“การดมอาหารและเครื่องดื่ม”

: : คำถาม : : 
เมื่อเรายังเด็ก พ่อแม่ได้ห้ามเราหากว่าจะลองดมอาหารหรือเครื่องดื่ม พวกเขาทั้งสองกล่าวว่าการดมอาหารนั้นเป็นที่ต้องห้าม เมื่อไม่นานมานี้ฉันได้ห้ามน้องชายไม่ให้ดมอาหาร เขากล่าวกับฉันว่า “ไม่เห็นมีฟัตวา (ข้อชี้ชาด) ห้ามในเรื่องนี้ หากว่ามีช่วยยกหลักฐานมาหน่อย” ท่านจะตอบเรื่องนี้ว่าอย่างไร ?

: : คำตอบ : : 
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ในอิสลาม มันเป็นที่ต้องห้ามที่จะหายใจลงไปในภาชนะและเป่าลงในในเครื่องดื่ม มีรายงานจาก อบู เกาะตาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ว่าท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ห้ามหายใจลงไปในภาชนะ

( نَهَى أَن يُتَنَفَّسَ فِي الإِنَاءِ)

รายงานโดยบุคอรียฺ (5630) และ มุสลิม (267)

นั่นหมายความว่ามันเป็นที่ต้องห้ามที่จะเป่าอะไรก็ตามลงไปในภาชนะของอาหารหรือเครื่องดื่ม อัช เชากานียฺ กล่าวไว้ใน นัยลฺ เอาฏ็อรรฺ (8/221) ว่า “ภาชนะนั้นรวมไปถึงภาชนะอาหารและเครื่องดื่ม” อัล หาฟิซ อิบนุ ฮาญัร (เราะฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวไว้ใน ฟัตหฺ อัล บารียฺ (10/92) “มีหะดีษจำนวนมากที่ห้ามการเป่าลงไปในภาชนะ และยังได้ห้ามไม่ให้หายใจลงในไปภาชนะ เพราะว่าอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอันเนื่องจากการหายใจ เพราะมีกลิ่นปาก กลิ่นอาหาร เป็นต้น หรือเพราะเขาไม่เคยใช้มิสวาก (ไม้ถูฟัน) หรือทำความสะอาดปากของเขาเป็นเวลานาน หรือเพราะการสูดหายใจจะทำให้เกิดไอน้ำที่มาจากท้อง ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามการเป่าลงไปในภาชนะอาหารนั้นย่อมจะเลวร้ายกว่าการหายใจ”

ชัยคฺ อุษัยมีน กล่าวใน ชัรหฺ ริยาฎุศ ศอลิฮีน (2/454) “วิทยปัญญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคือ การหายใจเข้าไปในภาชนะนั้นจะทำให้คนที่จะดื่มน้ำหลังจากเขานั้นเกิดความไม่พอใจ เป็นไปได้ที่โรคบางอย่างจากกระเพาะ ปอด หรือปากอาจจะมาจากการสูดลมหายใจที่ติดอยู่กับภาชนะ หรือเขาอาจสำลักหากว่าเขาหายใจเข้าไปในภาชนะ ด้วยเหตุนี้ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงห้ามการหายใจเข้าไปในภาชนะ ยิ่งไปกว่านั้นคน ๆ หนึ่งจะต้องหายใจสามครั้ง (ไม่ดื่มรวดเดียว) โดยการวางภาชนะออกห่างจากปากของเขาทุกครั้ง”

มีรายงานจาก อบู ซะอีด อัล คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่าท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ห้ามเป่าลงไปในเครื่องดื่ม

( نَهَى عَنِ النَّفخِ فِي الشَّرَابِ )

รายงานโดย อัต ติรมีซียฺ (1887) กล่าวว่า นี่เป็นหะดีษหะซันศอฮี้ยฺ โดยถูกจัดให้เป็นหะดีษศอฮี้ยฺ โดย อิบนุ ก็อยยิม ใน อิอฺลาม อัล มุวักกิอีน (4/317)

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน (เราะฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่าไว้ใน ชัรหฺ ริยาฎุศ ศอลิฮีน (2/457) “เพราะหากว่าบุคคลหนึ่งเป่า (เข้าไปในภาชนะ) สิ่งที่เป็นอันตรายบางอย่างอาจมากับอากาศที่ปล่อยออกมา เช่น โรค เป็นต้น” แต่อุลามาอฺบางท่านได้ยกเว้นในกรณีที่จำเป็น อย่างเช่น หากว่าน้ำมันร้อนและจะต้องดื่มมันอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้อุลามาอฺบางท่านอาจจะยินยอมให้ แต่ย่อมดีกว่าที่จะไม่เป่าลงไป แม้ว่ามันจะร้อนก็ตาม หากว่าร้อนและเขามีภาชนะอื่น เขาอาจจะเทน้ำไปมาระหว่างภาชนะจนกระทั่งมันเย็นลง
เมื่อเหตุผลสำหรับการห้ามในการเป่าหรือหายใจลงไปใจภาชนะเป็นที่เข้าใจแล้ว อุลามาอฺได้ทำการเปรียบเทียบกับทุกสิ่งที่อาจนำไปสู่การปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม อัช-เชากานียฺ กล่าวใน นัยลฺ เอาฏ็อรรฺ (8/221) “คน ๆ หนึ่งจะต้องไม่ให้หายใจลงไปในภาชนะ และเขาจะต้องไม่เรอเช่นเดียวกัน”

สำหรับกฎเกณฑ์ในเรื่องของการดมอาหารหรือเครื่องดื่ม หากว่าการดมอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นได้กระทำโดยการที่ลมหายใจจากจมูกเข้าไปในอาหาร ดังนั้นมันจึงไม่เป็นที่อนุญาตในกรณีนี้ แต่ถ้าหากว่าไม่มีการหายใจเข้าไปในภาชนะ เพียงแค่ต้องการอยากรู้ว่ากลิ่นอาหารเป็นเช่นไร เขาก็สามารถที่จะทำได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่ประการใด แต่เมื่อปากได้ถูกนำไปอยู่ใกล้อาหารหรือเครื่องดื่มมากเกินไป โดยที่จะมาพร้อมกับลมหายใจที่ออกมาจากจมูก กรณีนี้นักนิติศาสตร์บางส่วนเห็นว่ามันเป็นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่งที่จะดมอาหาร (มักรูฮฺ)

ในหนังสือ ร็อดดุล มุหฺตาร ซื่งเป็นหนังสือจากมัซฮับหะนาฟียฺ (6/340) กล่าวว่า “จะต้องไม่รับประทานอาหารขณะที่มันร้อน และจะต้องไม่ดม” ในหนังสือ มุฆนียฺ อัล มุหฺตาจญฺ (4/412) ซึ่งเป็นหนังสือจากมัซฮับชาฟีอียฺ กล่าวไว้ว่า “แต่หากใครต้องการจะดมไอน้ำที่มาจากอาหารด้วยระยะที่ห่างพอควร เพราะจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น เขาจะต้องแน่ใจว่าจะไม่มีลมหายใจเข้าออกของเขาไปถึงอาหารหรือเครื่องดื่ม ดังนั้นไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ในกรณีนี้ อินชาอัลลอฮฺ”

มุสลิมจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าอิสลามสอนมารยาททุกด้านในการดำเนินชีวิต แม้กระทั่งในเรื่องอาหารและเครื่องดื่มของเขา เขาจะต้องครุ่นคิดว่าหนังสือของนักนิติศาสตร์จำนวนมากของเรา (ขออัลลอฮฺทรงเมตตากับพวกเขาด้วยเถิด) เกี่ยวข้องกับเรื่องของมารยาทและความบริสุทธิ์สะอาด อัลฮัมดุลิลลาฮฺ

อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

……………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
อ้างอิงจาก Islamqa.com

“การใช้สารกระตุ้นหรือยาโด๊ปในการแข่งขันกีฬา”

:: [คำถาม] ::
การชื้อขายตลอดจนการใช้สารกระตุ้นหรือยาโด๊ป (performance-enhancing drugs)ในการแข่งขันกีฬานั้นหลักการอิสลามกล่าวไว้อย่างไร มีบางคนบอกกับข้าพเจ้าว่ามันไม่หะรอมเพราะมันไม่ใช่ยาเสพติดตามท้องถนน ตราบใดที่มันไม่เป็นอันตรายย่อมไม่มีความผิดใด ๆ ที่จะใช้มัน ในความเป็นจริงแพทย์ได้บอกกับข้าพเจ้าว่า ไม่ผิดอะไรที่จะใช้มัน เพราะมันไม่ได้ส่งผลร้ายต่อร่างกายแต่อย่างใด ตราบใดที่ใช้ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม อิสลามมีมุมมองเรื้องนี้อย่างไรบ้าง

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

ประการแรก: อันตรายของสารกระตุ้นที่ใช้ในการแข่งขันกีฬา สารกระตุ้นเป็นสิ่งต้องห้ามในโลกกีฬา ซึ่งครอบคลุมสารทุกชนิดที่ยกระดับสมรรถนะในการแข่งขันด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรมชาติและทำให้ชนะในการแข่งขันโดยขาดความยุติธรรม คำว่าสารกระตุ้นครอบคลุมทั้งยาที่ผลิตโดยบริษัทยา หรือสารจากธรรมชาติที่เพิ่มสมรรถนะของร่างกายอย่างผิดธรรมดา และยานี้มีผลข้างเคียงเช่นกับยาหลาย ๆ ชนิด

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้แบ่งสารต้องห้ามหรือยาโด๊ปที่ใช้ในการแข่งขันกีฬา ดังนี้
1. ยากระตุ้นประสาท Stimulants affecting the nervous system
2. ยากดประสาทDepressants affecting the nervous system
3. ฮอร์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานMetabolic hormones
4. ยาเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ vasoactive drugs 
5. ยาขับปัสสาวะ Diuretics
6. ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต Growth hormone 
7. คอร์ติโซน Cortisone

จากการวิจัยทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้ยาโด๊ป ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตเช่น อารมณ์แปรปรวน โรคซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าว ความเจ็บป่วยทางจิต วิกลจริตเป็นต้น อีกทั้งยังทำให้เจ็บป่วยทางร่างกายและโรคหัวใจ โรคไต มะเร็งต่อมลูกหมาก เพิ่มโอกาสการเป็นหมันและภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล

ความเสียหายที่ส่งผลกับร่างกายได้รับการยืนยันจากการวิจัยทางการแพทย์ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าการใช้ยาโด๊ปอาจทำให้เกิดอาการ ดังต่อไปนี้
1. การเสพติด (Addiction)
2. ภาวะซึมเศร้า (Depression)
3. โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
4. โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastritis leading to stomach ulcers)
5. การเจ็บป่วยทางจิต (Various mental illnesses)
6. นอนไม่หลับและอาการประสาทหลอน (Insomnia and hallucinations)
7. ท้องร่วงและคลื่นไส้ (Diarrhea and nausea)
8. โรคความผิดปกติในการทรงตัว (Balance disorders) 
9. โรคปอดและหัวใจ (Lung and heart disease)
10. เบื่ออาหาร (Loss of appetite)
11. กล้ามเนื้อลีบ (Muscular atrophy)
12. น้ำมูกน้ำตาไหล Increased production of tears and nasal mucus
13. ผิวหนังเป็นผื่น Skin rashes
14. อัตราการหายใจที่ลดลงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ Slowed breathing rate leading to death
15. โรคไต Kidney disease
16. มะเร็งต่อมลูกหมาก Tumors in the prostate
17. การมีลักษณะทางกายภาพของเพศชายในผู้หญิงมากขึ้น Development of male physical characteristics in females
18. การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ Impotence or sterility as a result of using testosterone (male hormone)

ประการที่สอง : กฎเกณฑ์การใช้สารกระตุ้นหรือยาโด๊ป การจะค้นหากฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก นั่นคือด้วยการสังเกตผลเสียที่มีต่อร่างกายของกีฬาเอง

จากรายชื่อโรคซึ่งเกิดจากการใช้สารกระตุ้นที่นำมากล่าวข้างต้น และจากสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวถึงเกี่ยวกับขอบเขตของอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเหล่านี้ทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้สารกระตุ้น อันเนื่องมาจากผลเสียของมันอาจนำไปสู่ความตาย อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอานมีใจความว่า

“และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ” [อันนิสาอฺ 4:29] 

“จงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศและจงทำดีเถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงชอบผู้กระทำดีทั้งหลาย” [อัลบะเกะเราะฮ์ 2:195]

อีกทั้งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “อย่าทำอันตรายตนเอง และอย่าทำอันตรายระหว่างกัน” รายงานโดย อิบนุมาญะฮ์

อิสลามห้ามไม่ให้มุสลิมทำสิ่งอันตรายจนทำให้ตนเองเสียชีวิตหรือฆ่าตัวตาย และยังห้ามทำอันตรายต่อตนเองไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม

คำตอบนี้นำมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทในหัวข้อ อันนะวาซิลฟิล อัชริบะฮ์ (ประเด็นว่าด้วยการดื่ม) หน้า 229-234 โดยชัยค์ เซน อัลอะบิดีน บุตรของอิบนุอัซวีน โดยมี ชัยค์สะอด์ อิบนุตุรกีย์ อัลกัษลานเป็นที่ปรึกษา

อัลลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การใช้ยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นที่อนุญาตหรือไม่ ?”

นักนิติศาสตร์บางท่านพิจารณาว่ายาไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นดังเช่นอาหาร พวกเขาอ้างหะดีษนี้เพื่อสนับสนุนทัศนะของพวกเขา ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “อัลลอฮฺมิทรงให้สิ่งอันเป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกท่านนำมาใช้เป็นยารักษาพวกท่าน”

ในขณะเดียวกัน นักนิติศาสตร์ท่านอื่น ๆ กลับยืนยันว่ายาเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นดังเช่นอาหาร ทั้งสองทัศนะต่างปกป้องและคุ้มครองชีวิตของมนุษย์ พวกเขากล่าวว่า ท่านรอซูลลุลลอฮฺ (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) เคยอนุญาตให้ทั้ง อับดุลเราะหฺมาน อิบนิเอาฟ และ อัซซุเบร อิบนุเอาวาม สวมใส่ผ้าไหมด้วยความจำเป็น แม้ว่าผู้ชายจะไม่ได้รับอนุญาตให้สวมมัน เพราะท่านทั้งสองต่างได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการคัน

ดูเหมือนว่าทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกลมกลืนกับเจตนารมณ์อิสลาม แต่กระนั้นก็ตาม มีเงื่อนไขบางประการที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อที่จะใช้ยาที่มีส่วนผสมหะรอม เงื่อนไขดังกล่าวอาจจะจำแนกได้ ดังนี้
1. ยาที่มีส่วนผสมที่หะรอม (แอลกอฮอล์ตามที่ระบุไว้ในคำถาม) จะต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของผู้ที่ใช้มัน
2. แพทย์มุสลิมที่มีความรู้และน่าเชื่อถือเป็นผู้แนะนำยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชนิดดังกล่าว
3. ผู้ป่วยไม่ได้รับอนุญาตให้เจาะจงใช้ยาชนิดนี้ในขณะที่มียาที่ได้รับอนุมัติตามหลักการชนิดอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้

…………………………………………………….
โดย ชัยคฺ ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การใช้ยาจากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์”

อิสลามกระตุ้นมุสลิมให้หาทางเยียวยารักษาโรคภัยไข้เจ็บของพวกเขา ตามที่หะดีษของท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “โอ้ บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านต้องมีการรักษาเยียวยา แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงนำโรคลงมา เว้นแต่พระองค์จะทรงให้มีวิธีการรักษามันมาด้วย” และในขณะเดียวกันมุสลิมยังถูกสั่งใช้ให้หาทางรักษาความเจ็บไข้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักการอีกด้วย

ในกรณีของการใช้ยานั้น การผลิตยาจากแหล่งที่มาที่มิใช่สัตว์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. ผลิตมาจากวัตถุดิบที่ได้รับการอนุมัติ ตัวยาก็จะเป็นที่อนุมัติ เช่น ผลิตจากสมุนไพรที่ฮาลาล 
2. ผลิตจากวัตถุดิบที่หะรอม (ต้องห้าม) หรือนะญิส (สิ่งสกปรก) ดังนั้นตัวยาจึงหะรอมตามมติของบรรดานักนิติศาสตร์อิสลาม เพราะท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “อัลลอฮฺมิทรงกำหนดให้การรักษาเยียวยาท่านมาจากสิ่งที่หะรอม(ต้องห้าม) สำหรับท่าน” (รายงานโดย อัลบุคอรีย์)

หากตัวยาทำมาจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ มันอาจจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึง จากสามกลุ่มนี้
1. หากมันมาจากสัตว์ที่เนื้อของมันสามารถรับประทานได้และได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้อง (ตามหลักการอิสลาม) เช่นนั้นแล้วตัวยานี้เป็นที่อนุมัติให้ใช้เป็นยารักษา
2. หากมันมาจากสัตว์ที่เนื้อของมันสามารถรับประทานได้แต่ไม่ได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้อง เช่นนั้นแล้ว ตัวยานี้จะไม่เป็นที่อนุมัติให้ใช้ในการรักษาเนื่องจากว่ามันหะรอม ตามหะดีษที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
3. หากมันมาจากสัตว์ที่เนื้อของมันไม่สามารถรับประทานได้ เช่นนั้นแล้ว ตัวยานี้จะไม่เป็นที่อนุมัติให้ใช้ในการรักษาเนื่องด้วยหตุผลเดียวกันกับที่ระบุไว้แล้วข้างต้น เช่น มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของสุกร

อิบนุ กุดามะฮฺ กล่าวว่า “ไม่เป็นที่อนุมัติในการรักษาเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสิ่งหะรอม หรือสิ่งอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบอันเป็นที่ต้องห้าม เช่น น้ำนมของลาตัวเมีย หรือเนื้อของสัตว์ที่ต้องห้าม เช่นเดียวกันกับการใช้ไวน์เป็นยารักษาโรค เพราะท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) เคยกล่าวเมื่อได้ถูกถามถึงไวน์อินทผลัมที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษา ว่า ‘มันไม่ใช้ยารักษา แต่มันคือโรค’ ”และในอีกรายงานหนึ่ง ท่าน (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “เป็นที่ต้องห้ามในการรักษาโรคด้วยสิ่งชั่วร้าย” อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงสร้างให้พวกท่านหายจากโรคด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามพวกท่าน” อิบนุ ฮิบบาน รายงานว่า ท่านนบี (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺมิทรงวางการรักษาแก่ประชาชาติของฉันในสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขา”

กฏเกณฑ์นี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในกรณีของการรับประทานซากสัตว์ด้วยความจำเป็นเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตในยามที่ไร้ซึ่งทางเลือกอื่น ๆ หรือกรณีที่ใกล้เคียงกันนี้ แต่ในกรณีของการเยียวยารักษาให้หายจากโรคเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้โอกาสและความเป็นไปได้ซึ่งมีตัวยาที่หลากหลายแก่ผู้ใช้ยาในการที่จะเลือกใช้มัน

…………………………………………………….
โดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

“การใช้ประโยชน์จากหอยทาก เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่มิใช่อาหาร มุมมองอิสลามมีความเห็นอย่างไร ?”

ในสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีหลายบริษัทใช้ประโยชน์จากหอยทาก อย่างเช่นเอามาทำเป็นตัวยาใช้ภายนอก

ซึ่งสังคมมุสลิมต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

อัลลอฮ์ตะอาลาได้ตรัสว่า
هُوَ الَّذِي خَلَقَ لَكُمْ مَا فِي الْأَرْضِ جَمِيعًا
พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกไว้สำหรับพวกเจ้า (อัลบะกอเราะห์:29)

หะดีษท่านนบี (ซ.ล.) ที่ยืนยันความสะอาดที่มาจากของเหลวของสัตว์ป่า จากญาบิร บิน อับดิ้ลลาฮ์ “จากท่านนบี (ซล.) แท้จริงท่านได้ถูกถามว่า เราจะอาบน้ำละหมาดจากน้ำที่ถูกดื่มโดยลา? ท่านนบีตอบว่า ใช่ รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆด้วย” (รายงานโดย อัลบัยหะกีย์)

ความคิดเห็นของอุละมาอ์ส่วนใหญ่ระบูว่า สัตว์ทุกชนิดนั้นสะอาดยกเว้นสุนัขและสุกร อย่างเช่นความเห็นของอิหม่ามนะวะวี ในหนังสือ มัจมัวะอฺ เล่ม 1 หน้า 172 ว่า “ตามมัซฮับของเรานั้นสิ่งตกค้างจากแมวนั้นสะอาดและไม่มักโระห์ เช่นเดียวกันกับสิ่งตกค้างจากสัตว์ต่างๆ เช่น ม้า ลา สัตว์ป่า หนู งู ตุ๊กแก และสัตว์อะไรก็ตามทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้รับประทาน ดังนั้น น้ำลายและเหงื่อของสัตว์ทุกชนิดนั้นถูกพิจารณาว่า สะอาดและไม่มักโระห์ ยกเว้น สุนัขและสุกรและอะไรก็ตามที่มาจากสัตว์สองชนิดนี้เท่านั้น”

หนังสือ อัลฟิกฮ์ อัล อิสลามีย์ วะอะดิลละตุฮ์ (1/298) วะฮ์บะห์ อัซซุฮัยลีย์ ได้อธิบายว่า “ของเหลวที่มาจากสัตว์ที่สะอาดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อ น้ำลาย เสมหะ น้ำมูก และน้ำเมือก นั้นสะอาด นอกจากสิ่งที่ถูกขับถ่ายออกมาจากท้อง”

จาก อิบนุ กุดามะห์ ในหนังสือ อัลมุฆนี เล่ม1 หน้า82 ระบุว่า “แมวและสัตว์ต่างๆที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น หนู พังพอน และสัตว์ที่ใกล้เคียงนี้ ถูกพิจารณาว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน, น้ำลายของมันถือว่าสะอาด และอนุญาตให้ดื่มและใช้อาบน้ำละหมาดได้และไม่มักโระห์ นี่คือความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่, เหล่าซอฮาบะห์, ตาบิอีน จากมะดีนะห์, ชาม และ กุฟาอฺ ยกเว้น อะบี ฮะนีฟะห์, เขามีความเห็นว่ามักโระห์ในการใช้อาบน้ำละหมาดจากน้ำที่โดนแมวมาเลียดื่มกิน อย่างไรก็ตามถือว่าอนุญาต”

พวกเราตัดสินใจที่จะให้คำวินิจฉัยในเรื่อง การใช้หอยทากในจุดประสงค์อื่นนอกจากอาหาร ดังนี้:
1. หอยทากถือเป็นหนึ่งจากสัตว์ที่สะอาด
2. สถานะของหอยทากที่นำมาใช้ประโยช์อื่นๆนอกจากอาหาร อย่างเช่น ยา และเครื่องสำอางที่ใช้ภายนอก ถือว่าอนุญาต (มุบาฮ์) ตราบใดที่ยังมีประโยชน์และไม่เกิดอันตราย

……………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
………….
ที่มา: Majelis Ulama Indonesia

“การขายอาหารในช่วงกลางวันในเดือนเราะมะฎอนเป็นที่อนุญาตหรือไม่”

:: คำถาม ::
การขายอาหารในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอนเป็นที่อนุญาตหรือไม่?

:: คำตอบ ::
เราวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้เราสามารถเก็บเกี่ยวผลในเดือนอันประเสริฐนี้ ตอบรับการประกอบอิบาดะฮฺของเราและให้อภัยเราในช่วงท้ายของเดือนเราะมะฎอน

สำหรับหลักนิติธรรมของอิสลามแล้วมันเป็นที่อนุมัติที่จะขายอาหารในช่วงกลางวันในเดือนเราะมะฎอน ท่านทราบดีว่าอาหารจะต้องมีพร้อมก่อนช่วงเวลาตะวันตกดินเพราะผู้ที่กำลังถือศีลอดจำเป็นที่จะต้องตระเตรียมอาหารสำหรับละศีลอดก่อนตะวันตกดิน เช่นเดียวกันอาจมีคนที่ไม่ได้ถือศีลอด (เช่น คนป่วย ผู้หญิงที่มีประจำเดือน หรือคนที่ไม่ใช่มุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศมุสลิม) เพราะฉะนั้นอาหารจะต้องมีสำหรับคนเหล่านี้

ดร. มุนซิร กะฮฺฟฺ นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงจะตอบคำถามให้กับท่าน

แน่นอนว่า มันเป็นที่อนุญาตที่จะขายอาหารในเดือนเราะมะฎอน ผู้ที่ถือศีลอดทุกคนไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารเพื่อรับประทานช่วงละศีลอดกระนั้นหรือ? 

สิ่งทั้งหลายที่เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ถือศีลอด ซึ่งจะทำให้สูญเสียการถือศีลอดไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน ดื่ม หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรสในช่วงการถือศีลอด คนขายอาหารจะต้องไม่อนุญาตให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่ของตนเอง

สำหรับคนที่ไม่สามารถถือศีลอด (เช่น คนป่วย คนเดินทาง หรือสตรีที่มีประจำเดือน หรือเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) พวกเขาจะต้องได้รับการชี้แนะที่จะหลีกเลี่ยงในการรับประทานหรือดื่มในที่สาธารณะ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมร้านอาหารในประเทศมุสลิมได้รับการชี้แนะให้ปิดหรือไม่ก็รับประทานในพื้นที่ห่างไกลจากสายตาของผู้คน

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

“การเก็บเนื้อกุรบาน (อุฎฮิยะฮ์) เป็นเวลานานเป็นสิ่งที่อนุมัติหรือไม่”

:: คำถาม ::
อัสสะลามุอะลัยกุม การเก็บเนื้อกุรบาน (อุฎฮิยะฮ์)จนเลยช่วงอีดไปเป็นสิ่งที่อนุมัติหรือไม่ หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งคือถูกต้องหรือไม่ในทรรศนะของอิสลามการที่คนหนึ่งเก็บเนื้อกุรบานไว้เกินกว่าสามวัน

:: คำตอบ ::
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณา
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ขอความสันติและความเมตตาจงมีแด่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

น้องสาวในอิสลาม ประการแรกเรายินดีที่จะกล่าวว่าเราประทับใจยิ่งกับคำถามของท่าน ซึ่งเกิดจากใจอันบริสุทธิ์ ขออัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่โปรดช่วยเหลือพวกเราให้ยึดมั่นอยู่ในหลักการอิสลาม และได้ให้พวกเราอยู่ร่วมกับกลุ่มชนชาวสวรรค์ในวันโลกหน้า อามีน

นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอนุญาตให้เก็บเนื้อกุรบาน (อุฎฮียะฮฺ) เกินกว่าสามวัน

ในการตอบคำถามของท่าน ดร.ฮุซาม อัดดีน อิบนุมูซา อะอ์ฟานา ศาสตราจารย์ด้านอุศูลุลฟิกฮ์จากมหาวิทยาลัยอัลกุดส์ ประเทศปาเลสไตน์กล่าวไว้ดังนี้

เป็นที่รับรู้ว่าตามหะดีษเศาะฮีฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ห้ามมุสลิมมิให้เก็บเนื้ออุฎฮียะฮฺ แต่ต่อมาท่าน (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้อนุญาตให้เก็บได้ นั่นหมายความว่าการห้ามเก็บเนื้ออุฎฮียะฮฺถูกยกเลิกไป นี่เป็นความเข้าใจของนักวิชาการส่วนใหญ่

ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของหะดีษที่เกี่ยวกับประเด็นนี้
1- อับดุลลอฮฺ อิบนุอบีบักร์รายงานจาก อับดุลลอฮฺ อิบนุวากิดซึ่งเล่าว่าท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ห้ามการรับประทาน (เก็บ) เนื้อกุรบานเกินสามวัน อับดุลลอฮฺ อิบนุอบีบักร์กล่าวว่า “ฉันเอ่ยเรื่องนี้ให้แก่อัมเราะฮฺ ซึ่งนางกล่าวว่า “เขา (อับดุลลอฮฺ อิบนุวากิด) พูดความจริง ฉันเคยได้ยินอาอิฉะฮ์มารดาแห่งศรัทธาชนกล่าวว่า “ในสมัยท่านนบี (ยังมีชีวิต) ได้มีอาหรับทะลทรายที่ยากจนค่อยๆเดินมุ่งไปยังที่เชือดกุรบานในช่วงอีดอัฎฮา ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าว “จงเก็บเนื้อเป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นส่วนที่เหลือจงแจกจ่ายเพื่อเป็นเศาะดาเกาะฮฺ” เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้กล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูล มีคนจำนวนมากได้ทำถุงน้ำใส่น้ำและชำแหละเอาไขมันของมันไป” ท่านนบีจึงถามว่า “ทำไมกัน” พวกเขากล่าวว่า “ท่านห้ามกินเนื้อสัตว์กุรบานเกินสามวัน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ที่ฉันห้ามพวกท่านเพราะอาหรับทะเลทรายจำเป็นต้องได้รับบริโภคมัน แต่ตอนนี้พวกท่านจงกิน จงเก็บไว้และจงแจกจ่าย (บริจาค)” (มุสลิม)

2- สะละมะฮฺ บินอัลอักวะอ์ (ขออัลลอฮฺพึงพอใจท่าน) เล่าว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยกล่าวว่า “ใครก็ตามที่เชือดอุฎฮิยะฮฺจะต้องไม่เหลือสิ่งใดในบ้านของพวกเขาหลังจากนั้นสามวัน” ในปีต่อมาบรรดาเศาะฮาบะฮฺพากันถามว่า “โอ้ศาสนทูตของอัลลอฮฺ จะให้เราปฏิบัติเหมือนกับที่เราปฏิบัติในปีที่ผ่านมาหรือไม่” ท่านตอบว่า “ไม่ เพราะปีที่ผ่านมานั้นประชาชนประสบกับความแร้นแค้นและฉันต้องการให้พวกท่านช่วยเหลือพวกเขาด้วยเนื้อนั้น” (อัลบุคอรีย์)

3- อบูสะอีด อัลคุดรียฺยกคำพูดของท่านเราะสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยกล่าวว่า” โอ้ประชาชนแห่งมะดีนะฮฺ อย่าได้รับประทานเนื้อกุรบานเกินสามวัน” บรรดาเศาะฮาบะฮฺพากันรำพึงต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าพวกเขามีลูกๆและมีทาสรับใช้ที่ต้องให้อาหารพวกเขา ด้วยเหตุนี้ที่นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า “จงกิน และแจกจ่ายผู้อื่นและเก็บ (เนื้อกุรบาน) ไว้” (มุสลิม)

มีหะดีษอีกจำนวนมากที่รายงานในลักษณะคล้ายกัน ตามทรรศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่รวมทั้งบรรดาชาวสลัฟในยุคแรกมีความเห็นว่า ในทรรศนะของอิสลามนั้นถือว่าอนุญาตให้เก็บเนื้ออุฎฮิยะฮฺเกินสามวันได้ เนื่องจากความเห็นที่ตรงกันข้ามถูกยกเลิกไป

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง 

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

#อีดอัฎฮา#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“การกินผลไม้จากต้นไม้ที่โตมาจากหลุมฝังศพ”

:: คำถาม ::
อัสลามุอะลัยกุม หลักอิสลามว่าอย่างไรในการรับประทานผลไม้จากต้นไม้ที่ถูกปลูกหรือโตขึ้นจากตรงกลางของหลุมฝังศพแบบไม่ได้ตั้งใจ?

:: คำตอบ ::
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดคู่ควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺและท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมนั้น เป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

เราเชื่อว่าไม่มีอันตรายแต่อย่างใดในการรับประทานผลไม้จากต้นไม้ที่เติบโตขึ้นมาบนหลุมฝังศพ แม้ว่าผู้รู้บางท่านจะไม่ชอบทรรศนะนี้ก็ตาม การอนุมัติให้ใช้ประโยชน์ของผลไม้จากต้นไม้เหล่านี้มีหลักฐานสนับสนุนจากหะดีษที่แข็งแรงในศอฮีฮฺบุคอรียฺ ซึ่งชี้ว่าสถานที่ตั้งของมัสญิดนบีในมะดีนะฮฺนั้นเดิมเป็นหลุมฝังศพของพวกตั้งภาคีซึ่งมีต้นปาล์มและซากปรักหักพัง บริเวณดังกล่าวต้นปาล์มถูกตัดทิ้งและทำเป็นทิศกิบละฮฺของมัสญิด ซากปรักหักพังถูกปรับให้ราบเรียบ ส่วนหลุมฝังศพนั้นถูกขุดทิ้งไป และรากฐานของมัสญิดถูกวางลงที่นั่น ดังกล่าวนี้คือหลุมฝังศพของผู้ตั้งภาคี (มุชริก) ที่ถูกขุดทิ้ง ส่วนดินนั้นยังคงอยู่ ในทางหลักการศาสนาหากว่าดินนี้ไม่มีความบริสุทธิ์ (นะญิส) แน่นอนว่ามัสญิดย่อมจะถูกโยกย้ายออกจากตรงนั้น สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าดินนั้นมีความบริสุทธิ์ และหากว่าดินมีความบริสุทธิ์ ดังนั้นอะไรก็ตามที่เติบโตขึ้นมาบนนั้นหรือเจริญงอกงามจากมันย่อมเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน

อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด
……………………………………………………

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
………..
อ้างอิงจาก Islamonline.net

“กาแฟขี้ช้าง ฮาลาลหรือไม่ ?”

หลายคนคงเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ที่เป็นลักษณะของคนไม่รู้จักพอในสิ่งที่ตนมี แต่ปัจจุบัน อาจจะพูดกันใหม่ว่า “เห็นช้างขี้ กินขี้ช้าง” หรือ “เห็นช้างขี้ โกยขี้ช้างไปขาย” กันเสียแล้ว กับมูลค่าของมูลช้างที่มันขับถ่ายออกมาพร้อมกับเมล็ดกาแฟที่ชื่อว่า “Black ivory coffee” หรือกาแฟขี้ช้าง ซึ่งเป็นกาแฟที่แพงที่สุดในโลกขณะนี้

ขั้นตอนการทำกาแฟขี้ช้าง เริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดกาแฟไทยอาราบิก้า จากแหล่งที่ปลูกบนความสูง 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วนำมาให้ช้างกิน เมื่อช้างขับถ่ายออกมา ควาญช้างก็จะนำไปตากแห้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับพฤติกรรมการกินแบบปกติ แต่รอให้ช้างกินผลกาแฟโดยสมัครใจ ควาญช้างจึงต้องคอยสังเกตดูว่าช้างจะขับถ่ายออกมาเมื่อใด จากนั้นจะนำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาดและคัดเลือกขนาดเมล็ดกาแฟที่ใหญ่และสมบูรณ์อีกครั้ง

ผลผลิตที่ได้จากเมล็ดกาแฟที่ช้างกินเข้าไป แล้วขับถ่ายออกมา ซึ่งเอนไซม์ในกระบวนการย่อยอาหาร จะทำให้โปรตีนในเมล็ดกาแฟที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดรสขม แตกตัวกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก เมื่อโปรตีนถูกสลายให้ลดลง ความขมจึงลดลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้กาแฟที่ผลิตออกมามีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือมีกลิ่นช็อกโกแลต และมีทั้งรสชาติของดาร์ก ช็อกโกแลต มอลต์ รวมทั้งเครื่องเทศ แต่ไม่มีรสขมบาดปาก

คุณเบลค ดินคิน ชาวแคนาดา ผู้ริเริ่มผลิตกาแฟขี้ช้าง ภายใต้ชื่อการค้า “แบลค ไอวอรี คอฟฟี” ได้บอกเหตุผลที่ผลิตภัณฑ์มีราคาแพงนั้น เป็นเพราะกระบวนการผลิตที่ลำบากซับซ้อน ต้องคัดผลกาแฟที่มีคุณภาพให้ช้างกิน โดยตอนนี้ใช้พันธุ์อาราบิก้าของไทย ซึ่งต้องให้ช้างกินถึง 33 กิโลกรัม เพื่อที่จะได้กาแฟขี้ช้างมา 1 กิโลกรัม เวลาช้างกินกาแฟ ช้างจะเคี้ยวด้วย เมล็ดกาแฟบางส่วนก็จะแตกหักหรือถูกย่อยไป ส่วนที่เหลือขับถ่ายออกมานั้นจะเลือกเอาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเมล็ดกาแฟที่สูญหายไปตอนที่ช้างลงไปอาบและขับถ่ายในน้ำ ขณะนี้ กาแฟขี้ช้างไทย ดังไกลทั่วโลก ที่สำคัญก็คือแพงที่สุดในโลกด้วย ราคาถึงกิโลกรัมละ 34,000 บาท หรือตกราคาแก้วละ 1,200 บาท กันเลยทีเดียว

::มุมมองอิสลามในประเด็นกาแฟขี้ช้าง::
คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี ที่ 04/2556 อนุญาตการรับประทานกาแฟขี้ช้างโดยเงื่อนไขของการอนุญาติคือ
1. เมื่อช้างกินกาแฟเข้าไปแล้วถ่ายออกมา ต้องเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ คือมีความแข็งเหลืออยู่หากนำไปเพาะในดินก็จะงอกได้อีก
2. ต้องไม่นำเมล็ดกาแฟที่แตกและไม่สมบูรณ์มาใช้
3.ต้องล้างทำความสะอาดนญิสที่ปนเปื้อนออกให้หมด

โดยส่วนหนึ่งของฟัตวาได้กล่าวว่า “เมื่อปรากฏว่าเมล็ดกาแฟที่ช้างกินเข้าไป แล้วถ่ายออกมายังคงมีสภาพที่แข็ง เมล็ดกาแฟ จึงมิใช่ตัวนะญิส หากแต่เป็นสิ่งที่ปนเปื้อนนะญิส (มุตะนัจญิส) ดังนั้นเมื่อเมล็ดกาแฟถูกล้างให้ สะอาดจาก นะญิสที่ปนเปื้อนมากับมูลช้างตามวิธีการล้างที่ถูกต้อง เมล็ดกาแฟนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาดและสามารถรับประทานได้”

วันนี้เรามีกาแฟขี้ชะมด กาแฟขี้ช้าง ต่อไปเราอาจจะเห็นการวิจัยและพัฒนากาแฟจากขี้วัว ขี้แพะ หรือขี้ของสัตว์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

……………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
.
ข้อมูลจาก
http://pantip.com/topic/31192203
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000073400
http://www.gracezone.org/index.php/motivate/1850-coffee-elephant
http://news.mthai.com/hot-news/world-news/207390.html
http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=421967
https://drive.google.com/file/d/0BwikEGfSn1PUR0lMX3Vod3lOUXM/view

“กฏเกณฑ์การใช้เครื่องสำอาง “

:: [คำถาม] ::
อนุญาตให้ผู้หญิงใช้เครื่องสำอางได้หรือไม่โดยที่มันไม่มีส่วนผสมจากสัตว์และไม่มีส่วนผสมที่เป็นแอลกฮอล์

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ 
ชัยค์มุฮัมมัด อัศศอลิฮฺ อิบนุอุษัยมีนกล่าวว่า การเสริมความงามให้กับตัวเองเพื่อให้สามีได้ชื่นชมเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงพึงปฏิบัติ เมือผู้หญิงยิ่งงามต่อหน้าสามีจะยิ่งทำให้เขารักเธอมากขึ้นและสร้างความรักใคร่ปรองดองระหว่างกัน ซึ่งนับเป็นจุดประสงค์หนึ่งของชะรีอะฮ์ ดังนั้นการที่เธอใช้เครื่องสำอางเพื่อทำให้ตัวเองสวยขึ้นโดยที่ไม่มีสิ่งใดเป็นอันตรายจึงไม่เป็นความผิดแต่ประการใดที่จะทำเช่นนั้น 

แต่ข้าพเจ้าได้ยินมาว่าเครื่องสำอางอาจทำลายผิวหน้าได้ จนบางครั้งทำให้ดูน่ารังเกียจและยังอาจทำให้ผิวดูแก่ก่อนวัย ข้าพเจ้าหวังว่าเธอจะปรึกษาแพทย์ในเรื่องนี้ และถ้าหากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้นกฎเกณฑ์การใช้เครื่องสำอางดังกล่าวย่อมถือว่าหะรอม (ต้องห้าม) หรืออย่างน้อยที่สุดคือมักรูฮ์ (น่ารังเกียจที่จะใช้) เพราะทุกสิ่งที่ทำให้เสียโฉมหรือทำให้บุคคลดูน่ารังเกียจย่อมจะเป็นสิ่งที่หะรอมหรือมักรูฮ์

ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้พูดถึงน้ำยาทาเล็บ ซึ่งสร้างชั้นบาง ๆ บนเล็บ ไม่อนุญาตให้ใช้หากเธอต้องละหมาดเพราะมันจะกันน้ำไม่ให้โดนเล็บขณะอาบน้ำละหมาด และไม่อนุญาตให้ใช้สิ่งใดก็ตามที่กันน้ำมิให้โดนผิวหรือเล็บขณะอาบน้ำละหมาดหรือยกหะดัษ ดังที่อัลลลอฮฺตรัสไว้มีความหมายว่า 

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! เมื่อพวกเจ้ายืนขึ้นจะไปละหมาด ก็จงล้างหน้าของพวกเจ้า และมือของพวกเจ้าถึงข้อศอก และจงลูบศีรษะของพวกเจ้า และล้างเท้าของพวกเจ้าถึงตาตุ่มทั้งสอง” (อัลมาอิดะฮฺ5:6)

หากผู้หญิงทาน้ำยาทาเล็บที่กันน้ำไม่ให้โดนเล็บของเธอโดยไม่ล้างออกเสียก่อน ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นการล้างมือจริง ๆ หมายความว่าเธอได้งดเว้นจากสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติขณะอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำยกหะดัษ (ฆุสล์) แต่หากเธอไม่ได้ละหมาดก็ไม่เป็นความผิดแต่ประการใดทีจะใช้มัน เว้นแต่ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเลียนแบบหญิงที่ปฏิเสธศรัทธา กรณีดังกล่าวไม่อนุญาตให้ไปเกี่ยวข้องกับการเลียนแบบพวกเธอ

อัลลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง 

ฟะตาวาอัลมัรอะฮ์ อัลมุสลิมะฮ์, 1/474

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : Islamqa.Info