ว่าด้วย โลกของการทำธุรกิจฮาลาล

BIHAPS Weekly EP. 01

สมัยนี้ ใคร ๆ ก็ทำธุรกิจฮาลาล ?
ธุรกิจฮาลาลทำแล้ว ได้กำไรงาม ?
ธุรกิจฮาลาล มีแต่เรื่องอาหาร จริงหรือไม่ ?
สถานการณ์ตลาดฮาลาลโลกในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
วิทยาศาสตร์ฮาลาล ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าฮาลาล จริงหรือ ?
เรามาหาคำตอบ จากบทความของ BIHAPS (Business Incubator Halal and Products Services) ในทุกๆ EP. กันค่ะ

………………………………………………..

เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา หนึ่งในสมาชิก BIHAPS มีโอกาสได้ไปสัมผัสบรรยากาศการแสวงบุญ (อุมเราะฮ) ณ เมืองมาดีนะฮ และเมืองมักกะฮ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกันเพื่อแสวงบุญ และประกอบศาสนกิจ นอกฤดูกาลทำฮัจญ์ (ในเดือนซุลฮิจญะหฺ ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ) และในการไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรกนี้ ทีมงานได้สัมผัสบรรยากาศกลิ่นอายความเป็นอารยธรรมอาหรับดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการค้าขายตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักในนาม เส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางนี้เป็นที่ยอมรับกันว่ามรดกทางอารยธรรมของมนุษยชาติ ในฐานะเป็นเส้นทางโบราณในการติดต่อค้าขายและสื่อสารระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก เป็นชุดเส้นทางการส่งการค้าและวัฒนธรรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของอันตรกิริยาทางวัฒนธรรมผ่านภูมิภาคของทวีปเอเชียที่เชื่อมตะวันตกและตะวันออกโดยการโยงพ่อค้าวาณิช ผู้แสวงบุญ นักบวช ทหาร ชนเร่ร่อนและผู้อาศัยในเมืองจากจีนและอินเดียไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในช่วงเวลาหลายยุคสมัย

แน่นอนค่ะ การค้าที่นี่ คึกคักมาก ทั่วทุกหนแห่งมีการค้าขายสินค้า ทั้งในรูปแบบแบกะดิน ร้านขายของชำ จนถึงห้างสรรพสินค้าสูงเสียดฟ้า สินค้าทั้งจากในประเทศซาอุดีอาระเบีย และสินค้าฮาลาลจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้สด โดยเฉพาะอินทผาลัมที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผ้าปูละหมาด ลูกประคำ สมุนไพร อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม ฯลฯ
ลองคิดจินตนาการภาพบรรยากาศการค้าสมัยก่อน เมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา กว่าที่กองคาราวานสินค้า ที่มีอูฐ และม้า เป็นพาหนะใช้ในการขนส่ง กว่าจะเดินฝ่าทะเลทราย จากเมืองหนึ่ง ไปยังอีกเมืองหนึ่ง เป็นค้นพบสิ่งใหม่ๆ มันช่างน่าตื่นเต้นขนาดไหน?

ตัดภาพมาปัจจุบัน เราอยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า การติดต่อ และทำธุรกิจก็ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส จริงไหมค่ะ ? 
ว่าด้วยเรื่องการตลาดออนไลน์ ที่คุณมาสามารถสั่งสินค้าได้จากทุกทั่วมุมโลก ในเวลาเพียงไม่นาน สินค้าเหล่านั้น ก็ส่งตรงมาถึงหน้าบ้านของคุณ และสินค้าที่ขายดิบขายดี จนต้องขยายสาขา หรือที่รู้จักในรูปแบบ Franchise จะน่าสนใจ และมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างไร?

พบกับคำตอบได้ภายในงาน Key Success to The Best Halal Franchise จัดโดย หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจและบริการฮาลาล (BIHAPS) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ในวันที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ 62 นี้ ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บทความตอนต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร ฝากติดตามด้วยนะคะ

ที่มา…Silk Road : Wikipedia

บทความโดย : อัสลินดา ระเด่นอาหมัด 
Managing Director of BIHAPS

เริ่มต้นขายแฟรนไชส์ ต้องทำอะไรบ้าง

BIHAPS WEEKLY EP.03

เมื่อเดือนที่แล้วทีมงาน BIHAPS ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปชิมกล้วยทอดมายอ จังหวัดปัตตานี จากการบอกเล่าของผู้บริหารและเจ้าของกิจการในชื่อเสียงเรียงนามของกล้วยทอดนี้ว่าเคยทำกล้วยทอดถวายพระราชวงศ์ชั้นสูง กระทั่งพระองค์ทรงติดใจ ทางทีมงานจึงได้ติดตามไปชิมด้วย พอไปถึงครั้งแรกที่เห็นก็เหมือนร้านขายกล้วยทอดริมถนนทั่วๆไปนั้นแหละ แต่พอหยิบกล้วยทอดมาชิมคำแรกบอกได้เลยว่ารสชาติอร่อยสมคำรำลื่อจริงๆ อร่อยแค่ไหนสังเกตได้จากผู้คนที่ผ่านไป-ผ่านมา แวะซื้อกันไม่หยุดสายนั้นเอง ยิ่งร้อนๆยิ่งอร่อย มีทั้งกล้วยทอด จำปาดะทอด มันทอด ซึ่งใช้มันม่วง และตาแปทอด เสริฟคู่กับน้ำแข็งใสเย็นๆเป็นอันรู้กันว่าครบสูตรหรือครบเซตนั้นเอง 555 กล้วยทอด เจ้านี้ขายได้วันละหมื่นบาท ไม่น่าเชื่อเลยว่าธุรกิจเล็กๆอย่างกล้วยทอดจะสร้างรายได้ดีขนาดนี้ ทางผู้บริหารจึงเห็นว่าเราควรส่งทีมมาช่วยพัฒนาตรงนี้ได้หรือไม่ หมายความว่าสามารถขยายกิจการหรือทำแฟรนไชส์ โดยที่ผู้บริหารอยากให้คนกรุงเทพฯ ได้กินขนมอร่อยๆบ้างเท่านั้น (ติดตามรีวิวได้ที่เพจ Dr.Winai Dahlan)

ทีมงาน BIHAPS เห็นว่ากล้วยทอดเจ้านี้เป็นที่รู้จักของ ผู้คนทั่วไปดูได้จากรีวิวเพจ Dr.Winai Dahlan ที่มีลูกค้าประจำและคนที่เคยผ่านแวะซื้อบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ากล้วยทอดเจ้านี้อร่อยจริง และคิดว่าเจ้าของกิจการเองน่าจะต่อยอดธุรกิจนี้ให้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคตได้ ประจวบเหมาะกับทางทีม BIHAPS มีโครงการในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาล แฟรนไชส์อยู่แล้ว จึงขอนำบทความดีๆในการจะขายแฟรนไชส์ ต้องทำอะไรบ้าง มานำเสนอให้ทุกคนที่สนใจในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ได้อ่านกัน ก่อนอื่นต้องรู้จักกับ 2 คนนี้ก่อนนั่นก็คือ แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) คือ ผู้ขายสิทธิแฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ซีร์ (Franchisee) คือ ผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์

แน่นอนว่าเมื่อมีคนสนใจในกิจการของเราที่ขายดีมากๆ และคนสนใจมาขอซื้อแฟรนไชส์ เราก็มักจะดีใจและตื่นเต้นที่อยากจะขายแฟรนไชส์ให้กับคนที่สนใจทันที่ (ซึ่งมองดีๆมันก็ถือว่าเป็นโอกาสของเจ้าของกิจการนั้นแหละที่จะกอบโกยตรงนี้) แต่เชื่อว่าเจ้าของกิจการอีกหลายๆ ราย อาจจะยังไม่มีความรู้มากพอในการทำธุรกิจ แฟรนไชส์นี้ ถ้ายังดื้อที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ต่อไปโดยไม่ได้มีความรู้ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์อย่างกระจ่างชัด ก็อาจทำให้ธุรกิจนั้นล้มเหลวได้ เพราะแม้ว่าระบบแฟรนไชส์จะช่วยให้คนที่อยากมีธุรกิจส่วนตัวประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น แต่ใช่ว่าเมื่อซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว จะประสบความสำเร็จเสมอไป ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ล้มเหลวคือการว่างระบบโดยมีแผนขยายธุรกิจทันที่ และมองว่าแฟรนไชส์คือกลยุทธ์ที่ใช่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำแฟรนไชส์ยังไง จะขายแฟรนไชส์ จะต้องทำอะไรบ้าง วันนี้ทีม BIHAPS เลยนำบทความดีๆในการจะขายแฟรนไชน์ ต้องทำอะไรบ้างมาแนะนำทุกคน

ขั้นตอนแรกในการเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์ คือ การหาความรู้อย่างรู้ลึก รู้จริง หลายกิจการเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ มักจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด เพราะขาดความรู้ในการทำธุรกิจ แฟรนไชส์แบบรู้ลึก รู้จริง ดังนั้นขั้นตอนแรกเลยคือเราจะต้องมีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์มาก่อน โดยความรู้เกี่ยวกับการทำแฟรนไชส์นั้น สามารถหาความรู้จากหนังสือหรือคู่มือการสร้างระบบแฟรนไชส์มาอ่านก็ได้ หรือการหาความรู้จากหน่วยงานของสมาคมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นต้น อย่างเช่นล่าสุดโครงการ Key Success To The Best Halal Franchise ที่ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่โรงแรม CS ปัตตานีที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำแฟรนไชส์ได้อย่างน่าสนใจมากๆ รวมทั้งได้นำนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแฟรนไชส์มาบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคน ก็มักที่จะปรึกษาผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำแฟรนไชส์มาก่อนแล้วทั้งสิ้น

หลังจากที่เรามีความรู้เรื่องการทำธุรกิจแฟรนไชส์แบบรู้ลึกรู้จริงแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การประเมินความเป็นไปได้ของกิจการของเรา เพราะใช่ว่าทุกกิจการคิดจะขายแฟรนไชส์ก็สามารถขายได้ทันที แต่กิจการที่จะขายแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง คือเป็นกิจการที่มีกำไรมาแล้ว มีร้านสาขาอยู่บ้าง และมีอายุธุรกิจนานพอที่จะเอาประสบการณ์มาถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้
.
เพราะถ้าสังเกตเห็นเรามักจะพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วนั้น ส่วนใหญ่กิจการมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ก่อนที่จะขายแฟรนไชส์ จะต้องจัดระเบียบการดำเนินงานร้านให้ชัดเจน เสียก่อน ส่วนไหนที่ดีอยู่แล้วก็กำหนดเป็นมาตรฐานการทำงาน สิ่งไหนที่ยังไม่ดีก็ให้จัดระเบียบใหม่ สร้างความเป็นมาตรฐานให้กับร้านต่อไป ให้ได้ปฏิบัติตามในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจะได้คุณภาพสินค้าและการบริการตลอดจนการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เหมือนกันทุกร้าน ถ้าจะให้ดีร้านต้นแบบ อาจจะให้คนอื่นมาบริหารจัดการแทน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าถ้ามีการขายแฟรนไชส์ไปผู้ซื้อแฟรนไชส์จะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น ตามรูปแบบที่วางไว้ และจะมีโอกาสในการสร้างกำไรให้กับกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
.
สิ่งสำคัญยิ่งในการทำแฟรนไชน์ร้านต้นแบบ คือประมาณการโครงสร้างทางการเงิน เช่น ถ้าการเปิด แฟรนไชส์ 1 แห่ง มีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไรมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี และคุ้มไหมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้ ร้านต้นแบบจะทำให้ได้ภาพที่ชัด และสิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแฟรนไชส์ คือการจัดทำคู่มือ คู่มือที่ดีต้องถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของธุรกิจได้อย่างละเอียดเหมาะสมไม่ยากเกินไป ซึ่งเราจะถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีมาหลายสิบปีให้แก่ผู้อื่นได้อย่างไรให้มีมาตรฐานเดียวกันทุกที่ การจัดทำคู่มือดำเนินงานจะทำให้การดำเนินงานของธุรกิจเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ หน้าที่สำคัญของเจ้าของธุรกิจที่จะขายแฟรนไชส์ คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งจะนำมาสู่ยอดขายที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้กับเจ้าของกิจการและเป็น Key Success ที่จะย้อนกลับมาที่เจ้าของกิจการอย่างต่อเนื่องนั้นเอง ทั้งนี้การวางโรดเมฟ ในการขยายธุรกิจ เจ้าของกิจการหรือผู้ขายแฟรนไชส์ ต้องมีแผนการอยู่ในใจว่าต้องการขยายธุรกิจอย่างไร เช่นเปิดเพิ่มในปีหน้า 20 สาขา หรือออกตัวแบบนิ่มๆ ไปก่อนว่า 2 สาขา จะเห็นว่า การตั้งเป้าหมายทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันสุดขั้ว การวางเป้าหมายมีความสำคัญ สำหรับกำหนดทิศทาง ว่ากิจการจะเดินไปอย่างไร จะทำอะไรบ้าง แค่ไหน อย่างไรนั้นเอง

ก่อนการขายแฟรนไชส์ สิ่งที่ต้องทำก็ คือ การทำสัญญาแฟรนไชส์ การทำเอกสารและสื่อเพื่อแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ แน่นอนว่าเมื่อมีคนสนใจที่จะซื้อแฟรนไชส์ สิ่งแรกที่ทุกคนอยากได้คือสัญญาแฟรนไชส์ โดยสัญญาแฟรนไชส์นั้น ต้องมีความเป็นธรรมคือ Win Win ทั้งสองฝ่าย โดยเมื่อมีความพร้อม ในการขายแฟรนไชส์แล้ว เจ้าของกิจการก็ต้องทำการตลาดแฟรนไชส์ต่อเนื่อง การที่จะหาคนมาซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ได้จะไม่ยาก ถ้าร้านขายดีอยู่แล้ว แต่ถ้าร้านยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ต้องทำการตลาดเพิ่ม เช่น สื่อออนไลน์ ออกบูท ซื้อโฆษณาสื่อออนไลน์ หรือ เวปที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วหรือแม้กระทั้งติดป้ายเล็กๆ แต่เห็นได้ง่ายภายในร้านของตัวเอง เป็นต้น
.
สุดท้ายเราจะปิดการขายแฟรนไชส์ได้อย่างไร เพราะเชื่อว่าหลายคนมักจะกังวลกับ การขายแฟรนไชส์ให้กับรายแรก แต่เมื่อผ่านรายแรกไปได้แล้ว รายต่อๆไปก็ไม่ใช่ปัญหาแต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ การช่วยเหลือสนับสนุนแฟรนไชซี่ เมื่อมีการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือการ เป็นพี่เลี้ยงในช่วงเริ่มต้นสร้างระบบสนับสนุนที่ต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาสิ่งใหม่ๆตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อทำให้ผู้ซื้อ แฟรนไชส์ มีความพึงพอใจที่จะต่อสัญญาในรอบต่อไป เพราะเห็นแรงสนับสนุนจากเจ้าของแฟรนไชส์และพร้อมที่จะลุยต่อไปนั้นเอง

วันนี้ทางทีม BIHAPS ขอนำเสนอบทความดีๆ สำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ไว้เท่านี้ บทความหน้ามีเรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์อีกนั้น ทางทีมงานจะนำบทความดีๆมาลงไว้เรื่อยๆ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่สนใจในการทำธุรกิจแฟรนไชส์นะคะสู้ๆ

………………………
ที่มา….สมาคมแฟรนไชส์ไทย TFA
………….
บทความโดย
นูรุมา จูและ Marketing Specialist BIHAPS
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
(Business Incubator for Halal Products and Services: BIHAPS)
……………………………………………………………….

ธุรกิจนอกตำรา สไตล์โต-ตาล

BIHAPS WEEKLY EP.02

เมื่อวันที่ 11-12 กพ. ที่ผ่านมา ศูนย์ฯได้มีโอกาสจัดงานอบรมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้ชื่อว่า Key Success To The Best Halal Franchise และทางฝ่ายผู้จัดได้เรียนเชิญคุณโต-ตาล ซึ่งได้ผันตัวเองมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อวัวในนามบริษัท Company B จำกัด ภายใต้ร้าน The Beef Master ที่ช่ำชองในการทำสเต็กโดยใช้เนื้อวัวนำเข้าจากออสเตรเลีย และร้านเนื้อบังโตที่ขายเนื้อปิ้งเสียบไม้ 
ซึ่งชาวสามจังหวัดมักจะพบเจอตามตลาดในตัวเมืองและได้ลิ้มลองรสชาติกันมาแล้ว

ทีมงาน BIHAPS จึงมีความเห็นว่าอยากจะให้ทั้งสองท่านได้ลองแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจแบบโต-ตาลเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้จากเจ้าตัวโดยตรง จึงได้ประสานไปและได้รับคำตอบจากเจ้าตัวว่ายินดีที่จะมาแชร์เรื่องราวถึงปัตตานี

ก่อนเริ่มการบรรยายของทั้งสอง คุณโตได้เกริ่นก่อนว่าแนวคิดการทำธุรกิจของ Company B นั้นไม่มีในตำราธุรกิจที่หลายๆท่านเคยศึกษามา ข้อมูลอาจจะขัดแย้งกับหลักการทำธุรกิจของสากล

โดยการทำธุรกิจในสไตล์ของ Company B ได้อ้างอิงจากหลักการทำธุรกิจแบบอิสลาม และคำสอนของท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อล) และบรรดาซอฮาบะฮ์ โดยจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจคือการตั้งเจตนาที่สุจริตและบริสุทธ์ (นิญัต) ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนอย่างมีความถูกต้อง โปร่งใส และสุจริต เริ่มตั้งแต่กระบวนการหาเงินทุนในการเริ่มทำธุรกิจที่ต้องไม่มีดอกเบี้ยมาเกี่ยวข้อง และขั้นตอนการคัดเลือกวัตถุดิบนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ของที่ดีที่สุด มีคุณภาพ ผ่านการคัดสรรค์อย่างดี ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ต้องมีความสะอาด ปลอดภัย และปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่เป็นนญิสหรือหะรอม สิ่งสำคัญในกระบวนการผลิตอาหารคือ รสชาติต้องดี ต้องมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายนั้นมีคุณภาพจริงๆ ก่อนส่งต่อไปยังผู้บริโภค

ความตั้งใจและความแน่วแน่ในการทำธุรกิจนั้นมีความสำคัญมาก 

ผู้บริหารที่มีความแน่วแน่สามารถส่งผลต่อการทำงานของพนักงานในทุกๆขั้นตอน การถ่ายทอดเจตนารมในการทำธุรกิจของโต-ตาล สามารถส่งต่อไปยังพนักงานในบริษัทให้มีความตั้งใจที่จะผลิตสินค้าที่ดีที่สุดก่อนถึงมือลูกค้า กฎระเบียบต่างๆที่ได้กำหนดขึ้นล้วนเป็นการฝึกฝนวินัย และการใช้ชีวิตตามครรลองของศาสนาอิสลาม ควบคู่กับการทำงาน

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบหนึ่งที่โต-ตาล ได้นำมาใช้กับ Company B และทางทีมงานได้นำข้อสรุปสั้นๆจากการบรรยายเล่าประสบการณ์ของทั้งสองท่านมาให้ได้อ่านกัน อาจจะเป็นแนวทางที่ฉีกกฎการทำธุรกิจแบบสากล หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ข้อคิดดีๆจากบทความนี้….ขอบคุณครับ

———————————————-
บทความโดย
ซารีฟ เลาะหามะ Creative and Project Planning BIHAPS
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
———————————————-

8 เทคนิค สู่ความสำเร็จในการทำ “ธุรกิจฮาลาล”

BIHAPS WEEKLY ep.4

กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นอกจากจะทำให้เรารับรู้ข่าวสารในโลกได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้คนเราสามารถเห็นความสำเร็จมากมายของคนในสังคม ทั้งความสำเร็จในชีวิต ครอบครัว สังคม รวมไปถึงการประกอบธุรกิจ ความสำเร็จทางธุรกิจนอกจากจะมอบทรัพย์สินเงินทองมากมายให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแล้ว บางธุรกิจยังสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้อีกด้วย หลายๆท่าน คงกำลังคิดอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง ชุมชน สังคมอาศัยอยู่ ในความเป็นจริงการที่เราจะประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้นมันง่ายอย่างที่พบเจอหรือเปล่า? คำตอบนั้นไม่มีสูตรสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูล ตัวอย่าง “ธุรกิจฮาลาล” ที่ประสบความสำเร็จ ว่ามีลักษณะการดำเนินงานที่คล้ายๆกันดังนี้

1.การตั้งเรื่องของผลกำไรเป็นเป้าหมายรอง
การตั้งเป้าหมายที่ผลกำไรนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรจัดลำดับของเป้าหมายตามความสำคัญ โดยคำนึงถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และคอยตรวจสอบการทำธุรกิจให้เป็นไปในแนวทางของอิสลาม สร้างความเชื่อมั่นและมอบสิ่งดีๆให้แก่ผู้บริโภค อินชาอัลลอฮ ธุรกิจของเราจะเติบโตได้อย่างมั่นคง

2.ความซื่อสัตย์และความยุติธรรม
ความซื่อสัตย์และความยุติธรรมต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำธุรกิจ และยิ่งเมื่อเป็นธุรกิจที่ผู้ดำเนินกิจการเป็นมุสลิมแล้ว จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตามหลักอิสลามผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม

3.ความสะอาด
ความสะอาดนั้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคโดยตรงดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ท่านจะต้องให้ความสำคัญกับความสะอาด ไม่เพียงในบริเวณที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเท่านั้น ยังต้องรวมไปถึงอุปกรณ์ บริเวณจัดเก็บวัตถุดิบ และส่วนต่างๆที่อาจส่งผลต่อสินค้าและบริการ

4.การกำหนดเป้าหมาย
ในการทำธุรกิจเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เราควรกำหนดเป้าหมาย (เนียต) ให้ชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจ และหมั่นทำการตรวจสอบความเป็นไปเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “แท้จริง การงานนั้น ตั้งอยู่บนการเจตนา และ ทุกกิจการงาน ขึ้นอยู่กับการเนียต” (บันทึกโดย บุคครีย์)

5.การทำงานร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ
การทำงานร่วมกันกับคู่ค้าทางธุรกิจและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยังเป็นการสร้างสังคมที่ดีของนักธุรกิจ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ที่ดีในที่นี้นอกจากจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลต่อตัวของผู้ประกอบการเองด้วย

6.การสร้างมาตรฐานและการรับรอง
มุสลิมให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าและบริการที่ฮาลาล ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการของตนเอง ให้สามารถตรวจสอบพิจารณาสภาพฮาลาลของสินค้าและบริการตามข้อกำหนดด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค (ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิในการรับรู้ถึงที่มาของวัตถุดิบ รวมไปถึงส่วนประกอบของสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อ)

7.ความมุ่งมั่น /การทำงานหนัก
ความมุ่งมั่นและการทำงานอย่างหนักไม่เพียงแต่เป็นซุนนะห์ (แนวทางปฏิบัติตามแบบอย่างท่านศาสดา) การทำงานอย่างหนักถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ความสม่ำเสมอในการทำงานจะทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆได้

8.ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งหะรอม
อย่าให้ธุรกิจของท่านยุ่งเกี่ยวกับสิ่งหะรอม (สิ่งต้องห้าม) ตามหลักอิสลาม เพราะมันจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภครวมไปถึงกิจการของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะสิ่งที่อิสลามกำหนดให้เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) นั้นเป็นสิ่งที่อันตรายต่อมนุษย์ทุกคน

สุดท้ายนี้อยากให้ผู้อ่านลองสำรวจกิจการของตัวเองเบื้องต้นจากบทความนี้ดูครับ ว่ากิจการหรือธุรกิจของท่านตอนนี้มีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะการประกอบธุรกิจนั้นถือเป็นฟัรดูกีฟายะห์ (ข้อบังคับที่คนใดคนหนึ่งในชุมชนมุสลิมต้องปฏิบัติ) อีกทั้งธุรกิจยังเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ปลดเปลื้องทุกข์ใดๆ ของผู้ศรัทธาคนหนึ่งจากความทุกข์ยากในโลกดุนยา อัลลอฮฺจะปลดเปลื้องหนึ่งความทุกข์ให้กับเขาจากความทุกข์ยากทั้งหลายในอาคิเราะฮฺ และผู้ใดที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ลำบาก อัลลอฮฺจะทรงทำให้เขาพบความสะดวกง่ายดายในดุนยาและอาคิเราะฮฺ” (มุสลิม)

ติดตามบทความดีๆ ได้ทุกสัปดาห์กับ BIHAPS WEEKLY สัปดาห์หน้าเรามีอะไรดีๆมานำเสนอ พบกันในเพจ Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) ก่อนจะลากันไปในสัปดาห์นี้ ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จกับชีวิต ธุรกิจหรือกิจการต่างๆที่ดำเนินอยู่ และเป็นที่พึงพอใจของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) วัสลาม

บทความโดย
อมีน มะหมัด
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)

#BIHAPSWEEKLY #BIHAPS #HSCPN

“อาหารที่มีลาโนลิน (lanolin) ผสมอยู่ทานได้หรือไม่”

:: [คำถาม] ::
ลาโนลิน (ไขมันธรรมชาติจากขนแกะ) ฮาลาลหรือหะรอม เนื่องจากมันเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเครื่องดื่มที่ผมได้ดื่ม ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
ลาโนลิน คือสารที่เป็นน้ำมันสีเหลืองซึ่งสกัดมาจากน้ำมันหล่อเลี้ยงบนขนแกะ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าขี้ผึ้งขนแกะ (wool wax หรือ wool grease)

ไม่มีความผิดบาปแต่ประการใดในการบริโภคอาหารที่มีลาโนลินเมื่อมันสกัดมาจากขนแกะ หากว่าแกะนั้นได้ถูกเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม กรณีนี้ย่อมเป็นที่ชัดเจน เพราะถือว่าสัตว์ตัวนั้นสะอาดสามารถรับประทานเนื้อของมันได้ เช่นเดียวกับขนของมันหรือส่วนอื่นๆถือว่าสะอาดไม่ใช่นญิส (สิ่งสกปรก)

ส่วนกรณีที่เป็นขนแกะซึ่งได้มาขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม กรณีนี้ความเห็นที่ถูกต้องของนักวิชาการถือว่าขนของมันสะอาด (ไม่ใช่นญิสหรือซากสัตว์) แม้ว่าจะไม่ได้รับการเชือดตามหลักการที่กล่าวมาก็ตาม

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า ขนทุกชนิด ขนนก ขนอูฐ ขนแกะนั้นถือว่าเป็นสิ่งสะอาด ไม่ว่าจะมาจากหนังสัตว์ที่กินได้หรือจากสัตว์ที่กินไม่ได้ ไม่ว่ามันจะมาจากสัตว์ที่เชือดแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นความเห็นที่มีน้ำหนักจากความเห็นของผู้รู้ (มัจญมูอ อัลฟะตาวา 21/38)

แม้ว่าจะมีความเห็นที่กล่าวว่า ขนสัตว์และผมโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นสิ่งนญิส หากนำมาจากสัตว์ที่ไม่ได้เชือดตามหลักการอิสลาม แต่ลาโนลีนนี้เป็นสารสกัดที่ได้จากขนแกะ ดังนั้นมันจึงต่างกับการนำมาจากสิ่งนญิส นอกจากนั้นแล้วมันยังเป็นสารตัวใหม่ ซึ่งถือว่าผ่านกระบวนการอิสติฮาละฮ์ จึงถือว่าสะอาดและฮาลาล

วัลลอฮูอาลัม อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : Islamqa.Info

“สูบกัญชาคลายเครียด”

:: [คำถาม] ::
การสูบกัญชาเป็นครั้งคราวเช่นเมื่อรู้สึกเครียดจะทำได้หรือไม่

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
กัญชาเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะเรียกในชื่อกัญชา มารีฮวนนา หรือชื่ออื่น ๆ ก็ตาม 

อิบนุ ฮะญัร อัลหัยตะมี กล่าวไว้ในหนังสือ ฟะตาวา อัลฟิกฮิยฺยะฮ์ (4/233) ท่านได้พูดเกี่ยวถึงกับกัญชาไว้ดังนี้ 

หลักฐานสำหรับการห้ามปรากฏในรายงานจากอิมามอะหมัดใน มุสนัดของท่าน และจากอบูดาวุดใน สุนันของท่านด้วยสายรายงานที่เชื่อถือได้จาก อุมมุสะลามะฮ์ (ขออัลลอฮทรงพึงพอใจเขา) กล่าวว่า “ท่านศาสนทูตได้ห้ามทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาและขาดสติ” นักวิชาการอิสลามกล่าวว่าการขาดสติคืออาการง่วงนอนและแขนขาเฉื่อยชา หะดีษนี้เป็นการบ่งชี้ว่ากัญชาเป็นสิ่งที่หะรอม เพราะมันทำให้มึนเมาและเคลิบเคลิ้มขาดสติ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่สูบกัญชาถึงนอนมาก อัลเกาะรอฟีและอิบนุตัยมิยะฮ์รายงานว่ามีมติเอกฉันท์ว่ามันหะรอมและกล่าวด้วยว่าใครก็ตามที่ถือว่าหะลาลแน่แท้เขาได้กลายเป็นผู้ปฏิเสธศาสนา ท่านกล่าวว่า เหตุผลที่อิมามมัซฮับทั้งสี่ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาพวกเขา) มิได้กล่าวถึงมัน ก็เนื่องมาจากในยุคของพวกเขากัญชายังไม่เป็นที่รู้จัก แต่มันปรากฏขึ้นในโลกมุสลิมเมื่อตอนท้ายของศตวรรษที่หกและช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่เจ็ดเมื่อรัฐของพวกตาร์ตาร์ปรากฏขึ้นมา

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวไว้ในฟะตาวา อัลกุบรอ (3/425) ว่า การสูบกัญชาเป็นสิ่งที่หะรอมอย่างชัดเจน และนับเป็นพืชหะรอมที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะบริโภคมันเพียงเล็กน้อยหรือมากก็ตาม

การบริโภคสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ว่าพวกเขาจะบริโภคในรูปแบบใดก็ตาม 

อัลอัลลามะฮฺ อิบนุกอศิม อัชชาฟิอีย์ กล่าวว่า สิ่งที่หมายถึงการดื่มคือการบริโภค ไม่ว่ามันจะเป็นการดื่มหรือบริโภคในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นมติเอกฉันท์ว่าต้องห้ามหรือมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นของแข็ง ของเหลว ดิบ ๆ หรือมีการปรุง 

ชะรีอะฮ์ห้ามการบริโภคยาเสพติดและสิ่งมึนเมาเนื่องมันเป็นอันตรายต่อ ความคิด สติปัญญา จิตวิญญาณ ครอบครัวและสังคมโดยรวม 

สำหรับความเครียดและความวิตกกังวล ท่านจงมั่นใจเถิดว่ามันไม่อาจบำบัดได้ด้วยการสูบกัญชาและบริโภคสิ่งหะรอมอื่นๆ อัลลอฮฺไม่ทรงวางการบำบัดให้แก่ประชาชาตินี้ในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไว้ ในหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิม (3670) ฏอริก บินสุวัยด์ อัลญุอฟีได้ถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เกี่ยวกับเหล้า ท่านนบีได้ห้ามไว้และห้ามไม่ให้ผลิต เขากล่าวว่า “แต่ฉันผลิตมาเพื่อเป็นยารักษา” ท่านนบีตอบว่า “แท้จริง มันไม่ใช่ยา แต่มันคือโรค”

หากท่านต้องการกำจัดความวิตกกังวล เราขอแนะนำท่านด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1. ดุอาขอการอภัยโทษด้วยด้วยความตระหนัก
2. อาบน้ำละหมาดและละหมาด เพราะสิ่งนี้เป็นวิธีการที่สำคัญที่ช่วยคนหนึ่งให้มีความอดทนในการรับมือกับตวามยุ่งยากและปัดเป่าความวิตกกังวล 
3. การรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก ๆ เพราะนี่เป็นวิธีการที่มั่นใจได้ว่าบรรลุถึงสันติและความสงบ
4. เศาะลาวาตให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาก ๆ ในสุนันอัตติร์มิซีย์ (2381) เล่าว่า อุบัยย์ (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) กล่าวว่า “ฉันกล่าวว่า โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันได้กล่าวเศาะละวาตให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก ดังนั้นจะให้ฉันทำการดุอาอฺแก่ท่านเท่าไหร่ดี?” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ตอบว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิด” อุบัยย์กล่าวว่า “ฉันกล่าวว่า หนึ่งในสี่ (ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันได้ขอดุอาอฺ) ” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตอบว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิดแต่ถ้าหากท่านเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน” ฉันจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ครึ่งหนึ่ง (ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันขอดุอาอฺ)” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิด หากท่านกระทำเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน” ฉันกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็สองในสาม (ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันได้ขอดุอาอฺ)” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าว “ท่านจงทำตามที่ท่านปรารถนาเถิด หากท่านกระทำเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน” ฉันกล่าวว่า “ฉันจะทุ่มเทการดุอาอฺ (หรือการศ่อละวาต) ของฉันในช่วงเวลาทั้งหมดนั้นมีให้แด่ท่าน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ในขณะนั้นท่านจะถูกปลดเปลื้องความโศกเศร้าและบาปของท่านจะได้รับการอภัยโทษให้ (อัลอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษที่ดี (หะสัน))

นอกจากนี้แล้วทางเลือกหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงความเครียดความกังวลเท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุด หากว่าเป็นความเครียดความกังวลเกี่ยวกับอนาคต เช่น จะใช้ชีวิตอย่างไร ท่านจะต้องคิดต่ออัลลอฮฺในแง่บวกและไว้วางใจต่อพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจ พระองค์ตรัสไว้มีความหมายว่า

“และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว” [อัฏเฏาะลาก 65:3] 

ขออัลลอฮฺโปรดทรงช่วยเหลือพวกเราให้ทำความดีด้วยความง่ายดาย
…………………………………………………………….

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา :Islamqa.Info

“ปัญหาเกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารในร้านอาหาร”

:: [คำถาม] ::
เป็นที่อนุมัติหรือไม่ที่จะรับประทานแซนด์วิชในร้านที่คาดว่าพนักงานเปลี่ยนถุงมือใหม่กับลูกค้าแต่ละคน แม้ว่าคนงานอาจไม่ได้ทำเช่นนั้นและอาจมีการปนเปื้อนของส่วนผสมที่ไม่ฮาลาลในส่วนผสมฮาลาล คน ๆ หนึ่งจะบาปหรือไม่หากว่าพวกเขารับประทานอาหารในสถานที่เช่นนี้?

:: [คำตอบ] ::
ความจริงแล้ว การที่คนงานไม่ได้เปลี่ยนถุงมือนั้นไม่ได้ทำให้อาหารกลายเป็นหะรอม เพียงแค่การสงสัยว่าอาหารอาจปนกับวัตถุดิบที่ไม่ฮาลาลซึ่งไม่สามารถกล่าวได้ว่าอาหารนั้นต้องห้าม

อย่างไรก็ตาม ถ้าร้านอาหารนี้ใช้ส่วนผสมที่ไม่ฮาลาลในอาหารเป็นปกติ ฉะนั้นคนหนึ่งต้องถามเกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารเพื่อให้มีความแน่ใจว่ามันมิได้ปะปนกับส่วนผสมที่ไม่ฮาลาล

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ “ตราบใดที่เราทราบว่าอาหารทอดด้วยกับน้ำมันที่ไม่บริสุทธิ์ เช่น น้ำมันที่ได้จากสัตว์ที่ตายเองหรือสุกร ฉะนั้นเราจะต้องถามเพื่อให้แน่ใจ อย่างไรก็ตามหากเราไม่ทราบว่าอาหารทั้งหมดทอดกับน้ำมันที่ไม่บริสุทธิ์หรือส่วนผสมอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นอันใดที่จะต้องสอบถาม”

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

“คำว่า E- Number บนผลิตภัณฑ์อาหารคืออะไร?”

:: คำถาม ::
อัสสลามมุอะลัยกุม ส่วนผสมของอาหารบางรายการที่มีการแสดงด้วยตัวอักษร “E” และตามด้วยชุดตัวเลข เราได้รับการบอกเล่าว่า นี่แสดงถึงรายการที่ผลิตจากไขมันหมู หรือกระดูก และไขกระดูกหมู หากเป็นเรื่องจริงแล้ว ในทางชารีอะฮฺมีข้อวินิจฉัยในประเด็นอาหารดังกล่าวนี้ไว้ว่าอย่างไร ?

:: คำตอบ ::
“รายการสินค้าที่มีอักษร ‘E’ และตามด้วยชุดตัวเลขคือสารเติมแต่ง สารเติมแต่งเหล่านี้มีจำนวนมากกว่า 350 ชนิด ซึ่งอาจจะเป็นสารป้องกันการเน่าเสีย สารแต่งสี สารแต่งกลิ่น สารให้ความหวาน เป็นต้น สารเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มตามแหล่งที่มาของมัน

กลุ่มแรก – สารประกอบที่มาจากการสังเคราะห์ทางเคมี
กลุ่มที่สอง – สารประกอบที่ได้จากพืช
กลุ่มที่สาม – สารประกอบที่ได้จากสัตว์
กลุ่มที่สี่ – สารประกอบที่เจือจางในแอลกอฮอล์

ข้อวินิจฉัยในประเด็นของสารเหล่านี้ก็คือ พวกมันไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของอาหารเหล่านี้ มันจึงเป็นที่อนุมัติเนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้ กลุ่มที่หนึ่งและสองเป็นที่อนุมัติ เพราะสารเหล่านี้มาจากต้นกำเนิดที่ได้รับอนุญาตและไม่มีอันตรายใด ๆ จากการบริโภคสิ่งเหล่านี้

กลุ่มที่สามก็เป็นที่อนุมัติเช่นกัน เพราะสารที่ได้มาจากสัตว์ ไม่ได้คงสภาพเดิมในระหว่างขั้นตอนของกระบวนการผลิต มันได้เปลี่ยนรูปอย่างสิ้นเชิงจากรูปแบบดั้งเดิมเป็นรูปแบบใหม่ที่สะอาดและบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเปลี่ยนสภาพทางเคมี การเปลี่ยนสภาพนี้มีผลต่อการวินิจฉัยตามหลักการเกี่ยวกับส่วนผสมดังกล่าว

ดังนั้น หากรูปแบบดั้งเดิมไม่สะอาดหรือหะรอม การเปลี่ยนสภาพทางเคมีได้เปลี่ยนมันไปเป็นสารอีกตัวหนึ่งที่ต้องมีการวินิจฉัยใหม่ ตัวอย่างเช่น หากแอลกอฮอล์มีการเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำส้มสายชูแล้ว มันจึงไม่ได้อยู่ในสภาพหะรอม แต่การวินิจฉัยใหม่นี้ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งในกรณีนี้เป็นที่อนุมัติ

สำหรับกลุ่มที่สี่ สารประกอบเหล่านี้มักจะแต่งสีและตามปกติมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมากโดยใช้เจือจางในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สุดท้าย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผ่อนผัน ดังนั้นอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมใด ๆ ของสารเหล่านี้ยังคงสภาพหะลาลและเป็นที่อนุญาตสำหรับมุสลิมในการบริโภค

เราต้องตระหนักว่าศาสนาของเราเป็นศาสนาแห่งความสะดวกง่ายดายและเราได้รับการห้ามในการทำเรื่องให้ลำบากและยุ่งยาก นอกจากนี้การค้นหาและตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่อัลลอฮฺหรือศาสนทูตของพระองค์ (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) สั่งใช้ให้เราทำ

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แหล่งที่มา
http://www.islamonline.net/servlet/Satellite?pagename=IslamOnline-English-Ask_Scholar%2FFatwaE%2FFatwaE&cid=1119503546698

“อุฎฮียะฮฺหรือการบริจาคกับมุสลิมที่ประสบภัยพิบัติ?”

:: [คำถาม] ::
อัสลามุอะลัยกุม ย่อมจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะมอบเนื้อกุรบ่านหรือบริจาคเงินให้กับพื้นที่ที่เกิดในภัยพิบัติในดินแดนของมุสลิม?

:: [คำตอบ] ::
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาปรานีเสมอ
การสรรเสริญทั้งหมดเป็นของอัลลอฮฺและขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่านเราะซูลของพระองค์

แด่พี่น้องที่รัก ขอขอบคุณสำหรับคำถามของท่านและความเห็นใจของท่านที่มีต่องพี่น้องมุสลิมที่กำลังประสบภัยพิบัติทั่วโลก

ผู้ที่จะมาตอบคำถามของท่านคือ ดร. มัสอูด ศอบรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชะรีอะฮฺอิสลามและนักวิจัยของกระทรวงเอากอฟประเทศคูเวต ท่านกล่าวว่า

หากว่ามุสลิมมีฐานะที่ร่ำรวย ย่อมจะเป็นการดีกว่าที่จะทำกุรบาน (สัตว์เชือดพลี) พร้อมๆกับบริจาคให้กับพี่น้องมุสลิมที่กำลังประสบจากภัยพิบัติเช่นมุสลิมในซีเรีย พม่า เยเมน โซมาเลียและมุสลิมในที่อื่นๆ อย่างไรก็ตามหากมุสลิมสามารถปฎิบัติได้เพียงอย่างเดียวจากทางเลือกทั้งสองนี้ ดังนั้นประเด็นนี้จำเป็นต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ประการแรก ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมอบเนื้อกุรบ่านไปยังภูมิภาคที่ประสบภัยพิบัติ ในกรณีที่พื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารและ วิธีนี้จะเป็นการนำจุดประสงค์สองอย่างมารวมกันคือการประกอบพิธีทางศาสนากับการตอบสนองความต้องการของพี่น้องที่ประสบกับหายนะ …

ประการที่สอง หากพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติไม่มีความจำเป็นต้องบริโภคเนื้อกุรบ่านแต่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งของอย่างอื่นมากกว่า ดังนั้น กฎเกณฑ์จึงมีสองส่วนคือการทำกุรบ่านกับการบริจาคสิ่งของหรือเงินทองไปยังพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับการทำกรุบ่านนั้นเป็นสุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำอย่างยิ่ง ตามความเห็นของอุลามาอฺส่วนใหญ่ รวมไปถึงมัซฮับชะฟีอีย์และหัมบาลีย์ เป็นทรรศนะที่มีน้ำหนักมากกว่าสองทรรศนะที่รายงานจากอิหม่าม มาลิก และหนึ่งในสองทรรศนะที่รายงานจากอบู ยูสุฟ นี่คือทรรศนะของอบู บักรฺด้วยเช่นเดียวกัน อุมัร บิลาล อบู มัสอูด อัล-บัดรียฺ สุวัยดฺ บิน ฆ็อฟละฮฺ สะอีด อิบนุ มุซัยยิบ อะฏอ อัล-กอมะฮฺ อัล-อัสวัฎ อิสหาก อบู เซาวรฺ และ อิบนุ อัล-มุนซิร

หลักฐานที่สนับสนุนพวกเขาครอบคลุมถึงคำพูดของท่านนบีที่ว่า “เมื่อ 10 วัน(แห่งเดือนซุลหิจญะฮฺ)เริ่มต้นขึ้นนและคนหนึ่งในหมู่พวกท่านตั้งใจที่จะทำกุรบ่าน ดังนั้นเขาจะต้องไม่ตัดผมหรือตัดเล็บ” (รายงานโดย มุสลิม) ตรงนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ได้ทำกุรบ่านเพราะท่านตั้งใจจะกระทำเช่นนั้น

หลักฐานอื่น ๆ ได้แก่การที่อบู บักรและอุมัร (รดิยัลลอฮุ อันฮุมา) ได้ละเว้นจากการทำกุรบ่านเป็นเวลา 1-2 ปีเพื่อมิให้ผู้คนเห็นว่าเป็นการปฏิบัติในเชิงบังคับ

อย่างไรก็ตาม ทรรศนะทีสองเห็นว่าการทำกุรบ่านคือ ข้อบังคับ ทรรศนะนี้ได้รับการสนับสนุนโดย อบู หะนีฟะฮฺและสานุศิษย์ มีรายงานจากท่านอิหม่าม มาลิก เราะบีอะฮฺ อัร-เราะยฺ อัล-ลัยษ์ อิบนุ อัล-เอาซาอีย์ และ อัษ-เษารีย์ ในการสนับสนนุทรรศนะของพวกเขา พวกเขาอ้างอายะฮฺอัล-กุรอานที่ว่า “ดังนั้นเจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” สูเราะฮฺ อัล-เกาซัร อายะฮฺที่ 2 เนื่องจากเป็นคำบัญชาในอายะฮฺนี้เป็นการชี้ว่ามันเป็นข้อบังคับ

พวกเขาอ้างคำพูดของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม “ใครก็ตามที่มีความสามารถในการเชือดพลีแต่ไม่ทำการเชือด ดังนั้นอย่าได้เข้าใกล้สถานที่ละหมาดของฉัน” (อิบนุ มาญะฮฺ) คำเตือนนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นข้อบังคับอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาได้นำหลักฐานมาจากคำพูดของนบีว่า “ใครก็ตามที่ได้ทำการเชือดกุรบ่านก่อนละหมาด (อีด อัฎฮา) จะต้องเชือดแพะในสถานที่ของมันและใครก็ตามที่ไม่ได้ทำการเชือดกุรบ่าน ดังนั้นจงเชือดมันด้วยพระนามของอัลลอฮ์เถิด” (รายงานโดย อิหม่าม มุสลิม)

ในที่นี้ คำสั่งให้เชือดสัตว์พลีอื่นแทนการเชือดกุรบ่านในช่วงเวลาที่เลยกำหนดเพื่อชี้ให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ขั้นต่ำสุดคือเป็นสิ่งบังคับ

ทรรศนะที่มีน้ำหนักกว่าคือทรรศนะที่กล่าวว่าการเชือดกุรบ่านนั้นเป็นสุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำอย่างยิ่ง ดังนั้นใครก็ตามที่สามารถจะปฏิบัติแต่ไม่ปฏิบัติมันจะขัดแย้งกับแนวทางของนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม แม้ว่ามันจะไม่เป็นข้อบังคับก็ตาม สำหรับอบู บักรฺและท่านอุมัรได้งดเว้นการเชือดพลีถือว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นข้อบังคับ เป็นที่ทราบกันดีว่าการปฏิบัติของพวกเขานั้นมีความเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์และทรรศนะของพวกเขานั้นเป็นแหล่งอ้างอิงหลักฐานสำหรับอุลามาอ์ (ผู้รู้) ส่วนใหญ่ …

สำหรับการบริจาคไปยังพื้นที่ที่ประสบกับภัยพิบัติ ย่อมเป็นข้อบังคับสำหรับผู้ที่มีความสามารถ โดยพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัตินั้นมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการบริจาค เรื่องนี้ถูกวางอยู่ในหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิง อาอิชะฮฺ (รดิยัลลอฮุ อันฮา) ว่า ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวว่า “แท้จริงมีสิทธิหนึ่งจากทรัพย์สินนอกเหนือจากซะกาต” และท่านได้อ่านอายะฮฺอัล-กุรอานดังต่อไปนี้ “หาใช่คุณธรรมไม่ การที่พวกเจ้าผินหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกแต่ทว่าคุณธรรมนั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ ต่อบรรดาคัมภีร์และนะบีทั้งหลาย และบริจาคทรัพย์ทั้งๆ ที่มีความรักในทรัพย์นั้น แก่บรรดาญาติที่สนิทและบรรดาเด็กกำพร้า และแก่บรรดาผู้ยากจนและผู้ที่อยู่ในการเดินทาง และบรรดาผู้ที่มาขอและบริจาคในการไถ่ทาส และเขาได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาต และ (คุณธรรมนั้น) คือบรรดาผู้ที่รักษาสัญญาของพวกเขาโดยครบถ้วน เมื่อพวกเขาได้สัญญาไว้ และบรรดาผู้ที่อดทนไนความทุกข์ยาก และในความเดือดร้อน แลละขณะต่อสู่ในสมรภูมิ ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่พูดจริง และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่มีความยำเกรง” สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 177 (รายงานโดย อัต-ติรมีซียฺ)

การบริจาคเช่นนี้อาจเป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้กระทำ เมื่อเขาไม่มีความสามารถพอหรือมีพื้นที่เกิดภัยพิบัติที่ไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรงและเป็นอันตรายหรือมีคนอื่นที่เตรียมสิ่งที่ของบริจาคไว้แล้ว …

ซึ่งฉันคิดว่าทรรศนะที่มีน้ำหนักกว่าคือการเชือดสัตว์พลีเพื่อการบริจาคมีความเหมาะสมกว่าการมอบเงิน ในกรณีที่พื้นที่ที่ประสบกับภัยพิบัตินั้นมีความจำเป็นในเรื่องอาหาร เนื่องจากสิ่งนี้เป็นการรวมจุดประสงค์ 2 อย่างเข้าด้วยกัน คือการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีในการเชือดสัตว์พลีในฐานะหลักการกับการปฏิบัติเพื่อเติมเต็มความต้องการจากพื้นที่ประสบภัย

อย่างไรก็ตาม หากว่าพื้นที่ภัยพิบัตินั้นมีความจำเป็นสำหรับสิ่งอื่นนอกเหนือจากอาหาร ดังนั้น ไม่นับว่าเป็นความเสียหายใด ๆ ที่จะมอบเงินเป็นค่าเชือดสัตว์พลีกับพวกเขา ซึ่งทรรศนะนี้แสดงให้เห็นว่าการเชือดสัตว์พลีนั้นไม่เป็นข้อบังคับแต่มันเป็นสุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำ ตามทรรศนะที่มีน้ำหนักและในหลักการที่ว่าการปฏิบัติบนความจำเป็นของพื้นที่ภัยพิบัติในช่วงเวลาเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อบังคับ

สุดท้าย มุสลิมควรจะมอบเงินบริจาคเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ตะอาลา เนื่องจากว่าสิ่งนี้จะเป็นการสนับสนุนในเรื่องความเป็นพี่น้อง เพราะจะเป็นการปกป้องและเพิ่มพูนทรัพย์สินของผู้บริจาค นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินของผู้บริจาคเพื่อประชาชาติอิสลามและเพื่อทำให้ได้รับรางวัลตอบแทนแก่ผู้บริจาคในวันแห่งการสอบสวน ….

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

“สัตว์ที่หะลาลกินซากสัตว์ตาย เนื้อของมันจะยังหะลาลหรือไม่ ?”

:: คำถาม ::
เป็นเรื่องที่หะลาลในการรับประทานไก่และมันเป็นเรื่องหะรอมในการรับประทานสัตว์ที่กินเนื้อสัตว์อื่นเป็นอาหาร มุสลิมสามารถบริโภคไก่ที่กินลูกของมันเองที่ตายแล้วหรือแพะที่กระทำเช่นเดียวกันนี้ได้หรือไม่?

:: คำตอบ ::
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีสิ่งใดที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์

เป็นเรื่องที่อนุมัติตามหลักการที่จะรับประทานเนื้อของสัตว์ เช่น วัว ควาย นก และไก่ และอื่น ๆ ยกเว้นสัตว์ที่ฟันมีเขี้ยว (และนกที่มีกรงเล็บ) อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“อัลลอฮฺคือผู้ทรงทำปศุสัตว์บางชนิดให้พวกเจ้าเพื่อใช้เป็นพาหนะ และบางชนิด เพื่อให้พวกเจ้าใช้กิน”
(อัลกุรอาน สเราะฮฺ ฆอฟิร อายะฮฺที่ 79) 

ยิ่งไปกว่านั้น อบู มูซา อัล อัชอารียฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “ฉันเห็นท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม รับประทานไก่” รายงานโดย อิหม่าม บุคอรียฺ

อย่างไรก็ตาม หากว่าวัวควายหรือไก่ถูกให้อาหารด้วยสิ่งสกปรกโสมม (นะญิส) เช่น ซากสัตว์ที่ตายแล้วและอุจาระ โดยที่สิ่งนี้มิได้เป็นอาหารที่จำเป็นพื้นฐานของมัน และสภาพเนื้อของมันมิได้เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกินของที่สกปรก ดังนั้นถือว่าเป็นที่อนุมัติที่จะรับประทานเนื้อของมัน อย่างไรก็ตาม หากรสชาติเนื้อของสัตว์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกินของสกปรก หรือมันกินของสกปรกโดยส่วนมาก ดังนั้นสัตว์เหล่านี้จะเป็นดั่งที่ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่าเป็นเนื้อที่ตายและท่านได้ห้ามเราในการรับประทานเนื้อของมันหรือดื่มจากนมของมัน อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า

“ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ห้ามเรารับประทานหรือดื่มนมจากสัตว์ที่รับประทานสิ่งสปรกและสัตว์ที่ตายแล้ว” อัต-ติรมีซียฺ

ด้วยเหตุนี้เอง หากว่าไก่และแพะที่ท่านถามเกี่ยวกับการที่มันกินซากสัตว์ที่ตายเป็นประจำ ฉะนั้นถือว่ามันเป็นที่ต้องห้ามที่จะรับประทานเนื้อของมันนอกจากว่าจะมันจะกินอาหารที่ดีบริสุทธิ์ที่จะทำให้มันมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือการที่มันห่างไกลจากการรับประทานสิ่งที่สกปรกโสมม (นะญิส) จนกว่าผลกระทบจากสิ่งสกปรก (นะญิส) จะหมดไป มีหลักฐานจากท่านอิบนุ อบู ชัยบะฮฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ รายงานว่า ท่าน อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เคยกักกันสัตว์จากการกินอาหารเหล่านี้เป็นเวลา 3 วัน

อัลลอฮฺ เท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

……………………………………………………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
อ้างอิงจาก Islamweb.net