“การใช้เครื่องสำอางทีได้จากผักและผลไม้ “

:: [คำถาม] ::
ดิฉันอยากจะทราบกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการนำผลไม้ ข้าวโอ๊ต แป้ง เมล็ดพืช ผัก เครื่องเทศอาหารและสมุนไพรมาใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผม (Beauty & Treatment product)ว่าหะลาลหรือไม่ และท่านพอจะแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าที่หะลาลและหะรอมที่จะนำมาใช้บำรุงรักษาผิวและเส้นผมได้หรือไม่ ขอบคุณคะ

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

ประการแรก ไม่เป็นความผิดแต่ประการใดในการนำอาหารเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากเพื่อกินเพื่อดื่ม เช่นการนำไปใช้เพือดูแลรักษาร่างกาย เพราะโดยหลักการพื้นฐานแล้วอนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆได้เว้นแต่จะมีหลักฐานว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่อัลลอฮตรัสไว้มีความหมายว่า

“พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้สำหรับพวกเจ้า” (อัลบะเกาะเราะฮ์ 2:29)

ประการที่สอง ถ้าอาหารเหล่านี้ผ่านกระบวนการบางอย่างเพื่อให้กลายเป็นสารอื่นเช่นที่ปรากฏในเครื่องสำอาง จึงไม่มีความผิดอะไรในการใช้และไม่ถือว่าเป็นการนำอาหารไปบริโภค เพราะสารตัวใหม่นี้จะไม่เรียกว่าเป็นอาหารอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่นักนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่า “อิสติหาละฮ์ (การเปลี่ยนสภาพ)” พวกเขายังกล่าวด้วยว่าสารที่สกัดจากสิ่งที่ไม่สะอาดและสิ่งอื่นๆนั้นสามารถนำมาใช้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าไม่หลงเหลือร่องรอยเดิมไม่ว่าจะเป็น รสชาต สีหรือกลิ่น

ชัยค์ดร. วะฮ์บะฮ์ อัซซุฮัยลี (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องท่าน) กล่าวว่า สบู่ที่ผลิตมาจากไขมันหมู (rendered fat of pigs) หรือสัตว์อื่นที่ไม่ได้เชือดอย่างถูกต้อง (ตามหลักการอิสลาม) จะกลายเป็นสิ่งหะลาลหากมันผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพ (อัลอิสติหาละฮ์) และอนุญาตให้นำไปใช้ได้ และไม่อนุญาตให้ใช้โลชั่น ครีมหรือเครื่องสำอางอื่นๆที่มีไขมันหมู จนกว่าไขมันนั้นจะเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมของมันอย่างสมบูรณ์ (อิสติหาละฮ์) หากไม่แล้วถือว่ามันยังเป็นนาญิส (สิ่งสกปรก) (อัลฟิกฮ์ อัลอิสลามีย์ วะอะดิลละตุฮู 7/211)

มีผู้ถามชัยค์บินบาซ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) ว่า การใช้เฮนนาผสมกับไข่แดงเพื่อไปใช้ปรับสภาพผม (คอนดิชั่นเนอร์) เป็นสิ่งที่อนุมัติหรือไม่

ท่านตอบว่า “ไม่มีความผิดแต่อย่างใดในเรื่องนี้หากมันเป็นประโยชน์ ไม่เป็นความผิดที่จะใช้เฮนนาผสมกับไข่แดงสารหะลาลอื่น ๆ หากว่ามันดีต่อสุขภาพเส้นผมเช่นช่วยให้มันแข็งแรง นุ่มและเพื่อประโยชน์อื่นๆ หรือช่วยรักษาเส้นไม่ให้ร่วงหล่นได้ง่ายเป็นต้น” (ฟะตาวา นูร อะลา อัลดัรบ์ www.binbaz.org.sa/mat/18554)

ยังมีผู้ถามท่านด้วยว่า มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการใช้ไข่ น้ำมันมะกอกและน้ำผึ้งพอกเส้นผม แล้วค่อยล้างออกเมื่ออาบน้ำเพื่อให้เส้นผมแข็งแรง ท่านมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการอาบน้ำละหมาดที่เส้นผมอยู่ในสภาพดังกล่าว

ท่านตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจะไม่ทำเช่นนั้นหากว่ามันมีประโยชน์บางประการ ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดที่จะผสมไข่ นม น้ำผึ้งและอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กันเพื่อพอกผม และก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียใดๆเมื่อมีการล้างออกในห้องอาบน้ำ เพราะมันมีประโยชน์ในการทำเช่นนั้น แต่หากล้างในที่สะอาดกว่าย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า (อินชาอัลลอฮฺ) แต่เท่าที่เราสามารถจะบอกได้หากล้างออกในห้องอาบน้ำ มันก็ไม่ได้เป็นอันตรายใดๆเพราะมันไม่นับว่าเป็นอาหาร และมันไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกแล้ว” (ฟะตาวา นูร อะลา อัลดัรบ์ www.binbaz.org.sa/mat/18601)

มีผู้ถามชัยค์อิบนุอุษัยมีน (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน) ว่า ผู้หญิงบางคนได้นำอาหารบางอย่างเช่นไข่ โยเกิร์ตและน้ำผึ้งมาพอกหน้าและเส้นผม ในฐานะที่เป็นเครื่องสำอางหรือเพื่อบำรุงรักษาใบหน้าและเส้นผม กฏเกณฑ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ท่านตอบว่า กรณีนี้ไม่มีความผิดใด ๆ เพราะอัลลอฮฺทรงกล่าวไว้มีใจความว่า
“พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้สำหรับพวกเจ้า” (อัลบะเกาะเราะฮ์ 2:29)

ตราบใดที่มันยังไม่นำไปสู่การไม่ให้เกียรติต่อการสร้างของอัลลอฮฺ (อาหาร) หากไม่แล้วย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม (ทีมา ลิกออ์ อัลบาบ อัลมัฟตูฮ์ หมายเลข 191)

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : Islamqa.Info

“10 สารเคมีอาหารในรูป E-number และ INS ที่ผู้บริโภคฮาลาลควรรู้จัก”

E-number และ INS (International Numbering System) เป็นระบบที่ใช้กำหนดรหัสของวัตถุเจือปนอาหารเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย เก็บรักษาไว้ได้นาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และชะลอการเน่าเสียของอาหาร วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ยังถูกเติมเข้าไปเพื่อช่วยในกระบวนผลิต ทำหน้าที่เป็น อีมัลซิไฟเออร์ สารช่วยเพิ่มปริมาตรให้ผลิตภัณฑ์ เป็นสารกันบูด และปรับปรุงคุณภาพอาหารในแง่ของสี รสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการของอาหารอีกด้วย

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2527) และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 119 (พ.ศ. 2532) ให้นิยามวัตถุเจือปนอาหารไว้ว่า “วัตถุที่ตามปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ก็ตามแต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อ ประโยชน์ในทางเทคโนโลยีในการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่งซึ่งมีผลต่อคุณภาพหรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร และให้หมายความรวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร แต่ใช้รวมอยู่กับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นด้วย”

ผู้บริโภคมุสลิมควรรู้จักบรรดา E-number ที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ E-number หรือ INS ที่มีตัวเลขดังต่อไปนี้หากพบเห็นบนฉลากอาหาร ควรหลีกเลี่ยงหรือหาสารทดแทนหรือหาชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยดังตัวอย่างต่อไปนี้

E120 – สีแดงจากแมลงโคชิเนียล นิยมใช้สร้างสีแดงในอาหารหลายชนิด สกัดมาจากแมลงโคชิเนียลได้จากประเทศแถบอเมริกาใต้ สีประเภทนี้องค์กรศาสนาอิสลามบางประเทศเช่น อินโดนีเซีย ให้การรับรองฮาลาล บางประเทศไม่ให้การรับรอง เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยกว่า

E153 – สีดำจากคาร์บอนหรือ Carbon black ส่วนใหญ่ทำจากกระดูกสัตว์ อาจพบได้กรณีที่มาจากถ่านไม้ซึ่งจะแจ้งไว้ ควรระวังกันหน่อย มีบางชนิดได้รับการรับรองฮาลาล

E422 – กลีเซอรอล ได้มาจากน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ คอยดูแลกันไว้บ้าง หากมาจากไขมันสัตว์อาจมาจากไขมันวัวที่อาจไม่เชือดตามหลักการอิสลามหรืออาจมาจากไขมันหมู ดูชนิดที่มีการรับรองฮาลาล

E441 – เจลาติน ส่วนใหญ่ได้จากสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังหมู บางชนิดได้มาจากกระดูกวัว หรือจากหนังปลา ปัจจุบันเริ่มมีเจลาตินฮาลาลเข้ามาทดแทนมากขึ้น เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาล อาจใช้ E407 หรือคาราจีแนนจากสาหร่ายทดแทน หากเห็น E407 แสดงว่ามีการใช้แทน E441

E470a, E470b – เกลือที่ใช้เป็นสารป้องกันการรวมตัวเป็นก้อน anti caking agent มักได้มาจากไขมันสัตว์ แต่อาจมาจากไขมันพืชก็ได้เช่นกัน ตรวจดูที่การรับรองฮาลาล

E471 – โมโนหรือไดกลีเซอไรด์ เตรียมมาจากไขมันซึ่งอาจเป็นไขมันสัตว์ เช่น วัว หมู คอยตรวจสอบด้วย พักหลังมีการใช้ไขมันพืชประเภทปาล์มมากขึ้น

E472a-f – เกลือที่ได้มาจาก E471 อาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืชก็ได้ ควรตรวจสอบจากการรับรองฮาลาล

E473-E479 – เกลือเตรียมได้จากกรดไขมันซึ่งอาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืช ควรตรวจสอบการรับรองฮาลาล

E542 – เกลือฟอสเฟต มักได้จากกระดูกสัตว์

E635 – ไดโซเดียม 5 ไรโบนิวคลิโอไทด์ สารเพิ่มรสชาติมักผลิตจากสัตว์

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ H numbers เพื่อทดแทน E numbers อยากรู้ว่าสารตัวไหนใช้ได้หรือไม่ได้ให้ดูจาก แอปพลิเคชัน H numbers หรือเว็ปไซต์ https://h4e.halalthai.com/
……………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี

ที่มา :
https://www.facebook.com/…/a.14832560653…/1690781201229850/…
https://www.facebook.com/…/a.20208291647…/1019523968067614/…
http://www.halalinfo.ifrpd.ku.ac.th/…/144-halal-news-intere…

“การให้อาหารสัตว์เลี้ยงด้วยเนื้อที่หะรอมเป็นที่อนุญาตหรือไม่ ?”

เป็นที่อนุญาตที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านด้วยเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้อง พวกมันยังอาจจะได้รับอาหารที่ถือว่าไม่บริสุทธิ์ในหลักการอิสลาม โดยที่อาหารนั้นต้องไม่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงดังกล่าว

ในหนังสือ บะดาอิอ์ อัศเศาะนาอิอ์ ได้ระบุว่า “อิหม่ามอบู ฮะนีฟะฮฺ ถือความเห็นว่ามันเป็นที่อนุญาตที่จะเลี้ยงสุนัข ด้วยขนมปังที่ทำจากแป้งที่ผสมกับน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ นี่เป็นเพราะสิ่งใดก็ตามที่แปรสภาพเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์นั่นไม่ชอบด้วยหลักการที่จะบริโภคสำหรับมนุษย์ แต่มันอาจจะยังคงนำไปใช้ประโยชน์ได้”

นี่คือความเห็นที่เกิดขึ้นโดยบรรดานักวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เรื่องนี้ได้มีการรายงานโดย อิบนุ อุมัรฺ “ในขณะที่ท่านได้เดินทางกับท่านนบี (ขอความสันติภาพและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) ผู้คนได้หยุดพักในดินแดนของชาวษะมูดในอดีต (อัล-หิจร์ อยู่ระหว่างปาเลสไตน์ กับ ซาอุดิ อารเบียทางทิศตะวันตก หรือในอาณาเขตประเทศจอร์แดนปัจจุบัน) พวกเขาเอาน้ำออกจากบ่อและทำขนมปังกับน้ำนี้ แต่ท่านท่านนบี (ขอความสันติภาพและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) สั่งให้พวกเขาเทน้ำทิ้งและให้ขนมปังเป็นอาหารแก่อูฐของพวกเขา” (อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

นักวิชาการได้กล่าวถึงการรายงานดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานว่าได้รับอนุญาตที่จะให้อาหารให้แก่สัตว์ได้ดื่มกินในสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตตามหลักการอิสลามสำหรับการบริโภคของมนุษย์

…………………………………………………….
โดย ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอซิม
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การให้อาหารแก่สัตว์ : ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม”

โดย ดร.มุฮัมมัด มุนีร เชาดรี, ดร.ชัยค์ญะอฟัร เอ็มอัลกุเดอรี, ดร.อะหมัด ฮุซเซน ศ็อกร์ 
………………………………………………………..

มีความสับสนและคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ เราลองมาพิจารณาในบางประเด็นและชี้แจงคำถามบางส่วน 

มีฟาร์มจำนวนมากที่มีการเติมอาหารเสริมโปรตีน (protein supplement) ในอาหารสัตว์ การปฏิบัติเหล่านั้นมิได้จำกัดเพียงแค่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงแบบเปิด แต่ยังรวมไปถึงฟาร์มที่เลี้ยงแบบปิด อาหารเสริมโปรตีนอาจใช้โดยเจ้าของฟาร์มที่อ้างว่าเลี้ยงโดยการปล่อยสัตว์ปีกและปศุสัตว์ให้อาหารอย่างอิสระ หรือการเลี้ยงนอกกรงนั่นเอง โปรตีนเสริมเหล่านี้ผลิตมาจากเศษเนื้อที่เหลือจากโรงฆ่าสัตว์และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆรวมอยู่ด้วย นักวิชาการและผู้บริโภคส่วนมากรู้สึกว่าการให้อาหารด้วยเศษเนื้อดังกล่าวแก่สัตว์ที่ฮาลาลไม่น่าจะเป็นที่อนุญาต บางส่วนเห็นว่าเทียบเท่ากับอัลญะลาละฮฺ (ซากสัตว์)

อัลญะลาละฮฺได้รับการนิยามว่าหมายถึงสัตว์ที่มักจะกินของเสียเป็นหลัก ซึ่งไม่มีความเห็นแตกต่างในความหมายของคำนี้ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ห้ามรับประทานเนื้อและนมของสัตว์ญะลาละฮฺ ท่านยังห้ามแม้แต่การขี่มัน นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นแตกต่างกันต่อน้ำหนักของการห้าม ทรรศนะของอิมามชาฟิอีย์ถือว่าห้ามโดยเด็ดขาดที่จะรับประทานเนื้อของสัตว์ชนิดนี้ อย่างไรก็ตามทรรศนะของอิมามอบู หะนีฟะฮฺ, อิมามมาลิกและอิมามอะหมัด อิบนุฮันบัลถือว่าการห้ามนี้มิได้ถึงขั้นเด็ดขาดโดยถือเป็นมักรูฮฺ (ไม่ควรรับประทานแต่ไม่ถึงขั้นต้องห้าม)

สำหรับผู้ที่ถือว่าอาหารเสริมโปรตีนเหล่านี้เป็นญะลาละฮ์เชื่อว่าสัตว์ใดก็ตามที่กินอาหารเสริมนี้ถือว่าสัตว์ตัวนั้นเป็นญะลาละฮฺ เนื่องจากอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ในตะวันตกมักจะมีสารกสัดจากสัตว์ พวกเขาสรุปว่ามุสลิมไม่สามารถบริโภคเนื้อที่มาจากอเมริกาเหนือ 

ในความเป็นจริงสัตว์จำพวกญะลาละฮฺเป็นสัตว์ที่มักจะอยู่ใกล้ ๆ กับกองขยะหรือบ่อน้ำทิ้ง อาหารส่วนใหญ่ของพวกมันคือ “ญุลละฮ์” หมายถึงอุจจาระ ของเสียต่าง ๆ ตลอดจนซากสัตว์ตายหรืออื่นๆที่คล้ายกัน พวกสัตว์เหล่านี้มักจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เนื้อและนมตลอดจนกลิ่นประจำตัวที่แรง อย่างไรก็ตามหากสัตว์ญะลาละฮ์ได้รับการกักและให้อาหารที่สะอาด, เป็นอาหารทั่วไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นเนื้อของมันสามารถนำมารับประทานได้ ช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 วันจนไปถึง 40 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์ตัวนั้น 

สิ่งที่ควรทราบคือสัตว์ทุกชนิดจะกินสิ่งสกปรกหรือชองเสียบางอย่าง แม้ว่ามันจะกินหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าหรือทุ่งเลี้ยงสัตว์เป็นหลักก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองนักนิติศาสตร์จึงได้เน้นว่า ญะลาละฮฺเป็นสัตว์ที่กินของเสียเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหากพวกมันกินอาหารเหล่านั้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวหรือกินเพียงเล็กน้อย เนื้อของมันจะไม่ถือว่าหะรอม จากหลักการนี้จะเห็นว่าการสรุปว่าเนื้อทั้งหมดที่มาจากอเมริกาเหนือเป็นญะลาละฮฺนั้นเป็นการสรุปที่เลยขอบเขตมากไป เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วอาหารของพวกมันเป็นธัญพืช หญ้าแห้งหรือเมล็ดพืชต่างๆ 

เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดเปอร์เซ็นต์วัตถุดิบผลพลอยได้ (by-products) จากสัตว์ที่จะใช้ในอาหารสัตว์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่นชนิดของสัตว์ที่จะให้อาหาร จุดประสงค์ของการให้อาหาร ราคาของวัตถุดิบผลพลอยได้ คุณภาพของโปรตีนและลักษณะการเลี้ยงว่าเลี้ยงในคอกหรือที่ขุนอาหารสัตว์หรือไม่ นอกจากนั้นแล้วประเทศกำลังพัฒนาจะใช้ผลพลอยได้จากสัตว์น้อยมากในการให้อาหารและประเทศยุโรปบางประเทศได้ห้ามนำเข้าด้วยเหตุผลว่ามีการกระทำทารุณต่อสัตว์ เพื่อป้องกันการเกิดและระบาดของโรควัวบ้าในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามใช้โปรตีนส่วนใหญ่ที่มาจากสัตว์ในการให้อาหารแก่สัตว์เคี้ยวเอื้อง แต่อย่างไรก็ตามกฏหมายนี้มิได้นำไปใช้กับสัตว์ปีก 

เมื่อวัตถุดิบผลพลอยได้จากสัตว์ถูกนำไปใช้ มันจะผ่านกระบวนการจัดเตรียมที่ใช้เวลานาน ซึ่งรวมไปถึงการการให้ความร้อนภายใต้แรงดันสูง การบดและการสกัด สัตว์ที่เป็นอาหารมนุษย์นี้จะไม่กินสัตว์ด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาอาจให้อาหารที่เป็นชิ้นเนื้อดิบๆจากวัตถุดิบผลพลอยได้แล้วผ่านการแปรรูปเป็นอาหารเสริมแล้วนำไปเติมในอาหารสัตว์ในปริมาณที่มากนัก

โดยสรุป การใช้วัตถุดิบผลพลอยได้เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์มิได้ทำให้อาหารนั้นเป็น “ญุลละฮ์” ดังนั้นสัตว์ที่กินอาหารเหล่านี้ไม่ควรถูกมองว่าเป็น ญะลาละฮฺ ขณะที่มีความแตกต่างทางความเห็นว่าสัตว์ญะลาละฮ์หะรอมหรือไม่ ผู้บริโภคจำนวนมากไม่นิยมรับประทานสัตว์ที่อาหารของมันเป็นวัตถุดิบผลพลอยได้จากสัตว์ (เศษซาก) แม้แต่หน่วยงานด้านเกษตรกรรมของรัฐบาลบางหน่วยงานรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจเจอโรคเนื่องจากวัตถุดิบที่เติมในอาหารสัตว์ดังกล่าว จนทำให้นักวิชาการมุสลิมต้องออกมาฟัตวาในเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องยากในการที่จะรับรองเนื้อและสัตว์ปีกดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริโภคจำนวนมากจึงหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ออแกร์นิกเช่นเนื้อหรือสัตว์ปีกออแกร์นิก นี่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตราบใดที่กระบวนการจัดการมีความสอดคล้องกับแนวทางทีอิสลามได้กำหนดไว้ เมื่อผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารออแกร์นิกมากขึ้น กฏของอุปสงค์อุปทานจะเปลี่ยนทิศทางของตลาดจากเดิม สิ่งที่เราหวังไว้อย่างสูงคือการเปิดเผยกระบวนการในการผลิตอาหารเพื่อที่ผู้บริโภคแต่ละคนจะสามารถตัดสินใจเลือกผ่านข้อมูลไม่ว่าจะยอมรับหรือปฎิเสธอาหารประเภทนี้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา www.eat-halal.com

“การให้เนื้อกุรบานและอะกีเกาะฮ์แก่คนที่ไม่ใช่มุสลิม”

:: คำถาม ::
เหตุใดเนื้อกุรบานหรือเนื้อที่ทำอะกีเกาะฮ์ จึงไม่สามารถให้กับคนที่ไม่ใช่มุสลิมได้

:: คำตอบ ::
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

นักนิติศาสตร์อิสลาม (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาพวกเขา) มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการบริจาคเนื้อที่เชือดกุรบานให้คนที่ไม่ใช่มุสลิม บางส่วนถือว่าอนุญาตและเป็นทรรศนะที่เว็ปไซต์ Islamweb ยอมรับและเราถือว่าเป็นความเห็นที่มีน้ำหนักมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำนักนิติศาสตร์ชาฟิอีย์ได้ห้ามไว้ โดยเหตุผลของการห้ามบริจาคเนื้อกุรบานให้แก่คนที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น เนื่องจากมองว่าการปฏิบัติเช่นนี้ (บริจาคเนื้อที่ทำกุรบาน) เป็นสิ่งวาญิบ และการบริจาคที่เป็นวาญิบจะต้องไม่มอบให้แก่คนที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งเป็นการเทียบเคียงกับซะกาต

และมีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาพวกเขา) มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ (มักรูฮฺ) ในการบริจาคเนื้อกุรบานแก่คนที่ไม่ใช่มุสลิม

กฎเกณฑ์ของเนื้ออะกีเกาะฮฺเป็นเช่นเดียวกับกฎเกณฑ์ของการการทำกุรบาน ตามที่นักวิชาการอิสลามได้กล่าวไว้

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

#อีดอัฎฮา#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“การสร้างภูมิคุ้มกันหรือฉีดวัคซีนในเด็ก “

:: [คำถาม] ::
หลักการอิสลามมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันหรือการให้วัคซีนแก่เด็ก มีหลักฐานบางอย่างบ่งบอกว่ามันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย แต่เป็นสิ่งต้องปฏิบัติในหลายประเทศ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
มีผู้ถามชัยค์ อับดุลอาซีซ บินบาซ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) ว่า กฏเกณฑ์กล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับการบำบัดรักษาก่อนที่โรคจะปรากฏ เช่น การฉีดวัคซีน

ท่านตอบว่า : ไม่ผิดแต่ประการใดในการบำบัดรักษาด้วยวิธีการนี้หากเกรงว่าอาจเกิดโรคขึ้นมาอันเนื่องมาจากมีโรคระบาดเกิดขึ้นหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรค ไม่มีความผิดแต่ประการใดในการใช้ยานี้เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดโรค เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวไว้ “ผู้ใดรับประทานอินทผลัมอัจวะฮฺ 7 เม็ดในยามเช้า พิษต่าง ๆ และไสยศาสตร์ไม่สามารถทำอันตรายแก่เขาได้ในวันนั้น” นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการป้องปัดภัยก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ดังนั้น หากเกรงกลัวจะเกิดโรคภัยและบุคคลนั้นได้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคร้ายที่เกิดในดินแดนที่เขาอาศัยอยู่หรือที่ไหนก็ตาม จะไม่เป็นความผิดบาปแต่อย่างใดจากการทำเช่นนี้ แต่ไม่อนุญาตให้แขวนหรือใช้เครื่องรางหรือของขลังเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ป้องกันญิน หรือสายตาที่อิจฉา เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ห้ามเรื่องนี้ไว้ และอธิบายว่านี่เป็นชีริกเล็ก (การตั้งภาคีย่อยๆ ) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องหลีกห่าง (ฟะตาว่า อัลชัยค์ อิบนุบาซ 6/21)

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดกับผู้ได้รับวัคซีน ไม่ว่าอาจเป็นไข้ระยะเวลาสั้นๆหรือผลข้างเคียงอื่นๆนั้น ข้อเสียนี้ควรมองข้ามไปเสียเมื่อเทียบกับอันตรายจากโรคซึ่งร้ายแรงกว่า ซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพหรือแม้แต่อาจทำให้ต้องเสียชีวิต 

กรณีนี้คล้ายคลึงกับการขลิบปลายอวัยเพศของเด็กชาย ซึ่งมีเทียบกับความเจ็บแล้วการทำเช่นนี้มีประโยชน์กว่าในแง่ศาสนาซึ่งถือว่าเป็นการทำให้สะอาดรวมถึงการได้รับประโยชน์ในทางโลกด้วย 

หลักการทั่วไปของชะรีอะฮ์อิสลามเกี่ยวกับสองสิ่งที่มีผลเสียนั้น ก็ให้เลือกทำสิ่งที่มีผลเสียน้อยกว่า กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (อัชบาฮ์ วะอัลนะซาอิรฺ โดย อัลสุบกี 1/45)

แต่หากมีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ยืนยันว่าวัคซีนบางชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอันตรายของมันมีมากกว่าประสิทธิผลในการป้องกันโรค ดังนั้นไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนดังกล่าวเพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวไว้ว่า “อย่าให้เป็นภัยแก่ตนเอง และอย่าให้เป็นภัยระหว่างกัน”

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

“การรับประทานอาหารที่ถูกปรุงอย่างไม่ถูกต้องหรืออาหารที่มีคราบเลือดติดอยู่”

:: คำถาม ::
บางครั้งอาหารที่ฉันรับประทานข้างนอกนั้นดูเหมือนว่ามันจะถูกปรุงอย่างไม่ถูกต้องและมีรอยคราบเลือดในเนื้อสัตว์ มันเคยเกิดขึ้นกับฉันซึ่งในครั้งนี้พบว่า มีเลือดที่ยังสด ๆ อาหารแบบนี้จะหะรอมหรือไม่แม้ว่าเนื้อไก่จะหะลาลก็ตาม ?

:: คำตอบ ::
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีสิ่งใดที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์

หากว่าสัตว์ที่ถูกเชือดตามหลักการอิสลาม ฉะนั้นเลือดที่ยังคงติดค้างอยู่ในเส้นเลือดดำ เนื้อ หรือในกระดูกนั้นถือว่าสะอาด อิบนุ ญะรีร เราะฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า ท่านหญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา กล่าวว่า 

“เราเคยทำอาหารในช่วงสมัยของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และฟองเลือดขึ้นมาบนหม้อ และเราก็รับประทานโดยที่ไม่มีการคัดค้านแต่อย่างใด” 
อิบนุ อบู ฮาติม เราะฮิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “เลือดที่ไหลออกมานั้นเป็นที่ต้องห้าม แต่ถ้าหากว่ามันติดอยู่กับเนื้อก็ไม่เป็นอันตรายใด ๆ”

อิหม่าม อัน นะวาวียฺ เราะฮิมาฮุลลอฮฺ กล่าวถึงเลือดที่ยังติดอยู่ในเนื้อและกระดูกว่า “แท้จริงอุลามาอฺจำนวนน้อยจากมัซฮับต่าง ๆ ของเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้” แต่อย่างไรก็ตามบรรดาอุลามาอฺในอดีตจำนวนมาก ขออัลลอฮฺทรงเมตตาให้กับพวกเขาด้วยเถิด รายงานว่า ไม่มีอันตรายใด ๆ อันเนื่องจากว่ามันมีความยุ่งยากที่จะเอาเลือดแยกออกจากเนื้อและกระดูก อันที่จริง อิหม่าม อะหฺมัด และนักปราชญ์ในมัซฮับ(สำนักคิด) ของเขา ขออัลลอฮฺทรงเมตตาให้กับพวกเขาด้วยเถิด อธิบายว่า เลือดที่ติดค้างอยู่กับเนื้อจะไม่เป็นอันตรายถึงแม้ว่ามันทั้งหมดจะถูกปกคลุมไปด้วยเลือดก็ตามเพราะมันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง ทรรศนะดังกล่าวนี้ถูกรายงานจากท่านหญิง อาอิชะฮฺ อิกริมะฮฺ อัษ-เษารียฺ อิบนุ ยุนัยนะฮฺ อบู ยูสุฟ อะหฺมัด อิสหากและคนอื่น ๆ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุม

สรุปว่า เลือดที่ยังคงติดค้างอยู่กับเนื้อหลังจากการเชือดสัตว์นั้นจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ ตามหลักการอิสลาม อัลลอฮฺเท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

……………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
อ้างอิงจาก Islamweb.net

“การรับประทานยาที่ไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้างจะทำได้หรือไม่”

:: [คำถาม] ::
ยาในอเมริกาบางตัวมี แมกนีเซียม สเตียเรต (magnesium stearate) ผสมอยู่ ซึ่งสารตัวนี้สามารถดึงมาจากสัตว์หรือพืชก็ได้ เว็ปไซต์ของมุสลิมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหะลาลและหะรอมกล่าวว่า มันเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) หากแหล่งที่มาของมันมาจากสัตว์ หากข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายไปสอบถามบริษัทผลิตยาเกี่ยวกับสถานะของมัน (ว่ามาจากสัตว์หรือพืช) พวกเขาไม่ค่อยจะยอมตอบสักเท่าไหร่
คำถามคือ เราสามารถใช้ยาที่มาจากอเมริกาหรือประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม โดยที่เราไม่รู้แหล่งที่มาของสัตว์ว่าเป็นสัตว์อะไรและเชือดถูกต้องหรือไม่ (เป็นเรื่องยากที่จะได้รับข้อเกี่ยวกับที่มาของส่วนผสมในยา)

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าของสรรพสิ่ง ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดคู่ควรแก่การเคารพภักดีเว้นแต่อัลลอฮฺ และมุฮัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

อนุญาตให้มุสลิมใช้ยาที่แพทย์ได้กำหนดให้เขาใช้ แม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง โดยพื้นฐานแล้วทุกสิ่งล้วนหะลาล และการสืบหาส่วนผสมของตัวยาอาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก อัลลอฮฺตรัสไว้มีความหมายว่า 

{และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา} (กุรอาน 22:78)

อย่างไรก็ตามหากมุสลิมทราบว่ายาเหล่านี้มีส่วนผสมที่ต้องห้าม เช่น สัตว์ตาย หมู หรือส่วนผสมที่ไม่บริสุทธิ์ (นาญิส) ดังนั้นไม่อนุญาตให้เขาใช้ตัวยานี้

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamweb.net

“การบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรและการฝังเข็ม”

รูปแบบการรักษาแบบตะวันออกโดยใช้สมุนไพรและการฝังเข็ม (ไทชิ) หะลาล หรือไม่

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ 
อนุญาตให้รักษาด้วยวิธีการนี้ได้ เนื่องจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “จงแสวงหาการบำบัดรักษาเถิด โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ แต่อย่าแสวงหาในสิ่งที่หะรอม เพราะอัลลอฮฺไม่วางการบำบัดประชาชาติของฉันในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม” การรักษาด้วยสมุนไพรจึงอยู่ภายใต้สิ่งที่ได้รับอนุมัติให้กระทำได้

กรณีนี้มิได้ขัดแย้งกับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ (ตะวักกุล) ในรายงานจากหะดีษหนึ่ง ชายคนหนึ่งได้ถามว่า “โอ้ศาสนฑูตขอของอัลลอฮฺ ท่านได้เห็นการรักษาที่ทำการรักษาหรือไม่ และท่านเห็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่เราได้ทำการปัดเป่าไหม (รุกยะฮ์) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต่อต้านกับลิขิตของอัลลอฮฺ หรือไม่” ท่านนบี ตอบว่า “ไม่หรอก มันเป็นส่วนหนึ่งจากลิขิตของพระองค์อัลลอฮฺ”

กล่าวคืออัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้คนหนึ่งป่วยแล้วพระองค์ทรงกำหนดว่าโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาและหากได้รับการรักษาด้วยยาหรือสมุนไพรก็อาจได้รับการรักษาให้หายโดยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่เราไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ รวมทั้งการใช้เข็มและสมุนไพร

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝังเข็มแบบจีน หากได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นประโยชน์ หรือประโยชน์ของมันมีมากกว่าโทษ ดังนั้นจึงไม่มีความผิดแต่ประการใดที่จะรักษาด้วยวิธีนี้ และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา: Islamqa.Info

“การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน : ความหมาย เป้าหมายและบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง”

โดย ดร.มุซัมมิล ศิดดีกียฺ ประธานสภาฟิกฮ (นิติศาสตร์อิสลาม) แห่งอเมริกาเหนือ
………………………………….
:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม ชัยค์ขอให้ท่านกรุณาอธิบายความหมาย เป้าหมาย กฎพื้นฐานเกี่ยวกับการถือศีลอด ญะซากุมุลลอฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน)

:: คำตอบ ::
วะอะลัยกุมสลามวะเราะฮฺมะตุลลอฮฺ วะบะเราะกาตุฮฺ
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและทรงกรุณา มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบฮานะฮุวะตะอาลา) ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัดเป็น (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์

1. การถือศีลอดคืออะไร
อัลกุรอานเรียกการถือศีลอดว่า ศาวม์ คำว่าศาวม์ตามตัวอักษรหมายถึง การระงับ ในซูเราะหฺมัรยัม อัลลอฮฺทรงบอกเล่าเกี่ยวกับมัรยัมมารดาของนบีอีซา โดยนางกล่าวว่า “ฉะนั้น จงกิน จงดื่ม และจงทำจิตใจให้เบิกบานเถิด หากเธอเห็นมนุษย์คนใดก็จงกล่าวว่า ฉันได้บนการสงบนิ่งไว้ต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีฉันจะไม่พูดกับผู้ใดเลยวันนี้” (มัรยัม19:26) ความหมายคือ ฉันได้สาบานว่าจะงดเว้นจากการพูดคุยกับผู้คนในวันนี้ ในทางชะรีอะฮฺ คำว่าศาวม์ในทางชะรีอฮฺหมายถึงงดเว้นจากทุกสิ่งที่ถูกห้ามไว้ช่วงตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกโดยกระทำไปอย่างตั้งใจว่าจะถือศีลอด

2.เป้าหมายของการถือศีลอด
อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (ตักวา)” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:183) ตักวาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในแง่ของจิตวิญญาณและจริยธรรม ในคำศัพท์ของอัลกุรอาน ตักวาเป็นความรวมในด้านจิตวิญญาณและจริยศาสตร์ในอิสลาม เป็นคุณภาพที่อยู่ในชีวิตของผู้ศรัทธาที่คอยรักษาพวกเขาให้อยู่ในการตระหนักถึงการเฝ้ามองอยู่ของอัลลอฮฺตลอดเวลา

ตักวาเป็นคุณธรรม เป็นความดีและเป็นการตระหนักต่ออัลลอฮฺ ตักวาต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม การถือศีลอดสอนให้รู้จักความอดทน และด้วยความอดทนจะทำให้คนหนึ่งบรรลุถึงตำแหน่งสูงสุดของตักวา

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่าการถือศีลอดเป็นเสมือนโลห์ ซึ่งจะปกป้องคนหนึ่งจากการทำบาปและกิเลสตัณหา ตามความเห็นอิมาม อัลเฆาะซาลีย์ การถือศีลอดจะสร้างลักษณะของเศาะมาดียฺยะฮฺ (อิสระจากความต้องการ) ในตัวมนุษย์ อิมามอิบนุก็อยยิมเห็นว่าการถือศีลอดว่าเป็นวิธีการที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณมนุษย์จาก กิเลสตัณหา ซึ่งจะทำให้ความพอเพียงอยู่เหนือกิเลสตัณหา

อิมามชาห์วะลียุลลอฮฺ ดะฮฺลาวีมองว่าการถือศีลอดเป็นวิธีการที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับความน่ารังเกียจและเสริมสร้างธาตุแห่งมลาอิกะฮฺในความเป็นมนุษย์ เมาลานา เมาดูดีย์ เน้นย้ำว่าการถือศีลอดเต็มเดือนในทุกๆ ปีเป็นการฝึกฝนปัจเจกบุคคลและชุมชนมุสลิมในภาพรวมและครอบคลุม ในเรื่องของความยำเกรงและการระงับตัวเอง

3. การถือศีลอดเป็นหน้าที่ 
ในปีที่สองของการฮิจญเราะฮฺ มุสลิมได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในรอมฎอนของทุกปี อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัลบะเกาะเราะฮฺ183) อัลลอฮฺยังตรัสด้วยว่า
.
“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:185) 
.
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของการปฏิบัติในอิสลาม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง นบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า ท่านรอสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “แท้จริงอิสลามวางอยู่บนรากฐานห้าประการ หนึ่ง การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ สองดำรงการละหมาด สามการจ่ายซะกาต สี่การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน ห้าการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ” (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

ประชาชาติอิสลามถือเป็นมติเอกฉันท์ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถ (มุกัลลัฟ)

4. บัญญัติต่างๆของการถือศีลอด
ก. ใครบ้างต้องถือศีลอด 
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งบรรลุศาสนภาวะและเป็นผู้ที่สติสมบูรณ์ ตลอดจนไม่ป่วนและมิได้อยู่ในระหว่างการเดินทาง 

ส่วนคนป่วยที่เป็นการป่วยเพียงชั่วคราวและคาดว่าจะหายเป็นปกติหลังจากนั้น จะอนุญาตสำหรับเขาหรือเธอไม่ต้องถือศีลอดในวันที่ป่วย แต่ทั้งเขาและเธอจะต้องถือศีลอดชดเชยหลังรอมฎอนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป สำหรับคนป่วยที่เรื้อรังและมีแนวโน้มว่าสุขภาพจะไม่ดีขึ้น อนุญาตให้พวกเขาไม่ต้องถือศีลอด แต่จะต้องจ่าย ฟิดยะฮฺ เป็นการทดแทน โดยจ่ายมื้ออาหารสำหรับหนึ่งวันแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคนเท่าจำนวนวันที่ขาดไป โดยเขาสามารถจ่ายเป็นเงินแทนมื้ออาหารแก่คนยากจนขัดสน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนและหลังคลอดไม่อนุญาตให้ถือศีลอดและจะต้องชดใช้หลังรอมฎอน หญิงมีครรภ์และแม่ที่ให้นมลูก ถ้าหากนางเห็นว่าเป็นเรื่องลำบาก พวกนางสามารถเลื่อนการศีลอดโดยไปชดเชยเมื่อสภาพร่างกายมีความพร้อม 

การเดินทางในทางชะรีอะฮฺนั้นคือทุกการเดินทางที่พาตัวเองออกห่างจากเมืองหรือที่พักอาศัย โดยมี่ระยะทางอย่างน้อยที่สุด 48 หรือ 80 กิโลกรัม เหมือนกับการเดินทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้ (ก็อศร์) การเดินทางต้องไปด้วยเหตุผลที่ดี และถือเป็นบาป หากจะเดินทางในรอมฎอน โดยมีเจตนาที่จะเลี่ยงการถือศีลอด มุสลิมควรจะเปลี่ยนแผนการในการเดินทางในช่วงรอมฎอนเพื่อจะได้ถือศีลอดในเดือนนี้ได้ ยกเว้นว่ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เมื่อกลับจากการเดินทาง เขาจะต้องรีบชดเท่าจำนวนวันที่ขาดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข. การถือศีลอดตามแบบอย่างท่านนบี
1) รับประทานอาหารสะฮูร (อาหารก่อนรุ่งอรุณ) เพราะเป็นซุนนะฮฺ (แบบอย่างของท่านนบี) และมีรางวัลและความประเสริฐมากมายในการับประทานอาหารสะฮูรซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เข้าเวลาละหมาดศุบฮ์
2) ละศีลอดทันทีเมื่อดวงอาทิตย์ตก ในทางชะรีอะฮฺให้ดูว่าขอบของดวงอาทิตย์หายไปจากเส้นขอบฟ้าและหายลับอย่างสมบูรณ์
3) ในช่วงระหว่างของการถือศีลอดจะต้องไม่พูดจาและกระทำสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ จะต้องไม่โต้เถียง ทะเลาะวิวาท พูดจาหยาบคาย หรือกระทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งต้องห้าม เขาจะต้องจัดระเบียบวินัยในเรื่องศีลธรรมจรรยา พร้อมทั้งการฝึกฝนทางร่างกาย เขาจะต้องไม่แสดงโอ้อวดในการถือศีลอด โดยคร่ำเคร่งกับมัน หรือแสดงปากที่แห้งอาการหิวโหย หรืออารมณ์ขุ่นมัว ผู้ที่ถือศีลอดมีความพึงพอใจด้วยจิตวิญญาณและกำลังใจที่ดี
4) ในระหว่างการถือศีลอดเขาควรจะบริจาคและทำความดีต่อคนอื่นๆให้มาก เพิ่มพูนอิบาดะฮฺและการอ่านอัลกุรอาน มุสลิมทุกคนควรพยายามที่จะอ่านอัลกุรอานอย่างน้อยจบหนึ่งครั้งในช่วงรอมฎอน

ค. สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
ผู้ถือศีลอดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เสียศีลอด สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดและจำเป็นจะต้องชดใช้สำหรับวันนั้นได้แก่
1) กิน ดื่มหรือสูบโดยตั้งใจ
2) ตั้งใจทำให้อาเจียน
3) การมีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตรแม้ว่าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกเพียงเล็กน้อยก็ตาม
4) การหลั่งอสุจิโดยเจตนา เช่น ด้วยการจูบหรือกอด เป็นต้น
5) กิน ดื่ม สูบหรือมีเพศสัมพันธ์หลังดวงอาทิตย์ขึ้นเนื่องจากเข้าใจผิดว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เช่นเดียวกับการกระทำสิ่งเหล่านี้ก่อนดวงอาทิตย์ตกโดยเข้าใจไปว่าดวงอาทิตย์ตกดินแล้ว

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงการถือศีลอดเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบาปใหญ่ ผู้ที่พลาดพลั้งกระทำไปจะต้องชดเชย (เกาะฎออ์) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ ชดเชยด้วยการถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน หลังรอมฎอน หรือเลี้ยงอาหารคนจน 60 คน สำหรับแต่ละวันที่พลาดพลั้งไป สำหรับอิมามอบูฮานีฟะฮฺเห็นว่าผู้ที่ตั้งใจกินหรือดื่มจะต้องชดเชย (เกาะฎออฺ) และจ่ายกัฟฟาเราะฮฺในลักษณะเดียวกัน

ง. สิ่งที่ไม่ทำให้เสียการถือศีลอด
ในระหว่างการถือศีลอดสิ่งต่อไปนี้อนุญาตให้ปฏิบัติได้
1) การอาบน้ำ หากเผลอกลืนน้ำโดยไม่ตั้งใจจะไม่ทำให้เสียศีลอด ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าการว่ายน้ำในช่วงถือศีลอดสามารถกระทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำ เพราะอาจจะทำให้น้ำเข้าทางปากหรือจมูกลงไปในกระเพาะได้
2) การใส่น้ำหอม การใส่คอนแทคเลนส์หรือยาหยอดตา
3) ฉีดยาหรือเจาะเลือด
4) ใช้มิสวาก (แท่งไม้สิวาก) หรือแปรงฟัน (แม้จะใช้ยาสีฟันด้วยก็ตาม) สูดน้ำเข้าจมูกแต่ไม่มากเกินไป (เพื่อหลีกเลี่ยงการกลือนน้ำ)
5) กิน ดื่มหรือสูบโดยมิได้ตั้งใจ เช่น ลืมว่ากำลังถือศีลอดอยู่ แต่จะต้องหยุดทันทีเมื่อนึกขึ้นมาได้แล้วถือศีลอดต่อไป
6) หากนอนในช่วงเวลากลางวันแล้วฝันเปียก สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เสียศีลอด เช่นเดียวกันกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ในเวลากลางคืนและไม่สามาถอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ก่อนรุ่งอรุณ เขาหรือเธอสามารถเริ่มถือศีลอดได้แล้วค่อยอาบน้ำยกหะดัษ ผู้หญิงที่ประจำเดือนหยุดในเวลากลางคืนอาจจะเริ่มถือศีลอดแม้ว่าเธอจะยังไม่ยกหะดัษใหญ่ (ฆุสล) กรณีนี้การอาบน้ำ (ฆุสล์) เป็นสิ่งจำเป็นแต่การถือศีลอดยังใช้ได้แม้จะยังไม่อาบน้ำในทันที
7) การจูบระหว่างสามีภรรยาเป็นที่อนุญาต แต่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ทำอะไรเลยเถิดไปกว่านี้ในระหว่างถือศีลอด

จ.สิ่งจำเป็นที่จะทำให้การถือศีลอดใช้ได้
องค์ประกอบพื้นฐานสองประการของการถือศีลอด
1) การตั้งเจตนา (นิยยะฮฺ) เขาจำเป็นจะต้องตั้งเจตนาเพื่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจในการถือศีลอดก่อนอรุณรุ่ง เจตนาไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูด แต่จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจทั้งในหัวใจและความคิด นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าการตั้งเจตนาสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวแต่ครอบคลุมทั้งเดือนโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมจะดีกว่าหากตั้งเจตนาทุกวันเพื่อให้ได้รับรางวัลอย่างเต็มที่
2) งดเว้นทุกสิ่งที่จะทำให้เสียศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ตก ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. Muzammil H. Siddiqi

#รอมฎอน#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี