“สัตว์ชนิดใดบ้างที่เป็นสัตว์ดีที่สุดในการทำอุฎฮียะฮ์ (เชือดกุรบาน)”

:: คำถาม ::
สัตว์ชนิดใดที่ถือว่าดีที่สุดหากจะทำอุฎฮียะฮ์ (กรุบาน) ระหว่าง อูฐ แกะหรือปศุสัตว์ ?

:: คำตอบ ::
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณา

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ขอความสันติและความเมตตาจงมีแด่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

ถึงท่านที่ตั้งคำถาม ทางเราต้องขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับความไว้วางใจที่ท่านมีต่อพวกเราในการช่วยค้นหาคำตอบ เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้ทรงโปรดช่วยเหลือพวกเราในการรับใช้พระองค์และทำให้การงานของเรามีความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์

การที่มุสลิมเชือดสัตว์ในช่วงอีดอัฎฮานั้นเป็นการดำเนินตามแบบอย่างที่นบีอิบรอฮีมที่ได้ปฏิบัติไว้ในการเชือดลูกชายตัวเองอิสมาอีลเพื่อแสดงถึงการยอมจำนนและเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ อย่างไรก็ตาม อิสมาอีลได้รับการไถ่ตัวได้ด้วยแกะซึ่งมลาอิกะฮ์ญิบรีลนำมามอบให้แก่ ส่วนการเชือดสัตว์กุรบานนั้นมีเงื่อนไขหลายประการที่ต้องใส่ใจเช่นสัตว์ตัวนั้นจะต้องอยู่ในสภาพหรือลักษณะที่ดีและเชือดด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

สัตว์ที่ดีที่สุดในการทำอุฎฮียะฮฺคืออูฐ ต่อมา คือ ปศุสัตว์ (เช่น วัว ควาย) หากเชือดในนามของคนคนเดียว ดังนั้นที่ดีคือ แกะ จากนั้นแพะจากนั้นหนึ่งในเจ็ดของอูฐ จากนั้นหนึ่งในเจ็ดของปศุสัตว์ สัตว์ที่ดีที่สุดคือสัตว์ที่อ้วนท้วนสมบูรณ์มีเนื้อมาก มีร่างกายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่พิการ รูปร่างสวยงามไม่มีตำหนิ

มีรายงานจากอนัส บินมาลิก (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) เล่าว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยเชือดกุรบานด้วยแกะสองตัวมีเขาโดยมีสีขาวเทา

มีรายงานจากอบูสะอีด อัลคุดรี (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) กล่าวว่า “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เชือดแกะตัวผู้ที่มีเขาที่สมบูรณ์ (ไม่ถูกตอน) ซึ่งมีหน้าดำและขอบตาดำรวมทั้งขาดำ”

มีรายงานจากอบูรอฟิอ์ ทาสที่ได้รับการปล่อยตัวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “เมื่อท่านนบีจะทำกุรบ่าน ท่านมักจะซื้อแกะตัวผู้สองตัวที่อ้วนท้วน” ในบางรายงานกล่าวว่า “แกะที่ถูกตอน” (อะหมัด)

คำว่าอ้วนหมายถึงสัตว์ที่มีไขมันและเนื้ออยู่มาก สัตว์ถูกตอนหมายถึงสัตว์ที่ถูกตัดอัณฑะออกไป ซึ่งถือว่าดีกว่าสัตว์ที่ไม่ได้ตอนในเรื่องของรสชาติของเนื้อ แต่สัตว์ที่ไม่ถูกตอนถือว่ามีสัมผัสร่างกายที่สมบูรณ์กว่า ซึ่งถือว่าดีกว่าในการทำกุรบานหากมองในแง่ของรูปลักษณ์ของมัน

ต่อไปนี้ถือว่าเป็นสิ่งทีมักรูฮ (น่ารังเกียจแต่อนุญาต)
1. หูหรือเขาแหว่งไปครึ่งหนึ่ง
2. ต้นหูถูกตัดแต่ไม่ขาดและห้อยลงมาข้างหน้า
3. ต้นหูถูกตัดแต่ไม่ขาดและห้อยลงไปด้านหลัง
4. สัตว์ที่ใบหูฉีกขาดเป็นทางยาว
5. สัตว์ที่ใบหูมีรูหรือถูกเจาะเป็นวงกลม
6. สัตว์ที่ใบหูถูกตัดจนเห็นรูหูหรือผอมแห้งจนไม่มีไขกระดูก
7. เขาที่หายไปทั้งหมด
8. ตาบอดโดยสมบูรณ์โดยที่ตายังปรากฏอยู่
9. หลงฝูงหรือไม่ได้อยู่กับฝูงเว้นไว้จะมีการต้อน

สัตว์เหล่านี้ถือว่าน่ารังเกียจที่จะเชือดทำกุรบาน ดังรายงานจากหะดิษที่ห้ามเชือดสัตว์เหล่านี้ ซึ่งมีข้อตำหนิต่างๆที่กล่าวมาหรือให้หลีกเลี่ยงสัตว์ดังกล่าว ซึ่งตีความได้ว่าเป็นสิ่งมักรูฮฺ เมื่อนำหะดิษมาเปรียบเทียบกับหะดีษของอัลบัรฺรออ์ อิบนุอาซิบ (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) ซีงกล่าวว่า “มีผู้ถามนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า “สิ่งใดที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำกุรบานสัตว์” ท่านให้สัญญาณมือและกล่าวว่า “สี่ประเภท สัตว์พิการที่พิการอย่างชัดเจน สัตว์ที่ตาข้างหนึ่งบอดซึ่งสังเกตเห็นได้ชัด สัตว์ป่วยที่เห็นอาการป่วยอย่างชัดเจน และสัตว์ที่ผอมแห้งจนไม่มีใครเลือก” (รายงานโดย มาลิกในมุวัฏเฏาะอ์)

สัตว์ที่มีความบกพร่องคล้ายกันนี้เป็นที่น่ารังเกียจเช่นเดียวกันที่จะนำมาเชือดกุรบาน ได้แก่
1. อูฐ ปศุสัตว์และแพะที่หางถูกตัดครึ่งหรือมากกว่าครึ่ง
2. หางขาดไปบางส่วนถือว่าน่ารังเกียจแต่หากขาดมากกว่าครึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าไม่สมควรทำกุรบาน แต่หากวาไม่มีหางตั้งแต่เกิดถือว่าไปความผิดแต่อย่างใด
3. สัตว์ที่อวัยวะเพศถูกตัดออกไป
4. สัตว์ทีฟันบางส่วนหายไปไม่ว่าจะเป็นฟันหน้าหรือฟันกราม แต่หากมันเกิดมาเช่นนั้นไม่ถือว่าเป็นมักรูฮฺ
5. สัตว์ที่หัวนมถูกตัดออกไป แต่หากมันเป็นเช่นนั้นตั้งแต่เกิดถือว่าไม่ได้มักรูฮฺที่จะทำกุรบาน แต่ถ้าหากน้ำนมไม่ไหลโดยที่หัวนมยังทำงานได้ตามปกติ ไม่ถือว่าเสียหายแต่อย่างใด

หากทั้งห้าลักษณะนำไปนับรวมกับเก้าข้อข้างตัน ลักษณะของสัตว์ที่มักรูฮฺจึงมีด้วยกันสิบสี่ประการ

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“เราจะแบ่งเนื้อกุรบ่านอย่างไร ?”

:: คำถาม ::
ชัยคฺครับ เราจะแบ่งเนื้อกุรบ่านกันอย่างไรครับ ?

:: คำตอบ ::
มุสลิมจะทำการเชือดพลีในช่วงอีดอัฎฮาซึ่งเป็นการดำเนินตามแบบอย่างของท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลามผู้ซึ่งจะทำการเชือดลูกชายของท่านเองนั่นคือ นบีอิสมาอีล อะลัยฮิสลาม เพื่อเป็นการเชื่อฟังในคำบัญชาจากผู้เป็นเจ้า เมื่อท่านนบี อิสมาอีลถูกทดแทนด้วยการนำแกะหนึ่งตัวมาให้กับท่านนบีอิบรอฮีมโดยมะลาอิกะฮฺ ญิบรีล มะลาอิกะฮฺได้นำคำบัญชาจากอัลลอฮฺมาให้กับท่านนบีอิบรอฮีมโดยการเชือดแกะหนึ่งตัวเป็นการทดแทน

ซึ่งคำถามนี้จะตอบโดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด นักบรรยายและนักเขียนที่มีชื่อเสียงจากประเทศซาอุดิอารเบีย

คำสั่งในการที่จะมอบกรุบ่าน (การเชือดพลี) เป็นการบริจาคนั้นมีรายงานอยู่ในหะดีษเป็นจำนวนมากและอนุญาตที่จะรับประทานบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน

อิหม่ามบุคอรียฺและอิหม่ามมุสลิม รายงานว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รดิยัลลอฮุ อันฮา กล่าวว่า “ในสมัยท่านนบี(ยังมีชีวิต)ได้มีอาหรับทะลทรายที่ยากจนค่อย ๆ เดินมุ่งไปยังที่เชือดกุรบานในช่วงอีดอัฎฮา ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “จงเก็บเนื้อเป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นส่วนที่เหลือจงแจกจ่ายเพื่อเป็นเศาะดาเกาะฮฺ” เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้กล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูล มีคนจำนวนมากได้ทำถุงน้ำใส่น้ำและชำแหละเอาไขมันของมันออกไป ท่านนบีจึงถามว่า “ทำไมกัน” พวกเขากล่าวว่า “ท่านห้ามกินเนื้อสัตว์กุรบานเกินสามวัน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ที่ฉันห้ามพวกท่านเพราะอาหรับทะเลทรายจำเป็นต้องได้รับบริโภคมัน แต่ตอนนี้พวกท่านจงกิน จงเก็บไว้และจงแจกจ่าย (บริจาค)”

อิหม่าม นะวาวียฺให้ข้อคิดในถ้อยคำที่ว่า “ก่อนหน้านี้ที่ฉันห้ามพวกท่าน” … “แต่ตอนนี้พวกท่านจงกิน จงเก็บไว้และจงแจกจ่าย (บริจาค)” ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การห้ามเก็บเนื้อกุรบ่านเกินสามวันจะไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป ซึ่งรวมไปถึงคำสั่งให้กินและให้แจกจ่าย (บริจาค)

ส่วนเรื่องของสัดส่วนในการแบ่งอาหารเพื่อการบริจาคนั้น หากว่ามันเป็นการเชือดพลีโดยสมัครใจ ดังนั้น การแจกจ่ายเนื้อบางส่วนในการบริจาคนั้นเป็นความจำเป็น ตามทรรศนะที่มัซฮับชาฟีอียฺเห็นว่าถูกต้อง มันเป็นการดียิ่งกว่า (มุสตะฮับ) ในการแจกจ่ายเนื้อส่วนใหญ่ในการบริจาค นักวิชาการมัซฮับชาฟีอียฺกล่าวว่า อย่างน้อยต้องแบ่งหนึ่งในสามส่วนเพื่อรับประทาน หนึ่งในสามเพื่อมอบให้เป็นของขวัญ (ฮะดียะฮฺ) และอีกส่วนเป็นการบริจาคทาน มีทรรศนะอื่น ๆ ที่ให้แบ่งครึ่งหนึ่งไว้รับประทาน อีกครึ่งหนึ่งไว้บริจาคทาน ทรรศนะที่แตกต่างจากนี้คือ การจ่ายเงินย่อมดีกว่า สำหรับสิ่งที่จำเป็นในการปฏิบัติ คือการที่คนหนึ่งอาจจะจ่ายเงินในการบริจาคซึ่งนับว่าเป็นการบริจาค แต่ยังคงมีทรรศนะอื่น ๆ ที่ไม่ได้จ่ายเงินในการบริจาคอีกเช่นกัน (ทรรศนะที่แตกต่างเหล่านี้เป็นเรื่องของจำนวนหรือสัดส่วนที่ที่ดีที่สุดที่จะแจกจ่าย สำหรับการเติมเต็มส่วนที่ต้องแจกจ่าย คนหนึ่งอาจบริจาคจำนวนเท่าใดก็ได้โดยถือว่าเป็นการบริจาค แต่ก็มีบางทรรศนะที่กล่าวว่าไม่ต้องแจกจ่ายแต่อย่างใด)

สำหรับการรับประทานเนื้อของมัน เป็นเพียงแค่มุสตะฮับ (ระดับของการส่งเสริมให้กระทำ) เท่านั้น ไม่ใช่วาญิบ (จำเป็น) ผู้รู้ส่วนมากจะตีความคำสั่งในการรับประทานมันนั้นตามอัล กุรอานที่กล่าวว่า

يَشْهَدُوا مَنَافِعَ لَهُمْ وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّـهِ فِي أَيَّامٍ مَّعْلُومَاتٍ عَلَىٰ مَا رَزَقَهُم مِّن بَهِيمَةِ الْأَنْعَامِ ۖ فَكُلُوا مِنْهَا وَأَطْعِمُوا الْبَائِسَ الْفَقِيرَ ﴿٢٨﴾

“เพื่อพวกเขาจะได้มาร่วมเป็นพยานในผลประโยชน์ของพวกเขา และกล่าวพระนามอัลลอฮฺในวันที่รู้กันอยู่แล้ว คือวันเชือด ตามที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาจากสัตว์สี่เท้า ดังนั้นพวกเจ้าจงกินเนื้อมัน และจงให้อาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 28

อิหม่าม มาลิก กล่าวว่า “ไม่มีการกำหนดสัดส่วนเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใดในส่วนที่จะรับประทาน แจกจ่ายในการบริจาค หรือให้อาหารแก่คนยากจนหรือคนมั่งมี โดยที่คนหนึ่งจะให้เนื้อที่ยังไม่ปรุงหรือปรุงเสร็จแล้วก็ได้”

ผู้รู้มัซฮับชะฟีอียฺกล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่สมควรให้กระทำ (มุสตะฮับ) ในการแจกจ่ายให้มากที่สุดในการบริจาคและกล่าวอีกว่าอาจรับประทานเองอย่างน้อยต้องหนึ่งในสาม หนึ่งในสามแจกจ่ายในการบริจาค และอีกหนึ่งในสามเพื่อเป็นของขวัญ (ฮาดียะฮฺ) พวกเขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่อนุมัติที่จะเก็บไว้รับประทานครึ่งหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าที่จะแจกจ่ายมันออกไปเพื่อการบริจาค

อิหม่าม อะหฺมัด กล่าวว่า “เราได้รับสายรายงานของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (รดิยัลลอฮุ อันฮุ) ว่าเขาจะต้องเก็บไว้รับประทานหนึ่งในสามส่วน ให้เป็นอาหารหนึ่งในสามส่วนกับใครก็ตามที่เขาต้องการ และแจกจ่ายอีกหนึ่งในสามเพื่อการบริจาค” นี่คือทรรศนะของอิบนุ มัสอูดและอิบนุ อุมัร เช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏทรรศนะที่แตกต่างกันในหมู่บรรดาเศาะฮาบะฮฺในประเด็นนี้

ส่วนเหตุผลที่มีทรรศนะแตกต่างกันว่าจะแจกจ่ายเท่าไหร่นั้นเนื่องจากมีรายงานที่แตกต่างกัน บางรายงานมิได้กล่าวถึงจำนวนเงินเจาะจงลงไป เช่น การรายงานของ บุรอยเฎาะฮฺ (รฎิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ฉันเคยห้ามพวกท่านรับประทานเนื้อกุรบ่านเกินสามวัน จากนั้นจะต้องแจกจ่ายมันให้กับคนยากจน แต่ตอนนี้ท่านจงกินดั่งที่ท่านต้องการ จงให้อาหารแก่ผู้อื่นและจงกักเก็บไว้บางส่วน” (อัต ติรมีซียฺ) บรรดาผู้รู้จากบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และคนอื่น ๆ ก็ดำเนินตามมาตรฐานนี้

อัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ทรงรู้ดียิ่ง

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก www.islamqa.info by Mufti Sheikh Muhammad Saleh Al-Munajjid

#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“ยืมเงินเพื่อมาทำกุรบานได้หรือไม่ ?”

:: คำถาม ::
อัสลามุอะลัยกุม .. ผมมีคำถามในเรื่องการเชือดพลีในช่วงอีดอัฎฮา หากว่าคนหนึ่งต้องการที่จะทำกุรบาน (การเชือดพลี)ในช่วงวันอีด แต่ไม่มีเงินเพียงพอเนื่องจากมีหนี้หรือเหตุผลอื่น ดังนั้นเขาสามารถที่จะหยิบยืมเงินจากคนอื่นแล้วค่อยคืนภายหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ได้หรือไม่? การเชือดพลีจะนับว่าใช้ได้หรือไม่ในกรณีนี้? หรือว่าเขาจะต้องใช้เงินของตัวเองเท่านั้นสำหรับจุดประสงค์ของการเชือดพลี?

:: คำตอบ ::
ก่อนอื่นเราขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งและความรู้สึกที่ซาบซึ้งอย่างที่สุดที่คุณมีต่อเราในความไว้วางใจที่ท่านได้มอบให้กับเราและเราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺตะอาลาให้เราสามารถรับมือกับความคาดหวังเหล่านี้และทำให้ภารกิจของเราที่มีต่อประชาชาติอิสลามบรรลุเป้าหมายตามที่หวังไว้ เราขอขอบคุณท่านสำหรับคำถามที่ได้แสดงให้เห็นถึงเจนตนาที่บริสุทธิ์ใจในการทำกุรบ่าน (เชือดพลี) ในช่วงอีดอัฎฮา

อย่างที่ทราบกันดีว่าการทำกุรบ่าน (การเชือดพลี) คือซุนนะฮฺหนึ่งสำหรับบรรดาผู้ที่มีความสามารถทางการเงินที่จะปฏิบัติในเรื่องนี้ ดังนั้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีการห้ามยืมเงินเพื่อการนี้ แต่ท่านก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องยืมเงินเพื่อมาทำกุรบ่าน (เชือดพลี)

ดร. อับดุลฟัตตะหฺ อิดรีส เป็นอุลามาอฺที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชายกฎหมายเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัย อัล อัซฮัร ได้ตอบคำถามของคุณโดยกล่าวว่า

อัลอุฎฮียะฮฺ คือซุนนะฮฺสำหรับคนที่มีความสามารถที่จะกระทำเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่มีความสามารถ เขาไม่จำเป็นต้องจะต้องกระทำมัน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับเขาที่จะยืมเงินมาทำกุรบ่าน (การเชือดพลี) มีรายงานว่าท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “… หากว่าฉันจะห้ามพวกท่านที่จะกระทำบางสิ่ง ฉะนั้นจงหลีกห่างจากมัน และหากว่าฉันสั่งให้พวกท่านกระทำบางสิ่ง ฉะนั้นจงกระทำมันเหมือนกับที่ฉันกระทำ” (บุคอรียฺและมุสลิม)

อัลลอฮฺ ตะอาลทรงตรัสในอัล กุรอานอีกเช่นกันว่า “อัลลอฮ์จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น” (2:286)

สรุปคือ ท่านไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระที่หนักจนเกินไปด้วยการยืมเงินในการทำกุรบ่านซึ่งเป็นความจำเป็นเฉพาะบรรดาผู้ที่มีความสามารถทางการเงินเท่านั้นที่สมควรปฏิบัติ

อัลลอฮฺเท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. `Abdul-Fattah Idrees

#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“หลักการอิสลามว่าอย่างไร ? เมื่ออาหารฮาลาลและหะรอมอยู่ในสายการผลิตเดียวกัน”

:: [คำถาม] ::
เราต้องการแจ้งให้ทราบว่ากระบวนการผลิตอาหารของร้านอาหารในฮ่องกงดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาอย่างมากในการได้มาซึ่งอาหารฮาลาล เราขอถามผู้รู้ของเราต่อคำถามดังต่อไปนี้ว่าอิสลามว่าอย่างไรต่ออาหารที่เราบริโภคซึ่งผลิตขึ้นตามสายการผลิต (production line) เดียวกันกับอาหารที่ไม่ฮาลาล (ขาดความชัดเจนในการปนเปื้อน) รวมไปถึงในเรื่องของที่กรองน้ำมัน?

:: [คำตอบ] ::
คำถามนี้ยังขาดความชัดเจนอยู่ ท่านไม่ได้แจ้งให้เราทราบอย่างชัดเจนถึงชนิดของการปนเปื้อนว่ามันเกิดจากสาเหตุอาหารฮาลาลที่ถูกบรรจุในภาชนะเดียวกับที่ปนเปื้อนอาหารที่ไม่ฮาลาล หรือไม่มีการปนเปื้อนของอาหารที่ไม่ฮาลาลในนั้น แต่มันถูกใช้ผลิตอาหารที่ไม่ฮาลาล หรือว่าท่านหมายความว่าอย่างอื่น

ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ท่านจะต้องรู้ว่าภาระหน้าที่ใดก็ตามที่สร้างความยุ่งยากและยากลำบากที่จะปฏิบัติตามนั้นเป็นเรื่องที่อายะฮฺดังกล่าวนี้กล่าวว่า

“ … เราไม่ได้บังคับชีวิตใดนอกจากที่ชีวิตนั้นมีความสามารถเท่านั้น …” [7:42]

อัส สะอฺดียฺ กล่าวว่า “อายะฮฺนี้หมายความว่าอัลลอฮฺจะทรงวางภาระหน้าที่ให้กับบุคคลตามที่เขามีความสามารถ ดังนั้นเขาจะต้องปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺอย่างดีที่สุดตามความสามารถของเขา หากว่าเขาไม่สามารถปฏิบัติภาระหน้าที่ทางศาสนาบางอย่างที่คนอื่นสามารถกระทำได้ เขาก็จะได้รับการยกเว้น” ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“อัลลอฮ์จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้น” [2:286]

“อัลลอฮฺมิได้ทรงให้เป็นที่ลำบากแก่ชีวิตใด เว้นแต่ตามที่พระองค์ทรงประทานมาแก่ชีวิตนั้น” [65:7]

“และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา” [22:78]

“ดังนั้นจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ” [64:16]

ภาระหน้าที่ทางศาสนาจะได้รับข้อยกเว้น ต่อเมื่อคนหนึ่งไม่มีความสามารถที่จะกระทำ และข้อห้ามจะได้รับการยกเว้นเฉกเช่นกันในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอีกทางหนึ่ง ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ กับความไร้ความสามารถและไม่มีข้อห้ามใด ๆ กับสิ่งที่มีความจำเป็น

ตามอายะฮฺข้างต้น หลักการทางชะรีอะฮฺมีข้อสรุปดังต่อไปนี้คือ

ความยากลำบากย่อมก่อให้เกิดความง่ายดาย

ความจำเป็นจะเลิกสิ่งต้องห้าม (เช่น ความจำเป็นจะอนุโลมให้เรื่องต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งต้องห้ามกลายเป็นที่อนุญาต)

“ความจำเป็นต้องวัดตามสัดส่วนที่แท้จริงในขอบเขตของมัน ความจำเป็นจะต้องตอบตามสัดส่วนที่เป็นจริงเท่านั้น”

เมื่อเรื่องหนึ่งรัดแน่น มันก็จะคลายออกและในทางกลับกัน (เช่น เมื่อไหร่ก็ตามหรือที่ไหนก็ตามที่มุสลิมประสบกับความยากลำบากที่คาดไม่ถึง สิ่งนี้จะงดเว้นจากการปฏิบัติภาระหน้าที่ในทางศาสนาบางประการ ชะรีอะฮฺจะช่วยขจัดความยากลำบากและเมื่อความยากลำบากสิ้นสุดลง สิ่งต่าง ๆ จะต้องกลับมาสู่สถานะปกติหรือหลักการดั้งเดิม)

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

“มุสลิมสามารถทานปลาที่เลี้ยงจากอาหารที่มีส่วนของไขมันสุกรได้หรือไม่?”

:: [คำถาม] ::
อัสลามุอาลัยกุม นักวิชาการที่เคารพทุกท่าน สหภาพยุโรปเพิ่งตัดสินใจที่จะอนุมัติการใช้โปรตีนจากสัตว์และสุกรที่ผลิตขึ้นใหม่ในอาหารปลา นี่เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่อชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ทั่วยุโรป ชาวมุสลิมจำนวนมากในยุโรปเลือกที่จะทานปลาเพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่รู้ที่มาที่ไปและหลีกเลี่ยงความคลุมเครือของสุกรที่อาจอยู่ในผลิตภัณฑ์ตามร้านอาหารหรือตามตลาด คำถามคือ: อนุญาตให้มุสลิมทานปลาที่ผ่านการเลี้ยงดูด้วยอาหารที่มีส่วนประกอบจากสุกรหรือส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ไม่อนุมัติได้หรือไม่? นอกจากนี้ ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศเหล่านี้จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง? ขอขอบคุณ

:: [คำตอบ] :: 
ขอความสันติ ความเมตตา และความจำเริญจากผู้เป็นเจ้าจงประสบแด่ท่าน ด้วยพระนามของผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงไพศาลในความเมตตา ผู้ทรงถ้วนทั่วในความกรุณา มวลการสรรเสริญทั้งหมดเป็นสิทธิแห่งผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุฮัมมัดของเรา รวมถึงวงศ์วานของท่านและเหล่าสาวกของท่านทั้งมวล

ขอขอบคุณสำหรับคำถามและความห่วงใยในกิจการของชุมชนมุสลิม
ปัญหาการบริโภคปลาที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เกิดความท้าทายต่อชุมชนมุสลิมและชุมชนผู้ศรัทธาในความเชื่ออื่น ๆ ในยุโรป ชุมชนผู้ศรัทธาทุกท่านควรร่วมมือกันเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน

เพื่อตอบคำถามของท่าน ชัยคฺ อะหฺมัด คุตตี อาจารย์อาวุโสและนักวิชาการอิสลามประจำสถาบันอิสลามแห่งโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้กล่าวว่า

นี่เป็นปัญหาร้ายแรง เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชาวมุสลิมทุกคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหรือมีส่วนรับผิดชอบควรต้องหามาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ การแก้ปัญหาขั้นสุดท้ายนั้นยังคงเป็นไปได้ เมื่อเรากลับมามองยังชะรีอะฮฺ ซึ่งจริยศาตร์ หรือจริยธรรมในการเลี้ยงดูสัตว์และสิ่งแวดล้อมนั้นจะไม่สามารถแยกออกจากชะรีอะฮฺได้

เนื่องจากทั้งปลาและสัตว์ต่าง ๆ ไม่ได้ถูกกำหนดมาเพื่อบริโภคอาหารที่ใช้ส่วนประกอบ (ที่หะรอม) เช่นนี้ การกระทำแบบนี้จึงเหมือนเป็นการแทรกแซงกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้ นี่คือโครงการเลี้ยงสัตว์แบบชัยฏอน ผู้ที่สาบานกับผู้เป็นเจ้าว่าเขาจะล่อลวงให้มนุษย์บิดเบือนและทำให้การสรรค์สร้างของผู้เป็นเจ้าต้องเสียหาย

ดังนั้น ชาวมุสลิมที่เลี้ยงปลาหรือสัตว์อื่น ๆ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ด้วยส่วนประกอบจากไขมันสุกรหรือชิ้นส่วนจากสัตว์เป็นอาหาร ดังที่อิหม่ามชาฮฺ วะลิยุลลอฮฺ ได้ชี้ให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้ถูกกำหนดด้วยแบบแผนการดำเนินชีวิตของตัวเอง การใช้ส่วนประกอบที่หะรอมเหล่านี้เป็นอาหารแก่มันจึงเป็นเรื่องที่ฝืนกฎธรรมชาติ

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในฐานะมุสลิม ผู้ที่มีโลกทัศน์แบบอัลกุรอานในการมองชีวิตและธรรมชาติที่จะพิจารณาการเลี้ยงสัตว์และปลาเพื่อใช้บริโภคเอง หรือหาทางเลือกด้วยการนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช้มาตรการดังกล่าว

นี่เป็นจุดที่ประเทศมุสลิมจำเป็นต้องให้ความสนใจเช่นกัน ด้วยการเลี้ยงสัตว์และปลาแบบเกษตรอินทรีย์โดยไม่ทำให้เกิดความผิดปกติที่ฝ่าฝืนระเบียบทางธรรมชาติเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับคนทั้งโลกได้ นี่เป็นความท้าทายที่เราจะต้องสนใจหากเราให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณและจริยธรรมแห่งชะรีอะฮฺ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเกรงว่าเราส่วนใหญ่มักเพ่งจุดสนใจไปยังกฎหมายมากกว่าจริยธรรม ซึ่งแท้จริงแล้วจริยธรรมนั้นเป็นสารัตถะสำคัญของชะรีอะฮฺ

หลังจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเสริมต่อว่า หากเราไม่มีทางเลือกอื่นจริง ๆ แล้ว ก็จะไม่ถือว่าหะรอมตามหลักฟิกฮฺที่จะบริโภคปลาหรือสัตว์เหล่านี้ แม้ว่าอาหารเหล่านี้จะถือว่าหะรอมสำหรับมุสลิมในการบริโภค แต่เมื่ออาหารเหล่านั้นถูกจ่ายให้สัตว์และปลาบริโภคไปแล้ว อาหารเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนสภาพทางเคมี ตามที่นักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้ความเห็นไว้บนพื้นฐานของหลักการอิสติฮาละฮฺหรือการเปลี่ยนแปลงทางเคมี สัตว์หรือปลาเหล่านั้นก็จะไม่ถือว่าหะรอม

ดร.ฮาติม อัล ฮัจญฺ คณบดีแห่งสถาบันการศึกษาชะรีอะฮฺอะเคเดมีแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวเสริมว่า

จากคำถามแรก กฎเกณฑ์ในชะรีอะฮฺที่มีหลักการห้ามบริโภคญัลลาละฮฺ (สัตว์ที่กินสิ่งสกปรกเป็นอาหาร) ก็จำเป็นต้องถูกยกเพื่อมาทำความเข้าใจ

คำตอบสำหรับคำถามนี้จึงต้องระมัดระวังกับประเด็นต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้:
1. ความหมายของคำว่า “ญัลลาละฮฺ” (สัตว์ที่กินสิ่งสกปรก)
2. ข้อตัดสินว่าด้วยการบริโภค “ญัลลาละฮฺ”
3. ข้อตัดสินที่เกี่ยวข้องกับกฎการเปลี่ยนสภาพ (อิสติฮาละฮฺ) ของสารสกปรกเป็นสิ่งใหม่
4. ฟัตวา (การวินิจฉัยคำตอบต่อปัญหา) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้เฉพาะ โดยคำนึงถึงบริบทและปัจจัยภายนอกทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง

1. ความหมายของคำว่า “ญัลลาละฮฺ” (สัตว์ที่กินสิ่งสกปรก)
แน่นอนโดยทั่วไปแล้วมันหมายถึงปศุสัตว์ เช่น วัวและแกะที่กินนะญิส (สิ่งสกปรกที่กำหนดโดยชะรีอะฮฺ) มีการถกเถียงกันว่ากฎเกณฑ์เรื่องญัลลาละฮฺจำเป็นต้องถูกนำมาใช้กับกรณีของไก่ด้วยหรือไม่ อิบนุ ฮัซมฺ แย้งว่าไม่ได้ เพราะไก่เป็นที่ทราบกันว่ามีการกินสิ่งปฏิกูลและมันก็ไม่ได้ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามนักวิชาการส่วนใหญ่มีทรรศนะว่าการพิจารณากฎเกณฑ์ญัลลาละฮฺทั่วไปนั้นใช้ได้กับเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่เราใช้บริโภค ดังที่อิบนุ หะญัร กล่าวไว้ในตัฟสีร ฟุตฮุล บารียฺ

อีกประเด็นที่จำเป็นต้องกล่าวถึงคือ คำว่าญัลลาละฮฺจะถูกใช้กับสัตว์ที่กินอาหารส่วนใหญ่เป็นนะญีส (สิ่งสกปรกหรือสิ่งไม่บริสุทธิ์) ดังที่อิบนุ กุดามะฮฺ รายงานไว้ในหนังสือ อัล มุฆนียฺ ตามสำนักนิติศาสตร์ฮันบาลียฺ และยังเป็นทรรศนะที่ตรงกับสำนักนิติศาสตร์หะนาฟียฺ ขณะที่นักวิชาการบางท่าน เช่น อิหม่ามอัน นะวาวียฺ ก็ให้ความเห็นว่าสัตว์นั้นจะเป็นญัลลาละฮฺก็ต่อเมื่อกลิ่นของสัตว์นั้นเปลี่ยนไป ซึ่งทรรศนะนี้เป็นทรรศนะที่ถือโดยนักวิชาการส่วนใหญ่

2. ข้อตัดสินว่าด้วยการบริโภค “ญัลลาละฮฺ” 
ทรรศนะส่วนใหญ่นั้นถือว่าการบริโภคญัลลาละฮฺเป็นมักรูฮฺ (พึงรังเกียจและส่งเสริมให้หลีกเลี่ยง) แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นหะรอม (บัญญัติห้ามชัดเจน) ทรรศนะนี้ถือโดยสำนักนิติศาสตร์หะนาฟียฺ สำนักนิติศาสตร์ชาฟิอียฺส่วนใหญ่ และสำนักนิติศาสตร์ฮันบาลียฺบางท่าน ขณะที่สำนักนิติศาสตร์มาลิกียฺนั้นไม่ถือทรรศนะนี้ แต่กระนั้นนักนิติศาสตร์สำนักชาฟิอียฺและฮันบาลียฺบางท่านก็ให้ความเห็นว่าการบริโภคญัลลาละฮฺนั้นหะรอม 

หลักฐานของนักนิติศาสตร์ที่อ้างสถานะหะรอมนั้นมาจากการบันทึกสายรายงานหะดีษของอิหม่ามอะหฺมัดและอาบู ดาวุด ที่รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร ว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) ห้ามมิให้บริโภคญัลลาละฮฺและดื่มนมของมัน ซึ่งมีรายงานอื่น ๆ จากศอฮาบะฮฺของท่านต่อเรื่องนี้เช่นกัน

แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้สัตว์เหล่านั้น (ญัลลาละฮฺ) เป็นที่อนุญาตแก่การบริโภค?

ตามที่ศอฮาบะฮฺได้กล่าวไว้คือต้องให้สัตว์กินอาหารที่บริสุทธิ์ (ไม่นะญีส) เป็นเวลาสามวันติดต่อกันถึงจะยกเลิกข้อห้ามได้

3. ข้อตัดสินที่เกี่ยวข้องกับกฎการเปลี่ยนสภาพ (อิสติฮาละฮฺ)
นักวิชาการหลายท่านมีความเห็นว่าการเปลี่ยนสภาพของสารที่นะญีสนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของข้อตัดสินด้วยเช่นกัน นี่คือทรรศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ ส่วนในมุมมองของข้าพเจ้า การเปลี่ยนสภาพจะต้องสมบูรณ์และต้องมั่นใจว่าสิ่งสกปรกที่เป็นอันตรายต้องถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป หากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายใด ๆ ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) กล่าวว่า “จะต้องไม่เสียหายและไม่สร้างความอันตรายใด ๆ” (มาลิกและอิบนุ มะญาฮฺ จากอบู สะอีด อัลคุดรียฺ)

ข้อมูลจากเว็บไซต์คลีนิกมาโย (Mayo Clinic) อธิบายถึงความเป็นไปได้มากที่สุดของการเกิดโรควัวบ้าหรือ BSE นั้นมาจากวัวที่ได้รับโรคมาจากการกินอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อป่นและกระดูกป่นของสัตว์เคี้ยวเอื้องที่ติดเชื้อ นั่นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ประกาศห้ามการใช้โปรตีนหรือเนื้อเยื่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหารวัวและสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่น

ข้าพเจ้าไม่สามารถให้คำตอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอย่างละเอียดได้ว่า การเปลี่ยนสภาพของอาหารสัตว์แบบนี้ที่ให้กับปลานั้นสมบูรณ์หรือไม่? และผลิตภัณฑ์สำเร็จขั้นสุดท้ายจะปลอดภัยหรือไม่?

4. ฟัตวา (การวินิจฉัยคำตอบต่อปัญหา) ที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับประเด็นนี้
ฟัตวาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเฉพาะนี้ เมื่อคำนึงถึงบริบทและปัจจัยภายนอกทั้งหมด เรามีทรรศนะที่แตกต่างกันดังนี้

ทรรศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ได้วินิจฉัยว่ามันเป็นข้อห้ามชัดเจน แต่มันมีสถานะมักรูฮ (พึงรังเกียจ) หากเราคำนึงถึงสถานการณ์เฉพาะที่ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นกับชาวมุสลิมหลายล้านคน ในกรณีที่มีฟัตวากำหนดให้การบริโภคปลาในตลาดหลักทั้งหมดนั้นหะรอม ข้าพเจ้าก็ขอละเว้นจากฟัตวานั้น และเชื่อว่าชาวมุสลิมอาจบริโภคปลาในสถานการณ์แบบนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอส่งเสริมให้ชุมชนมุสลิมสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารทางเลือก นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังสนับสนุนให้พวกเขาปรึกษาหารือกับนักกฎหมายเพื่อหาทางออกร่วมกันถึงข้อกฎหมายในประเทศยุโรปที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ต่อการเป็นอยู่ที่ดี และที่ขัดแย้งกับหลักความเชื่อในวิถีการดำเนินชีวิตของชนส่วนน้อยในประเทศ

แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“มุสลิมเป็นนักมังสวิรัติได้หรือไม่ ?”

ประการแรกสุด เราควรมีความชัดเจนในประเด็นนี้ เราไม่ควรคิดหรือเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะงดเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์ โดยเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนั้นจะได้รับรางวัลหรือผลบุญตอบแทน หรือคิดว่าการเป็นนักมังสวิรัติทำให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺได้มากกว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามในการสร้างความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺในลักษณะนี้

ท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) ผู้ทรงเป็นมนุษย์ที่ดีงามและใกล้ชิดอัลลอฮฺมากที่สุด ท่านเคยกินเนื้อสัตว์และน้ำผึ้ง และเคยดื่มนม ครั้งหนึ่งมีศอหาบะฮฺของท่านต้องการงดเว้นจากเนื้อสัตว์ ท่านแจ้งเขาว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อนัส อิบนุ มาลิก (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจแก่ท่าน) รายงานว่า ‘มีศอหาบะฮฺของท่านนบี จำนวนหนึ่ง บางคนในหมู่พวกเขาได้กล่าวว่า “ฉันจะไม่แต่งงานกับสตรี” บางคนในหมู่พวกเขากล่าวว่า “ฉันจะไม่กินเนื้อสัตว์” บางคนในหมู่พวกเขากล่าวว่า “ฉันจะไม่นอนบนที่นอน” และบางคนก็กล่าวว่า “ฉันจะถือศีลอดโดยไม่ละศีลอด” หลังจากข่าวเรื่องนี้ไปถึงท่านนบี ท่านจึงได้เรียกมารวมตัวกัน และท่านได้เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญอัลลอฮฺและสดุดีต่อพระองค์แล้วกล่าวว่า “มีอะไรเกิดขึ้นกับกลุ่มชนที่พวกเขากล่าวเช่นนั้น เช่นนี้ ? (ตามที่พวกเขาตั้งใจที่จะกระทำ) ท่านนบี จึงกล่าวต่อว่า “ฉันละหมาดและฉันก็นอน ฉันถือศีลอดแล้วก็ฉันก็ละศีลอด และฉันก็แต่งงานกับสตรี ดังนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาอื่นจากแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่พวกของฉัน” (รายงานโดย นะสาอีย์)

มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการไม่รับประทานอาหารบางชนิดเพราะไม่ชอบมันหรือหลีกเลี่ยงมันด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เนื่องจากเห็นสัตว์ถูกฆ่าเมื่อสมัยยังเป็นเด็กซึ่งอาจเป็นเหตุให้คนหนึ่งมีความรังเกียจที่จะรับประทานเนื้อ และเหตุผลอื่น ๆ ที่คล้ายกันนี้ กับการคิดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งหะรอม (ต้องห้าม) โดยละเว้นจากมันซึ่งถือเป็นการกระทำในรูปแบบของการเคารพบูชา ดังที่พราหมณ์ นักบวชและผู้อื่นได้ปฏิบัติ

โดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“ผลิตภัณฑ์โคเชอร์ (อาหารชาวยิว) ฮาลาลหรือไม่?”

หลายบริษัทในประเทศไทยทำการผลิตอาหารฮาลาล อาหารโคเชอร์และระบบมาตรฐานอื่นๆในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร วันนี้เรามาเรียนรู้เรื่องอาหารโคเชอร์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล จากการตอบคำถามของหน่วยงานรับรองฮาลาล อเมริกา INFANCA ที่ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

นี่เป็นคำถามที่นาน ๆ ครั้งจะถูกถามขึ้นมา เราจึงขอใช้เวลาสำหรับอธิบายรายละเอียดที่สำคัญเพื่อตอบคำถามนี้ ในอิสลาม ฮาลาล หมายถึง ‘ถูกต้องตามหลักการอิสลาม’ หรือ ‘ได้รับอนุญาต’ ซึ่งมีขอบข่ายกว้างขวางไปยังทุกเรื่องของชีวิตไม่ใช่แค่เพียงอาหารเท่านั้น ดังนั้นแนวทางคำสอนของอิสลามจึงต้องมีการกล่าวถึงอาหารที่บริสุทธิ์ การแต่งงานกับบุคคลที่มีสายเลือดห่างไกลจากสายเลือดของตนเอง และการมีความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาของคู่สมรสในระหว่างช่วงเวลากลางคืนในเดือนรอมฎอน สิ่งดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็นสิ่งที่ฮาลาล ในทำนองเดียวกันการกล่าวถึงเนื้อสุกร การแต่งงานกับพี่หรือน้องร่วมสายเลือด และการมีความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาของคู่สมรสในระหว่างช่วงเวลารุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเช่นเดียวกับการงดกินงดดื่มอาหารในช่วงเดือนรอมฎอนต่างก็เป็นสิ่งที่หะรอม ในความเป็นจริงแล้วการกระทำใด ๆ ก็ตามที่จิตสำนึกความเป็นมนุษย์รับรู้ว่าเป็นสิ่งที่น่าละอายล้วนถือว่าเป็นสิ่งหะรอม

เมื่อพูดถึงเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก มุสลิมใช้คำ ‘ซะบีฮะฮฺ’ (dhabiha) เพื่ออ้างถึงเนื้อสัตว์จากสัตว์ฮาลาลที่ถูกเชือดโดยมุสลิมตามแนวทางที่อิสลามกำหนด(เนื้อจากสัตว์หะรอมไม่สามารถเปลี่ยนเป็นฮาลาลแม้ว่าจะถูกเชือดตามแนวทางที่อิสลามกำหนดไว้ และมุสลิมจะไม่เชือดสัตว์หะรอม) ตรงกันข้ามกับ ‘โคเชอร์’ (kosher) ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับอาหารเท่านั้น มีความหมายเช่นเดียวกับฮาลาลในบริบทของอาหาร แต่ยังมีความแตกต่างอีกมากมายในรายละเอียดข้อกำหนด โดยบางส่วนของความแตกต่างดังกล่าว มีดังนี้

• อิสลามไม่อนุญาตสิ่งมึนเมาทั้งหมด รวมทั้งแอลกอฮอล์ เหล้า และไวน์ ในขณะที่ศาสนายูดายถือว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไวน์เป็นอาหารโคเชอร์ ดังนั้นอาหารโคเชอร์อาจมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม หากผู้ผลิตกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นสิ่งหะรอมในศาสนาอิสลาม
.
• เจลาติน ถือว่าเป็นโคเชอร์โดยไม่ต้องคำนึงถึงแหล่งที่มา สำหรับมุสลิมหากเจลาตินที่ได้มาจากสุกรนั้นเป็นที่หะรอม แม้กระทั่งเจลาตินที่ได้มาจากวัวที่ไม่ผ่านการซะบีฮะฮฺนักวิชาการอิสลามจำนวนมากถือว่าเจลาตินเหล่านี้เข้าข่ายหะรอมเช่นกัน

• การปฏิบัติตามหลักโคเชอร์ ไม่จำเป็นสำหรับชาวยิวที่ต้องกล่าวพระนามของผู้เป็นเจ้าในขณะทำการเชือดสัตว์ แต่สำหรับมุสลิมจำเป็นต้องกล่าวพระนามของอัลลอฮฺต่อสัตว์ทุกชนิดในขณะที่ทำการเชือดสัตว์

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างอื่น ๆ ระหว่างฮาลาลและโคเชอร์ ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์โคเชอร์บางชนิดเป็นที่หะรอม หรืออยู่ในหมวดหมู่ต้องสงสัยสำหรับการบริโภคของมุสลิม

ความแตกต่างเหล่านี้อาจดูเหมือนเล็กน้อยสำหรับบางคน อย่างไรก็ตามการปล่อยตัวปล่อยใจไปตามความใคร่อยากทั้งในด้านพฤติกรรมหรือด้านอาหารเป็นสิ่งที่หะรอม ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงมากต่ออัลลอฮฺ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสุกร คือ การละเมิดบัญญัติของอัลลอฮฺอย่างชัดแจ้ง และไม่ควรดูแคลนการกล่าวพระนามของอัลลอฮ ในขณะที่เชือดสัตว์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการเคารพสักการะและเชื่อฟังในสิทธิของตนเองที่มีต่อพระองค์ คำกล่าวนี้ไม่เพียงแต่หมายถึงการเคารพสักการะผู้ทรงสูงส่งในตัวมันเองเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการได้รับความจำเริญและโปรดปรานที่เพิ่มพูนทบทวี มุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิมต่างก็สามารถลิ้มรสถึงความแตกต่างจากเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดด้วยความเมตตาและมีมนุษยธรรม และเนื้อของสัตว์ที่ถูกเชือดด้วยวิธีที่การดังกล่าวโดยเนื้อแท้แล้วได้มาจากวิธีการที่ปฏิบัติต่อสัตว์ต่าง ๆ ด้วยความเมตตา

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
แหล่งที่มา http://www.ifanca.org/

“ผลกระทบจากการรับประทานอาหารที่ไม่ฮาลาล”

::คำถาม ::
บางครั้งฉันรับประทานอาหารที่ไม่ฮาลาล และตอนนี้ฉันรู้สึกกังวลว่าละหมาดของฉันจะใช้ได้หรือไม่ เนื้อที่ไม่ฮาลาลเป็นนะญิสใช่หรือไม่ ? จะทำอย่างไรหากว่ามันมีเนื้อหมู ฉันรับประทานเนื้อหมูในขณะเดียวกันฉันก็คิดว่าฉันอาจจะไม่ใช่มุสลิมแล้ว การละหมาดของฉันจะถูกตอบรับหรือไม่? และฉันจะชำระล้างตัวเองให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร หากว่ามันมีแอลกอฮอล์ ฉันตั้งใจดื่มมันเข้าไป แต่มันอาจจะมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์ที่เป็นสารตกค้างจากแอลกอฮอล์ ฉันต้องการกลับเนื้อกลับตัวแต่ดุอาอฺของฉันจะไม่ถูกตอบรับเป็นเวลา 40 วันใช่หรือไม่ แม้ว่าฉันกลับเนื้อกลับตัวแล้ว? ฉันไม่รู้ว่า 40 วันตอนที่ฉันรับประทานหรือดื่มมันเข้าไป

::คำตอบ ::
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีสิ่งใดที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์

ประการแรก ควรรู้ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าเนื้อบางอย่างที่ห้ามรับประทานนั้นมิได้หมายความว่ามันจะต้องนญิส (สิ่งสปกรกตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม) เสมอไป มิหนำซ้ำการห้ามอาจมีสาเหตุจากสิ่งอื่นก็ได้ เช่น เนื้อของมนุษย์นั้นห้ามกินไม่ใช่เพราะว่านญิสแต่เนื่องด้วยเกียรติของมนุษยย์ต่างหาก

ในทางตรงกันข้าม เนื้อหมูนั้นเป็นที่ต้องห้ามและเป็น “นญิส” ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า “หรือเนื้อสุกร แท้จริงมันเป็นสิ่งโสมม” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล อันอาม อายะฮฺที่ 145)

สำหรับ ผลกระทบของการรับประทานสิ่งที่เป็นนะญิส (สิ่งโสมม) ในเรื่องละหมาด เช่น รับประทานเนื้อหมูหรือดื่มแอลกอฮอล์นั้น ผู้ที่รับประทานหรือดื่มสิ่งที่เป็น “นญิส” การละหมาดยังจำเป็นสำหรับเขาและไม่อนุญาตให้เขาละทิ้งละหมาด แต่ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าเขาจะต้องสำรอกในสิ่งที่เป็นนญิส การละหมาดของเขาจึงจะใช้ได้และหากว่าเขาไม่สามารถสำรอกมันออกมา ดังนั้นมันก็ไม่มีผลกระทบอันใดต่อการละหมาดของเขาหากเขาไม่สามารถสำรอก

คำอธิบายของอัด-ดุซูกียฺ (มุฮัมมัด อิบนุ อะหฺมัด บิน อะรอฟะฮฺ) ในชัรหฺ อัล กะบีร ในนิติศาสตร์ของมัซฮับมาลิกียฺ กล่าวว่า “หากว่าคนหนึ่งรับประทานหรือดื่มของนะญิส เขาจำเป็นจะต้องสำรอกมันออกมาหากสามารถทำได้ ยิ่งไปกว่านั้นเขาจำเป็นต้องทำการละหมาดชดตราบเท่าที่เขาเชื่อว่าสิ่งโสมมยังคงอยู่ในท้องของเขา และหากว่าเขาไม่สามารถที่จะสำรอกมันออกมาได้ ดังนั้นจึงไม่เป็นสิ่งที่เสียหายกับเขาแต่ประการใดหากว่าเขาไม่สามารถขจัดมันได้”

หากใครที่รับประทานหรือดื่มสิ่งที่เป็นนญิสและเขากลับเนื้อกลับตัว ดังนั้นอัลลอฮฺจะตอบรับการกลับเนื้อกลับตัวของเขา ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า 

“และพระองค์คือผู้ทรงรับการขออภัยโทษจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงอภัยจากความผิดทั้งหลายและพระองค์ทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”

(อัลกุรอาน อัช ชูรอ อายะฮฺที่ 25)

………………………………………………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“แนวคิดของการเชือดสัตว์พลีในอิสลาม”

:: คำถาม ::
อัสลามุอะลัยกุม สุขสันต์วันอีดทุกท่านครับ เมื่อวันอีดอัฏฮามาถึง แน่นอนว่าแกะ วัว อูฐจำนวนมากจะถูกจับมาเชือดสำหรับการเฉลิมฉลองในวันอีด ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจของฉันว่า อะไรคือแนวคิดของการเชือดพลีในอิสลาม? อีกเรื่องหนึ่งเพื่อนที่ไม่ใช่มุสลิมของฉันพยายามที่จะหาข้อผิดพลาดในอิสลาม โดยกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวของมุสลิมไม่ต่างอะไรกับการบูชารูปปั้นที่ทำการเชือดพลีต่อพระเจ้าของพวกเขา ได้โปรดอธิบายเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด ญาซากัลลอฮฺ ค็อยร็อน

:: คำตอบ ::
ตามความเป็นจริงแล้ว มีความเข้าใจผิดๆหลายอย่างจากคนที่ไม่ใช่มุสลิมจำนวนมากที่ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงและวิทยปัญญาที่อยู่เบื้องหลังในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ (การเคารพบูชา) ในอิสลาม นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมการกล่าวถึงความเข้าใจผิดเหล่านั้นจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งนี้เพื่อที่จะลบล้างคำบิดเบือนเกี่ยวกับอิสลาม ดังนั้นในประเด็นนี้ เราจึงขอกล่าวเกี่ยวกับกับสิ่งที่ท่านอ้างมา ดังต่อไปนี้

การเชือดพลีมิได้เป็นเสาหลักของอิสลาม เราต้องมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านบริบท โดยต้องเข้าใจว่ามิได้เป็นเพียงแค่ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มาก่อนอิสลามเท่านั้น แต่อัลกุรอานได้ปฏิรูปในเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวนี้และการเชือดพลีที่มีมาอย่างต่อเนื่องในโลกมุสลิม แต่บริบทในอัลกุรอานนั้นมีอยู่ เพราะดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนมากทั้งคนที่ไม่ใช่มุสลิมและมุสลิม ที่บริบทเป็นกุญแจสำคัญที่พวกเขาได้พลาดไป

ด้วยความเข้าใจตรงนี้ ให้เราเริ่มด้วยสถานการณ์เช่นที่ชาวอาหรับก่อนการมาของอิสลามในเรื่องการเชือดพลี ชาวอาหรับนอกรีตในยุคก่อนอิสลามได้ทำการถวายต่อพระเจ้าหลายองค์เพื่อหวังการได้รับความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ หรือผลประโยชน์ แต่กระนั้นพวกยิวในยุคนั้นก็พยายามที่จะถวายให้กับผู้เป็นเจ้าองค์เดียวที่แท้จริงโดยการถวายเครื่องโลหิตและเครื่องเผาบูชา

แม้แต่ชุมชนคริสเตียนต่างก็รู้สึกว่านบีอีซาถูกพลี ท่านเป็นเสมือนลูกแกะตัวสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม อิสลามได้แยกห่างจากประเพณีดั้งเดิมที่ทำกันมายาวนานซึ่งเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นการสยบความโกรธกริ้วของพระเจ้า หรือความเชื่อที่ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ตัวตนสูญสลาย (ฟานาอฺ) หรือเป็นหนึ่งเดียวกับอัลลอฮฺ ความเชื่อในการไถ่โทษความผิดที่ปฏิบัติกันมา (การอภัยโทษจากความผิดของคน ๆ หนึ่งผ่านการหลั่งเลือดสิ่งอื่นทดแทน) นั้นไม่ปรากฏในที่ใด ๆ ของอัลกุรอาน ไม่มีแนวคิดของที่ส่งเสริมการถวายชีวิตอื่นเพื่ออัลลอฮฺ อิสลามต้องการให้การเชือดพลีนั้นเป็นเรื่องของความสมัครใจของคน ๆ หนึ่งเพื่อลดอัตตาของตัวเองและเป็นความต้องการของส่วนบุคคลที่กระทำเพื่ออัลลอฮฺ

ขอให้พิจารณาดูว่าอัลกุรอานกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างไร โดยการมองให้เห็นถึงข้อแตกต่างในเรื่องการเชือดพลีอีกทั้งอัลลอฮฺต้องได้รับการสยบด้วยเลือดหรือไม่ การอธิบายของอัล กุรอานในเรื่องการเชือดท่านนบีอิสมาอีลนั้นเป็นการกล่าวถึงที่ตรงข้ามกับการไถ่โทษด้วยเลือด

لَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَىٰ فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَىٰ ۚ قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ ۖ سَتَجِدُنِي إِن شَاءَ اللَّـهُ مِنَ الصَّابِرِينَ ﴿١٠٢﴾ فَلَمَّا أَسْلَمَا وَتَلَّهُ لِلْجَبِينِ ﴿١٠٣﴾ وَنَادَيْنَاهُ أَن يَا إِبْرَاهِيمُ ﴿١٠٤﴾ قَدْ صَدَّقْتَ الرُّؤْيَا ۚ إِنَّا كَذَٰلِكَ نَجْزِي الْمُحْسِنِينَ ﴿١٠٥﴾ إِنَّ هَـٰذَا لَهُوَ الْبَلَاءُ الْمُبِينُ ﴿١٠٦﴾ وَفَدَيْنَاهُ بِذِبْحٍ عَظِيمٍ ﴿١٠٧﴾

“ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? “ เขากล่าวว่า “โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน”, ครั้นเมื่อทั้งสอง (พ่อและลูก) ได้ยอมมอบตน (แด่อัลลอฮฺ) อิบรอฮีมได้ให้อีสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น, และเราได้เรียกเขาว่า “โอ้ อิบรอฮีม” เอ๋ย! , “แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามฝันแล้ว” แท้จริง เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย , แท้จริง นั่นคือ การทดสอบที่ชัดแจ้งแน่นอน , และเราได้ให้ค่าไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง” สูเราะฮฺ อัศ-ศอฟาต อายะฮฺที่ 102-107

จะสังเกตเห็นว่า อัลกุรอานไม่เคยกล่าวว่าอัลลอฮฺทรงแจ้งกับท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลามให้ฆ่า (เชือดพลี) ลูกชายของท่าน แม้ว่าจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ตามแต่เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะบทเรียนด้านคุณธรรมในที่นี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนจากสิ่งที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิ้ล ซึ่งไบเบิ้ลได้กล่าวว่าท่านนบีอิบรอฮีมนั้นฝันเห็นเขาเชือดลูกชายด้วยตัวเอง ท่านนบีอิบรอฮีมเชื่อในความฝันนั้นและคิดว่าความฝันนั้นมาจากอัลลอฮฺตะอาลา แต่อัลกุรอานไม่เคยกล่าวว่าความฝันนั้นมาจากอัลลอฮฺ อย่างไรก็ตามทั้งนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีลปรารถนาที่จะอุทิศชีวิตของตัวเองให้มากที่สุด พวกเขาสามารถที่จะเอาชนะความคิดอันคับแคบของตนเองและการยึดติดอยู่กับความหลอกลวงในเรื่องของวัตถุ ดังนั้นการขจัดม่านกั้นระหว่างตัวของพวกเขาเองกับอัลลอฮฺออกนั้นจะทำให้ความเมตตาจากอัลลอฮฺลงมายังพวกเขา และจะทำให้พวกเขาเห็นแนวทางที่ถูกต้องด้วยวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) จากผู้เป็นเจ้า (เป็นยับยั้งการติดสินผิด ๆ ในเรื่องการไถ่ถอนบาป)

เนื่องจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาปรานีเสมอ ย่อมจะไม่ขอให้พ่อคนหนึ่งทำสิ่งที่ขัดแย้งกับบัญชาของพระองค์ที่ว่า “ท่านอย่าได้ฆ่าใครเป็นอันขาด” หรือสั่งให้ฆ่าลูกชายของเขาเองเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากพระองค์ เพราะอัลกุรอานสอนเราว่าอัลลอฮฺไม่เคยสนับสนุนในเรื่องความชั่วร้าย (ดู สูเราะฮฺ อัล อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 28 และ สูเราะฮฺ อัน นะหฺลฺ อายะฮฺที่ 90) มีแต่ชัยฏอนมารร้ายเท่านั้นที่ส่งเสริมความชั่วและความเลวร้าย (ดูสูเราะฮฺ อันนูร อายะฮฺที่ 21) ความเชื่อที่ว่าอัลลอฮฺต้องการให้เรากระทำสิ่งผิดศีลธรรมนั้นเป็นการขัดแย้งกับความยุติธรรมของอัลลอฮฺอย่างสิ้นเชิง

การปฏิบัติที่กระทำกันทุกปีซึ่งดำเนินตามเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ (นั่นคือการเชือดพลีแกะเพื่อรำลึกถึงการเสียสละตัวเองที่ยิ่งใหญ่ของนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสลาม) เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับมันและทำความเข้าใจอัลกุรอานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเชือดสัตว์พลี ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ภายใต้บรรยากาศที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ตลอดจนวิธีการที่ผู้คนใช้ความพยายามเพื่อการอุทิศตนและเสียสละด้วยการแบ่งปันปัจจัยอันจำกัดในการช่วยเหลือคนด้อยกว่าในสังคมพวกเขา

กล่าวได้ว่า ทัศนะของอิสลามที่มีต่อพิธีการเชือดนั้นมิใช่เป็นการไถ่โทษด้วยเลือดหรือแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺผ่านความตายของชีวิตหนึ่ง แต่เป็นการกระทำที่แสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮฺสำหรับความช่วยเหลือของพระองค์ และเป็นการเสียสละส่วนตัวในการแบ่งปันจากสิ่งที่เขาครอบครองและการให้คุณค่าต่ออาหารแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พิธีกรรมในตัวมันเองนั้นมิใช่การบูชายัญ แต่เป็นวิธีการหนึ่งของการเชือดซึ่งแต่ละคนจะต้องเชือดอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องยอมรับว่าอัลลอฮฺเท่านั้นที่มีสิทธิจะเอาชีวิตหนึ่งและพวกเขาจะต้องกระทำอย่างผู้ถ่อมตนในฐานะสิ่งที่ถูกสร้างจากอัลลอฮฺที่มีความจำเป็นในเรื่องอาหารเช่นเดียวกับสิ่งถูกสร้างในแบบอื่น ๆ ของอัลลอฮฺ

เราลองพิจารณาอายะฮฺอัลกุรอานบางอายะฮฺที่กล่าวถึงเรื่องของการเชือดเอาไว้และมันสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนใน คริสตศักราชที่ 500 อย่างไร (คำอธิบายของยูสุฟ อาลีชี้ให้เห็นว่าบางคนที่อยู่ก่อนจะมีบัญญัติในเรื่องการเชือดพลี มนุษย์มีความเข้าใจในเรื่องการเชือดสัตว์ว่ามิใช่เป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณอย่างที่สุด หรือเป็นความเชื่อในการไถ่โทษด้วยเลือด) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวว่า “ในพวกมัน “ปศุสัตว์” เหล่านั้นมีคุณประโยชน์มากหลายสำหรับพวกเจ้า จนถึงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ และสถานที่เชือดของมันคือบริเวณบ้านอันเก่าแก่”

คำว่า “ละกุม (ในหมู่พวกมัน)” เป็นการโยงไปยังวัวควายหรือสัตว์ที่จะทำการเชือดพลี มันเป็นความจริงที่ว่าพวกมันเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ อูฐในประเทศทะเลทรายมีคุณประโยชน์ที่จะเป็นยานพาหนะ แบกสัมภาระหรือการดื่มน้ำนมของมัน สำหรับม้า วัว อูฐเนื้อของมันมีคุณประโยชน์เช่นเดียวกัน ขนของอูฐสามารถนำทักทอเป็นเสื้อผ้า ส่วนแพะและแกะนั้นจะให้เนื้อ เส้นผมและขนของมัน แต่ถ้าพวกมันถูกนำไปใช้ในการเชือดพลี พวกมันก็จะกลายเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของมันปรารถนาจะทำให้มันมีคุณประโยชน์ด้วยการเติมเต็มความต้องการของพี่น้องที่มีความขัดสน (คำอธิบายของยูสุฟ อาลี)

وَلِكُلِّ أُمَّةٍ جَعَلْنَا مَنسَكًا لِّيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّـهِ عَلَىٰ مَا رَزَقَهُم مِّن بَهِيمَةِ الْأَنْعَامِ ۗ فَإِلَـٰهُكُمْ إِلَـٰهٌ وَاحِدٌ فَلَهُ أَسْلِمُوا ۗ وَبَشِّرِ الْمُخْبِتِينَ ﴿٣٤﴾

อัลลอฮฺตรัสอีกว่า “และสำหรับทุก ๆ ประชาชาติเราได้กำหนดสถานที่ทำพิธีกรรม เพื่อพวกเขาจักได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา คือสัตว์สี่เท้า (เช่น อูฐ วัว แพะ แกะ) ฉะนั้นพระเจ้าของพวกเจ้าคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้นสำหรับพระองค์เท่านั้น พวกเจ้าจงนอบน้อมและจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้จงรักภักดีนอบน้อมถ่อมตนเถิด” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 34

นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการเชือดพลี มิใช่เป็นการเซ่นไหว้อำนาจที่เหนือกว่า เพราะอัลลอฮฺมีอยู่หนึ่งเดียวและพระองค์มิได้ทรงปรารถนาเนื้อสัตว์และเลือดแต่อย่างใด แต่มันเป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงความขอบคุณที่มีต่ออัลลอฮฺโดยการแบ่งปันเนื้อให้กับเพื่อนมนุษย์ การเอ่ยพระนามของอัลลอฮฺบนการเชือดพลีนั้นนับว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของพิธีกรรมนี้

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสเพิ่มอีกว่า 

لَن يَنَالَ اللَّـهَ لُحُومُهَا وَلَا دِمَاؤُهَا وَلَـٰكِن يَنَالُهُ التَّقْوَىٰ مِنكُمْ ۚ كَذَٰلِكَ سَخَّرَهَا لَكُمْ لِتُكَبِّرُوا اللَّـهَ عَلَىٰ مَا هَدَاكُمْ ۗ وَبَشِّرِ الْمُحْسِنِينَ ﴿٣٧﴾

“เนื้อของมันและเลือดของมันจะไม่ถึงอัลลอฮฺแต่อย่างใด แต่การยำเกรงของพวกเจ้าจะถึงพระองค์ เช่นนั้นแหละเราได้ทำให้มันยอมจำนนต่อพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้แซ่ซร้องอัลลอฮฺอย่างเกรียงไกรต่อการที่พระองค์ทรงชี้แนะแก่พวกเจ้า และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ทำความดีเถิด” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 37

ไม่ควรมีใครทึกทักเอาเองว่าเนื้อและเลือดนั้นเป็นการถวายให้กับอัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกะ มันเป็นการคาดเดาเอาเองของพวกนอกรีตที่เชื่อว่าจะต้องพลีถวายเลือดให้กับอัลลอฮฺ แต่อัลลอฮฺจะทรงตอบรับการถวายพลีหัวใจของพวกเราต่างหาก โดยที่การเชือดพลีนั้นเป็นเพียงสัญญลักษณ์ภายนอกที่แสดงออกมาให้เห็นเท่านั้น อัลลอฮฺทรงมอบอำนาจให้กับเราให้มีอำนาจเหนือสิ่งถูกสร้างที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน และเนื้อของมันของก็เป็นที่อนุมัติให้เรารับประทานได้ แต่เราจะต้องเอ่ยพระนามของพระองค์ขณะทำการเชือด เพราะการไม่เอ่ยพระนามของพระองค์นั้นแสดงว่าเรากำลังทอดทิ้งความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตไป ด้วยการเอ่ยพระนามของพระองค์ เราจึงถูกย้ำเตือนว่าการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนนั้นจะไม่มีอยู่ในความเชื่อของเรา เป็นเพียงแค่ความจำเป็นใช้เป็นอาหารเท่านั้น (คำอธิบายของยูสุฟ อาลี)

จากอัลกุรอานที่นำมากล่าวข้างต้นเป็นที่ชัดเจนว่า ประเด็นสำหรับเรื่องการเชือดสัตว์พลีนั้นมีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อยู่ในสังคมอาหรับ ณ ช่วงเวลาและสถานที่นั้น (เช่นเดียวกับสังคมอื่น ๆ ที่ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมนั้น ๆ) มนุษย์นั้นถูกบัญชาให้รู้จักขอบคุณอัลลอฮฺและสรรเสริญพระองค์สำหรับปัจจัยยังชีพที่พระองค์ทรงประทานให้กับพวกเขาและพวกเขาจะต้องทำการเชือดพลีสิ่งทีมีค่าบางอย่างด้วยตัวพวกเขาเองเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำนึกบุญคุณของพวกเขาสำหรับสิ่งที่พวกเขาได้รับ (ซึ่งในกรณีของพวกเขาสัตว์นั้นมีความหลากหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดหลักที่พวกเขานำมาเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิต)

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี
ที่มา: www.islamveg.com
#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“เนื้อสัตว์ที่ได้รับการเชือด โดย อะฮฺลุล กิตาบ (ชาวคัมภีร์)”

มีการพูดคุยกันมากมายในหมู่ผู้บริโภคมุสลิมไปจนถึงนักวิชาการอิสลามในประเด็นว่าด้วยข้ออนุมัติสำหรับการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการเชือดโดยอะฮฺลุล กิตาบ (ชาวคัมภีร์) ซึ่งหมายถึงชาวยิวและชาวคริสต์ โดยทั่วไปแล้วเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเชือดโดยชาวยิวหรือชาวคริสต์เหล่านี้จะเรียกว่า เนื้อสัตว์ที่ผ่านการเชือดโดยอะฮฺลุล กิตาบ อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์ประเภทนี้กลับไม่ได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการเชือดตามหลักบทบัญญัติอิสลามที่กำหนดว่าเนื้อสัตว์ที่ฮาลาลจะต้องได้รับการกล่าววิงวอนหรือกล่าวนามของผู้เป็นเจ้าในระหว่างการเชือด

ในคัมภีร์อัลกุรอาน ประเด็นนี้ได้รับการกล่าวถึงเพียงครั้งเดียว ดังต่อไปนี้

“วันนี้ได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ทั้งหลาย และอาหารของบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้นเป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้า และอาหารของพวกเจ้าก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา” (สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 5)

จากโองการข้างต้นนี้ได้กล่าวไปยังชาวมุสลิมภายใต้บริบททางสังคมที่ชาวมุสลิม ชาวยิว และชาวคริสต์ต้องปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งในโองการนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดสำคัญอยู่ 2 ประการ โดยประการแรก ได้แก่ “อาหารของบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้นเป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้า” และประการที่สอง “อาหารของพวกเจ้าก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา”

เมื่อพิจารณาจากส่วนแรกของบทบัญญัติจะถือว่ามุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคอาหารของชาวยิวและชาวคริสต์ได้ ตราบใดที่สิ่งเหล่านั้นไม่ไปละเมิดกับข้อความที่ได้รับการกล่าวไว้ในตอนต้นของโองการที่ว่า “วันนี้ได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ทั้งหลาย”

ทรรศนะของนักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอาหารของอะฮฺลุล กิตาบ (ชาวคัมภีร์) ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับอาหารฮาลาลและเป็นอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงกระบวนการเชือดสัตว์ที่เหมาะสม ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้เชื่อว่าโองการดังต่อไปนี้จากคัมภีร์กุรอานได้ยืนยันถึงข้อกำหนดอันเคร่งครัดสำหรับการบริโภคอาหารของชาวมุสลิม

“และพวกเจ้าจงอย่าบริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮฺมิได้ถูกกล่าวไว้บนมัน และแท้จริงนั่นเป็นการฝ่าฝืน …” (สูเราะฮฺที่ 6 อายะฮฺที่ 121)

อย่างไรก็ตาม ทรรศนะของนักวิชาการอิสลามบางท่าน เช่น อัล-เกาะเราะฎอวีย์มีความเห็นว่า ข้อกำหนดในโองการนี้ไม่ได้นำไปใช้ภายใต้บริบทอาหารของอะฮฺลุล กิตาบ นักวิชาการเหล่านี้มีทรรศนะว่าเนื้อจากสัตว์ฮาลาลที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกนั้น เป็นที่ยอมรับสำหรับชาวมุสลิม โดยพวกเขาให้เหตุผลว่าพระนามของพระเจ้าในที่นี้อาจหมายถึงให้กล่าวในขณะรับประทานมากกว่าในขณะเชือด ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องประเทศนำเข้าอาหารฮาลาล หน่วยงานที่รับรองมาตรฐานฮาลาล หรือผู้บริโภคมุสลิมแต่ละหน่วยงานต่างก็สามารถยอมรับหรือปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนพื้นฐานของการให้เหตุผลตามทรรศนะนี้ได้ทั้งสิ้น

สำหรับชาวมุสลิมที่ต้องการถือปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กล่าวไว้ในอัลกุรอานในบทที่ 6 อายะฮฺ (โองการ) ที่ 121 นั้นถือว่าไม่มีอาหารชนิดใดของอะฮฺลุล กิตาบ ที่ถูกต้องตามมาตรฐานอิสลาม นอกจากอาหารประเภทผักและปลาที่ไม่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ หรือมีวัตถุเจือปนจากส่วนผสมใด ๆ ที่ต้องห้าม

ผู้ดำเนินการผลิตอาหารโคเชอร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวมุสลิมยอมรับอาหารโคเชอร์ว่าเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดและมาตรฐานฮาลาล แต่ในทางศาสนานั้นมุสลิมยังไม่ยอมรับการรับรองของโคเชอร์มาเป็นมาตรฐานแทนการรับรองฮาลาล แม้ว่าในอดีตอาจมีบางประเทศเคยอนุญาตก็ตาม

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry