอนหวนกลับมาอีกครั้ง เดือนที่เต็มไปด้วยอาหารทอด อินทผลัม อาหารปรุงสดของแต่ละวันรวมทั้งอาหารเหลือจำนวนมาก …

หลังจากถือศีลอดตลอดทั้งวัน กับความรู้สึกหิวที่มากเกินควร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะตักอาหารจนเต็มจาน มากจนเกินความต้องการของเรา และจริงๆแล้วเราจะกินได้แค่ไหนกัน จะทำอย่างไรเมื่ออาหารที่เราจะรับประทานนั้นมีมากเกินไปกับด้วยความรู้สึกว่าหิวมากในตอนแรก จึงส่งผลให้อาหารเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากมากเช่นเดียวกัน ในเดือนนี้ (รอมฎอน) ได้สอนเราในเรื่องความพอดีและการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอันเนื่องมาจากอาหารที่เอร็ดอร่อยต้องถูกโยนทิ้งเป็นจำนวนมาก 

บี จอหน์สัน ผู้ก่อตั้งเว็บไซด์zerowastehome.com และนักเขียนหนังสือที่ขายดีเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Zero Waste Home’ (การขจัดขยะในบ้าน) โดยในปี 2016 เธอและครอบครัวของเธอได้ผลิตถังใบเล็กๆไว้ทิ้งสิ่งของที่ไม่เป็นประโยชน์ที่มีอยู่ทั้งปี เราพอจะนึกออกหรือไม่ว่าจะมีอะไรในบ้านบ้าง บีเสนอแนวทางง่ายๆสำหรับกำจัดของเหลือให้หมดจากชีวิต โดยดำเนินตาม 5R ได้แก่

1. Refuse (ขจัดทิ้ง) 
2. Reduce (ทำให้ลดลง) 
3. Reuse (นำกลับมาใช้ใหม่) 
4. Recycle (แปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่) 
5. Rot – in that order (ทำให้ย่อยสลายเพื่อให้เกิดประโยชน์)

ปฏิเสธในสิ่งที่ไม่จำเป็น Refuse, ลดของใช้จำเป็น Reduce, นำกลับมาใช้ซ้ำ Reuse แปรสภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ Recycle ในส่วนที่ไม่สามารถขจัดทิ้ง ลดให้น้อยลงหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

แต่ทำไมเราจึงต้องมองในแบบ Zero Waste (ลดขยะให้เหลือศูนย์) เมื่อคุณทิ้งขยะ มันไม่ได้หมายความว่ามันจะหายไปในอากาศ แต่ขยะส่วนมากจะถูกส่งไปยัง สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยทั่วโลก

การศึกษาเรื่องขยะจากอาหารที่จัดทำในปี 2011 ซึ่งพบว่า ทั่วโลกมีขยะที่เป็นอาหารจำนวน 1.3 ล้านตัน โดยพบสูงสุดในยุโรปและอเมริกาเหนือ สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยจะทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง อากาศไม่สามารถเข้าถึงขยะอินทรีย์บนสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยได้ ดังนั้นเมื่ออาหารเน่าเปื่อยและเน่าเสีย มันจะปล่อยก๊าซที่เรียกว่า “มีเทน” ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่จะทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกเป็นอันตราย อาหารที่ถูกทิ้งเหล่านั้นบ่งบอกว่าต้องใช้ทรัพยากรในการผลิต การขนย้ายและการเก็บรักษาจำนวนมากตามไปด้วย

..อิสลามกล่าวว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?..
หากว่าการเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอ อัลลอฮฺ ตะอาลาเตือนเราไม่ให้ฟุ่มเฟือยและสุรุ่ยสุร่ายด้วยกับอาหารของเรา ดังอายะฮฺ อัลกุรอานที่กล่าวว่า 

“และพระองค์นั้นคือผู้ที่ทรงให้มีขึ้น ซึ่งสวนทั้งหลายทั้งที่ถูกให้มีร้านขึ้น และไม่ถูกให้มีร้านขึ้น และต้นอินทผาลัมและพืช โดยที่ผลของมันต่าง ๆ กัน และต้นซัยตูน และต้นทับทิม โดยที่มีความละม้ายคล้ายกัน และไม่ละม้ายคล้ายกัน จงบริโภคจากผลของมันเถิดเมื่อออกผล และจงจ่ายส่วนอันเป็นสิทธิในมันด้วย ในวันแห่งการเก็บเกี่ยวมันและจงอย่าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย” (Surah Al-An’am – 6:141)

อัลกุรอานกล่าวอีกว่า
“ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย ! จงเอาเครื่องประดับกายของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิดและจงกินและจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย” (Surah Al-A’raf – 7:31)

ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมของเราได้ให้คำแนะนำเพื่อที่จะช่วยให้เราหลีกเหลี่ยงการกินอาหารที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จากมิกดาม บิน มะอฺดีกะริบ กล่าวว่า “ฉันได้ยินท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ลูกหลานอาดัมจะไม่บรรจุลงในภาชนะใดที่เลวกว่าการบรรจุลงในท้อง เพียงพอแล้วที่ลูกหลานอาดัมที่จะรับประทานเพื่อที่จะยกหลัง (ประทังชีวิต) ของเขาได้ หรือหากจำเป็นจริง ๆ แล้วก็ (จงเตรียมท้องไว้สามส่วน) ส่วนหนึ่งสำหรับอาหาร ส่วนหนึ่งสำหรับเครื่องดื่ม และอีกส่วนหนึ่งสำหรับลมหายใจ”

Go Zero Waste (ลดอาหารเหลือทิ้งให้เป็นศูนย์) นั้นเป็นแนวคิดที่ดูค่อนข้างตึงเครียด ดังนั้นจึงมีเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆที่จะช่วยให้ท่านจำกัดปริมาณขยะที่เกิดในครอบครัวของท่าน

::อาหารที่กินเหลือ::
บ่อยครั้งที่เราโฟกัสเพียงแค่อาหารอร่อยๆในขณะละศีลอด แต่ไม่จำเป็นที่เราต้องทานอาหารสดๆใหม่ๆทุกวัน เป็นเรื่องที่น่าเสียใจกับเดือนนี้ ซึ่งส่งเสริมในเรื่องความพอดี แต่คนกลับกินทิ้งกินขว้างเพียงเพราะพวกเขาต้องการทำอาหารสดใหม่ในทุกๆวัน หากว่าท่านไม่ต้องการกินอาหารเดิมสองวันติดต่อกัน ท่านก็สามารถแช่ช่องแข็งในส่วนเหลือเพื่อเก็บไว้รับประทานในวันหลังได้

::แบ่งออกเป็นส่วนๆ::
ในช่วงอิฟฏอร (การละศีลอด) ท่านอย่าตักอาหารใส่จานมากจนเกินพอดี หากอาหารในจานหมดแต่ท่านยังหิวอยู่ก็สามารถไปเต็มใหม่ได้ สิ่งที่คู่ควรอย่างยิ่ง คือการรับประทานอาหารในจานจน วิธีการง่ายๆ คือตักเพียงเล็กน้อยหากไม่อิ่มแล้วค่อยเติม

ท่านอนัส รอดิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า “เมื่อท่านรับประทานอาหาร ท่านจะเลียนิ้วของท่านสามครั้ง และท่านได้กล่าวว่า เมื่ออาหารคำหนึ่งของพวกท่านคนใดตกหล่น ท่านจงหยิบมาเช็ดสิ่งแปลกปลอมออกและจงกินมัน และอย่าได้ทิ้งมันให้กับชัยฏอน และท่านยังได้สั่งพวกเราให้กินจนหมดชามโดยไม่เหลือเศษทิ้งไว้ ท่านกล่าวว่า “เพราะแท้จริงแล้ว พวกท่านไม่รู้หรอกว่าอาหารส่วนใดจะเป็นส่วนที่มีความบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ)” บันทึกโดย มุสลิม

::จงหลีกเลี่ยงอาหารที่บรรจุหีบห่อ::
เมื่อซื้อสินค้าร้านขายของชำ จงเลือกซื้อผลไม้และผักที่สดใหม่ และใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่แทนการใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้า

::จงเก็บเศษอาหารทั้งหมดมารวมกัน::
เมื่อท่านนำอาหารที่เหลือมารวมไว้บนพื้นดินหลังบ้าน ออกซิเจนจะเข้าถึงง่ายกว่าทำให้จุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายทำงานได้ดี จนแทบจะไม่ผลิตก๊าซมีเทนขึ้นมาซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ทิ้งขยะ หลังจากนั้น 9-12 เดือน สามารถนำเศษอาหารเหล่านั้นมาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นไม้และดอกไม้ได้

การรับประทานอาหารอย่างฟุ่มเพือยไม่ใช่สิ่งจำเป็น อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อโลกอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังสามารถได้รับผลตอบแทนพิเศษสำหรับเดือนเราะมะฎอนนี้ ด้วยการดำเนินตามสุนนะฮฺของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมไปพร้อมๆกับการทำอาหารให้มีรสชาติเอร็ดอร่อย และจงหลีกเหลี่ยงในสิ่งที่มากเกินความพอดีโดยการไม่ใส่อาหารในจานของท่านมากเกินไปในช่วงละศีลอด

………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา http://aboutislam.net/…/self-dev…/can-go-zero-waste-ramadan/

วัตถุเจือปนจากเลือดของวัวและสุกรได้รับอนุญาตใส่ในอาหาร

เลือด เป็นสิ่งต้องห้ามนำมาบริโภคในศาสนาอิสลาม อัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮูวตะอาลา) กล่าวไว้ในอัลกุรอาน บทอัลมาอีดะฮฺ โองการที่ 3 ความว่า “ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ ที่มัน (ขณะเชือด) …” จะเห็นได้ว่าเลือดเป็นสิ่งต้องห้ามเพื่อการบริโภคที่ได้ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานอย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบัน มีการนำเลือด ผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ในรูปของกาวเนื้อ (meat gule) หรือสารยับยั้งเอ็นไซม์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เรามาดูข้อมูลการนำเสนอในวารสารขององค์กรความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ถึงการอนุญาตนำเลือดมาใช้ประโยชน์ใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทาง CAP (สมาคมคุ้มครองผู้บริโภครัฐปีนัง) ได้นำเสนอผ่านหนังสือ Halal Haram : An Important Book for Muslim Consumers กันครับ

วัตถุเจือปนอาหารที่ได้จากเลือดของวัวและสุกรถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ กลายเป็นกรณีศึกษาในปี 2005 โดยองค์กรความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (European food safety agency ; EFSA)

นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิขององค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (EFSA) พบว่า เอ็นไซม์ที่เตรียมขึ้นจากทรอมบิน (Thrombin) และไฟบริโนเจน (fibrinogen) นั้นปลอดภัย และ “มีความเป็นไปได้น้อยมาก” ในการเพิ่มความเสี่ยงการตอบสนองต่ออาการแพ้และโรคภูมิแพ้

ความเห็นที่ออกตามมาโดยคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องให้เตรียมการสอบสวนในกรณีดังกล่าว 

การรวมกันของทรอมบินและไฟบริโนเจนที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อสร้างเนื้อสัตว์ขึ้นมาใหม่ให้ได้เนื้อที่มีขนาดและรูปร่างน่าพอใจ 

ทั้งทรอมบินและไฟบริโนเจนนั้น ได้จากพลาสม่าจากเลือดของวัวและสุกร ทรอมบินและไฟบริโนเจนที่เตรียมไว้จะนำมาใช้กับเนื้อ โดยทรอมบินได้เปลี่ยนไฟบริโนเจนให้เป็นไฟบริน (fibrin) ที่ทำปฏิกิริยากับ คอลาเจนทำให้สามารถประสานชิ้นเนื้อให้เกิดการสร้างชิ้นเนื้อขึ้นใหม่ตามขนาดรูปร่างหรือกรอบที่ต้องการและยังสามารถใช้กับเนื้อสัตว์ปีก ปลาและอาหารทะเลได้อีกด้วย

เนื้อที่สร้างขึ้นมาใหม่แสดงให้เห็นว่า มีการสูญเสียน้อยลงขณะผ่านการปรุงด้วยการทอดหรือย่าง โดยทั่วไปทรอมบินที่ใส่เข้าไปทำให้ระยะเวลาของการแปรรูปสั้นลงและความแข็งแรงในการเชื่อมประสานเพิ่มมากขึ้น 

ความคงตัวของทรอมบินค่อยข้างต่ำ เมื่อการเชื่อมประสานเสร็จสิ้นก็จะไม่มีกิจกรรมของทรอมบินตกค้างให้ตรวจพบ นอกจากนี้ทรอมบินที่หลงเหลือจะถูกยับยั้งในระหว่างการปรุงอาหาร (ความร้อนทำให้การคงตัวของทรอมบินค่อนข้างต่ำ) และถูกยับยั้งในกระเพาะอาหารหลังจากบริโภคเข้าไป (สภาพ pH ต่ำ)

เนื่องจากทรอมบินและไฟบริโนเจนได้มาจากส่วนที่กินได้ของสัตว์ จึงไม่จำเป็นต้องทดสอบทางพิษวิทยาตามที่ได้ร้องเรียน คณะกรรมการ EFSA กล่าว่า “การเตรียมทรอมบินและไฟบริโนเจนนั้นผลิตจากพลาสม่าที่ได้จากเลือดของวัวหรือสุกรซึ่งได้รวบรวมจากโรงฆ่าสัตว์ถูกสุขอนามัยภายใต้การตรวจสอบของสัตวแพทย์” 

หลายปีมานี้ ได้มีการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อที่มีการเติมเลือดหรือพลาสมาในหลายๆประเทศโดยไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ระดับความเข้มข้นของการเตรียมทรอมบินกับไฟบริโนเจนที่ถูกนำมาใช้นี้ อยู่ในช่วงระดับความเข้มข้นเดียวกันกับโปรตีนในผลิตภัณฑ์เนื้อ ด้วยการเติมเลือดหรือพลาสมาลงไป สืบเนื่องจากความเห็นของนักวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้ ตามที่นักวิจัยของ EFSA กล่าวว่า ทรอมบินบางส่วนที่ยังหลงเหลือจะที่ถูกยับยั้งโดย antithrombin III (มีอยู่ในขั้นตอนการเตรียมทรอมบินและไฟบริโนเจนอีกด้วย)

ผู้ทรงคุณวุฒิของ EFSA ได้สรุปออกมาว่า “การบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่มีการเตรียมจากเอนไซม์นี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการตอบสนองอาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ได้”
.
แม้จะมีการประกาศความปลอดภัยจากองค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (EFSA) แต่การเตรียมทรอมบินกับไฟบริโนเจน (และแน่นอนอาหารอื่นๆที่มีวัตถุเจือปนที่ได้จากเลือด) เป็นต้นเหตุของปัญหาสำหรับผู้บริโภคมุสลิม เนื่องจากทรอมบินถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการทำผลิตภัณฑ์อาหารที่คิดค้นขึ้น อาจจะอยู่ในผลิตภัณฑ์เช่น เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ลูกชิ้นปลา เต้าหู้ปลา ก้ามปูเทียม และกุ้งเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมุสลิมควรระมัดระวังเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว

………………………………….
ที่มา : วารสาร EFSA, เมษายน ปี 2005
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
จากหนังสือ Halal Haram : An Important book for Muslim Consumers โดย Consumers Association of Penang

เราะมะฎอนช่วงเวลาแห่งการลดน้ำหนัก (หรือเพิ่ม) ? ตอน 2

อัลกุรอานระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “มนุษย์เอ๋ย! จงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดี ๆ จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า” สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 168 

อาหารแปรรูปและอาหารหวานเหล่านี้เป็น “trigger foods” อาหารเหล่านี้ยังขับสารอาหารจากร่างกายของท่านและมักทำให้ร่างกายของท่านต้องการอาหารมากเพราะมันรู้สึกว่ายังไม่อิ่ม …

นอกจากนี้ การรับประทานขนมปังและแป้งมากเกินไปยังส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เดือนเราะมะฎอนมักเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงชอบทำอาหารและแบ่งปันความสามารถในการทำอาหารของพวกเธอ

การทำขนมปังมักถูกมองว่าเป็นการแสดงฝีมือการทำอาหารและถูกบรรจุในเมนูของตารางเชิญชวนแขก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนที่จะมองว่าการทำขนมปังจะเป็นสุดยอดของการทำอาหารละศีลอดช่วงเดือนเราะมะฎอน

หนังสือ The Zone Diet โดย Barry Sears และ McDougall Plan โดย Dr. McDougall อธิบายในรายละเอียดว่าแป้งสตาร์ช (starches) และธัญพืชจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้อย่างไร

หนังสือ “สุขภาพของคุณ ทางเลือกของคุณ” โดย Ted Morter, MD มีรายละเอียดเกี่ยวกับขนมปังมากขึ้น รวมถึงวิธีการที่เมล็ดธัญพืช พืชตระกูลถั่วตลอดจนนมและเนื้อสัตว์จะมีส่วนช่วยในการสร้างสภาพความเป็นกรดในร่างกายของเราซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการกินแป้งมากเกินไป คือต้องทำให้แน่ใจว่าคุณกินอาหารที่ถูกต้องตามสัดส่วนจากหมู่อาหารต่าง ๆ เพื่อความแน่ใจในการลดน้ำหนัก ..

ลองจินตนาการว่าท่านกำลังเตรียมมื้ออาหารของท่านที่มีแต่ผักเท่านั้นและยอมให้มีเนื้อ นมและธัญพืชเพื่อช่วยในการเพิ่มรสชาติเท่านั้น ….

จงจำกัดตัวเองให้ได้รับธัญพืชหนึ่งถ้วยต่อมื้อและใช้เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเป็นเครื่องปรุงรส

ลองเริ่มต้นนึกถึงผักขึ้นฉ่ายเป็นสิ่งที่ช่วยกระจายเนยถั่วแทนขนมปัง นึกถึงแครอทหั่นที่มีฮัมมูสแทนขนมปังพิตา (pita – ขนมปังลักษณะกลมแบน) และลองใช้ใบผักกาดหอมแทนแป้งตอติญ่า (tortilla – แผ่นแป้งบางที่ทำเป็นรูปวงกลม ที่ทำมาจากแป้ง flour) 

แต่ท่านอย่าได้เลิกรับประทานขนมปังและเนื้อสัตว์ ซึ่งยังต้องให้ความสำคัญกับมันแต่ให้เก็บมันไว้เป็นมื้อพิเศษเท่านั้น

เป้าหมายของคุณคือการบริโภคผักประมาณ 70% (รวมทั้งผลไม้แต่น้อยกว่าผัก) และที่เหลืออีก 30% เป็นธัญพืช ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักเพราะว่ามัน “ขม” หรือมีน้ำในอัตราที่สูง ตามปกติแล้วสมุนไพรหรืออาหารรสขมนั้นจะช่วยขับไขมันผ่านระบบได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า

ท่านยังคงต้องรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่พอเหมาะและถูกสัดส่วน มันไม่ใช่อาหารที่ท่านสามารทานได้โดยไม่จำกัด …

อาหารขมและเต็มไปด้วยน้ำ ได้แก่ : ผักโขม เมล็ดควินหวา (พืชตระกูลข้าวของชาวอินคาเป็นเมล็ดพืชประเภทข้าวชนิดหนึ่ง) ข้าวโอ๊ต ข้าวโพดข้าวถั่ว ถั่วอะซูกิ (adzuki) แตงกวาบวบ สควอช (เป็นพืชผักกลุ่ม ฟักทอง ฟักและแฟง) มันฝรั่งหวาน ผักขึ้นฉ่าย ผักคะน้า กะหล่ำปลีกะหล่ำปลีและกะหล่ำอื่น ๆ เป็นต้น

ท่านสามารถปรุงอาหารด้วยเครื่องเทศที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ เครื่องเทศเหล่านี้ประกอบด้วย กระวาน พริกป่น อบเชย ขิง

การหยุดออกกำลังกายอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเราะมะฎอน คนส่วนใหญ่ลดภาระงานของพวกเขาโดยอ้างว่า “เป็นเดือนเราะมะฎอน ดังนั้น ฉันจึงควรพักผ่อน”

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วเรื่องนี้อาจไม่เป็นจริง หากสุขภาวะของท่านเปลี่ยนแปลงบ่อย มีความเครียดจากการถือศีลอดอาจแสดงว่าท่านจะต้องระมัดระวัง 

อย่างไรก็ตามหากท่านไม่แข็งแรงพอจนไม่อาจมีชีวิตได้อย่างปกติในช่วงเดือนเราะมะฎอน ท่านก็ไม่ควรถือศีลอด เราจำเป็นต้องออกกำลังกายเพื่อให้เลือดมีการสูบฉีดและน้ำเหลืองมีการไหลเวียนในร่างกายของเรา

ดูแลเอาใจใส่ขณะถือศีลอด

การลดน้ำหนักในช่วงเดือนเราะมะฎอน หัวใจจะสูบฉีดเลือด ส่วนเท้าและขาจะช่วยปั๊มน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองเป็นสิ่งที่ช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปได้และกำจัดไขมันส่วนเกินและสารพิษในระบบ หากต้องการให้น้ำเหลืองไหลคล่อง ท่านจะต้องเดินเร็ว ๆ ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยลดน้ำหนักได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งสิ้นหวังหากมันไมได้ช่วยอะไรมาก

โปรดจำไว้ว่าท่านไม่ควรทำงานหนักเกินไปและการออกกำลังกายอย่างพอดีจะช่วยให้มีแรงจูงใจที่จะทำการบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ 

การดื่มกาแฟและชาที่เพิ่มขึ้นเพื่อการเข้าสังคมจะมีส่วนในการเพิ่มน้ำหนักในช่วงเดือนเราะมะฎอน คาเฟอีน (ที่พบในกาแฟ ชา ซ็อกโกแลต และแม้แต่ชาและกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน) อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

เนื่องจากน้ำอัดลมและคาเฟอีนจะกรองแคลเซียมออกจากระบบของร่างกาย ซึ่งหมายความว่า ท่านจะรู้สึกหิวตลอดเวลาทำให้ต้องกินมากขึ้น

การใช้ชาสมุนไพรแทนกาแฟและชา สามารถช่วยในการลดน้ำหนัก ผมขอแนะนำให้ใช้สารผสม “เดี่ยว” หรือสารผสมลดน้ำหนักที่ผ่านการทดสอบมาแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปีและยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้

สูตรลดน้ำหนักสมุนไพรจำนวนมากในท้องตลาดได้รับการทดสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการสร้างสูตรใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงทำให้สูตรการลดน้ำหนักที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ได้รับการทดสอบ เพื่อหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่ออวัยวะต่าง ๆ และมีสูตรอีกจำนวนมากที่มีส่วนผสมอันน่าตกใจ ซึ่งมีการผสมสมุนไพรโดยขาดความรอบคอบ

ประการที่สอง แต่ละคนมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับรูปแบบกระบวนการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ ของพวกเขารวมถึงวิถีการดำเนินชีวิต โรคภูมิแพ้หรือสภาวะสุขภาพของพวกเขา 

ชาที่ช่วยให้คนหนึ่งคนน้ำหนักลด อาจทำให้อีกคนน้ำหนักเพิ่มขึ้นย่อมเป็นได้

แพทย์สมุนไพรมักกำหนดรายการต่อไปนี้ เมื่อมีการจัดสูตรยาได้แก่ สมุนไพรฟางข้าวโอ๊ต ดอกแดน’ดะไลออน หญ้าอัลฟัลฟ่า เม็ดยี่หร่า ลูกซัด นมธัญพืช และสมุนไพรอื่น ๆ ที่จะทำความสะอาดตับหรือระบบน้ำเหลือง

แพทย์ด้านสมุนไพรมักแนะนำให้ใช้น้ำมันหอมระเหยบางอย่างในห้องอาบน้ำหรือห้องนวด เช่น ต้นสน ใบมะกรูด น้ำมันส้ม โรสแมรี่ หรือ น้ำมันดอกเสจ (sage oil) 

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า การอดหลับอดนอนอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเป็นเรื่องปกติที่ในเดือนเราะมะฎอนหลายคนจะนอนหลับไม่เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียด อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

การรับประทานไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ การไม่รับประทานอาหารสะฮูรจะกระตุ้นการตอบสนองของการอดอาหารในร่างกาย ซึ่งจะทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของท่านช้าลงไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน

เหมือนกับว่าอาหารที่ท่านรับประทาน “เคลื่อนอย่างช้า ๆ” แทน “ความรวดเร็ว” หากท่านข้ามมื้อเช้า ระบบการเผาผลาญอาหารของท่านจะเฉื่อยชาและทำให้ท่านมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

การรับประทานวิตามินในเดือนเราะมะฎอน อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน วิตามินดีเสริมหรือวิตามินรวมส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก หลายคนคิดว่าเนื่องจากที่พวกเขาไม่ได้รับประทานอาหารที่เคยทานในเดือนเราะมะฎอน ดังนั้นจึงควรทดแทนด้วยการกินวิตามิน

วิตามินไม่ควรนำมาใช้ด้วยเหตุผลดังกล่าวและควรได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเสมอ วิตามินอาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ภาวะขาดสารอาหาร หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เมื่อได้รับอย่างไม่เหมาะสม

สุดท้ายต้องจำไว้ว่าเดือนเราะมะฎอนไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเวลาของการลดน้ำหนัก อย่าให้ความสำคัญกับการลดน้ำหนักในเดือนนี้

ท่านต้องเพ่งความสนใจไปที่ความหมายของเดือนเราะมะฎอน จงดำเนินตามผู้ที่มีสุขภาพดีที่ได้รับการแนะนำโดยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม แล้วท่านจะพบน้ำหนักนั้นลดลง

………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

เราะมะฎอนช่วงเวลาแห่งการลดน้ำหนัก (หรือเพิ่ม)? ตอนที่ 1.

ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงถือศีลอด แล้วท่านทั้งหลายจะมีสุขภาพดี”

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจถูกมองว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งก็ย่อมได้ อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักในระหว่างการถือศีลอดของเดือนเราะมะฎอนนั้นจะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง มีหะดีษจำนวนมากได้ให้คำแนะนำกับเราว่า จะรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดีได้อย่างไรในช่วงถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

อย่างไรก็ตาม คมเรามักจะลืมนิสัยการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะในช่วงเดือนเราะมะฎอน จนมีคำเหน็บแนมว่า “เดือนเราะมะฎอนมีกับดักอาหารมากกว่าเดือนอื่นๆ”

ดังนั้น ในขณะที่เราต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการถือศีลอดและการเป็นมุสลิมที่ดี เราอาจจะหลงจากแนวทางของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม โดยการทำลายกฎเกณฑ์ในเรื่องการมีสุขภาพดีโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

“หลุมพรางแห่งเดือนเราะมะฎอน” ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือการรับประทานอิฟฏ็อร (อาหารละศีลด) ที่มากทันทีหลังจากอะซานมัฆริบ (การเชิญชวนสู่การละหมาดช่วงเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า) การรับประทานอาหารที่ไม่เหมือนเดิม แปลกใหม่ อาหารที่เค็มจัด อาหารที่หวานจัด การบริโภคชาหรือกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น การนอนไม่เพียงพอ อาหารไม่ครบมื้อ การรับประทานขนมปังหรืออาหารอื่นที่มากจนเกินไป การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการงดออกกำลังกาย

การรับประทานอาหารละศีลอดจำนวนมากทันทีหลังจากเสียงอะซานนั้น เป็นเรื่องที่หะดีษเองมิได้ส่งเสริม การไหลทะลักของอาหารอย่างมากมายที่บริโภคหลังจากถือศีลอดทั้งวันนั้น อาจทำให้ระบบย่อยอาหารแน่นเฟ้อขึ้นมากได้

ด้วยเหตุนี้ จึงขอแนะนำให้มุสลิมละศีลอดของพวกเขาด้วยอินทผลัมและน้ำ หรือจะเป็นน้ำซุปง่าย ๆ แล้วละหมาดมัฆริบ จากนั้นค่อยรับประทานอาหารละศีลอดในจำนวนพอดีๆ

หลังจากละหมาดตะรอวีหฺอาจควรทานอาหารมื้อเบา ๆ อีกหนึ่งมื้อ การรับประทานอาหารละศีลอดเกินความพอดีนั้นจะก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากมันอาจกลายเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย (Trigger foods)

Trigger foods (อาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย) คืออาหารที่ทำให้คนกระหายมากขึ้นและต้องการอาหารซ้ำ ๆ เดิม ๆ น้ำตาลเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหาร “Trigger foods” อันเป็นที่ชื่นชอบ

สิ่งที่ตรงข้ามกับ “Trigger foods” (อาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย) คืออาหารแบบ “Ideal foods” (อาหารที่ถูกสุขลักษณะ) ท่านสามารถขจัด trigger foods โดยการคอยสังเกตหรือการบำบัดทางธรรมชาติ (ไม่ว่า ดีท็อกซ์ อโรมา-เธอราปี โยคะ สมุนไพร) แต่ละคนควรรู้ว่าพวกเขาแพ้อาหารอะไร อาหารไหนที่เป็น “trigger foods” และอาหารไหนเป็น “Ideal foods”

การรับประทานมากเกินไปนั้นเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อการลดน้ำหนักในช่วงเราะมะฎอน อัลกุรอานระบุเรื่องนี้ว่า “พวกเจ้าจงกินจากสิ่งที่ดีทั้งหลาย ที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และพวกเจ้าอย่าได้ฝ่าฝืน … ” สูเราะฮฺ ฏอฮา อายะฮฺที่ 81

หลายคนไม่ตระหนักว่า พวกเขากำลังรับประทานอาหารมากขึ้นเนื่องจากพวกเขาไม่พยายามเลยอย่างไรก็ตามโปรดจำไว้ว่าในช่วงที่เหลือของปี ผู้คนรับประทานอาหารเช้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะต้องรีบไปทำงานหรือโรงเรียนแล้วทานอาหารกลางวันมื้อเล็กน้อยแต่มื้อเย็นกลับกินอย่างหนัก จากนั้นพวกเขาก็นอนหลับ

ในบางวัฒนธรรมพวกเขารับประทานอาหารกลางวันเป็นมื้อหนักและจากนั้นรับประทานอาหารค่ำมื้อเบา ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนเราะมะฎอน การละศีลอดนั้นมีแนวโน้มว่าจะรับประทานอาหารหนักแล้วรับประทานต่อเนื่องจนไปถึงกลางดึกพร้อม ๆ กับครอบครัวและมิตรสหาย

การรับประทานอาหารสะฮูรนั้นมักเป็นมื้อหนักเช่นเดียวกัน ซึ่งในเวลานี้มันจะช่วยควบคุมในการกินแต่ละวันเพื่อ “ตรวจสอบตามสภาพที่เป็นจริง” การรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ ๆ หรืออาหารแปลก ๆ เป็นปัญหากับการลดน้ำหนักในช่วงเดือนเราะมะฎอนด้วยเช่นกัน

ในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตอาจทำให้เกิดความเครียดและมีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

ความเครียดอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นในคนที่มี่ความไวต่อความเครียด หากท่านเป็นคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงแต่ชอบให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่า “ทุกสิ่งย่อมมีที่ทางของมันและทุกสิ่งนั้นอยู่ที่ทางของมัน” หรือท่านเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดกับการอยู่ในบ้าน ท่านอาจจะเป็นคนที่ไม่สามารถรับมือกับความเครียดอันเกิดจากการเปลี่ยนได้เป็นดีนัก

ท่านกินอะไร

วิตามินบีรวมสามารถช่วยให้คนรับมือกับความเครียดได้ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่สามารถช่วยลดความตึงเครียดลงได้

การรับประทานอาหารแบบใหม่ ๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้ท่านแพ้อาหารบางอย่างที่รับประทานเข้าไป ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ท้องเป็นสระน้ำของร่างกายและหลอดเลือดได้นำไปสู่มัน (ร่างกาย) เมื่อกระเพาะอาหารมีสุขภาพดี หลอดเลือดดำจะถ่ายโอนความมีสุขภาพดีจากมันด้วย เมื่อกระเพาะอาหารป่วย หลอดเลือดดำจะถ่ายโอนความป่วยนั้นด้วย”

อาหารที่ท่านแพ้อาจทำให้กระเพาะอาหารของท่านเจ็บป่วยได้ส่งผลให้เกิดอาการหอบหืด ลมพิษ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าอาการแพ้หรือการตอบสนองไวต่ออาหารอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

หลายคนมีน้ำหนักลดลงไปอย่างน่าใจหาย เมื่อพบว่าคนเองมีอาการภูมิแพ้จนทำให้งดอาหารเหล่านั้นไป อาหารที่ก่อภูมิแพ้ที่พบโดยทั่วไปได้แก่ ไข่ ถั่วลิสง นม ข้าวสาลี ถั่วเหลืองและอื่น ๆ อีกหลายชนิด

ประเภทของอาหารที่ท่านเลือกกินในช่วงเดือนเราะมะฎอนอาจทำลายความพยายามในการลดน้ำหนักของท่านได้ หากว่าท่านกินอาหารที่เค็มเกินไปร่างกายของท่านจะเก็บน้ำไว้และทำให้ท้องอืด

ในขณะเดียวกัน การขาดน้ำอาจทำให้ร่างกายสะสมสารพิษและไขมันอื่น ๆ ได้ง่ายกว่าเนื่องจากไม่มีของเหลวเพียงพอที่จะชะล้างสารพิษออกจากร่างกาย

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

รายการอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดสำหรับเดือนเราะมะฎอนของท่าน

เราะมะฎอน หมายถึง การฟื้นฟูจิตวิญญาณและร่างกาย เพราะฉะนั้น มุสลิมจะต้องเฝ้าสังเกตในสิ่งที่จะรับประทานและเพ่งความสนใจไปยังอาหารที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและอีกทั้งยังให้ความชุ่มชื้นและความมีชีวิตชีวาตลอดเดือนอันประเสริฐนี้

นักโภชนการเตือนการรับประทานอาหารประเภททอด โดยเฉพาะช่วงละศีลอดซึ่งจะทำให้ท่านรู้สึกท้องแน่น อีกทั้งกรณีการรับประทานสะฮูรที่ไม่ดีต่อสุขภาพนั้น จะทำให้ท่านรู้สึกกระหายตลอดช่วงกลางวันของการถือศีลอด

หนึ่งในอาหารที่ดีเพื่อใช้รับประทานสำหรับละศีลอด (อิฟฏอรฺ) คือ ปลาซึ่งมีทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินดีและโอเมก้า 3 นอกจากนี้ ความเอร็ดอร่อยกับการรับประทานปลายังสามารถปรับปรุงคุณภาพของการนอนหลับอันเนื่องจากมันย่อยง่าย

อาหารที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้าวกล้อง ซึ่งย่อยง่าย ข้าวกล้องจะช่วยกระตุ้นการย่อยอาหารและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของคุณได้ดี อุดมด้วยแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น ฟอสฟอรัส ธาตุสังกะสี และโฟเลต (เป็นหนึ่งในตระกูลวิตามินบีรวม รู้จักกันทั้งในชื่อ วิตามินบีซี (Bc) หรือวิตามินเอ็ม) ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและให้พลังงาน รวมไปถึงวิตามิน A วิตามิน C และวิตามิน E อีกด้วย

ตามรายงานจาก Muslim Hands UK อาหารสะฮูรที่มีโปรตีนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งที่จะทำให้ท่านอยู่ได้ตลอดทั้งวัน แหล่งโปรตีนที่ดี วิตามิน A วิตามิน D วิตามิน E วิตามิน B6 และวิตามิน B12 แคลเซียม เหล็ก และสังกะสี คือ ไข่

สลัดที่มีผักสดในแบบต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นอาหารที่ดีมื้อหนึ่งที่ท่านจะต้องรับประทานในเดือนเราะมะฎอนเพราะเป็นเหมือนอาหารมื้อเบา ๆ ที่ครบถ้วนเต็มไปด้วยโปรตีนและวิตามิน

ส่วนผลไม้ควรรับประทานทุกวันในช่วงละศีลอดและสะฮูร อย่างไรก็ตาม ผลไม้บางชนิดได้รับการยอมรับเป็นพิเศษและควรบริโภคให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ถือศีลอด

แตงโม แคนตาลูป ฮันนีดิว (แตงสายพันธุ์หนึ่งของแตงเมลอน) และแตงกวาเป็นผลไม้ที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ถือศีลอด มันคือแหล่งที่มาอันดีเยี่ยมของเส้นใยและมีปริมาณน้ำมากเพื่อช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้นในช่วงเวลาที่อดอาหาร

กล้วยอุดมไปด้วยโพแทสเซียม โปรตีน และเส้นใยอาหาร โพแทสเซียมมีส่วนสำคัญในการรักษาระดับของเหลวในร่างกาย อีกทั้งมันยังควบคุมการเคลื่อนไหวของสารอาหารและของเสียที่เข้าและออกจากเซลล์ กล้วยยังเป็นแหล่งพลังงานที่ดีช่วยลดความเครียด ปรับอารมณ์ รักษาแผลพุพองและอาการจุกเสียดท้อง

อินทผลัมเป็นผลไม้ที่สมบูรณ์แบบที่ให้ทั้งวิตามิน เกลือแร่ พลังงาน น้ำตาล และเส้นใย แม้ว่ามันจะมีขนาดเล็กก็ตาม แต่อินทผลัมกลับอุดมไปด้วยคุณค่ามากกว่าที่คุณคิดเสียอีก

การบริโภคมะละกอในช่วงเราะมะฎอนนับว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่งต่อสุขภาพของคุณ อันเนื่องจากมันอุดมไปด้วยเส้นใย แคลอรี่ และน้ำตาล ซึ่งช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น 88% ของน้ำที่มีเนื้อเยื้อ มะละกอจึงดีสำหรับเส้นผมและผิวหนังของท่าน

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

อาหารฮาลาล : ราชทัณฑ์รัฐโอคลาโฮม่าบริการอาหารฮาลาลได้มาตรฐานแก่นักโทษมุสลิม

ผู้จัดการฝ่ายบริการอาหารสำหรับนักโทษในศูนย์แก้ไขพฤติกรรม John Lilley กล่าวว่า การเตรียมอาหารฮาลาลต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าการเตรียมอาหารสำหรับนักโทษทั่วๆ ไป ถึงแม้จะไม่ใช่งานที่หนักหนา แต่ต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบในขั้นตอนต่างๆ อาทิ การแยกครัวและอุปกรณ์ การล้างน้ำเดิน การแยกบรรจุภัณฑ์ การแยกเตาไมโครเวฟ และแม้แต่จุดแจกอาหาร

เจ้าหน้าที่เรือนจำของรัฐในโอคลาโฮมา กล่าวว่า นับตั้งแต่ศาลรัฐโอคลาโฮมาได้ออกคำสั่งให้เรือนจำทุกแห่งทั่วรัฐ จัดบริการทางเลือกด้านอาหารให้กับนักโทษ ก็มีนักโทษที่เป็นมุสลิมทั้งดั้งเดิม และที่เข้ารับอิสลามใหม่หลังจากเข้ามารับโทษในเรือนจำ ขอใช้สิทธิ์ในโครงการดังกล่าวจำนวนมาก ไม่รวมนักโทษที่เป็นชาวยิวและอื่นๆ โดยที่จากเดิมในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีการบริการอาหารฮาลาลแก่นักโทษทั่วรัฐจำนวน 7,424 มื้อ เพิ่มขึ้นเป็น 11,502 มื้อในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นกว่า 38,000 มื้อ ในจำนวนอาหารทั้งหมด 6.5 ล้านมื้อ ที่จัดบริการให้กับนักโทษในโอคลาโฮมา ในช่วง 4 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2555

โฆษกกรมราชทัณฑ์รัฐโอคลาโฮมา ระบุว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม มีนักโทษมุสลิมเข้าร่วมในการประกอบศาสนกิจกว่า 600 คน 

หลายปีที่ผ่านมาเรือนจำต่าง ๆ เสิร์ฟอาหารที่ทำจากเนื้อโคเช่อร์ (ฮาลาลของชาวยิว) หรืออาหารที่เพียงแต่ไม่ใส่หมู หรืออาหารมังสวิรัติ แก่นักโทษมุสลิม จนกระทั่งฝ่ายศาสนาในกรมราชทัณฑ์ได้ออกคำแนะนำใหม่ด้านอาหารฮาลาล รวมทั้งข้อกำหนดให้ทางเลือกแก่นักโทษ ซึ่งผ่านการเห็นชอบและตกลงกันในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ หลังจากศาลได้พิจารณาคำร้องขอของนักโทษ มาดีน อับดุลฮาซีบ หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าเจอรี่ แอล.โธมัส จากเรือนจำลอตั้น ที่ร้องเรียนเกี่ยวกับการเสิร์ฟอาหารที่เพียงไม่ใส่หมู หรือเนื้อสัตว์แก่นักโทษมุสลิม เมื่อปีที่ผ่านมา

ในการร้องเรียนครั้งนั้น โธมัส ได้รับเงินชดเชยจำนวน 63,000 ดอลล่าร์ จากราชทัณฑ์ ทั้งๆ ที่เขาเป็นนักโทษคดีอาญาร้ายแรงจากความผิดฐานข่มขืนและลักขโมย หลังจากนั้นมีการร้องเรียนคล้ายๆ กันนี้ในเรือนจำจอร์เจีย แคลิฟอร์เนียและโอไฮโอ ทำให้ทางราชทัณฑ์จำต้องพิจารณาทางเลือกด้านอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามมาตรฐานแก่นักโทษมุสลิม

เรือนจำ John Lilley มีมุสลิม 10 คน และอนุศาสนาจารย์ได้ยืนยันว่า ทั้งหมดปฏิบัติศาสนกิจครบถ้วน

ข่าวเว็ปไซต์ newsok.com