รอมฎอนและกีฬา : ความท้าทายสำหรับนักกีฬามุสลิม ?

รายการแข่งขันกีฬาบางประเภทมีตารางการแข่งขันตรงกับช่วงเดือนรอมฎอน นักกีฬามุสลิมกังวลว่าอาจจะมีเกมการแข่งขันในระหว่างที่ถือศีลอด ด้วยความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาที่สำคัญนี้และหาทางออก ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ Sir Roger Gilbert Bannister ผู้ที่เหล่านักกีฬาน่าจะรู้จักบุรุษท่านนี้เป็นอย่างดี

Sir Bannister เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่วิ่งระยะหนึ่งไมล์ภายในเวลาไม่ถึง 4 นาที เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 1952 ที่เฮลซิงกิ เมื่อเขาเข้าเส้นชัยเป็นที่สี่ โรเบิร์ตหนุ่มเสียใจมาก เขาคิดถึงขนาดที่ว่าจะเลิกวิ่งแข่งขันอีกต่อไป แต่แล้วเขาก็เอาชนะความผิดหวังของเขาได้ เขาก้าวพ้นประสบการณ์อันข่มขื่นของเขา ด้วยความท้าทายใหม่ คือ เขาตัดสินใจที่จะเป็นนักกีฬาคนแรกที่วิ่งในระยะทางหนึ่งไมล์โดยใช้เวลาให้น้อยกว่าสี่นาที

ในช่วงเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์และนักกีฬาเชื่อว่าเป้าหมายนี้เป็นไปไม่ได้ ผู้คนต่างกล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของมนุษย์ โรเบิร์ตหนุ่มไม่ยอมแพ้ต่อคำกล่าวอ้างในเรื่องนี้ เขาเพิ่มความเข้มข้นในโปรแกรมการฝึกฝนของเขา และหลังจากนั้นสองปีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1954 Robert Bannister ได้ถูกบันทึกชื่อลงในกินเนสบุค

แต่เดี๋ยวก่อน นี่ไม่ใช่เหตุผลที่โรเบิร์ตหนุ่มของเราได้กลายเป็นที่รู้จัก Sir Bannister เป็นที่รู้จักไม่ใช่เพราะเป็นคนแรกที่วิ่งระยะทางหนึ่งไมล์ในสี่นาที แต่เพราะเขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้ชายที่ได้รับการบันทึกสถิติของเขาในกินเนสบุคโดยมีระยะเวลาที่สั้นที่สุด เพียง 46 วันต่อมาสถิติของโรเบิร์ตหนุ่มก็ถูกทำลายโดย John Landy นักกีฬาชาวออสเตรเลีย

ทั้งหมดที่ Bannister ได้ทำคือการพิสูจน์ว่าเป้าหมายนี้สามารถทำได้จริง ด้วยการทำเช่นนั้นเขาช่วยแก้ไขความเชื่อที่ผิดพลาดที่ได้รับการยึดถือมาอย่างยาวมานานและฉุดรั้งเหล่านักกีฬาเป็นเวลาหลายปี Bannister ไม่เพียงแค่เปลี่ยนสถิติของเหล่านักกีฬาเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนมุมมองของพวกเขา เปลี่ยนการรับรู้ของพวกเขา และเปิดประตูสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายในปัจจุบันในหมู่โค้ชการพัฒนามนุษย์ ที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “The Bannister effect”

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ทรงพลังของความรู้สึกนึกคิดที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าความสามารถ มันพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นไปไม่ได้ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอาหารแท่งให้พลังงานหรือพาวเวอร์บาร์จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและเพิ่มพละกำลังให้แก่นักกีฬาหากเขาหรือเธอ ‘เชื่อ’ เช่นนั้น [1]

ประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในเรื่องของพลังมหัศจรรย์ ความทรหดอดทน และการบรรลุผลสำเร็จที่น่าอัศจรรย์ของมุสลิมในระหว่างที่พวกเขาได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เรามี “Bannister effect” ของเราเองจากบันทึกเรื่องราวอันยาวนานของประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่รอมฎอนแรกที่ชาวมุสลิมได้ถือศีลอด

ในปี 624 พลังอันน่าทึ่งที่เชื่อมต่อกันของความคิดจิตใจและร่างกายได้เป็นที่ประจักษ์ชัด ในระหว่างการสู้รบในสงครามบะดัรฺ มุสลิมที่ถือศีลอดสามารถต่อสู้และได้รับชัยชนะเหนือบรรดามุชริกจากเมืองมักกะห์ในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้

ในปี 710 เช่นเดียวกันในเดือนรอมฎอน กองทัพมุสลิมที่นำโดย ฏอริก บิน ซิยาด ได้พิชิตกษัตริย์โรเดอร์ริก และเข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรีย และเริ่มต้นการปกครองแบบอิสลามอันน่าอัศจรรย์เหนือนครอันดาลุเซีย ซึ่งใช้เวลากว่า 800 ปี ในการเผยแผ่อิสลามและสร้างอารยธรรมตลอดพื้นที่ของทวีปแอฟริกาและยุโรป

ในปี 1260 สุลต่านซัยฟุดดีน กุตุซ แห่งราชวงศ์มัมลูก ได้นำกองทัพอียิปต์เข้าสู่สงครามที่สมรภูมิอัยน์ ญาลูต และได้พิชิตกองทัพที่ถูกขนานนามว่าไร้พ่ายของชาวมองโกลที่ปาเลสไตน์ และยุติทศวรรษแห่งความทุกข์ทรมานและความยากลำบากของมุสลิม [2] อีกทั้งยังสามารถปราบปรามชาวมองโกลที่ได้ชัยชนะกองทัพต่าง ๆ จากทั้งยุโรปและเอเชีย

นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเรา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม หรือ 10 รอมฎอน 1973 กองทัพอียิปต์ที่ต่อสู้กับอิสราเอลได้ทำลายตำนานของป้อมปราการบาเลฟไลน์และข้ามคลองสุเอซไปยังดินแดนที่ถูกยึดครองของซีนายในขณะที่มุสลิมกำลังถือศีลอด

วิทยาศาสตร์ได้ล้มเหลวในการอธิบายถึงความทรหดอดทนและผลงานอันน่าทึ่งนี้ของบรรดามุสลิมที่ถือศีลอดในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ ‘ Bannister effect ‘ อาจพิสูจน์พลังของจิตใจที่อยู่เหนือร่างกาย และแสดงให้เราเห็นถึงพลังที่น่าอัศจรรย์ของจิตใต้สำนึกของเราเหนือสรีรวิทยาของเรา แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงความจำเริญอันยิ่งใหญ่ในช่วงวันอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเจตจำนงที่หนักแน่นเป็นเครื่องมืออันทรงพลังอย่างยิ่งและเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ดีที่สุดของจิตใต้สำนึก

และในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยกับเจตนาที่บริสุทธิ์ของเรา ร่างกายของเราอาจได้รับการตั้งโปรแกรมเพื่อปรับสรีรวิทยาให้บรรลุสู่หนทางปาฏิหาริย์ที่เหนือการยืนหยัดอดทดและอดกลั้นไม่ดื่มกินเท่านั้น ด้วยความตั้งใจที่เรียบง่ายแต่จริงใจ เรากำลังวางแผนจิตใต้สำนึกของเราเพื่อส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและความทรหดอดทน

มีอะไรมากมายในรอมฎอนที่ไม่ใช่เพียงแค่การอดอาหารทางกายภาพหรือการขัดเกลาวิญญาณ ตามที่เราเห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า การถือศีลอดอย่างจริงใจสามารถบรรลุปาฏิหาริย์ได้อย่างไร การถือศีลอดสามารถเพิ่มความทรหดอดทนและเพิ่มพลังให้ทั้งสมรรถภาพทางจิตใจและร่างกายได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายได้ในที่นี่ แต่พึงระลึกถึงถ้อยคำของผู้เป็นเจ้า

“พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ ? พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วน ผู้ทรงตระหนักยิ่ง” (สูเราะห์ อัล มุลก์ – 67:14)

::เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์สำหรับนักกีฬา::
หากคุณต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมมาสนับสนุนความคิดที่ว่าคุณสามารถถือศีลอดและยังคงสามารถแข่งขันด้วยกับประสิทธิภาพสูงสุดของคุณ คุณจะไม่พบอะไรมากแต่วิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงท่าทีอยู่บ่อยครั้ง

ความคิดเห็นและทฤษฎีเกี่ยวกับอาหารชนิดใดบ้างที่ต้องรับประทาน และช่วงเวลาใดที่จะต้องรับประทานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลายครั้งหลายหนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เมื่อไม่นานมานี้นักโภชนาการจะแนะนำไม่ให้ทานคาร์โบไฮเดรตก่อนการแข่งขันเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดการหลั่งอินซูลินและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้นักโภชนาการกลับแนะนำให้นักกีฬากินคาร์โบไฮเดรตก่อนที่จะมีการแข่งขันเพื่อกระตุ้นการสะสมกำลังของกล้ามเนื้อ

แม้ในขณะนี้ การศึกษาแสดงให้เห็นว่าผลกระทบของอาหารและการควบคุมอาหารในการแข่งขันของนักกีฬาเป็นแนวคิดแบบปัจเจกบุคคลโดยสิ้นเชิงซึ่งแตกต่างกันตามรายบุคคลและตามสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายร้อยประการ ที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อและมุมมองทางจิตใจของนักกีฬา

ดังนั้น ขณะที่ Smolin และ Grosvenor แนะนำว่า “นักกีฬาควรทดสอบผลของมื้ออาหารก่อนการแข่งขันในระหว่างการฝึกซ้อม ไม่ใช่ในระหว่างการแข่งขัน” [3]

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากเน้นย้ำว่าการวางโปรแกรมทางจิตใจและร่างกายของเราต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี

อิสลามเป็นศาสนาแห่งความสมดุลและความพอดีที่สนับสนุนความเข้าใจในวิธีการทั้งหลายทางโลกนี้พร้อม ๆ กับเครื่องมือทางด้านจิตวิญญาณ ความนึกคิด และอารมณ์ การควบคุมอาหารที่ได้สมดุลครบถ้วนทั้งสารอาหารและวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการออกกำลังกายคือแก่นสำคัญสำหรับผลงานในการแข่งขันที่เหมาะสม นักกีฬายังคงสามารถรับสารอาหารที่จำเป็นได้ในช่วงเวลาที่ไม่ต้องถือศีลอด 

จงตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณรับประทานอาหารที่อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตเพื่อเติมเต็มปริมาณไกลโคเจนสำรองไว้ในกล้ามเนื้อ (ร่างกายของคุณใช้ไกลโคเจนสำรองนี้เป็นเชื้อเพลิงในการให้พลังงานระหว่างการออกกำลังกาย)

หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการแปรรูปและน้ำตาลเชิงเดี่ยว และทดแทนด้วยการกินธัญพืชโฮลเกรน ผักผลไม้ ถั่วและพืชตระกูลถั่วให้มาก ๆ และที่สำคัญที่สุดดื่มน้ำมาก ๆ ในระหว่างช่วง สะฮูร เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายจะมีน้ำเพียงพอตลอดทั้งวัน

………………………………………………………..
อ้างอิง:
[1] Smolin & Govner. 1997. Nutrition: science and applications. Saunders College Publishing.
[2] As-Sergany, R. n.d. http://islamstory.com
[3] Smolin & Govner. 1997. Nutrition: science and applications. Saunders College Publishing.
……………………..

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Amira Ayad

:: รอมฎอนกับการกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี (1) ::

รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน 
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอด ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเวลาโดยยังบริโภคอาหารมากเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม การถือศีลอดที่ถูกต้องหมายถึงต้องลดการบริโภคอาหารให้น้อยลงด้วย หาไม่แล้วก็อาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่หวัง ก่อนอื่นควรรู้ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนที่ว่าสร้างประโยชน์มากมายนั้นสร้างอะไรบ้าง ประการแรกที่รอมฎอนให้ประโยชน์คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจากเดิมสามมื้อกลายเป็นสองมื้อ เรื่องนี้หากไม่เคยฝึกมาก่อนย่อมทำได้ไม่ง่ายเลย ปรัชญาเบื้องหลังประโยชน์ในเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ว่านี้คือการเปลี่ยนความเคยชินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

คนเราทำงานจำเป็นต้องมีวันหยุดไม่เช่นนั้นร่างกายคงล้าจนกระทั่งทรุดโทรม การหยุดงานเสาร์อาทิตย์รวมทั้งการพักเที่ยงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจากงานวิจัยการหยุดพักเป็นช่วงๆเช่นนี้ให้ผลสัมฤทธิ์ต่องานมากมาย การหยุดงานจะหนึ่งวันหรือสองวันในหนึ่งสัปดาห์ส่งผลให้กายและใจที่ผ่านการพักผ่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้คุณภาพดีอีกต่างหาก

ระบบทางเดินอาหารก็ไม่ต่างกัน ทางเดินอาหาร นับตั้งแต่ปาก หลอดคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ตับ ถุงน้ำดี ต้องทำงานหนักจากการกินอาหารปริมาณมากบ่อยครั้ง สุดท้ายประสิทธิภาพของทางเดินอาหารย่อมลดลง ทำงานช้าลง มีสิ่งอุดตันมากขึ้น การขับถ่ายอาจมีปัญหา การสร้างเอนไซม์และน้ำย่อยอาจไม่เพียงพอกับปริมาณที่บริโภคมากเกินไปในแต่ละวัน

คนที่บริโภคอาหารมากเกินโดยไม่เคยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังกินซ้ำซากทุกวันทั้งปี ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักกระทั่งล้า ผลสุดท้ายคือโรคที่เกิดกับทางเดินอาหาร อย่างเช่น โรคหูติ่งในลำไส้ โรคกระเพาะอาหาร บ้างก็เจอปัญหาท้องผูก หนักหน่อยอาจเจอมะเร็ง ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงคนที่บริโภคมากกระทั่งเจอปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันสูงในเลือดและอีกสารพัดโรคเรื้อรังซึ่งกลายเป็นโรคอันดับหนึ่งของศตวรรษที่ 20 และ 21 ไปแล้ว

การแพทย์แผนอินเดียเก่าแก่กว่าห้าพันปีที่เรียกว่าอายุรเวท และแพทย์แผนจีนโบราณอายุกว่าสี่พันปียืนยันตรงกันว่าการลดการบริโภคช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่เหมาะกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ การบริโภคไม่มากนักช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหารและสุขภาพร่างกายของผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีให้ดีขึ้น ส่วนเด็ก ๆ ที่กำลังเจริญเติบโตการไม่สนับสนุนให้บริโภคมากเกินไป สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารขยะ ผลที่ตามมาคือสุขภาพร่างกายของเด็กดีขึ้น สติปัญญาแจ่มใสขึ้น ทำให้เด็กเหล่านี้ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ได้

นักวิจัยชาวตะวันตกพบว่า การฝึกกระบวนการลดการบริโภคที่ดีที่สุดคือใช้วิธีถือศีลอดแบบมุสลิม โดยเปลี่ยนเวลารับประทานอาหาร ลดอาหารจากสามมื้อเป็นสองมื้อ ที่สำคัญ คือ ปริมาณที่บริโภคในสองมื้อนั้นต้องลดลงจากปกติ ทำได้อย่างนี้สุขภาพจึงจะดีขึ้น ปัญหาของมุสลิมจำนวนไม่น้อยในเดือนรอมฎอนคือเปลี่ยนเวลาในการบริโภคอาหารแต่กลับเพิ่มปริมาณการบริโภค ผลดีที่จะได้กลับไม่ได้ น้ำหนักตัวแทนที่จะลดกลับเพิ่ม ทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลดีนอกจากไม่ได้แล้วยังอาจเป็นผลเสีย ต้องระวังกันหน่อย

……………………………………………..
ที่มา : https://www.facebook.com/drwinaidahlan

ฟิกฮฺ อิสติฮาละฮฺ การบูรณาการวิทยาศาสตร์กับหลักนิติศาสตร์อิสลาม (ตอนที่ 1)

ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านอาหารเป็นผลให้เกิดผลิตภัณฑ์และส่วนผสมอาหารใหม่ ๆ หลากหลายชนิดที่ปรากฏอยู่ในท้องตลาด เทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะในการผลิตหรือผลิตซ้ำ (reproduce) จากส่วนผสมที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ชุมชนศาสนารวมถึงมุสลิมต่างเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บางอย่างซึ่งเคยรับรู้มาก่อน เช่น มุสลิมได้อาหารที่ผลิตจากหมูรวมทั้งผลิตภัณฑ์ของมัน ซากสัตว์ เลือด ไวน์ เป็นต้น การขาดความเข้าใจของผู้บริโภคมุสลิมในเรื่องนี้อาจนำไปสู่ความยุ่งยากในการเลือกซื้ออาหารในตลาดที่ฮาลาลอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงของอุตสาหกรรมอาหารในโลกมุสลิมคือที่มาของเจลาตินและแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร

แอลกอฮอล์โดยหลักแล้วใช้เป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์อาหาร อาจใช้เป็นตัวสารเพิ่มกลิ่นและรสอาหารโดยเฉพาะในการปรุงอาหาร ช็อกโกแลต ไอศครีม ขนมปังกรอบและผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้วผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแอลกอฮอล์เช่น น้ำส้มสายชู มาร์ไมต์ (marmite) เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมากรวมทั้งมุสลิมโดยที่ไม่แน่ใจในแหล่งที่มาของอาหารเหล่านี้มากนัก (Main & Chaudry ,2004)

ขณะที่เจลาตินใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะที่เป็นส่วนผสมที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพของอาหาร โดยปกติแล้วนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อิสลามต่างเห็นว่า การใช้เจลาตินที่ได้มาจากเนื้อสัตว์ซึ่งเชือดตามหลักการศาสนาเป็นสิ่งที่ฮาลาล แต่ประเด็นที่เป็นเรื่องถกเถียงในระหว่างนักนิติศาสตร์อิสลาม คือ เจลาตินที่มาจากหมูหรือซากสัตว์เป็นสิ่งที่ฮาลาลหรือไม่ บางส่วนเห็นว่าเจลาตินที่มีแหล่งที่มาต้องห้ามเป็นสิ่งที่หะรอม ขณะที่ทรรศนะส่วนหนึ่งเห็นว่าเจลาตินที่ได้มาจากแหล่งที่มาต้องห้ามเป็นสิ่งที่ฮาลาลนั่นคืออนุมัติให้บริโภคได้เพราะตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกระบวนการอิสติหาละฮ์ (Hammad, 2004)

ในการถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์หนึ่งไปเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง นักวิชาการมุสลิมมีแนวโน้มที่จะใช้อิสติหาละฮฺหรืออินกิลาบ (การเปลี่ยน) (Wahbah 1997) อิสติหาละฮ์เป็นภาษาอาหรับมาจากรากศัพท์ของคำว่า (ح و ل) ซี่งหมายถึงเปลี่ยน (Ibn Manzur 1990: Wher) มีความหมายพ้องกับคำว่า (حال) หรือเปลี่ยน (انقلب) และการเปลี่ยนรูป (تغير) (al-Razi 1997) ดังนั้น อิสติหาละฮ์ในทางภาษาจึงหมายถึงการเปลี่ยนรูปและการเปลี่ยนแปลง (conversion) (wahbah 1997) ตามความเห็นของก็อลอะฮ์ญี ในมุอญัม ลูเฆาะฮ์ อัลฟุเกาะฮาอ์ การอิสติหาละฮ์ของสารหนึ่งไปเป็นอีกสารหนึ่งโดยที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นสารเดิมได้อีก มุมมองนี้สอดคล้องกับความเห็นของสะอ์ดี อบูญัยยิบซึ่งกล่าวว่า อิสติหาละฮ์เป็นคำที่ถูกกล่าวถึง เมื่อสารใดสารหนึ่งได้เปลี่ยนไปอย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น การที่เมล็ดพืชเติบโตและกลายเป็นต้นไม้หรือการที่มูลของสิ่งมีชีวิตได้กลายเป็นฝุ่นดิน (Al-Ayid n.d.)

นักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้นิยามคำว่าอิสติหาละฮฺไว้หลากหลาย อย่างไรก็ตามความหมายโดยพื้นฐานต่างก็มีความเหมือนกันนั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสารหนึ่งไปเป็นสารหนึ่ง (Muhammad 1996) วะฮ์บะฮ์ (1997) ยังได้นิยามอิสติหาละฮฺว่าเป็นการเปลี่ยนสถานะหรือเปลี่ยนคุณสมบัติเช่นการเปลี่ยนของสิ่งที่นาญิสเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ (อัฏฏอฮิร์) นาซิฮ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมุมมองนี้ โดยพื้นฐานคือการเปลี่ยนสิ่งที่สกปรก (นาญิส- หะรอม) ไปเป็นสารอื่น การเปลี่ยนดังกล่าวครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและคุณสมบัติเช่น ชื่อ กลิ่น รสชาติ สี และสภาพธรรมชาติของมัน ดังนั้นอิสติหาละฮฺสามารถนิยามได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์หนึ่งในทางกายภาพและทางเคมี (Aizat & Radzi 2009)

อิสติหาละฮฺครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงสามด้าน ประการแรก การเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพ ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีและสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงทั้งกายภาพและทางเคมี (Aizat & Radzi 2009) การเปลี่ยนแปลงทางกายประกอบไปด้วยการเปลี่ยนกลิ่น รสชาติและสีส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเป็นการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในในผลิตภัณฑ์ (Wahbah 1997) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนทั้งลักษณะทั้งทางกายภาพและเคมี สารตัวนั้นได้เปลี่ยนเป็นสารตัวใหม่อย่างสมบูรณ์ (Nazih 2004) ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ คือ การเปลี่ยนหนังสัตว์ยกเว้นหนังสุนัขและสุกร ซึ่งเปลี่ยนเป็นเครื่องหนังโดยผ่านกระบวนการฟอก สำหรับตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ได้แก่ การเปลี่ยนของไวน์กลายเป็นน้ำส้มสายชูผ่านกระบวนการหมัก ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางเคมีนั้น จะเห็นว่าทั้งไวน์และน้ำส้มสายชูยังอยู่ในสถานะของเหลวแต่มีความแตกต่างในคุณสมบัติทางเคมี

ฟิกฮ์เป็นคำภาษาอาหรับ ซึ่งในทางภาษาหมายถึงการเข้าใจอย่างละเอียดและลึกซึ้งและโดยทั่วไป หมายถึง การได้รับความรู้ศาสนา (Ibn Manzur 1990) อิบนุค็อลดูนได้อธิบายฟิกฮฺว่าเป็น “ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์แห่งวิวรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการงานของแต่ละบุคคล” (อัฟอะลุล อัลอิบัด) โดยเขาจะต้องให้เกียรติกับบัญญัติแห่งฟากฟ้าซึ่งได้แก่ สิ่งต้องกระทำ (วาญิบ) สิ่งที่ห้าม (หะรอม) สิ่งที่ควรปฏิบัติ (มันดูบ) และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง (มักรูฮฺ) หรือการอนุญาต (มุบาฮ์) (Levy 1957) เมื่อนิยามเจาะจงลงไป ฟิกฮ์จึงเข้าใจได้ว่า เป็นความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ชะรีอะฮ์ในทางปฏิบัติซึ่งนำมาจากหลักฐานที่เป็นรายละเอียด (อัลอิลมุล บิลอะห์กาม อัช-ชะริอิยฺยะฮ์ อัลอะอ์มาลิยฺยะฮ์ มินอะดิลละตะฮา อัลตัฟศีลิยฺยะฮ์) (อบูซะเราะฮฺ 1958) ยิ่งไปกว่านั้น ฟิกฮ์ครอบคลุมถึง อัลอิบาดะฮ์ (การเคารพเชื่อฟัง) อัลมุอามาลาต (การติดต่อหรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น) อัลมุนากาหาต (การแต่งงาน) อัลมะวาริษ (การจัดการมรดก) ฟิกฮ์อัลอัฏอิมะฮฺ (อาหาร) และอื่น ๆ

**โครงสร้างของอิสติหาละฮฺ**
ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์อาหารในแนวคิดอิสติหาละฮฺ โดยการเปลี่ยนแปลงครอบคลุมสามองค์ประกอบ ได้แก่ วัตถุดิบ ตัวกระทำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลิตภัณฑ์สุดท้าย กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากปฏิกิริยาระหว่างวัตถุดิบกับตัวกระทำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโดยวิธีธรรมชาติหรือการเลียนแบบธรรมชาติ สารสุดท้ายที่ผ่านกระบวนการนี้จะมีความแตกต่างจากวัสดุตั้งต้นทั้งทางกายภาพและทางเคมี

…………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

อ้างอิง :
Abu Jayyib, S. 1988, al-Qamus al-fiqhi: lughatan waistilahan, Damsyik : Dar al-Fikr.
Istihalah menurut perspektif fiqh dan sains: aplikasi terhadap beberapa penghasilan produk makanan. Jurnal Syariah 17 (1), 169-193
Al-‘Ayid, A. et al. n.d. Mu’jam al-Arabi al-Asasi, Tunis: al-Munazzamah al-‘Arabiyah li al-Tarbiyyah wa al-Thaqafah wa al-‘Ulum.
Al-Fayyumi 1985. Al-Misbah al-Munir fi Gharib al-Syarh al-Kabir, Beirut: al-Maktabah al-‘llmiyah
Al-Jurjani 2000 al-Ta’rifat, Beirut: Dar al-Nafa’ is.
Al-Razi 1977. Mukhtar al-Sihhah, Beirut: Dar al-Fikr al-Arabi.
Ghananim, Q. I. 2008. Al-Istihalah wa Ahkamuha fi al-Fiqh al-Islami, Jodan: Dar al-Nafais.
Hoque, M.S. et al. 2010. Effect of heat treatment of film-forming solution on the properties of film from cuttlefish (sepia pharaonis) skin gelatin. J. of Food Engineering. 96, 66-73
Ibn Manzur 1990. Lisan al-‘Arab, Beirut: Dar Sadir.
Ibn Taymiyyah 2005. Majmu’ah al-Fatawa Ibn al-Taymiyyah, Egypt: Dar al-Wafa’ 3rd edition, vol. 21.
Jasser, A. 2010. Script-Based Rational Evidences, in: Jasser A. , Maqasid al-Shariah as philosophy of Islamic law. Kuala Lumpur, Islamic Book Trust, pp.107-135.
Karim, A.A. & Rajeev, B.2008. Fish gelatin: properties, challenges, and prospect as an alternative to mammalian gelatin. Food Hydrocolloids. 23, (3), 563-576
Majma’ al-Lughah al-‘Arabiyyah 2004. Al-Mu’jam al-Wasit, Egypt: Maktabah al-Syuruq al-Dauliyyah, vol.4.
Main, N.R. & Chaudy, M.M. 2004. Halal food production, London: CRC Press.
Nazih, H. 2004. Al-Mawad al-Muharramah wa al- Najisah fi al- Ghzali’ wa al-Dawa’ bayna al-Nazariyyah wa al-Tatbiq, Syria: Dar al-Qalam
Nurdeng D. 2009 Lawful and unlawful foods in Islamic law focus on Islamic medical and ethical aspect International Food Research Jornal. 16, 469-478.
Nyazee, I.A.K. 2000. The Source of Islamic law, in: Nyazee I. A. K., Islamic Jurisprudence. Pakistan: The International Institute of Islamic Thought, pp. 144.
Qal ‘ahji, Muhammad Rawwas 1996. Mu’jam lughah al-fuqaha’ , Beirut; Dar al-Nafa’is.
Schreiber, R. & Gareis, H. 2007 The raw material ‘Ossein’ , in: Schreiber R. and Gareis H., Gelatine Handbook-Theory and Industrial Practice. Weinham: Wiley-VCH. Pp. 63-71.
Syarbini 1994. al-Iqna‘ fi Halli Alfaz Abi Syuja‘ , Beirut: Dar al-Kutub al-‘Ilmiyyah.
Wahbah, Z. 1997. Al-Fiqh al-Islami wa adillatuh, Syria Dar al-Fikr, vol. 1.
Wehr, H. 1947. A dictionary written Arabic, (ed.) J. Milton Cowan. Beirut: Librairie Du Liban.

ประโยชน์ 4 ประการที่มีต่อสุขภาพจากการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน

เดือนรอมฎอน เป็นช่วงเวลาของการถือศีลอด การเสียสละ การให้ ความมีน้ำใจ และการรู้จักยับยั้งชั่งใจ ซึ่งหวังว่าคุณลักษณะทั้งหมดนี้จะก้าวข้ามเดือนรอมฎอนไปสู่เดือนอื่น ๆ โดยจะอยู่กับเราตลอดทั้งปี แน่นอนว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ อย่างไรก็ตามเดือนที่สำคัญนี้ยังให้ประโยชน์แก่เราอีกหลายประการทั้งทางจิตใจและร่างกาย

จากท่านอบู นุอัยม์ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า “ศูมูว วะตัศฮูว” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “จงถือศีลอดแล้วท่านจะมีสุขภาพดี” แม้ในทางวิทยาศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยความประเสริฐ ในการประชุมนานาชาติในหัวข้อ “สุขภาพและรอมฎอน” ซึ่งจัดขึ้นที่คาซาบลังกาในปี 1994 ครอบคลุมเรื่องราวกว่า 50 หัวข้อในประเด็นจริยศาสตร์ทางการแพทย์ของรอมฎอนและได้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มพูนสุขภาพของผู้ที่ถือศีลอด

หากพบเห็นผลกระทบที่เสียบ้างก็มักจะเกิดจากการที่รับประทานอาหารขณะละศีลอดที่มากเกินไป หรือการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามจะต้องคอยระวังว่าหากการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่าน เช่น การเป็นโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง (Type 1 Diabetics) ไม่แนะนำให้ท่านถือศีลอดเพราะอาจทำให้สุขภาพของท่านย่ำแย่ลงไปอีก

สำหรับผู้ที่สามารถถือศีลอด ลองเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์อันเหลือเชื่อของการถือศีลอดต่อชีวิตโดยรวมของเรา ให้ความสงบแก่อารมณ์ ความคิด และจิตใจ 

สำหรับผู้ถือศีลอด ย่อมมีความหมายที่สำคัญยิ่งต่อจิตวิญญาณ มุสลิมฝึกฝนความเอื้ออาทรด้วยการบริจาค ผูกพันสายใยครอบครัวด้วยการละศีลอดร่วมกัน ฝนฝนจิตวิญญาณด้วยการละหมาด และการควบคุมตนเองด้วยการปฏิบัติมารยาทที่ดีงาม นิสัยเหล่านี้สร้างความรู้สึกสงบสุขและความพึงพอใจในตนเอง

:: ช่วยปรับปรุงระดับไขมันในเลือดของคุณ ::
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1997 ในวารสาร Annals of Nutrition Metabolism แสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดจะช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลชนิดเลว แอลดีแอล (“LDL” cholesterol) ได้ถึงร้อยละ 8 ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดร้อยละ 30 และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีหรือ “HDL” ได้ถึงร้อยละ 14.3 ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) 

เรื่องนี้สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายของเรา ในเดือนรอมฏอนหลายคนจะนิยมบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น อินทผลัม ถั่ว ซุปถั่วเลนทิล และมักจะทำอาหารกินกันในบ้าน จากการศึกษาโดยรวมพบว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวซึ่งพบในเนยไขมันหมู เนื้อ ไขมัน และอาหารจานด่วนจะลดลงในรอมฎอน ยิ่งไปกว่านั้นการละหมาดตะรอวีฮฺในยามค่ำคืน เป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ซึ่งสำหรับบางคนแล้วอาจมากกว่าในเวลาปกติ

:: การถือศีลอดยังช่วยปัญหาการเสพติด ::
การเสพติดอาจจะมาในรูปแบบต่าง ๆ รอมฎอนนับเป็นโอกาศที่ดีในการเลิกละจากสิ่งเสพติดเหล่านี้ เพราะเดือนรอมฎอนสอนให้รู้จักควบคุมตัวเองได้เกือบตลอดวัน คุณจะรู้สึกได้ว่าการเลิกจากสิ่งเสพติดทั้งหมดของคุณอาจไม่ยากอย่างที่คุณคิดก็เป็นได้

เลือกที่จะเลิกสิ่งเสพติดมาหนึ่งอย่างก่อนในเดือนนี้ เช่น บุหรี่ การพูดโกหก ช็อกโกแลต หรือแม่แต่การซุบซิบนินทาจากนั้นกล่าวโบกมืออำลา 

:: ส่งเสริมการลดไขมันและลดน้ำหนักตัว ::
การบริโภคไขมันโดยรวมแล้วมีปริมาณที่ลดลงในเดือนรอมฏอน อย่างไรก็ตามหากคุณรักษานิสัยการกินตามปกติย่อมมีแนวโน้มที่คุณจะกินอาหารที่น้อยลงและช่วยลดน้ำหนัก สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงในเดือนรอมฎอน หากแหล่งพลังงานหลักของคุณคือไขมัน การทำกิจกรรมที่เบา ๆ ในช่วงกลางวันจะช่วยทำลายไขมันให้ลดลงได้เพิ่มอีก 

รอมฎอนเป็นโอกาสอันดีในการฝึกตัวเองและหันไปสู่การกินเพื่อสุขภาพ เมื่อคุณถือศีลอด คุณเรียนรู้ที่จะควบคุมความอยากของคุณ ดังนั้นในตอนท้ายของเดือนรอมฎอนคุณจะมีความเข้มข้นมากขึ้น และคุณจะได้รับความเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งในการที่จะปฎิเสธอาหารที่ล่อใจ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก english.alarabiya.net

ฉลองอีดอย่างไรไม่ทำลายสุขภาพ

เมื่อสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เราจะเฉลิมฉลองกันในวันอีด อันเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความปิติยินดี การบริจาคที่มากมายตลอดจนการเลี้ยงอาหารหลากหลายชนิดที่แสนเอร็ดอร่อย 

ในช่วงของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนร่างกายของคุณจะค่อยๆปรับตัวในการรับประทานอาหารในช่วงเวลาที่เจาะจงของแต่ละวัน สำหรับหลายคนอาจเป็นสิ่งที่ไม่ปกติและยุ่งยากที่จะปฏิบัติในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันคุณจะรู้สึกได้ว่าคุ้นเคยกับมันและมีความสุขกับการถือศีลอด 

เมื่อกลับสู่สภาพพฤติกรรมการกินแบบเดิมๆก่อนรอมฎอน ระบบร่างกายอาจช็อกและอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงเช่นระบบย่อยอาหาร อาการแน่นท้อง จุกเสียดและน้ำหนักที่ไม่พึงประสงค์ เราน่าจะทราบดีว่าการกินอย่างมากมายในช่วงวันอีดกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

นี่คือเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะทำให้ช่วงวันอีดเต็มไปด้วยความสุขและไม่ทำลายสุขภาพ

ก่อนละหมาดศุบฮ์ ควรจะทานอะไรบ้างเช่นอินทผลัมนิดๆหน่อยๆ
หลังละหมาดศุบฮ์แนะนำให้ทานอาหารเบา ๆ เช่นนม (ละบัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมไขมันต่ำหรือนมพร่องมันเนย

แล้วค่อยตามด้วยอาหารเช้ามื้อพอประมาณ เช่น พวกธัญหารกับนมสดไขมันต่ำและกล้วยหรือขนมปังโฮลวีต, ชีสไขมันต่ำพร้อมด้วยมะเขือเทศหั่นบาง ๆ พยายามทานอาหารมื้อหลักในวันอีดให้ตรงกับช่วงละศีลอดและสุหูรฺในเดือนรอมฎอน ซึ่งจะทำให้ร่างกายค่อยๆปรับตัวกับการกินในช่วงเวลาปกติ จำกัดสัดส่วนของอาหารเพื่อลดอาการกระเพาะไม่ย่อยรวมทั้งอาการจุกเสียดท้อง

ปรับเปลี่ยนของหวานด้วยการลดไขมันและแทนที่น้ำตาลด้วยน้ำผึ้งหรืออินทผลัม เพราะทั้งสองอย่างมีคุณค่าทางอาหารสูงและช่วยให้รสชาติอาหารเอร็ดอร่อย

ด้วยเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์เหล่านี้จะช่วยให้คุณมีความสุขกับวันอีดทั้งยังไม่ทำลายสุขภาพ ขณะเดียวกันยังทำให้คุณกลับไปรับประทานอาหารสามมื้อตามปกติและออกกำลังได้อย่างราบรื่น

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี
ที่มา : http://www.nestle-family.com/my

งานวิจัยสำรวจผู้ป่วยโรคเบาหวานกับการถือศีลอด

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะเรื้อรังที่ร่างกายสามารถทนทานอินซูลิน หรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ ส่งผลต่อการนำน้ำตาลจากอาหารเข้าเซลล์เพื่อไปใช้เป็นพลังงาน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานประเภทนี้ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 108 ล้านคนในปี 1980 เป็น 422 ล้านคนในปี 2014

เนื่องจากการจัดการสภาวะนี้ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่แน่นอน รอมฎอนจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความท้าทายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตามลักษณะของเงื่อนไขในการถือศีลอดเปิดกว้างให้ผู้ที่มีอาการป่วยดังกล่าวสามารถได้รับการยกเว้นจากการถือศีลอดเนื่องจากความเสี่ยงต่อสุขภาพโดยทั่วไป

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (คือ ถูกกำหนดให้ถือ) ในบรรดาวันที่ถูกนับไว้แล้วผู้ใดในพวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทางก็ให้ถือใช้ในวันอื่น และหน้าที่ของบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ) นั้น คือการชดเชยอันได้แก่การให้อาหาร (มื้อหนึ่ง) แก่คนยากจนคนหนึ่ (ต่อการงดเว้นจาการถือหนึ่งวัน) แต่ผู้กระทำความดีโดยสมัครใจมันก็เป็นความดีแก่เขา และการที่พวกเจ้าจะถือศีลอดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้” (อัลกุรอาน 2 : 183-184)

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวนมากกลับเลือกที่จะถือศีลอดซึ่งอาจจะมีผลกระทบที่เป็นอันตรายได้หากระดับน้ำตาลในเลือดของพวกเขาลดลงต่ำเกินไปในช่วงที่อดอาหาร (สภาวะนี้เรียกว่าสภาวะ hypoglycemia) หรือน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงเกินไปหลังจากที่เริ่มรับประทานอาหาร (สภาวะ hyperglycemia) หากไม่ได้ทำการรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง

ในปี 2016 เภสัชกร Ehab Mikhael จากมหาวิทยาลัยแบกแดดแห่งอิหร่าน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาซึ่งเขาได้ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตัวยาใหม่ ๆ สำหรับผู้อดอาหารในรอมฎอนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

การศึกษาทดสอบประสิทธิภาพของยาบางชนิดในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ก่อให้เกิดภาวะ hypoglycemia การรักษาด้วยวิธีนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เลือกที่จะอดอาหารในช่วงรอมฎอน

ยาชนิดใหม่ ๆ เหล่านี้ทำงานโดยการยับยั้งการสลายตัวของกลูโคส (ในทางตรงกันข้ามกับการหลั่งอินซูลินเช่นเดียวกับยาอื่น ๆ) และส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเข้าสู่สภาวะ hypoglycemia ได้ตามที่ผู้ที่อดอาหารเคยประสบจากการขาดสารอาหารในช่วงเวลาที่อดอาหาร

นอกจากนี้ การรักษารูปแบบใหม่เหล่านี้มีผลข้างเคียงน้อยมากกับความรู้สึกผิดปกติของกระเพาะอาหารและความกระหายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับยาตัวอื่น ๆ ที่เคยใช้ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักรกำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 เพื่อให้สามารถอดอาหารได้อย่างปลอดภัยในช่วงรอมฎอน

แม้ว่าข้อมูลจะไม่ได้รับการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำงานของยาดังกล่าว แต่นักวิจัยกำลังค้นคว้าเพื่อยืนยันว่าตัวยานี้มีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าผู้ใช้จะอดอาหารหรือไม่ก็ตาม
.
พวกเขาจะทำเช่นนี้โดยการตรวจสอบการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดของผู้เข้าร่วมการทดสอบทั้งในช่วงรอมฎอน รวมทั้งก่อนและหลังรอมฎอนในช่วงที่พวกเขาไม่ได้อดอาหาร นี่เป็นโอกาสที่ดีในการประเมินประสิทธิผลของยาที่ใช้ทดสอบ

การวิจัยนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะในปัจจุบันนี้เนื่องจากการถือศีลอดมีช่วงเวลาที่ยาวที่สุดอยู่ในพื้นที่แถบซีกโลกเหนือ

“ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะช่วยให้คำแนะนำในการจัดการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนแต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เรากำลังทำการศึกษาวิจัยในเรื่องเหล่านี้” Melanie Davies ศาสตราจารย์จากหน่วยวิจัยชีวการแพทย์สถาบันโภชนาการแห่งเมืองลัฟบะระมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กล่าวแก่ วารสาร The Diabetes Times

ทีมงานจะยังทำการตรวจสอบอีกว่าการออกกำลังกายร่วมกับการถือศีลอดเป็นเวลานานส่งผลอย่างไรบ้างต่อผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

ผลของการศึกษาเหล่านี้ ถือเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้มุสลิมที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานสามารถถือศีลอดได้ในอนาคต

……………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Hannah Morris

โคเชอร์ กับความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตอนที่ 4 ข้อห้ามในเรื่องของการผสมนมกับเนื้อสัตว์

“เจ้าไม่ควรทำอาหารที่ทำจากลูกของสัตว์ผสมกับนมของแม่ของสัตว์ตัวนั้น” โองการนี้ปรากฏขึ้นมาทั้งหมดจำนวนสามครั้งในคัมภีร์โตราห์ มีความหมายว่าข้อห้ามนี้ถือว่าเป็นบัญญัติที่มีความเคร่งครัดยิ่ง คำว่า “อาหารที่ทำจากลูกของสัตว์” (เนื้อสัตว์) ตามความเข้าใจของแร็บไบนั้นครอบคลุมถึงเนื้อสัตว์ปีกด้วยเช่นกัน ส่วนคำว่า “น้ำนม” นั้นมีความหมายครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากนมทุกชนิด

เพื่อให้เนื้อสัตว์และน้ำนมแยกจากกันตามบทบัญญัติกฎหมายโคเชอร์นั้นจึงได้กำหนดแบ่งประเภทของกระบวนการแปรรูปและการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกเป็นข้อใดข้อหนึ่งในสามประเภทนี้ ได้แก่
• ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อ
• ผลิตภัณฑ์ประเภทนม
• ผลิตภัณฑ์ประเภทพาร์เอเว (Pareve) หรือพาร์เว (Parve) หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลาง (Neutral Product)

ผลิตภัณฑ์ประเภทพาร์เอเวประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ไม่ตกอยู่ในข่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อหรือผลิตภัณฑ์ประเภทนมเป็นส่วนผสม ส่วนผลิตภัณฑ์จากพืชทั้งหมดก็อยู่ในผลิตภัณฑ์ประเภทพาร์เอเวเช่นกัน รวมถึงไข่ ปลา น้ำผึ้ง และชันครั่ง (เชลแล็ก) อาหารประเภทพาร์เอเวเหล่านี้สามารถนำมาใช้ปรุงรวมหรือผสมกับผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ประเภทนมได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าต้องการนำอาหารประเภทพาร์เอเวเหล่านี้มาผสมกับผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ประเภทนม ผลิตภัณฑ์พาร์เอเวที่นำไปผสมนั้นจะถูกนับรวมอยู่ในประเภทของผลิตภัณฑ์ที่นำไปผสมด้วย ตัวอย่างเช่น ไข่ที่อยู่ในชีสซูเฟล่ ก็จะตกอยู่ในผลิตภัณฑ์ประเภทนม เป็นต้น 

เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์นั้นแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เครื่องครัว ภาชนะ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอาหารจะต้องแยกจากกันและระบุใช้ตามประเภทให้ถูกต้องเหมาะสม ถ้าวัตถุดิบในโรงงาน (เช่น น้ำผลไม้) ที่ดำเนินการในโรงงานร่วมกับโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนม วัตถุดิบที่ดำเนินการร่วมจะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทนมตามหลักศาสนายูดาย บางหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานโคเชอร์อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตนม (DE หรือ Dairy Equipment) มากกว่าการเรียกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทนม ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการระบุว่ามาจาก DE (อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตนม) สามารถบอกผู้บริโภคได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมเพิ่มเติมใด ๆ จากนม แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นได้รับการผลิตจากภาชนะเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ประเภทนม (สามารถดูคำอภิปรายเพิ่มเติมได้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาการแพ้) ถ้าหากว่าผลิตภัณฑ์ใดที่ไม่มีวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมจากเนื้อสัตว์ แต่ได้รับการผลิตจากโรงงานเดียวกับโรงงานที่ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ (เช่น ซุปผักมังสวิรัติ) ก็จะได้รับการระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ (ME หรือ Meat Equipment) เป็นต้น 

แม้ว่ามีความจำเป็นจะต้องล้างภาชนะทั้งก่อนและหลังใช้รับประทานอาหารแต่ละประเภท ทว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจาก DE (อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตนม) สามารถรับประทานร่วมกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้ และผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจาก ME (อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตเนื้อสัตว์) ก็สามารถนำมารับประทานร่วมกับอาหารประเภทนมได้เช่นกัน ส่วนการเว้นช่วงระยะเวลาระหว่างการรับประทานอาหารต่างประเภทติดต่อกัน เช่น การรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมจากนมหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไป จำเป็นต้องรอตั้งแต่ 3 ถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลาเว้นห่างระหว่างรับประทานนมและเนื้อสัตว์ว่าจะต้องรอกี่ชั่วโมงนั้นขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียม (Minhag) ที่ถูกกำหนดขึ้นตามแต่ละพื้นที่ไป ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจาก DE (อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตนม) ผู้บริโภคสามารถนำมาบริโภคก่อนหรือหลังผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ได้ทันที แต่ไม่สามารถนำมารับประทานร่วมกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์พร้อมกันได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทนมเสร็จจะไม่สามารถรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้ทันที ซึ่งจำนวนชั่วโมงที่ต้องรอรับประทานเนื้อนั้นใช้เวลาน้อยกว่า โดยปกติแล้วก่อนจะรับประทานเนื้อต่อจากนมจำเป็นต้องล้างปากด้วยน้ำ ไปจนถึงบางขนบธรรมเนียมที่อาจต้องรออีก 1 ชั่วโมง ส่วนอาหารประเภทนมนั้นจำเป็นต้องรอ 3 ถึง 6 ชั่วโมง ดังที่กล่าวไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น ชีสแข็ง (หมายถึงชีสที่ได้รับการหมักเกินกว่า 6 เดือน หรือชีสชนิดแข็งหรือแห้งพิเศษ เช่น ชีสอิตาเลียนหลายชนิด) เมื่อได้รับการบริโภคไปแล้ว จำเป็นต้องรอตามจำนวนระยะเวลาเฉกเช่นเดียวกับที่ต้องรอระหว่างรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ตามหลังผลิตภัณฑ์ประเภทนม ด้วยเหตุนี้ บริษัทส่วนใหญ่ที่ผลิตชีสให้กับตลาดโคเชอร์จึงมักหมักอายุของชีสให้น้อยกว่า 6 เดือน แม้ว่าจะมีเครื่องหมายติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมก็ไม่ถือว่าเป็นข้อกำหนดทางศาสนา หากต้องการทำให้ส่วนผสมหรือผลิตภัณฑ์นั้นเป็นพาร์เอเวหรือเป็นกลาง จำเป็นที่อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักรในโรงงานนั้นจะต้องผ่านกระบวนการคืนสภาพโคเชอร์ (Kosherization)* ก่อน

……………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

*เครื่องครัวที่เคยปรุงอาหารที่ไม่เคยเป็นโคเชอร์สามารถทำให้กลับมามีสภาพโคเชอร์ได้อีก โดยกระบวนการคืนสภาพโคเชอร์ที่เรียกว่า “Kosherization” ซึ่งมีวิธีการที่ต่างกันไปตามประเภทเครื่องครัวและลักษณะของอาหาร ถ้าอาหารที่ไม่ใช่โคเชอร์ที่เป็นของเหลว เช่น ซุป วิธีการคืนสภาพโคเชอร์ (Kosherization) คือ ลวกเครื่องครัวที่ใส่อาหารจำนวนนั้นด้วยน้ำเดือด ถ้าเป็นอาหารที่ใช้เตาอบ การคืนสภาพโคเชอร์ (Kosherization) สามารถทำได้โดยนำภาชนะที่ใส่อาหารที่ไม่เป็นโคเชอร์นั้นมาอบด้วยความร้อนสูง เป็นต้น

โคเชอร์ กับความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตอนที่ 3 ข้อห้ามในเรื่องของเลือด

สัตว์เคี้ยวเอื้องและสัตว์ปีกในครัวเรือนจะต้องผ่านกระบวนการเชือดตามหลักกฎหมายชาวยิว โดยที่ผู้เชือดต้องมีคุณสมบัติทางศาสนาที่ผ่านการฝึกอบรมการเชือดตามธรรมเนียมแบบพิเศษเรียกว่า ‘โชเคท’ (Shochet) และต้องใช้ ‘มีดคาเลฟ’ (Chalef) ที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งมีดนั้นต้องคมมากและใบมีดต้องเป็นแนวราบตรงที่อย่างน้อยความยาวสองเท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางของลำคอสัตว์ที่จะถูกเชือด สัตว์ต้องไม่ถูกทำให้อยู่ในสภาวะหมดสติระหว่างเชือด ถ้าหากว่าผู้เชือดสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักกฎหมายชาวยิวและจัดการกับสัตว์ได้ดี สัตว์ที่ถูกเชือดนั้นจะตายโดยไม่แสดงออกถึงอาการเครียดใด ๆ เพื่อเคารพต่อหลักการคัชรูธ (Kashruth) การเชือดเป็นช่วงเวลาเดียวที่บทสวดจะถูกกล่าว ซึ่งบทสวดนั้นจะได้รับการกล่าวก่อนจะเริ่มดำเนินการเชือด โดยที่ผู้เชือดจะกล่าวอภัยโทษที่ได้กระทำการพรากชีวิตของสัตว์ที่จะทำการเชือด ซึ่งบทสวดจะไม่ถูกกล่าวซ้ำกันในสัตว์แต่ละตัว หลักการและกฎเกณฑ์สำหรับการเชือดนั้นมีความเข้มงวดและเคร่งครัดมาก ผู้เชือดโชเคท (Shochet) จะต้องตรวจสอบมีดคาเลฟ (Chalef) ทั้งก่อนและหลังทำการเชือดสัตว์ทุกตัว หากมีปัญหาใดที่เกิดขึ้นกับมีด สัตว์ที่เชือดจะถือว่า ‘เทรอิฟ’ (Treife) หรือมีสถานะไม่โคเชอร์ทันที 

ผู้เชือดต้องตรวจสอบรอยเชือดที่คอของสัตว์แต่ละตัวเพื่อให้แน่ใจว่าตนได้ทำการเชือดอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยปกติแล้วสัตว์ที่ผ่านการเชือดจะถูกนำไปตรวจสอบหาข้อบกพร่องอีกครั้งหนึ่งจากผู้ตรวจสอบเฉพาะที่ผ่านการอบรมของแร็บไบหรือนักการศาสนา แต่ถ้าหากว่าสัตว์ที่เชือดแล้วตัวใดพบข้อบกพร่องที่ไม่สอดคล้องตามหลักการของแร็บไบ สัตว์นั้นจะถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับและมีสถานะเป็นเทรอิฟ (ไม่โคเชอร์) ทันที ดังนั้นส่วนต่าง ๆ ของเนื้อที่โคเชอร์จะต้องไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องหรือไม่สอดคล้องตามหลักการ ซึ่งตามปกติอาจถือว่าเป็นที่ยอมรับได้ภายใต้กฎหมายฆราวาสหรือกฎหมายแบบโลกวิสัย (Secular laws) ด้วยเงื่อนไขที่ว่าจุดบกพร่องที่พบจะต้องไม่นำไปสู่สถานการณ์ใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ต้องเสียชีวิตภายใน 1 ปี เมื่อความต้องการของผู้บริโภคที่ประสงค์ให้กระบวนการตรวจสอบเนื้อโคเชอร์ในสหรัฐอเมริกามีความเข้มงวดมากขึ้นจึงนำไปสู่การพัฒนาระบบมาตรฐานการตรวจสอบเนื้อโคเชอร์ที่มีอยู่แล้วให้เข้มงวดมากขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่แล้วจุดบกพร่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับสภาพปอดของสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในจุดบกพร่องหลักที่สำคัญตามหลัก ‘ฮาลาคิก’ (Halachic) ตามบัญญัติชาวยิว ดังนั้นสภาพปอดของสัตว์โคเชอร์จึงจะต้องได้รับการตรวจสอบอยู่เสมอ

สำหรับอวัยวะส่วนอื่น ๆ นั้นจะได้รับการสุ่มตรวจหรือตรวจสอบก็ต่อเมื่อเกิดกรณีที่ผู้ตรวจสอบเล็งเห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื้อสัตว์ที่ตรงตามมาตรฐานที่เข้มงวดนี้จะเรียกว่า ‘แกลต โคเชอร์’ (Glatt Kosher) แปลว่าราบเรียบปราศจากตำหนิ ซึ่งตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบพิเศษที่ผ่านการฝึกฝนอบรมเพื่อตรวจดูเครื่องในและการแนบติดของปอดในสัตว์ทั้งหลังและก่อนที่จะถูกถอนออก โดยผู้ตรวจสอบพิเศษนี้จะเรียกว่า ‘โบเด็ก’ (Bodek) สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ ลำดับแรกโบเด็กจะแยกการแนบติดของปอด (Sirkas) ออกทั้งหมดแล้วทำการขยายปอดด้วยการเติมลมเข้าไปในปอดโดยใช้ความดันอากาศปกติของมนุษย์ จากนั้นปอดก็จะถูกนำไปใส่ในถังน้ำ และโบเด็กก็จะมองหาฟองอากาศ ถ้าหากว่าปอดนั้นยังคงสภาพเดิมไม่มีร่องรอยบุบสลายหรือหลุมใด ๆ ปอดนั้นจะถือว่าโคเชอร์ ในสหรัฐอเมริกา ปอดของสัตว์ที่เป็นแกลต โคเชอร์โดยทั่วไปแล้วจะเป็นปอดที่มีการแนบติดกันน้อยกว่าสองแห่งตามข้อจำกัดของกระบวนการตรวจสอบในโรงงานขนาดใหญ่ที่ต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบและระมัดระวังภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างจำกัด

สำหรับเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกจะต้องได้รับการจัดเตรียมอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยการผ่านการขจัดถอดถอนหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง ไขมันต้องห้าม เลือด และเส้นประสาทไซอาติก (sciatic nerve) ส่วนในทางปฏิบัติจริงนั้นการถอดถอนชิ้นส่วนเหล่านี้ออกไปหมายความว่ามีเนื้อแดงที่เป็นส่วนหน้าเพียง 4 ส่วนเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้เป็นเนื้อโคเชอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ แม้ว่าการถอดเส้นประสาทไซอาติกออกจากสัตว์จะเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน ถึงกระนั้นในประเทศที่ยังคงต้องการนำส่วนหลังของสัตว์ไปใช้ในการผลิตอาหารโคเชอร์ก็นับว่าเป็นความจำเป็นตามข้อกำหนดที่จะต้องถอดเส้นเลือดดำออกก่อน ในสัตว์บางประเภท เช่น กวาง ถือว่าการถอดเส้นเลือดดำที่อยู่ส่วนหลังของสัตว์นั้นทำได้ง่ายกว่าหากเทียบกับสัตว์ประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าพื้นที่ใดในชุมชนที่ไม่มีประเพณีการกินเนื้อส่วนหลังของสัตว์อยู่แล้ว ในชุมชนนั้นแร็บไบก็จะปฏิเสธเนื้อส่วนหลังของกวางเพื่อไม่ให้มีการบริโภคภายในชุมชน จากนั้นเนื้อที่ได้จะต้องนำไปล้างเลือดต้องห้ามทั้งหมดออก เนื้อแดงและเนื้อสัตว์ปีกจะต้องผ่านการแช่เกลือภายใน 72 ชั่วโมงหลังการเชือด ก่อนที่เนื้อที่ผ่านการแช่เกลือทั้งหมดจะต้องถูกนำไปล้างน้ำเปล่าอีก 3 ครั้ง 

ส่วนผสมหรือวัตถุดิบใด ๆ ที่อาจมีแหล่งที่มาจากสัตว์ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามโดยทั่วไป เนื่องจากความยากลำบากของการได้มาซึ่งสัตว์ที่มีสถานะโคเชอร์มาใช้ในกระบวนการผลิต รวมจนถึงสินค้าจำนวนมากที่อาจใช้ส่วนประกอบจากสัตว์ในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น อีมัลซิไฟเออร์ สารให้ความคงตัว สารลดแรงตึงผิว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบชนิดต่าง ๆ ที่มาจากไขมันสัตว์ ดังนั้นมาตรการการควบคุมดูแลมาตรฐานของแร็บไบจึงมีความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าในผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีวัตถุดิบหรือส่วนประกอบใดที่มาจากสัตว์เป็นส่วนผสม ส่วนใหญ่แล้ววัตถุดิบหรือส่วนประกอบดังกล่าวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์โคเชอร์จะมาจากน้ำมันพืช เป็นต้น

……………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

โคเชอร์ กับความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตอนที่ 2 ชนิดของสัตว์ที่อนุมัติสำหรับโคเชอร์

สัตว์เคี้ยวเอื้องที่แยกกีบ สัตว์ปีกในครัวเรือน และสัตว์น้ำหรือปลาที่มีครีบและเกล็ดซึ่งสามารถถอดออกได้ สัตว์เหล่านี้โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นที่อนุมัติให้รับประทานได้ ในทางกลับกัน สัตว์ประเภทสุกร นกป่า ปลาฉลาม ปลาฉลามหนู ปลาดุก ปลามังค์ฟิช และอื่น ๆ ที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงถือว่าเป็นที่ต้องห้าม นอกเหนือจากนี้ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง (เช่น กุ้ง) สัตว์จำพวกหอย และแมลงเกือบทุกชนิดนับว่าเป็นที่ต้องห้ามเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ตามทรรศนะส่วนใหญ่ของผู้ควบคุมดูแลและออกพระบัญญัติชาวยิวนั้นถือว่า สีคาร์มีน และสีโคชินีล (สารสีแดงธรรมชาติที่ได้จากแมลง) ไม่ควรนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์โคเชอร์

ขณะเดียวกัน นกหรือสัตว์ปีกในครัวเรือน เช่น ไก่ ไก่งวง ลูกนกพิราบ เป็ด ห่าน นั้นถือว่าโคเชอร์ ส่วนนกที่อยู่ในประเภทบินไม่ได้ (เช่น นกกระจอกเทศ นกอีมู นกเรีย) นั้นไม่ถือว่าโคเชอร์ โดยเฉพาะนกกระจอกเทศซึ่งได้รับการระบุห้ามไว้อย่างเจาะจงในคัมภีร์ไบเบิล ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า สัตว์ที่ได้รับการกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับสัตว์ที่เรารู้จักกันในวันนี้ว่านกกระจอกเทศหรือไม่ หลายครั้งในการกำหนดหลักการอาหารโคเชอร์ก็มีการกล่าวถึงความพยายามที่จะตรวจสอบว่านกนั้นมีสถานะโคเชอร์หรือไม่ นกที่โคเชอร์จะต้องมีกระเพาะอาหาร (กึ๋น) ที่สามารถขจัดออกจากส่วนที่เหลือของกระเพาะอาหารของนกได้ และนกนั้นจะต้องไม่เป็นนกล่าเหยื่อ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมักจะเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับขนบประเพณีดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ชนิดของนกที่เพิ่งถูกค้นพบหรือถูกพัฒนาสายพันธุ์อาจไม่ได้รับการยอมรับ เช่น แร็บไบบางท่านไม่ยอมรับไก่งวงป่า ขณะที่บางท่านอาจไม่ยอมรับไก่ที่ไม่มีขน

สัตว์ชนิดเดียวจากทะเลที่ได้รับอนุญาตคือสัตว์น้ำที่มีครีบและเกล็ด ปลาที่มีเกล็ดทุกชนิดจะมีครีบ ดังนั้นชนิดของปลาที่มีครีบจึงเป็นจุดที่ได้รับความสนใจมากกว่า ทั้งครีบและเกล็ดนั้นจะต้องสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและสามารถถอดออกมาจากหนังปลาได้โดยที่หนังปลาไม่ฉีกขาด ขณะที่ปลาบางชนิดเท่านั้นที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่าโคเชอร์หรือไม่ ซึ่งหนึ่งในชนิดของปลาที่ถูกนำมาถกเถียงกันมากที่สุดคือปลากระโทงดาบ 

หนอนและแมลงส่วนใหญ่นั้นไม่โคเชอร์ มีเพียงแมลงบางชนิดเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น เช่น แมลงประเภทตั๊กแตน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นที่ยอมรับตามพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกที่ประเพณีการรับประทานตั๊กแตนยังคงอยู่ไม่สูญหายไป แมลงที่รับประทานได้ทั้งหมดนั้นอยู่ในตระกูลตั๊กแตนซึ่งในคัมภีร์โตราห์ระบุว่าตั๊กแตนเป็นที่อนุมัติเนื่องจากกลไกการเคลื่อนไหวที่พิเศษของมัน 

อย่างไรก็ดี ผู้คนส่วนใหญ่มักกังวลเพียงแมลงที่มองเห็นได้เท่านั้นว่ามันจะโคเชอร์หรือไม่ ขณะที่ชนิดของแมลงที่วงจรชีวิตต้องคอยซุกซ่อนอาศัยอยู่ในอาหารนั้นผู้คนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ปัจจุบันได้มีการพัฒนากรรมวิธีการทำความสะอาดใหม่ที่มีความละเอียดถี่ถ้วนกว่าเดิมแก่ผลิตภัณฑ์ประเภทผักผลไม้ที่ได้รับการบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนแมลงที่มองเห็นได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปเหล่านี้ถูกมองว่ามีสถานะโคเชอร์ 

ดังนั้น สถานประกอบการด้านอาหารโคเชอร์และบ้านที่บริโภคอาหารโคเชอร์จึงนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจำหน่ายบริโภค แม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ผ่านระเบียบขั้นตอนการตรวจสอบพิเศษก็ตาม ขณะที่บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใช้ความพยายามอย่างสูงในการจัดการเพื่อจำหน่ายสินค้าปลอดหนอนและแมลง ถึงกระนั้นก็มีบางหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานอาหารโคเชอร์ที่ยังคงไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ พวกเขาจะรับรองเพียงผลิตภัณฑ์ (หรือเฉพาะบางส่วนของผลิตภัณฑ์) ที่ตอบรับเกณฑ์มาตรฐานโคเชอร์ตามระเบียบที่เคร่งครัดของพวกเขาเท่านั้น 

สำหรับข้อห้ามการบริโภคแมลงจะครอบคลุมหมายถึงแมลงทั้งตัว ถ้าหากผู้ผลิตใดต้องการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่วนประกอบจำเป็นจะต้องถูกหั่นเป็นชิ้นส่วนระหว่างกระบวนการผลิต มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ผลิตอาจละเลยกรรมวิธีการตรวจสอบแมลงที่อาจหลงเหลืออยู่ในผักผลไม้ โดยที่พวกเขานึกว่าชิ้นส่วนของแมลงที่เจือปนในวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ทำให้สถานะของอาหารนั้นไม่โคเชอร์ ในบางประเทศจะมีคู่มือที่ช่วยอธิบายว่าผักและผลไม้ชนิดใดบ้างที่ควรได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ และในคู่มือก็จะแนะนำกรรมวิธีการทำความสะอาดที่เหมาะสมรวมอยู่ในกระบวนการตรวจสอบนี้ด้วยเช่นกัน 

ผู้บริโภคโคเชอร์จะชมชอบการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นปลอดแมลง เช่นเดียวกันพวกเขาจะนิยมบริโภคผักบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผ่านกรรมวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องเหมาะสม นอกเหนือจากนี้ โปรแกรม IPM (Integrated Pest Management : การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน) สมัยใหม่ที่เพิ่มระดับการปนเปื้อนหรือการเข้าทำลายของแมลงในผักและผลไม้นั้นสามารถสร้างปัญหาแก่ผู้บริโภคโคเชอร์ได้เช่นกัน หนึ่งในตัวอย่างปัญหาการกำจัดศัตรูพืชของโปรแกรม IPM ที่ผู้ใช้อาจคาดไม่ถึงได้แก่ แมลงที่ซ่อนอยู่ในรอยแหว่งเป็นริ้วคล้ายรูปสามเหลี่ยมบนก้านของหน่อไม้ฝรั่ง แมลงที่ซ่อนอยู่ในสตรอเบอร์รี่สีเขียว และเพลี้ยไฟที่ซ่อนอยู่บนใบกะหล่ำปลี ด้วยความยากลำบากในการตรวจสอบที่รอบคอบเหมาะสมเช่นนี้เองทำให้ผู้บริโภคโคเชอร์จำนวนมากที่เคร่งครัดตามขนบประเพณีดั้งเดิมเลือกที่จะไม่บริโภคกะหล่ำดาว

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

โคเชอร์ กับความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตอนที่ 1 ข้อกำหนดมาตรฐานอาหารโคเชอร์

อาหารที่ได้รับการรับรองว่าสามารถรับประทานได้สำหรับชาวยิวนั้นเรียกว่า ‘โคเชอร์’ ซึ่งชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมจำนวนมากเข้าใจว่าฮาลาลนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับโคเชอร์ จึงจำเป็นที่เราจะต้องเน้นย้ำถึงลักษณะที่เหมือนและแตกต่างกันระหว่างโคเชอร์และฮาลาล คนจำนวนมากในอุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐอเมริกามีความคุ้นเคยกับคำศัพท์คำว่าโคเชอร์อยู่แล้ว อีกทั้งยังรู้ถึงปัจจัยสำคัญตามข้อกำหนดเพื่อนำไปใช้สำหรับผลิตภัณฑ์โคเชอร์ ดังนั้น การศึกษาข้อเปรียบเทียบระหว่างฮาลาลและโคเชอร์สามารถช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมอาหารเข้าใจแนวคิดของทั้งสอง และยังสามารถนำความเข้าใจตรงนี้ไปปรับใช้กับกระบวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐานฮาลาลด้วยเช่นกัน

ข้อกำหนดมาตรฐานอาหารโคเชอร์จะคอยเป็นเกณฑ์ตรวจสอบว่าอาหารแต่ละชนิดนั้นถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้บริโภคชาวยิวที่ยึดถือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือไม่ ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้มีแหล่งที่มาดั้งเดิมจากพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเก่า ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากเบญจบรรณหรือพระคัมภีร์เดิมห้าเล่มแรกของโมเสส (คัมภีร์โตราห์ หรือ เตารอต) ในขณะที่โมเสสได้รับพระบัญญัติ 10 ประการ ที่ภูเขาซีนาย ตามประเพณีของชาวยิวนั้นเชื่อว่าโมเสสยังคงได้รับพระวจนะบัญญัติ หลายปีต่อมาพระวจนะบัญญัติเหล่านี้ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เล่าสืบต่อกันมาจึงถูกนำมาบันทึกเรียกว่า ‘คัมภีร์ทัลมุด’ อย่างไรก็ตาม พระวจนะบัญญัติเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมบัญญัติไบเบิลเทียบเท่ากับตัวบทบัญญัติที่ได้รับการจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายของข้อกำหนดโคเชอร์ตามธรรมบัญญัติไบเบิลก็ถูกแร็บไบ (ธรรมาจารย์ผู้ทรงความรู้ในศาสนายูดาย) ตีความและขยายความออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวยิวละเมิดบทบัญญัติในส่วนที่เป็นรากฐาน อีกทั้งยังเพื่อตอบประเด็นปัญหาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตามบริบทของยุคสมัย หลักนิติธรรม หรือระบอบการดำเนินชีวิตของชาวยิวนั้นเรียกว่า ‘ฮาลอคา’ (Halacha) 

ข้อกำหนดมาตรฐานอาหารโคเชอร์ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปยังสามประเด็นหลัก ซึ่งทั้งหมดล้วนข้องเกี่ยวกับอาณาจักรสัตว์ ดังนี้:
• ชนิดของสัตว์ที่อนุมัติ 
• ข้อห้ามในเรื่องของเลือด
• ข้อห้ามในเรื่องของการผสมนมกับเนื้อสัตว์

นอกเหนือจากนี้ ในช่วงเทศกาลปัสกาของชาวยิว (Passover หรือที่เรียกกันว่าเทศกาลเปสสัค ช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือ เมษายน) ยังมีข้อห้ามมิให้บริโภค ‘คาเมตซ์’ (Chometz หรือ ขนมปังใส่เชื้อหรือส่าเหล้า) รวมถึงธัญพืชที่ขึ้นฟูก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามในช่วงเทศกาลเช่นเดียวกัน (เช่น ข้าวสาลี ข้าวไร ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และแป้งสเปลท์) ข้อห้ามเหล่านี้สำหรับชาวยิวที่มีการขยายเพิ่มเติมเข้ามาได้นำไปสู่กฎระเบียบใหม่ทั้งหมด ซึ่งมุ่งเน้นไปยังอาณาจักรพืชเป็นกรณีพิเศษ ยิ่งกว่านั้น ยังมีข้อบังคับที่แยกย่อยออกไปอีก เช่น ข้อบังคับในเรื่องของน้ำองุ่น ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์องุ่น เป็นต้น อีกทั้งยังมีข้อบังคับในเรื่องของมาตรการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์นมของชาวยิว ; กระบวนการปรุงอาหาร การผลิตชีส และการอบของชาวยิว ; เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตอาหารโคเชอร์ ; การจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือจากผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิว ; และข้อบังคับในการใช้แป้งเก่าและแป้งใหม่ เป็นต้น

……………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry