“อะไรคือนิยามของหะรอมและหะลาลในอิสลาม ?”

ตอบโดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด 

หะรอม คือ สิ่งใดก็ตามที่คนผู้หนึ่งกระทำแล้วจะได้รับการลงโทษ และการที่ละเว้นจากสิ่งนั้นเขาจะได้รับรางวัลตอบแทน หากว่าเหตุผลที่คนผู้นั้นหลีกเลี่ยงคือปรารถนาที่จะปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ

หะลาล คือ ทุกสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องผิดบาปในการกระทำสิ่งนั้น และไม่ใช่เรื่องผิดบาปที่จะไม่กระทำสิ่งนั้นเช่นกัน แต่หากว่าคนผู้หนึ่งตั้งใจที่กระทำสิ่งหะลาลเพื่อต้องการเพิ่มการเชื่อฟังอัลลอฮฺให้มากขึ้น เขาก็จะได้รับรางวัลสำหรับความตั้งใจนี้

การบัญญัติสิ่งที่หะลาลและสิ่งที่หะรอมนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียว มีผู้ที่ทำให้บางสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามเป็นเรื่องหะลาล และมีผู้ที่ทำให้บางสิ่งที่อัลลอฮฺทรงอนุมัติเป็นเรื่องหะรอมเช่นกัน บางคนสร้างอุตริกรรมในการทำอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺไม่ได้กำหนดและนั่นเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม

หลักการพื้นฐานของศาสนาของสิ่งที่หะลาลนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนฑูตของอัลลอฮฺทรงอนุมัติ และสิ่งต้องห้ามนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนฑูตของอัลลอฮฺทรงห้าม ศาสนาคือสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนฑูตของอัลลอฮฺนั้นได้กำหนดไว้ ไม่มีใครมีสิทธิที่จะล่วงละเมิดขอบเขตของเส้นทางอันเที่ยงตรง (ศิรอฏ อัล มุสตะกีม) ที่อัลลอฮฺส่งมาให้กับศาสนฑูตของพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

وَأَنَّ هَـٰذَا صِرَ‌اطِي مُسْتَقِيمًا فَاتَّبِعُوهُ ۖ وَلَا تَتَّبِعُوا السُّبُلَ فَتَفَرَّ‌قَ بِكُمْ عَن سَبِيلِهِ ۚ ذَٰلِكُمْ وَصَّاكُم بِهِ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“และแท้จริงนี้คือทางของข้าอันเที่ยงตรง พวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิดและอย่าปฏิบัติตามหลาย ๆ ทางเพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์ นั่นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะยำเกรง” (สูเราะฮฺ อัล อันอาม อายะฮฺที่ 153)

อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงกล่าวในสูเราะฮฺ อัล อันอาม, สูเราะฮฺ อัล อะอฺรอฟ และสูเราะฮฺอื่นๆ ถึงสิ่งต่างๆที่อัลลอฮฺทรงประนามบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี คือ บรรดาผู้ที่ตั้งสิ่งอื่นขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนในการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ) นั่นคือสิ่งที่พวกเขาได้ทำสิ่งหะรอมในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม อย่างเช่น บะฮีเราะฮฺ และ สาอีบะฮฺ (หมายถึง อูฐอันเป็นที่ต้องห้ามที่เกี่ยวพันกับการแสวงหาความพึงพอใจจากเจว็ดของพวกเขา) และพวกเขาอนุมัติสิ่งต่างๆที่อัลลอฮฺทรงห้าม อย่างเช่นการฆ่าเด็กๆของพวกเขา และพวกเขากำหนดสิ่งต่างๆในศาสนาของพวกเขาที่อัลลอฮฺมิได้ทรงอนุมัติ ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

أَمْ لَهُمْ شُرَ‌كَاءُ شَرَ‌عُوا لَهُم مِّنَ الدِّينِ مَا لَمْ يَأْذَن بِهِ اللَّـهُ ۚ
وَلَوْلَا كَلِمَةُ الْفَصْلِ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ ۗ وَإِنَّ الظَّالِمِينَ لَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ

“หรือว่าพวกเขามีภาคีต่าง ๆ ที่ได้กำหนดศาสนาแก่พวกเขา ซึ่งอัลลอฮฺมิได้ทรงอนุมัติและหากมิใช่ลิขิตแห่งการตัดสิน (ที่ได้กำหนดไว้ก่อนแล้ว) ก็คงมีการตัดสินใจในระหว่างพวกเขา แท้จริงบรรดาผู้อธรรมสำหรับพวกเขาได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด” (สูเราะฮฺ อัช-ชูรอ อายะฮฺ ที่ 21)

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประกอบด้วยบรรดาสิ่งหะรอมซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในตัวมันเอง ซึ่งพวกเขาแปรสภาพไปสู่การทำอิบาดะฮฺ อย่างเช่น ชิรกฺ (การตั้งให้สิ่งอื่นมีหุ้นส่วนในการอิบาดะฮฺกับอัลลอฮฺ) และสิ่งต่างๆที่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ อย่างเช่นการเปลือยกายเวียนรอบกะอฺบะฮฺ เป็นต้น

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี

“ทำไมต้องเชือดสัตว์เพื่อการพลี ?”

:: คำถาม ::
อัสลลามุอะลัยกุม ผมอยากทราบว่ามีการจัดเตรียมสิ่งอื่นเพื่อการพลีนอกเหนือจากการฆ่าสัตว์หรือไม่ เพื่อนมุสลิมของผมคนหนึ่งไม่ชอบเชือดสัตว์เพื่อการพลีในช่วงอีดอัดฎา เขาบอกว่า “ทำไม่ต้องฆ่าสัตว์เพื่องานดังกล่าวนี้ด้วย?” และพิจารณาแล้วว่ามันเป็นเพียงแค่ขนบธรรมเนียมประเพณีเท่านั้น เหมือนที่พบเห็นได้เสมอในหมู่คนฮินดูที่ใช้การพลีสัตว์เพื่อถวายต่อบรรดาเทพเจ้าทั้งหมด ดังนั้นคำถามของเขาก็คือว่า “ทำไมจะต้องทำให้สัตว์ตายเพื่อการงานของเราด้วย” ญาซากัลลอฮฺ ค็อยร็อน

:: คำตอบ ::
อุฎฮียะฮฺ สัตว์พลีเป็นสัตว์ที่ถูกเชือดเพื่อการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺในช่วงวันอีดอัฎฮานั้นเป็นซุนนะฮฺที่มีหลักฐานยืนยันหนักอย่างหนักแน่นตามความเห็นของนักนิติศาสตร์อิสลามจำนวนมาก อบู หะนีฟะฮฺและอุลามาอฺคนอื่น (นักปราชญ์มุสลิม) มองว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ส่งเสริมให้มุสลิมที่มีความสามารถทางการเงินมอบ (สัตว์พลี) เป็นอาหารแก่คนยากคน รวมทั้งคนในครอบครัวและเครือญาติตลอดจนตัวเขาเอง เฉพาะอูฐ วัวควาย แกะหรือแพะเท่านั้นที่ใช้ในการเชือด อูฐจะต้องมีอายุ 5 ปีขึ้นไป วัวควายและแพะนั้นจะต้องมีอายุ 2 ปีเต็ม ส่วนแกะนั้นต้องมีอายุมากกว่า 1 ปี

อูฐหรือวัวตัวเดียวตามซุนนะฮฺแบ่งทำกันได้ถึง 7 ส่วนหรือทั้งครอบครัว ส่วนแพะหรือแกะนั้นทำได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น และสมควรปฏิบัตโดยการแบ่งเนื้อ 1 ใน 3 ที่ทำการเชือดนั้นเก็บไว้รับประทาน และส่วนหนึ่งมอบให้กับเครือญาติและเพื่อน ๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นการบริจาคทาน (ดู สารานุกรมของนักนิติศาสตร์อิสลามประเทศคูเวต เล่ม 5 หน้า74-107)

การกำหนดเป็นศาสนกิจและข้อดีของอุฎฮียะฮฺได้รับการยืนยันโดยอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวไว้ในอัล กุรอาน “ดังนั้น เจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” [อัลเกาษัรฺ 108:2]
.
อายะฮฺนี้หมายความว่ามุสลิมจะต้องละหมาดอีดอัฎฮาหลังจากนั้นให้พลีด้วยอุฎฮียะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ อัล บะเราะอฺ รายงานว่า “ฉันได้ยินท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมกำลังทำการคุฏบะฮฺโดยกล่าวว่า ‘สิ่งแรกที่จะต้องกระทำเนื่องในวันอีด (อัฎฮา) นี้ คือการละหมาดและหลังกลับจากละหมาด เราจะต้องทำกุรบ่าน (การเชือดพลีด้วยพระนามของอัลลอฮฺ) และใครก็ตามที่กระทำดังกล่าวนี้ เขาได้กระทำตามซุนนะฮฺของเราแล้ว” (รายงานโดย อิหม่ามบุคอรียฺ)

ในยุคสมัยของท่านนบี การอุฎฮียะฮฺได้ถูกบัญญัติให้เป็นซุนนะฮฺในปีที่สองหลังจากการฮิจญฺเราะฮฺ (การอพยพของท่านบี) เป็นปีเดียวกับที่การละหมาดอีดและซะกาตถูกบัญญัติขึ้น

แท้จริงนั้นการเชือดพลี (อุฎฮียะฮฺ) เป็นการแสดงให้เห็นความรู้สึกขอบคุณและความกตัญญูที่มีต่ออัลลอฮฺสำหรับความโปรดปรานและความพอพระทัยจากพระองค์ที่มิอาจนับคำนวณได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือคนยากจน คนขัดสน ครอบครัวและเครือญาติของเขาเช่นเดียวกัน ดังนั้นมันจึงเกี่ยวข้องกับศาสนา การช่วยเหลือสังคมและเป็นภาคผลในทางเศรษฐกิจ

ยิ่งไปกว่านั้น การเชือดพลี (อุฎฮียะฮฺ) เป็นการฟื้นฟูซุนนะฮฺของท่านนบี อิบรอฮีม (อะลัยฮิ สลาม) เมื่ออัลลอฮฺทรงบัญชาให้เขาทำการเชือดสัตว์เพื่อไถ่ตัวอิสมาอีล (อิสมาอีล) ลูกชายของเขาในวันนะฮฺรฺ (อีดอัล-อัฎฮา) ดังนั้นอุฎฮียะฮฺคือการกลับไปดำเนินรอยตามแบบอย่างของท่านนบีอิบรอฮีมไม่ใช่ประเพณีของฮินดูดังในคำถามที่กล่าวมาข้างต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าอัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ สัตว์ต่าง ๆ นกและทุกสิ่งในโลกนี้ โดยที่พระองค์ได้สร้างสัตว์ขึ้นมาเพื่อยังประโยชน์แก่มนุษย์ และอนุมัติให้เชือดสัตว์แต่ต้องด้วยความเมตตาและไม่ทารุณเพื่อนำมาเป็นอาหาร

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า 
“และปศุสัตว์ พระองค์ทรงสร้างมันในตัวมันมีความอบอุ่นสำหรับพวกเจ้า และประโยชน์มากหลาย และในส่วนหนึ่งจากมันนั้นพวกเจ้าเอามาบริโภคได้ และในตัวมันมีความสง่างามสำหรับพวกเจ้า ขณะที่มันกลับจากทุ่งหญ้าและขณะที่นำมันออกไปเลี้ยง และมันแบกสัมภาระหนักของพวกเจ้าไปยังเมืองไกล ๆ โดยที่พวกเจ้าจะไปถึงมันไม่ได้เว้นแต่ด้วยความเหนื่อยยากลำบากใจ แท้จริงพระเจ้าของพวกเจ้านั้นเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (16: 5-7)

จากข้างต้น เป็นหลักฐานว่าอุฎฮียะฮฺคือสุนนะฮฺและปฏิบัติครั้งแรกโดยบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสลาม) ตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ ซึ่งมีความสำคัญในทางศาสนา สังคมรวมไปถึงเป้าหมายในทางเศรษฐกิจ

ขออัลลอฮฺทรงมอบความเข้มแข็งให้กับศรัทธาของท่านและของเราและทรงชี้นำทางเราทั้งหมดไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. Wael Shehab
#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“ทำไมมุสลิมจึงมีความยินดีกับการเชือดสัตว์?”

:: [คำถาม] ::
ทำไมมุสลิมจึงยินดีในขณะที่เชือดสัตว์และหลั่งเลือดของมันออกมาในช่วงการประกอบพิธีฮัจญ์ของพวกเขา เนื้อและเลือดของมันนั้นจะทำให้อัลลอฮฺพึงพอพระทัยกระนั้นหรือ และท่านนบีคนใดเป็นผู้ที่ถวายพลีตัวของเขาเองให้กับอัลลอฮฺ ได้โปรดอย่ามองว่าคำถามของฉันเป็นการโจมตีท่าน เพราะฉันต้องการเพียงทำความเข้าใจเท่านั้น

:: [คำตอบ] ::
ขอบคุณสำหรับคำถามของคุณ มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ฉันขออธิบายให้เข้าใจว่าการเชือดสัตว์พลีเป็นการทำให้การประกอบพิธีฮัจญ์นั้นมีความสมบูรณ์ ถือว่าเป็นเพียงการเฉลิมฉลองที่ได้อุทิศตนเองได้อย่างครอบถ้วนสมบูรณ์ในการประกอบพิธีฮัจญ์ รวมไปถึงการให้อาหารแก่คนยากจนเพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงความปลื้มปิติที่เกิดขึ้นทั่วทั่งโลกเนื่องในเทศกาลวันอีด (วันหยุด)

มิใช่มีแต่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ แต่มุสลิมทุกคนในทุกมุมโลกได้ปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน

:: วัตถุประสงค์ของพิธีกรรม ::
คำถามในเรื่องการเชือดสัตว์พลีและอะไรคือสัญลักษณ์ที่แท้จริงของเรื่องนี้นั้นคือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังคำตอบของฉันที่จะตอบให้กับคุณ ในการเชือดสัตว์พลีนั้น สังคมมุสลิมจะเก็บรวบรวมการบริจาคที่ครบกำหนดเวลาให้กับพี่น้องของเราและเติมเต็มหน้าที่รับผิดชอบที่มีต่อสังคม

การบริจาคนั้นจะถูกจ่ายในรูปแบบของความรัก ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และความห่วงใยใส่ใจคนขัดสน และยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น

ในช่วงวันอีด สมาชิกในสังคมมุสลิมควรจะได้รับกุศลทานหรือซะกาตที่เก็บรวบรวมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เป็นช่วงเวลาที่อัลลอฮฺทรงมอบให้อย่างมิอาจนับคำนวณได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาผู้ที่มีความห่วงใยในความขาดแคลนของพี่น้องมุสลิมของพวกเขา

ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเชือดหรือบริจาค สมควรที่พวกเขาจะได้รับการแจกจ่ายจากพี่น้องผู้อุปถัมภ์

คนรวยและคนจนล้วนมีความสุขกับการกำหนดจากอัลลอฮฺในรูปแบบต่าง ๆ อันมากมาย ดังนั้น วันอีดจึงควรเป็นวันแห่งการเก็บเกี่ยวความดีงาม

:: พระเจ้ามิได้กระหายเลือด – ไม่ใช่เนื้อหรือเลือดที่จะทำให้อัลลอฮฺทรงพอพระทัย ::

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว การเชือดพลีนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงการขอบคุณอัลลอฮฺตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เมื่อท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม ได้รับการบัญชาว่าให้เชือดพลีลูกชายของท่าน

มันป็นคำบัญชาจากผู้เป็นเจ้า ทั้งพ่อและลูกชายนั้นพร้อมที่จะเชื่อฟังอย่างไม่สงสัยใด ๆ อย่างไรก็ตามชีวิตของท่านนบีอิสมาอีลได้รับการช่วยเหลือและไถ่ตัวด้วยแกะเพศผู้

เรื่องราวของการเสียสละนั้นถูกบันทึกไว้ในอัล-กุรอานว่า

“ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? “ เขากล่าวว่า “โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน, ครั้นเมื่อทั้งสอง (พ่อและลูก) ได้ยอมมอบตน (แด่อัลลอฮฺ) อิบรอฮีมได้ให้อีสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น, และเราได้เรียกเขาว่า “โอ้ อิบรอฮีม” เอ๋ย! , แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามฝันแล้ว” แท้จริง เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย, แท้จริง นั่นคือ การทดสอบที่ชัดแจ้งแน่นอน, และเราได้ให้ค่าไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง” [สูเราะฮฺ อัศ-ศอฟฟาต อายะฮฺที่ 102-107]

ดังนั้น การอุทิศเชือดพลีกลายเป็นการเฉลิมฉลองประจำปีเพื่อทีจะรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวและเป็นการขอบคุณอัลลอฮฺสำหรับการช่วยเหลือของพระองค์ ในเรื่องนี้เป็นการยอมรับอย่างชัดเจนและไม่คลุมเครือของการเชื่อมโยงระหว่างอิสลามกับบิดาของบรรดานบี นั่นคืออิบรอฮีม

:: อิสหากหรืออิสมาอีล ? ::

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการเชือดพลีลูกชายของนบีอิบรฮีมมีสองรายงาน บางรายงานกล่าวว่าเป็นนบีอิสหาก บางรายงานกล่าวว่าเป็นนบีอิสมาอีล

มุสลิมเชื่อว่าเป็นอิสมาอีลไม่ใช่อิสหากที่เสียสละตนเพื่อตอบรับต่อคำบัญชาของอัลลอฮฺ โดยมีผู้พิสูจน์ไม่น้อยกว่า 20 ข้อทีให้การสนับสนุนความเชื่อนี้

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการดูแคลนบทบาททางประวัติศาสตร์ของบนีอิสรออีล (ลูกหลานชาวยิว) นอกจากนั้น ยังไม่ได้หมายความว่าเป็นการลดคุณค่าแสงสว่างและวิทยปัญหาที่ถูกส่งมายังพวกเขาโดยท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลาม ดังที่อัล-กุรอานได้ชี้ให้เห็นในอายะฮฺต่าง ๆ มากมาย

ดังนั้น แนวคิดในเรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอย่างทิ่คิด ในความเป็นจริงมันมีเหตุผลและสอดคล้องกับหลักคุณธรรมอิสลามที่เรียกร้องความเป็นเอกภาพของสังคมและการแพร่สันติภาพและความสุขให้กับมวลมนุษย์

:: สองมาตรฐาน ::
เมื่อฉันอ่านคำถามของคุณ ฉันรู้สึกพิศวง ว่าทำไมไม่มีใครกล่าวบ้างว่าการเชือดไก่งวงในวันขอบคุณพระเจ้านั้นเป็นการสังหารหมู่ไก่งวง?

มนุษย์ทุกคนทั่วโลกรับประทานบางสิ่งบางอย่างในงานฉลองของพวกเขา เนื้อเป็นรายการอาหารที่ถูกบรรจุในเมนูอยู่เสมอ หากชนชาติหนึ่งรับประทานเนื้อในงานฉลองของพวกเขา ฉันเชื่อว่าท่านคงไม่มีปัญหาใด ๆ กับพวกเขาอย่างแน่นอน

อีกทั้ง ท่านจะพบว่าอัล-กุรอานกล่าวอย่างชัดเจนแล้วว่าอัลลอฮฺทรงกำหนดการเชือดพลีในช่วงเทศกาลของการประกอบพิธีฮัจญฺทำไม?

“และอูฐที่อ้วนพีเราได้กำหนดมันให้มีขึ้นสำหรับพวกเจ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาเครื่องหมายของอัลลอฮ์ เพราะในตัวมันมีของดีสำหรับพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ (เมื่อเวลาเชือด) ขณะที่มันยืน ฉะนั้นเมื่อมันล้มลงนอนตะแคงแล้ว พวกท่านก็จงบริโภคมัน และจงแจกจ่ายเป็นอาหารแก่คนที่ไม่เอ่ยขอ และคนที่เอ่ยขอ เช่นนั้นแหละเราได้ทำให้มันยอมจำนนแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้ขอบคุณอัลลอฮ์ เนื้อของมันและเลือดของมันจะไม่ถึงอัลลอฮ์แต่อย่างใด แต่การยำเกรงของพวกเจ้าจะถึงพระองค์ เช่นนั้นแหละเราได้ทำให้มันยอมจำนนต่อพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจักได้แซ่ซร้องอัลลอฮ์อย่างเกรียงไกรต่อการที่พระองค์ทรงชี้แนะแก่พวกเจ้า และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ทำความดีเถิด” [สูเราะฮฺ อัล-ฮัจญฺอายะฮฺที่ 36-37]

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

“ทำกุรบ่านเพื่อการโอ้อวด”

:: [คำถาม] ::
เรารู้ว่ามันหะรอมที่จะกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดเพื่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ ในช่วงวันอีดมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ทำกรุบ่านเพื่อโอ้อวดและไม่ได้ทำเพื่อให้อัลลอฮฺพึงพอใจเพียงเท่านั้น ดังนั้นการกินเนื้อของมันฮาลาลหรือไม่?

:: [คำตอบ] ::
การสรรเสริญทั้งหมดเป็นของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีใครคู่ควรแก่การเคารพสักการะบูชานอกจากอัลลอฮฺมุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนฑูตของอัลลอฮฺ

ประการแรก เราขอให้ท่านสนใจข้อเท็จจริงที่ว่าไม่อนุญาตที่จะตำหนิมุสลิมคนหนึ่งว่าเป็นคนโอ้อวดโดยไม่มีหลักฐาน ตามหลักการแล้วเราจะต้องคิดดีกับพี่น้องมุสลิมจนกว่าสิ่งกล่าวหานั้นจะได้รับการพิสูจน์
สำหรับการกินเนื้อกุรบ่าน (สัตว์ที่เชือดพลี) โดยสันนิษฐานว่าเป็นจริงตามที่ท่านอ้าง (คือทำกุรบ่านเพื่อโอ้อวด) ดังนั้น ไม่มีอันตรายใด ๆ ที่จะกินเนื้อหากว่ามันถูกเชือดตามหลักการของศาสนา

มีเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการเชือดตามหลักการของศาสนาที่อุลามาอฺได้แจกแจงไว้

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน รอหิมาฮุลลอฮฺ ถูกถามในฟัตวา นูรุล อะลา อัด-ดัรบฺ ว่า “อะไรคือเงื่อนไขของการเชือดตามหลักการอิสลาม”

ท่านตอบว่า เงื่อนไขของการเชือดตามหลักการอิสลามมีดังต่อไปนี้
เงื่อนไขแรก คนที่ทำการเชือดจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น เขาจะต้องเป็นมุสลิมหรือเป็นคนจากชาวคัมภีร์ (อะหฺลุล กิตาบ) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงกล่าวว่า “วันนี้สิ่งดี ๆ ทั้งหลายได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้น เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของพวกเจ้าก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา …” สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 5 อิบนุ อับบาส รดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “นั่นคือ อาหารของพวกเขาอ้างถึงสัตว์ที่ถูกเชือดด้วยพวกเขา”

เงื่อนไขที่สอง เลือดจะต้องไหลออกมาจากสัตว์ที่ถูกเชือดโดยการตัดหลอดเลือดดำสองเส้นอยู่ที่ลำคอ

เงื่อนไขที่สาม เขาจะต้องกล่าว บิสมิลลาฮฺ (ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ) เมื่อทำการเชือดสัตว์ ดังที่ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “หากว่าเลือดถูกหลั่งออกมาและนามของอัลลอฮฺถูกเอ่ย ดังนั้นจงกิน (จากมัน) เถิด”

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

“ช่วงเวลาของการเชือดกุรบาน”

:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม เรียนท่านนักวิชาการ เวลาใดเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการเชือดสัตว์พลีเพื่อทำกุรบาน

:: คำตอบ ::
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาผู้ทรงกรุณา 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมูฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

ถึงพี่น้องในอิสลาม ขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับคำถามซึ่งแสดงให้ถึงความปราถนาอย่างสูงของท่านในการยัดมั่นกับกฎเกณฑ์และคำสอนของอิสลาม ขออัลลอฮฺโปรดประทานแสงสว่างแก่หัวใจของพวกเราด้วยแสงแห่งอิสลามด้วยเถิด

หลังจากได้อ่านคำถามของท่าน เราขอนำคำพูดของสัยยิด ซาบิกอุลามาอ์ที่ชื่อเสียงซึ่งกล่าวไว้ในตำราของท่าน ฟิกฮ์ ซุนนะฮฺ ที่เป็นที่รู้จักกันดี

มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างผู้รู้เกี่ยวกับเวลาที่ของการเชือด ตามทรรศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ถือว่าควรเชือดในวันนะฮัร (วันอีดอัฎฮา) 10 ซุลฮิจญะฮฺ หรือหลังวันตัชรีกนั่นคือวันที่ 11,12 และ 13 ซุลฮิจญะฮฺ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าว่า “ทุกวันตัชรีกคือการเชือด” (อิมามอะหมัด)

หากคนหนึ่งพลาดไปในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น สัตว์อาจถูกเชือดในเวลาต่อมาเพื่อเป็นการชด

อิมามมาลิกและอิมามอะหมัดถือว่า ไม่ว่าการเชือดนั้นจะเป็นวาญิบหรือสุนัต มันจะต้องกระทำในช่วงเวลาที่มีการกำหนดเฉพาะ มัซฮับฮานาฟีย์มีความเห็นเช่นเดียวกันเกี่ยวกับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ซึ่งทำฮัจญ์ตะมัตตุอ์และฮัจญ์กิรอน ผู้ที่ทำฮัจญ์จะต้องเชือดสัตว์ในช่วงเวลาที่กำหนดของวันตัชรีก

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Sheikh Sayyed Sabiq
#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน : ความหมาย เป้าหมายและบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง”

โดย ดร.มุซัมมิล ศิดดีกียฺ ประธานสภาฟิกฮ (นิติศาสตร์อิสลาม) แห่งอเมริกาเหนือ

:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม ชัยค์ขอให้ท่านกรุณาอธิบายความหมาย เป้าหมาย กฎพื้นฐานเกี่ยวกับการถือศีลอด ญะซากุมุลลอฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน)

:: คำตอบ ::
วะอะลัยกุมสลามวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺ วะบะเราะกาตุฮฺ
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและทรงกรุณา มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบฮานะฮุวะตะอาลา) ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัดเป็น (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์

1. การถือศีลอดคืออะไร
อัลกุรอานเรียกการถือศีลอดว่า ศาวม์ คำว่าศาวม์ตามตัวอักษรหมายถึง การระงับ ในซูเราะหฺมัรยัม อัลลอฮฺทรงบอกเล่าเกี่ยวกับมัรยัมมารดาของนบีอีซา โดยนางกล่าวว่า “ฉะนั้น จงกิน จงดื่ม และจงทำจิตใจให้เบิกบานเถิด หากเธอเห็นมนุษย์คนใดก็จงกล่าวว่า ฉันได้บนการสงบนิ่งไว้ต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีฉันจะไม่พูดกับผู้ใดเลยวันนี้” (มัรยัม19:26) ความหมายคือ ฉันได้สาบานว่าจะงดเว้นจากการพูดคุยกับผู้คนในวันนี้ ในทางชะรีอะฮฺ คำว่าศาวม์ในทางชะรีอฮฺหมายถึงงดเว้นจากทุกสิ่งที่ถูกห้ามไว้ช่วงตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกโดยกระทำไปอย่างตั้งใจว่าจะถือศีลอด

2. เป้าหมายของการถือศีลอด
อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (ตักวา)” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:183) ตักวาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในแง่ของจิตวิญญาณและจริยธรรมในคำศัพท์ของอัลกุรอาน ตักวาเป็นความรวมในด้านจิตวิญญาณและจริยศาสตร์ในอิสลาม เป็นคุณภาพที่อยู่ในชีวิตของผู้ศรัทธาที่คอยรักษาพวกเขาให้อยู่ในการตระหนักถึงการเฝ้ามองอยู่ของอัลลอฮฺตลอดเวลา

ตักวาเป็นคุณธรรม เป็นความดีและเป็นการตระหนักต่ออัลลอฮฺ ตักวาต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม การถือศีลอดสอนให้รู้จักความอดทน และด้วยความอดทนจะทำให้คนหนึ่งบรรลุถึงตำแหน่งสูงสุดของตักวา

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่าการถือศีลอดเป็นเสมือนโลห์ ซึ่งจะปกป้องคนหนึ่งจากการทำบาปและกิเลสตัณหา ตามความเห็นอิมาม อัลเฆาะซาลีย์ การถือศีลอดจะสร้างลักษณะของเศาะมาดียฺยะฮฺ (อิสระจากความต้องการ) ในตัวมนุษย์ อิมามอิบนุก็อยยิมเห็นว่าการถือศีลอดว่าเป็นวิธีการที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณมนุษย์จาก กิเลสตัณหา ซึ่งจะทำให้ความพอเพียงอยู่เหนือกิเลสตัณหา

อิมามชาห์วะลียุลลอฮฺ ดะฮฺลาวีมองว่าการถือศีลอดเป็นวิธีการที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับความน่ารังเกียจและเสริมสร้างธาตุแห่งมลาอิกะฮฺในความเป็นมนุษย์ เมาลานา เมาดูดีย์ เน้นย้ำว่าการถือศีลอดเต็มเดือนในทุกๆ ปีเป็นการฝึกฝนปัจเจกบุคคลและชุมชนมุสลิมในภาพรวมและครอบคลุม ในเรื่องของความยำเกรงและการระงับตัวเอง

3. การถือศีลอดเป็นหน้าที่
ในปีที่สองของการฮิจญเราะฮฺ มุสลิมได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในรอมฎอนของทุกปี อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัลบะเกาะเราะฮฺ183) อัลลอฮฺยังตรัสด้วยว่า

“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:185)

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของการปฏิบัติในอิสลาม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า ท่านรอสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอิสลามวางอยู่บนรากฐานห้าประการ หนึ่ง การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ สองดำรงการละหมาด สามการจ่ายซะกาต สี่การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน ห้าการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ” (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

ประชาชาติอิสลามถือเป็นมติเอกฉันท์ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถ (มุกัลลัฟ)

4. บัญญัติต่างๆของการถือศีลอด
ก. ใครบ้างต้องถือศีลอด
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งบรรลุศาสนภาวะและเป็นผู้ที่สติสมบูรณ์ ตลอดจนไม่ป่วนและมิได้อยู่ในระหว่างการเดินทาง

ส่วนคนป่วยที่เป็นการป่วยเพียงชั่วคราวและคาดว่าจะหายเป็นปกติหลังจากนั้น จะอนุญาตสำหรับเขาหรือเธอไม่ต้องถือศีลอดในวันที่ป่วย แต่ทั้งเขาและเธอจะต้องถือศีลอดชดเชยหลังรอมฎอนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป สำหรับคนป่วยที่เรื้อรังและมีแนวโน้มว่าสุขภาพจะไม่ดีขึ้น อนุญาตให้พวกเขาไม่ต้องถือศีลอด แต่จะต้องจ่าย ฟิดยะฮฺ เป็นการทดแทน โดยจ่ายมื้ออาหารสำหรับหนึ่งวันแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป โดยเขาสามารถจ่ายเป็นเงินแทนมื้ออาหารแก่คนยากจนขัดสน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนและหลังคลอดไม่อนุญาตให้ถือศีลอดและจะต้องชดใช้หลังรอมฎอน หญิงมีครรภ์และแม่ที่ให้นมลูก ถ้าหากนางเห็นว่าเป็นเรื่องลำบาก พวกนางสามารถเลื่อนการศีลอดโดยไปชดเชยเมื่อสภาพร่างกายมีความพร้อม

การเดินทางในทางชะรีอะฮฺนั้นคือทุกการเดินทางที่พาตัวเองออกห่างจากเมืองหรือที่พักอาศัย โดยมี่ระยะทางอย่างน้อยที่สุด 48 หรือ 80 กิโลกรัม เหมือนกับการเดินทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้ (ก็อศร์) การเดินทางต้องไปด้วยเหตุผลที่ดี และถือเป็นบาปหากจะเดินทางในรอมฎอนโดยมีเจตนาที่จะเลี่ยงการถือศีลอด มุสลิมควรจะเปลี่ยนแผนการในการเดินทางในช่วงรอมฎอนเพื่อจะได้ถือศีลอดในเดือนนี้ได้ยกเว้นว่ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เมื่อกลับจากการเดินทางเขาจะต้องรีบชดเท่าจำนวนวันที่ขาดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข. การถือศีลอดตามแบบอย่างท่านนบี
1) รับประทานอาหารสะฮูร (อาหารก่อนรุ่งอรุณ) เพราะเป็นซุนนะฮฺ (แบบอย่างของท่านนบี) และมีรางวัลและความประเสริฐมากมายในการับประทานอาหารสะฮูร ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เข้าเวลาละหมาดศุบฮ์
2) ละศีลอดทันทีเมื่อดวงอาทิตย์ตก ในทางชะรีอะฮฺให้ดูว่าขอบของดวงอาทิตย์หายไปจากเส้นขอบฟ้าและหายลับอย่างสมบูรณ์
3) ในช่วงระหว่างของการถือศีลอดจะต้องไม่พูดจาและกระทำสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ จะต้องไม่โต้เถียง ทะเลาะวิวาท พูดจาหยาบคาย หรือกระทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งต้องห้าม เขาจะต้องจัดระเบียบวินัยในเรื่องศีลธรรมจรรยา พร้อมทั้งการฝึกฝนทางร่างกาย เขาจะต้องไม่แสดงโอ้อวดในการถือศีลอดโดยคร่ำเคร่งกับมัน หรือแสดงปากที่แห้งอาการหิวโหย หรืออารมณ์ขุ่นมัว ผู้ที่ถือศีลอดมีความพึงพอใจด้วยจิตวิญญาณและกำลังใจที่ดี
4) ในระหว่างการถือศีลอดเขาควรจะบริจาคและทำความดีต่อคนอื่นๆให้มาก เพิ่มพูนอิบาดะฮฺและการอ่านอัลกุรอาน มุสลิมทุกคนควรพยายามที่จะอ่านอัลกุรอานอย่างน้อยจบหนึ่งครั้งในช่วงรอมฎอน

ค. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
ผู้ถือศีลอดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เสียศีลอด สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นจะต้องชดใช้สำหรับวันนั้น ได้แก่
1) กิน ดื่มหรือสูบโดยตั้งใจ
2) ตั้งใจทำให้อาเจียน
3) การมีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตรแม้ว่าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกเพียงเล็กน้อยก็ตาม
4) การหลั่งอสุจิโดยเจตนาเช่น ด้วยการจูบหรือกอดเป็นตน
5) กิน ดื่ม สูบหรือมีเพศสัมพันธ์หลังดวงอาทิตย์ขึ้นเนื่องจากเข้าใจผิดว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เช่นเดียวกับการกระทำสิ่งเหล่านี้ ก่อนดวงอาทิตย์ตกโดยเข้าใจไปว่าดวงอาทิตย์ตกดินแล้ว

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงการถือศีลอดเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบาปใหญ่ ผู้ที่พลาดพลั้งกระทำไปจะต้องชดเชย (เกาะฎออ์) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ ชดเชยด้วยการถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน หลังรอมฎอน หรือเลี้ยงอาหารคนจน 60 คน สำหรับแต่ละวันที่พลาดพลั้งไป สำหรับอิมามอบูฮานีฟะฮฺเห็นว่า ผู้ที่ตั้งใจกินหรือดื่มจะต้องชดเชย (เกาะฎออฺ) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺในลักษณะเดียวกัน

ง. สิ่งที่ไม่ทำให้เสียการถือศีลอด
ในระหว่างการถือศีลอดสิ่งต่อไปนี้อนุญาตให้ปฏิบัติได้
1) การอาบน้ำ หากเผลอกลืนน้ำโดยไม่ตั้งใจจะไม่ทำให้เสียศีลอด ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าการว่ายน้ำในช่วงถือศีลอดสามารถกระทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำเพราะอาจจะทำให้น้ำเข้าทางปากหรือจมูกลงไปในกระเพาะได้
2) การใส่น้ำหอม การใส่คอนแทคเลนส์หรือยาหยอดตา
3) ฉีดยาหรือเจาะเลือด
4) ใช้มิสวาก (แท่งไม้สิวาก) หรือแปรงฟัน (แม้จะใช้ยาสีฟันด้วยก็ตาม) สูดน้ำเข้าจมูกแต่ไม่มากเกินไป (เพื่อหลีกเลี่ยงการกลือนน้ำ)
5) กิน ดื่มหรือสูบโดยมิได้ตั้งใจ เช่น ลืมว่ากำลังถือศีลอดอยู่ แต่จะต้องหยุดทันทีเมื่อนึกขึ้นมาได้แล้วถือศีลอดต่อไป
6) หากนอนในช่วงเวลากลางวันแล้วฝันเปียก สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เสียศีลอด เช่นเดียวกัน กรณีที่มีเพศสัมพันธ์ในเวลากลางคืนและไม่สามาถอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ก่อนรุ่งอรุณ เขาหรือเธอสามารถเริ่มถือศีลอดได้แล้วค่อยอาบน้ำยกหะดิษ ผู้หญิงที่ประจำเดือนหยุดในเวลากลางคืนอาจจะเริ่มถือศีลอดแม้ว่าเธอจะยังไม่ยกหะดิษใหญ่ (ฆุสล) กรณีนี้การอาบน้ำ (ฆุสล์) เป็นสิ่งจำเป็นแต่การถือศีลอดยังใช้ได้แม้จะยังไม่อาบน้ำในทันที
7) การจูบระหว่างสามีภรรยาเป็นที่อนุญาต แต่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ทำอะไรเลยเถิดไปกว่านี้ในระหว่างถือศีลอด

จ) สิ่งจำเป็นที่จะทำให้การถือศีลอดใช้ได้
องค์ประกอบพื้นฐานสองประการของการถือศีลอด
1) การตั้งเจตนา (นิยยะฮฺ) เขาจำเป็นจะต้องตั้งเจตนาเพื่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจในการถือศีลอดก่อนอรุณรุ่ง เจตนาไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูด แต่จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจทั้งในหัวใจและความคิด นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าการตั้งเจตนาสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวแต่ครอบคลุมทั้งเดือนโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมจะดีกว่าหากตั้งเจตนาทุกวันเพื่อให้ได้รับรางวัลอย่างเต็มที่
2) งดเว้นทุกสิ่งที่จะทำให้เสียศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ตก ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. Muzammil H. Siddiqi
#รอมฎอน#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“เราจะขจัดความฟุ่มเฟือยในเดือนเราะมะฎอนอย่างไร?”

พี่น้องมุสลิมบางท่านเมื่อพวกเขาชวนแขกมักคิดว่าเราจะต้องตระเตรียมอาหารจนเต็มโต๊ะเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีน้ำใจ แต่สิ่งนี้ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ และการรับประทานที่มากเกินความพอดีนั้นขัดแย้งกับวิทยปัญญาของการถือศีลอด ดังนั้น จะเราสร้างสมดุลกันอย่างไร?

อันที่จริง คำถามของคุณช่างตรงประเด็นและมีความสำคัญเอามาก ๆ โดยเฉพาะช่วงเดือนเราะมะฎอนอันประเสริฐ ซึ่งเราควรจะต้องจัดลำดับความสำคัญว่าเราจะใช้เวลา พลังงาน และทรัพยากรของเราอย่างไร เพื่อที่เราจะสามารถเก็บเกี่ยวรางวัลอย่างเต็มที่สำหรับการกระทำความดีต่าง ๆ

คำถามของคุณเกี่ยวโยง 2 ด้าน ด้านแรกคือหน้าที่ของการให้เกียรติกับแขกในอิสลามและรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการให้อาหารและเครื่องดื่มแก่มุสลิมที่ถือศีลอดเพื่อช่วยเหลือในการละศีลอดของพวกเขา

ด้านที่สอง คือการที่อิสลามห้ามการกินทิ้งกินขว้างตลอดจนการสุรุ่ยสุร่ายในการกินและดื่ม ซึ่งรวมไปถึงสิ่งอื่น ๆ ที่โดยพื้นฐานแล้วได้รับการอนุมัติ (ฮาลาล)

อัลลอฮฺทรงตรัสในอัล กุรอานว่า
“จงกินและจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย” [7:31]

อัลลอฮฺทรงพอพระทัยเมื่อเราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับแขกของเราอย่างบริสุทธิ์ใจ อัลลอฮฺทรงชมเชยในอัล กุรอานถึงบรรดาศอฮาบะฮฺบางคนของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ที่จัดเลี้ยงอาหารให้กับแขกของพวกเขาด้วยกับอาหารทั้งหมดที่มีอยู่ในบ้านของพวกเขาและปล่อยให้ตัวของพวกเขาหิวโหยอันเนื่องจากพวกเขามีอาหารพอเพียงต่อการเลี้ยงแขกเท่านั้น

อัล กุรอานทรงตรัสว่า “และให้สิทธิผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตามและผู้ใดปกป้องการตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขาชนเหล่านั้น พวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” [59:9]

อันที่จริงหากว่าแขกมาเยี่ยมเยียนที่บ้านของเราในเดือนเราะมะฎอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าพวกเขาเป็นมุสลิมที่กำลังถือศีลอด มันเป็นหน้าที่เหนือพวกเราที่จะต้องให้เกียรติกับพวกเขาและเลี้ยงอาหารพวกเขาอย่างดีในการละศีลอด

อย่างไรก็ตาม การจัดเลี้ยงต้อนรับแขกในช่วงเดือนเราะมะฎอนสำหรับการละศีลอด (อิฟฏอร) นั้นจะต้องไม่เป็นผลทำให้เราสุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือยมากหรือใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการซื้ออาหาร และเราจะต้องไม่ทำให้เวลาสูญเปล่าด้วยการพูดคุยนินทาอยู่กับแขก

นอกจากนี้ อาหารในการละศีลอดของเดือนเราะมะฎอนของเจ้าบ้านจะต้องไม่เป็นผลทำให้เราล่าช้าและทำลายการปฏิบัติอิบาดะฮฺของเราเอง อย่างเช่น เราะจะต้องไม่ใช้เวลาทั้งวันอยู่แต่ในห้องครัวเพื่อเตรียมมื้ออาหารละศีลอดอย่างฟุ่มเฟือยสำหรับแขก

ความพอดีและการใส่ใจในเรื่องการอิบาดะฮฺ (การเคารพสักการะ) นั้นจะต้องรักษาไว้เสมอ อาหารที่เหลือจะต้องแช่เย็นไว้เพื่อบริโภคในมื้อต่อไปหรือมอบให้กับคนที่ขัดสนหรือคนที่หิวโหยเพื่อเป็นการบริจาค จะต้องไม่ทิ้งมันลงถังขยะหรือปล่อยให้มันเน่าเปื่อย

ช่วงระหว่างการละศีลอดไม่ว่าจะร่วมกับแขกหรือครอบครัวของเรา เราจะต้องหลีกห่างการรับประทานที่มากเกินควรหรือการใส่อาหารจนล้นจาน ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องทิ้งหรือเทลงถังขยะ ดังนั้นเราจะต้องไม่ทิ้งอาหารแม้แต่คำเดียว

เราควรจะเลียนิ้วหลังจากรับประทานอาหาร ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า
“ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม สั่งให้เราอย่าเหลือสิ่งใดไว้ในจาน และท่านกล่าวว่า ท่านไม่รู้ดอกหรือว่าในอาหารของท่านแต่ละคำนั้นอัลลอฮฺทำให้มีความบะเราะกะฮฺ (ความศิริมงคล)” รายงานโดย อิหม่าม มุสลิม

ในช่วงเดือนเราะมะฎอน เราจะต้องรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เพียงพอกับความต้องการเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี พร้อมทั้งให้พลังงานและความแข็งแรงเพื่อที่จะปฏิบัติการงานที่ดีต่าง ๆ และการทำอิบาดะฮฺด้วยความกระตือรือร้นและความศรัทธาที่เต็มเปี่ยม

สุดท้าย เราควรให้คุณค่ากับโภชนาการมากกว่ารสชาติในการเลือกสรรอาหารที่เราจะบริโภคในช่วงเดือนเราะมะฎอน อาหารประเภททอดและอาหารแปรรูปควรจะมีให้น้อยที่สุดหากว่าไม่สามารถหลีกเหลี่ยงได้

จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากจะรักษาความบริสุทธิ์ใจและเจตนาของแต่ละคนด้วยการตรวจสอบสิ่งที่อยู่ในจิตใจ เมื่อใดก็ตามที่เราเชิญชวนแขกมาละศีลอดในช่วงเดือนเราะมะฎอน

เมื่อฉันเตรียมอาหารละศีลอดให้กับแขกในช่วงเดือนเราะมะฎอน ฉันจะนึกถึงคำชมเชยที่ฟุ้งเฟ้อสำหรับฝีมือการทำอาหารของฉันหรือไม่?

ในการที่เจ้าของบ้านใช้จ่ายเงินซื้ออาหารละศีลอดเพื่อแขก ครอบครัวของเขาจะยังคงมีปัจจัยหลงเหลืออีกหรือไม่สำหรับการใช้จ่ายในวันที่เหลือของเดือนได้อย่างพอเพียง?

อาหารละศีลอดที่เจ้าบ้านตระเตรียมมานั้นจะทำให้เราต้องอ่อนเพลียหรือใช้เวลามากเกินไปหรือไม่ จนไม่สามารถไปมัสญิดเพื่อละหมาดตะรอวีหฺหลังจากนั้น หรือยืนละหมาดยามค่ำคืนที่บ้านก่อนรับประทานสะฮูร? หรือว่ามันจะเป็นเหตุให้ฉันหลงลืมในการอ่านอัลกุรอานในแต่ละวัน?

ฉันจะต้องทิ้งอาหารสดในถังขยะกระนั้นหรือ?
ฉันจะรู้สึกน้อยใจหรือไม่หากแขกมิได้ชื่นชมฝีมือการทำอาหาร หรือชื่นชมอาหารมากมายที่วางอยู่บนโต๊ะ ซึ่งตระเตรียมให้กับพวกเขา เหตุใดถึงรู้สึกเช่นนั้น ?

การตอบคำถามข้างต้นโดยลำพังด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยเชื่อว่าอัลลอฮฺผู้ทรงเป็นประจักษ์พยานจะทำให้เราตัดสินใจได้ว่าจะรักษาความพอดีและหลีกเหลี่ยงความฟุ่มเฟือยในการเลี้ยงละศีลอดให้แก่แขกในเดือนเราะมะฎอนได้อย่างไร

…………………………………………………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net โดย ศอดัฟ ศิดดีกียฺ

“กินจนอิ่มท้องบาปหรือไม่?”

:: [คำถาม] ::

ฉันรับประทานยาเพื่อรักษากระดูกตามอาการที่ฉันเป็น ฉันไม่แน่ใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่มากเกินไปในมุมมองอิสลาม ฉันได้รับการแนะนำให้รับประทานสิ่งต่าง ๆ เช่น การรับประทานขนมปังปิ้งเล็กน้อยในตอนเช้า อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว ฉันเลิกรับประทานอาหารที่มากเกินพอดี ฉันอยากทราบว่า ถ้าฉันรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นที่อนุมัติในอิสลามหรือไม่? เราควรรับประทานและนอนน้อยลง อย่างไรก็ตามบางครั้งฉันนอนเยอะหรือบางครั้งนอนน้อย ซึ่งมันเชื่อมโยงกับพฤติกรรมหรือปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่น ความเศร้าโศก สำหรับอาหารบางครั้งฉันรับประทานเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นอันตรายกับจิตวิญญาณและความศรัทธาของฉันหรือไม่? ฉันรู้สึกผิดตลอดเมื่อรับประทานอาหารจำนวนมาก ๆ แต่ถ้ามันช่วยให้ร่างกายของฉันมีสุขภาพดีเหมือนกับออกกำลังกาย มันจะเป็นที่อนุมัติหรือไม่ในอิสลาม?

ฉันรู้สึกวิตกกังวลที่มันก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กับหัวใจและจิตวิญญาณของฉัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความศรัทธาของฉัน ดั่งที่ฉันมีความกังวลใจกับมันในบางครั้ง ปีที่แล้ว ฉันใช้ความพยายามขณะที่ฉันถือศีลอดพร้อมกับการทำงานและเดินทางด้วย ฉันรู้สึกไม่ไหวและรู้สึกป่วยไข้บ่อยมาก ฉันไม่ได้รับประทานอาหารสะฮูรในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและได้รับผลบางอย่างจากญาติพี่น้องของฉัน การไม่รับประทานอาหารสะฮูรหมายความว่าฉันไม่ได้รับประทานอาหารและไม่ได้รับประทานยาสำหรับกระดูกของฉัน ฉันมีความกังวลเกี่ยวกับการถือศีลอดนับแต่นั้นมาเนื่องจากว่าฉันตั้งตาคอยมันมากและฉันไม่ทำงานในขณะนั้น ฉันไม่ต้องการสูญเสียการถือศีลอดและฉันไม่มั่นใจว่าฉันจะได้รับการยกเว้นจากการถือศีลอดอย่างในกรณีนี้ ฉันขอคำแนะนำจากท่านด้วย

:: [คำตอบ] ::

ไม่มีสิ่งใดเป็นเรื่องผิดสำหรับท่านที่จะรับประทานตามที่ท่านต้องการ และท่านไม่มีความผิดที่จะรับประทานในสิ่งที่ท่านพึงพอใจ ท่านไม่มีความผิดหากว่าท่านรับประทานจนกระทั่งอิ่มเต็มที่ สิ่งที่เป็นที่ต้องห้ามคือสิ่งที่คนหนึ่งรับประทานเกินความต้องการของเขา ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับเขาได้

ท่าน อิยาฎ กล่าวว่า “พวกเขากินจนอิ่มท้อง” เป็นหลักฐานสำหรับการอนุญาตให้รับประทานจนอิ่มเต็มที่ มีรายงานจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และบรรดาบรรพชนยุคแรกว่าไม่ชอบให้กินจนอิ่มท้อง ซึ่งจะปฏิบัติเช่นนี้ทุกครั้ง เพราะดังกล่าวนี้จะทำให้หัวใจนั้นแข็งกระด้าง ทำให้คนหนึ่งลืมคนจนและความทุกข์ยากของพวกเขาและสิ่งต่าง ๆ ที่เขาต้องรับผิดชอบ เป็นที่อนุมัติให้คนหนึ่งรับประทานจนอิ่มท้องตราบใดที่เขาไม่เกินเลยขอบเขต ไม่ขัดขวางเขาจากการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่พึงมี ไม่ทำให้หายใจไม่สะดวกและทำให้เกิดอาหารไม่ย่อย อะไรก็ตามที่ทำให้เกินเลยขอบเขตในเรื่องนี้ถือว่าไม่เป็นที่อนุมัติโดยเด็ดขาด ท่าน นบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “เวลากินท่านจะแบ่งกระเพาะอาหารเป็น 3 ส่วน คือ อาหารหนึ่งส่วน น้ำหนึ่งส่วน อากาศอีกหนึ่งส่วน”

จากข้างต้น มันเป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีสิ่งใดผิดสำหรับท่านที่จะรับประทานให้อิ่มท้อง และท่านสามารถรับประทานในสิ่งที่ท่านต้องการได้ ยิ่งไปกว่านั้น ท่านจะต้องไม่งดเว้นในสิ่งทีท่านจำเป็นที่จะรับประทาน ดังนั้นถ้าท่านต้องการจะรับประทานอะไรก็ตามเพื่อจะทำให้เป็นอิบาดะฮฺหนึ่งหรือรับประทานอาหารเพื่อที่จะทำให้ท่านมีความแข็งแรงในการทำอิบาดะฮฺ หรือท่านจำเป็นที่จะรับประทานเพื่อเป็นยารักษาโรค เป็นต้น ฉะนั้น การละทิ้งในสิ่งที่ท่านจำเป็นต้องรับประทานนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ

ส่วนเรื่องของการไม่ได้รับประทานอาหารมื้อสะฮูร ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ตรงข้ามกับสุนนะฮฺอย่างแน่นอน ดังที่ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้สั่งใช้ให้เรารับประทานอาหารมื้อสะฮูรตามที่ถูกบัญญัติไว้สำหรับประชาชาติของท่าน ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม อธิบายแล้วว่า มีความบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ) ในมื้ออาหารนี้และเป็นข้อแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของเรากับการถือศีลอดของชาวคัมภีร์ เพราะฉะนั้น เราะจะต้องไม่ละทิ้งมื้อสะฮูรและแสวงหาความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺในการถือศีลอดและอัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือท่านอย่างแน่นอน

ถ้าท่านมีเหตุผลที่จะไม่ถือศีลอด เช่น ป่วยหรืออะไรทำนองนี้ ดังนั้นไม่มีโทษกับท่านแต่อย่างใดที่จะไม่ถือศีลอดและค่อยชดเชยการถือศีลอดในวันอื่นทดแทน

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

“การอนุญาตในสิ่งที่ต้องห้ามเมื่อมีความจำเป็น”

:: [คำถาม] ::
ฉันรู้ว่าสิ่งต่างๆที่หะรอมนั้นบางกรณีกลายเป็นสิ่งฮาลาลหากมีความจำเป็น มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้กฎเกณฑ์นี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง?

:: [คำตอบ] ::
โดยหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมอิสลาม นักนิติศาสรต์อิสลามมีความเห็นตรงกันว่ากรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดจะทำให้สิ่งต้องห้ามกลายเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาต

มีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนหลักการนี้ ทั้งในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ (วิถีปฏิบัติของท่านนบี) เช่น อายะฮฺที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ ที่มัน (ขณะเชือด) และสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และสัตว์ที่ถูกตีตาย และสัตว์ที่ตกเหวตาย และสัตว์ที่ถูกขวิดตาย และสัตว์ที่สัตว์ร้ายกัดกิน นอกจากที่พวกเจ้าเชือดกัน และสัตว์ที่ถูกเชือดบนแท่นหินบูชา และการที่พวกเจ้าเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้ว เหล่านั้นเป็นการละเมิด วันนี้ บรรดาผู้ปฏิเสธการศรัทธา หมดหวังในศาสนาของพวกเจ้าแล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว ผู้ใดได้รับความคับขันในความหิวโหย โดยมิใช่เป็นผู้จงใจกระทำบาปแล้วไซร้ แน่นอนอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเมตตาเสมอ” สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 3

และอีกอายะฮฺที่พระองค์ทรงตรัสว่า 

“และมีอะไรเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ? ที่พวกเข้าไม่บริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮ์ถูกกล่าวบนมัน ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจกแจงแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสิ่ง ที่พระองค์ได้ทรงห้ามแก่พวกเจ้า นอกจากสิ่งที่พวกเจ้าได้รับความคับขันให้ต้องการ มันเท่านั้น” สูเราะฮฺ อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 119

ตัวอย่างของหลักการนี้มีดังต่อไปนี้
1. การกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วสำหรับคนที่ไม่สามารถพบหาสิ่งใดได้แล้ว และกลัวว่าเขาจะตายจากความหิวโหย
2. กล่าวคำพูดที่ทำให้ตกอยู่ในสภาพ “กุฟรฺ” เมื่อต้องอยู่ภายใต้การทรมาณและการบีบบังคับ 
3. การป้องกันจากผู้รุกรานแม้ว่าจะทำไปสู่การสังหารเขาก็ตาม

ความจำเป็นหมายถึงกรณีที่คนหนึ่งจะได้รับอันตรายถ้าเขาไม่เลือกทำสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ซึ่งเป็นอันตรายที่จะมีผลกระทบกับสารัตถะสำคัญ 5 ประการต่อไปนี้ ศาสนา ชีวิต เกียรติ สติปัญญาและทรัพย์สิน

สำหรับเงื่อนไขที่จะทำให้สิ่งหะรอมจะกลายเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตในกรณีที่มีความจำเป็นนั้น ชัยคฺ มุฮัมมั ศอลิหฺ อิบนุ อุษัยมีน รหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวถึงเงื่อนไขสองประการสำหรับกรณีนี้และเชคอธิบายอย่างละเอียดพร้อมทั้งตัวอย่างด้วย เช่นเดียวกับที่เราจะยกข้อคัดค้านของพวกเขาและข้อหักล้างของเรา ฉะนั้นเราจะวางขอบเขตด้วยการอ้างอิงคำพูดของเชค ขออัลลอฮฺทรงเมตตาแก่ท่านด้วยเถิด

หลักการนี้คือหลักการที่เป็นรากฐานทางนิติศาสตร์อิสลามอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงหลักนิติธรรมของอิสลาม ทุกสิ่งที่ถูกห้ามจะได้รับอนุมัติในกรณีที่มีความจำเป็น

ดังนั้น สิ่งที่ถูกห้ามจะกลายเป็นสิ่งที่อนุมัติในกรณีที่มีความจำเป็นแต่มีเงื่อนไขสองประการ ดังนี้

เงื่อนไขประการแรก เราจำต้องถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ต้องห้ามนี้เป็นการเฉพาะ นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถหาอะไรที่จะตอบสนองความจำเป็นนั้นได้นอกจากสิ่งที่ต้องห้าม แต่หากว่าเราสามารถหาบางสิ่งทดแทนได้ ดังนั้นมันจึงไม่เป็นที่อนุญาตโดยเด็ดขาด แม้ว่ามันจะสามารถตอบสนองความจำเป็นของเราได้ก็ตาม

เงื่อนไขประการที่สอง ความจำเป็นนี้ (เฎาะรูเราะฮฺ) จะต้องได้รับการตอบสนองจากสิ่งที่หะรอมดังกล่าวเท่านั้น ถ้ามันมิได้อยู่ในกรณีของความจำเป็น มันจะยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม ถ้าเราไม่แน่ใจว่ามันมีความจำเป็นหรือไม่ ฉะนั้นมันจะยังเป็นสิ่งต้องห้ามอยู่ดี นั่นเป็นเพราะการทำสิ่งที่หะรอมคือความผิดอย่างแน่นอนและการตอบสนองความจำเป็นในสิ่งที่มีความเคลือบแคลงสงสัย ดังนั้นเราจะต้องไม่ทำการฝ่าฝืน ด้วยการทำในสิ่งที่ต้องห้ามอย่างชัดเจนสำหรับบางสิ่งที่มีความเคลือบแคลงสงสัย
.
ดังนั้นกฎเกณฑ์มีความแตกต่างกันเกี่ยวกับคนที่หิวโหยที่ไม่สามารถพบเจอสิ่งใดอีกแล้วนอกจากสัตว์ที่ตาย ในกรณีนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า “จงกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วเถิด” ถ้าเขากล่าวว่านี่คือการทำในสิ่งที่หะรอม เรากล่าวว่า มันกลายเป็นที่อนุมัติเนื่องจากความจำเป็น เพราะท่านไม่มีอะไรกินนอกเหนือจากสิ่งนี้และเนื่องจากท่านมีความจำเป็นที่จะรับประทานมัน

มีคนกล่าวกับชายคนหนึ่งว่า หากท่านดื่มแอลกฮอล์ท่านจะหายป่วย ในกรณีนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า มันไม่เป็นที่อนุญาตให้ท่านดื่มแอลกอฮอล์แม้ว่าจะมีคนบอกท่านว่ามันจะช่วยรักษาความป่วยไข้ของท่าน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ประการแรก เนื่องจากว่าไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะหายด้วยแอลกอฮอล์ เขาอาจดื่มมันแต่มันก็ไม่ได้ทำให้หายจากการป่วยไข้ เราเห็นคนที่ป่วยจำนวนมากใช้ยาดี ๆ โดยที่พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากยานั้นแต่อย่างใด

ประโยชน์ประการที่สอง คนที่ป่วยไข้อาจฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยโดยที่ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ ด้วยการไว้วางใจในอัลลอฮฺและการขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺผ่านการดุอาอ์ (วิงวอน) ต่อพระองค์เป็นต้น นี่คือมุมมองของเหตุผล

จากมุมมองของหลักฐาน มีรายงานในหะดีษจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “อัลลอฮฺไม่ทรงให้การรักษาแก่พวกท่านในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามแก่พวกท่าน” เหตุผลเบื้องหลังหะดีษนี้มีความชัดเจน เนื่องจากอัลลอฮ์ทรงห้ามมันอันเนื่องจากมันเป็นอันตรายกับเรา ดังนั้นสิ่งต้องห้ามจะสามารถรักษาและเยียวยาได้อย่างไร?

ดังนั้น มันเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ที่จะใช้สิ่งหะรอมในการรักษา ดังที่นักวิชาการได้กล่าวไว้ และมันไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่คือกรณีที่มีความจำเป็นตามที่มีบางคนคิด

ถ้าบางคนกล่าวว่ามีคนกำลังสำลักและไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากไวน์แก้วหนึ่ง ดังนั้น อนุญาตให้เขาดื่มไวน์แก้วนี้เพื่อที่ทำให้การอาการสำลักของเขาหยุดได้หรือไม่?

คำตอบคือ ใช่ เนื่องจากเงื่อนไขสองประการนั้นตอบสนองในกรณีนี้ เขาจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้และเรามั่นใจว่าความจำเป็นจะตอบสนองมัน ดังนั้น เรากล่าวว่า จงดื่มไวน์เถิด แต่เมื่ออาการสำลักหยุด เขาจะต้องหยุดดื่มทันที

ถ้าบางคนกล่าวว่ามีคนหนึ่งพบเจอเนื้อที่ถูกเชือดในวิธีการที่ฮาลาลและพบเจอเนื้อที่มาจากสัตว์ที่ตายตามธรรมชาติ เขาสามารถทานเนื้อสัตว์ที่ตายเองเนื่องจากเขาถูกบังคับให้กระทำโดยความจำเป็นได้หรือไม่?

คำตอบคือว่าเขาไม่สามารถกระทำได้ เนื่องความจำเป็นได้รับการตอบสนองจากสิ่งฮาลาล ดังนั้น มันไม่เป็นที่อนุญาตเนื่องจากเงื่อนไขประการแรกนั่นไม่ถูกตอบสนองบนความจำเป็น

ถ้ามีคนกล่าวว่า ฉันกระหายน้ำและฉันไม่มีอะไรเลยนอกจากไวน์หนึ่งแก้ว ฉันสามารถดื่มมันได้หรือไม่?

คำตอบชัดเจนว่าไม่อย่างแน่นอน ดังที่ผู้รู้กล่าวว่า เพราะกรณีนี้ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้น มันจะยิ่งทำให้เขามีความกระหายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่มีประโยชน์ในการฝ่าฝืนและกระทำสิ่งที่หะรอม เนื่องจากความจำเป็นหรือความหิวไม่ได้ถูกจำกัดออกไป และไม่ได้ตอบสนองในเงื่อนไขประการที่สอง

ถ้ามีคนกล่าวว่า ถ้าคนป่วยไม่มีทางเลือกนอกจากจะดื่มเลือดเพื่อการรักษาเยียวยา มันอนุญาตให้เขากระทำเช่นนั้นหรือไม่? คำตอบคือไม่อนุญาตให้เขากระทำเช่นนั้นเนื่องจากไม่ได้ตอบสนองในเงื่อนไขประการที่สอง

…………………………………………………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
จากหนังสือ ชัรหฺ มันซูมะฮฺ อุศูล อัล-ฟิกฮฺ วะ เกาะวาอิดิฮี หน้า 59-61

“หลักการพื้นฐานของการพิจารณาเครื่องสำอางฮาลาล”

ปัจจุบันสินค้าฮาลาลไม่ได้มีเพียงแค่อาหารเท่านั้น แต่ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมกันมากนั่นก็คือ เครื่องสำอางฮาลาล ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องแต่งหน้า ครีมทาผิว น้ำหอม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ธุรกิจเครื่องสำอางฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ามหาศาล กระแสความนิยมเครื่องสำอางฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เรามาเรียนรู้กันว่า หลักการพื้นฐานในการกำหนดเครื่องสำอางฮาลาลต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้

1. ฮาลาล
ฮาลาล คือหลักพื้นฐานสุดของการเป็นเครื่องสำอางฮาลาล ฮาลาลเป็นคำภาษาอาหรับที่หมายถึงอนุญาตหรืออนุมัติ สามารถตีความไปจนถึงการกระทำหรือสิ่งของที่อนุญาตโดยกฎหมายอิสลาม ซึ่งตรงข้ามกับคำว่าหะรอมที่หมายถึง ต้องห้าม เป็นตัวบ่งบอกการกระทำหรือสารหรือวัตถุดิบที่ไม่เป็นที่อนุมัติและไม่เป็นที่อนุญาตตามกฎหมายอิสลาม ฮาลาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่จะยอมรับสิ่งหนึ่งสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ฮาลาลได้นั้น จะต้องทำให้มั่นใจว่า การกระทำหรือสิ่งของที่นำมาใช้ในการผลิตต้องเป็นสิ่งที่ฮาลาลด้วยเช่นกัน

2. นญิสและมุตานญิส
นญิสเป็นสิ่งสำคัญรองลงมาของเครื่องสำอางฮาลาล นญิสเป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง สิ่งสกปรกในทางหลักการอิสลาม สารที่เป็นสิ่งสกปรกมุสลิมไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคหรือบริโภคได้ ซึ่งมีสารจำนวนมากที่เป็นนญิส แต่กระนั้นสารทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้มีระดับความสกปรกอยู่ในระดับเดียวกันและด้วยเหตุนี้ นญิสจึงแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ

• นญิสชนิดเบา ได้แก่ ปัสสาวะของเด็กผู้ชายซึ่ง อายุไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ได้กินหรือดื่ม สิ่งอื่นใดที่ทําให้อิ่ม นอกจากน้ำนม

• นญิสชนิดปานกลาง ได้แก่สิ่งที่ไม่อยู่ภายใต้นญิสชนิดเบา หรือนญิสชนิดหนักเช่น โลหิต น้ำหนอง น้ำเหลือง อาเจียน อุจจาระ ปัสสาวะ ซากสัตว์ที่ไม่ได้เชือด (ยกเว้นปลา และตั๊กแตน) แต่ต้องไม่ใช่ซากสัตว์ของนญิสชนิดหนัก และน้ำนมของสัตว์ที่ห้ามรับประทาน รวมถึงสิ่งที่ทําให้มึนเมาก็อยู่ในนญิสระดับปานกลางอีกด้วย

• นญิสชนิดหนัก ได้แก่สุกร สุนัข หรือสัตว์ที่เกิดมาด้วยการผสมพันธุ์กับสุนัขหรือสุกร และทุกสิ่งอัน เนื่องมาจากสัตว์ดังกล่าวนี้

มุตะนญิส คือ สิ่งที่ฮาลาลที่สัมผัสโดยตรงหรือปนเปื้อนกับสิ่งที่เป็นนญิส ด้วยเหตุนี้มุตะนญิส จึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับนญิส

ในการชำระล้างมุตานญิสสามารถชำระได้ในบางกรณีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกๆวิธีจะสามารถนำมาใช้ในการล้างนญิสทุกสิ่งที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางฮาลาลได้ วิธีล้างชำระล้างนญิสประกอบด้วย

• วิธีล้างนญิสชนิดเบา ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วใช้น้ำพรมบนรอยที่เปื้อนนญิสนั้นให้ทั่ว โดยไม่จําเป็นต้องให้น้ำไหลผ่านก็ใช้ได้

• วิธีล้างนญิสชนิดปานกลาง ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่านอย่าง น้อย 1 ครั้งเพื่อให้สีกลิ่น รส หมดไป และในทางที่ดีให้ล้างเพิ่มเป็น 3 ครั้ง

• วิธีล้างนญิสชนิดหนัก ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน 7 ครั้ง แต่ 1 ใน 7 ครั้งนั้น ต้องเป็นน ดินที่สะอาดตามศาสนบัญญัติอิสลามและมีสภาพขุนแขวนลอย หรือน้ำดินสอพอง และแนะนําให้ใช้น้ําดินล้างในครั้งแรก

3. ความปลอดภัย
ความปลอดภัยทางด้านสุขภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด ความปลอดภัยในที่นี้ไม่เพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์สุดท้ายเท่านั้นแต่ยังรวมถึงวัตถุดิบตั้งต้น ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ฉลาก วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเป็นต้น ลูกจ้างในการผลิตเครื่องสำอางฮาลาลจะต้องมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงของโรคและการติดเชื้อก่อโรคต่างๆ และสิ่งที่สำคัญสุดคือ การทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้รับการผลิตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต (GMP)

4. คุณภาพ
คุณภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เครื่องสำอางฮาลาลชิ้นหนึ่งจะสามารถพิจารณาว่าฮาลาล ก็ต่อเมื่อเครื่องสำอางดังกล่าวผลิตได้คุณภาพตรงตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดทางด้านคุณภาพของเครื่องสำอางประเภทนั้นๆ

…………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
…………………………….
ข้อมูลจาก
www.puntofocal.gob.ar
www.nationtv.tv
มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ : อาหารฮาลาล ( มกอช. 8400 – 2550)